ลานบ้านชลบถพิบูลย์

กุมภาพันธ 19, 2009

จินตนาการร่วมสมัย ‘ผ้ามัดหมี่อีสาน’ ออกแบบลายด้วยคอมพิวเตอร์

Filed under: Uncategorized — แท็ก: , — ออต @ 10:36

ศิลปะการสร้างลวดลายผ้าไม่มีกำหนดเป็นตำรา แต่ผู้ผลิตจะผูกลายวิจิตรสวยงามขึ้นตามจินตนาการที่แฝงไปด้วยศิลปวัฒนธรรมอันประณีต ละเอียดอ่อน ก่อให้เกิดเอกลักษณ์ของชุมชน เชื้อชาติ ที่สืบทอดในครัวเรือนจากรุ่นสู่รุ่น จนเวลาเปลี่ยนแปลงไปผ้าทอมือพื้นบ้านเหล่านั้นกลับไม่ตอบสนองความต้องการของตลาด

null
แต่การที่จะออกแบบลวดลายใหม่พบว่า ช่างทอพื้นบ้านมีข้อจำกัดในการออกแบบลายใหม่เนื่องจากช่างทอไม่มีพื้นฐานความรู้ด้านศิลปะและการออกแบบ ซึ่งในส่วนที่สามารถออกแบบได้นั้นมีน้อยและส่วนมากก็เป็นเพียงการลอกเลียนแบบลวดลายของชุมชนอื่นๆมาผลิตในชุมชนตัวเองเท่านั้น

ดังนั้นจึงได้เกิดงานวิจัยขึ้นจากคนรุ่นใหม่เพื่อพัฒนาลวดลายไหมมัดหมี่อีสานในรูปแบบร่วมสมัยที่นำระบบไอทีเป็นส่วนสำคัญสนับสนุนการพัฒนางานศิลปวัฒนธรรมของท้องถิ่น เอื้อประโยชน์แก่ธุรกิจที่เกี่ยวเนื่องและการท่องเที่ยวในพื้นที่ได้เป็นอย่างดี นับว่าเป็นวิวัฒนาการอีกก้าวหนึ่งที่เห็นในงาน “อเมซิ่งอีสานแฟร์ หรืองานเทศกาลท่องเที่ยวอีสาน”

แนวคิดจากลวดลายโบราณ
สำรวย เย็นเฉื่อย เจ้าของร้านชลบถพิบูลย์ ผู้ออกแบบและผลิตผ้าไหมมัดหมี่อีสานแนวใหม่ จ. ขอนแก่น ได้กล่าวถึงแนวคิดที่ใช้ในการออกแบบลายใหม่ได้แรงบันดาลใจมาจากลวดลายโบราณที่ปรากฏในลวดลายผ้าอีสานนั้น ได้แก่ 1. “ลายผาสาด”เป็นการเขียนและอ่านในภาษาถิ่นอีสานหมายถึง “ปราสาท” 2. ลายนาค คนอีสานมีความเชื่อเรื่องนาค โดยมีนัยแห่งความอุดมสมบูรณ์ 3. ลายสีโห ซึ่งเป็นชื่อเรียกตัวละครในวรรณกรรมพื้นถิ่นที่มีลักษณะเช่นเดียวกับสัตว์หิมพานต์ที่เรียกว่า “คชสีห์” คือมีหัวเป็นช้าง หางเป็นม้า ลำตัวเป็นสิงห์ และ สุดท้าย “ลายเอี้ย” หรือ “ลายซิกแซ็ก” ซึ่งในกลุ่มช่างทอไทลาวใช้เรียกลายนาคที่ไม่มีหัวปรากฏรูปร่าง

