ลานบ้านชลบถพิบูลย์

สิงหาคม 16, 2009

นายกมาร์ค ปะทะ ออตเฮฮาศาสตร์

Filed under: Uncategorized — แท็ก: , — ออต @ 0:44

เรื่องนี้เป็นอานิสงค์ของการไปงานวันระพี 2 ที่ไทยพาณิชย์สำนักงานใหญ่ ครั้งที่ครูบาฯ ให้โอกาสไปจัดบูทเล็ก ๆ ของชาวเฮฮาศาสตร์ นอกจากผลผลิตสวนป่า ต้นแบบหนังสือเข้าเป็นไผและเครื่องพ่นไอน้ำของลุงแฮนดี้แล้ว ครูบาฯให้ผมเอาผ้าไหมไปอวดคนเมืองหลวงด้วย

การไปอวดผ้าคราวนั้นทำให้มีคนสนใจ เขาถามไป ถามมา ซักไปซักมา คุยกันไป คุยกันมา ถ่ายรูปไป ถ่ายรูปมา จนแล้วจนรอดสุดท้ายบอกจะเอาไปลงหนังสือให้จากต้นเดือนพฤษภาคมถึงวันนี้ก็หลายเดือน ล่าสุดคอลัมนิสน์โทรมาหาและบอกว่าลงเรื่องของผ้าให้แล้ว

งานนี้ไม่สามารถลงรายละเอียดที่เขาเขียนไว้ ได้แต่เอารูปมาลงไว้เป็นบันทึกเตือนตัวเอง และบอกกล่าวญาติพี่น้องชาวเฮฮาศาสตร์เผื่อสนใจเรื่องของผ้าครับ ฉบับนี้หน้าปกเป็นรูปนายกมาร์คผู้มีอำนาจพร้อมแต่ใจไม่พร้อม อิอิ ท่านใดสนใจตามอ่านได้ที่เนชั่นสุดสัปดาห์นะครับ ฉบับปักษ์นี้เลย

กุมภาพันธ 19, 2009

จินตนาการร่วมสมัย ‘ผ้ามัดหมี่อีสาน’ ออกแบบลายด้วยคอมพิวเตอร์

Filed under: Uncategorized — แท็ก: , — ออต @ 10:36

ศิลปะการสร้างลวดลายผ้าไม่มีกำหนดเป็นตำรา แต่ผู้ผลิตจะผูกลายวิจิตรสวยงามขึ้นตามจินตนาการที่แฝงไปด้วยศิลปวัฒนธรรมอันประณีต ละเอียดอ่อน ก่อให้เกิดเอกลักษณ์ของชุมชน เชื้อชาติ ที่สืบทอดในครัวเรือนจากรุ่นสู่รุ่น จนเวลาเปลี่ยนแปลงไปผ้าทอมือพื้นบ้านเหล่านั้นกลับไม่ตอบสนองความต้องการของตลาด

null
แต่การที่จะออกแบบลวดลายใหม่พบว่า ช่างทอพื้นบ้านมีข้อจำกัดในการออกแบบลายใหม่เนื่องจากช่างทอไม่มีพื้นฐานความรู้ด้านศิลปะและการออกแบบ ซึ่งในส่วนที่สามารถออกแบบได้นั้นมีน้อยและส่วนมากก็เป็นเพียงการลอกเลียนแบบลวดลายของชุมชนอื่นๆมาผลิตในชุมชนตัวเองเท่านั้น

ดังนั้นจึงได้เกิดงานวิจัยขึ้นจากคนรุ่นใหม่เพื่อพัฒนาลวดลายไหมมัดหมี่อีสานในรูปแบบร่วมสมัยที่นำระบบไอทีเป็นส่วนสำคัญสนับสนุนการพัฒนางานศิลปวัฒนธรรมของท้องถิ่น เอื้อประโยชน์แก่ธุรกิจที่เกี่ยวเนื่องและการท่องเที่ยวในพื้นที่ได้เป็นอย่างดี นับว่าเป็นวิวัฒนาการอีกก้าวหนึ่งที่เห็นในงาน “อเมซิ่งอีสานแฟร์ หรืองานเทศกาลท่องเที่ยวอีสาน”

แนวคิดจากลวดลายโบราณ
สำรวย เย็นเฉื่อย เจ้าของร้านชลบถพิบูลย์ ผู้ออกแบบและผลิตผ้าไหมมัดหมี่อีสานแนวใหม่ จ. ขอนแก่น ได้กล่าวถึงแนวคิดที่ใช้ในการออกแบบลายใหม่ได้แรงบันดาลใจมาจากลวดลายโบราณที่ปรากฏในลวดลายผ้าอีสานนั้น ได้แก่ 1. “ลายผาสาด”เป็นการเขียนและอ่านในภาษาถิ่นอีสานหมายถึง “ปราสาท” 2. ลายนาค คนอีสานมีความเชื่อเรื่องนาค โดยมีนัยแห่งความอุดมสมบูรณ์ 3. ลายสีโห ซึ่งเป็นชื่อเรียกตัวละครในวรรณกรรมพื้นถิ่นที่มีลักษณะเช่นเดียวกับสัตว์หิมพานต์ที่เรียกว่า “คชสีห์” คือมีหัวเป็นช้าง หางเป็นม้า ลำตัวเป็นสิงห์ และ สุดท้าย “ลายเอี้ย” หรือ “ลายซิกแซ็ก” ซึ่งในกลุ่มช่างทอไทลาวใช้เรียกลายนาคที่ไม่มีหัวปรากฏรูปร่าง

