เพื่อนชาวลาวผมตั้งชื่อ “คำ” ให้ใหม่แล้วกัน มีคุณพ่อเป็นอดีตทหารปฏิวัติ บ้านก็อยู่ในเขตสู้รบ เพราะมีเครื่องบินอเมริกัน จากไทยไปทิ้งระเบิดไม่หยุดหย่อน เป็นอันตรายมาก พ่อของคำจึงส่งไปเรียนที่เวียตนามเพื่อความปลอดภัยและเพื่ออนาคตลูก เมื่อคำจบชั้นมัธยมศึกษาก็ได้ทุนไปเรียนปริญญาตรีที่รัสเซีย ทางด้านสังคมวิทยาแล้วก็กลับมาทำงานรับใช้ประเทศ ซึ่งได้รับการปลดปล่อยแล้ว และได้ทุนไปเรียนปริญญาโท ที่มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์บางเขนด้านพัฒนาสังคม ดูเหมือนสนิทสนมกับอาจารย์คนไทยมาก มีโอกาสท่องไปหลายจังหวัดในเมืองไทย
คำ ออกปากตั้งแต่เจอะกันวันแรกๆว่า อาจารย์ ผมเป็นคนพูดตรงๆนะ โผงผางพูดเสียงดัง หัวเราะเสียงดัง ปานฟ้าถล่ม เมื่อเขาออกตัวเช่นนั้นก็ทำให้ผมสนิทสนมกับคำอย่างรวดเร็ว ซึ่งปรกติผมเป็นคนเฉยๆ เงียบ ไม่ชอบพูดเล่นกับคนที่ไม่สนิท เราออกสนามกันก็เลยนั่งติดกัน เป็นโอกาสดีที่ผมถือจังหวะนี้สอบถามความรู้ต่างๆเกี่ยวกับสังคมลาวจากคำ..
เนื่องจากคำมีภาษาอังกฤษดี จึงได้ทำงานกับองค์กรต่างประเทศ ที่เข้ามาช่วยเหลือลาวมากมาย เขาเล่าให้ฟังหมด หากคนที่ไม่รู้จักกันก็อาจจะกล่าวว่า อีตานี่ขี้โม้จัง คำเตรียมแบบสำรวจชุมชนเข้าพื้นที่เพื่อ pretest ผมได้ดูแล้วก็เก็บความเห็นไว้ในที่ประชุม โดยรวมก็ใช้ได้
แขนงชลประทานนครหลวง เป็นตำแหน่ง เหมือนเจ้าหน้าที่ชลประทาน ชื่อ บุญ เป็นคนพาเข้าพื้นที่เพื่อให้คณะและ คำ Pretest แบบสำรวจนั้น ผมเองก็เดินเก็บสภาพทั่วไปของชุมชน ก็เหมือนหมู่บ้านภาคอีสานทั่วไป มีร้านค้าแบบชาวบ้าน ในรั้วรอบบ้านก็มีพืชผักสานครัวเกือบทุกหลังคาเรือน มีพ่อค้าเร่มาขายของกินของใช้ใส่รถปิคอับเก่าๆบ้าง ใส่ท้ายมอเตอร์ไซด์บ้าง…
ผมไปนั่งฟัง คำ สำรวจข้อมูลชาวบ้าน ไปผมก็จดบันทึกไปและตั้งคำถามในใจหลายต่อหลายเรื่อง แต่คนที่ทำงานสำรวจข้อมูลนั้นจะไม่ไปถามขัดที่ คำ กำลังเป็นผู้ถามหลัก ยกเว้น คำถามนั้นจะสอดคล้องกับสาระที่ผู้ถามหลักถามอยู่ และไม่ได้ฉีกประเด็นออกไป เพื่อให้การสอบถามไหลรื่นไปตามผู้สำรวจหลัก แม้ว่าเราอยากจะรู้อะไรมากมายก็ต้องปล่อยให้เขาดำเนินการไปจนสิ้นสุดก่อน นี่เป็นความเข้าใจพื้นฐานของคนทำงานสำรวจแบบมีส่วนร่วม
แพะ ที่นี่นิยมเลี้ยงแพะกัน เหมือนวัวเหมือนควาย และบ่อยครั้งเราจะเห็นแพะมาเดินบนถนนที่เราขับรถผ่านจนเกิดอุบัติเหตุก็มีบ่อยๆ
ระหว่างทางเดินเข้าหมู่บ้านนั้น ผมถาม คำ ว่า ทำไมนิยมเลี้ยงแพะ คำ ตอบว่า อาจารย์ เนื้อเพาะอร่อย คนที่นี่ชอบมากกว่าเนื้อควาย แม้วัว เหตุผลที่สำคัญประการหนึ่งคือ แพะตัวเล็กกว่าวัว ควายเยอะ ขนาดพอดีที่จะซื้อไปฆ่าเอาเนื้อพอดีกับขนาดครอบครัว หรือวงเพื่อนฝูงที่มาสังสรรค์กันที่บ้าน ไก่ก็เล็กไป วัว ควายก็ใหญ่ไป แพะกำลังพอดี ราคาตัวละ 1,000-3,000 บาท กำลังพอดี..
ที่บ้านคำนั้นอยู่ในเมืองเวียงจัน แต่เขาซื้อวัวแล้วให้ชาวบ้านเลี้ยงแบ่งลูกกัน เหมือนคนไทย ที่เรียกว่า จ้างเลี้ยงวัวแบ่งครึ่ง ชาวบ้านบางครอบครัวไม่มีทุนซื้อวัว แต่มีแรงงาน คนพอมีเงินก็ซื้อมาให้เลี้ยงแล้วแบ่งลูกกัน เลี้ยงไปมาเผลอหลายปีก็กลายเป็นวัวฝูง แล้วคนออกเงินก็ขายยกฝูงไปได้เงินก้อน ที่เขาเรียกวัวออมสิน
ระหว่างที่ คำ สำรวจข้อมูล พบว่า หมู่บ้านลาวเปลี่ยนไปใช้รถไถนาเดินตามกันหมดแล้ว นี่คือประเด็นใหญ่สำหรับผมที่ต้องเอาไปคิดต่อในการทำคำแนะนำการพัฒนาพื้นที่ชลประทาน.. แล้วก็มาถึงคำถาม “นายบ้าน” ว่า “บ้านเจ้าทั้งหมู่บ้านนี่มีรถไถเดินตามกี่ครัวเรือน” นายบ้านตอบว่า ร้อยละ 90 มี แล้ว คำ ถามต่อว่า “แล้วมีวัวจั๊กโต๋” มีร้อยป๋าย.. ร้อยสามสิบนี่แหละ คำถามต่อว่า แล้วหมู่บ้านนี้มีควายจั๊กโต๋”
เสียงนายบ้านตอบผมได้ยินชัดเจนว่า “มีโต๋เดียว”
ขณะที่จำนวนรถไถเดินตามเพิ่มมากขึ้นในหมู่บ้าน และควายที่อดีตคือแรงงานหลักในการทำนา และผูกพันกับวิถีเกษตรกรมานานนับร้อยนับพันปี เขาควายเอาไปทำประโยชน์ หนังควายเอาไปทำรองเท้า กระเป๋า มากมาย
ควายกำลังจะสิ้นสุดลงแล้วหรือ..?