ดังนั้นในการออกแบบลวดลายผ้าทอแนวคิดลายโบราณนี้ ได้นำแนวคิดและความเชื่อมาจัดองค์ประกอบใหม่โดยการลดทอนจำนวนลายให้น้อยลง และจัดแรงองค์ประกอบใหม่โดยเฉพาะลวดลายมัดหมี่จากเส้นพุ่ง มีการมัดหมี่หลายหัวในผ้าหนึ่งลาย ซึ่งงานออกแบบนี้ใช้คอมพิวเตอร์เข้ามาช่วยจะทำให้งานออกมาสะดวกรวดเร็ว และเป็นระบบมากขึ้นต่างจากในยุคก่อนที่จะใช้วิธีการสืบทอดลายด้วยการสอนแบบปากต่อปากหรือการลอกเลียนแบบผ้าเก่า อีกทั้งโปรแกรมคอมพิวเตอร์ ช่วยให้เกิดสีสัน และลวดลายที่เหมาะสม สามารถนำไปพัฒนาต่อเนื่อง ช่วยให้การออกแบบรวดเร็วและง่ายขึ้น

เมื่อได้ลวดลายแล้ว หลังจากนั้นจะให้ช่างพื้นบ้านทำการคำนวณการสร้าง ลำหมี่ เพื่อทำการมัดหมี่ ซึ่งกระบวนการการมัดหมี่ มีปัญหาเล็กน้อยเพราะการทอผ้าหนึ่งลายแต่หลายหัว นั้นทำให้ช่างทอสับสนบ้างเพราะเป็นสิ่งที่ช่างทอพื้นบ้านไม่คุ้นเคย ดังนั้นลายผ้าจากการออกแบบในกระดาษต้องอธิบายรายละเอียดให้ชัดเจน ถึงโครงสร้างของการวางองค์ประกอบศิลป์ใหม่ และในระหว่างทอ สิ่งที่จะต้องระวังเนื่องจากผ้าทอมีหมี่หลายหัว ดังนั้นช่างทอจึงต้องไม่ให้ลายหมี่ (ลวดลาย) ขาดหรือสับสนกัน

แรงบันดาลใจจากศิลปะพื้นบ้าน
นอกจากลวดลายโบราณแล้ว ยังได้แนวคิดการพัฒนารูปทรงของศิลปะพื้นบ้านมาเป็นแรงบันดาลใจจากสีสันและเงาของการแสดงหนังตะลุงอีสาน โดยการถ่ายภาพขณะที่คณะหนังตะลุงทำการแสดง แล้วนำรูปร่างที่ได้จากการเก็บข้อมูลภาคสนาม มาคัดเลือกเพื่อพัฒนาเป็นลวดลายในการทอผ้าด้วยเทคนิคมัดหมี่ และได้ใช้วิธีการตัดทอนรูปร่างของเงาหนังตะลุง เนื่องจากเงามีลายละเอียดมาไม่เหมาะในการสร้างลวดลายด้วยการมัดหมี่

เมื่อได้ลวดลายที่ต้องการแล้ว ช่างพื้นบ้านจะคำนวนการสร้าง ลำหมี่ เพื่อทำการมัดหมี่ ซึ่งกระบวนการการมัดหมี่มีปัญหาเนื่องจากเป็นรูปแบบการสร้างลวดลายของรูปทรงอิสระ เพราะเป็นสิ่งที่ช่างทอพื้นบ้านไม่คุ้นเคย ดังนั้นในการมัดหมี่กลุ่มลายหนังตะลุงนี้จึงมีการร่างเส้นตามแบบบนเส้นใหม่ทางพุ่งก่อนการมัด และช่างทอมัดตามลายเว้นที่ร่างเอาไว้

คติความเชื่อมาเป็นแนวคิด
นอกจากนั้นยังได้นำคติความเชื่อ จากเรื่อง กบกินเดือน มาเป็นแนวคิดในการออกแบบ ซึ่ง เป็นภาษาชาวบ้านซึ่งมีความหมายเดียวกันกับ อุปราคา ราหูอมจันทร์ จันทรุปราคา จึงได้กำหนดโครงสร้างลายเป็นรูปวงกลมซึ่งใช้แทนพระจันทร์(เดือน) และทำการออกแบบและพัฒนาลวดลายจากรูปทรงกบจากโครงสร้าง และนำมาจัดเป็นแบบที่ง่ายสำหรับการมัดหมี่ที่ยังคงรูปแบบของสี่เหลี่ยมซึ่งเป็นโครงสร้างของกบเอาไว้ แล้วนำไปจัดองค์ประกอบใหม่ แต่ยังคงลายมัดหมี่แบบประเพณีเอาไว้

