ลานบ้านชลบถพิบูลย์

กันยายน 9, 2009

ฮูบแต้มแคมของ : ปัญญาด้านภาษา(ภาพ)

แต่ละวันในค่ายฮูบแต้มแคมของเราทั้งพี่เลี้ยงและเด็ก ๆ มีเรื่องยุ่ง ๆ ที่แสนสนุกให้ทำไม่ซ้ำกัน ทำกันจนเหมือนเราไม่มีช่วงเวลาจะพักเอาเสียเลย เพราะในขณะที่เราพักเราก็เหมือนรู้สึกว่าเราทำกิจกรรมเรียนรู้อยู่ ดังนั้นชีวิตการอยู่ในค่ายสามวันสองคืนจึงมากด้วยการเรียนรู้

การเรียนรู้ที่มากมาย กิจกรรมที่หลากหลายและผู้คนที่มาให้ความรู้กับเรา มีมากมากจนลิ้นชักในสมองของเด็ก ๆ เก็บเอาไว้ไม่หมด หลายคนเก็บเอาไว้มาก แต่พอจะเปิดลิ้นชักสมองก็พบว่ามันสับสนอลหม่านกันไปหมด จนไม่รู้ว่าลิ้นชักอันไหนเก็บเรื่องอะไร ลิ้นชักไหนเก็บกิจกรรมอะไร เรื่องแบบนี้เกิดขึ้นแน่นอนในค่ายการเรียนรู้หรือแม้การใช้ชีวิตประจำวันของแต่ละคน

ในค่ายฮูบแต้มแคมของเราจึงหาเครื่องมือที่ให้เด็ก ๆ ได้ทบทวนการเรียนรู้ในแต่ละวันอย่างง่าย ๆ เพื่อให้เด็ก ๆ จดจำเรื่องราวที่แสนประทับใจในค่ายของเราไว้รำลึกถึงเมื่อช่วงเวลาในค่ายผ่านพ้นไป เครื่องมือนี้เราเรียกว่า การทบทวนความรู้ด้วยภาพ(Graphic Review)

“การทบทวนการเรียนรู้ด้วยภาพ” ว่ากันไปแล้วก็เหมือนจิตรกรรมฝาผนังหรือฮูบแต้มที่เรากำลังศึกษากันในค่าย ภาพวาดชวนให้เราอ่านเรื่องด้วยภาพ ภาพเขียนแทนภาษาพูดหรือภาษาเขียน เพราะภาพเขียนถือว่าเป็นภาษาชนิดหนึ่ง การส่งเสริมการใช้ภาษาให้มีประสิทธิภาพจึงถือว่าเป็นการส่งเสริมการเรียนรู้ด้วย ปัญญาด้านภาษา(Linguistic Intelligence)

ในจิตรกรรมฝาผนังวัดศรีมหาโพธิ์มีภาพจิตรกรรมฝาผนังไว้เล่าเรื่องพระเวสสันดรชาดก ผู้คนชาวบ้านหว้านใหญ่หลายคนแม้จำเนื้อหาเรื่องพระเวสสันดรได้ไม่หมดแต่การได้ดูภาพเขียนก็ทำให้เข้าใจและจดจำเนื้อหาหรือแก่นสารสำคัญในเรื่องได้มากขึ้น ทั้งนี้อาจจะมีภาษาเขียนกำกับในภาษาภาพเอาไว้ในบางช่วงบางตอน วิธีนี้ช่วยเติมเต็มคำสำคัญที่ต้องการสื่อสารหรือต้องการให้จดจำในภาพแต่ละตอน

