ลานบ้านชลบถพิบูลย์

พฤษภาคม 12, 2010

บทเรียนจากสวนป่าต้นเดือนพฤษภาคม : สานต่อวงย่อยเฮฮาศาสตร์

เรื่องนี้สืบเนื่อง ต่อเนื่องมาจากการที่สวนป่าได้ต้อนรับชาว บ้านมกรา ทำให้เหล่าพี่น้องชาวเฮฮาศาสตร์ได้มีโอกาสได้มาเจอกัน และการมาเจอกันคราวนี้ก็มีจำนวนสมาชิกมากเป็นพิเศษ ดังนั้นจึงมีการคลำหัวใจของกันและกันในกลุ่มชาวเฮฮาศาสตร์ โดยใช้เวลายามเย็นที่โรงปั้นอิฐเป็นสถานที่ล้อมวงกัน

ประเด็นหนึ่งที่ผมจับมาย่อยต่อนั้นคือประเด็นการมีกิจกรรมร่วมกันของสมาชิกในกลุ่มที่พักหลังนี้กิจกรรมการตะเวนไปเยี่ยมในรูปกิจกรรมเฮฮาศาสตร์ในภูมิภาคต่าง ๆ มันห่างหายไปและตอนนี้มันก็ยากที่จะได้จับเอาชาวเฮและครอบครัวมาทำแบบนั้นอีก แต่หากมีเจ้าภาพที่แข็งแรงจัดได้อีกก็ขอสนับสนุน ดังนั้นการพบปะในรูปแบบหลาย ๆ คนอาจจะนาน ๆ ครั้งแต่สิ่งที่ผมเห็นว่าเป็นสิ่งที่ควรส่งเสริมคือ การจัดกิจกรรมย่อยร่วมกันของชาวเฮฮาศาสตร์ ที่มีเนื้องานหรือเนื้อวิชาชีพที่สามารถร่วมกันพัฒนาได้

เช่นกิจกรรมของกลุ่มวิชาชีพสุขภาพ  กิจกรรมของกลุ่มวิชาชีพเกษตร กิจกรรมของกลุ่มวิชาชีพการจัดการศึกษา กิจกรรมของกลุ่มธุรกิจเพื่อสังคม

ซึ่งกิจกรรมแบบนี้จะช่วยเสริมศักยภาพซึ่งกันและกันได้ มีการแลกเปลี่ยนเนื้อหาที่ตรงจุดวิชาชีพ มีการถ่ายเทความรู้และเกิดการหมุนวนของความรู้ การเกิดขึ้นของความรู้แบบนี้อาจจะนำมาซึ่งนวัตกรรมใหม่ ๆ ของกระบวนการเฮฮาศาสตร์และสามารถนำมาเป็นต้นแบบการเผยแพร่ต่อได้ ซึ่งโดยพฤติกรรมเราก็ทำกันอยู่แล้วแต่การพัฒนาให้ชัดเจนจะช่วยให้เกิดนวัตกรรมที่ “แจ่ม” ขึ้น

ที่ผมกำลังเริ่มอยู่ก็เป็นการเอางานวิจัยที่ตนเองได้รับทุนจากมหาวิทยาลัยขอนแก่นไปทำในพื้นที่ของอาจารย์บางทรายที่ดงหลวง การจับเอา ผ้า กับ โส้ดงหลวง มาร่วมกันคราวนี้ผมเองได้ประโยชน์ในแง่มีทุนเดิมของความรู้ที่ท่านอาจารย์บางทรายได้ตกตะกอนเอาไว้แล้ว ไม่ต้องศึกษาใหม่(บ้านเราเน้นศึกษากันมาก แต่ไม่เอาการศึกษาที่มีอยู่มากมายมาใช้) และอานิสงค์ที่ท่านอาจารย์บางทรายทำเอาไว้ก็อาจจะทำให้งานวิจัยพัฒนาไปได้เร็วขึ้น การคัดเลือกกลุ่มช่างทออาจจะง่ายขึ้นเพราะเรามีคนชำนาญพื้นที่แล้ว

