สีฝัด…
อ่าน: 24357วันที่ผมกลับไปบ้าน ผมไปนั่งมุมนี้มองดูวัดตูม วัดที่ผมเติบโตเคียงคู่ข้างวัดมาตลอด รั้วบ้านผมติดวัดมีคลองเล็กๆคั่นอยู่ วัดแห่งนี้มีพระมากน้อยแปรเปลี่ยนไปตามช่วงเวลา บางพรรษามีพระเต็มวัด คึกคักมาก บางปีมีแต่หลวงตาเจิมอยู่องค์เดียว
หอระฆังนั่นมีก่อนผมเกิด สมัยเด็กๆผมชอบไปแย่งไม่ตีจากพระเณรที่เจ้าอาวาสมอบหมายให้มีหน้าที่ตีระฆัง ทางวัดได้เงินจากการทอดผ้าป่าจึงเอาเงินมาบำรุงซ่อมแซมแล้วทาสีใหม่
ผมมองไปใต้ถุนกุฏิพระ นั่นคือเรือขึ้นคาน เรือวัดที่พระใช้บิณฑบาตในช่วงน้ำท่วม ผมจำได้มีเรื่องราวมากมายเกี่ยวกับเรือนี้ บางปีเรือล่มพระเกือบจมน้ำมรณภาพ เพราะมีคลื่นจากเรือสินค้าผ่านมา บนเรือวัดนั้นมีพระสององค์นั่งตั้งลำเรือไม่ถูกคลื่นเลยทำให้เรือล่ม บาตรพระจมน้ำหายไป ชาวบ้านมาช่วยพระกันเต็มทั้งหมู่บ้าน เพราะพระมีจีวรพะรุงพะรังไม่สะดวกในการว่ายน้ำ จึงอันตรายมาก
ข้างๆเรือที่ขึ้นคานนั้นคือ “สีฝัด” หรือเรียกสีฝัดข้าว คนในเมืองคนภาคอื่นไม่รู้จัก เพราะเป็นเครื่องมือองค์ประกอบหนึ่งของการทำนาของภาคกลาง ภาคอีสานกับภาคเหนือใช้พัดวีเมล็ดข้าวเพื่อให้เมล็ดข้าวลีบ หรือสิ่งที่ไม่ใช่ข้าวกระเด็นออกไป เมล็ดข้าวหนักกว่าก็จะไม่ปลิวไปไหน แต่ภาคกลางใช้เครื่องสีฝัดเป็นเครื่องมือแยกเมล็ดข้าวออกจากทุกอย่างที่ไม่ใช่เมล็ดข้าว
ผมคุ้นเคยสีฝัดเพราะถูกพ่อใช้ให้ช่วยทุกอย่าง เป็นแรงงานช่วยกันแบกไปวางไว้ในที่ที่เตรียมไว้ ทำหน้าที่ขนข้าวจากกองที่นวดแล้วเอามาใส่เครื่องรับด้านบนของตัวสีฝัด ก่อนจะฝัดเอาฝุ่นละออง ข้าวลีบ ฯลฯ ออกไปจากเมล็ดข้าว จะเหลือเมล็ดข้าวล้วนๆไหลลงมาด้านหน้าของสีฝัด เป็นแรงงานหมุนใบพัดให้เครื่องทำหน้าที่ของมัน การหมุนต้องไม่เบา หรือแรงเกินไป หากเบาไปเศษสิ่งที่ไม่ต้องการก็อาจจะไม่หลุดไปหมด อาจตกมาพร้อมกับเม็ดข้าว เมล็ดข้าวก็มีการปน สิ่งแปลกปลอม ขายไม่ได้ราคา หรือถูกหักสิ่งเจือปน หากฝัดแรงไป เมล็ดข้าวก็อาจจะปลิวไปกับลมที่พัดนั่น ก็เสียหายอีก
ไม่ใช่มีแรงเท่าไหร่ก็ใส่เข้าไป มันมีศาสตร์ มีศิลป์มีองค์ความรู้ของมัน ไม่มีคู่มือ มีแต่สั่งสอนแล้งลงมือทำเลย ติชมกันตรงนั้น ที่คือการเรียนจากการปฏิบัติจริงเด็กชนบทจึงรู้จัก ใครมาเปลี่ยนเมื่อเมื่อยเกินไป เขาก็รู้ว่าจะใช้แรงเท่าไหร่จึงพอเหมาะ
สีฝัดคือเทคโนโลยี แบบง่ายๆ ไม่ซับซ้อน แต่ให้ประโยชน์มาก ทั้งหมู่บ้านไม่จำเป็นต้องมีทุกหลังคาเรือน ขอหยิบขอยืมกันได้ หมดหน้านาก็ล้าง ทำความสะอาด แล้วเอาน้ำมันยางชโลมรักษาเนื้อไม้เอาไว้ใช้งานปีต่อไป ตั้งแต่มีเครื่องไถนา เครื่องนวดข้าว เครื่องฝัดข้าวที่เป็นเครื่องจักรกลที่ใช้น้ำมัน เจ้าสีฝัดก็หมดบทบาทลง กระเด็นมาอยู่ใต้ถุนวัด และหรือไปอยู่ในแหล่งรวบรวมของเก่าเพื่อขาย
จากข้อมูลอาจารย์ goo ทราบว่ามีการซื้อขายเพื่อเอาไปแต่งบ้าน ร้านอาหาร และอื่นๆในราคา 3,500 บาทต่อหลัง เหมือนเครื่องมือโบราณอื่นๆที่กลายเป็นเครื่องตกแต่งไปแล้ว
ไปพบภาพนี้ของอาจารย์วิรัตน์ ที่ g2k จึงขออนุญาตนำมาให้ชมกันครับ
http://gotoknow.org/blog/civil-learning/321493