ลานบ้านชลบถพิบูลย์

กันยายน 12, 2009

ฮูบแต้มแคมของ : ตัวเลขกับศิลปะ

ความจริงค่ายฮูบแต้มแคมของไม่ได้สมบูรณ์แบบเลย ด้วยความด้อยปัญญาของคนประสานในการจัดค่าย การออกแบบหลักสูตรและการบ่มเพาะความคิดให้ออกมาเป็นค่ายที่สมบูรณ์ ดูเอาแต่เรื่องการตัดมิติสัมพันธ์ของศิลปะ วัฒนธรรม ออกจากตัวเลขเอาเถิด

ศิลปะกับตัวเลข ศิลปะกับการวัด ดูเหมือนเป็นเรื่องคนละโลกสำหรับศิลปินอย่างผม(ไม่สามารถเหมารวมศิลปินทั้งหมด) เพราะมันเป็นเหมือนไม้เบื่อไม้เมาเข้าขั้นตัดญาติขาดมิตรเอากันไปโน้นเลย

แม้แต่การบริหารเงินทองงบประมาณในค่ายทั้งหมด ผมต้องขอยืมตัวเจ้าหน้าที่การเงินของศูนย์วิจัยฯมาทำหน้าที่แทน ด้วยไม่อยากเอาสมองไปยุ่งอยู่กับตัวเลขที่แสนน่าเบื่อ

เราเหล่าศิลปินและคนทำงานศิลปะส่วนใหญ่จะงดใช้ตัวเลขแต่หันมาให้คำว่าเล็ก กลาง ใหญ่ ที่สุด แทนเช่นสิมหลังนี้เล็กมาก(เล็กมากหมายถึงเล็กขนาดไหน? ถามแบบนี้คนทำงานศิลปะตกม้าตาย) พระในวิหารใหญ่ที่สุดในตำบลนี้(ใหญ่ขนาดไหน กว้างยาวเท่าไหร่? ถามแบบนี้คนทำงานศิลปะตกม้าตาย) ขันหมากเบ็งที่เห็นที่วัดสัดส่วนดีมาก(ดีมากที่ว่า มันขนาดเท่าไหร่? ถามแบบนี้ก็ตกม้าตายอีกเช่นกัน) สรุปรวม ๆ คือเราไม่ค่อยจะใส่ใจกับตัวเลขจริง ๆ เลย ทั้ง ๆ ที่มันจะช่วยให้เราใช้ประโยชน์ได้ในอนาคต

ดังนั้นค่ายฮูบแต้มแคมของเพิ่งมาตาสว่างเอาตอนที่ อาม่า ช่วยเติมเต็มเรื่องวิทยาศาสตร์ คณิตศาสตร์ในฐานะเครื่องมือการเรียนรู้ให้แก่เรา ซึ่งเรื่องนี้นับว่าเป็นบุญของผมแต่ยังไม่ใช่บุญของเด็ก ๆ เพราะกว่าผมจะยอมรับเรื่องตัวเลขกับวัฒนธรรมได้ ก็ต้องใช้เวลาสักพักดังนั้นจึงไม่มีเวลาบรรจุเรื่องนี้ให้กับเด็ก ๆ ในค่าย(เอาไว้ค่ายหน้านะน้อง)

อาม่าสอนผมในเรื่องการเอาวิทยาศาสตร์ คณิตศาสตร์เข้าไปบูรณาการร่วมกับศิลปวัฒนธรรม งานนี้จะช่วยให้เราเห็นมิติที่ทั้งสองสิ่งสัมพันธ์กันอยู่ในตัวและยังก้าวล่วงไปสัมพันธ์กับมิติอื่น ๆ ได้รวมทั้งความสัมพันธ์กับจักรวาลซึ่งมีสถานะแห่งจุดร่วมทุกสรรพสิ่ง(ร่ายซะเป็นนิยาย)

ผมเริ่มฝึกการเอาตัวเลขเข้ามาใช้ในค่ายตอนที่ผมรู้สึกชอบขันหมากเบ็งของชาวบ้าน ผมชอบที่รูปทรงสัดส่วนมันช่างสวยงามเสียเหลือเกิน งามจนหากผมเอาไปทำใช้ที่ขอนแก่นคงต้องไม่ยากแน่ ๆ

แต่เชื่อเถอะมาถึงขอนแก่นผมก็จะลืมสัดส่วนที่งดงามนั้นไป ดังนั้นการวัดจึงเกิดขึ้นกับผมในกิจกรรมการชื่นชนขันหมากเบ็งแบบพื้นบ้าน เมื่อวัดแล้วทำให้เราต้องมาแยกรายละเอียดออกไป เรื่องนี้ทำให้ผมคิดแบบละเอียดละออเข้าไปอีกเพราะขันหมากเบ็งมีส่วนฐาน ส่วนตัวขัน และส่วนยอดขัน งานนี้สัดส่วนที่งดงามนั้นจึงถูกผมบันทึกด้วยตัวเลขเรียบร้อยพร้อมภาพประกอบ