ไม่แน่ปลายฝนต้นหนาวปีนี้อาจจะได้เชิญชาวเฮฮาศาสตร์ไปเยือนถิ่นไทโส้ที่ดงหลวงอีกครั้ง ในบริบทของผ้าทอไทโส้

สิงหาคม 19, 2009

การจัดการความรู้ของชาวเฮฮาศาสตร์ : ประสบการณ์จากปัจจุบันขณะ

Filed under: Uncategorized — แท็ก: — ออต @ 10:51

หากใครที่ยอมรับแนวคิดเรื่องความเป็น “พหุลักษณ์” (pluralism)ก็ย่อมเข้าใจดีถึงกระบวนการของชาวเฮฮาศาสตร์ที่ประกอบด้วยบุคคลจากหลากหลายวิชาชีพ หลากหลายพื้นที่  หลากหลายวัย หลากหลายที่มาที่ไปและหลากหลายความคิด แต่ในความหลากหลายนั้นทุกคนต่างเคารพความหลากหลายว่าคือสิ่งที่งดงาม โดยเฉพาะความหลากหลายที่จะเกื้อหนุนงานที่ตนเองรับผิดชอบให้สำเร็จได้อันจะส่งต่อการพัฒนาสังคม ชุมชน ประเทศชาติเราต่อไป

สำหรับผมถือว่าได้รับอิทธิพลการทำงานโดยใช้การจัดการความรู้แบบธรรมชาติมาจากสวนป่าโดยตรง การใช้ชีวิตคลุกดิน ฝุ่น เดินชื่นชมใบไม้ ใบหญ้า มองหมา มองแมว มองวัว มองกาไก่ในสวนป่า ทำให้พยายามเรียนรู้แนวคิดของครูบาฯ ที่เชื่อว่าการทำงานกับชุมชนนั้นต้องใช้การจัดการความรู้แบบธรรมชาติเป็นพื้น แสวงหาพันธมิตรวิชาการและทำงานอิงระบบ นำความรู้จากแหล่งความรู้มาทดลองทำให้ชัด แจ้ง แทงตลอด(จอดบ้างเมื่อเหนื่อย)

ในการจัดการค่ายฮูบแต้มแคมของที่จะจัดขึ้นในระหว่างันที่ 1-3 กันยายน 2552 ที่จะถึงนี้ก็เป็นอีกกิจกรรมที่ผมเอาความรู้และกระบวนการจัดค่ายโดยอาศัยการจัดการความรู้เป็นเครื่องมือทำงาน  ผมแสวงหาความรู้จากแหล่งความรู้หลายแหล่งทั้งความรู้ในตำราก่อนลงพื้นที่จริงสืบเสาะแสวงหาเรื่องของฮูบแต้มบนผนังสิมและเรื่องราวของชุมชนบ้านหว้านใหญ่ ซึ่งมีทั้งงานวิจัย บทความและหนังสือองค์ความรู้เหล่านี้ช่วยชี้ทางและย่อระยะเวลาให้การจัดกิจกรรมสะดวกขึ้น

ความรู้จากตัวคน การที่จะจัดค่ายให้ได้ดีผมต้องขอความรู้จากคนอื่นที่เชี่ยวชาญ  ในยุควิทยาลัยชาวบ้านของครูบาฯสุทธินัท์เอาแนวคิด การขอความรู้จากผู้รู้มาใช้ในการพัฒนา ผมก็เช่นเดียวกันพยายามหาผู้รู้และจัดกิจกรรมในลักษณะนักถอดความหมายทางวัฒนธรรม โดยเชิญผู้รู้เดินทางไปยังชุมชนบ้านหว้านใหญ่และเรียนนรู้ เสนอแนะองก์ความรู้สำคัญมาให้เราได้แปลความถ่ายทอดต่อไปยังเด็กในค่าย

