ลานบ้านชลบถพิบูลย์

สิงหาคม 13, 2009

คนวัฒนธรรม กับ พหุลักษณ์

เช้าของวันแม่ ที่ขอนแก่นแม้บรรยากาศจะดีมากคือมีแดดอ่อน ๆ แต่ขบวนนักถอดความหมายทางวัฒนธรรมไปถึงเมืองว่านใหญ่ ก็พบว่าอากาศครึ้มฟ้าครึ้มฝนอยู่มาก ๆ ไม่ยากที่จะเดาว่าบ่ายนี้ฝนที่ตั้งเค้าไม่น่าจะไหลผ่านพื้นดินแถบนี้  น่าจะตกมาให้เราได้เปียกปอน งานนี้ผมออกจะห่วง ๆ อาจารย์ผู้ใหญ่ที่มาด้วยจะเป็นหวัดจากพิษฝนได้

หลังรับประทานอาหารเที่ยง  เราลงมือทำงานและสำรววจพื้นที่ทันทีโดยเริ่มต้นที่วัดศรีมหาโพธิ์ ชึ่งเป็นวัดที่เราใช้เป็นแกนกลางในการจัดทำหลักสูตร งานนี้อาจารย์บางทราย แห่งดงหลวงมาสมทบพอดี พร้อม ๆ กับพี่มหาซึ่งเป็นคนหนุ่มที่สนใจงานวัฒนธรรมและพื้นที่ มาช่วยอธิบายความให้เราทราบพื้นฐานของวัดและชุมชนแถบนี้ ซึ่งนับว่าได้ความรู้จากคนพื้นที่เป็นอย่างดี

จากคำอธิบายของพี่มหา และน้อง ๆ จาก อบต.ว่านใหญ่ ทำให้เราทราบว่า คำว่า หว้านใหญ่ เพี้ยนมาจาก ว่านใหญ่ ซึ่งพื้นที่เดิมของชุมชนแถบนี้เป็นดงว่าน เมื่อตั้งชื่อบ้านก็นิยมเอาพืชพันธุ์ที่สำคัญมาตั้งเป็นชื่อบ้านจึงให้ชื่อว่าบ้าน ว่าน  จากการสัมภาษณ์ยังไม่ทราบแน่ว่าเป็นว่านหรือพืชตระกูลใด ต้องสืบเสาะอีกครั้งจากผู้แก่ผู้เฒ่าแถบนี้  ผมได้แต่แอบยุน้อง ๆ จาก อบต.ว่านใหญ่ให้เสาะหาดู หรือไม่แน่ว่าในค่ายผมอาจจะให้เด็กสืบหาว่านอันเป็นชื่อบ้านนามเมืองนี้ด้วย(ได้ไอเดียการจัดการเรียนจากคำถามในพื้นที่ที่ไปเจอ)

ส่วนคำสัญณิฐานของผม คำว่าหว้านใหญ่ น่าจะเพี้ยนมาจาก ว่านใหญ่ จริง แต่ไม่ใช่ชื่อ ว่านใหญ่ จริง ความจริงน่าจะมาจาก ว่านหลวง ซึ่งเป็นชื่อที่ปรากฎในจดหมายการเดินทางของเจ้านายจากบางกอกในการสำรวจอีสาน  ต่อเมื่อมีการแยกบ้านของประชากรจากว่านหลวงไปตั้งบ้านใหม่จึงเรียกบ้าน ว่านน้อย/ว่านใหญ่  และเพี้ยนเป็น หว้านใหญ่/หว้านน้อยในที่สุด ในปัญหาข้อนี้ก็ขอเชิญนักภาษา นักท้องถิ่นนิยม นักประวัติศาสตร์ค้นหากันอีกรอบ

สิ่งที่ทุกคนแปลกประหลาดใจในการพบวัดศรีมหาโพธิ์คือ การมีสิมหลังเล็กมากและเป็นหลังเล็กที่มีฮูบแต้มด้วย เมื่อไปถึงนักถอดหรัสของผมก็ต่างสนใจดู ถ่ายภาพ พูดคุยทั้งวงสนทนาใหญ่ วงสนทนาเล็ก เดินออกมาชื่นชม นั่งจังงังทำอะไรไม่ถูก  อาจารย์รณภพ เตชะวงษ์บอกกับผมว่า ทำอะไรไม่ถูกเพราะอึ้งมาก  แม้มีกล้องในมือก็ไม่รู้จะถ่ายอะไรมีความรู้สึกบางอย่างอยู่ในจิตใจ