(เงอะ ๆงะ ๆ กับตัวเลข  เขียนผิดเขียนถูก วัดแล้ววัดอีก แบบไมค่อยแน่ใจ)

สัดส่วนของความสูงที่งดงามของขันหมากเบ็ง ตัวฐาน/ตัวขัน/ยอดขัน เท่ากับ 1: 2 : 2.5

สัดส่วนที่งดงาม ความสูงของขัน/ความกว้างของขัน เท่ากับ 2 : 5.5

ทำตัวเลขแบบนี้ไม่ว่าถูกไหมคุณครูครับ

กันยายน 9, 2009

ฮูบแต้มแคมของ : ปัญญาด้านภาษา(ภาพ)

แต่ละวันในค่ายฮูบแต้มแคมของเราทั้งพี่เลี้ยงและเด็ก ๆ มีเรื่องยุ่ง ๆ ที่แสนสนุกให้ทำไม่ซ้ำกัน ทำกันจนเหมือนเราไม่มีช่วงเวลาจะพักเอาเสียเลย เพราะในขณะที่เราพักเราก็เหมือนรู้สึกว่าเราทำกิจกรรมเรียนรู้อยู่ ดังนั้นชีวิตการอยู่ในค่ายสามวันสองคืนจึงมากด้วยการเรียนรู้

การเรียนรู้ที่มากมาย กิจกรรมที่หลากหลายและผู้คนที่มาให้ความรู้กับเรา มีมากมากจนลิ้นชักในสมองของเด็ก ๆ เก็บเอาไว้ไม่หมด หลายคนเก็บเอาไว้มาก แต่พอจะเปิดลิ้นชักสมองก็พบว่ามันสับสนอลหม่านกันไปหมด จนไม่รู้ว่าลิ้นชักอันไหนเก็บเรื่องอะไร ลิ้นชักไหนเก็บกิจกรรมอะไร เรื่องแบบนี้เกิดขึ้นแน่นอนในค่ายการเรียนรู้หรือแม้การใช้ชีวิตประจำวันของแต่ละคน

ในค่ายฮูบแต้มแคมของเราจึงหาเครื่องมือที่ให้เด็ก ๆ ได้ทบทวนการเรียนรู้ในแต่ละวันอย่างง่าย ๆ เพื่อให้เด็ก ๆ จดจำเรื่องราวที่แสนประทับใจในค่ายของเราไว้รำลึกถึงเมื่อช่วงเวลาในค่ายผ่านพ้นไป เครื่องมือนี้เราเรียกว่า การทบทวนความรู้ด้วยภาพ(Graphic Review)

“การทบทวนการเรียนรู้ด้วยภาพ” ว่ากันไปแล้วก็เหมือนจิตรกรรมฝาผนังหรือฮูบแต้มที่เรากำลังศึกษากันในค่าย ภาพวาดชวนให้เราอ่านเรื่องด้วยภาพ ภาพเขียนแทนภาษาพูดหรือภาษาเขียน เพราะภาพเขียนถือว่าเป็นภาษาชนิดหนึ่ง การส่งเสริมการใช้ภาษาให้มีประสิทธิภาพจึงถือว่าเป็นการส่งเสริมการเรียนรู้ด้วย ปัญญาด้านภาษา(Linguistic Intelligence)

ในจิตรกรรมฝาผนังวัดศรีมหาโพธิ์มีภาพจิตรกรรมฝาผนังไว้เล่าเรื่องพระเวสสันดรชาดก ผู้คนชาวบ้านหว้านใหญ่หลายคนแม้จำเนื้อหาเรื่องพระเวสสันดรได้ไม่หมดแต่การได้ดูภาพเขียนก็ทำให้เข้าใจและจดจำเนื้อหาหรือแก่นสารสำคัญในเรื่องได้มากขึ้น ทั้งนี้อาจจะมีภาษาเขียนกำกับในภาษาภาพเอาไว้ในบางช่วงบางตอน วิธีนี้ช่วยเติมเต็มคำสำคัญที่ต้องการสื่อสารหรือต้องการให้จดจำในภาพแต่ละตอน

เมื่อการเรียนรู้แต่วันในค่ายของเราผ่านไป ก่อนสวดมนต์เข้านอน ครูอุ้มชวนเด็กมาทบทวนกิจกรรมที่เกิดขึ้นในแต่ละวันด้วยภาษาภาพ โดยมีครูคล่องช่วยเขียนเป็นภาพ เสมือนการย้อนบันทึกประจำวันของแต่ละคนตั้งแต่เช้ายันเย็น ซึ่งเด็กๆช่วยกันเติมเต็มรายละเอียดในแต่ละช่วงเวลา เมื่อสิ้นสุดภาพและคำสำคัญในแต่ละวันครูอุ้มกลับมาทบทวนเรื่องราวในภาพ เราพบว่าเด็ก ๆ จำกิจกรรมว่าใคร ทำอะไร ที่ไหน เมื่อไหร่ อย่างไร ได้อย่างแม่นยำ

(ในภาพอ่านว่า ช่วงบ่ายที่ศาลาวัดเด็ก ๆ กำลังทำขันหมากเบ็งซึ่งประดิษฐ์จากใบตอง ซึ่งทุกคนสนุกสนานมากและทำได้ดี)

