ฮูบแต้มแคมของ : ปัญญาด้านภาษา(ภาพ)
แต่ละวันในค่ายฮูบแต้มแคมของเราทั้งพี่เลี้ยงและเด็ก ๆ มีเรื่องยุ่ง ๆ ที่แสนสนุกให้ทำไม่ซ้ำกัน ทำกันจนเหมือนเราไม่มีช่วงเวลาจะพักเอาเสียเลย เพราะในขณะที่เราพักเราก็เหมือนรู้สึกว่าเราทำกิจกรรมเรียนรู้อยู่ ดังนั้นชีวิตการอยู่ในค่ายสามวันสองคืนจึงมากด้วยการเรียนรู้
การเรียนรู้ที่มากมาย กิจกรรมที่หลากหลายและผู้คนที่มาให้ความรู้กับเรา มีมากมากจนลิ้นชักในสมองของเด็ก ๆ เก็บเอาไว้ไม่หมด หลายคนเก็บเอาไว้มาก แต่พอจะเปิดลิ้นชักสมองก็พบว่ามันสับสนอลหม่านกันไปหมด จนไม่รู้ว่าลิ้นชักอันไหนเก็บเรื่องอะไร ลิ้นชักไหนเก็บกิจกรรมอะไร เรื่องแบบนี้เกิดขึ้นแน่นอนในค่ายการเรียนรู้หรือแม้การใช้ชีวิตประจำวันของแต่ละคน
ในค่ายฮูบแต้มแคมของเราจึงหาเครื่องมือที่ให้เด็ก ๆ ได้ทบทวนการเรียนรู้ในแต่ละวันอย่างง่าย ๆ เพื่อให้เด็ก ๆ จดจำเรื่องราวที่แสนประทับใจในค่ายของเราไว้รำลึกถึงเมื่อช่วงเวลาในค่ายผ่านพ้นไป เครื่องมือนี้เราเรียกว่า การทบทวนความรู้ด้วยภาพ(Graphic Review)
“การทบทวนการเรียนรู้ด้วยภาพ” ว่ากันไปแล้วก็เหมือนจิตรกรรมฝาผนังหรือฮูบแต้มที่เรากำลังศึกษากันในค่าย ภาพวาดชวนให้เราอ่านเรื่องด้วยภาพ ภาพเขียนแทนภาษาพูดหรือภาษาเขียน เพราะภาพเขียนถือว่าเป็นภาษาชนิดหนึ่ง การส่งเสริมการใช้ภาษาให้มีประสิทธิภาพจึงถือว่าเป็นการส่งเสริมการเรียนรู้ด้วย ปัญญาด้านภาษา(Linguistic Intelligence)
ในจิตรกรรมฝาผนังวัดศรีมหาโพธิ์มีภาพจิตรกรรมฝาผนังไว้เล่าเรื่องพระเวสสันดรชาดก ผู้คนชาวบ้านหว้านใหญ่หลายคนแม้จำเนื้อหาเรื่องพระเวสสันดรได้ไม่หมดแต่การได้ดูภาพเขียนก็ทำให้เข้าใจและจดจำเนื้อหาหรือแก่นสารสำคัญในเรื่องได้มากขึ้น ทั้งนี้อาจจะมีภาษาเขียนกำกับในภาษาภาพเอาไว้ในบางช่วงบางตอน วิธีนี้ช่วยเติมเต็มคำสำคัญที่ต้องการสื่อสารหรือต้องการให้จดจำในภาพแต่ละตอน
เมื่อการเรียนรู้แต่วันในค่ายของเราผ่านไป ก่อนสวดมนต์เข้านอน ครูอุ้มชวนเด็กมาทบทวนกิจกรรมที่เกิดขึ้นในแต่ละวันด้วยภาษาภาพ โดยมีครูคล่องช่วยเขียนเป็นภาพ เสมือนการย้อนบันทึกประจำวันของแต่ละคนตั้งแต่เช้ายันเย็น ซึ่งเด็กๆช่วยกันเติมเต็มรายละเอียดในแต่ละช่วงเวลา เมื่อสิ้นสุดภาพและคำสำคัญในแต่ละวันครูอุ้มกลับมาทบทวนเรื่องราวในภาพ เราพบว่าเด็ก ๆ จำกิจกรรมว่าใคร ทำอะไร ที่ไหน เมื่อไหร่ อย่างไร ได้อย่างแม่นยำ