อาจารย์บอนนี่ บอกผว่าวัดนี้สวยพิเศษและเรียบร้อย  คือมีความเงียบ และเรียบร้อยเหมือนผู้หญิงนั่งฟังธรรม(อันหลังนี่ผมเติมเอง เพราะไม่รู้จะถอดความความรู้สึกของอาจารย์ออกมาอย่างไร) เพราะวัดแห่งนี้เผยภาพเรื่องราวของพระเวสสันดรอย่างจริงใจ ศรัทธาและตัดภาพที่จะให้ความรู้สึกรุนแรง ความอิโรติก ออกไปอย่างมาก

เ่ช่นในภาพชูชกท้องแตกตาย ก็วาดชูชกตายแบบคนธรรมดาไม่ใส่อารมณ์ไปมากเหมือนวัดในแถบอีสานกลาง  ในตอนที่เผ่าศพชูชกก็วาดภาพการเผาศพอย่างสมเกียรติ   ในตอนที่เหล่าเมียพรามห์มาทำร้ายและด่าทอนางอมิตดาที่บ่อน้ำก็พบว่ามีภาพแค่ดึงชายผ้าถุงขึ้นคล้ายโกรธ แต่ในแถบอีสานกลางภาพที่แสดงออกถึงกับมีการ จ้อนซิ่น ถลกผ้าถุง โชว์ของสงวนกันอย่างโจ่ง ๆ  แต่สำหรับวัดศรีมหาโพธิ์ช่างด่าทอด้วยคำสุภาพเสียเหลือเิกิน

กิจกรรมการถอดหรัสเป็นไปอย่างธรรมชาติ ไม่ได้เครียดจนทำงานหน้าเขียวหน้าแดง แต่ผมสังเกตเห็นปฏิสัมพันธ์การแลกเปลี่ยนของนักวิชาการที่แสดงทัศนะของตนเองในมิติที่ตนเองสนใจ ผมว่าถึงแม้ในใจไม่เห็นด้วยแต่ก็ยอมรับในความแตกต่างและหลากหลาย  ผมว่านี่ซิ ถึงเป็นมิติของ พหุลักษณ์อย่างแท้จริง

มกราคม 28, 2009

ถึงเวลาผลิตบัณฑิตสาขาผ้าทอพื้นบ้าน หรือยัง?

Filed under: Uncategorized — แท็ก: , — ออต @ 10:24

พรุ่งนี้มีภาระกิจต้องขึ้นนำเสนองานวิจัยในการประชุมวิชาการมหาวิทยาลัยขอนแก่น “การพัฒนาชนบทที่ยั่งยืน” ที่จัดโดยมหาวิทยาลัยขอนแก่นที่โรงแรมโฆษะ จังหวัดขอนแก่น

ผมขึ้นนำเสนอในภาคบ่าย ๆ มีเวลาในการพูดงานวิจัยที่ตนเองทำราวยี่สิบนาที ซึ่งก็ไม่มากพอในการจะนำเสนอเรื่องที่พูด ดังนั้นจึงขอปูดเรื่องที่อาจจะไม่ใด้พูดไว้ในบันทึกนี้เสียเลย เผื่อท่านที่สนใจจะได้ตามอ่านกัน

ประเด็นเสนอแนะหลังจากงานวิจัยที่นำเสนอสิ้นสุดลงคือ การเพิ่มบัณฑิตสาขาวิชาเกี่ยวกับ ผ้าทอพื้นบ้านอีสาน ซึ่งในปัจจุบันยังไม่มีสถาบันอุดมศึกษา อาชีวะฯไหนในอีสานที่พัฒนาและผลิตอย่างจริงจัง ทั้ง ๆ ที่มีช่างทอผ้าและชุมชนทอผ้าในอีสานมากมาย มากมายพอพอกับอาชีพเกษตรกรรม

