ลานบ้านชลบถพิบูลย์

พฤษภาคม 12, 2010

บทเรียนจากสวนป่าต้นเดือนพฤษภาคม : สานต่อวงย่อยเฮฮาศาสตร์

เรื่องนี้สืบเนื่อง ต่อเนื่องมาจากการที่สวนป่าได้ต้อนรับชาว บ้านมกรา ทำให้เหล่าพี่น้องชาวเฮฮาศาสตร์ได้มีโอกาสได้มาเจอกัน และการมาเจอกันคราวนี้ก็มีจำนวนสมาชิกมากเป็นพิเศษ ดังนั้นจึงมีการคลำหัวใจของกันและกันในกลุ่มชาวเฮฮาศาสตร์ โดยใช้เวลายามเย็นที่โรงปั้นอิฐเป็นสถานที่ล้อมวงกัน

ประเด็นหนึ่งที่ผมจับมาย่อยต่อนั้นคือประเด็นการมีกิจกรรมร่วมกันของสมาชิกในกลุ่มที่พักหลังนี้กิจกรรมการตะเวนไปเยี่ยมในรูปกิจกรรมเฮฮาศาสตร์ในภูมิภาคต่าง ๆ มันห่างหายไปและตอนนี้มันก็ยากที่จะได้จับเอาชาวเฮและครอบครัวมาทำแบบนั้นอีก แต่หากมีเจ้าภาพที่แข็งแรงจัดได้อีกก็ขอสนับสนุน ดังนั้นการพบปะในรูปแบบหลาย ๆ คนอาจจะนาน ๆ ครั้งแต่สิ่งที่ผมเห็นว่าเป็นสิ่งที่ควรส่งเสริมคือ การจัดกิจกรรมย่อยร่วมกันของชาวเฮฮาศาสตร์ ที่มีเนื้องานหรือเนื้อวิชาชีพที่สามารถร่วมกันพัฒนาได้

เช่นกิจกรรมของกลุ่มวิชาชีพสุขภาพ  กิจกรรมของกลุ่มวิชาชีพเกษตร กิจกรรมของกลุ่มวิชาชีพการจัดการศึกษา กิจกรรมของกลุ่มธุรกิจเพื่อสังคม

ซึ่งกิจกรรมแบบนี้จะช่วยเสริมศักยภาพซึ่งกันและกันได้ มีการแลกเปลี่ยนเนื้อหาที่ตรงจุดวิชาชีพ มีการถ่ายเทความรู้และเกิดการหมุนวนของความรู้ การเกิดขึ้นของความรู้แบบนี้อาจจะนำมาซึ่งนวัตกรรมใหม่ ๆ ของกระบวนการเฮฮาศาสตร์และสามารถนำมาเป็นต้นแบบการเผยแพร่ต่อได้ ซึ่งโดยพฤติกรรมเราก็ทำกันอยู่แล้วแต่การพัฒนาให้ชัดเจนจะช่วยให้เกิดนวัตกรรมที่ “แจ่ม” ขึ้น

ที่ผมกำลังเริ่มอยู่ก็เป็นการเอางานวิจัยที่ตนเองได้รับทุนจากมหาวิทยาลัยขอนแก่นไปทำในพื้นที่ของอาจารย์บางทรายที่ดงหลวง การจับเอา ผ้า กับ โส้ดงหลวง มาร่วมกันคราวนี้ผมเองได้ประโยชน์ในแง่มีทุนเดิมของความรู้ที่ท่านอาจารย์บางทรายได้ตกตะกอนเอาไว้แล้ว ไม่ต้องศึกษาใหม่(บ้านเราเน้นศึกษากันมาก แต่ไม่เอาการศึกษาที่มีอยู่มากมายมาใช้) และอานิสงค์ที่ท่านอาจารย์บางทรายทำเอาไว้ก็อาจจะทำให้งานวิจัยพัฒนาไปได้เร็วขึ้น การคัดเลือกกลุ่มช่างทออาจจะง่ายขึ้นเพราะเรามีคนชำนาญพื้นที่แล้ว

ไม่แน่ปลายฝนต้นหนาวปีนี้อาจจะได้เชิญชาวเฮฮาศาสตร์ไปเยือนถิ่นไทโส้ที่ดงหลวงอีกครั้ง ในบริบทของผ้าทอไทโส้

กันยายน 9, 2009

ฮูบแต้มแคมของ : ปัญญาด้านภาษา(ภาพ)

แต่ละวันในค่ายฮูบแต้มแคมของเราทั้งพี่เลี้ยงและเด็ก ๆ มีเรื่องยุ่ง ๆ ที่แสนสนุกให้ทำไม่ซ้ำกัน ทำกันจนเหมือนเราไม่มีช่วงเวลาจะพักเอาเสียเลย เพราะในขณะที่เราพักเราก็เหมือนรู้สึกว่าเราทำกิจกรรมเรียนรู้อยู่ ดังนั้นชีวิตการอยู่ในค่ายสามวันสองคืนจึงมากด้วยการเรียนรู้