เมื่อการเรียนรู้แต่วันในค่ายของเราผ่านไป ก่อนสวดมนต์เข้านอน ครูอุ้มชวนเด็กมาทบทวนกิจกรรมที่เกิดขึ้นในแต่ละวันด้วยภาษาภาพ โดยมีครูคล่องช่วยเขียนเป็นภาพ เสมือนการย้อนบันทึกประจำวันของแต่ละคนตั้งแต่เช้ายันเย็น ซึ่งเด็กๆช่วยกันเติมเต็มรายละเอียดในแต่ละช่วงเวลา เมื่อสิ้นสุดภาพและคำสำคัญในแต่ละวันครูอุ้มกลับมาทบทวนเรื่องราวในภาพ เราพบว่าเด็ก ๆ จำกิจกรรมว่าใคร ทำอะไร ที่ไหน เมื่อไหร่ อย่างไร ได้อย่างแม่นยำ

(ในภาพอ่านว่า ช่วงบ่ายที่ศาลาวัดเด็ก ๆ กำลังทำขันหมากเบ็งซึ่งประดิษฐ์จากใบตอง ซึ่งทุกคนสนุกสนานมากและทำได้ดี)

เครื่องมือนี้ช่วยในการเรียบเรียงและทบทวนประสบการณ์ในแต่ละวันของเด็ก ๆ ได้เป็นอย่างดี การเขียนภาพเป็นการช่วยระบายและปลดปล่อยอารมณ์ของเด็กต่อกิจกรรมการเรียนรู้นั้นได้ อีกทั้งยังส่งเสริมการคิดเชื่อมโยงให้กับเด็ก ๆในการใช้ภาพสื่อแทนภาษาเขียนได้ และที่สำคัญช่วยย้ำเตือนความทรงจำที่แสนพิเศษที่เกิดขึ้นในค่ายฮูบแต้มแคมของให้แก่เด็ก ๆ ซึ่งในวันสุดท้ายเราได้มอบสมุดบันทึกคืนให้แก่เด็ก ๆ ทุกคน เพื่อให้เขามีเครื่องมือแห่งความทรงจำ

กันยายน 7, 2009

ฮูบแต้มแคมของ : คน ค่าย เครือข่าย ความสุข

เราไม่ใช่บริษัทรับจัดค่าย เราไม่ได้เป็นองค์กรที่ทำงานด้านเด็ก แต่เราเป็นเพียงโครงการเล็ก ๆ ที่อยากทำงานกับเด็ก ๆ โดยเฉพาะงานที่เกี่ยวกับพื้นบ้านพื้นถิ่น ดังนั้นหน้าที่ของผมจึงเป็นนักส่งสาร ร่อนการ์ดเชิญ โทรศัพท์ชวน โปรยข้อความบนลานและโลกไซเบอร์เพื่อตามเพื่อนฝูง พี่น้อง ผองเพื่อครูบาอาจารย์ที่มักคุ้นให้มาช่วยค่าย

ในเมื่อหลายคนก็ต้องทำงานของตนเอง ดังนั้นการกะเกณฑ์ว่าใครจะมาได้บ้างจึงเป็นเรื่องยากเต็มทน แต่ในวันสุดท้ายก่อนเดินทางก็ยังมีบางอย่างรังเร ผมออกแบบกิจกรรมให้หยืดหยุนมากที่สุดโดยยึดเพื่อน ๆที่รับปากจริงไปได้จริงเป็นหลัก ซึ่งกลุ่มนี้สามารถเลื่อนกิจกรรมของตนไปกับความเปลี่ยนแปลงได้ ส่วนที่ยังไม่แน่ใจก็ต้องยอมรับความไม่พร้อมและเตรียมแผนสำหรับแก้ไขปัญหา

จนกระทั้งถึงวันเปิดค่ายจริงและยืนยันการเดินทางจริง ผมก็พบว่าญาติพี่น้องเพื่อนพ้องที่เดินทางมาร่วมค่ายของโครงการเราคราวนี้เป็นนักกิจกรรมที่จัดแบ่งออกได้หลายประเภทด้วยกัน หากจะแบ่งตามประสบการณ์ชีวิต เราพบว่าสามารถจัดกลุ่มได้ 3 รุ่นคือ S M L

