ลานบ้านชลบถพิบูลย์

มิถุนายน 30, 2010

Isan Mural : Composition

วันพรุ่งนี้มีโปรแกรมบรรยายเรื่อง การออกแบบจิตรกรรมฝาผนังอีสาน ให้นักศึกษาคณะศิลปกรรมศาสตร์ฟัง เป็นการสรุปเรื่องจากที่พานักศึกษาไปทัศนศึกษาจิตรกรรมฝาผนังวัดสนวนวารีพัฒนาราม วัดสระบัวแก้วและวัดบ้านลาน ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของการจัดการเรียนรู้วิชาการออกแบบจิตรกรรมพื้นบ้าน

หัวใจสำคัญคือการได้ไปเห็นของจริงว่าศิลปินสมัยก่อนนั้น เขาออกแบบจิตรกรรมฝาผนังอย่างไร มีจุดเด่นที่พิเศษอย่างไรหลังจากที่ได้ศึกษาแล้วจะเอาความรู้และลักษณะพิเศษของจิตรกรรมฝาผนังสมัยก่อนมาปรับใช้สำหรับงานออกแบบจิตรกรรมฝาผนังของตนเองอย่างไร ซึ่งหากศึกษาและฝึกฝนให้ดีแล้ว การเรียนภาพจิตรกรรมฝาผนังตามสิมในปัจจุบันก็นับว่ารายได้ดี และเป็นที่นิยมของชาวบ้านในการประดับประดาศาสนาสถานของชุมชน

วันนี้ผมจึงเตรียมตัวเพื่อเก็บเอาบางประเด็นไปแลกเปลี่ยนกับนักศึกษา และหนึ่งในประเด็นที่เตรียมเอาไว้และขอเอามาเล่าในบันทึกนี้ก็คือ เรื่องการจัดวางองค์ประกอบศิลป์ Composition ซึ่งวิชานี้นับเป็นวิชาสำคัญของนักศึกษาศิลปะ(สมัยใหม่) สมัยผมเรียนวิชาองค์ประกอบศิลป์นี้ต้องเรียนตั้งสองเทอมด้วยกัน ซึ่งหากเราเอาองค์ความรู้จากองค์ความรู้ด้านศิลปะสมัยใหม่เข้าไปจับความงามของศิลปะพื้นบ้านแล้ว เราอาจจะได้มุมมองใหม่ ๆก็เป็นได้

ภาพที่นำมาลงในบันทึกนี้เป็นภาพจากวัดสระบัวแก้ว อำเภอหนองสองห้อง จังหวัดขอนแก่น ซึ่งเป็นวัดที่มีภาพจิตรกรรมฝาผนังเต็มทุกผนังด้านนอกทั้งสี่ด้าน โดยเขียนภาพหลักเรื่อง “พระรามชาดก” ส่วนเรื่องประกอบเช่น พระมาลัยโปรดนรกภูมิ สินไซ พระเวสสันดรชาดกเป็นต้น

ภาพแรกอยู่ผนังด้านทิศใต้เป็นภาพที่แสดงตอน พระมาลัยโปรดนรกภูมิช่างเขียนภาพไม่ได้เขียนเพื่อแยกต่างหากเป็นอีกเรื่อง แต่เขียนฉากนี้เพื่อรองรับการลงมารับโทษของพญาราพะนาสวน(ตัวละครในเรื่อง) หลังจากตายเพราะถูกพระลักและพระลามฆ่า ซึ่งมาจากศึกแย่งนางสีดาจันทะแจ่ม ตอนนี้จะปรากฎภาพพระมาลัยยืนอยู่บนดอกบัวหันหน้าไปในทิศที่มีสัตว์นรกอยู่ เหล่าสัตว์นรกก็ต่างพนมมือและหันหน้ามายังพระมาลัย

หากมาแยกพิจารณาเส้นจะพบว่าเส้นของสัตว์นรกจะมีลักษณะเอียงไปในทิศพระมาลัย(จุดเด่น)อยู่เป็นการสร้างเส้นเพื่อดึงดูดสายตาเพื่อนำไปยังจุดเด่นและให้ความรู้สึกไม่มั่นคง ไม่น่าเชื่อถือ ส่วนพระมาลัย(จุดเด่น)จะมีลักษณะเป็นแนวดิ่งซึ่งให้ความรู้สึกมั่นคงหนักแน่น

