น้ำตาพ่อไล..

200 ความคิดเห็น โดย bangsai เมื่อ 12 มีนาคม 2011 เวลา 19:14 ในหมวดหมู่ ไม่ได้จัดหมวดหมู่ #
อ่าน: 1182

น้ำตาพ่อไลซึมออกมาแบบไม่รู้สึกตัว

 

ทำไมเขาเรียกสิ่งเหล่านี้ว่าความเจริญหรือ เขาเรียกสิ่งเหล่านี้ว่าความก้าวหน้าหรือ.. พ่อไลเปรยออกมาต่อหน้าเราด้วยความผิดหวัง เสียใจ ลึกๆเป็นความเจ็บปวด

บ้านนอกเรานั้นอยู่กันแบบมีระบบชุมชนเป็นบรรทัดฐานกำกับที่เราเรียกวัฒนธรรม คุณค่าของชุมชนท้องทุ่ง ที่คนในเมืองเรียกเราว่า ความล้าหลัง ต่ำต้อย ขาดแคลน และเอาเราไปตั้งงบประมาณมากมายมหาศาลต่อปี

แม่เฒ่าหิ้วตะกร้าใส่ของจุกจิกไปนอนที่วัดเมื่อวันพระมาถึง ไปนอนทุกวันศีลใหญ่ ร่วมกับผู้เฒ่าบ้านอื่นๆ พื้นฐานก็เป็นการสมาทานชีวิตช่วงสุดท้ายให้เข้าใกล้ธรรมมากที่สุด งานบุญข้าวสาก งานเข้าพรรษา ออกพรรษา เพื่อนบ้านมากันเต็มศาลาวัด งานสามค่ำเดือนสาม เราก็ทำขวัญให้วัวให้ควาย เอามูลมันไปใส่นา ผู้ข้อต่อแขนพ่อใหญ่แม่ใหญ่ตระกูลใครตระกูลมัน ยกเว้นเป็นดองกัน หรือเคารพรักกันสนิทแน่นต่างก็มากราบ อวยพรให้แก่กันและกัน มา”กินข้าวร่วมชามกินน้ำร่วมขัน” เอามื้อเอาแรงกัน.. บ้านเหนือบ้านใต้โอนอ่อนต่อกัน นานๆจะมีคนแผลงๆเป็นนักเลงโคบ้าง ผิดธรรมนองคลองธรรมบ้าง แต่เมื่อผู้เฒ่าเอ่ยปาก ต่างก็ก้มกราบเคารพยอมต่อท่าน

หลังวัดมีถนนเข้ามาแล้ว ข้างวัดเขามาเจาะบ่อบาดาล เอาน้ำมาทำระบบประปา บ้านโน้นเขามาตั้งอนามัยชุมชน มีพยาบาลมาประจำอยู่ ไฟฟ้าเข้ามา อะไรต่อมิอะไรเข้ามาในหมู่บ้านเรามากมาย ผิดไปจากเดิมๆ ต่างตื่นเต้นที่มีรถแปลกวิ่งเข้ามาขายของ เอาสินค้าแปลกๆเข้ามาด้วย

การประชุมผู้ปกครองที่โรงเรียนวัด ครูใหญ่สนับสนุนให้พ่อแม่ส่งลูกเรียนสูงๆ จะได้มีอนาคต ให้มีเงินเดือนกิน พ่อแม่จะได้ฝากผีฝากไข้ได้บ้าง บ้านเหนือบ้านใต้ต่างแข่งขันกันส่งลูกไปเรียนในอำเภอ ในเมือง….

