จดหมายถึงอ๋อย 3
อ่าน: 732อ๋อย การศึกษาเรื่องการปฏิวัติสังคมนั้น เราถกเถียง แลกเปลี่ยน เราหยิบเอาสภาพสังคมไทยมาวิเคราะห์ เราเชิญวิทยากรคนแล้วคนเล่ามาบรรยายเฉพาะกลุ่มให้ฟัง หลายครั้งเราจัดค่ายศึกษาตามบ้านชาวบ้านกลางสวน ทุ่งนา อาศัยร่มไม้ เป็นลานพูดคุยกัน บ่อยครั้งเราใช้ศาลาวัด วิทยากรบางท่านก็ยืนเคียงคู่กับอ๋อยอยู่ในปัจจุบันนี้
อ๋อย สมัย 14 ตุลา พี่จำได้ว่าใครคนหนึ่งที่ธรรมศาสตร์ เข้าร่วมการชุมนุมมาตลอด ฟังการไฮปารค์ทุกวี่วัน สาระของการพูดนั้นกรอกเข้าสู่สมองซ้ำแล้วซ้ำเล่าจนจิตคิดไปเองว่า “พรุ่งนี้สังคมใหม่จะมาถึงแล้ว” แต่เมื่อออกไปชนบทในวันรุ่งขึ้น มันคนละเรื่องเลย มันมองไม่เห็นเลยว่าชาวบ้านจะเข้าใจในสาระทั้งหมดที่คนขึ้นพูดในที่ชุมนุมนั้น ชาวบ้านเขาพูดอีกเรื่องหนึ่ง มันเป็นหนังคนละม้วนแต่เรื่องเดียวกัน นี่คือความแตกต่างของสังคม นี่คือความแตกต่างของการรับรู้ นี่คือข้อเท็จจริง..
อ๋อย พี่นึกถึงราชประสงค์วันนี้ วันที่แกนนำกระหน่ำใส่รัฐบาล ให้ประชาชนเสื้อแดงฟังวันแล้ววันเล่า มวลชนนั้นก็มีอารมณ์ร่วม.. เชื่อว่าหลายคนในนั้นนึกว่าอีกไม่กี่วันเราจะดีขึ้นแล้ว…. อ๋อยนี่คืออะไรล่ะ เราเรียกปรากฏการณ์เหล่านี้ว่าอะไรดีล่ะ เมื่อเวลาผ่านไปอารมณ์ร่วมนี้จะเปลี่ยนไปเป็นอะไรบ้าง เป็นอะไรก็ไม่สำคัญ สำคัญตรงที่เป็นประโยชน์แก่ประเทศชาติแท้จริงหรือไม่..
อ๋อย สมัยที่พี่เดินสู่ชนบท ยังย้อนระลึกได้ว่า เหมือนถือคัมภีร์เดินเข้าหาชุมชน เพราะเรา “สร้างวินัยในกลุ่ม” ขึ้นมาเอง เหมือนการเริ่มปรับตัวเพื่อเข้าสู่สังคมใหม่ คิดไปเหมือนเส้นทางเดินที่คู่ขนานไปกับหลักการของศาสนา เช่น ลดละเลิกความเป็นส่วนตัว วิจารณ์ตนเองให้มากกว่าวิจารณ์คนอื่น ฯลฯ… ยังขำอยู่เลยเมื่อเวลาเข้าห้องน้ำ ผิวปากเพลงลูกทุ่งลูกกรุง ออกมาก็โดนสามัคคีวิจารณ์ซะน่วมไปเลย พวกเรา สะสมพฤติกรรมใหม่เพื่อเตรียมการเปลี่ยนแปลง.. ศาสนาเน้นการหลุดพ้น แต่การปฏิวัติสังคมเน้นการเปลี่ยนแปลงสังคมไปสู่ความเสมอภาค ภารดรภาพ ประชาธิปไตย ไม่มีชนชั้น ซึ่งเส้นทางนี้หนีไม่พ้นความรุนแรง เพราะสิ่งดังกล่าวนั้นไม่ได้ได้มาด้วยการร้องขอ..แต่..