ในทางเศรษฐกิจการทอผ้าดูเหมือนจะเป็นอาชีพเสริมรายได้ที่สามารถสร้างเม็ดเงินได้มากที่เดียว หากยึดเป็นอาชีพหลักก็เห็นว่าสามารถหาเลี้ยงตนเอง ครอบครัวได้อย่างดีที่เดียว  แต่ปัญหาส่วนใหญ่ของช่างทออีสานคือการขาดรูปแบบลวดลายการทอผ้าใหม่ ๆ เท่านั้น

แต่ใหม่ ๆ ในความคิดของผมก็ไม่ควรเป็นการลงทุนที่มากเกินความสามารถของช่างพื้นบ้านที่เป็นชาวบ้าน ผมว่าลดการพึ่งพาเทคโนโลยีที่ไม่จำเป็นลงดีที่สุด เหมาะที่สุด  ซึ่งเราควรมองหาเทคโนโลยีในพื้นที่เป็นหลัก แบบนี้สอดคล้องกับเศรษฐกิจพอเพียงได้ดีนัก

ซึ่งงานวิจัยที่ทำก็สามารถตอบโจทย์เรื่องนี้ว่า ช่างทอพื้นบ้าน เทคโนโลยีการทอแบบพื้นบ้าน วัตถุดิบแบบพื้นบ้านก็สามารถพัฒนาเป็นผ้าทอที่คนร่วมสมัยให้การยอมรับและกล้าซื้อมาให้มาบริโภคได้เช่นกัน ดังนั้นหัวใจของการพัฒนาผ้าทออีสานอยู่ที่การออกแบบใหม่ ๆ ที่สอดคล้องกับตลาด

แนวคิดสำคัญคือ ระบบการศึกษาได้พัฒนาผลิตบัณฑิตด้านนี้มากน้อยแค่ไหน เมื่อมองไปในมหาวิทยาลัยในเขตอีสานพบว่าไม่มีเลย ที่มีก็ไม่ได้เน้นการผลิตบุคคลากรด้านนี้แบบจริงจัง ซึ่งในความเป็นจริง เราขาดแคลน  เราต้องการ  เราช่างทอพื้นบ้านต้องการนักออกแบบมือใหม่ ๆ ลายใหม่ ๆ เข้าสู่ตลาด

ซึ่งบางทีรัฐบาลเองก็พัฒนาไม่ตรงจุด ไม่ตรงหัวใจ  เอาช่างทอพื้นบ้านมาอบรมออกแบบ หมดไปกี่รุ่น กี่รุ่นก็ได้ผลน้อย ซึ่งตรงนี้ เราต้องเข้าใจความต้องการของช่างด้วย เพราะเขาไม่ต้องการเป็นนักออกแบบ แต่ต้องการเป็นช่างทอฝีมือดีที่สามารถทอผ้าได้ดีตามแบบที่ตลาดต้องการ  สวยงาม ตรงตรามความต้องการของคนนอก(ซึ่งเป็นผู้บริโภคหลัก)

ดังนั้นหากเพิ่มนักออกแบบมือใหม่ ที่เข้าใจงานทอพื้นบ้าน ก็น่าจะทำให้วงการทอผ้าของอีสานพัฒนาไปมาก เพราะแม่หญิงอีสานทอผ้ากันเป็นเสียส่วนใหญ่

มหาลัยในอีสานทำกันหน่อยนะครับ……………………………………………………..แม่ใหญ่ขอร้อง

มกราคม 13, 2009

เก็บข่าวมาเล่า : งานทอผ้าประยุกต์ เสน่ห์กลิ่นอายอีสาน

ยังไม่ถึงขั้นปั้นเป็นธุรกิจ แต่ทว่ามีเค้าลางที่สามารถสร้างเป็นธุรกิจได้…เฉพาะอย่างยิ่งสำหรับคนที่รักงานผ้าทอฝีมือไทย กับการทำงานของกลุ่มอีสานเทกซ์ไทล์ คนทำงานเกี่ยวกับการวิจัยลายผ้าโบราณ จากนั้นก็นำมาประยุกต์สร้างลวดลายใหม่ในแนวร่วมสมัย

