ลานบ้านชลบถพิบูลย์

สิงหาคม 10, 2009

นักถอดรหัสทางวัฒนธรรม ; กุญแจสำคัญของค่ายฮูบแต้มแคมของ

วันที่ 12 สิงหาคมนี้แม้จะเป็นวันหยุด แต่ผมมีแพลนต้องเดินทางไปลงพื้นที่ในการทำค่ายฮูบแต้มแคมของอีกครั้ง การไปคราวนี้สำคัญสำหรับผมมาก เพราะนี่เป็นการลงไปพร้อมครูบาอาจารย์ของผมหลายคน  ซึ่งแต่ละท่านล้วนเป็นนักวิชาการที่เกี่ยวพันกับเรื่องที่ผมจะทำค่ายด้วยกันทั้งนี้

ในค่ายหลายครั้งเราพบว่าผู้จัดการค่าย ยังหาจุดลงตัวไม่เจอว่าอะไรที่เหมาะสมกับเด็ก บางครั้งอัดเนื้อหาเอาเป็นเอาตาย จนเด็กตายค่าย  บางค่ายก็จัดไปเพื่อให้ได้จัด  แต่สำหรับการจัดค่ายของเราคราวนี้ผมจะไม่ยอมให้เกิดภาวะตายค่าย กับ จัดเพื่อให้ได้จัด ดังนั้นงานนี้ผมจึงเชื้อเชิญนักวิชาการที่เฉพาะในเรื่องไปสำรวจพื้นที่กับผมเพื่อให้ท่านได้ถอดหรัสทางวัฒนธรรมที่แฝงอยู่ในพื้นที่  และจากการถอดรหัสนั้นจะถูกนักการศึกษาแปลเป็นกิจกรรมที่เหมาะสมกับเด็ก ซึ่งเป็นอีกขึ้นตอนถัดไป

ใครบ้างที่ผมเชื้อเชิญ และใครบ้างคือนักถอดรหัสทางวัฒนธรรมสำหรับค่ายของเราในคราวนี้  ผมรู้สึกยินดีมากที่คนเล็ก ๆ อย่างผม เมื่อส่งสารไปยังนักวิชาการที่มีชื่อเสียงและมีเวลาสำหรับทำเรื่องใหญ่ ๆ แต่เมื่อได้รับสารของผม ทุกท่านก็เสียสะเวลาและให้ความกรุณาตอบรับการเดินทางไปเดินหมู่บ้าน เดินวัด เดินแคมของ กับผมในคราวนี้

ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ทรงยศ  วีระทวีมาศ ปัจจุบันท่านดำรงตำแหน่งคณบดีคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น ท่านนี้ผมถือว่าเป็นผู้บุกเบิกงานวิจัยเกี่ยวกับสถาปัตยกรรมเมืองมุกดาหารท่านแรก ๆ หรือที่เรารู้จักในนาม pioneer  งานวิจัยที่สำคัญคือ สิมในจังหวัดมุกดาหาร งานวิจัยและการตีความหมายของสิมที่ปรากฎในมุกดาหารด้วยมิติแห่งสัญญะ อันเป็นงานวิจัยที่ผมอ่านแล้วสนุกและมีคนทำกันน้อยเกี่ยวกับศิลปกรรมอีสาน ซึ่งการไปคราวนี้เราในฐานะผู้จัดคาดหวังว่าท่านจะถอดมุมมองในฐานะนักประวัติศาสตร์สถาปัตยกรรมพื้นถิ่นอีสานให้เราได้เข้าใจ

