เบื้องหลัง session บางทรายที่สวนป่า

1644 ความคิดเห็น โดย bangsai เมื่อ 24 เมษายน 2010 เวลา 22:13 ในหมวดหมู่ งานพัฒนาสังคม #
อ่าน: 20745

ได้รับโจทย์จากพ่อครูบาฯว่าจะกระตุ้นอย่างไรให้นิสิตแพทย์รู้จักคิดรักษาคนไปพร้อมๆกับรักษาไข้ในกรณีชนบท

ผมพยายามหาข้อมูลเพิ่มเติมว่า นิสิตแพทย์กลุ่มนี้คือใคร ให้มากที่สุดเท่าที่เวลาและโอกาสจะมีอยู่ โดยการแอบฟังคนโน้นคนนี้คุยกัน โดยเฉพาะกลุ่มหมอพี่เลี้ยงและคุณสุชาดา SCG ที่มาช่วยงานนี้คุยกัน ก็พอได้ภาพคร่าวๆว่าเป็นกลุ่มนิสิตแพทย์กลุ่มพิเศษที่เข้าเรียนแพทย์จุฬาโดยโควตา และต้องออกไปประจำชนบทในท้องถิ่น ที่ผ่านมาหลายคนก็จ่ายเงินเพื่อซื้อตัวออกจากเงื่อนไขดังกล่าวเพื่อก้าวไปข้างหน้า บางคนก็ไปเรียนต่อ… และสภาพปัจจุบันกลุ่มอาจารย์หมอบ่นว่านิสิตแพทย์เรียนหนักมากๆ แต่ละคนจึงไม่ค่อยสนใจอะไรเอาแต่เรียนๆๆๆเพื่อสอบ..และฯลฯ

ช่วงเวลาที่จำกัดผมก็ออกแบบ session ของผมเป็นแบบเบาๆ ง่ายๆ แต่พยายามสะท้อนข้อเท็จจริงให้เขาได้หลักคิดบ้างเท่านั้น ในฐานะที่ผมจบมาทางการศึกษา แต่มาทำงานพัฒนาคนชนบท ก็ออกแบบ session นี้โดย 1) ผมขอกระดาษ a4 แล้วทำตารางสี่เหลี่ยมจัตุรัส ที่มีรูปเล็กๆจำนวน 16 รูป 2) ผมจะต้องแบ่งกลุ่มนิสิตออกสัก 5 กลุ่ม เพื่อให้ทำกิจกรรมร่วมกันโดยการวาดรูปชนบท 3) แล้วให้กลุ่มมา อธิบายงานวาดรูปที่เขาทำ นั้นให้เพื่อนฟัง 4) หลังจากนั้นเป็นการ สะท้อนมุมมองทั้งหมด โดยพยายามโยงให้เข้าโจทย์คือการเข้าใจคนชนบท ในมุมที่แพทย์จะเอามุมมองเหล่านี้ไปใช้ประโยชน์ต่อไปในภายหน้า

กิจกรรมเหล่านี้ผมเล่นมาบ่อยๆ แต่คนละวัตถุประสงค์กัน แต่เครื่องไม้เครื่องมือต้องพร้อมกว่านี้เช่นมีบอรด์จำหรับการเขียนสรุป พื้นที่ติดรูปที่แสดง และ power point ซึ่งผมเตรียมไปบ้าง แต่การจัดสถานที่ต้องออกมานอกห้อง และไม่มีไวท์บอร์ด จึงบกพร่องไปบ้าง ไม่เป็นไร เราทำงานบนความไม่พร้อมตามแนวคิดที่พ่อครูกล่าวบ่อยๆ ได้.. ยืดหยุ่นได้ โชคดีที่ทีมงานอาจารย์แพทย์มีกระดาษ a4 มีสีเทียนกล่องเตรียมมาพร้อมจึงได้ใช้ประโยชน์

1) ผมเริ่มโดยการเอาตารางนี้มาให้นิสิตดู


แล้วถามนิสิตว่าช่วยกันดูว่ามีรูปสี่เหลี่ยมจัตุรัสทั้งขนาดเล็กและใหญ่รวมกันทั้งหมดกี่รูป ทิ้งช่วงเวลาให้นิสิตดูสักพัก จริงๆควรวาดรูปนี้ใหญ่ๆติดไวท์บอร์ดหน้ากลุ่ม แล้วให้ทุกคนพิจารณาดูสักช่วงเวลาหนึ่ง บางคนอาจจะเอากระดาษมาวาดรูปแล้วพยายามนับ หาคำตอบจากโจทย์