ดังนั้นในการออกแบบลวดลายผ้าทอแนวคิดลายโบราณนี้ ได้นำแนวคิดและความเชื่อมาจัดองค์ประกอบใหม่โดยการลดทอนจำนวนลายให้น้อยลง และจัดแรงองค์ประกอบใหม่โดยเฉพาะลวดลายมัดหมี่จากเส้นพุ่ง มีการมัดหมี่หลายหัวในผ้าหนึ่งลาย ซึ่งงานออกแบบนี้ใช้คอมพิวเตอร์เข้ามาช่วยจะทำให้งานออกมาสะดวกรวดเร็ว และเป็นระบบมากขึ้นต่างจากในยุคก่อนที่จะใช้วิธีการสืบทอดลายด้วยการสอนแบบปากต่อปากหรือการลอกเลียนแบบผ้าเก่า อีกทั้งโปรแกรมคอมพิวเตอร์ ช่วยให้เกิดสีสัน และลวดลายที่เหมาะสม สามารถนำไปพัฒนาต่อเนื่อง ช่วยให้การออกแบบรวดเร็วและง่ายขึ้น

เมื่อได้ลวดลายแล้ว หลังจากนั้นจะให้ช่างพื้นบ้านทำการคำนวณการสร้าง ลำหมี่ เพื่อทำการมัดหมี่ ซึ่งกระบวนการการมัดหมี่ มีปัญหาเล็กน้อยเพราะการทอผ้าหนึ่งลายแต่หลายหัว นั้นทำให้ช่างทอสับสนบ้างเพราะเป็นสิ่งที่ช่างทอพื้นบ้านไม่คุ้นเคย ดังนั้นลายผ้าจากการออกแบบในกระดาษต้องอธิบายรายละเอียดให้ชัดเจน ถึงโครงสร้างของการวางองค์ประกอบศิลป์ใหม่ และในระหว่างทอ สิ่งที่จะต้องระวังเนื่องจากผ้าทอมีหมี่หลายหัว ดังนั้นช่างทอจึงต้องไม่ให้ลายหมี่ (ลวดลาย) ขาดหรือสับสนกัน

แรงบันดาลใจจากศิลปะพื้นบ้าน
นอกจากลวดลายโบราณแล้ว ยังได้แนวคิดการพัฒนารูปทรงของศิลปะพื้นบ้านมาเป็นแรงบันดาลใจจากสีสันและเงาของการแสดงหนังตะลุงอีสาน โดยการถ่ายภาพขณะที่คณะหนังตะลุงทำการแสดง แล้วนำรูปร่างที่ได้จากการเก็บข้อมูลภาคสนาม มาคัดเลือกเพื่อพัฒนาเป็นลวดลายในการทอผ้าด้วยเทคนิคมัดหมี่ และได้ใช้วิธีการตัดทอนรูปร่างของเงาหนังตะลุง เนื่องจากเงามีลายละเอียดมาไม่เหมาะในการสร้างลวดลายด้วยการมัดหมี่

เมื่อได้ลวดลายที่ต้องการแล้ว ช่างพื้นบ้านจะคำนวนการสร้าง ลำหมี่ เพื่อทำการมัดหมี่ ซึ่งกระบวนการการมัดหมี่มีปัญหาเนื่องจากเป็นรูปแบบการสร้างลวดลายของรูปทรงอิสระ เพราะเป็นสิ่งที่ช่างทอพื้นบ้านไม่คุ้นเคย ดังนั้นในการมัดหมี่กลุ่มลายหนังตะลุงนี้จึงมีการร่างเส้นตามแบบบนเส้นใหม่ทางพุ่งก่อนการมัด และช่างทอมัดตามลายเว้นที่ร่างเอาไว้

คติความเชื่อมาเป็นแนวคิด
นอกจากนั้นยังได้นำคติความเชื่อ จากเรื่อง กบกินเดือน มาเป็นแนวคิดในการออกแบบ ซึ่ง เป็นภาษาชาวบ้านซึ่งมีความหมายเดียวกันกับ อุปราคา ราหูอมจันทร์ จันทรุปราคา จึงได้กำหนดโครงสร้างลายเป็นรูปวงกลมซึ่งใช้แทนพระจันทร์(เดือน) และทำการออกแบบและพัฒนาลวดลายจากรูปทรงกบจากโครงสร้าง และนำมาจัดเป็นแบบที่ง่ายสำหรับการมัดหมี่ที่ยังคงรูปแบบของสี่เหลี่ยมซึ่งเป็นโครงสร้างของกบเอาไว้ แล้วนำไปจัดองค์ประกอบใหม่ แต่ยังคงลายมัดหมี่แบบประเพณีเอาไว้

