ทำไมน้ำไม่ท่วมตัวเมืองขอนแก่น

2562 ความคิดเห็น โดย bangsai เมื่อ 14 พฤศจิกายน 2010 เวลา 21:05 ในหมวดหมู่ เรื่องทั่วไป #
อ่าน: 15579


น้ำท่วมคราวนี้สาหัสจริงๆ สงสารพี่น้องที่ทุกข์เพราะน้ำอย่างหลีกหนีไม่ได้ .. ที่ขอนแก่นก็มีพื้นที่หลายอำเภอถูกน้ำท่วมเหมือนกันแต่ไม่เป็นข่าวมากนัก เมื่อหลายปีก่อนขอนแก่นก็โดนน้ำท่วมนั่นมาจากน้ำฝนที่ตกทางอีสานเหนือ ไหลลงเขื่อนอุบลรัตน์ แล้วลงลำน้ำพอง เขื่อนก็ทนไม่ไหวระบายน้ำออกมามากมาย ท่วมครั้งนั้นปริ่มๆตัวอำเภอเมือง หรือตัวเมืองขอนแก่นทีเดียว บ้านผมต้องเตรียมถุงทรายกันแล้ว โชคดีที่ฝนหยุดตกและเขื่อนลดการระบายน้ำออก

มาคราวนี้ฝนไม่ได้ตกทางอีสานเหนือแต่มาตกอีสานใต้มากมาย น้ำชีล้นฝั่งเข้าท่วมนาสองฝั่งมากมาย แต่ตัวเมืองและที่บ้านผมเฝ้าคอยดูระดับน้ำขึ้น ไปทำงานที่ไหนๆก็โทรถามตลอดว่าน้ำขึ้นถึงไหน เพิ่มขึ้นไหม พบว่าน้ำท่วมบึงอย่างมากก็ 1 เมตรโดยประมาณ พื้นบ้านสูงจากพื้นบึง 4 เมตร ที่รู้เพราะหมู่บ้านที่ผมอยู่เป็นดินถม เจ้าของบ้านบอกว่าเขาถมสูง 4 เมตรจากพื้นบึงทุ่งสร้าง


ผมขับรถตระเวนดูรอบตัวเมืองตามถนนวงแหวน พบว่า ทางตะวันออกของตัวเมืองซึ่งมีระดับต่ำกว่าทางตะวันตก เฉพาะตัวมหาวิทยาลัยขอนแก่นที่เขาเรียกมอดินแดง “มอ” คือที่ดอน ที่สูง หากน้ำท่วมมหาวิทยาลัยละก็ ตึกโรงแรม Pullman คงท่วมไปครึ่งตึกสูงๆ ตัวเมืองทั้งหมดคงมิดน้ำแน่ๆ

ทางราชการเอาดินมาถมตรงวงแหวนที่เป็นทางออกน้ำจากด้านในวงแหวน หมายถึงตัวเมือง หลายแห่งแล้วตั้งเครื่องสูบน้ำเอาน้ำออกนอกวงแหวน ผมกะระดับน้ำที่ต่างกันระหว่างภายนอกกับภายในนั้นประมาณ 1 เมตร ถึง 1.50 เมตร


โชคดีที่ลำน้ำชีด้านใต้ตัวเมืองนั้นอยู่นอกวงแหวน และด้านเหนือตัวเมืองมีลำน้ำพองก็อยู่นอกวงแหวน กล่าวอีกที ถนนวงแหวนล้อมรอบตัวเมืองขอนแก่นไว้ในอ้อมกอด ไม่ให้น้ำล้นลำน้ำชีลำน้ำพองเข้าตัวเองได้ และภายในวงแหวน หรือรอบตัวเมืองนั้นมีบึงธรรมชาติขนาดใหญ่ล้อมรอบที่ตั้งตัวเมืองอีก ทั้งสี่มุมเมืองเลย โดยเฉพาะบึงทุ่งสร้างใหญ่ที่สุดรองรับปริมาณน้ำได้มาก

แรกๆผมสงสัยว่าทำไมได้ยินเสียงเครื่องสูบน้ำทั้งวันทั้งคืน เดาเอาว่าเอนชนใกล้ๆคงสูบน้ำออกจากพื้นที่ของเขา แต่เมื่อไปดูก็เห็น เครื่องสูบน้ำจากกรมชลประทานสามเครื่องกำลังสูบน้ำออกสลับกัน จากในวงแหวนออกนอกวงแหวน