(ในภาพอ่านว่า ช่วงบ่ายที่ศาลาวัดเด็ก ๆ กำลังทำขันหมากเบ็งซึ่งประดิษฐ์จากใบตอง ซึ่งทุกคนสนุกสนานมากและทำได้ดี)
เครื่องมือนี้ช่วยในการเรียบเรียงและทบทวนประสบการณ์ในแต่ละวันของเด็ก ๆ ได้เป็นอย่างดี การเขียนภาพเป็นการช่วยระบายและปลดปล่อยอารมณ์ของเด็กต่อกิจกรรมการเรียนรู้นั้นได้ อีกทั้งยังส่งเสริมการคิดเชื่อมโยงให้กับเด็ก ๆในการใช้ภาพสื่อแทนภาษาเขียนได้ และที่สำคัญช่วยย้ำเตือนความทรงจำที่แสนพิเศษที่เกิดขึ้นในค่ายฮูบแต้มแคมของให้แก่เด็ก ๆ ซึ่งในวันสุดท้ายเราได้มอบสมุดบันทึกคืนให้แก่เด็ก ๆ ทุกคน เพื่อให้เขามีเครื่องมือแห่งความทรงจำ
เยี่ยมมากเลยจ้ะน้องออต พี่ชอบค่ายแบบนี้นะ และเห็นด้วยว่าการทบทวนด้วยภาพเป็นการฝึกสมอง 2 ซีกด้วยสิจ๊ะ ทำให้จำแม่นขึ้น ใจเย็นลง ละเมียดละไมมากขึ้น น่ารักมากจริง ๆ นะ (พี่ชอบตอนบายศรี อิอิอิ)
ความคิดเห็น โดย น้ำฟ้าและปรายดาว — กันยายน 9, 2009 @ 18:07
ดีจริงๆด้วย
ความคิดเห็น โดย sutthinun — กันยายน 9, 2009 @ 18:12
ไม่รู้จะพูดอะไรดี มันดีไปหมด ออตเอ้ย..อยากได้แบบนี้ไปทำบ้าง
ความคิดเห็น โดย bangsai — กันยายน 9, 2009 @ 18:13
อาม่าอยู่ทีค่ายทุกวัน ยกเว้นกลางคืนกลับไปนอนในเมือง แต่อาม่าได้เห็น น้องอุ้ม และน้องคล่องสอนGraphic Review ภาษาภาพ เป็นการบึนทึกเหตุการหลักๆที่เกิดจากการทำกิจกรรมในแต่ละวัน เด็กๆช่วย ทบทวนความจำเขียนเป็นภาพง่ายๆที่สื่อกิจกรรมนั้นๆ ถ้าฝึกบ่อยๆจะดีมากเลยค่ะ ไม่ว่าจะจดบันทึกความจำด้วยภาพหรือภาษา ซึ่งตรงกับสิ่งที่อาม่าสอนคนให้จดแล้วจำ ยิ่งเป็นผู้ใหญ่ควรทำให้เป็นนิสัย เพราะจะทำให้เราจำได้ ไม่ว่าเวลาจะผ่าไปนานสักเท่าไหร่ สร้างความน่าเชื่อถือให้กับตัวเองค่ะ ชอบทุกกิจกรรมซึ่งล้วนสร้างให้สมองเกิดรอยหยักเพิ่มมากขึ้นค่ะ ของเขาดีจริงๆ
ความคิดเห็น โดย Lin Hui — กันยายน 9, 2009 @ 19:30
ขอบพระคุณทุกท่านครับ
ความคิดเห็น โดย ออต — กันยายน 15, 2009 @ 12:13