ลูกสาวคนสุดท้องอยู่กะแม่ เลี้ยงดูพ่อแม่ ให้พี่พี่เขาไปเรียนนะ เขาร่ำเรียนเผื่อจะได้มาอุ้มชูพวกเราได้บ้าง

บางเดือนพ่อแม่ต้องวิ่งขอยืมเงินเขาไปทั่วเพื่อส่งให้ลูกได้เรียนสูงขึ้น มันก็เก่งพอตัวนะ เรียนไปกะเขาได้

หลายปีผ่านไป หมู่บ้านเปลี่ยนไปมากมาย ร้านค้าเล็กๆในบ้านมีสินค้าจากข้างนอกวางขายเต็มไปหมด เป็นถุงสีสันสวยๆ พ่อแม่แก่เฒ่าลงไปมากแล้ว ได้ลูกสาวคนเล็กที่เสียสละอยู่ช่วยดูแลพ่อเฒ่าแม่เฒ่า เจ็บไข้ได้ป่วยก็ลูกหล้านี่แหละ หนักเอาเบาสู้ตามประสาชนบทเรา

นับวันก็เป็นไม้ไกล่ฝั่ง พ่อแม่ก็ใตร่ตรองแล้วจึงจัดสรรมรดกให้ลูกแต่ละคนละคน ตามความเห็นพ้องกันของพ่อและแม่ ตามธรรมเนียมปฏิบัติ ลูกหล้าอยู่ดูแลพ่อแม่ก็ได้รับที่ดินและตัวบ้านมากกว่าคนอื่นหน่อย เมื่อออกเหย้าออกเรือนมันก็ยังดูแลปฏิบัติพัดวีเหมือนเดิม

เจ้าลูกคนที่เรียนในเมืองจบแล้วมันก็ไม่ได้กลับเข้ามา มันมีงานทำในเมืองนานๆก็เข้ามา เยี่ยมซะที แต่มาคราวนี้มันทำสิ่งผิดหวังแก่พ่อแม่มาก เมื่อมันรู้ว่าพ่อแม่แบ่งมรดกให้แล้ว มันได้น้อยกว่าคนอื่น มันก็โกรธ เมื่อคุยกันกับพี่กับน้องไม่รู้เรื่อง มันก็ยิ่งโกรธหาว่าพ่อแม่แบ่งที่ดินให้มันน้อยเกินไป

พ่อไลน้ำตาไหลออกมา พูดแบบไม่เต็มคำพูด…

มันเรียนจบกฎหมาย…มันบอกมันจะฟ้องพ่อแม่พี่น้อง หาว่าแบ่งมรดกไม่เท่าเทียมกัน มันเป็นลูกคนหนึ่งมันมีสิทธิที่จะได้ที่ดินมากกว่านี้…

ลูกมีความรู้ทางกฎหมายพ่อแม่ภูมิใจที่เสียสละทั้งชีวิตส่งเสียเอง น้องๆ พี่ๆ เขาไม่ได้เรียน เขาดูแลพ่อแม่ และเขาก็มีส่วนอย่างมากที่ทำนาทำไร่ได้เงินมาก็ส่งเสียเอง..

เองมีความรู้ แต่เองไม่มีคุณธรรม ไม่มีศีลธรรม

ชีวิตเองที่หลุดออกจากบ้านไปนั้น อะไรมันหล่อหลอมจิตใจเองให้เป็นอย่างนี้…

…….

กว่าที่เราจะสงบสติอารมณ์ด้านลึกได้ มือที่เรายื่นไปจับมือพ่อไลนั้นสั่นไปหมด..


พ่อไล มองโลก..

122 ความคิดเห็น โดย bangsai เมื่อ 12 มีนาคม 2011 เวลา 10:48 ในหมวดหมู่ ไม่ได้จัดหมวดหมู่ #
อ่าน: 3087

ไทยเป็นครัวโลก..? ฟังดูดี

อาชีพเกษตรกรทำนาลดลง ลูกหลานไม่ทำนา….?

ส่งลูกให้เรียนหนังสือ เพื่อให้เป็นเจ้าคน นายคน…?

ทุนทางสังคมจางหายไป ….?

เด็กรุ่นใหม่ ไม่เข้าใจ ต่อไม่ติด คุยกันไม่รู้เรื่องกับคนรุ่นเก่า..?

