ลานบ้านชลบถพิบูลย์

กันยายน 24, 2010

บทวิจารณ์หนังสือของออต ตามที่นี่ครับ

กันยายน 8, 2009

ฮูบแต้มแคมของ : บายศรีกับทุนทางวัฒนธรรม

เด็กที่เข้าค่ายฮูบแต้มแคมของนั้นมีหลากหลายวัย เหตุผลหนึ่งคือต้องการเครือข่ายของสถานศึกษาในเขตพื้นที่ตำบลหว้านใหญ่ที่จะมาร่วมมือ หรือเกิดแรงกระตุ้นบางอย่างให้โรงเรียนโดยเฉพาะหัวน้าสถานศึกษาและครูผู้สอน หันกลับมามองการใช้ประโยชน์จากงานศิลปกรรมพื้นถิ่นในการเป็นแหล่งเรียนรู้สำหรับการศึกษาในระบบ

เด็ก ๆ ที่มาร่วมค่ายของเราในคราวนี้จึงมีเด็กในช่วงชั้นที่ 2 – 4 จำนวน 50 คนโดยผมพยายามจัดสรรโควต้าให้เหมาะสมกับแต่ละโรงเรียน โดยโรงเรียนระดับประถมศึกษาในเขตตำบลนี้มี 5 โรงเรียนดังนั้นจึงเฉลี่ยให้โรงเรียนละ 6 คน ส่วนโรงเรียนระดับมัธยมประจำอำเภอมีแห่งเดียวดังนั้นจึงให้โควต้ามากหน่อย

ผลที่ออกมาคือห้องเรียนของเราจึงเป็นห้องเรียนของเด็กหลายวัย จุดดีของการจัดกิจกรรมค่ายแบบนี้คือเด็กโตจะคอยดูแลเด็กเล็กแทนพี่เลี้ยงประจำกลุ่มได้ในหลายกิจกรรม(ในภาวะที่เรามีพี่เลี้ยงประจำกลุ่มไม่มากและบางกิจกรรมพี่เลี้ยงต่างเพศก็ดูแลลำบากเช่น การอาบน้ำและภารกิจส่วนตัว) นอกจากนั้นเด็กโตยังช่วยสอนเด็กเล็ก ๆในบางกิจกรรม

แต่ด้วยความเป็นเด็กแม้จะหลายช่วงชั้น แต่เมื่อมาร่วมกันความเป็นเด็กก็คือความเป็นเด็ก ย่อมต้องการการ้รียนรู้ที่สนุกเพลิดเพลินและเสรี แถมความซนมาด้วยซึ่งก็เป็นไปตามที่คาดคะเนเอาไว้ ว่าเรามาจับปูใส่กระด้งแน่นอน

แล้วความดื้อความซน ความไม่อยู่นิ่ง การพูดคุยกันเซ็งแซ่จะขัดเกลาด้วยกิจกรรมอะไรดี นี่เป็นโจทย์สำคัญประการหนึ่งที่เราในฐานะผู้ออกแบบกิจกรรมการเรียนรู้แบบค่ายต้องเอามาคิดและออกแบบ

ความจริงหลายกิจกรรมเป็นการออกแบบกิจกรรมบนสมมติฐานคือการคาดคะเนว่าจะได้กระบวนการและผลลัพท์ออกมาอย่างไร เช่นเดียวกกับการตอบโจทย์การขัดเกล่าให้เด็กนิ่ง มีสติ มีสมาธิและหยุดนิ่งเพื่อการสงบลงได้บ้าง ผมมองหากิจกรรมการเรียนรู้บางสิ่งเพื่อจัดการเรียนรู้นี้จนกระทั่งคิดถึง การบายศรีสู่ขวัญ

กลุ่มชาติพันธุ์ไทลาวรู้จักกิจกรรมนี้ในชื่อ การสู่ขวัญ โดยมีหัวใจของพิธีกรรมอยู่ที่การให้กำลังใจและเกิดสวัสดิมงคลแก่ผู้ถูกสู่ขวัญในการดำเนินชีวิตต่อไป ดังนั้นผู้ที่เข้าพิธีและถูกผูกแขนจึงถือว่าเกิดสิริมงคลแก่ตัวมีภูมิคุ้มกันภยันตรายต่าง ๆ ที่จะมารบกวนดังนั้นในค่ายการเรียนรู้เราได้จัดกิจกรรมสู่ขวัญให้แก่เด็ก ๆ ที่ร่วมค่ายเพื่อให้เกิดความเป็นมงคลแก่เด็ก ๆ และให้เด็กเรียนรู้ประเพณีของตนเองโดยการเรียนรู้แบบมีส่วนร่วม