เครื่องมือนี้ช่วยในการเรียบเรียงและทบทวนประสบการณ์ในแต่ละวันของเด็ก ๆ ได้เป็นอย่างดี การเขียนภาพเป็นการช่วยระบายและปลดปล่อยอารมณ์ของเด็กต่อกิจกรรมการเรียนรู้นั้นได้ อีกทั้งยังส่งเสริมการคิดเชื่อมโยงให้กับเด็ก ๆในการใช้ภาพสื่อแทนภาษาเขียนได้ และที่สำคัญช่วยย้ำเตือนความทรงจำที่แสนพิเศษที่เกิดขึ้นในค่ายฮูบแต้มแคมของให้แก่เด็ก ๆ ซึ่งในวันสุดท้ายเราได้มอบสมุดบันทึกคืนให้แก่เด็ก ๆ ทุกคน เพื่อให้เขามีเครื่องมือแห่งความทรงจำ

กันยายน 8, 2009

ฮูบแต้มแคมของ : บายศรีกับทุนทางวัฒนธรรม

เด็กที่เข้าค่ายฮูบแต้มแคมของนั้นมีหลากหลายวัย เหตุผลหนึ่งคือต้องการเครือข่ายของสถานศึกษาในเขตพื้นที่ตำบลหว้านใหญ่ที่จะมาร่วมมือ หรือเกิดแรงกระตุ้นบางอย่างให้โรงเรียนโดยเฉพาะหัวน้าสถานศึกษาและครูผู้สอน หันกลับมามองการใช้ประโยชน์จากงานศิลปกรรมพื้นถิ่นในการเป็นแหล่งเรียนรู้สำหรับการศึกษาในระบบ

เด็ก ๆ ที่มาร่วมค่ายของเราในคราวนี้จึงมีเด็กในช่วงชั้นที่ 2 – 4 จำนวน 50 คนโดยผมพยายามจัดสรรโควต้าให้เหมาะสมกับแต่ละโรงเรียน โดยโรงเรียนระดับประถมศึกษาในเขตตำบลนี้มี 5 โรงเรียนดังนั้นจึงเฉลี่ยให้โรงเรียนละ 6 คน ส่วนโรงเรียนระดับมัธยมประจำอำเภอมีแห่งเดียวดังนั้นจึงให้โควต้ามากหน่อย

ผลที่ออกมาคือห้องเรียนของเราจึงเป็นห้องเรียนของเด็กหลายวัย จุดดีของการจัดกิจกรรมค่ายแบบนี้คือเด็กโตจะคอยดูแลเด็กเล็กแทนพี่เลี้ยงประจำกลุ่มได้ในหลายกิจกรรม(ในภาวะที่เรามีพี่เลี้ยงประจำกลุ่มไม่มากและบางกิจกรรมพี่เลี้ยงต่างเพศก็ดูแลลำบากเช่น การอาบน้ำและภารกิจส่วนตัว) นอกจากนั้นเด็กโตยังช่วยสอนเด็กเล็ก ๆในบางกิจกรรม

แต่ด้วยความเป็นเด็กแม้จะหลายช่วงชั้น แต่เมื่อมาร่วมกันความเป็นเด็กก็คือความเป็นเด็ก ย่อมต้องการการ้รียนรู้ที่สนุกเพลิดเพลินและเสรี แถมความซนมาด้วยซึ่งก็เป็นไปตามที่คาดคะเนเอาไว้ ว่าเรามาจับปูใส่กระด้งแน่นอน

แล้วความดื้อความซน ความไม่อยู่นิ่ง การพูดคุยกันเซ็งแซ่จะขัดเกลาด้วยกิจกรรมอะไรดี นี่เป็นโจทย์สำคัญประการหนึ่งที่เราในฐานะผู้ออกแบบกิจกรรมการเรียนรู้แบบค่ายต้องเอามาคิดและออกแบบ

ความจริงหลายกิจกรรมเป็นการออกแบบกิจกรรมบนสมมติฐานคือการคาดคะเนว่าจะได้กระบวนการและผลลัพท์ออกมาอย่างไร เช่นเดียวกกับการตอบโจทย์การขัดเกล่าให้เด็กนิ่ง มีสติ มีสมาธิและหยุดนิ่งเพื่อการสงบลงได้บ้าง ผมมองหากิจกรรมการเรียนรู้บางสิ่งเพื่อจัดการเรียนรู้นี้จนกระทั่งคิดถึง การบายศรีสู่ขวัญ

กลุ่มชาติพันธุ์ไทลาวรู้จักกิจกรรมนี้ในชื่อ การสู่ขวัญ โดยมีหัวใจของพิธีกรรมอยู่ที่การให้กำลังใจและเกิดสวัสดิมงคลแก่ผู้ถูกสู่ขวัญในการดำเนินชีวิตต่อไป ดังนั้นผู้ที่เข้าพิธีและถูกผูกแขนจึงถือว่าเกิดสิริมงคลแก่ตัวมีภูมิคุ้มกันภยันตรายต่าง ๆ ที่จะมารบกวนดังนั้นในค่ายการเรียนรู้เราได้จัดกิจกรรมสู่ขวัญให้แก่เด็ก ๆ ที่ร่วมค่ายเพื่อให้เกิดความเป็นมงคลแก่เด็ก ๆ และให้เด็กเรียนรู้ประเพณีของตนเองโดยการเรียนรู้แบบมีส่วนร่วม