การเรียนรู้ที่มากมาย กิจกรรมที่หลากหลายและผู้คนที่มาให้ความรู้กับเรา มีมากมากจนลิ้นชักในสมองของเด็ก ๆ เก็บเอาไว้ไม่หมด หลายคนเก็บเอาไว้มาก แต่พอจะเปิดลิ้นชักสมองก็พบว่ามันสับสนอลหม่านกันไปหมด จนไม่รู้ว่าลิ้นชักอันไหนเก็บเรื่องอะไร ลิ้นชักไหนเก็บกิจกรรมอะไร เรื่องแบบนี้เกิดขึ้นแน่นอนในค่ายการเรียนรู้หรือแม้การใช้ชีวิตประจำวันของแต่ละคน

ในค่ายฮูบแต้มแคมของเราจึงหาเครื่องมือที่ให้เด็ก ๆ ได้ทบทวนการเรียนรู้ในแต่ละวันอย่างง่าย ๆ เพื่อให้เด็ก ๆ จดจำเรื่องราวที่แสนประทับใจในค่ายของเราไว้รำลึกถึงเมื่อช่วงเวลาในค่ายผ่านพ้นไป เครื่องมือนี้เราเรียกว่า การทบทวนความรู้ด้วยภาพ(Graphic Review)

“การทบทวนการเรียนรู้ด้วยภาพ” ว่ากันไปแล้วก็เหมือนจิตรกรรมฝาผนังหรือฮูบแต้มที่เรากำลังศึกษากันในค่าย ภาพวาดชวนให้เราอ่านเรื่องด้วยภาพ ภาพเขียนแทนภาษาพูดหรือภาษาเขียน เพราะภาพเขียนถือว่าเป็นภาษาชนิดหนึ่ง การส่งเสริมการใช้ภาษาให้มีประสิทธิภาพจึงถือว่าเป็นการส่งเสริมการเรียนรู้ด้วย ปัญญาด้านภาษา(Linguistic Intelligence)

ในจิตรกรรมฝาผนังวัดศรีมหาโพธิ์มีภาพจิตรกรรมฝาผนังไว้เล่าเรื่องพระเวสสันดรชาดก ผู้คนชาวบ้านหว้านใหญ่หลายคนแม้จำเนื้อหาเรื่องพระเวสสันดรได้ไม่หมดแต่การได้ดูภาพเขียนก็ทำให้เข้าใจและจดจำเนื้อหาหรือแก่นสารสำคัญในเรื่องได้มากขึ้น ทั้งนี้อาจจะมีภาษาเขียนกำกับในภาษาภาพเอาไว้ในบางช่วงบางตอน วิธีนี้ช่วยเติมเต็มคำสำคัญที่ต้องการสื่อสารหรือต้องการให้จดจำในภาพแต่ละตอน

เมื่อการเรียนรู้แต่วันในค่ายของเราผ่านไป ก่อนสวดมนต์เข้านอน ครูอุ้มชวนเด็กมาทบทวนกิจกรรมที่เกิดขึ้นในแต่ละวันด้วยภาษาภาพ โดยมีครูคล่องช่วยเขียนเป็นภาพ เสมือนการย้อนบันทึกประจำวันของแต่ละคนตั้งแต่เช้ายันเย็น ซึ่งเด็กๆช่วยกันเติมเต็มรายละเอียดในแต่ละช่วงเวลา เมื่อสิ้นสุดภาพและคำสำคัญในแต่ละวันครูอุ้มกลับมาทบทวนเรื่องราวในภาพ เราพบว่าเด็ก ๆ จำกิจกรรมว่าใคร ทำอะไร ที่ไหน เมื่อไหร่ อย่างไร ได้อย่างแม่นยำ

(ในภาพอ่านว่า ช่วงบ่ายที่ศาลาวัดเด็ก ๆ กำลังทำขันหมากเบ็งซึ่งประดิษฐ์จากใบตอง ซึ่งทุกคนสนุกสนานมากและทำได้ดี)

เครื่องมือนี้ช่วยในการเรียบเรียงและทบทวนประสบการณ์ในแต่ละวันของเด็ก ๆ ได้เป็นอย่างดี การเขียนภาพเป็นการช่วยระบายและปลดปล่อยอารมณ์ของเด็กต่อกิจกรรมการเรียนรู้นั้นได้ อีกทั้งยังส่งเสริมการคิดเชื่อมโยงให้กับเด็ก ๆในการใช้ภาพสื่อแทนภาษาเขียนได้ และที่สำคัญช่วยย้ำเตือนความทรงจำที่แสนพิเศษที่เกิดขึ้นในค่ายฮูบแต้มแคมของให้แก่เด็ก ๆ ซึ่งในวันสุดท้ายเราได้มอบสมุดบันทึกคืนให้แก่เด็ก ๆ ทุกคน เพื่อให้เขามีเครื่องมือแห่งความทรงจำ

Powered by WordPress