ส่วนกระบวนการทอเมื่อได้ลวดลายแล้ว ช่างพื้นบ้านได้ทำการคำนวณการสร้าง ลำหมี่ เพื่อทำการมัดหมี่ ซึ่งกระบวนการการมัดหมี่มีปัญหามากโดยเฉพาะรูปวงกลม เพราะเป็นสิ่งที่ช่างทอพื้นบ้านไม่คุ้นเคย ดังนั้นในการมัดหมี่ลายนี้จึงมัดเพียงครึ่งวงกลม เพื่อที่เวลาทอลายครึ่งวงกลมจะกลับออกมาจะเป็นรูปวงกลมได้

ในกระบวนการทอเนื่องจากรูปทรงกลมที่ผู้ออกแบบกำหนดเมื่อทอในขึ้นแรกรูปทรงกลมไม่ได้กลมอย่างที่ออกแบบคือมีลักษณะเป็นรูปทรงรี(วงกลมถูกบีบ) ช่างทอและผู้ออกแบบจึงได้ใช้เทคนิคการสอดเส้นพุ่งเพิ่มเพื่อให้โครงสร้างของรูปทรงขยายออกไป จึงทำให้ลวดลายที่ออกมาในผ้าผืนต่อมาเป็นรูปทรงกลมได้

หลังจากทอผ้าออกมาเป็นผืนแล้ว จะมีทั้งสไบ และผ้าตัดชุด สนนราคาหลักร้อยจนถึงหลักพันบาทขึ้นไป นับว่าเป็นอีกวิธีหนึ่งที่คนรุ่นใหม่จะรักษามรดกทางภูมิปัญญาท้องถิ่นไว้ โดยใช้เทคโนโลยีเข้ามาช่วย และเชื่อว่าจะดีกว่าแบบดั้งเดิม

“”"”"”"”"”"”"”"”"”"”"”"” จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ฉบับที่ 2394 22 ม.ค. - 24 ม.ค. 2552

มกราคม 3, 2009

Amazing I-San Fair 2009

มาฝากข่าวถึงญาติมิตรที่บางกอกครับ ออตและช่างทอสองคนได้รับเชิญให้ไปร่วมงาน Amazing I-San Fair 2009 ที่จัดโดย การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย

http://photos1.hi5.com/0021/670/312/yUM0bJ670312-02.jpg

ซึ่งานนนี้มีวัตถุประสงค์ เพื่อส่งเสริมและสนับสนุนอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวภาคตะวันออกเฉียงเหนือ รวมทั้งขานรับนโยบายการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทยในการประชาสัมพันธ์การท่องเที่ยว ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และประชาสัมพันธ์แหล่งท่องเที่ยวทางวัฒนธรรมของภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ให้เป็นที่รู้จักแพร่หลายมากขึ้น

กิจกรรมภายในงาน
- การแสดงทางศิลปะวัฒนธรรมที่เป็นเอกลักษณ์ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ
- โซนข้อมูลเพื่อการท่องเที่ยวทางภาคตะวันออกเฉียงเหนือ
- กิจกรรมสันทนาการบนเวทีกิจกรรม

ในส่วนของออตและช่างทอผ้าได้เข้าร่วมกิจกรรมดังนี้
-การแสดงผ้าทอร่วมสมัยจำนวน 40 ผืน
-การสาธิตการทอผ้าไหมมัดหมี่แบบ ผ้าปูม
-การออกแบบลายผ้าด้วยตนเองอย่างง่ายที่สามารถทอด้วยเทคนิคไหมมัดหมี่

รายละเอียดอื่น ๆ
Date: 15 - 18 January, 2009
Owner: Tourism Authority of Thailand
10 a.m. - 8 p.m.
Plenary Hall 1-3, Hall C2, Meeting Room

ธันวาคม 29, 2008

แกล้งไหม ทำไม?