สำรวย เย็นเฉื่อย ช่างทอผ้า หนึ่งในคณะทำงานโครงการจินตนาการใหม่ไหมมัดหมี่อีสาน มหาวิทยาลัยขอนแก่น เล่าว่า ได้ทุนวิจัยเพื่อทำโครงการดังกล่าวประมาณ 1.5 แสนบาทจากมหาวิทยาลัยขอนแก่น เป้าหมายคือศึกษาวิจัยลายผ้าทอโบราณของคนไทยในท้องถิ่นอีสาน จากนั้นก็ทำประยุกต์ ออกแบบลายผ้าขึ้นใหม่ที่ยังมีกลิ่นอายโบราณ แต่มาในรูปลักษณ์ใหม่ ให้คนรุ่นใหม่สามารถใส่ได้

“แนวคิดเบื้องต้นก็คือ ลายผ้าทอโบราณ เป็นลายที่สวยและมีเสน่ห์ก็จริง แต่ทว่าการใช้งานไม่สามารถทำให้แพร่หลายได้ คนรุ่นใหม่เมื่อเห็นลายผ้าโบราณก็จะบอกว่าเป็นลายสำหรับคนแก่ ฉะนั้นการใช้งานจึงจำกัด จำกัดทั้งในกลุ่มลูกค้าและการออกแบบเพื่อใช้งาน ทางคณะอาจารย์จึงมีแนวคิดว่าจะทำอย่างไรได้บ้าง ให้ลายผ้าไทยโบราณยังคงดำรงอยู่ แต่ขณะเดียวกันก็สามารถขยายกลุ่มคนใส่ให้กว้างขวางขึ้น ทั้งหมดจึงเป็นที่มาของโครงการจินตนาการใหม่ไหมมัดหมี่อีสาน ที่เริ่มทำมาตั้งแต่ปี 2550…” สำรวยกล่าวถึงที่มาของผ้าลายไทยลวดลายประยุกต์ ที่ถูกรังสรรค์ขึ้นมาจนได้มาโชว์ในงานเทศกาลเที่ยวอีสาน 2009 ที่จะจัดขึ้นระหว่างวันที่ 15-18 มกราคม 2552 ที่ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์

สำรวย เย็นเฉื่อย กล่าวว่า การทำงานที่ผ่านมา เรามีการทำงานร่วมกับชาวบ้านรุ่นแม่เฒ่า ที่มีความชำนาญในการทอผ้าลวดลายโบราณ ศึกษาในวิธีการทำงานของลวดลายต่างๆ จากนั้นก็นำลวดลายเก่ามาปรับโดยใส่แนวคิด ใส่ไอเดียเข้าไปเพิ่ม โดยการออกแบบให้ร่วมสมัยขึ้น โดยยังคงมีกลิ่นอายลายผ้าโบราณๆ อยู่

จากนั้นก็นำลวดลายที่ออกแบบใหม่ไปให้ช่างทอผ้ารุ่นเก่าทำ ซึ่งเขาก็สามารถทำได้ ซึ่งในช่วงเวลาของการทำงาน ก็จะเกิดคำถามที่โต้เถียงและก่อให้เกิดการเรียนรู้ซึ่งกันและกันว่า ลายเดิมก็ดีอยู่แล้ว ทำไมต้องเป็นลายใหม่, ลายใหม่ที่ออกมาจะขายได้หรือ คนซื่อจะชอบหรือ ฯลฯ จากงบประมาณที่ได้ กับระยะเวลาการทำงานปีเศษ

การทำงานออกแบบลายผ้าอยู่ภายใต้ 3 แนวคิด คือ

1.เป็นผ้าใหม่ที่ประยุกต์มาจากลวดลายโบราณ การทอผ้าสมัยโบราณ นั้นส่วนใหญ่เขาจะทอลายเดียวกันทั้งพื้น ยกตัวอย่างลายปราสาทลายพญานาค เขาก็จะทอลายเดียวกันทั้งผืน เราก็ประยุกต์สร้างลวดลายใหม่ขึ้นมา โดยมีกลิ่นอายของลายโบราณผสมอยู่ เอาลายประสาทมาเพียงบางส่วน และใช้การออกแบบคอมพิวเตอร์กราฟิกมาช่วยบ้าง

