นักถอดรหัสวัฒนธรรม 2 : มิตรชาวต่างชาติหัวใจอีสาน
เมื่อวานลงบันทึกไปเกี่ยวกับนักถอดรหัสวัฒนธรรมที่จะร่วมเดินทางไปกับผมที่วัดศรีมหาโพธิ์ บ้านหว้านใหญ่ อำเภอหว้านใหญ่ จังหวัดมุกดาหาร ซึ่งล้วนแต่เป็นคนไทยหัวใจรักษ์ถิ่นทั้งนั้น ในบันทึกนี้ผมเหลือนักถอดรหัสวัฒนธรรมอีกสามท่านที่จะลงในบันทึกนี้
อาจารย์รณภพ เตชะวงษ์ ศิลปินคนขอนแก่นที่มีผลงานศิลปะที่รื่นรมณ์และคมคาย อาจารย์ต้อมเป็นทั้งศิลปินและอาจารย์ ปัจจุบันสอนที่คณะศิลปกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่นและสอนร่วมโรงเรียนกันกับผมที่ HUG SCHOOL โรงเรียนศิลปะสำหรับคนรักศิลปะ อาจารย์ต้อมเรียนที่ขอนแก่นก่อนจะไปเรียนศิลปะที่มหาวิทยาลัยศิลปากรจนจบในระดับปริญญาโท สำหรับผมงานศิลปะของอาจารย์เป็นงานที่ผนวกเอาวัฒนธรรมอีสานมาสร้างสรรค์ในรูปแบบศิลปะร่วมสมัยมาได้อย่างอิ่มเอมและรื่นรมณ์ หากใครได้สะสมงานศิลปะของอาจารย์สักชิ้น ผมว่าท่านจะอยากจิบกาแฟแล้วมองงานศิลปะที่ชานบ้านอย่างไม่รู้หน่าย การร่วมเดินทางคราวนี้เราในฐานะผู้จัดวาดหวังว่าอาจารย์จะได้นำเอาบริบทที่พบเห็นมาถ่ายทอดเป็นงานศิลปะและช่วยแนะนำเราในการคัดลอก สร้างสรรค์งานศิลปะจากศิลปกรรมพื้นบ้าน
ส่วนอีกสองท่านที่เหลือนี้ ผมเองภูมิใจนำเสนอเป็นอย่างยิ่ง เพราะเป็นเพื่อนต่างชาติที่สนใจวัฒนธรรมไทยอย่างมาก โดยเฉพาะวัฒนธรรมอีสาน ซึ่งน้อยนักหนาที่ปริมณฑลอีสานจะมีคนต่างชาติต่างภาษามาเบิ่งแงง เพราะอีสานบนสื่อมีแต่ความแห้งแล้ง ไม่อุดมวัฒนธรรมเช่นล้านนาประเทศ
Bonnie Brereton(Ph.D) เพื่อนผู้ร่วมเรียนรู้เกี่ยวกับจิตรกรรมฝาผนังของผมในระยะหลายปีที่ผ่านมา นอกจากอาจารย์ไพโรจน์ สโมสร(ลาจากไปแล้ว) ก็มี Bonnie Brereton นี่กะมั่งที่ชอบเดินทางไปดูวัดกับผมในหลายพื้นที่อย่างไม่รู้หน่าย ผมรู้จักอาจารย์บอนนี่คราวที่อาจารย์มาพำนักที่คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ แต่เสียดายที่ช่วงเวลาที่เรารู้จักกันเป็นช่วงท้ายของทุนในการพำนักที่นี่ แต่อย่างน้อย Bonnie Brereton คือผู้จุดประกายให้ผมสนใจเรื่องนี้อย่างจริงจัง เพราะคนต่างชาติแบบอาจารย์ยังสนใจ ผมคนอีสานแท้ ๆ ยิ่งต้องรู้จักอีสานให้มากกว่านี้ ผมกับอาจารย์ฝันถึงการมีมูลนิธิเล็ก ๆ ที่ทำงานเกี่ยวกับศิลปกรรมอีสานทั้งงานวิจัยและการบูรณาการกับการศึกษา โดยเฉพาะการศึกษานอกระบบ ทำงานกับชาวบ้านชุมชนในประเด็นวัฒนธรรมทั้งแบบดั่งเดิมและแบบสมสมัย ความฝันนี้ผมยังไม่เปลี่ยนในระหว่างรอจังหวะ โอกาส ผมกับอาจารย์ Bonnie Brereton ก็จะเรียนรู้อีสานไปเรื่อย ๆ บทความล่าสุดของอาจารย์อ่านได้ ที่นี่
สามปีที่ผ่านมาขณะที่ผมนั่งเล่นที่ร้าน มีชาวต่างชาติพูดไทยไม่ได้มาหาผมที่ร้าน เราพูดคุยด้วยความยากลำบากเพราะภาษาอังกฤาสำหรับผมมันงู ๆ ปลา ๆ มาจนอยากจะปาทิ้งให้หลุดไปจากชีวิต เท่าที่แปลออกชาวต่างชาติคนนี้ชื่อ Ivan เป็นชาวออสเตรเรีย แต่มาทำงานเป็นอาจารย์สอนที่มหาวิทยาลัยราชภัฏมหาสารคาม ท่านมาหาผมเพราะสนใจจิตรกรรมฝาผนังและสิมอีสานและขอซื้อหนังสือเล่มเล็ก ๆ ชื่อ สินไซ ที่ผมทำเอาไว้นานแล้ว หลังจากนั้นไม่นานเราก็รู้จักกันและเมื่อไปเยี่ยมท่านที่บ้านก็รู้ว่าท่านสนใจเรื่องอีสาน ๆ เป็นอย่างมากบางคราวก็ท่องเที่ยวถ่ายภาพสิมเก่า ๆ เอามาวิเคราะห์ เอาซาบซึ้งและที่สำคัญอะไรที่อยากรู้ อาจารย์ Ivan จะตรงดิ่งไปทำให้รู้ให้กระจ่าง นอกจากนั้นท่านยังเป็นคนที่เสียสละและเอื้อเฟื้อต่อเราในการหาภาพถ่ายสวย ๆ ไปใช้ในการทำงานอยู่เสมอ ๆ