เราได้จัดเตรียมบายศรีขนาดพอเหมาะโดยมีช่างชาวบ้านหว้านใหญ่และพี่เลี้ยงของเรานั่งทำกันที่ศาลาการเปรียญ โดยเป็นบายศรีใบตองสามชั้น กิจกรรมนี้เนื่องจากต้องการให้บายศรีเสร็จทันการสู่ขวัญในตอนบ่ายและเด็ก ๆ มีกิจกรรมการเรียนรู้อื่น ๆ ต้องทำดังนั้นเด็ก ๆ จึงไม่ได้ร่วมทำด้วย ด้วยข้อจำกัดอย่างที่เล่าไปแล้ว ประกอบกับเมื่อวันก่อนเด็ก ๆ ได้ลงมือทำขันหมากเบ็งแล้ว

การสู่ขวัญในคราวนี้ เราได้หมดสูดหรือพ่อพราหม์จากปราชญ์ชาวบ้านในท้องที่เป็นผู้ทำพิธีให้แก่เรา ในการสู่ขวัญเพื่อให้เหมาะสมกับสมาธิของเด็ก ๆ ดังนั้นรูปแบบการสู่ขวัญจึงย่อย่นลงมาเพื่อให้เสร็จทันเวลา แต่ก็ไม่ลืมบทสู่ขวัญที่ครบกระบวนความตามแก่นสารของบทสู่ขวัญ

เที่ยงวันนี้เป็นอาหารมื้อสุดท้ายในค่ายวัฒนธรรมแห่งนี้ เด็กๆ ได้กินส้มตำที่แสนอร่อยจนสังเกตว่าอาหารหลายกลุ่มหมดเกลี้ยง อาจจะด้วยความแซบนัว หลังท้องอิ่ม ลานที่หน้าพระใหญ่ในวิหารถูกวางพานบายศรีที่สวยงามโดยช่างชาวบ้านและพี่เลี้ยงของเรา งามจนอยากจะเก็บเอาไว้ไม่อยากให้มันเหี่ยวเฉา

เด็ก ๆ ที่เจี้ยวจ้าวถูกเชิญให้มานั่งล้อมพ่อพราหม์ที่ตรงกลางลาน สิ่งที่ผมคาดคะเนไว้กำลังจะได้คำตอบอีกไม่กี่วินาที เด็ก ๆ ที่คุยกันหลอกล้อกันนิ่งเงียบเมื่อเทียนชัยถูกจุดที่ยอดของบายศรี บรรยากาศหลังจากนี้เราพบว่าเด็ก ๆ นิ่ง เงียบและสดับโสตฟังเสียงการสู่ขวัญของปราชญ์ผู้ที่เราเคารพ สายตาจับจ้องมองที่พ่อใหญ่และแสงเทียนที่ยอดบายศรี หลายคนสังเกตเพื่อนที่อยู่ข้าง ๆ เมื่อเห็นเพื่อนนิ่งก็หันกลับไปนิ่งมองไปที่จุดเดียว

แม้ไม่ได้เห็นเหล่าเทวดาตัวเป็น ๆ มาชุมชนตามตำเชิญของหมดสูดที่เชิญเทวดามาชุมชน แต่ในบรรยากาศนั้นเราได้เห็นเทวดาน้อย ๆ ของเราชาวค่ายสงบนิ่ง เงียบ มีสมาธิตลอดการสู่ขวัญ เมื่อได้ยินการเอิ้นขวัญเด็ก ๆ ต่างเรียกขวัญกันตามเสียงนำของพ่อพราหม์ว่า มาเด้อขวัญเอ๊ย ดังสนั่น และนิ่งสงบฟังการสูดขวัญต่อไปเป็นเช่นนี้จนจบกระบวน

หลังจากสูดขวัญเสร็จพิธีกรรมต่อไปคือการผูกขวัญหรือผูกข้อต่อแขน เด็ก ๆ นำฝ้ายผูกแขนมาให้พี่เลี้ยงและวิทยากรของเราผูกแขนให้เพื่อเป็นสิริมงคล พี่ ๆ ทุกคนให้พรเด็ก ๆ กันคนละมุมตามสะดวก ในขณะที่เด็ก ๆ เวียนกันให้พี่ ๆ ผูกแขนเอาชัยเอาพร

มนต์แห่งพิธีให้คำตอบที่ผมคาดคะเนเอาไว้ได้ดีที่เดียวทั้งความสงบ นิ่ง สติและความผูกพันของคนกับคนและคนกับสิ่งที่เราคาดวังในค่าย จากตัวของเด็ก ๆ ไปสู่ เรา และนำไปสู่ พวกเรา ที่จะสร้างความมั่นคงของศิลปกรรมพื้นบ้านร่วมกัน แม้เพียงมือน้อย ๆ ของเรา