2.แนวคิดลายใหม่ที่มาจากวัฒนธรรมอีสาน และแนวคิดที่ 3 ลายใหม่ที่ดัดแปลงมาจากความเชื่อ หรือปรากฏการณ์ความเชื่อของคนอีสาน ที่ส่วนใหญ่จะเป็นความเชื่อที่ดี ยกตัวอย่างลายกบกินเดือน

จนได้ลายผ้าใหม่ออกมาประมาณ 30 ลาย ซึ่งแต่ละลายได้มีการจดลิขสิทธิ์เป็นที่เรียบร้อยแล้ว

สำรวยกล่าวต่อว่า จนถึงขณะนี้โครงการวิจัยได้สิ้นสุดแล้ว แต่เนื่องจากการทำงานจริงๆ ในพื้นที่ยังไม่จบ ทางกลุ่มจึงได้เดินหน้าต่อ ก่อตั้งเป็นโรงเรียนช่างทอผ้าขึ้น ซึ่งถือเป็นกระบวนการหาทางออกของคนอีสาน ในการสืบสานมรดกทางวัฒนธรรมเรื่องการทอผ้า อันจะทำให้ผ้าทอพื้นเมืองที่ทำด้วยมือคงอยู่สืบรอยมือรอยเท้าของบรรพชนให้คงอยู่ตราบนานเท่านาน ในขณะเดียวกันก็สามารถรับใช้คนร่วมสมัยได้อย่างไม่เขินอาย

เป้าหมายโรงเรียนช่างทอผ้า ต้องการสนับสนุนให้พัฒนาทุนทางปัญญาให้มีค่าสำหรับการใช้ชีวิตในวัฒนธรรมที่มีการแปรเปลี่ยนไป แนวคิดหลักที่นำมาใช้ในการสร้างกระบวนการคือแนวคิดเรื่องการศึกษาตามอัธยาศัย โรงเรียนช่างทอผ้าจึงจำลองเอาแนวคิดของการเรียนรู้แบบโบราณที่ไม่แยกการศึกษาออกจากวิถีวัฒนธรรม นำมาสร้างให้เป็นกระบวนการเรียนรู้คือ แม่สอนลูกสาว เอื้อยสอนน้อง ญาติพี่น้องสอนกัน ส่วนพ่อบ้านก็จะสอนลูกชายในการผลิตอุปกรณ์เครื่องใช้ที่จำเป็น ดังนั้นการเรียนการสอนแบบนี้จะสร้างความสัมพันธ์ที่ดีต่อคนในครอบครัว

“ใช้คำว่าโรงเรียน แต่จริงๆ แล้วไม่ได้มีห้องเรียนอะไรใหญ่ เราก็เรียนกันใต้ถุนบ้าน ให้แม่เฒ่ารุ่นเก่ามาต่อยอดไอเดียกับช่าง ทอผ้ารุ่นเก๋า เพื่อสร้างงานใหม่ขึ้นมา…”

ตอนนี้ถือว่าในขั้นตอนการเรียนรู้ด้านการออกแบบลายผ้า จนถึงการผลิตที่เน้น ใช้เส้นไหมสาวมือ เพื่อให้เกิดลายผ้าที่ เป็นธรรมชาตินั้นสำเร็จในระดับหนึ่งแล้ว สเต็ปต่อไปยังคงต้องทำต่อ คือ การตลาด ซึ่งเรื่องนี้ค่อนข้างสำคัญที่จะช่วยตอกย้ำความมั่นใจได้มากขึ้น

“สำหรับลวดลายที่ออกมา ถือเป็นทรัพย์สินทางปัญหา แต่ถ้านักธุรกิจกลุ่มไหนที่ชอบลวดลายที่ออกแบบ และอยากทำตลาด ก็ สามารถติดต่อได้ที่ www.isantextiles.net …” สำรวยกล่าวทิ้งท้าย

(ที่มา : วันที่ 12 มกราคม พ.ศ. 2552 ปีที่ 32 ฉบับที่ 4070 )