Filed under: Uncategorized — แท็ก: — ออต @ 12:01

ในกระบวนการทอผ้าไหมนั้นมีกระบวนการแกล้งเส้นไหมอยู่ในหลายกระบวนการเพื่อให้เส้นไหมแข็งและอ่อน ซึ่งแต่ละกระบวนการมีจุดประสงค์แตกต่างกัน ทั้งนี้การกระทำแบบนี้ช่วยให้เราเรียนรู้การเตรียมเส้นไหมของช่างทอพื้นบ้านได้เป็นอย่างดี

 

 

เส้นไหมดิบ จากรังไหมสู่เส้นใย

          ในกระบวนการสาวไหมแบบพื้นบ้าน เส้นไหมที่สาวขึ้นจะประกอบด้วยเส้นใยและส่วนที่เป็นสารเคลือบเส้นใย ช่างทอผ้าโบราณฉลาดและเรียนรู้ว่า เส้นไหมดิบแบบนี้ทอผ้าใช้ไม่ดี เนื่องจากเป็นเส้นไหมแบบแข็ง ๆ กระด้าง ดังนั้นช่างทอโบราณจึงจัดการเอาสารที่เคลือบผิวไหมเหล่านั้นออกเสียด้วยกระบวนการวิทยาศาสตร์แบบพื้นบ้านที่ถ่ายทอดต่อ ๆ กันมา

 

วิทยาศาสตร์แบบพื้นบ้าน

          การล้างสารเคลือบผิวเส้นไหมดิบนั้นจะถูกนำใจไหมมาผ่านกระบวนการต้มโดยการเติมน้ำดั่ง(น้ำด่าง) ซึ่งน้ำดั่งนี้ได้จากการเผากาบกล้วย กาบมะพร้าวหรือหญ้าโคยงู แล้วนำเอาถี่เถ้ามาผสมน้ำแล้วกรองเอาแต่น้ำ ซึ่งเป็นน้ำด่างแบบเข้มข้น  ก่อนที่จะต้มก็จะแช่ไหมดิบในน้ำด่างและนำไปต้มจนกระทั่งได้เส้นใยที่ปลอดสารเคลือบเส้นใย  ไหมที่ได้จึงอ่อนนุ่ม  หากการผลิตเส้นไหมในแต่ละปีได้ไม่มากก็สามารถเก็บไว้ได้นาน เส้นใยไม่กรอบไม่แห้งเหมือนการเก็บแบบไหมดิบ

 

นุ่มสู่แข็ง(แรง)

          เมื่อช่างทอผ้าสะสมไหมได้ในปริมาณที่พอเพียงจะลงมือทอผ้าสำหรับใช้งาน ซึ่งกระบวนการต่อไปนี้เป็นการทำเส้นใยให้แข็งแรง โดยเฉพาะเส้นใยที่ต้องนำมาทำเส้นยืน ก่อนนะไปย้อมจะต้องตีเกียวไหมให้แข็งแรงไม่ขาดง่าย เรียกว่าจากไหมที่เป็นเส้นพองนุ่มตีเกียวไปจนกว่าเส้นไหมจะกลม  ยิ่งกลมเท่าไหร่ก็จะได้คุณภาพผ้าที่เรียบสวยงามมากขึ้น

 

 

แข็งแรงจากการย้อม

          เส้นไหมที่ตีเกียวแล้ว เส้นใยจะแข็งแรงในระดับหนึ่ง เพื่อเพิ่มความแข็งแรงและเพิ่มสีสันลงในเส้นใย กระบวนการย้อมก็เป็นกระบวนการหนึ่งที่ทำให้เส้นมีความแข็งแรงมากขึ้นเนื่องจากสีจะเคลือบเส้ยใยเอาไว้ เพิ่มความแข็งแรงให้เส้นใยในอีกระดับหนึ่ง ทั้งการย้อมร้อนและการย้อมเย็น

 

