ลานบ้านชลบถพิบูลย์

มีนาคม 4, 2009

พ่อแม่และครู คือตัวชี้วัดความคิดสร้างสรรค์ของลูก

Filed under: Uncategorized — แท็ก: , , — ออต @ 11:12

ผมเลือกสอนศิลปะในห้องเรียนที่มีความสุข แม้บางคราวสิ่งที่เตรียมเอาไว้จะกลายเป็นความไม่สุขของนักเรียนบางคน ซึ่งก็จดจำเอาไว้เก็บไปพัฒนาต่อไป  ดังนั้นเมื่ออุ่นเครื่องเด็ก ๆ จนพร้อที่จะลงมือสร้างสรรค์งานศิลปะแล้ว หลังจากนั้นก็ปล่อยให้เป็นสวรรค์น้อย ๆ ของเขา

ในระหว่างเด็ก ๆ สร้างสรรค์ ผมเลือกที่จะเดินดูอยู่ห่าง ๆ หรือเดินไปเดินมาช่วยหาอุปกรณ์ สี หรือเตรียมสิ่งของที่เด็ก ๆ จะใช้ในการสร้างสรรค์งานศิลปะเอาไว้ให้พร้อม งดการวิจารณ์หรือพูดถึงผลงานของเด็ก จะพูดก็ต่อเมื่อพบเห็นเด็ก ๆ บางคนยังคิดอะไรไม่ออก หรือคิดได้แต่ไม่กล้าลงมีสักที  นั้นถึงเป็นเวลาที่ผมจะเปิดปากพูด

การเดินวนไปรอบ ๆ จะช่วยให้ครูมองเด็กและสังเกตพฤติกรรมเด็กเป็นรายบุคคลได้และเมื่อเดินบ่อย ๆ ครูจะสามารถเดาพฤติกรรมต่อไปของเด็กบางคนได้ ว่าเด็กพร้อมที่จะทำงานแล้วหรือยังต้องการการกระตุ้นเพิ่ม  เราจะสังเกตได้ว่าเด็กคนนั้นต้องการหรือไม่ต้องการให้ใครไปยุ่งกับโลกจินตนาการของเขา  เราจะสังเกตได้ว่าเด็กคนนั้นเหนื่อยล้ากับการทำงานและต้องการการพักแล้ว

เมื่อพบว่าพฤติกรรมดังกล่าว ผมมักจะไม่กระตุ้นต่อ แต่ปล่อยให้เด็ก ๆ เปลี่ยนอริยาบถไป ดังนั้นจึงไม่แปลกที่จะเห็นผมเล่นกับเด็ก ๆ ไม่ว่าจะเป็นเกม พูดคุย เมาส์กันให้สนุกปาก หรือทำกิจกรรมอื่น ๆ ที่เป็นการเปลี่ยนอริยาบถ   ก่อนหน้านั้นหลายครั้งที่ผมมักกระตุ้นเพิ่มเมื่อเห็นเด็กเหนื่อยหวังว่าจะให้ผลงานสวยงาม แต่จากการสังเกตนี้ผมเห็นว่าไม่มีประโยชน์อันใดที่จะกระตุ้นเพิ่ม

ผมปล่อยให้เด็กเล่นจนเหนื่อยในเวลาที่สมควร เมื่อเด็กเหนื่อยเราจะพบปรากฏการณ์ใหม่ที่เด็กหันกลับมาสนใจงานศิลปะของตนเองเพิ่มมากขึ้น และหลายคนทำงานตนเองจะเสร็จโดยไม่ต้องมากระตุ้นให้เขาทำงานศิลปะต่อ

เรื่องนี้นอกจากครูต้องเป็นนักสังเกตแล้ว ผู้ปกครองเองต้องตะหนักในข้อนี้ด้วย มีผู้ปกครองหลายคน เมื่อมารับลูกและเห็นว่าทำงานไม่เสร็จก็จะพยายามบอกให้ลูกทำงานศิลปะต่อให้เสร็จ  เมื่อผมเดินไปเจอก็จะรีบถามเด็กด้วยคำถามนำว่า “เหนื่อยแล้วใช่ไหม?” ซึ่งคำตอบว่า “ใช่” ก็จะออกจากปากเด็ก ๆ เรื่องนี้ทำเอาผู้ปกครองหลายคนงอนครูไปเหมือนกัน แต่ทำไงได้เพราะเด็กเหนื่อยมากแล้วการสร้างสรรค์ต่อของพ่อแม่อาจจะเป็นการทำลายนิสัยรักการสร้างสรรค์ก็เป็นได้ เพราะ หนูเหนื่อยแล้ว พอแล้ว ล้าแล้ว