เมื่อได้เวลาพอสมควรก็ให้แต่ละคนช่วยกันตอบคำถาม ซึ่งมักพบว่า นับจำนวนได้ไม่เท่ากัน ขาดบ้างเกินบ้าง ซึ่งจริงๆมีจำนวน 30 รูป จริงๆแล้วควรเฉลยโดยการให้แต่ละคนออกมาอธิบายวิธีนับก็ได้ และหาจุดที่ไม่ได้นับ(มองไม่เห็นว่ามันคือรูปสี่เหลี่ยมจัตุรัส) เพื่อให้เกิดการเรียนรู้ในที่ประชุมนั้นว่าจริงๆแล้วมีจำนวนเท่าไหร่แน่ จนทุกคนเห็นพ้องต้องกันหมด เราก็เดินประเด็นต่อไปนี้


ประเด็นของการเรียนรู้ตรงนี้ก็คือ เพราะอะไรคนเราจึงนับจำนวนรูปสี่เหลี่ยมนี้ได้ไม่เท่ากัน ? และสามารถตั้งคำถามอีกมากมายให้เกิดการอภิปรายกันอย่างกว้างขวาง ประเด็นที่สำคัญอีกประเด็นหนึ่งคือ

จากบทเรียนนี้เราพบว่าคำตอบที่ถูกต้องคือ 30 รูป นี่คือข้อเท็จจริง ที่เป็นที่สุด ประเด็นสำคัญ จากบทเรียนเราพบว่า ขนาดเรื่องราวที่เราเห็นกับตา สัมผัสได้ด้วยจักขุสัมผัส โสตสัมผัส อาจจะลุกเดินออกมาดูใกล้ๆ อาจจะเอากระดาษมาลอกโจทย์แล้วลองนับ ก็ยังพบว่า เรานับได้ไม่เท่ากัน ซึ่งนี่คือความจริงในสังคมเรา ทุกอย่างที่เราเห็นนั้น เราเข้าถึงความจริงได้ไม่เท่ากัน แม้รูปธรรมที่เห็นจะจะเราก็เห็นได้ไม่เท่ากัน เรานับได้ไม่เท่ากัน เราเข้าถึงความจริงได้ไม่เท่ากัน ซึ่งมาสาเหตุมากมายของแต่ละคน เบื้องหลังของแต่ละคน เบ้าหลอมของแต่ละคน พื้นฐานของแต่ละคน ประสบการณ์ของแต่ละคน

แล้วเรื่องราวที่เป็นจริงในสังคมนี่ล่ะ….???? แล้วคนที่อยู่ต่อหน้าของเรานี่ล่ะ แล้วคนไข้ที่อยู่ตรงหน้าคุณหมอนี่ล่ะ หมอจะวินิจฉัยอาการอะไรสักอย่างนั้นต้องมีข้อมูลที่มากที่สุด ซึ่งในทางกระบวนการทางวิทยาศาสตร์การแพทย์นั้นมีเครื่องมือช่วยเหลือมากมายที่จะได้มาซึ่งข้อมูลบอกอาการของคนไข้ แต่สาเหตุที่มาของอาการเหล่านั้นก็เป็นเรื่องสำคัญไม่ยิ่งหย่อนกัน…?????

2) ผมทิ้งเรื่องทั้งหมดไว้ตรงนั้นแล้ว เริ่มเรื่องใหม่ แบ่งกลุ่มนิสิตแพทย์เป็น 5 กลุ่ม แล้วเอากระดาษ a4 ให้ แล้วให้โจทย์ว่า แต่ละกลุ่มช่วยกันวาดภาพชนบทให้ได้รายละเอียดมากที่สุดเท่าที่กลุ่มจะทำได้ ให้เวลาสักพักหนึ่ง แล้วให้ตัวแทนกลุ่มออกมาอธิบายรูปที่ตัวเองช่วยกันวาดไปนั้นว่ามีอะไรบ้าง มีความหมายอย่างไรบ้าง ฯลฯ ส่วนมากสนุกครับเพราะความแตกต่างกัน เพราะรูปร่างต่างๆที่เขาวาดลงนั้นมันตลก มันแตกต่าง แต่สาระก็คือ