เมื่อถอดโครงสร้างของรูปร่างจะพบว่าตัวละครส่วนใหญ่มีรูปร่างเป็นสามเหลี่ยมซึ่งหากจัดการรูปทรงทุกตัวละครจะเห็นว่าช่างเขียนได้เขียนภาพให้จุดเด่นมีขนาดใหญ่เพื่อดึงดูดความสนใจของผู้ชม ส่วนสัตว์นรกทำเป็นโครงสร้างสามเหลี่ยมขนาดเล็ก  การจัดวางรูปทรงมีกาีจัดวางองค์ประกอบไม่เท่ากันคือกลุ่มสัตว์นรกมีจำนวนมาก ส่วนจุดเด่นพระมาลัยมีรูปทรงเดียว

ส่วนภาพที่สองเป็นภาพที่เขียนบริเวณผนังด้านนอกในฝั่งทิศเหนือ เป็นภาพพระอินทร์ลงมาถามคำถามให้ ท้าวสะลุนกุ้น(เด็กชายไม่มีแขนไม่มีขา) ตอบปัญหา ซึ่งในภาพจะเห็นพระอินทร์ขี่ม้า ส่วนครอบครัวของท้าวสะลุนกุ้นอยู่เบื้องหน้า ภาพที่แสดงจำลองภาพของชาวบ้านอีสานได้เป็นอย่างดีคือบ้านใต้ถุนสูง มีการเลี้ยงสัตว์ใต้ถุนบ้าน กิจกรรมในชีวิตประจำวันจะนิยมใช้ใต้ถุนบ้าน

หากมาแยกพิจารณาเส้นจะพบว่าเส้นมีลักษณะเส้นดิ่งและเส้นนอนพาดกันไปมา ทำให้เกิดกรอบสี่เหลี่ยนเล็ก ๆ ใหญ่ ๆ อยู่บนภาพทำให้เกิดความรู้สึกเป็นปึกแผ่น กรอบสี่เหลี่ยมใหญ่สร้างไว้รองรับตัวละครหลักที่เป็นจุดเด่น(พระอินทร์)และกรอบเล็ก ๆ สร้างขึ้นเพื่อแสดงตัวละครประกอบอื่น ๆ

เมื่อถอดโครงสร้างของรูปร่างจะพบว่าตัวละครที่เป็นจุดเด่นมีลักษณะรูปทรงสามเหลี่ยนขนาดใหญ่บนพื้นสี่เหลี่ยมขนาดใหญ่ที่สุด ดังนั้นจึงทำให้จุดเด่นมีความโดดเด่นขึ้นมากให้ความรู้สึกองอาจ สง่างาม ในขณะที่รูปทรงอื่น ๆ บนกรอบสี่เหลี่ยมเล็ก ๆ ก็ไม่ได้แย่งจุดเด่นจากภาพไป

นี่เป็นสองภาพที่ขอเอามาเล่าก่อนไปสอนในวันพรุ่งนี้

3 ความคิดเห็น »

  1. มองอดีตเห็นตัวตน  พี่ชอบมากครับ

    ความคิดเห็น โดย bangsai — มิถุนายน 30, 2010 @ 21:55

  2. ชอบมากที่ออตเสนอ แต่ๆๆๆ ตัวหนังสือเล็กไปหน่อย คนแก่อ่านยาก

    ความคิดเห็น โดย sutthinun — กรกฏาคม 1, 2010 @ 0:01

  3. ชอบจังค่ะ ครูออต

    ความคิดเห็น โดย อุ๊ยสร้อย — กรกฏาคม 1, 2010 @ 13:56

RSS feed for comments on this post. TrackBack URL

แสดงความคิดเห็น

*
To prove you're a person (not a spam script), type the security word shown in the picture. Click on the picture to hear an audio file of the word.
Click to hear an audio file of the anti-spam word

Powered by WordPress