บ้านผมติดบึงทุ่งสร้าง 2 ที่เลือกตรงนี้เพราะหลังบ้านไม่ติดใคร มีอิสระดี เท่าที่อยู่มาสามสิบปีแล้วนี่ไม่มีปัญหาเรื่องขโมยแต่อย่างใด เราทำรั้วสองชั้น ชั้นนอก ลุ่มกว่าก็ทำรั้วลวดหนาม อย่างที่เห็น พื้นบึงต่ำลงไปอีกประมาณ 1 เมตร ตอนนี้น้ำมาปริ่มๆโคนเสาลวดหนาม ซึ่งคาดว่าคงไม่สูงไปกว่านี้แล้ว เพราะน้ำชี น้ำพองถูกระบายออกไปมากแล้ว ที่ขีดแดงด้านบนนั้นคือระดับหลายปีก่อนที่ท่วมมากจริงๆเกือบเข้าตัวบ้านแล้ว น้ำลดเสียก่อน คนทั้งหมู่บ้านโล่งใจกันหมดทั้งที่เตรียมถุงทรายกันนับหลายร้อยถุงไว้แล้ว…

เมื่อดูโครงสร้างตัวเมืองงานก่อสร้างถนนวงแหวนน่ามีส่วนสำคัญในการกันน้ำจากลำน้ำพองและลำน้ำชีไม่ให้เข้าไปภายในวงแหวนซึ่งเป็นตัวเมือง และทางราชการเอาดินมาถมช่องทางเปิด หรือช่องทางเชื่อมภายในกับภายนอกวงแหวน แล้วสูบน้ำออก

เอาปัญหาไปให้ชาวนา โธ่..โธ่….

เรื่องนี้คือเรื่องใหญ่ คราวนี้รอดคราวต่อไปจะเป็นอย่างไร ระยะยาวการออกแบบขยายเมืองคงต้องคิดกันมากขึ้นในเรื่องการเผชิญปริมาณน้ำฝนมากผิดปรกติจะทำอย่างไร…ทุกเมือง ทุกจังหวัด ทุกภูมิภาค…

ไม่ใช่เอาแต่เล็งประโยชน์ทางธุรกิจเฉพาะหน้าอย่างเดียว เห็นว่าหาดใหญ่น้ำท่วมก็เพราะถนนนี่แหละ..แทนที่จะกันน้ำเข้าตัวเมืองเหมือนขอนแก่น แต่กลายเป็นกันน้ำออก น้ำก็ท่วมซิ… สงสารชาวบ้านชาวเมืองที่เสียหายมากมาย…

คิดกันไกลๆหน่อย… บทเรียนครั้งนี้คงตระหนักกันมากขึ้นนะครับ


ควายตัวเดียว

120 ความคิดเห็น โดย bangsai เมื่อ 14 พฤศจิกายน 2010 เวลา 10:05 ในหมวดหมู่ งานพัฒนาสังคม #
อ่าน: 2177

เพื่อนชาวลาวผมตั้งชื่อ “คำ” ให้ใหม่แล้วกัน มีคุณพ่อเป็นอดีตทหารปฏิวัติ บ้านก็อยู่ในเขตสู้รบ เพราะมีเครื่องบินอเมริกัน จากไทยไปทิ้งระเบิดไม่หยุดหย่อน เป็นอันตรายมาก พ่อของคำจึงส่งไปเรียนที่เวียตนามเพื่อความปลอดภัยและเพื่ออนาคตลูก เมื่อคำจบชั้นมัธยมศึกษาก็ได้ทุนไปเรียนปริญญาตรีที่รัสเซีย ทางด้านสังคมวิทยาแล้วก็กลับมาทำงานรับใช้ประเทศ ซึ่งได้รับการปลดปล่อยแล้ว และได้ทุนไปเรียนปริญญาโท ที่มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์บางเขนด้านพัฒนาสังคม ดูเหมือนสนิทสนมกับอาจารย์คนไทยมาก มีโอกาสท่องไปหลายจังหวัดในเมืองไทย

คำ ออกปากตั้งแต่เจอะกันวันแรกๆว่า อาจารย์ ผมเป็นคนพูดตรงๆนะ โผงผางพูดเสียงดัง หัวเราะเสียงดัง ปานฟ้าถล่ม เมื่อเขาออกตัวเช่นนั้นก็ทำให้ผมสนิทสนมกับคำอย่างรวดเร็ว ซึ่งปรกติผมเป็นคนเฉยๆ เงียบ ไม่ชอบพูดเล่นกับคนที่ไม่สนิท เราออกสนามกันก็เลยนั่งติดกัน เป็นโอกาสดีที่ผมถือจังหวะนี้สอบถามความรู้ต่างๆเกี่ยวกับสังคมลาวจากคำ..