นี่เป็นบทเรียนของการบูรณาการทุนทางวัฒนธรรมในระดับจิตวิญญาณ(mind and soul)ที่เราพยายามบรรจุและทดลองทำกันในค่ายฮูบแต้มแคมของ

สิงหาคม 13, 2009

คนวัฒนธรรม กับ พหุลักษณ์

เช้าของวันแม่ ที่ขอนแก่นแม้บรรยากาศจะดีมากคือมีแดดอ่อน ๆ แต่ขบวนนักถอดความหมายทางวัฒนธรรมไปถึงเมืองว่านใหญ่ ก็พบว่าอากาศครึ้มฟ้าครึ้มฝนอยู่มาก ๆ ไม่ยากที่จะเดาว่าบ่ายนี้ฝนที่ตั้งเค้าไม่น่าจะไหลผ่านพื้นดินแถบนี้  น่าจะตกมาให้เราได้เปียกปอน งานนี้ผมออกจะห่วง ๆ อาจารย์ผู้ใหญ่ที่มาด้วยจะเป็นหวัดจากพิษฝนได้

หลังรับประทานอาหารเที่ยง  เราลงมือทำงานและสำรววจพื้นที่ทันทีโดยเริ่มต้นที่วัดศรีมหาโพธิ์ ชึ่งเป็นวัดที่เราใช้เป็นแกนกลางในการจัดทำหลักสูตร งานนี้อาจารย์บางทราย แห่งดงหลวงมาสมทบพอดี พร้อม ๆ กับพี่มหาซึ่งเป็นคนหนุ่มที่สนใจงานวัฒนธรรมและพื้นที่ มาช่วยอธิบายความให้เราทราบพื้นฐานของวัดและชุมชนแถบนี้ ซึ่งนับว่าได้ความรู้จากคนพื้นที่เป็นอย่างดี

จากคำอธิบายของพี่มหา และน้อง ๆ จาก อบต.ว่านใหญ่ ทำให้เราทราบว่า คำว่า หว้านใหญ่ เพี้ยนมาจาก ว่านใหญ่ ซึ่งพื้นที่เดิมของชุมชนแถบนี้เป็นดงว่าน เมื่อตั้งชื่อบ้านก็นิยมเอาพืชพันธุ์ที่สำคัญมาตั้งเป็นชื่อบ้านจึงให้ชื่อว่าบ้าน ว่าน  จากการสัมภาษณ์ยังไม่ทราบแน่ว่าเป็นว่านหรือพืชตระกูลใด ต้องสืบเสาะอีกครั้งจากผู้แก่ผู้เฒ่าแถบนี้  ผมได้แต่แอบยุน้อง ๆ จาก อบต.ว่านใหญ่ให้เสาะหาดู หรือไม่แน่ว่าในค่ายผมอาจจะให้เด็กสืบหาว่านอันเป็นชื่อบ้านนามเมืองนี้ด้วย(ได้ไอเดียการจัดการเรียนจากคำถามในพื้นที่ที่ไปเจอ)

ส่วนคำสัญณิฐานของผม คำว่าหว้านใหญ่ น่าจะเพี้ยนมาจาก ว่านใหญ่ จริง แต่ไม่ใช่ชื่อ ว่านใหญ่ จริง ความจริงน่าจะมาจาก ว่านหลวง ซึ่งเป็นชื่อที่ปรากฎในจดหมายการเดินทางของเจ้านายจากบางกอกในการสำรวจอีสาน  ต่อเมื่อมีการแยกบ้านของประชากรจากว่านหลวงไปตั้งบ้านใหม่จึงเรียกบ้าน ว่านน้อย/ว่านใหญ่  และเพี้ยนเป็น หว้านใหญ่/หว้านน้อยในที่สุด ในปัญหาข้อนี้ก็ขอเชิญนักภาษา นักท้องถิ่นนิยม นักประวัติศาสตร์ค้นหากันอีกรอบ

สิ่งที่ทุกคนแปลกประหลาดใจในการพบวัดศรีมหาโพธิ์คือ การมีสิมหลังเล็กมากและเป็นหลังเล็กที่มีฮูบแต้มด้วย เมื่อไปถึงนักถอดหรัสของผมก็ต่างสนใจดู ถ่ายภาพ พูดคุยทั้งวงสนทนาใหญ่ วงสนทนาเล็ก เดินออกมาชื่นชม นั่งจังงังทำอะไรไม่ถูก  อาจารย์รณภพ เตชะวงษ์บอกกับผมว่า ทำอะไรไม่ถูกเพราะอึ้งมาก  แม้มีกล้องในมือก็ไม่รู้จะถ่ายอะไรมีความรู้สึกบางอย่างอยู่ในจิตใจ

อาจารย์บอนนี่ บอกผว่าวัดนี้สวยพิเศษและเรียบร้อย  คือมีความเงียบ และเรียบร้อยเหมือนผู้หญิงนั่งฟังธรรม(อันหลังนี่ผมเติมเอง เพราะไม่รู้จะถอดความความรู้สึกของอาจารย์ออกมาอย่างไร) เพราะวัดแห่งนี้เผยภาพเรื่องราวของพระเวสสันดรอย่างจริงใจ ศรัทธาและตัดภาพที่จะให้ความรู้สึกรุนแรง ความอิโรติก ออกไปอย่างมาก