ความรู้จากธรรมชาติและนิเวศวัฒนธรรม เป็นองค์ความรู้ที่อิงอยู่กับชุมชน โดยคนในชุมชน พื้นที่ อาณาบริเวณในชุมนซึ่งมีความรู้ คลังข้อมูลที่มากมาย เพียงแต่กระจัดกระจายไปอยู่ในที่ต่าง ๆ คนต่าง ๆ เราในฐานะนักจัดการคามรู้เพื่อนำไปใช้ในค่ายเรียนรู้ จำเป็นต้องเสาะแสวงหาเพื่อนำเอาอัตลักษณ์ที่สำคัญขึ้นมากล่าว ขึ้นมาแสดงให้เด็ก ๆ เกิดมุมมองที่สำคัญในการรู้จักตนเอง ไม่แยกคนออกจากวัฒนธรรมพื้นถิ่น

ความรู้จาก IT เรื่องนี้กระบวนการเฮฮาศาสตร์และลานปัญญานับว่าช่วยได้มาก อาจารย์บางทรายบุกปริมณฑลร้านกาแฟเพื่อมาช่วยเสนอแนะกิจกรรมในการจัดการเรียนรู้แบบค่ายให้แก่เด็ก ๆ นอกจากนั้นยังรับปากจะมาช่วยเป็นคุณครูประจำวิชา เครื่องมือวิทยาการเรียนรู้ชุมชน ซึ่งเปิดมุมมอง ความเชื่อมั่นและองก์ความรู้ที่สำคัญในพื้นที่ให้แก่เด็ก ๆ ได้สนใจ เข้าใจชุมชนตนเอง  นอกจากนั้นอาม่าที่ผมคิดฮอดโทรมายามเช้า รับปากอย่างจิตอาสาที่จะช่วยลงแรงลงความคิดมาช่วยสอนเรื่องอาหาร สมุนไพรและการออกกกำลังกายให้แก่เด็ก ๆ ได้สนุกสนาน ดังนั้นงานนี้ผมจึงผุดวิชา สุนทรียศาสตร์แห่งชีวิต วิชาใหม่ในค่ายให้อาม่าเปิดลานเรียนรู้อย่างเต็มที่ ซึ่งนี่คือพันธมิตรวิชาการที่ผมหาได้จากพหุลักษณ์ในกลุ่มเฮฮาศาสตร์

ในการจัดค่ายคราวนี้ลำพังผมคงไม่มีงบประมาณในการจัดทำโครงการ งานอิงระบบจึงเป็นกระบวนการที่ใช้ในคราวนี้ ผมขอทุนศูนย์วิจัยพหุลักษณ์สังคมลุ่มน้ำโขง มหาวิทยาลัยขอนแก่นในการจัดทำโครงการซึ่งเราต่างได้ประโยชน์ด้วยกันทั้งนั้น องค์การที่ให้ทุนได้งานได้เผยแพร่วิชาการและได้วิชาการ   ชุมชนที่เราไปจัดได้มุมมองและทัศนะใหม่ ๆ ในการจัดการมรดกทางวัฒนธรรมโดยเฉพาะเด็กและเยาวชนอันเป็นพลังของชุมชนในอนาคตไม่ไกล