พ่อไล เป็นชาวบ้านธรรมดาที่มีอาชีพทำนาและเติบโตมาในยุคพัฒนา วิถีชีวิตปรับเปลี่ยนไปมากมายจากรุ่นพ่อแม่ การทำนาสมัยใหม่เอาพันธุ์ข้าวใหม่เข้ามา ใช้ปุ๋ยวิทยาศาสตร์ มีรถไถนา รถดำนา รถเก็บเกี่ยว..นี่คือการเปลี่ยนแปลงกระบวนการผลิตจากเดิมที่เลี้ยงวัวควาย เอามูลวัวควาย มีสถานที่เลี้ยงควาย มีวัฒนธรรม ประเพณีที่เกี่ยวกับกระบวนการผลิตเหล่านี้ ก็จางหายไป คนรุ่นใหม่ ไม่เข้าใจ สัมผัสไม่ได้ เข้าไม่ถึงคุณค่า ตรงข้าม ดูหมิ่นดูแคลน …ไปเลย

ทำไมลูกหลานถึงไม่เดินเข้ามาสืบต่ออาชีพเกษตร ทำนาทำสวนเหมือนพ่อแม่…?

คุณเอ้ย….พ่อแม่ส่งลูกไปเรียนวิทยาลัยเกษตร เข้าคณะเกษตรศาสตร์ของมหาวิทยาลัยต่างๆ มีสักหนึ่งเปอร์เซ็นต์ไหมที่เมื่อศึกษาจบแล้วกลับไปทำนาทำสวนโดยใช้ความรู้นั้นๆไปพัฒนาอาชีพเกษตร ทั้งหมดไปทำราชการ เข้าทำงานกับบริษัทธุรกิจ หรือไม่ก็ทำอะไรที่ไม่เกี่ยวกับวิชาชีพนั้นเลย..


ทำไม..?

คุณ..ข้าราชการนั้นแสนสบาย มีหลักประกัน มีเงินเดือนกิน สิ้นเดือนก็ได้เงิน และเงินเดือนก็ขึ้นไปเรื่อยๆ ออกสนามก็มีเบี้ยเลี้ยง ไปไหนๆก็มีค่าที่พัก มีรถรับส่ง ไม่ต้องเติมน้ำมัน ไม่ต้องควักกระเป๋าซ่อมแซมรถ เจ็บป่วยก็มีสวัสดิการดูแลดีกว่า หลักประกันแบบนี้ คุณว่ามันต่างจากอาชีพเกษตรกรอย่างไรล่ะ

มันตรงข้ามเลยใช่ไหม ทำนาทำสวน สารพัดจะเสี่ยงตั้งแต่เริ่มปลูกจนจบกระบวนการคือตลาด ราคาสินค้า เจ็บป่วยก็ได้รับการรักษาแบบยาพื้นๆ อยากได้ยาดีดีต้องจ่ายเอง ไม่มีเงินเดือน ไปไหนมาไหนก็ควักกระเป๋าเอง..มันเทียบกันไม่ได้เลย..แล้วชีวิตจะเลือกอะไรล่ะ

ไอ้ความรู้ที่ข้าราชการเอามาแนะนำน่ะ เขาเคยทำมากับมือบ้างไหม ก็เป็นข้อมูลมือสอง มือสาม มือสี่ ที่ไม่มีประสบการณ์ตรงมาเลย

การศึกษา มันสร้างหุ่นยนต์ มันไม่ได้สร้างคน

ระบบสังคมใหม่มันหล่อหลอมจิตใจที่แตกสลายให้กับลูกหลานของเราภายใต้สีสันของความทันสมัย ความก้าวหน้า ….

ไม่ได้ปฏิเสธ สิ่งใหม่ๆหลอกนะ แต่หากไร้ราก ไร้ฐาน เองก็คือมนุษย์ที่ฟุ้งลอยไปกับ ลมเป่าของระบบทุน ระบบธุรกิจที่ฟุ้ง ฟูมฟาย กับสินค้าใหม่ๆของเขา ที่เกินความจำเป็นที่วิถีเจ้า