เราได้จัดเตรียมบายศรีขนาดพอเหมาะโดยมีช่างชาวบ้านหว้านใหญ่และพี่เลี้ยงของเรานั่งทำกันที่ศาลาการเปรียญ โดยเป็นบายศรีใบตองสามชั้น กิจกรรมนี้เนื่องจากต้องการให้บายศรีเสร็จทันการสู่ขวัญในตอนบ่ายและเด็ก ๆ มีกิจกรรมการเรียนรู้อื่น ๆ ต้องทำดังนั้นเด็ก ๆ จึงไม่ได้ร่วมทำด้วย ด้วยข้อจำกัดอย่างที่เล่าไปแล้ว ประกอบกับเมื่อวันก่อนเด็ก ๆ ได้ลงมือทำขันหมากเบ็งแล้ว

การสู่ขวัญในคราวนี้ เราได้หมดสูดหรือพ่อพราหม์จากปราชญ์ชาวบ้านในท้องที่เป็นผู้ทำพิธีให้แก่เรา ในการสู่ขวัญเพื่อให้เหมาะสมกับสมาธิของเด็ก ๆ ดังนั้นรูปแบบการสู่ขวัญจึงย่อย่นลงมาเพื่อให้เสร็จทันเวลา แต่ก็ไม่ลืมบทสู่ขวัญที่ครบกระบวนความตามแก่นสารของบทสู่ขวัญ

เที่ยงวันนี้เป็นอาหารมื้อสุดท้ายในค่ายวัฒนธรรมแห่งนี้ เด็กๆ ได้กินส้มตำที่แสนอร่อยจนสังเกตว่าอาหารหลายกลุ่มหมดเกลี้ยง อาจจะด้วยความแซบนัว หลังท้องอิ่ม ลานที่หน้าพระใหญ่ในวิหารถูกวางพานบายศรีที่สวยงามโดยช่างชาวบ้านและพี่เลี้ยงของเรา งามจนอยากจะเก็บเอาไว้ไม่อยากให้มันเหี่ยวเฉา

เด็ก ๆ ที่เจี้ยวจ้าวถูกเชิญให้มานั่งล้อมพ่อพราหม์ที่ตรงกลางลาน สิ่งที่ผมคาดคะเนไว้กำลังจะได้คำตอบอีกไม่กี่วินาที เด็ก ๆ ที่คุยกันหลอกล้อกันนิ่งเงียบเมื่อเทียนชัยถูกจุดที่ยอดของบายศรี บรรยากาศหลังจากนี้เราพบว่าเด็ก ๆ นิ่ง เงียบและสดับโสตฟังเสียงการสู่ขวัญของปราชญ์ผู้ที่เราเคารพ สายตาจับจ้องมองที่พ่อใหญ่และแสงเทียนที่ยอดบายศรี หลายคนสังเกตเพื่อนที่อยู่ข้าง ๆ เมื่อเห็นเพื่อนนิ่งก็หันกลับไปนิ่งมองไปที่จุดเดียว

แม้ไม่ได้เห็นเหล่าเทวดาตัวเป็น ๆ มาชุมชนตามตำเชิญของหมดสูดที่เชิญเทวดามาชุมชน แต่ในบรรยากาศนั้นเราได้เห็นเทวดาน้อย ๆ ของเราชาวค่ายสงบนิ่ง เงียบ มีสมาธิตลอดการสู่ขวัญ เมื่อได้ยินการเอิ้นขวัญเด็ก ๆ ต่างเรียกขวัญกันตามเสียงนำของพ่อพราหม์ว่า มาเด้อขวัญเอ๊ย ดังสนั่น และนิ่งสงบฟังการสูดขวัญต่อไปเป็นเช่นนี้จนจบกระบวน

หลังจากสูดขวัญเสร็จพิธีกรรมต่อไปคือการผูกขวัญหรือผูกข้อต่อแขน เด็ก ๆ นำฝ้ายผูกแขนมาให้พี่เลี้ยงและวิทยากรของเราผูกแขนให้เพื่อเป็นสิริมงคล พี่ ๆ ทุกคนให้พรเด็ก ๆ กันคนละมุมตามสะดวก ในขณะที่เด็ก ๆ เวียนกันให้พี่ ๆ ผูกแขนเอาชัยเอาพร