ส่วนกระบวนการทอเมื่อได้ลวดลายแล้ว ช่างพื้นบ้านได้ทำการคำนวณการสร้าง ลำหมี่ เพื่อทำการมัดหมี่ ซึ่งกระบวนการการมัดหมี่มีปัญหามากโดยเฉพาะรูปวงกลม เพราะเป็นสิ่งที่ช่างทอพื้นบ้านไม่คุ้นเคย ดังนั้นในการมัดหมี่ลายนี้จึงมัดเพียงครึ่งวงกลม เพื่อที่เวลาทอลายครึ่งวงกลมจะกลับออกมาจะเป็นรูปวงกลมได้

ในกระบวนการทอเนื่องจากรูปทรงกลมที่ผู้ออกแบบกำหนดเมื่อทอในขึ้นแรกรูปทรงกลมไม่ได้กลมอย่างที่ออกแบบคือมีลักษณะเป็นรูปทรงรี(วงกลมถูกบีบ) ช่างทอและผู้ออกแบบจึงได้ใช้เทคนิคการสอดเส้นพุ่งเพิ่มเพื่อให้โครงสร้างของรูปทรงขยายออกไป จึงทำให้ลวดลายที่ออกมาในผ้าผืนต่อมาเป็นรูปทรงกลมได้

หลังจากทอผ้าออกมาเป็นผืนแล้ว จะมีทั้งสไบ และผ้าตัดชุด สนนราคาหลักร้อยจนถึงหลักพันบาทขึ้นไป นับว่าเป็นอีกวิธีหนึ่งที่คนรุ่นใหม่จะรักษามรดกทางภูมิปัญญาท้องถิ่นไว้ โดยใช้เทคโนโลยีเข้ามาช่วย และเชื่อว่าจะดีกว่าแบบดั้งเดิม

“”"”"”"”"”"”"”"”"”"”"”"” จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ฉบับที่ 2394 22 ม.ค. - 24 ม.ค. 2552

ตุลาคม 26, 2008

ผ้าในฮูบแต้มอีสาน : ก้าวย่าง ย่างก้าว

จิตรกรรม

วันพรุ่งนี้มีกำหนดการต้องเดินทางไปเก็บข้อมูลภาคสนาม ตามโครงการวิจัยเรื่อง ผ้าในจิตรกรรมฝาผนังอีสาน ที่ได้รับทุนสนับสนุนการวิจัยจาก มูลนิเจมส์ เอช ดับเบิลยู ทอมป์สันปี 2551 ซึ่งหลังประกาสผลทุนแล้ว ก็ถึงคราวที่ต้องทำงานครับ
การเดินทางออกพื้นที่คราวแรกนี้ ผมมีโปรแกรมเดินทางไปวัดที่ปรากฎฮูบแต้มอีสานในเขตจังหวัดมหาสารคาม ซึ่งเป็นเสมือนกลุ่มตัวอย่างที่ใช้ในการศึกษาวิจัยในคราวนี้

หลังเก็บข้อมูลภาคเอกสารจากวรรณกรรมที่เขียนถึงฮูบแต้มอีสานในเขตจังหวัดมหาสารคาม พบว่าจิตรกรรมฝาผนังในมหาสารคามที่ปรากฎเอกสารกล่าวถึงมี 7 วัดซึ่งมีจิตรกรรมฝาผนังปรากฎบนสิมทั้งหมด และทั้งหมดก็เป็นสิมทึบแบบพื้นบ้าน

ในระยะ ยี่สิบปีที่ผ่านมา 3 ใน 7 สิมถูกทุบทำลายและมีการก่อสร้างสิมแบภาคกลางแทน การทำลาย ทุบ ทิ้งและสร้างสิมใหม่แบบวัฒนธรรมภาคกลางมีผลให้จิตรกรรมที่ปรากฎบนผนังของสิมถูกทำลายลงไปอย่างน่าเสียดาย ส่วนหนึ่งน่าจะมาจากวัฒนธรรรมเอาอย่างและเลียนแบบวัฒนธรรมหลวงหรือวัฒนธรรมของศูนย์รวมอำนาจแห่งรัฐ

ดังนั้นวัดที่เหลืออยู่และเป็นเป้าหมายของการเดินทางไปมหาสารคาม เพื่อ ศึกษาคราวนี้ของผมเหลือเพียง 4 วัดคือวัดตาลเรือง อำเภอโสุมพิสัย,วัดบ้านยางซวง อำเภอบรบือ,วัดโพธารามและวัดป่าเรไรย์ อำเภอนาดูน สี่วัดที่เหลืออยู่และเป็นหลักฐานทางประวัติศาสตร์ในงานศึกษาเรื่องผ้าของผม ซึ่งส่วนใหญ่เป็นหลักฐานที่อายุกว่า 80 ปีขึ้นไปทั้งนั้น

ในสัปดาห์นี้หากเครื่องมือสื่อสารของผมไม่ก่อปัญหา ผมจะรายงานสดวันต่อวันให้ได้อ่านเอาสนุกนะครับ อิอิ ไปพักก่อนนะครับ เจอกันใหม่มื้ออื่น

Powered by WordPress