ลานบ้านชลบถพิบูลย์

ตุลาคม 11, 2011

Thai Art

ไม่นานปีมานี้ผมรู้สึกประทับใจการจัดการเรียนรู้ของโรงเรียนรุ่งอรุณเป็นพิเศษ โดยเฉพาะเรื่องของความเป็นไทย ความเป็นท้องถิ่น หลายครั้งที่ทีมรุ่งอรุณมาขอนแก่น ครูรุ่งอรุณก็จะพาเด็กไปดู คัดลอกและเรียนรู้จิตรกรรมฝาผนังอีสานโดยเฉพาะวัดไชยศรี บ้านสาวัตถี ตำบลสาวัตตี อำเภอเมือง การจัดการศึกษาแบบนี้ล่ะที่จะช่วยให้ศิลปวัฒนธรรมไทยและศิลปวัฒนธรรมท้องถิ่นจะยังคงอยู่สืบไป

HUG SCHOOL แม้มีภาพลักษณ์ความเป็นศิลปะ(เด็ก)แบบสมัยใหม่ แต่ครูที่นี่ก็พยายามออกแบบการเรียนรู้ที่มีความเป็นไทยและความเป็นท้องถิ่นเข้าไปแทรกอยู่ในกิจกรรมการเรียนรู้ด้วยเสมอ เพราะเราเชื่อว่าการประทับตราความเป็นไทย นิยมไทยนั้นต้องเริ่มจากตัวเล็ก ๆ เสียก่อน ก่อนที่จะกลายเป็นผู้ใหญ่ครั่งแบรนด์เนมในอนาคตอันใกล้หรือที่ท่าน นพ.เกษม วัฒนชัย ท่านเรียกว่า “นิยมเทศ”

พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ(ขอนแก่น) ที่อยู่ไม่ไกลจากเมืองและดีที่เขาเปิดวันหยุด  เพื่อให้คนที่ไม่ว่างในวันทำงานได้มีโอกาสมาชม แต่ในความเป็นจริงอาจจะไม่ได้ผลหากคนทำงานพิพิธภัณฑ์ของรัฐเหล่านี้ยังทำงานเฉพาะในพิพิธภัณฑ์กลายเป็นคนแก่เฝ้าของเก่าไป  แต่ข้าวของในพิพิธภัณฑ์นั้นน่าสนใจและมีคุณค่าในการศึกษาเป็นอย่างมาก และบ่อยครั้งครูออตก็พาเด็ก ๆ ไปเรียนกันที่นั้น

ครูออตอธิบายถึงมารยาทในการชมพิพิธภัณฑ์ให้แก่เด็ก ๆ เพื่อให้เข้าใจตรงกันและไม่เกิดปัญหาในการชมพิพิธภัณฑ์ของคนอื่น เมื่อเด็ก ๆ เข้าใจ เด็ก ๆ ก็เข้าไปดูข้าวของที่จัดแสดง ถามสิ่งที่ตนเองสนใจและลงมือวาดในข้าวของที่ตนเองอยากรู้  ครูแค่คอยอธิบายและตอบคำถามที่อยากรู้ของเด็กเท่านั้นก็พอ และนอกจากก็แค่คอยสังเกตเด็กอยากได้อะไรเพิ่มเติม ใครพบวัตถุที่สนใจแล้ว ใครยังเลือกไม่ได้ ใครพร้อมลงมือวาด

เมื่อสัปดาห์ก่อนไม่มีเวลาพานักเรียนไปพิพิธภัณฑ์ ครูออตก็อาศัย “ครูGOOGLE” ในการสอนเด็ก ๆ โดยเลือกศิลปะการเขียนลายในเครื่องถ้วยหรือที่เรารู้จักในชื่อ เบญจรงค์  โดยให้นักเรียนไปค้นหาเบญจรงค์ที่ตนเองชอบ ดูเครื่องถ้วยที่สนใจ  สังเกตลวดลาย  สังเกตสีที่เขียนลาย เสร็จแล้วก็นำมาคัดลอก 1 ชิ้นและสร้างสรรค์ลวดลายใหม่ 1 ชิ้น

เมื่อเรียนแบบไทย ๆ ครูออตก็สร้างสรรค์บรรยากาศแบบไทย ๆ โดยเปิดเพลงไทย ๆ ไปด้วยแน่นอน “ลาวดวงเดือน” ของครูออตกับเบญจงค์ก็ดูเข้ากันได้ทีเดียว เพลงที่ช้า ๆ กับ ลวดลายที่อ่อนช้อย ทำให้เด็กทั้งห้องเงียบและสงบทันที ทำเอาครูออตเวลาจะเยื่องย้ายตัวเองไปไหนต้องเหินไปยังกะตัวละครในนาฎศิลป์ไทย การจัดบรรยากาศแบบนี้ก็ดูได้ผลไปอีกแบบ

การคัดลอกลวดลายตามแบบลวดลายเดิมของไทยนั้นทำให้เด็ก ๆ รู้จักเป็นคนช่างสังเกต และรู้จักการวางสัดส่วนของลายที่ช่างโบราณเขียน เพราะหากไม่รู้จักสัดส่วนลวดลายก็จะไม่ลงตัวพอดีในเครื่องถ้วยชาม ซึ่งเรื่องแบบนี้ไม่ต้องสอนแต่ปล่อยให้เด็กลงมือทำเอง เมื่อเขาเขียนไปเรื่อยแต่ไม่ดูสัดส่วน ก็จะทำให้ลายเขียนมันแปลกๆไป และไม่ลงตัวกับขนาดของถ้วย นำมาซึ่งต้องทำใหม่ เหมือนกับคำสอนที่ว่า “ไม่รู้ชั่วก็ไม่รู้ดี ไม่รู้ผิดก็ไม่รู้ถูก”

และเมื่อเสร็จแล้ว ก็ถึงเวลาอวดผลงาน  และผลงานเสร็จก็แทบไม่น่าเชื่อว่าเด็กประถมศึกษาจะทำได้ดีขนาดนี้ อิอิ นี่เป็นหนึ่งในหัวใจไทยที่เราสอน

Powered by WordPress