มนต์แห่งพิธีให้คำตอบที่ผมคาดคะเนเอาไว้ได้ดีที่เดียวทั้งความสงบ นิ่ง สติและความผูกพันของคนกับคนและคนกับสิ่งที่เราคาดวังในค่าย จากตัวของเด็ก ๆ ไปสู่ เรา และนำไปสู่ พวกเรา ที่จะสร้างความมั่นคงของศิลปกรรมพื้นบ้านร่วมกัน แม้เพียงมือน้อย ๆ ของเรา

นี่เป็นบทเรียนของการบูรณาการทุนทางวัฒนธรรมในระดับจิตวิญญาณ(mind and soul)ที่เราพยายามบรรจุและทดลองทำกันในค่ายฮูบแต้มแคมของ

กันยายน 5, 2009

ฮูบแต้มแคมของ : ม่วนซื่นละครเด็ก

เกือบจะพลบค่ำแล้ว พี่เลี้ยง“ค่ายฮูบแต้มแคมของ” เรียกรวมเด็ก ๆ ชาวค่ายพร้อมกันหน้าวิหารใญ่วัดมโนภิรมณ์ วิหารที่เป็นเสมือนเพชรน้ำเอกของลุ่มน้ำโขง วิหารที่ไม่ได้มาชมไม่ได้มาศึกษาแล้วอย่าอุตริด่วนสรุปเรื่องสถาปัตยกรรมอีสาน เพราะวิหารแห่งนี้แตกต่างอย่างสิ้นเชิงกับวิหารอื่น ๆ ที่พบในแถบอีสาน

พี่เลี้ยงสอบถามเรื่องราวของจิตรกรรมฝาผนังอีสานวัดศรีมหาโพธิ์กับนักเรียน เพื่อประมวลสรุปการเรียนรู้ การเยี่ยมชมและการทำกิจกรรมอีกครั้ง หลังจากสรุปกันพอควร เราจะสังเกตว่าเด็ก ๆ ชาวค่ายจำเนื้อเรื่องที่ปรากฎบนจิตรกรรมฝาผนังได้ แต่ยังขาดรายละเอียดอีกเล็ก ๆ หรือเราจะพบว่าแม้จะตอบถูกต้องแต่ยังไม่มีความมั่นใจในคำตอบของตนเองมากนัก ซึ่งหลังจากนี้พี่เลี้ยงค่ายโยนเครื่องมือเรียนรู้ชนิดต่อไปให้เด็ก ๆ ทันที เครื่องที่ว่านี้คือ ละครสำหรับเด็ก

กลุ่มกิจกรรมของชาวค่ายมีทั้งสิ้นสามกลุ่ม ดังนั้นพี่เลี้ยงจึงแบ่งกัณฑ์ต่าง ๆ ในเรื่องพระเวสสันดรชาดกซึ่งเป็นวรรณกรรมที่ปรากฎในสิมวัดศรีมหาโพธิ์ ออกมาให้เหมาะสมกับการแสดงของเด็กทั้งสามกลุ่ม โดยมีรวมเอากัณฑ์ที่สำคัญมาไว้เป็นตอน 3 ตอนให้ครบตามจำนวนกลุ่มเด็ก วิธีการนี้จะช่วยให้เด็กแสดงละครของตนเองได้อย่างมีเอกภาพบนเวทีการแสดงคืนนี้

กลุ่มที่หนึ่ง จัดการแสดงตั้งแต่กัณฑ์ทศพรไปจนถึงทานกัณฑ์ ซึ่งมีเนื่อหากล่าวถึงการจุติของนางผุสดีเพื่อมาเป็นมเหสีของพระเจ้าสัญชัยพร้อมกับพรสิบประการ การแต่งงานของพระเวสสันดรกับนางมัทรี การทานช้างปัจจัยนาเคน การไล่พระเวสออกจากเมืองและเดินทางสู่เขาวงกตเพื่อบำเพ็ญบารมี