แข็งแล้วแข็งอีก

          เมื่อมีการย้อมเส้นไหมให้มีความแข็งแรงทั้งเส้นยืนและเส้นพุ่งแล้ว ยังีกระบวนการเพิ่มความแข็งแรงของเส้นใยอีกครั้งในกระบวนการหวีและการตบน้ำแป้ง(น้ำข้าวเหนียว)ของเส้นยืน ซึ่งก่อนการทอผ้าเพื่อเส้นใยที่จะต้องผ่านตะกอและทนแรงเสียดสีของฟันฟืมได้โดยขาดหรือเป็ฯขุยก่อน ช่างทอผ้าโบราณจะต้องหวีเส้นยืนด้วยก่อน โดยมีการลงน้ำเปล่าเพื่อให้เส้นใยคลายตัวหลังจากนั้นก็จะหวีน้ำแป้งลงไปหวีจนกระทั้งแข็งก่อนจะตบด้วยการหวีขี้เผิ่ง(ขี้ผึ้ง) ซึ่งกระบวนการนี้เป็นการเพิ่มความแข็งในอีกขึ้น

 

จากแข็งเป็นนุ่ม

          เมื่อทอผ้าได้จนหมดเส้นยืนแล้ว ช่างทอจะฤกษ์งามยามดีในการจัดผ้าไหมมาเก็บไว้ ซึ่งก่อนจะเก็บก็จะมีการซักเพื่อให้ผ้ามีความอ่อนนุ่ม และเป็นการล้างน้ำแป้งที่เคลือบเส้นไหมออก กระบวนการนี้เส้นไหมที่โดนล้างน้ำแป้งออกจะนุ่มนวลชวยสวมใส่ และไม่ถูกแมลงสาบ มดกัดกินผ้า  การเก็บรักษาก็ง่ายอีกด้วย

 

บันทึกแกล้งไหมครับ แต่อย่าเอาไปแกล้งใครนะครับ

 

พฤศจิกายน 27, 2008

คุณภาพไหมสาวมือแบบพื้นบ้าน

Filed under: Uncategorized — แท็ก: , — ออต @ 23:57

ช่วงนี้ออกไปทางวุ่น ๆ กับชีวิตทั้งชีวิตตนเอง ชีวิตครอบครัว และสังคมเมืองไทย ที่กำลังเกิดการเปลี่ยนแปลงและดำเนินไปตามสภาพ งานส่วนตัวกำลังจะทำสตูดิโอทอผ้าจึงต้องเตรียมอาคารเอาไว้ทำให้ไม่มีเวลาจะมาเขียนเรื่องราวอะไรมากนัก วันนี้เลือกเรื่องที่จะมาเขียนออกไปทางพื้น ๆ แต่ทว่าผมว่าจำเป็นสำหรับคนสนใจงานผ้าทอพื้นเมือง

ผู้สนใจผ้าไหมมักเกิดคำถามอยู่ในใจว่าผ้าไหมที่ตนเองสนใจหรือมีไว้ในครอบครองหรือสะสมเป็นไหมชนิดใด เรื่องนี้พอมีชนิดของเส้นไหมมาเล่าสู่กันฟัง โดยปกติเมื่อดังรังไหมออกมาจากสาวด้วยมือแล้ว คนอีสานมักเรียกไหมเป็นหลายชนิดคือ

1.ไหมหลืบ หมายถึงไหมเส้นที่หุ้มอยู่บริเวณผิวรอบนอกของรังไหม ไหมส่วนนี้เส้นใยจะไม่ละเอียด จะมีลักษณะพองฟูหรือมีเศษใบหม่อนเศษไหมติดอยู่ด้วยเนื่องจากอยู่รอบนอกสุด ดังนั้นหากต้องการไหมคุณภาพดีต้องเอาไหมส่วนที่อยู่เปลือกนอกออกมาเสียก่อน ในภาษาอีสานเรียก หลืบ ในการสาวไหมในแต่ละวันแม่หญิงอีสานจะหลืบไหมเอาไว้ให้พร้อมก่อนจะสาวไหมคุณภาพในช่วงต่อไป เส้นไหมจากกระบวนการหลืบไหมนี้จึงเส้นใหญ่ไม่สม่ำเสมอ