รูปแต่ละรูปนั้นอธิบายชนบทได้ครบถ้วนมากน้อยแค่ไหน…? ตลอดการเล่นมามักพบข้อเท็จจริงอย่างหนึ่งคือ มักจะมีภูเขาสองลูก มีดวงอาทิตย์ขึ้น มีนกบิน มีกระต๊อบ มีทุ่งนา มีลำธาร มีควาย มีเป็ด ไก่ มีชาวนา บางคนมีมีวัด มีโรงเรียน..ฯ

สรุปเราพบว่า ภาพวาดเหล่านั้นสะท้อนให้เห็นสิ่งที่เป็นกายภาพของพื้นที่มากที่สุด คือสิ่งที่เห็นง่าย สัมผัสได้ง่าย นับได้ง่าย แล้วบางกลุ่มก็ลงลึกไปอีกมีวิถีชีวิต มีสัญลักษณ์สะท้อนวัฒนธรรมบ้าง เช่นวัด โบสถ์ เป็นต้น

ประเด็นหลักที่ต้องการเน้น ให้กลุ่มย้อนกลับไปดูรูปสี่เหลี่ยมที่เรานับมาว่าเราพบว่าบางกลุ่มนับรูปสี่เหลี่ยมได้ไม่ครบข้อเท็จจริง คือ 30 รูป บางคนนับได้ 22 รูป เพราะเขามองไม่เห็นอีก 8 รูป มันเหมือนข้อเท็จจริงที่ซ่อนอยู่เรายังไม่ได้เข้าถึง หรือเข้าถึงไม่ได้ หากไม่รู้คำตอบที่สุดของมันเราก็อาจจะทึกทักเอาว่า ความจริงที่สุดนั้นมีแค่ 22 รูปเท่านั้นทั้งๆที่จริงๆมี 30


แต่เรามักพบว่าสิ่งที่ขาดไปจากรูปที่วาดคือ เรื่อง ความสัมพันธ์ระหว่างคนกับคน คนกับสิ่งแวดล้อม และที่ขาดมากที่สุดคือคนกับสิ่งเหนือธรรมชาติ คือความเชื่อ ต่างๆของหมู่บ้าน ชุมชน ท้องถิ่น ชนเผ่าฯ (อย่าไปเบรมนิสิตว่าเขาบกพร่อง เป็นเพียงการช่วยกันสะท้อนบทเรียนเท่านั้น)

3) สรุป โดยปกติเรามักจะเข้าถึงความจริงทั้งหมดไม่ได้อย่างทันที ต้องใช้เครื่องมือ ใช้ประสบการณ์ ใช้มุมมองที่ฝึกฝนมา ใช้ตัวช่วย ใช้…….เพราะไม่มีใครเข้าถึงความจริงของคนเพียงหนึ่งคนได้ทั้งหมด ยิ่งเป็นครอบครัว ชุมชน ท้องถิ่น ฯ แต่การยับยั้งชั่งใจ การตั้งสมมุติฐาน การค้นคว้าหาข้อเท็จจริงเรื่อยๆ สร้างฐานข้อมูลที่ครบถ้วนให้มากที่สุดเท่าที่ความจำเป็นควรจะมี ฯลฯ ข้อมูลเหล่านั้นมีส่วนสำคัญในการช่วยให้นักพัฒนาเข้าใจมากขึ้น เข้าถึงข้อเท็จจริงมากขึ้น ตัดสินใจถูกต้องมากขึ้น ในมุมมองของแพทย์ ข้อมูลบุคคลหากมีมากที่สุดช่วยให้คุณหมอวินิจฉัยโรคได้ถูกต้องมากขึ้น…?

