Super Moon
อ่าน: 8607รูปนี้ถ่ายที่ตลาดวิเศษชัยชาญ อ่างทอง
คราวไปงานเลี้ยงรุ่นโรงเรียนมัธยมสมัยปี 2508
รูปนี้ถ่ายที่ตลาดวิเศษชัยชาญ อ่างทอง
คราวไปงานเลี้ยงรุ่นโรงเรียนมัธยมสมัยปี 2508
คนเรานี่ยามยุ่งมันก็ยุ่งจริงๆนะครับ ทุกท่านคงเผชิญเรื่องราวในชีวิตแบบนี้มาบ้างแล้ว ทั้งที่งานเขียนก็ล้นมือ จ่อคอหอย แต่ก็มีเรื่องจำเป็นจริงๆมาแทรกให้เราต้องแบ่งเวลาไปทำกิจกรรมนั้นๆ
แม่ของลูก 7 คนอายุ 89 จะเข้า 90 เดือนกันยายนนี้ ร่างกายร่วงโรยเป็นธรรมชาติ ต้องเข้า รพ.สายระโยงระยางเต็มไปหมด น้องๆดูแลแทนผมช่วงที่อยู่ลาว เมื่อกลับมาขอนแก่นก็บึ่งมาเยี่ยม..
จริงๆผมมีกำหนดจะลงมาอยู่แล้วเพราะมีงานชุมนุมศิษย์เก่าเพื่อนร่วมรุ่นสมัยปี 2508 ที่ตลาดวิเศษชัยชาญ เพื่อนฝูงมากันเยอะ มรณกรรมไปแล้ว 7 คน หลายคนจำกันไม่ได้ เหมือนเขาจำผมไม่ได้ อิอิ (เดาเอาเองนะ เหตุผลเพราะอะไร ห้า ห้า ห้า)
โต้โผใหญ่คือเพื่อนผู้เป็นเสี่ยใหญ่ผู้อยู่เบื้องหลังการเมืองท้องถิ่นและการเมืองระดับชาติของวิเศษชัยชาญ และจังหวัดอ่างทอง เราจัดงานมาทุกปี รูปแบบก็กินๆ คุยๆ แหกปากร้องเพลงกัน เสียงทักทายคนโน้นคนนี้ ถามถึงคนที่ไม่ได้มา เป็นปกติ
ความจริงตลาดวิเศษชัยชาญนั้นเศรษฐกิจเฟื่องฟูมากกว่าตลาดสามชุก แห่งสุพรรณบุรีในอดีต เพราะตลาดวิเศษมีคลองแม่น้ำน้อยที่เชื่อมต่อแม่น้ำเจ้าพระยาผ่านตัวเมืองวิเศษชัยชาญ และผ่านตัวอำเภอสำคัญๆหลายแห่ง จึงเป็นเส้นทางขนส่งสินค้าและคมนาคมระหว่างต่างจังหวัดกับท่าเตียน กรุงเทพฯ สมัยที่ยังไม่มีทางรถยนต์
ผมเข้ามาเรียนหนังสือที่กรุงเทพฯเมื่อปี 2009 ต้องนั่งเรือยนต์จากวิเศษฯมาขึ้นท่าเตียน นอนค้างคืนในเรือ ตื่นเต้นซะ..ไม่หลับไม่นอนเลย ก็เด็กบ้านนอกในป่าในดงจะเข้าเมืองหลวง อ่ะ.. ขึ้นท่าเตียนก็นั่งรถเมล์หอบของพะรุงพะรังไปบ้านคุณตาที่สำเหร่ฝั่งธนบุรี เงอะงะสมเป็นบ้านนอกเข้ากรุงจริงๆ
หลังจากมีถนน การคมนาคมทางเรือก็ค่อยๆลดบทบาทลงมาจนจบสิ้นลงในเวลาไม่กี่ปี การเดินทางทางเรือล่องแม่น้ำน้อยกลายเป็นทัศนาจร การท่องเที่ยว เล่าความหลังกันไปแล้ว แต่สนุกมากนะครับ ตลอดสองฝั่งแม่น้ำเห็นวิถีชีวิตเกษตรกรมากมาย ธุรกิจข้าว โรงสี โรงเรื่อยไม้ ตลาด ฯลฯ
หลังจากที่ไฟไหม้ตลาดวิเศษชัยชาญหมดเนื้อหมดตัว หลายสิบปีก่อน ทำให้ตลาดวิเศษเกือบหมดสิ้นความเก่า ขลัง และอุดมไปด้วยสิ่งก่อสร้างประวัติศาสตร์ หมดสิ้นไป เจ้าถิ่นเห็นตลาดสามชุกขึ้นมาเป็นแหล่งท่องเที่ยว พยามยามส้รางตลาดวิเศษฯบ้างแต่ไปไม่รอด เพราะสิ่งก่อสร้างเป็นของใหม่เกือบทั้งหมด แม้พยายามสร้างแบบเก่าแต่มันไม่ได้บรรยากาศ
รูปข้างบนที่เป็นห้องแถวเขียนว่า “ประชาบาล” โดนไฟไหม้ไม่เหลือหรอ เดิม คือร้านขายหนังสือ และเป็นบ้านคนดังแห่งวิเศษชัยชาญคือ ดร.เจิมศักดิ์ ปิ่นทอง ท่านนักเรียนเหรียญทองเศรษฐศาสตร์ ธรรมศาสตร์ (A หมดทุกวิชา) และ ดุษฎีบัณฑิต จาก Princeton เรื่องการค้าข้าว..