ที่ผมเล่ามาทั้งหมดอยากชี้ให้เห็นว่ากระบวนการเฮฮาศาสตร์และการจัดการความรู้แบบเฮฮาศาสตร์เป็นการทำงานที่ธรรมชาติมาก ไม่ได้ถูกครอบด้วยกรอบของ “ศาสตร์การจัดการความรู้แบบตะวันตก”  ไม่ต้องมีหัวปลา ตัวปลา หางปลา แต่กลับรื่นไหลไปราวกับน้ำโขงจากเหนือลงใต้ แม้สายน้ำจะไหลลง แต่เหล่าปลากลับว่ายทวนน้ำขึ้นไปวางไข่ กระจายพันธุ์์ต่อไปในพื้นที่ที่เหมาะแก่ปลานั้น ๆ อันเป็นธรรมชาติของปลาแต่ละสายพันธุ์ แปลกหน่อยที่ปลาสายพันธุ์เฮฮาศาสตร์เป็นฝูงปลาแบบพหุลักษณ์มีหลายสายพันธุ์ วางไข่ได้หลายพื้นที่ไม่เฉพาะเจาะจง วางไข่เมื่อไหร่มีความงดงามเกิดขึ้นที่นั้น

เมษายน 30, 2009

เฮฮาศาสตร์กับงานระพี

Filed under: Uncategorized — แท็ก: , , — ออต @ 14:56

นิทรรศการในงานวันรพี เป็นอะไรที่ยากเพราะตัวอยู่ขอนแก่นแต่งานอยู่ กทม  ยิ่งเป็ฯคนบ้านนอกจะเข้ากรุงแต่ละครั้งช่างยากเต็มที่ ดังนั้นการที่จะไปหาข้าวของเอาข้างหน้าดูเหมือนจะไม่ได้กาล ดังนั้นอะไรที่เตรียมได้จากขอนแก่นก็จะพยายามทำเตรียมเอาไว้ เช่นเดียวกับป้ายต่างมุมต่าง ๆ ของชาวเฮฮาศาสตร์

เนื่องจากเวลาจำกัด และจะต้องรีบจัดการเพราะพรุ่งนี้วันแรงงาน อาจจะไม่มีใครทำงานให้ ดังนั้นจึงออกแบบด้วยเวลาที่มี  ไม่สวยประการใดต้องขออภัยด้วยนะครับ  ถ้ามีเวลาแก้ไขจะแก้ไข  ถ้าเวลาจำกัดและไม่ทันขอถือโอกาสเอาเลยนะครับ อิอิ

ป้ายรวมของบูธชาวเฮฮาศาสตร์ครับ

เฮฮาศาสตร์กับต้นไม้ใบหญ้า

ป้าจุ๋มหอบหิ้วต้นไม้ ใบหญ้า สมุนไพรและพืชใหม่ ๆ พืชพื้นบ้านที่ปลูกในสวนป่ามหาชีวาลัยอีสาน อันมีคุณค่าต่อมนุษย์และโลกใบงามทั้งในแง่สุขภาพ พลังงานเศรษฐกิจและสิ่งแวดล้อม

เฮฮาศาสตร์กับการประยุกต์เทคโนโลยี

ลุงแฮนดี้เปิดคลีนิคการประยุกต์ใช้เทคโนโลยีกับการเรียนรู้ของเครือข่ายมนุษย์ ผ่านเทคโนโลยีที่พอเหมาะ พอเพียง ไม่แพง พึ่งตัวเองได้ ควบคู่กับการใช้เทคโนโลยีเพื่อเป็นเครือข่ายการเรียนรู้ร่วมกันผ่านชุมชนของชาวเฮฮาศาสตร์ใน lanpanya.com

เฮฮาศาสตร์กับทุนทางวัฒนธรรม

ออตหอบหิ้วผ้าไหมมัดหมี่ร่วมสมัยกว่า 20 ลายที่พัฒนามาจากการศึกษา วิจัยและพัฒนาการมัดหมี่แบบพื้นบ้าน แล้วนำมาผสมผสานกันระหว่างของเก่ากับของใหม่เพื่อให้ผ้าไหมมัดหมี่รับใช้ผู้คนในปัจจุบันอย่างไม่เขินอาย