เ่ช่นในภาพชูชกท้องแตกตาย ก็วาดชูชกตายแบบคนธรรมดาไม่ใส่อารมณ์ไปมากเหมือนวัดในแถบอีสานกลาง  ในตอนที่เผ่าศพชูชกก็วาดภาพการเผาศพอย่างสมเกียรติ   ในตอนที่เหล่าเมียพรามห์มาทำร้ายและด่าทอนางอมิตดาที่บ่อน้ำก็พบว่ามีภาพแค่ดึงชายผ้าถุงขึ้นคล้ายโกรธ แต่ในแถบอีสานกลางภาพที่แสดงออกถึงกับมีการ จ้อนซิ่น ถลกผ้าถุง โชว์ของสงวนกันอย่างโจ่ง ๆ  แต่สำหรับวัดศรีมหาโพธิ์ช่างด่าทอด้วยคำสุภาพเสียเหลือเิกิน

กิจกรรมการถอดหรัสเป็นไปอย่างธรรมชาติ ไม่ได้เครียดจนทำงานหน้าเขียวหน้าแดง แต่ผมสังเกตเห็นปฏิสัมพันธ์การแลกเปลี่ยนของนักวิชาการที่แสดงทัศนะของตนเองในมิติที่ตนเองสนใจ ผมว่าถึงแม้ในใจไม่เห็นด้วยแต่ก็ยอมรับในความแตกต่างและหลากหลาย  ผมว่านี่ซิ ถึงเป็นมิติของ พหุลักษณ์อย่างแท้จริง

สิงหาคม 10, 2009

นักถอดรหัสทางวัฒนธรรม ; กุญแจสำคัญของค่ายฮูบแต้มแคมของ

วันที่ 12 สิงหาคมนี้แม้จะเป็นวันหยุด แต่ผมมีแพลนต้องเดินทางไปลงพื้นที่ในการทำค่ายฮูบแต้มแคมของอีกครั้ง การไปคราวนี้สำคัญสำหรับผมมาก เพราะนี่เป็นการลงไปพร้อมครูบาอาจารย์ของผมหลายคน  ซึ่งแต่ละท่านล้วนเป็นนักวิชาการที่เกี่ยวพันกับเรื่องที่ผมจะทำค่ายด้วยกันทั้งนี้

ในค่ายหลายครั้งเราพบว่าผู้จัดการค่าย ยังหาจุดลงตัวไม่เจอว่าอะไรที่เหมาะสมกับเด็ก บางครั้งอัดเนื้อหาเอาเป็นเอาตาย จนเด็กตายค่าย  บางค่ายก็จัดไปเพื่อให้ได้จัด  แต่สำหรับการจัดค่ายของเราคราวนี้ผมจะไม่ยอมให้เกิดภาวะตายค่าย กับ จัดเพื่อให้ได้จัด ดังนั้นงานนี้ผมจึงเชื้อเชิญนักวิชาการที่เฉพาะในเรื่องไปสำรวจพื้นที่กับผมเพื่อให้ท่านได้ถอดหรัสทางวัฒนธรรมที่แฝงอยู่ในพื้นที่  และจากการถอดรหัสนั้นจะถูกนักการศึกษาแปลเป็นกิจกรรมที่เหมาะสมกับเด็ก ซึ่งเป็นอีกขึ้นตอนถัดไป

ใครบ้างที่ผมเชื้อเชิญ และใครบ้างคือนักถอดรหัสทางวัฒนธรรมสำหรับค่ายของเราในคราวนี้  ผมรู้สึกยินดีมากที่คนเล็ก ๆ อย่างผม เมื่อส่งสารไปยังนักวิชาการที่มีชื่อเสียงและมีเวลาสำหรับทำเรื่องใหญ่ ๆ แต่เมื่อได้รับสารของผม ทุกท่านก็เสียสะเวลาและให้ความกรุณาตอบรับการเดินทางไปเดินหมู่บ้าน เดินวัด เดินแคมของ กับผมในคราวนี้

ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ทรงยศ  วีระทวีมาศ ปัจจุบันท่านดำรงตำแหน่งคณบดีคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น ท่านนี้ผมถือว่าเป็นผู้บุกเบิกงานวิจัยเกี่ยวกับสถาปัตยกรรมเมืองมุกดาหารท่านแรก ๆ หรือที่เรารู้จักในนาม pioneer  งานวิจัยที่สำคัญคือ สิมในจังหวัดมุกดาหาร งานวิจัยและการตีความหมายของสิมที่ปรากฎในมุกดาหารด้วยมิติแห่งสัญญะ อันเป็นงานวิจัยที่ผมอ่านแล้วสนุกและมีคนทำกันน้อยเกี่ยวกับศิลปกรรมอีสาน ซึ่งการไปคราวนี้เราในฐานะผู้จัดคาดหวังว่าท่านจะถอดมุมมองในฐานะนักประวัติศาสตร์สถาปัตยกรรมพื้นถิ่นอีสานให้เราได้เข้าใจ