อ๋อย พี่ๆน้องๆหันหน้าเข้าป่ากันนั้น หลับตาก็นึกภาพออกว่ากรอบความคิด หลักคิด ยุทธศาสตร์ ยุทธวิธี จังหวะก้าว …ถูกพัฒนาขึ้นเมื่อมี พคท.เป็นอาจารย์ใหญ่ให้ อุดมคติเหล่านั้นก็อยู่บนปลายกระบอกปืน และมวลชน ซึ่งใช้ยุทธวิธี ป่าล้อมเมือง แต่พี่คาบคัมภีร์เข้าทำงานกับชาวบ้านพี่ตระเวนจากบ้านนี้ไปบ้านโน้น กินกับชาวบ้านนอนบนบ้านชาวบ้าน คลุกคลีกับเขา เดินเข้าป่า ตามเข้าไปดูกิจกรรมต่างๆของเขา อาจารย์ใหญ่คือชาวบ้าน และการเข้ารับการฝึกอบรมการทำงานพัฒนาชนบทกับโครงการของ ดร.ป๋วย ที่ชัยนาท.. พี่สนุกกับการทำงานมาก ความสนิทสนมกับชาวบ้านใน อ.สะเมิงนั้นเรียกได้ว่า พี่สามารถขึ้นไปกินนอนในครอบครัวต่างๆได้ทั้งหมด ..
อ๋อย มองย้อนหลังไปก็หัวเราะให้กับตัวเอง เราแค่มือใหม่ หากเป็นหมอก็แค่ Intern แต่อาจหาญไปพัฒนาชาวบ้าน แน่นอนสมัยนั้นความก้าวหน้าทางหลักการพัฒนาชนบทยังมีบทสรุปน้อย เราก็แค่ เป็นคนหวังดี และเอาวิทยาการใหม่ๆเข้าไปสู่ชุมชน โดยตั้งเป้าไว้ว่า ให้ชาวบ้านยืนอยู่บนขาของตัวเอง..เรื่องนี้เขียนกันยาวเพราะเป็นบทเรียนการพัฒนาชนบทยุคแรกๆของเมืองไทย..นั่นคือ พ.ศ. 2518
อ๋อย พี่โชคดีที่นักพัฒนาชุมชนสมัยนั้นเกาะกลุ่มกันแน่น เราจึงนัดพบปะกันระหว่างองค์กรกันเสมอ แลกเปลี่ยนประสบการณ์ เรียนรู้ซึ่งกันและกัน โดยที่ไม่เกี่ยวกับตัวองค์กรเลย ทั้งๆที่ ตัวองค์กรน่าที่จะทำหน้าที่นี้ แล้วในที่สุดเราก็เชื่อมกลุ่มเช่นนี้กันทั่วประเทศ แล้วตั้งเป็นชมรมขึ้นมาที่เรียก กป.อพช.