กุมภาพันธ 3, 2009

คนแซ่เฮ ได้เฮ ในวงวิชาการ

เมื่อเช้าสื่อสารผ่าน MSN กับลุงเอก ท่านทักมา ขอแสดงความยินที่ได้รับรางวัล ผมเองยังงงงง ว่ารางวัลอะไร ท่านย้ำว่า รางวัลผ้าไหมไง เจอคำตอบลุงเอกยกสองยิ่งงไปใหญ่ หรือลุงเอกจำผิดคนหรือเปล่า อุอุ เรื่องนี้คาใจอยู่นาน แต่ใจก็คิดถึงรางวัลหนึ่งแต่ไม่ใช่ผ้าไหมโดยตรงแต่เป็นรางวัลที่ไม่คาดหวังนัก

รางวัลที่ว่านั้น ผมไม่ได้คาดหวัง เพราะผมเองเรียนรู้งานอิงระบบ ไม่ได้อยู่ในระบบข้าราชการ และรางวัลที่เขาให้ก็น่าจะเป็นงานวิชาการ ส่วนผมมันทำงานนอกภาควิชาการ กลายเป็นวิชาเกิน วิชานอกกรอบไป ดังนั้นจึงไม่ได้สนใจนัก รางวัลที่ว่าคือรางวัลการนำเสนอผลงานวิจัย การพัฒนาชนบทที่ยั่งยืน ที่จัดโดยมหาวิทยาลัยขอนแก่นเมื่อวันที่ 29-30 มกราคม ที่ผ่านมา

ผมสงสัยขึ้นสมอง จึงโทรไปสอบถามและคำตอบที่ได้ก็แทบไม่น่าเชื่อหู เพราะเจ้าหน้าที่บอกว่า นายสำรวย เย็นเฉื่อยได้รับรางวัลนำเสนอในกลุ่ม สังคมและภูมิปัญญา อิอิ ตื่นเต้นแต่ออกไปทางจั๊กจี่ เพราะวันที่นำเสนอผมเล่นนำเสนอแบบตลก ๆ ปนฮา ๆ ไม่วิชาการอะไรเลย

ส่วนชาวแซ่เฮอีกท่านนอกจากชื่อและผลงานจะถูกเกริ่นโดยประธานในการแสดงปาฐกถาแล้วยังได้รับรางวัลการนำเสนอประเภทโปสเตอร์นั้นคือ ท่านเล่าฮู ดร.แสวง รวยสูงเนินของเราชาวเฮฮาศาสตร์ งานนี้งานวิจัยท่านได้ดังใหญ่จากการทำนาอินทรีย์แบบไม่ไถ่ของชาวนา ดร.

นี่เป็นข้อดีของการทำงานอิงระบบ ที่ทำให้งานของคนอิงระบบมีทั้งกระบวนทัศน์ที่เป็นวิชาการและกระบวนทัศน์ของงานนอกระบบอันผูกติดกับสังคมและชีวิตผู้คน งานนี้การได้รับรางวัลเช่นนี้ก็น่าจะเป็นแรงผักดันให้ยึดมั่ง เชื่อมั่นในแนวทางของการทำงานอิงระบบได้ดีที่เดียว

มกราคม 30, 2009

ขอนแก่นวันนี้ กับ คนแซ่เฮ

Filed under: Uncategorized — แท็ก: — ออต @ 11:48

เมื่อวานเกิดอาการ แผนสับสนทางจิต เพราะจิตวิปลาสไปทั่ว เนื่องจากขอนแก่นมีญาติธรรมของคนแซ่เฮ แวะ เวียน และผ่านมา ใจก็อยาก ใจก็อยากไปกอด แต่ภาระกิจฉุดรั้งเอาไว้เลยเกิดอาการสับสนทางจิต