ลองพิจารณากล่องกระดาษสวยงามกล่องนั้นซิ ใครเห็นก็ต้องอยากได้มาเป็นเจ้าของอยากกินขนมข้างในเพราะกล่องมันสวย ทั้งสีทั้งลาย ทั้งการออกแบบ แต่เมื่อกลับเอาไปที่บ้าน เจ้ากินขนมข้างในแล้ว ก็รู้สึกว่า ก็งั้นๆ แค่รู้รสและไปเล่าให้เพื่อนๆฟังว่า ได้กินมาแล้ว กล่องกระดาษสวยๆก็ทิ้งลงถังขยะอย่างไร้ความหมาย กว่าจะมาเป็นกล่องโรงงานใช้ต้นไม้ไปกี่ต้น ใช้พลังงาน ใช้ทรัพยากรต่างไปเท่าไหร่ มันต่างจาก ขนมโบราณที่ห่อใบตองเพียงแค่สิ่งห่อหุ้มเท่านั้นเอง ใบตองที่ทิ้งไป กับกล่องกระดาษที่ทิ้งลงถังขยะไปนั้น ความหมายต่อสังคม ต่อโลกต่างกันมากมายทีเดียว

ระบบสังคมดึงเราไปทางไหนกัน…

อาชีพเกษตรกรมันจะเหลืออะไร เมื่อช่องว่างระหว่างเกษตรกรกับรัฐบาลนั้นมีพ่อค้าเข้ามาแทรกตรงกลาง และเป็นตัวจริงที่กำกับวิถีการเกษตร…

แล้วรัฐก็ผลักใสเกษตรกรด้วยคำว่า “จงพึ่งตนเอง” ป่าวประกาศทางออกของชีวิตว่า เกษตรกรทั้งหลายจงพึ่งตนเอง แต่เขาเหล่านั้นก็เดินต่อไปตามเส้นทางความทันสมัย ความก้าวหน้า การบริโภคเกินความจำเป็นแห่งชีวิต อาหารหนึ่งคำก่อนเข้าปาก ผ่านธุรกิจมาหลายประเภท ที่ลอยละล่องไปบนระบบประชาธิปไตยเสรี ที่คนกลุ่มหนึ่งเรียกร้องให้ปลดปล่อยสังคมไปยืนที่ตรงนั้น แต่ความเป็นจริงประชาธิปไตยเสรีนั้นเป็นเพียงภาพลวงตา เพราะคำว่าเสรีนั้นคือเสรีบนความแตกต่างของอำนาจของทุน ทุนคือโอกาส แล้วมัน…เสรีแบบมึงได้เปรียบนี่หว่า..

พ่อไล..ส่ายหน้า พร้อมกับมองหน้าเรา

สังคมนี้สะสมความแตกต่าง ความแตกต่างคือพลังงานอย่างหนึ่ง มันเป็นพลังงานของความขัดแย้งและนำไปสู่รอบใหม่ของการเปลี่ยนแปลง มันเป็น Social cycle เพียงแต่มีใครมา organize มันเท่านั้น พลังนั้นย่อมไม่ต่างจาก Tsunami แล้วทุกอย่างราบเป็นหน้ากลอง

มนุษย์จะเกิดสติขึ้นมาอีกครั้งก่อนที่จะหลงใหลไปในวงจรใหม่ รอบใหม่ และเป็นรอบแล้วรอบเล่าท่ามกลางการป่าวประกาศธรรมของศาสนา ที่ทุกวันมนุษย์ได้ยินแต่ไม่สำนึก

พ่อไลยื่นมะละกอสุกสองสามลูกมาให้ อาจารย์เอาไปกิน หลังบ้านปลูกไว้เหลือกิน…

นึกถึงพ่อครูบาและแม่หวี ที่ช่องว่างหลังรถไม่มีที่เหลือเพราะเต็มไปด้วยผลผลิตจากสวนป่าที่ขนเอาไปฝากลูกหลานคนโน้นคนนี้…

ขณะที่ท้องผมอิ่มเพราะอาหารจากสวนป่า….

รอยหยักบนหน้าผมมีร่องลึกมากขึ้น… เพราะคำพูดของพ่อไล..ชาวบ้านธรรมดา



Main: 0.22314286231995 sec
Sidebar: 0.04767918586731 sec