บทเรียนจากสวนป่าต้นเดือนพฤษภาคม : สานต่อวงย่อยเฮฮาศาสตร์
เรื่องนี้สืบเนื่อง ต่อเนื่องมาจากการที่สวนป่าได้ต้อนรับชาว บ้านมกรา ทำให้เหล่าพี่น้องชาวเฮฮาศาสตร์ได้มีโอกาสได้มาเจอกัน และการมาเจอกันคราวนี้ก็มีจำนวนสมาชิกมากเป็นพิเศษ ดังนั้นจึงมีการคลำหัวใจของกันและกันในกลุ่มชาวเฮฮาศาสตร์ โดยใช้เวลายามเย็นที่โรงปั้นอิฐเป็นสถานที่ล้อมวงกัน
ประเด็นหนึ่งที่ผมจับมาย่อยต่อนั้นคือประเด็นการมีกิจกรรมร่วมกันของสมาชิกในกลุ่มที่พักหลังนี้กิจกรรมการตะเวนไปเยี่ยมในรูปกิจกรรมเฮฮาศาสตร์ในภูมิภาคต่าง ๆ มันห่างหายไปและตอนนี้มันก็ยากที่จะได้จับเอาชาวเฮและครอบครัวมาทำแบบนั้นอีก แต่หากมีเจ้าภาพที่แข็งแรงจัดได้อีกก็ขอสนับสนุน ดังนั้นการพบปะในรูปแบบหลาย ๆ คนอาจจะนาน ๆ ครั้งแต่สิ่งที่ผมเห็นว่าเป็นสิ่งที่ควรส่งเสริมคือ การจัดกิจกรรมย่อยร่วมกันของชาวเฮฮาศาสตร์ ที่มีเนื้องานหรือเนื้อวิชาชีพที่สามารถร่วมกันพัฒนาได้
เช่นกิจกรรมของกลุ่มวิชาชีพสุขภาพ กิจกรรมของกลุ่มวิชาชีพเกษตร กิจกรรมของกลุ่มวิชาชีพการจัดการศึกษา กิจกรรมของกลุ่มธุรกิจเพื่อสังคม
ซึ่งกิจกรรมแบบนี้จะช่วยเสริมศักยภาพซึ่งกันและกันได้ มีการแลกเปลี่ยนเนื้อหาที่ตรงจุดวิชาชีพ มีการถ่ายเทความรู้และเกิดการหมุนวนของความรู้ การเกิดขึ้นของความรู้แบบนี้อาจจะนำมาซึ่งนวัตกรรมใหม่ ๆ ของกระบวนการเฮฮาศาสตร์และสามารถนำมาเป็นต้นแบบการเผยแพร่ต่อได้ ซึ่งโดยพฤติกรรมเราก็ทำกันอยู่แล้วแต่การพัฒนาให้ชัดเจนจะช่วยให้เกิดนวัตกรรมที่ “แจ่ม” ขึ้น
ที่ผมกำลังเริ่มอยู่ก็เป็นการเอางานวิจัยที่ตนเองได้รับทุนจากมหาวิทยาลัยขอนแก่นไปทำในพื้นที่ของอาจารย์บางทรายที่ดงหลวง การจับเอา ผ้า กับ โส้ดงหลวง มาร่วมกันคราวนี้ผมเองได้ประโยชน์ในแง่มีทุนเดิมของความรู้ที่ท่านอาจารย์บางทรายได้ตกตะกอนเอาไว้แล้ว ไม่ต้องศึกษาใหม่(บ้านเราเน้นศึกษากันมาก แต่ไม่เอาการศึกษาที่มีอยู่มากมายมาใช้) และอานิสงค์ที่ท่านอาจารย์บางทรายทำเอาไว้ก็อาจจะทำให้งานวิจัยพัฒนาไปได้เร็วขึ้น การคัดเลือกกลุ่มช่างทออาจจะง่ายขึ้นเพราะเรามีคนชำนาญพื้นที่แล้ว