จุ กับ จุ้ม

121 ความคิดเห็น โดย bangsai เมื่อ 27 พฤศจิกายน 2010 เวลา 20:19 ในหมวดหมู่ ไม่ได้จัดหมวดหมู่ #
อ่าน: 3015

ผมจำได้ว่าการพัฒนาชุมชนด้วยแนวทางวัฒนธรรมนั้น ท่านพ่อนิพจน์ เทียรวิหาร แห่งสภาแคทอลิคเชียงใหม่เป็นผู้จุดประการขึ้น อันเนื่องจากท่านไปทำงานกับชนเผ่า ปะกาเกอญอในหลายสิบปีที่ผ่านมา การทำงานของท่านศึกษาพฤติกรรม ความเชื่อ การกระทำ วิถีของชนเผ่าไปด้วย พบว่า กิจกรรมต่างๆที่ลงไปทำ ที่ชนเผ่าดำเนินตามวิถีของเขานั้นมีความเชื่อ มีกระบวนการที่สะท้อนว่าเป็นความเชื่อ เป็นวัฒนธรรมของชนเผ่าเข้ามาเกี่ยวข้องมากมาย


ในช่วงเวลาเดียวกันนักพัฒนาองค์กรเอกชนทางอีสานก็สร้างนวัตกรรมด้านนี้ขึ้นมาในเวลาที่ไล่เลี่ยกัน วงสัมมนา การประชุมของงานพัฒนาชนบทก็ต้องมีหัวข้อนี้เป็นหลัก แล้วนักวิชาการใหญ่คือท่าน อาจารย์ ฉัตรทิพย์ นาถสุภา ท่านก็เขียนหนังสือเรื่องเหล่านี้ออกมาหลายต่อหลายเล่มเป็นการยืนยันศักยภาพของหมู่บ้านในมุมของวิถีชุมชน ซึ่งเป็นภาพที่ไม่เคยมีนักวิชาการเขียนตรงๆมาก่อน

แล้วก็เอาแนวคิดลงสู่การปฏิบัติ มากมาย หลากหลายแตกต่างไปตามภูมิภาค ท้องถิ่น เช่น บวชป่า ทอดผ้าป่าต้นไม้ ฯลฯ……รวมต่อไปจนค้นหาปราชญ์ชุมชน อันเป็นการค้นหาศักยภาพในชุมชนต่อๆกันมา ที่เรียกภูมิปัญญาชาวบ้าน

ยืนยันว่าการนำเข้าองค์ความรู้ใหม่ๆจากข้างนอกนั้นแม้เป็นสิ่งจำเป็นเพราะการเปลี่ยนแปลงของสังคม แต่ การค้นหาศักยภาพภายในชุมชนก็เป็นเรื่องที่ไม่ควรละเลย ก้าวผ่าน..

ผมได้ยินคำว่า “จุ้ม” ครั้งแรกในการเข้าทำงานทางอีสานนานมาแล้วแต่ “ไม่คลิก” จนมูลนิธิหมู่บ้านใช้คำนี้มาเป็นแนวทางในการทำงานกับชุมชนที่อินแปง ผมก็สนใจและศึกษาว่าเขาใช้วัฒนธรรมชุมชนเข้ามาทำงานในลักษณะไหนบ้าง

จุ้ม เป็นภาษาถิ่นอีสาน ผมไม่ทราบภาคอื่นเรียกแบบไหน ผมคิดว่าน่าจะมีคำที่มีความหมายใกล้เคียงกันแบบนี้ในทุกภาค แต่เรียกต่างกันและทำกิจกรรมที่อาจแตกต่างกันบ้าง

จุ้ม ในความหมายที่ผมเข้าใจ (หากผิดพลาดกรุณาเพิ่มเติมแก้ไขให้ด้วยครับ) หมายถึงกลุ่มที่มีลักษณะทางธรรมชาติ เหมือนเสี่ยว เหมือนเพื่อนสนิท เหมือนเพื่อนร่วมคอกัน ซึ่งจะมีจำนวนหนึ่งไม่มากมายแต่ก็มากกว่าสองสามคน

การทำกิจกรรมที่เรานำเข้ามาจากข้างนอก หรือชุมชนคิดสร้างขึ้นมาเองก็เลยถือโอกาส อิงจุ้ม ใช้จุ้มเป็นฐานการทำ เพราะจุ้มมีความเป็นองค์กรแบบ Informal structure มีความสนิมสนม รู้ใจกัน ดุด่าว่ากล่าวกันได้เองภายใน ไม่จำเป็นต้องไปสร้างใหม่ ต่อยอดไปจากเดิม ใช้ฐานเดิม


ในลาวที่ผมไปทำงานมานี้มีอีกคำหนึ่ง คือ “จุ” มีลักษณะคล้ายกันแต่ต่างกัน จุอาจจะเรียกอีกคำคือหน่วย หรือ Unit เป็นของดั้งเดิมที่โครงสร้างการปกครองของลาวในปัจจุบันก็เอามาใช้ อาจจะเทียบในเมืองไทยได้ว่า “คุ้ม” หรือกลุ่มบ้านที่มีฐานการนับจากลักษณะทางกายภาพ ภูมิศาสตร์ เช่นตั้งบ้านติดต่อกัน อยู่บนถนนเส้นเดียวกัน ทางเหนือน่าจะเรียก “ป๊อก” ในจุอาจจะไม่ใช่จุ้ม หรืออาจจะใช่ก็ได้

จุ้มกับจุ๊นั้นต่างกันตรงที่ ในความหมายที่พี่น้องลาวระบุคือ “จุ้ม” นั้นเป็น “จุ้มเจื้อ” มีฐานการนับจากลักษณะความสัมพันธ์ที่เป็นเครือญาติ พี่น้องมากกว่าเป็นแค่เพื่อนบ้านที่คอเดียวกัน ซึ่งอาจจะไม่ใช่ตั้งบ้านเรือนในลักษณะที่ติดกัน ทางกายภาพ หรือภูมิศาสตร์ ดังนั้นการนำวัฒนธรรมดั้งเดิมมาใช้ในงานพัฒนานั้น จึงเป็นเรื่องที่จะต้องเข้าใจให้ถึงแก่นแท้ของวัฒนธรรม และผู้เอามาใช้ก็ต้องปรับตัวให้มีลักษณะเป็นคนในด้วย ผมมีความเชื่อส่วนตัวว่า การทำงานพัฒนาอิงวัฒนธรรมนั้นน่าจะเป็นองค์ประกอบหนึ่งของความยั่งยืนด้วย…

แต่ทั้งหมดนี้ผู้ที่สนใจจะเอาไปใช้ต้องไปศึกษาชุมชนของตนเองให้ทะลุปรุโปร่งก่อน มิเช่นนั้นก็เป็นเพียงผู้หวังดี ทั้งหมดนี้ผมเพียงตั้งข้อสังเกตไว้ ยังไม่ได้ทำกิจกรรมที่อยู่บนจุ้ม หรือ จุ หรือทำไปแล้วโดยไม่ได้เข้าใจ..

คนที่ทำงานพัฒนาชุมชนก็สนใจอะไรที่ชาวบ้านชาวเมืองเขาไม่พูดถึงน่ะครับ



Main: 0.058665037155151 sec
Sidebar: 0.16572999954224 sec