กุมภาพันธ 24, 2009

เรียนรู้จากครอบครัว HUG

Filed under: Uncategorized — แท็ก: , — ออต @ 11:28

วันอาทิตย์ที่ผ่านมา HUG SCHOOL ได้จัดงาน tuning up at Hug School โดยเชื้อเชิญคุณครูที่สอนที่โรงเรียนมาเจอกันและเปิดเวทีแนะนำทำความรู้จักกันอย่างเป็นทางการครั้งแรก โยมีทีมบริหารโรงเรียนและทีมที่ปรึกษามาเจอคุณครูถ่ายทอดแนวคิดและประสบการณ์ให้แก่คุณครูได้รับฟัง

สิ่งที่พิเศษของโรงเรียนศิลปะ ดนตรีและเต้นรำแห่งเมืองขอนแก่นนี้มีจุดพิเศษอยู่ที่การพยายามผลักดันแบรนด์ท้องถิ่นให้เติบโตและแข็งแรง อยู่กับคนท้องถิ่นได้และมีคุณภาพเทียบแบรนด์ดัง ๆ ที่ขยายกิจกรการมาอยู่ตามจังหวัดต่าง ๆ ซึ่งหัวใจของการต่อสู้กับแบรนด์ใหญ่ ๆ ของแบรนด์ท้องถิ่นคือ หัวใจ นั้นเอง

ครอบครัว วัฒนศัพท์ เป็นครอบครัวหนึ่งที่พยายามมุ่งสร้างแบรนด์ของท้องถิ่นและโรงเรียนศิลปะ ดนตรีและเต้นรำนาม HUG SCHOOL นี้ก็เป็นอีกแบรนด์ที่ครอบครัวนี้พยายามผลักดันให้เกิดขึ้น โดยนำเอาแนวคิดที่ครอบครัวประสบอยู่และเห็นว่ามันต้องเป็นส่วนหนึ่งของวิถีชีวิตสมัยใหม่เช่นการปลูกฝังศิลปะให้ทุกคนในครอบครัว

ครอบครัวนี้มีจุดร่วมทที่สำคัญอย่าหนึ่งคือ ครอบครัวนี้เป็นครอบครัวศิลปะ แม้ว่าภาพรวมของคนในครอบครัวจะออกไปทางวิทยาศาสตร์และเน้นไปทางวิทยาศาสตร์สุขภาพด้วยอย่างคุณหมอวันชัย วัฒนศัพท์เป็นแพทย์ศัลยกรรมมือฉมัง คุณแม่รัตนภรณ์ก็เป็นพยาบาลมาก่อน คุณหมอหนึ่งลูกชายคนโตก็เป็นหมอผ่าตัดทางด้านหูคอจมูก และสมาชิกอีกกลุ่มก็หันไปสนใจวิชาชีพทางด้านศิลปะ พี่โหน่งเป็นนักแต่งเพลงและนุช(เพื่อนผม)ก็สนใจงานด้านการออกแบบ แต่ไม่ว่าจะสนใจสายวิชาชีพไหนแต่ทุกคนครอบครัวนี้ล้วนสนใจศิลปะทั้งการเป็นศิลปินและการเป็นผู้เสพในศิลปะบางแขนง

HUG SCHOOL ปรารถนาให้ ศิลปะ เป็นส่วนหนึ่งหรือปัจจัยหนึ่งของชีวิตผู้คนไม่ได้มองว่าเป็นความต้องการแต่อยากให้ศิลปะเป็นความจำเป็นสำหรับชีวิต ดังนั้นศิลปะที่นี่จึงหลากหลายชนิดและหลากหลายกลุ่มคนที่สนใจมาเรียนไม่ว่าเด็ก วัยรุ่น คนทำงาน ผู้สูงอายุ

HUG SCHOOL ปรารถนาให้นักเรียนมีความคิดสร้างสรรค์ผ่านการปลูกฝังวิชา เอ๊ะศาสตร์ (วาทกรรมของคุณหมอวันชัย วัฒนศัพท์) ที่มุ่งเน้นให้นักเรียนศิลปะมีคำถามต่อปรากฏการณ์ต่าง ๆ เพราะเมื่อเดคำถามก็จะเกิดจินตนาการเพื่อแสวงหาคำตอบ และนำมาซึ่งการค้นพบคำตอบ ส่วนบางคำตอบที่ไม่ใช่ก็จะกลายเป็นจินตนาการที่สักวันหนึ่งกลายเป็นการค้นพบที่ยิ่งใหญ่ ซึ่งมันคือความคิดสร้างสรรค์

ท่านไหนสนใจก็ลองแลกเปลี่ยนกับโรงเรียนแห่งนี้ได้ครับที่ www.hugschool.com

« บันทึกเก่ากว่า

Powered by WordPress