รองศาสตรจารย์ ดร.ศุภชัย  สิงหยะบุศย์
ปัจจุบันเป็นอาจารย์สอนที่คณะศิลปกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหาสารคาม ท่านนี้ในแวดวงวิชาการด้านศิลปกรรมอีสานต้องรู้จัก ในนามนักวิชาการที่มีผลงานตีพิมพ์เป็นหนังสือเผยแพร่มากอีกท่านหนึ่ง โดยเฉพาะงานเขียนโดเด่น ซึ่งเป็นงานเขียนเชิงสารคดีด้านมานุษยวิทยาวัฒนธรรมในแถบลุ่มน้ำโขง   ท่านนี้แม้เป็นนักวิชาการใหญ่โตแต่ท่านก็ชอบเรื่องศิลปกรรมเล็ก ๆ ของเมืองเล็ก ๆ และผมเองคงต้องขอเป็นลูกศิษย์ท่านในด้านมานุษยวิทยาศิลปะ ซึ่งการไปคราวนี้เราในฐานะผู้จัดคาดหวังว่าท่านจะถอดมุมมองในฐานะนักมานุษยวิทยาทางด้านศิลปะให้เราได้เข้าใจ

ผู้ช่วยศาสตราจารย์ชอบ  ดีสวนโคก
ครูใหญ่ของผมที่ไม่ว่ามีปัญญหาอะไรเกี่ยวกับอีสาน นี่เป็นครูที่ผมนึกถึงเสมอ แม้ท่านจะติดภารกิจในการเป็นนักจัดรายการทางวิทยุในคลื่นที่เน้นประเด็นเรื่องวัฒนธรรมของคนอีสาน แต่ท่านก็ตอบรับในการเดินทางไปกับผมในคราวนี้   ครูท่านนี้หากว่าด้วยเรื่องอีสาน ผมกล้ายืนยันว่าท่านเป็นกูรูอีกท่านหนึ่งและที่สำคัญท่านเป็นกูรูในฐานะนักกิจกรรมทางด้านวัฒนธรรมด้วย(culture activist)  ครั้งหนึ่งท่านเคยเปรยกับผมว่า ท่านกับผมมีส่วนหนึ่งที่คล้ายกันคือ “แม้เป็นคนไม่พูดโฉงฉางแต่บางเรื่องหากไม่ถูกต้องก็ไม่ยอม” ซึ่งการไปคราวนี้เราในฐานะผู้จัดคาดหวังว่าท่านจะถอดมุมมองในฐานะนักประวัติศาสตร์ผู้ที่เชื่อมโยงทั้งประวัติศาสตร์และวัฒนธรรมพื้นที่ให้เราได้เข้าใจ

พ่อบุญเกิด พิมพิ์วรเมธากุล ปรมาจารย์ด้านภาษาและวรรณกรรม ว่ากันว่าในโจกโลกฟ้านี้ หานักภาษาศาสตร์ที่เชี่ยวชาญด้านอีสานนั้นมีน้อยนักที่รอบรู้และแตกฉาก หากหาได้  หนึ่งในนั้นผมว่าต้องมีชื่อ อาจารย์บุญเกิด พิมพ์วรเมธากุล นักวิชาการอาวุโสเจ้าของพจนานุกรมภาษาอีสานฉบับล่าสุดและสมบูรณ์ที่สุดในปัจจุบัน และเป็นคู่หูนักกิจกรรมทางวัฒนธรรมร่วมกับอาจารย์ชอบ  ดีสวนโคก  ในวัยเกษียณอายุราชการ ท่านได้ทุ่มเทแรงกายแรงปัญญาในการถอดความ ตีความและเผยแพร่ภาษาและวรรณกรรมอีสานอย่างต่อเนื่อง  ซึ่งการไปคราวนี้เราในฐานะผู้จัดคาดหวังว่าท่านจะถอดมุมมองในฐานะนักภาษาศาสตร์และวรรณกรรม  ซึ่งสิมวัดศรีมหาโพธิ์มีภาษาที่จารึกให้เราต้องถอดความอยู่มาก

นี่เป็นนักวิชาการสี่ท่านที่จะร่วมเดินทางไปกับเราในคราวนี้   ส่วนอีก 3 ท่านผมจะเล่าในบันทึกต่อไป ตามอ่านนะครับเพราะอีกสามท่านนี้ก็พิเศษไม่แพ้กัน ว่ากันว่าท่านจะต้องสงสัยว่ามาได้อย่างไรกัน ทำไม ทำไม และทำไม

Powered by WordPress