เนื่องจากคำมีภาษาอังกฤษดี จึงได้ทำงานกับองค์กรต่างประเทศ ที่เข้ามาช่วยเหลือลาวมากมาย เขาเล่าให้ฟังหมด หากคนที่ไม่รู้จักกันก็อาจจะกล่าวว่า อีตานี่ขี้โม้จัง คำเตรียมแบบสำรวจชุมชนเข้าพื้นที่เพื่อ pretest ผมได้ดูแล้วก็เก็บความเห็นไว้ในที่ประชุม โดยรวมก็ใช้ได้


แขนงชลประทานนครหลวง เป็นตำแหน่ง เหมือนเจ้าหน้าที่ชลประทาน ชื่อ บุญ เป็นคนพาเข้าพื้นที่เพื่อให้คณะและ คำ Pretest แบบสำรวจนั้น ผมเองก็เดินเก็บสภาพทั่วไปของชุมชน ก็เหมือนหมู่บ้านภาคอีสานทั่วไป มีร้านค้าแบบชาวบ้าน ในรั้วรอบบ้านก็มีพืชผักสานครัวเกือบทุกหลังคาเรือน มีพ่อค้าเร่มาขายของกินของใช้ใส่รถปิคอับเก่าๆบ้าง ใส่ท้ายมอเตอร์ไซด์บ้าง…

ผมไปนั่งฟัง คำ สำรวจข้อมูลชาวบ้าน ไปผมก็จดบันทึกไปและตั้งคำถามในใจหลายต่อหลายเรื่อง แต่คนที่ทำงานสำรวจข้อมูลนั้นจะไม่ไปถามขัดที่ คำ กำลังเป็นผู้ถามหลัก ยกเว้น คำถามนั้นจะสอดคล้องกับสาระที่ผู้ถามหลักถามอยู่ และไม่ได้ฉีกประเด็นออกไป เพื่อให้การสอบถามไหลรื่นไปตามผู้สำรวจหลัก แม้ว่าเราอยากจะรู้อะไรมากมายก็ต้องปล่อยให้เขาดำเนินการไปจนสิ้นสุดก่อน นี่เป็นความเข้าใจพื้นฐานของคนทำงานสำรวจแบบมีส่วนร่วม


แพะ ที่นี่นิยมเลี้ยงแพะกัน เหมือนวัวเหมือนควาย และบ่อยครั้งเราจะเห็นแพะมาเดินบนถนนที่เราขับรถผ่านจนเกิดอุบัติเหตุก็มีบ่อยๆ

ระหว่างทางเดินเข้าหมู่บ้านนั้น ผมถาม คำ ว่า ทำไมนิยมเลี้ยงแพะ คำ ตอบว่า อาจารย์ เนื้อเพาะอร่อย คนที่นี่ชอบมากกว่าเนื้อควาย แม้วัว เหตุผลที่สำคัญประการหนึ่งคือ แพะตัวเล็กกว่าวัว ควายเยอะ ขนาดพอดีที่จะซื้อไปฆ่าเอาเนื้อพอดีกับขนาดครอบครัว หรือวงเพื่อนฝูงที่มาสังสรรค์กันที่บ้าน ไก่ก็เล็กไป วัว ควายก็ใหญ่ไป แพะกำลังพอดี ราคาตัวละ 1,000-3,000 บาท กำลังพอดี..

ที่บ้านคำนั้นอยู่ในเมืองเวียงจัน แต่เขาซื้อวัวแล้วให้ชาวบ้านเลี้ยงแบ่งลูกกัน เหมือนคนไทย ที่เรียกว่า จ้างเลี้ยงวัวแบ่งครึ่ง ชาวบ้านบางครอบครัวไม่มีทุนซื้อวัว แต่มีแรงงาน คนพอมีเงินก็ซื้อมาให้เลี้ยงแล้วแบ่งลูกกัน เลี้ยงไปมาเผลอหลายปีก็กลายเป็นวัวฝูง แล้วคนออกเงินก็ขายยกฝูงไปได้เงินก้อน ที่เขาเรียกวัวออมสิน

ระหว่างที่ คำ สำรวจข้อมูล พบว่า หมู่บ้านลาวเปลี่ยนไปใช้รถไถนาเดินตามกันหมดแล้ว นี่คือประเด็นใหญ่สำหรับผมที่ต้องเอาไปคิดต่อในการทำคำแนะนำการพัฒนาพื้นที่ชลประทาน.. แล้วก็มาถึงคำถาม “นายบ้าน” ว่า “บ้านเจ้าทั้งหมู่บ้านนี่มีรถไถเดินตามกี่ครัวเรือน” นายบ้านตอบว่า ร้อยละ 90 มี แล้ว คำ ถามต่อว่า “แล้วมีวัวจั๊กโต๋” มีร้อยป๋าย.. ร้อยสามสิบนี่แหละ คำถามต่อว่า แล้วหมู่บ้านนี้มีควายจั๊กโต๋”

เสียงนายบ้านตอบผมได้ยินชัดเจนว่า “มีโต๋เดียว”

ขณะที่จำนวนรถไถเดินตามเพิ่มมากขึ้นในหมู่บ้าน และควายที่อดีตคือแรงงานหลักในการทำนา และผูกพันกับวิถีเกษตรกรมานานนับร้อยนับพันปี เขาควายเอาไปทำประโยชน์ หนังควายเอาไปทำรองเท้า กระเป๋า มากมาย

ควายกำลังจะสิ้นสุดลงแล้วหรือ..?



Main: 0.019562005996704 sec
Sidebar: 0.048324108123779 sec