กลุ่มที่สอง จัดการแสดงตั้งแต่กัณฑ์จุลพนไปจนถึงกัณฑ์กุมาร ซึ่งมีเนื้อหากล่าวถึงชูชกขอทานผู้สกปรก การได้นางอมิตตดามาเป็นเมีย การกล่าวด่าตำหนิติเตียนของเหล่าเมียพราหม์ต่อนางอมิตดาและการออกไปขอกัณหาชาลีมาเป็นคนใช้ของชูชก ตลอดจนการไปพบพรานเจตบุตร การโกหกพระฤาษีเพื่อหาหนทางไปเขาวงกตและการทานสองกุมารของพระเวสสันดรให้กับพราหม์

กลุ่มที่สาม จัดการแสดงตั้งแต่กัณฑ์มัทรีไปจนถึงนครกัณฑ์ ซึ่งมีเนื้อหากล่าวถึงการขวางทางกลับอาศรมของพระอินทร์ที่กระทำต่อนางมัทรี การลากสองกุมารเข้าเมืองของชูชก การไถ่สองหลานของพระยาสัญชัยและการขบวนเชิญพระเวสสันดรและนางมัทรีกลับมาครองเมือง

เด็ก ๆ แต่ละกลุ่มหลังรับเครื่องมือไปแล้วต่างหาสนามหญ้าสีเขียวงามบริเวณลานหน้าวิหาร บ้างก็จับจองลานริมแม่โขงให้เป็นสตูดิโอสำหรับฝึกซ้อมการแสดง ต่างกลุ่มต่างวางแผนและซักซ้อมกันอย่างขมีขมัน โดยข้าง ๆ กลุ่มมีพี่เลี้ยงคอยดูแลให้คำปรึกษาอย่างใกล้ชิด งานนี้เราจะเห็นปฏิสัมพันธ์ที่ดีของเด็กกับเด็ก และปฏิสมพันธ์ที่ดีระหว่างเด็กกับพี่เลี้ยงประจำแต่ละกลุ่มอย่างชัดเจน

แสงแดดอ่อนแรงลงข้างฝั่งทิศตะวันตก บอกถึงเวลาที่เราจะเคลื่อนย้ายเด็ก ๆ กลับสถานที่จัดค่ายแล้วเพื่อเด็ก ๆ อาบน้ำและรับประทานอาหาร ก่อนที่เราจะได้ชมมหรสพที่สร้างสรรค์จากฝีมือการแสดงของพวกเขาเอง เราเหล่าพี่เลี้ยงประจำกลุ่มต่างคอยลุ้นถึงผลงานของเด็ก ๆ ในกลุ่มของตนเองอย่างจดจ้อง พระอาทิตย์ลาลับไปจนวิหารใหญ่วัดมโนภิรมณ์ดูขึงขลังขึ้นมา เด็ก ๆ ต่างทยอยขึ้นรถและสนุกสนานส่งเสียงร้องเพลงตลอดเส้นทาง ซึ่งละครและการแสดงออกช่วยผลักพลังการแสดงออกเด็กได้อย่างดีที่เดียว

กุมภาพันธ 3, 2009

ว่าด้วยเครื่องสมมา

ปลายสัปดาห์ที่ผ่านมา มีเรื่องต้องช่วยเพื่อนเพื่อเตรียมงานแต่งงานของเธอ ซึ่งก็แต่งกับเพื่อน ๆ ในสมัยเรียนผมเองอยู่ในส่วนที่เพื่อนให้ช่วยเตรียมของไหว้ผู้ใหญ่ ความจริงผมขอเรียกว่าของสมมาก็แล้วกัน

ในวัฒนธรรมอีสาน แม่หญิงอีสานเมื่อทราบว่าจะต้องแต่งงานจะต้องจัดเตรียมผ้าทออย่างดี ทออย่างสุดฝีมือเพื่อเตรียมของ สมมา แก่ญาติทางเจ้าบ่าว งานนี้ต้องใช้เวลาในการเตรียมตัวอยู่นาน ในสมัยก่อนผมเห็นน้า ๆ ของผมทอกันนานมากเพราะต้องเตรียมเลี้ยงไหมเอาไว้ก่อนล่วงหน้า ดังนั้นจึงมีการขอสาวกันและหาวันแต่งกันนานกว่าปัจจุบัน