รองศาสตรจารย์ ดร.ศุภชัย  สิงหยะบุศย์
ปัจจุบันเป็นอาจารย์สอนที่คณะศิลปกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหาสารคาม ท่านนี้ในแวดวงวิชาการด้านศิลปกรรมอีสานต้องรู้จัก ในนามนักวิชาการที่มีผลงานตีพิมพ์เป็นหนังสือเผยแพร่มากอีกท่านหนึ่ง โดยเฉพาะงานเขียนโดเด่น ซึ่งเป็นงานเขียนเชิงสารคดีด้านมานุษยวิทยาวัฒนธรรมในแถบลุ่มน้ำโขง   ท่านนี้แม้เป็นนักวิชาการใหญ่โตแต่ท่านก็ชอบเรื่องศิลปกรรมเล็ก ๆ ของเมืองเล็ก ๆ และผมเองคงต้องขอเป็นลูกศิษย์ท่านในด้านมานุษยวิทยาศิลปะ ซึ่งการไปคราวนี้เราในฐานะผู้จัดคาดหวังว่าท่านจะถอดมุมมองในฐานะนักมานุษยวิทยาทางด้านศิลปะให้เราได้เข้าใจ

ผู้ช่วยศาสตราจารย์ชอบ  ดีสวนโคก
ครูใหญ่ของผมที่ไม่ว่ามีปัญญหาอะไรเกี่ยวกับอีสาน นี่เป็นครูที่ผมนึกถึงเสมอ แม้ท่านจะติดภารกิจในการเป็นนักจัดรายการทางวิทยุในคลื่นที่เน้นประเด็นเรื่องวัฒนธรรมของคนอีสาน แต่ท่านก็ตอบรับในการเดินทางไปกับผมในคราวนี้   ครูท่านนี้หากว่าด้วยเรื่องอีสาน ผมกล้ายืนยันว่าท่านเป็นกูรูอีกท่านหนึ่งและที่สำคัญท่านเป็นกูรูในฐานะนักกิจกรรมทางด้านวัฒนธรรมด้วย(culture activist)  ครั้งหนึ่งท่านเคยเปรยกับผมว่า ท่านกับผมมีส่วนหนึ่งที่คล้ายกันคือ “แม้เป็นคนไม่พูดโฉงฉางแต่บางเรื่องหากไม่ถูกต้องก็ไม่ยอม” ซึ่งการไปคราวนี้เราในฐานะผู้จัดคาดหวังว่าท่านจะถอดมุมมองในฐานะนักประวัติศาสตร์ผู้ที่เชื่อมโยงทั้งประวัติศาสตร์และวัฒนธรรมพื้นที่ให้เราได้เข้าใจ

พ่อบุญเกิด พิมพิ์วรเมธากุล ปรมาจารย์ด้านภาษาและวรรณกรรม ว่ากันว่าในโจกโลกฟ้านี้ หานักภาษาศาสตร์ที่เชี่ยวชาญด้านอีสานนั้นมีน้อยนักที่รอบรู้และแตกฉาก หากหาได้  หนึ่งในนั้นผมว่าต้องมีชื่อ อาจารย์บุญเกิด พิมพ์วรเมธากุล นักวิชาการอาวุโสเจ้าของพจนานุกรมภาษาอีสานฉบับล่าสุดและสมบูรณ์ที่สุดในปัจจุบัน และเป็นคู่หูนักกิจกรรมทางวัฒนธรรมร่วมกับอาจารย์ชอบ  ดีสวนโคก  ในวัยเกษียณอายุราชการ ท่านได้ทุ่มเทแรงกายแรงปัญญาในการถอดความ ตีความและเผยแพร่ภาษาและวรรณกรรมอีสานอย่างต่อเนื่อง  ซึ่งการไปคราวนี้เราในฐานะผู้จัดคาดหวังว่าท่านจะถอดมุมมองในฐานะนักภาษาศาสตร์และวรรณกรรม  ซึ่งสิมวัดศรีมหาโพธิ์มีภาษาที่จารึกให้เราต้องถอดความอยู่มาก

นี่เป็นนักวิชาการสี่ท่านที่จะร่วมเดินทางไปกับเราในคราวนี้   ส่วนอีก 3 ท่านผมจะเล่าในบันทึกต่อไป ตามอ่านนะครับเพราะอีกสามท่านนี้ก็พิเศษไม่แพ้กัน ว่ากันว่าท่านจะต้องสงสัยว่ามาได้อย่างไรกัน ทำไม ทำไม และทำไม

กรกฏาคม 30, 2009

ฮูบแต้มแคมของ : วัด วา อา ราม

ต้นสัปดาห์มีเหตุต้องเดินทางไปสกลนคร การไปคราวนี้เพื่อไม่ให้เสียเที่ยวผมจึงมีแผนเดินทางไปอำเภอหว้านใหญ่ จังหวัดมุกดาหารด้วย อย่างน้อยก็เพื่อไปประสานงานเรื่องค่ายเด็กกับหน่วยงานในพื้นที่เอาไว้ จะได้ไม่เป็นแบบไปบีบบังคับคนในพื้นที่ หรือเป็นคนนอกเอาอะไรไปยัดให้้คนในเขาอึด อัด