อ๋อย พี่ทำกิจกรรมต่างๆตามหลักการที่สมัยนั้นเรียกกันว่า “ให้ชาวบ้านสามารถยืนบนขาของตัวเองได้” ซึ่งก็เป็นฐานรากความคิดที่พัฒนามาเป็นการพึ่งตนเอง พี่เห็นรายละเอียดของคน ครอบครัว ชุมชน วัฒนธรรม ประเพณี ความเชื่อ วิถีชีวิต การอิงอาศัยธรรมชาติ การปฏิสัมพันธ์ระหว่างคนกับคน คนกับสิ่งแวดล้อมและกับสิ่งเหนือธรรมชาติ เขาไม่รู้อีโหน่อีเหน่อะไรเลยเกี่ยวกับชนชั้น ประชาธิปไตย ความเสมอภาค ภราดรภาพ เขามีแต่พ่อใหญ่แม่ใหญ่ มีหมอพื้นบ้าน มีผู้ทำพิธีกรรม มีพระ มีความเชื่อ..ฯลฯ และทั้งหมดเคารพรักสถาบัน
อ๋อย การปฏิวัติสังคมตามที่ลัทธิมาร์ค เลนิน เหมา กล่าวนั้นล้วนต้องใช้กองกำลังปฏิวัติ และมวลชน ซึ่งก็ต้องมีฝ่ายปลุกระดมเพื่อสร้างมวลชนมากๆ ให้เป็นแนวร่วมในการสร้างพลังไปสู่การเปลี่ยนแปลง แต่วิธีนี้ย่อมต้องมีการสูญเสีย หลายปีที่สะเมิงนั้นความจริงที่พี่สัมผัสนั้นคือ ชุมชนมุ่งมั่นอยู่แค่เรื่องการประกอบอาชีพ แค่นี้ก็หนักหนาสาหัสแล้ว แต่กลุ่มคนชั้นกลางกลุ่มหนึ่งพัฒนาความคิดทางการเมืองนั้นไปไกลแล้ว มีช่องว่างความรู้ความเข้าใจนี้จริงๆ
อ๋อย พี่คิดว่า การปฏิวัติสังคมที่แดงประกาศอยู่นั้น คือ การปฏิวัติของชนชั้นกลางต่างหาก ไม่ใช่ไพร่ คำว่า ไพร่คือชาวบ้านที่เป็นแนวร่วมที่ชนชั้นกลางไปดึงเข้ามา โดยอาศัยฐานการเมืองเดิมของผู้นิยมทักษิณ พี่เชื่อว่า หากการปฏิวัติครั้งนี้สำเร็จ ปัญหายิ่งใหญ่ตามมาคือ คุณจะบริหารจัดการสังคมใหม่ได้อย่างไร พี่ไม่เชื่อว่าหลักการเดิมนั้นจะสามารถนำมาใช้ใน “สังคมนาโน” ยุคนี้ได้ พี่ไม่เห็นด้วยกับการปฏิวัติ ตรงข้ามพี่เชื่อมั่นในการพัฒนาชุมชนแบบค่อยเป็นค่อยไป.. พี่เห็นด้วยกับการพัฒนาประเทศในรูปแบบสมดุล.. พี่เห็นด้วยกับหลักการเศรษฐกิจพอเพียง เพราะประสบการณ์ของพี่ตอกย้ำเช่นนั้น
ที่ประกาศว่าจะปฏิวัติก้าวไปสู่สังคมใหม่นั้น มีแดงที่นั่งฟังนั้นกี่คนที่เข้าใจ และมีสักคนไหมที่ลุกขึ้นมาถามรายละเอียดของสังคมใหม่ว่าหน้าตาเป็นอย่างไร มันไม่ง่ายเกินไปที่จะทำการปฏิวัติสังคมใหม่แต่ไม่มีใครทราบเลยว่าสังคมใหม่นั้นเป็นอย่างไร แค่โค่นอำมาตย์ แล้วไม่ใช่เราจะได้อำมาตย์ใหม่ขึ้นมาหรือ
อ๋อย เมื่อได้อำนาจมาแล้วสาวกแดงทั้งหมดเข้าใจเจตนาจริงๆแล้ว คิดบ้างไหมว่าเขาเหล่านั้นจะคิดอะไรต่อไป สาวกที่เข้าใจว่าตัวเองนั้นคือ “ผู้หลงผิด” เขาจะกลับตัวอย่างไร หากเขาผู้หลงผิดขอกลับเนื้อกลับตัว เขาเหล่านั้นอาจจะหันกระบอกปืนมาทางแกนนำแดงก็ได้ มันไม่จบนะ..
อ๋อย พี่เสียดายพลังสร้างสรรค์ของอ๋อยและทีมงาน ซึ่งจำนวนไม่น้อยทั้งที่เปิดตัวและปิดลับก็คือเพื่อนร่วมอุดมการณ์มาตั้งแต่สมัย 2516 แม้ว่าพี่จะไม่ใช่ผู้อยู่วงใน แต่ภาพที่ปรากฏนั้นพอเข้าใจได้ว่าใครกำลังทำอะไรซึ่งพี่ไม่เห็นด้วย …
…และพี่จะคัดค้าน