ลานบ้านชลบถพิบูลย์

มิถุนายน 30, 2010

Isan Mural : Composition

วันพรุ่งนี้มีโปรแกรมบรรยายเรื่อง การออกแบบจิตรกรรมฝาผนังอีสาน ให้นักศึกษาคณะศิลปกรรมศาสตร์ฟัง เป็นการสรุปเรื่องจากที่พานักศึกษาไปทัศนศึกษาจิตรกรรมฝาผนังวัดสนวนวารีพัฒนาราม วัดสระบัวแก้วและวัดบ้านลาน ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของการจัดการเรียนรู้วิชาการออกแบบจิตรกรรมพื้นบ้าน

หัวใจสำคัญคือการได้ไปเห็นของจริงว่าศิลปินสมัยก่อนนั้น เขาออกแบบจิตรกรรมฝาผนังอย่างไร มีจุดเด่นที่พิเศษอย่างไรหลังจากที่ได้ศึกษาแล้วจะเอาความรู้และลักษณะพิเศษของจิตรกรรมฝาผนังสมัยก่อนมาปรับใช้สำหรับงานออกแบบจิตรกรรมฝาผนังของตนเองอย่างไร ซึ่งหากศึกษาและฝึกฝนให้ดีแล้ว การเรียนภาพจิตรกรรมฝาผนังตามสิมในปัจจุบันก็นับว่ารายได้ดี และเป็นที่นิยมของชาวบ้านในการประดับประดาศาสนาสถานของชุมชน

วันนี้ผมจึงเตรียมตัวเพื่อเก็บเอาบางประเด็นไปแลกเปลี่ยนกับนักศึกษา และหนึ่งในประเด็นที่เตรียมเอาไว้และขอเอามาเล่าในบันทึกนี้ก็คือ เรื่องการจัดวางองค์ประกอบศิลป์ Composition ซึ่งวิชานี้นับเป็นวิชาสำคัญของนักศึกษาศิลปะ(สมัยใหม่) สมัยผมเรียนวิชาองค์ประกอบศิลป์นี้ต้องเรียนตั้งสองเทอมด้วยกัน ซึ่งหากเราเอาองค์ความรู้จากองค์ความรู้ด้านศิลปะสมัยใหม่เข้าไปจับความงามของศิลปะพื้นบ้านแล้ว เราอาจจะได้มุมมองใหม่ ๆก็เป็นได้

ภาพที่นำมาลงในบันทึกนี้เป็นภาพจากวัดสระบัวแก้ว อำเภอหนองสองห้อง จังหวัดขอนแก่น ซึ่งเป็นวัดที่มีภาพจิตรกรรมฝาผนังเต็มทุกผนังด้านนอกทั้งสี่ด้าน โดยเขียนภาพหลักเรื่อง “พระรามชาดก” ส่วนเรื่องประกอบเช่น พระมาลัยโปรดนรกภูมิ สินไซ พระเวสสันดรชาดกเป็นต้น

ภาพแรกอยู่ผนังด้านทิศใต้เป็นภาพที่แสดงตอน พระมาลัยโปรดนรกภูมิช่างเขียนภาพไม่ได้เขียนเพื่อแยกต่างหากเป็นอีกเรื่อง แต่เขียนฉากนี้เพื่อรองรับการลงมารับโทษของพญาราพะนาสวน(ตัวละครในเรื่อง) หลังจากตายเพราะถูกพระลักและพระลามฆ่า ซึ่งมาจากศึกแย่งนางสีดาจันทะแจ่ม ตอนนี้จะปรากฎภาพพระมาลัยยืนอยู่บนดอกบัวหันหน้าไปในทิศที่มีสัตว์นรกอยู่ เหล่าสัตว์นรกก็ต่างพนมมือและหันหน้ามายังพระมาลัย

หากมาแยกพิจารณาเส้นจะพบว่าเส้นของสัตว์นรกจะมีลักษณะเอียงไปในทิศพระมาลัย(จุดเด่น)อยู่เป็นการสร้างเส้นเพื่อดึงดูดสายตาเพื่อนำไปยังจุดเด่นและให้ความรู้สึกไม่มั่นคง ไม่น่าเชื่อถือ ส่วนพระมาลัย(จุดเด่น)จะมีลักษณะเป็นแนวดิ่งซึ่งให้ความรู้สึกมั่นคงหนักแน่น

เมื่อถอดโครงสร้างของรูปร่างจะพบว่าตัวละครส่วนใหญ่มีรูปร่างเป็นสามเหลี่ยมซึ่งหากจัดการรูปทรงทุกตัวละครจะเห็นว่าช่างเขียนได้เขียนภาพให้จุดเด่นมีขนาดใหญ่เพื่อดึงดูดความสนใจของผู้ชม ส่วนสัตว์นรกทำเป็นโครงสร้างสามเหลี่ยมขนาดเล็ก  การจัดวางรูปทรงมีกาีจัดวางองค์ประกอบไม่เท่ากันคือกลุ่มสัตว์นรกมีจำนวนมาก ส่วนจุดเด่นพระมาลัยมีรูปทรงเดียว

ส่วนภาพที่สองเป็นภาพที่เขียนบริเวณผนังด้านนอกในฝั่งทิศเหนือ เป็นภาพพระอินทร์ลงมาถามคำถามให้ ท้าวสะลุนกุ้น(เด็กชายไม่มีแขนไม่มีขา) ตอบปัญหา ซึ่งในภาพจะเห็นพระอินทร์ขี่ม้า ส่วนครอบครัวของท้าวสะลุนกุ้นอยู่เบื้องหน้า ภาพที่แสดงจำลองภาพของชาวบ้านอีสานได้เป็นอย่างดีคือบ้านใต้ถุนสูง มีการเลี้ยงสัตว์ใต้ถุนบ้าน กิจกรรมในชีวิตประจำวันจะนิยมใช้ใต้ถุนบ้าน

หากมาแยกพิจารณาเส้นจะพบว่าเส้นมีลักษณะเส้นดิ่งและเส้นนอนพาดกันไปมา ทำให้เกิดกรอบสี่เหลี่ยนเล็ก ๆ ใหญ่ ๆ อยู่บนภาพทำให้เกิดความรู้สึกเป็นปึกแผ่น กรอบสี่เหลี่ยมใหญ่สร้างไว้รองรับตัวละครหลักที่เป็นจุดเด่น(พระอินทร์)และกรอบเล็ก ๆ สร้างขึ้นเพื่อแสดงตัวละครประกอบอื่น ๆ

เมื่อถอดโครงสร้างของรูปร่างจะพบว่าตัวละครที่เป็นจุดเด่นมีลักษณะรูปทรงสามเหลี่ยนขนาดใหญ่บนพื้นสี่เหลี่ยมขนาดใหญ่ที่สุด ดังนั้นจึงทำให้จุดเด่นมีความโดดเด่นขึ้นมากให้ความรู้สึกองอาจ สง่างาม ในขณะที่รูปทรงอื่น ๆ บนกรอบสี่เหลี่ยมเล็ก ๆ ก็ไม่ได้แย่งจุดเด่นจากภาพไป

นี่เป็นสองภาพที่ขอเอามาเล่าก่อนไปสอนในวันพรุ่งนี้

Powered by WordPress