งานคราวนี้ผมดีใจที่เพื่อนของผมไม่ลืมวัฒนธรรมการ สมมา ญาติฝ่ายเจ้าบ่าวโดยเฉพาะการบ่งเครื่อง สมมา เป็นผ้าไหมชั้นดี(ที่ผมทอ อิอิ) ซึ่งนี่เป็นเครื่องหมายอย่างดีว่า ไหมยังคงเป็นของสมมาชั้นสูง และ เป็นสัญญลักษณ์อันมีคุณค่าในวัฒนธรรมการ สมมา ในงานแต่งงานหรือกินดอง

ผมเตรียมโสร่งสีม่วงสำหรับพ่อเจ้าบ่าว(สีม่วง=ทำให้นอนหลับสบาย) เตรียมผ้าสิ่นสองเมตรลายเม็ดฝน(เม็ดฝน=เครื่องหมายของความอุดมสมบูรณ์) และผ้าขาวม้าสีสวยแก่ญาติในฐานะที่ลดลั่นกันลงไป ซึ่งคาดว่าผู้ได้รับเครื่องสมมาน่าจะเอาไปใช้งานได้และพึงพอใจแก่ความเป็นไทของลูกสะใภ้ที่ยังมีจิตรักในวัฒนธรรมพื้นบ้านอยู่

ตุลาคม 26, 2008

ผ้าในฮูบแต้มอีสาน : ก้าวย่าง ย่างก้าว

จิตรกรรม

วันพรุ่งนี้มีกำหนดการต้องเดินทางไปเก็บข้อมูลภาคสนาม ตามโครงการวิจัยเรื่อง ผ้าในจิตรกรรมฝาผนังอีสาน ที่ได้รับทุนสนับสนุนการวิจัยจาก มูลนิเจมส์ เอช ดับเบิลยู ทอมป์สันปี 2551 ซึ่งหลังประกาสผลทุนแล้ว ก็ถึงคราวที่ต้องทำงานครับ
การเดินทางออกพื้นที่คราวแรกนี้ ผมมีโปรแกรมเดินทางไปวัดที่ปรากฎฮูบแต้มอีสานในเขตจังหวัดมหาสารคาม ซึ่งเป็นเสมือนกลุ่มตัวอย่างที่ใช้ในการศึกษาวิจัยในคราวนี้

หลังเก็บข้อมูลภาคเอกสารจากวรรณกรรมที่เขียนถึงฮูบแต้มอีสานในเขตจังหวัดมหาสารคาม พบว่าจิตรกรรมฝาผนังในมหาสารคามที่ปรากฎเอกสารกล่าวถึงมี 7 วัดซึ่งมีจิตรกรรมฝาผนังปรากฎบนสิมทั้งหมด และทั้งหมดก็เป็นสิมทึบแบบพื้นบ้าน

ในระยะ ยี่สิบปีที่ผ่านมา 3 ใน 7 สิมถูกทุบทำลายและมีการก่อสร้างสิมแบภาคกลางแทน การทำลาย ทุบ ทิ้งและสร้างสิมใหม่แบบวัฒนธรรมภาคกลางมีผลให้จิตรกรรมที่ปรากฎบนผนังของสิมถูกทำลายลงไปอย่างน่าเสียดาย ส่วนหนึ่งน่าจะมาจากวัฒนธรรรมเอาอย่างและเลียนแบบวัฒนธรรมหลวงหรือวัฒนธรรมของศูนย์รวมอำนาจแห่งรัฐ

ดังนั้นวัดที่เหลืออยู่และเป็นเป้าหมายของการเดินทางไปมหาสารคาม เพื่อ ศึกษาคราวนี้ของผมเหลือเพียง 4 วัดคือวัดตาลเรือง อำเภอโสุมพิสัย,วัดบ้านยางซวง อำเภอบรบือ,วัดโพธารามและวัดป่าเรไรย์ อำเภอนาดูน สี่วัดที่เหลืออยู่และเป็นหลักฐานทางประวัติศาสตร์ในงานศึกษาเรื่องผ้าของผม ซึ่งส่วนใหญ่เป็นหลักฐานที่อายุกว่า 80 ปีขึ้นไปทั้งนั้น

ในสัปดาห์นี้หากเครื่องมือสื่อสารของผมไม่ก่อปัญหา ผมจะรายงานสดวันต่อวันให้ได้อ่านเอาสนุกนะครับ อิอิ ไปพักก่อนนะครับ เจอกันใหม่มื้ออื่น

Powered by WordPress