ตุลาคม 26, 2008

ผ้าในฮูบแต้มอีสาน : ก้าวย่าง ย่างก้าว

จิตรกรรม

วันพรุ่งนี้มีกำหนดการต้องเดินทางไปเก็บข้อมูลภาคสนาม ตามโครงการวิจัยเรื่อง ผ้าในจิตรกรรมฝาผนังอีสาน ที่ได้รับทุนสนับสนุนการวิจัยจาก มูลนิเจมส์ เอช ดับเบิลยู ทอมป์สันปี 2551 ซึ่งหลังประกาสผลทุนแล้ว ก็ถึงคราวที่ต้องทำงานครับ
การเดินทางออกพื้นที่คราวแรกนี้ ผมมีโปรแกรมเดินทางไปวัดที่ปรากฎฮูบแต้มอีสานในเขตจังหวัดมหาสารคาม ซึ่งเป็นเสมือนกลุ่มตัวอย่างที่ใช้ในการศึกษาวิจัยในคราวนี้

หลังเก็บข้อมูลภาคเอกสารจากวรรณกรรมที่เขียนถึงฮูบแต้มอีสานในเขตจังหวัดมหาสารคาม พบว่าจิตรกรรมฝาผนังในมหาสารคามที่ปรากฎเอกสารกล่าวถึงมี 7 วัดซึ่งมีจิตรกรรมฝาผนังปรากฎบนสิมทั้งหมด และทั้งหมดก็เป็นสิมทึบแบบพื้นบ้าน

ในระยะ ยี่สิบปีที่ผ่านมา 3 ใน 7 สิมถูกทุบทำลายและมีการก่อสร้างสิมแบภาคกลางแทน การทำลาย ทุบ ทิ้งและสร้างสิมใหม่แบบวัฒนธรรมภาคกลางมีผลให้จิตรกรรมที่ปรากฎบนผนังของสิมถูกทำลายลงไปอย่างน่าเสียดาย ส่วนหนึ่งน่าจะมาจากวัฒนธรรรมเอาอย่างและเลียนแบบวัฒนธรรมหลวงหรือวัฒนธรรมของศูนย์รวมอำนาจแห่งรัฐ

ดังนั้นวัดที่เหลืออยู่และเป็นเป้าหมายของการเดินทางไปมหาสารคาม เพื่อ ศึกษาคราวนี้ของผมเหลือเพียง 4 วัดคือวัดตาลเรือง อำเภอโสุมพิสัย,วัดบ้านยางซวง อำเภอบรบือ,วัดโพธารามและวัดป่าเรไรย์ อำเภอนาดูน สี่วัดที่เหลืออยู่และเป็นหลักฐานทางประวัติศาสตร์ในงานศึกษาเรื่องผ้าของผม ซึ่งส่วนใหญ่เป็นหลักฐานที่อายุกว่า 80 ปีขึ้นไปทั้งนั้น

ในสัปดาห์นี้หากเครื่องมือสื่อสารของผมไม่ก่อปัญหา ผมจะรายงานสดวันต่อวันให้ได้อ่านเอาสนุกนะครับ อิอิ ไปพักก่อนนะครับ เจอกันใหม่มื้ออื่น

กรกฏาคม 20, 2008

สะบายดีลานปัญญา

Filed under: Uncategorized — แท็ก: , — ออต @ 6:48

ไม่สามารถจะรอได้จนถึงต้นเดือนหน้า เพราะตอนนี้หลายท่านเขียนกันไปเยอะแล้ว ล่วงหน้าไปแบบนี้เห็นที่จะตามไม่ทัน
มาคราวนี้เปิดบันทึกใหม่ทันที อิอิ ไม่รู้จะผิดกฎหรือเปล่าท่ไม่ใช่ลานขึ้นก่อนแต่ใช้ (พะ)ลานหิน แทน ถ้าไม่ได้ทีมงานแจ้งด้วยนะครับ

แต่ช่วงนี้เห็นทีต้องเรียนรู้เครื่องมือก่อนเพราะว่ายังไม่รู้อะไรเลยเยวกับเครื่องมือที่นี่ เดี๋ยวคล่องแล้วจะรีบเขียนบันทึกแซงบรรดาครูบา อาจารย์ พี่ ๆ เพื่อน ๆ น้อง ๆ

ขอบคุณสำหรับพื้นที่ใหม่นี้นะครับ ขอบคุณทีมงานทุกท่าน ขอบคุณอีหลีอีหลอ

Powered by WordPress