เมื่อวานผมต้องขึ้นนำเสนอผลงานวิจัยที่เวทีประชุมวิชาการของมหาลิทยาลัยขอนแก่นภายใต้แนวคิด การพัฒนาชนบทที่ยั่งยืน โดยนำเสนอในกลุ่มสังคมและภูมิปัญญา โดยงานนี้ผมเอางานวิจัยเรื่องการพัฒนาลายผ้าร่วมกับช่างชาวบ้านมานำเสนอ เพื่อหวังว่าจะเป็นเสมือนตัวอย่างของพัฒนาผ้าทออีสานที่ นักพัฒนาท่านอื่น ๆจะลองเอาไปใช้

เมื่อวานอีกเช่นกัน ครูบาฯกับแม่หวีมาหาหมอที่โรงพยาบาลศรีนครินทร์ เรื่องนี้มีเหตุอยากจะไปดูแลเพราะคิดว่าตัวเองยังเด็ก การวิ่งติดต่อประสานงานจะสะดวกสบายกว่าให้พ่อครูบาฯ ดำเนินการเอง เพราะมีประสบการณ์ว่าท่านอาจจะหาหมอได้ช้าและอาจจะตกเครื่องเพื่อไปเรียนที่ กทม ต่อในเครื่องบินเที่ยวเที่ยง

เมื่อวานอีกเช่นกัน นัดหมอสุธีเอาไว้เพื่อปรึกษาท่านเรื่องสรรพเพหเระ โดยเฉพาะแนวคิดเรื่องกระบวนกร  ตอนเที่ยงที่ท่านต้องเช็คเอาท์จาก รร. ก็ไม่สามารถไปได้ ได้เพียงส่งสาวสวยไปรับและไปส่งร้านกาแฟ งานนี้กว่าจะร่วมประชุมวิชาการเสร็จก็ปาไปเกือบห้าโมงเย็นเป็นอันว่าปล่อยให้หมอนั่งดูสาวที่ร้านกาแฟไปก่อน

ในเวทีประชุมวิชาการคราวนี้ ผมออกจะไปทางไม่วิชาการนักเพราะมีเวลานำเสนอแค่สิบห้านาที ซึ่งแค่เกริ่นนำก็คงหมดเวลา ดังนั้นเพื่อให้เวลากระชับ ผมเอาผ้างามๆ มาแสดงให้ชมแทน และเนน้ให้ผู้ฟังมีส่วนร่วมและแจกของรางวัลเล่นกันแบบสนุกสนาน ทำเอาวงวิชาการกลายเป็ฯวิชาการกึ่งวิชาขาดไป อิอิ (ตามประสา)

หลังเสร็จจากงานประชุมวิชาการก็ไปพยหมอสุธี ซึ่ง นั่งรอกับอาจารย์บางทรายและคุยกันออกรส ถึงแนวคิดกระบวนกร ผมเองสนใจเรื่องนี้อยู่แล้ว ได้แต่นั่งฟังคุณหมอเล่าถึงประสบการร์กระบวนกรของท่านและท่านอื่น ๆที่คุณหมอสัมผัสเช่น อาจารย์ไร้กรอบ หลวงพี่ติ๊ก ฟังแล้วได้ความรู้สนุกดีเห็ฯถึงนักพูดที่ดีอย่างหมอสุธี และ นักฟังนักวิเคราะห์ที่ดีอย่างอาจารย์บางทราย

ก่อนจะเสร็จสิ้นด้วยข้าวเย็นปลาเนื้ออ่อนน่งแจ๋วในมื้อเย็นวันนี้ และอำลาด้วยการกอดตามธรรมเนียมของเฮฮาศาสตร์  เหนื่อยดีจริง ๆ

ปล. ในงานประชุมวิชาการมีคนแซ่เฮปรากฎตัวโดยไม่ได้นัดหมาย

-อาจารย์ลูกหว้า…..มาร่วมฟังการนำเสนอผลงาน

-เล่าฮูแสวง……เมื่อวานนนี้ดังใหญ่ เพราะผู้นำเสนอในเวทกลาง ชมถึงงานวิจัยเรื่องการทำนาของท่าน

Powered by WordPress