AAR นิสิตแพทย์มาสวนป่า

50 ความคิดเห็น โดย bangsai เมื่อ 26 เมษายน 2010 เวลา 18:53 ในหมวดหมู่ การบริหารจัดการประเทศ, งานพัฒนาสังคม #
อ่าน: 3049

เท่าที่ฟังคุณหมอคุยกันถึงนิสิตแพทย์นั้น ดูจะมีแต่เรื่องเรียน สอบ เครียด ปัญหาการเรียนนิสิตแพทย์ ปัญหาหลักสูตรแพทย์ การมองทางออกต่างๆ การคงความเป็นวิชาชีพแพทย์ เกณฑ์ขั้นต่ำของการเป็นแพทย์ ความร่วมมือของทีมอาจารย์ ฯลฯ ล้วนหนักหนาทั้งนั้น ผมฟังแล้วก็หนักหัวไปด้วย…


ในฐานะที่ผมมีเพื่อนเป็นแพทย์หลายคน มีน้องมีพี่ร่วมสถาบันที่ใกล้ชิดกันเป็นแพทย์หลายคน ที่สนิทสนมรักใคร่ขนาดเตะกันได้ก็มี ที่เคยร่วมอุดมการณ์ปฏิวัติสังคมก็มี เมื่อมาทำงานก็ใกล้ชิดวงการแพทย์อันเนื่องมาจากต้องดูแลคุณแม่(ยาย)ที่เข้าๆออกๆ 7 ปี กับโรงพยาบาลทั้งรัฐ ทั้งเอกชนจนพยาบาลร้องอ๋อกันหมดเมื่อเอ่ยชื่อคุณยาย ผมว่าวงการแพทย์นั้นเป็นข้าราชการที่ก้าวหน้าที่สุด มีระบบที่สุด และตื่นตัวทางการเมืองมากที่สุด ทุกครั้งที่มีเรื่องของบ้านเมืองนั้น ต้องมีแพทย์นั่งร่วมโต๊ะให้ข้อเสนอแนะ แก้ปัญหา คัดหางเสือสังคมเสมอ..

แต่ก็ทราบมาว่าแพทย์ที่ “น่าตีก้น” ก็มีไม่น้อยเหมือนกัน ก็เป็นเรื่องปกติของปุถุชน เพราะอาชีพไหนๆก็ย่อมมีคนต่างประเภทกัน แต่เป็นที่ยอมรับกันว่า แพทย์นั้นมีมาตรฐานสูง..


อาชีพแพทย์นั้นเคลื่อนตัวเองตลอดเวลา ผมหมายถึง ปรับเปลี่ยนให้เข้ากับสภาพสังคม ดูจะมากกว่าอาชีพอื่นๆมั๊ง… ดูซิ ทีมอาจารย์หมอพานิสิตแพทย์มาลุยสวนป่าแทนที่จะไปใช้โรงแรมหรูคุยกัน ซึ่งพ่อครูบาฯและอาจารย์แสวงยังบ่นใส่อาจารย์คณะเกษตรศาสตร์เลยว่า ไม่ออกลงสัมผัสดิน นั่งรากงอกอยู่แต่ในห้อง… อันนี้น่าที่จะเป็นวิสัยทัศน์ของผู้บริหารการศึกษาสถาบันนั้นๆ รวมทั้งทีมครู อาจารย์….

โดยส่วนตัวผมไม่ได้คาดหวังว่าการใช้เวลา 2-3 วันที่สวนป่านั้นจะพลิกฟ้าพลิกแผ่นดินให้นิสิตแพทย์เปลี่ยนแปลงไปเฉกเช่น ทีมกลุ่มหมอชนบท หรือหมอเมืองพร้าวในสมัย 14 ตุลา ที่ เอาชนบทเป็นวิถีชีวิตของตัวแพทย์เอง แต่ผมคิดว่า บรรยากาศ การขับกล่อมของทีมวิทยากร การตั้งอกตั้งใจของทีมหมอพี่เลี้ยงหรือทีมอาจารย์หมอ ความยากลำบากบ้างในชีวิตคืออีกบทเรียนที่ความเป็นแพทย์ควรที่จะสัมผัส

ที่เด่นและชอบมากคือ การดึงการเรียนรู้ออกมาจากห้องแล็ป ออกมาจากหนังสือ Text ที่หนาเตอะ ออกจากห้องเรียนที่คุ้นชิน ออกจากบรรยากาศของโรงพยาบาล


ผมจำได้ว่าหลักสูตรการศึกษาในประเทศจีนนั้น ทุกสาขาวิชาก่อนจบจะต้องเข้าไปใช้ชีวิตในชนบทเป็นเวลา 1 ปีเป็นอย่างน้อย ผมสนับสนุนแนวคิดนี้ เพราะนิสิตแพทย์ส่วนใหญ่เป็นคนเมือง และมากกว่าครึ่งของคนในเมืองนั้นถูกเลี้ยงดูมาแบบลูกแก้ว เหมือนไข่ในหิน และประเทศไทยสัดส่วนใหญ่ของพื้นที่และประชากรนั้นคือชนบท เราจะต้องลงไปสัมผัส ไปรับรู้ ไปเรียนรู้ ไปซึมซับ ไปเป็นหนึ่งในวิถีของเขา แล้วย้อนกลับมาร่ำเรียนและใช้ประสบการณ์ในชนบทนั้นๆคิดหาทางว่า “เราจะใช้วิชาชีพแพทย์สร้างสุขภาพชนบทให้ทัดเทียมเมืองได้อย่างไร” ผมว่านิสิตแพทย์มีความเก่งโดยพื้นฐานอยู่แล้ว การนำพา หรือเปิดโอกาสให้เธอเหล่านั้นสัมผัสชนบทอาจเป็นคุณูประการให้เขาเกิดการสร้างสรรค์นวัตกรรมต่างๆออกมาเพื่อสังคมชนบท เพื่อสังคมส่วนใหญ่


ในฐานะที่เป็นประชาชนที่คลุกคลีชนบท ขอชื่นชมคณะอาจารย์แพทย์จากจุฬาทุกท่านที่เฝ้าเติมต่อก่อสร้างคนที่มีคุณค่าเหล่านี้ให้บรรลุเจตนารมณ์ ความเป็นแพทย์เพื่อสังคมสำหรับเธอเหล่านั้นในอนาคต ขอบคุณสวนป่าที่เปิดเวทีแห่งความเป็นธรรมชาติอีกมิติที่นิสิตแพทย์ได้สัมผัสและจะเป็นหน่ออ่อนของการเอ๊ะ..ในที่สุด



Main: 0.013263940811157 sec
Sidebar: 0.04596209526062 sec