รุ่นเล็ก = S รุ่นเล็กแต่ใจใหญ่ กลุ่มนี้ผมได้เครือข่ายทางสกลนครมาช่วยซึ่งเป็นนักศึกษา รวมถึงน้อง ๆจากมหาวิทยาลัยมหาสารคามเด็กหนุมไฟแรงที่เพิ่งจบซึ่งกลุ่มนี้จิ๋วแต่แจ๋วทั้งน้องปุ๊ น้องปอง น้องโบว์ น้องทิก น้องมี่ น้องแพท คนกลุ่มนี้มีจิตอาสาและรักษ์บ้านเกิดเมืองนอนที่ชัดเจน

( แพท มีมี่ และน้องโบว์์สาวน้อยเดินทางไกลมาจากธรรมศาสตร์ งานนี้เหนื่อยบ้างก็พักบ้างแต่เธอไม่แพ้ ถามหาค่ายต่อไป)

รุ่นกลาง = M รุ่นนี้เป็นกลุ่มมดงาน ผมได้เครือข่ายมาจากทุกทิศทุกทาง พี่คล่องกับอาจารย์อุ้ม เคยผ่านค่ายมาด้วยกันมากกว่าสิบซึ่งถือว่าสองคนนี้เป็นกำลังสำคัญของผมเพราะจะต่อกันติดง่ายไม่ว่าโยนกิจกรรมอะไรไป ส่วนอีกสองคนเป็นเพื่อนเครือข่ายจากสกลนครที่อาสามาช่วย มาดูและมาเชียร์นั้นคืออาจารย์นพและอาจารย์อ่ำ รวมทั้งเพื่อนครูที่ HUG SCHOOLอย่างอาจารย์ต้อม และมดจากหอมกรุ่น(ร้านกาแฟแสนอร่อย) กลุ่มนี้เราต่างถ่ายเทรูปแบบการจัดค่ายต่อกันสม่ำเสมอ ใครมีเทคนิคใหม่ ๆ ก็เอามากลางเรียนรู้ด้วยกัน

(อาจารย์ต้อม โบว์ อาจารย์อ่ำ พี่มด อาจารย์คล่อง อาจารย์อุ้ม ออต)

รุ่นใหญ่ = L กลุ่มแรงใจแรงกายแรงปัญญา รุ่นนี้เป็นรุ่นที่เมตตากับเรามาก เป็นเสมือนที่ปรึกษาในทุก ๆ มิติเป็นแรงใจ และหลายท่านก็เป็นขวัญใจชาวค่ายอย่างเลี่ยงไม่ได้ การได้รุ่นใหญ่มากประสบการณ์แบบนี้ช่วยให้งานของเรามีคุณค่าขึ้นมาอีกมาก เพราะก่อนหน้าที่เราไปกับแบบวัยรุ่นวุ่นรักค่าย แต่ลืมบางสิ่งบางอย่างที่ผู้ใหญ่มี รุ่นนี้เราได้เครือข่ายลานปัญญาเช่นอาม่าขวัญใจชาวค่าย อาจารย์บางทราย พี่พนัส นอกจากนั้นยังได้ความเมตตาจาก ดร.ศุภชัย สิงห์ยะบุษย์ปรมาจารย์ด้านลุ่มน้ำโขงศึกษามาช่วยอีกแรง

(อาม่า  ดร.ศุภชัย อาจารย์บางทราย)

นี่เป็นกลุ่มคนที่ผมขอจารึกเอาไว้ในค่ายแห่งนี้ เพราะทุกคนคือแรงกายแรงใจ แรงกำลังที่ทำค่ายเดินทางจนเสร็จสิ้นได้ สมควรที่จะได้รับการขอบคุณจากผมและศูนย์วิจัยพหุลักษณ์สังคมลุ่มน้ำโขง มหาวิทยาลัยขอนแก่น เพราะเราคือคนของค่ายที่เกิดจากเครือข่ายแห่งความสุข

(เป็นได้แม้ขาไมโครโฟน)

Powered by WordPress