2.ไหมน้อย หมายถึงไหมเส้นที่อยู่ในลำดับถัดไปจากการหลืบไหม จะมีเป็นไหมคุณภาพดี เส้นใยมีความสม่ำเสมอ สีเหลืองของไหมพื้นบ้านจะแวววาวและอ่อนนุ่มกว่าไหมหลืบมาก ไหมกลุ่มนี้จึงมีเส้นเล็ก แม่หญิงอีสานเรียก ไหมน้อย ในกระบวนการสาวไหมน้อยนี้ ช่างสาวไหมจะพีถีพิถันมาก โดยเฉพาะการควบคุมคุณภาพของอุณหภูมิน้ำร้อนจากการสาวไหม การเขี่ยรังไหมให้พอดีไม่มากเกินไปและน้อยเกินไป รวมทั้งจังหวะการสาวไหมเพื่อให้เส้นไหมมีความสม่ำเสมอ

3.ไหมแลง หมายถึง ไหมที่สาวตอนเย็นหรือตอนแลง โดยปกติช่างสาวไหมจะสาวไหมน้อยไปในระยะหนึ่งจะไปสาวจนเกือบหมดเส้นใย และจะเหลือกลุ่มเส้นใยที่อยู่ด้านในสุดก่อนถึงดักแด้เอาไว้ เพราะเส้นไหมส่วนที่ติดอยู่กับดักแด้คุณภาพไม่ดีนักเพราะอาจจะมีเศษของตัวหนอนไหมติดมาด้วย นอกจากนั้นยังมีรังไหมคุณภาพไม่ดีช่างสาวจะเอามารวมสาวในตอนสุดท้ายซึ่งโดยส่วนใหญ่ก็จะเย็นมาก จึงเรียกไหมกลุ่มนี้ว่าไหมแลง ซึ่งมีสีและขนาดไม่สม่ำเสมอ

4.ไหมสาวเลย หมายถึงไหมที่มีการสาวลวดเดียวโดยไม่ต้องมีการสาวหลืบ ดังนั้นเส้นใยของไหมสาวเลยจึงมีขนาดใหญ่กว่าไหมน้อย แต่คุณภาพดีกว่าไหมหลืบและไหมแลง โดยส่วนใหญ่ไหมสาวเลยนี้นิยมทำในช่วงที่แม่หญิงอีสานมีเวลาน้อยในการสาวไหม ดังนั้นจึงนิยมสาวเลยโดยไม่ต้องเสียเวลาสาวไหมหลืบ

ไหมแต่ละอย่างนี้ช่างทอผ้าของอีสานจะนำไปใช้ประโยชน์แตกต่างกัน นอกจากเอาไว้ขายซึ่งราคาจะแตกต่างกันคุณภาพของเส้นไหม แต่หากไม่ขายช่างทอผ้านิยมเอาไหมแต่ละชนิดไปใช้ต่างกันดังนี้

ไหมน้อย เป็นไหมคุณภาพดีที่สุดเป็นที่ต้องการ ในการทอจะมีความสะดวกที่สุด กระบวนการไม่ยุ่งยากมากเนื่องจากเส้นไยมีความสม่ำเสมอ ดังนั้นไหมน้อยจึงถูกนำไปทอเป็นผ้าโสร่ง ผ้าสิ่น ผ้านุ่งนาค หรือผ้าที่เตรียมไว้สำหรับ “ของสมมา” ญาติผู้ใหญ่ฝ่ายชายในงานแต่งงาน

ไหมสาวเลย เป็นไหมคุณภาพดีปานกลาง ในการทอจะมีความสะดวกทีสุด กระบวนการไม่ยุ่งยากมากเนื่องจาดเส้นไยมีความสม้ำเสมอดังนั้นไหมสาวเลยจึงถูกนำไปทอเป็นผ้าสิ่น ผ้าขาวม้าหรือผ้าที่เตรียมไว้สำหรับของสมมาญาติผู้ใหญ่ฝ่ายชายในงานแต่งงาน

ไหมหลืบและไหมแลงเป็นไหมคุณภาพไม่ดีมาก ในการสาวแต่ละคราวได้ไม่มากนัก จึงนิยมสะสมไว้เพื่อใช้ทอผ้าขาวม้า หรือทำหัวสิ่น ตีนสิ่น

Powered by WordPress