ลานบ้านชลบถพิบูลย์

กุมภาพันธ 19, 2009

จินตนาการร่วมสมัย ‘ผ้ามัดหมี่อีสาน’ ออกแบบลายด้วยคอมพิวเตอร์

Filed under: Uncategorized — แท็ก: , — ออต @ 10:36

ศิลปะการสร้างลวดลายผ้าไม่มีกำหนดเป็นตำรา แต่ผู้ผลิตจะผูกลายวิจิตรสวยงามขึ้นตามจินตนาการที่แฝงไปด้วยศิลปวัฒนธรรมอันประณีต ละเอียดอ่อน ก่อให้เกิดเอกลักษณ์ของชุมชน เชื้อชาติ ที่สืบทอดในครัวเรือนจากรุ่นสู่รุ่น จนเวลาเปลี่ยนแปลงไปผ้าทอมือพื้นบ้านเหล่านั้นกลับไม่ตอบสนองความต้องการของตลาด

null
แต่การที่จะออกแบบลวดลายใหม่พบว่า ช่างทอพื้นบ้านมีข้อจำกัดในการออกแบบลายใหม่เนื่องจากช่างทอไม่มีพื้นฐานความรู้ด้านศิลปะและการออกแบบ ซึ่งในส่วนที่สามารถออกแบบได้นั้นมีน้อยและส่วนมากก็เป็นเพียงการลอกเลียนแบบลวดลายของชุมชนอื่นๆมาผลิตในชุมชนตัวเองเท่านั้น

ดังนั้นจึงได้เกิดงานวิจัยขึ้นจากคนรุ่นใหม่เพื่อพัฒนาลวดลายไหมมัดหมี่อีสานในรูปแบบร่วมสมัยที่นำระบบไอทีเป็นส่วนสำคัญสนับสนุนการพัฒนางานศิลปวัฒนธรรมของท้องถิ่น เอื้อประโยชน์แก่ธุรกิจที่เกี่ยวเนื่องและการท่องเที่ยวในพื้นที่ได้เป็นอย่างดี นับว่าเป็นวิวัฒนาการอีกก้าวหนึ่งที่เห็นในงาน “อเมซิ่งอีสานแฟร์ หรืองานเทศกาลท่องเที่ยวอีสาน”

แนวคิดจากลวดลายโบราณ
สำรวย เย็นเฉื่อย เจ้าของร้านชลบถพิบูลย์ ผู้ออกแบบและผลิตผ้าไหมมัดหมี่อีสานแนวใหม่ จ. ขอนแก่น ได้กล่าวถึงแนวคิดที่ใช้ในการออกแบบลายใหม่ได้แรงบันดาลใจมาจากลวดลายโบราณที่ปรากฏในลวดลายผ้าอีสานนั้น ได้แก่ 1. “ลายผาสาด”เป็นการเขียนและอ่านในภาษาถิ่นอีสานหมายถึง “ปราสาท” 2. ลายนาค คนอีสานมีความเชื่อเรื่องนาค โดยมีนัยแห่งความอุดมสมบูรณ์ 3. ลายสีโห ซึ่งเป็นชื่อเรียกตัวละครในวรรณกรรมพื้นถิ่นที่มีลักษณะเช่นเดียวกับสัตว์หิมพานต์ที่เรียกว่า “คชสีห์” คือมีหัวเป็นช้าง หางเป็นม้า ลำตัวเป็นสิงห์ และ สุดท้าย “ลายเอี้ย” หรือ “ลายซิกแซ็ก” ซึ่งในกลุ่มช่างทอไทลาวใช้เรียกลายนาคที่ไม่มีหัวปรากฏรูปร่าง

ดังนั้นในการออกแบบลวดลายผ้าทอแนวคิดลายโบราณนี้ ได้นำแนวคิดและความเชื่อมาจัดองค์ประกอบใหม่โดยการลดทอนจำนวนลายให้น้อยลง และจัดแรงองค์ประกอบใหม่โดยเฉพาะลวดลายมัดหมี่จากเส้นพุ่ง มีการมัดหมี่หลายหัวในผ้าหนึ่งลาย ซึ่งงานออกแบบนี้ใช้คอมพิวเตอร์เข้ามาช่วยจะทำให้งานออกมาสะดวกรวดเร็ว และเป็นระบบมากขึ้นต่างจากในยุคก่อนที่จะใช้วิธีการสืบทอดลายด้วยการสอนแบบปากต่อปากหรือการลอกเลียนแบบผ้าเก่า อีกทั้งโปรแกรมคอมพิวเตอร์ ช่วยให้เกิดสีสัน และลวดลายที่เหมาะสม สามารถนำไปพัฒนาต่อเนื่อง ช่วยให้การออกแบบรวดเร็วและง่ายขึ้น

เมื่อได้ลวดลายแล้ว หลังจากนั้นจะให้ช่างพื้นบ้านทำการคำนวณการสร้าง ลำหมี่ เพื่อทำการมัดหมี่ ซึ่งกระบวนการการมัดหมี่ มีปัญหาเล็กน้อยเพราะการทอผ้าหนึ่งลายแต่หลายหัว นั้นทำให้ช่างทอสับสนบ้างเพราะเป็นสิ่งที่ช่างทอพื้นบ้านไม่คุ้นเคย ดังนั้นลายผ้าจากการออกแบบในกระดาษต้องอธิบายรายละเอียดให้ชัดเจน ถึงโครงสร้างของการวางองค์ประกอบศิลป์ใหม่ และในระหว่างทอ สิ่งที่จะต้องระวังเนื่องจากผ้าทอมีหมี่หลายหัว ดังนั้นช่างทอจึงต้องไม่ให้ลายหมี่ (ลวดลาย) ขาดหรือสับสนกัน