ผมเดินทางไปวัดศรีมหาโพธิ์พบพระลูกวัดเพียงรูปเดียวแต่เจ้าอาวาสไม่อยู่ติดกิจนิมนต์นอกวัด ผมถือวิสาสะขอเบอร์โทรท่านเจ้าอาวาสจากพระลูกวัดแต่ก็ไม่ประสบผล อิอิ ไม่เป็นไรงานนี้จึงได้แต่เดินสำรวจ มองดูจุดเด่นจุดด้อยของพื้นที่หากสถานที่แห่งนี้ถูกจัดเป็นพื้นที่การเรียน รู้จริง ๆ จะได้มีทางเลือก หรือมีทางออกสำหรับการจัดกิจกรรม

วัดศรีมหาโพธิ์ บ้านหว้านใหญ่ อำเภอหว้านใหญ่ สถานที่มีสิมอันปรากฎจิตรกรรมฝาผนังหรือฮูบแต้ม เนื่องจากเป็นวัดเก่าดังนั้นพื้นที่ของวัดจึงเล็กเพราะไม่สามารถขยายพื้นที่ออกไปได้ เพราะมีบ้านของชาวบ้านอยู่ขนาบวัด ภายในวัดไม่ได้วางผังแม่บทการใช้พื้นที่ดังนั้นจึงปรากฎการทุบและการสร้างศาสนาคาร ภายในวัดจึงเห็น กองดิน กองหิน กองทราย กองไม้ถูกวางระแกะระกะ

ส่วนอาคาร ที่น่าจะเอาไว้ใช้ทำกิจกรรมสำหรับเด็กก็เห็นว่าขัดเคืองอยู่มาก เนื่องจากศาสนาคารของวัดที่สำคัญมี 3 หลังได้แก่ สิมเก่า กุฎิเก่า และศาลาการเปรียญ

ในส่วนของสิมเก่า เนื่องจากสิมนี้ขนาดเล็กมากดังนั้นการจัดกิจกรรมรวมสำหรับเด็ก 50 คนไม่เหมาะเป็นแน่แท้ แต่หากเอาไว้เป็นแหล่งเรียนรู้กลุ่มย่อย ๆ ก็เห็นว่าเหมาะดีมาก

กุฎิวัดเก่า กุฎิหลังเก่านี้เป็นอาคารที่สำคัญทางประวัติศาสตร์ เนื่องจากครั้งหนึ่งเคยใช้สถานที่แห่งนี้เป็นอาคารที่ว่าการอำเภอหว้านใหญ่มาก่อน รูปทรงอาคารได้รับอิทธิพลจากรูปแบบอาคารแบบฝรั่งเศษอยู่มาก ซึ่งปรากฎการณ์นี้พบเห็นอยู่ทั่วไปในแถบริมโขง ปัจุบันเป็นที่จำพรรษาของพระลูกวัด คิดแบบคนนอกอย่างผมเห็นว่าอาคารนี้เหมาะสมากที่จะทำเป็นแหล่งเรียนรู้ชุมชน ประเภทพิพิธภัณฑ์ชุมชน ดังนั้นอาคารนี้จึงไม่น่าจะใช้ได้

ส่วนอาคาร ศาลาการเปรียญหลังใหญ่เป็นอาคารสองชั้น มีพื้นที่พอสมควรสำหรับจัดกิจกรรมการเรียนรู้ จะติดขัดก็พื้นที่สำหรับนอนเท่านั้นที่ไม่เหมาะสักเท่าไหร่ และหากมีกิจกรรมทางศาสนาก็จะทุลักทะเลพอสมควร

เมื่อดูพื้นที่อาคารทั้ง สามแห่งแล้ว เห็นว่าเราพบจุดอ่อนของการจัดกิจกรรมอยู่เอามาก ๆ เพราะการจัดกิจกรรมการปลูกฝังแบบค่ายนั้นจำเป็นต้องการพื้นที่สำหรับเรียน รู้ ที่พักอยู่พอสมควร แบบนี้เราจะหาทางออกอย่างไร ตามต่อบันทึกหน้าครับ

(พี่น้องชาวเฮ สนใจร่วม trip นี้ซึ่งจะจัดขึ้นในวันที่ 1-3 กันยายน 2552 นี้ที่มุกดาหาร รบกวนช่วยแจ้งรายชื่อด้วยนะครับ ตอนนี้เห็นว่า ครูบา ท่านเทพรอกอด อาจารย์บางทราย จะร่วมชื่นชมสุนทรียภาพริมโขงแน่นอน อิอิ  ท่านไหนสนใจเชิญครับ http://lanpanya.com/somroay/archives/148)

ตุลาคม 11, 2008

สำรวจสถานภาพจิตรกรรมฝาผนังในจังหวัดมหาสารคาม

(more…)

Powered by WordPress