ฝอยไปเรื่อย..อิอิ ตั้งใจจะเล่าว่ากลับไปวิเศษคราวนี้ผมเห็นสิ่งประดิษฐ์ที่น่าสนใจสิ่งหนึ่ง คือเรือข้ามฟากพลังน้ำ ดูรูป..
ระหว่าง AE และ BF คือแม่น้ำน้อย ใครเรียกว่าคลองก็ได้ เพราะมันแคบลงเยอะ ตลาดวิเศษชัยชาญอยู่ฝั่ง BF ตัวที่ว่าการอำเภอเดิมและโรงเรียนประจำอำเภอนั้นอยู่ฝั่ง AE ดังนั้นในอดีต ไม่มีสะพาน จึงต้องมีแพและเรือรับจ้างรับคนข้ามฝั่งกันทั้งวันทั้งคืน ตลาดมีท่าลงเรือ 3 ท่า คือ ตลาดเหนือ ตลาดกลาง ตลาดใต้ แต่ละท่าก็มีเรือรับจ้างประจำ
ผมและเพื่อนต้องเดินจากบ้าน 5 กิโลเมตรผ่านตลาดวิเศษฯข้ามเรือท่าตลาดเหนือไปเรียนโรงเรียนประจำอำเภอ เช้าเดินมา เย็นเดินกลับ ตลอดเช่นนี้ ไม่มีจักรยาน และยานพาหนะอื่นๆ ฤดูฝน ต้องหิ้วรองเท้า(เก่า ขาด และ เหม็นๆ) ผ่านหมู่บ้าน ผ่านตลาด เอามาใส่ที่โรงเรียน เสียค่าข้ามเรือ 1 สลึงต่อคนต่อเที่ยว
มาวันนี้ ไม่มีเรือพาย ไม่มีเรือแจว ไม่มีเรือยนต์ที่เคยพัฒนามาแต่อดีตอีกแล้ว แต่มีเรือพลังน้ำข้ามฟาก
ผมถามเสี่ยงเบิ่ง ว่าพัฒนามาหลายปีแล้ว และเจ้าของเรือคิดขึ้นมาเอง หลักการคือ ที่ A และ B คือเสาสูงขนาดใหญ่ AB คือสายสลิง สูงเชื่อมต่อกัน E คือท่าเรือ ฝั่งอำเภอ F คือท่าเรือฝั่งตลาดวิเศษ C คือตัวเรือโดยสารขนาดนั่งได้สัก 20 คน D คือ สายสลิงจากหัวเรือที่เชื่อมกับสายสลิง AB แบบอิสระเคลื่อนไหวได้ง่าย น่าจะเป็นระบบรอกด้วย (มืดแล้วมองไม่เห็นตอนที่ไปดู) ตรง X คือคนบังคับเรือ เมื่อผู้โดยสารเต็มลำ X จะบังคับหาหางเสือเรือให้หันหน้าไปฝั่งตรงข้ามที่จะไป เพราะกระแสน้ำที่ไหลจากซ้ายไปขวาจะเป็นแรงบังคับเรือให้แล่นจากฝั่งหนึ่งไปอีกฝั่งหนึ่งได้อย่างช้าๆ เพราะ สายสลิงที่เชื่อมกันระหว่าง D กับ AB นั้นอิสระจึงสามารถเลื่อนไปมาได้ตามแรงที่มากระทำ
ฉลาดจริงๆ
เสียดายที่ผมไม่มีเวลาที่จะไปสัมภาษณ์ และถ่ายรูปมาเพราะค่ำแล้ว เพื่อนๆที่รองานเลี้ยงรุ่นซึ่งจัดอยู่ใกล้ๆตรงนี้ก็เรียกให้ไปร่วมงาน
คืนนั้น ผมบึ่งรถกลับบ้านขอนแก่นเลย เพราะมาสะสางงานนี่แหละ