แรงบันดาลใจจากศิลปะพื้นบ้าน
นอกจากลวดลายโบราณแล้ว ยังได้แนวคิดการพัฒนารูปทรงของศิลปะพื้นบ้านมาเป็นแรงบันดาลใจจากสีสันและเงาของการแสดงหนังตะลุงอีสาน โดยการถ่ายภาพขณะที่คณะหนังตะลุงทำการแสดง แล้วนำรูปร่างที่ได้จากการเก็บข้อมูลภาคสนาม มาคัดเลือกเพื่อพัฒนาเป็นลวดลายในการทอผ้าด้วยเทคนิคมัดหมี่ และได้ใช้วิธีการตัดทอนรูปร่างของเงาหนังตะลุง เนื่องจากเงามีลายละเอียดมาไม่เหมาะในการสร้างลวดลายด้วยการมัดหมี่

เมื่อได้ลวดลายที่ต้องการแล้ว ช่างพื้นบ้านจะคำนวนการสร้าง ลำหมี่ เพื่อทำการมัดหมี่ ซึ่งกระบวนการการมัดหมี่มีปัญหาเนื่องจากเป็นรูปแบบการสร้างลวดลายของรูปทรงอิสระ เพราะเป็นสิ่งที่ช่างทอพื้นบ้านไม่คุ้นเคย ดังนั้นในการมัดหมี่กลุ่มลายหนังตะลุงนี้จึงมีการร่างเส้นตามแบบบนเส้นใหม่ทางพุ่งก่อนการมัด และช่างทอมัดตามลายเว้นที่ร่างเอาไว้

คติความเชื่อมาเป็นแนวคิด
นอกจากนั้นยังได้นำคติความเชื่อ จากเรื่อง กบกินเดือน มาเป็นแนวคิดในการออกแบบ ซึ่ง เป็นภาษาชาวบ้านซึ่งมีความหมายเดียวกันกับ อุปราคา ราหูอมจันทร์ จันทรุปราคา จึงได้กำหนดโครงสร้างลายเป็นรูปวงกลมซึ่งใช้แทนพระจันทร์(เดือน) และทำการออกแบบและพัฒนาลวดลายจากรูปทรงกบจากโครงสร้าง และนำมาจัดเป็นแบบที่ง่ายสำหรับการมัดหมี่ที่ยังคงรูปแบบของสี่เหลี่ยมซึ่งเป็นโครงสร้างของกบเอาไว้ แล้วนำไปจัดองค์ประกอบใหม่ แต่ยังคงลายมัดหมี่แบบประเพณีเอาไว้

ส่วนกระบวนการทอเมื่อได้ลวดลายแล้ว ช่างพื้นบ้านได้ทำการคำนวณการสร้าง ลำหมี่ เพื่อทำการมัดหมี่ ซึ่งกระบวนการการมัดหมี่มีปัญหามากโดยเฉพาะรูปวงกลม เพราะเป็นสิ่งที่ช่างทอพื้นบ้านไม่คุ้นเคย ดังนั้นในการมัดหมี่ลายนี้จึงมัดเพียงครึ่งวงกลม เพื่อที่เวลาทอลายครึ่งวงกลมจะกลับออกมาจะเป็นรูปวงกลมได้

ในกระบวนการทอเนื่องจากรูปทรงกลมที่ผู้ออกแบบกำหนดเมื่อทอในขึ้นแรกรูปทรงกลมไม่ได้กลมอย่างที่ออกแบบคือมีลักษณะเป็นรูปทรงรี(วงกลมถูกบีบ) ช่างทอและผู้ออกแบบจึงได้ใช้เทคนิคการสอดเส้นพุ่งเพิ่มเพื่อให้โครงสร้างของรูปทรงขยายออกไป จึงทำให้ลวดลายที่ออกมาในผ้าผืนต่อมาเป็นรูปทรงกลมได้

หลังจากทอผ้าออกมาเป็นผืนแล้ว จะมีทั้งสไบ และผ้าตัดชุด สนนราคาหลักร้อยจนถึงหลักพันบาทขึ้นไป นับว่าเป็นอีกวิธีหนึ่งที่คนรุ่นใหม่จะรักษามรดกทางภูมิปัญญาท้องถิ่นไว้ โดยใช้เทคโนโลยีเข้ามาช่วย และเชื่อว่าจะดีกว่าแบบดั้งเดิม

“”"”"”"”"”"”"”"”"”"”"”"” จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ฉบับที่ 2394 22 ม.ค. - 24 ม.ค. 2552

ไม่มีความคิดเห็น »

ยังไม่มีความคิดเห็น

RSS feed for comments on this post. TrackBack URL

แสดงความคิดเห็น

*
To prove you're a person (not a spam script), type the security word shown in the picture. Click on the picture to hear an audio file of the word.
Click to hear an audio file of the anti-spam word

Powered by WordPress