แต่หลายเรื่องมันไม่ง่ายนักของการได้มาของข้อมูล เช่น ความเชื่อต่างๆ หรือ วัฒนธรรมการบริโภคของคนบางชุมชน บางชนเผ่า บางท้องถิ่น ที่เหมือนเป็นรูปสี่เหลี่ยมที่เรานับไมได้ เหมือนมันซ่อนอยู่ที่เรามองไม่เห็น สัมผัสไม่ได้ หากไม่มีระบบข้อมูลป้อนให้ หรือเราไม่ sense เราไม่ตระหนัก เราฉาบฉวย เราไม่ฉุกคิด เราไม่เอ๊ะ เรา..ฯลฯ

มีเรื่องราวมากมายที่เกิดขึ้นในสังคมที่มีเหตุมาจากเรื่องนี้


นอกจากนี้แล้วชนบท คนชนบทยังมีบริบทที่คนเมืองเข้าใจผิดพลาดมาก็เยอะ เช่น ภาษาถิ่น ยิ่งคนชนบทนั้นมีภาษาของเขา มีสำนวนของเขา มีบริบทการสื่อสารของเขาเอง.. คนเมืองย่อมเข้าใจคลาดเคลื่อนได้ ยิ่งคนที่ไม่คุ้นเคยกับชนบท บริบทของภาษาถิ่นย่อมรับทราบสำนวนคำตอบของชาวบ้านที่ผิดพลาดได้ แค่คำถามของคนเมืองบ่อยครั้งชาวบ้านก็ไม่เข้าใจ …. ฯลฯ สิ่งเหล่านี้คือจุดเปราะบางที่ทำให้เราเข้าไม่ถึงความจริงทั้งหมดได้ หากไม่ตระหนัก ไม่เข้าใจ และไม่พยายามทำความเข้าใจ ไม่พยายามสร้างระบบที่จะก่อให้เกิดความเสี่ยงน้อยที่สุด ฯลฯ

จากดังกล่าวทั้งหมด นักกระบวนกร สามารถที่จะให้เทคนิคของตัวเองเปลี่ยนวัตถุประสงค์ไปใช้ในสาระอื่นๆได้ตามการสร้างสรรค์ของกระบวนกร และใช้เทคนิคเฉพาะตัวสร้างสรรค์การเรียนรู้ได้มากกว่าที่กล่าวมาทั้งหมดมากมาย


สะท้อน กรณีนิสิตแพทย์ที่สวนป่า

- นิสิตแพทย์ตอบคำถามเรื่องรูปสี่เหลี่ยมได้ดี ตอบจำนวนได้ถูกต้อง ซึ่งหลายครั้ง หลายกลุ่มไม่มีใครตอบถูกเลย ข้อสังเกตว่านิสิตแพทย์เก่งในเรื่องเหล่านี้ค่อนข้างมากกว่ากลุ่มอื่นๆ

- สาระภาพรวมทั้งหมดนั้น นิสิตมีพื้นฐานมาก่อนแล้วเพราะบางคนตอบว่า เคยเรียนเรื่องเหล่านี้มาแล้ว จึงเข้าใจได้…??

- นิสิตมีคำอธิบายภาพได้เป็นเรื่องราวได้ดีสมควร แต่ก็น้อยไปในเรื่องที่กล่าวมาข้างต้นคือความสัมพันธ์คนกับคน คนกับสิ่งแวดล้อมและคนกับสิ่งเหนือธรรมชาติ เพราะน้องๆเหล่านี้ส่วนใหญ่เป็นคนเมือง ได้ถามบางคนที่เป็นเด็กอีสานว่ารู้จักเจ้าปู่ หรือปู่ตาไหม เธอบอกว่าไม่รู้จัก จริงๆ ปู่ตาคือศาลเจ้าที่ประจำชุมชนที่ชาวบ้านเคารพนับถือ มากน้อยแตกต่างกันไป บางชุมชนนับถือมาก ใครจะเข้าจะออกจากหมู่บ้านก็ต้องไปกราบไหว้ รวมไปถึงยามเจ็บไข้ได้ป่วย หรือการรักษาโรคภัยไข้เจ็บด้วย..

- บรรยากาศ อาจจะกร่อยไปหน่อยเพราะ ขาดเครื่องมือที่ผมมักใช้คือ ไวท์บอร์ด กระดาษร่างแบบ ที่ช่วยให้เกิดการบันทึก การเขียนความคิดเห็นลงไป ยิ่งในช่วงระดมความคิดเห็น ควรที่จะบันทึกลงในกระดานหน้าชั้นให้ทุกคนเห็นมากกว่าการพูดเพียงอย่างเดียว

- ฯลฯ อาจจะมีเพื่อนๆช่วยสะท้อนเพิ่มเติมได้ครับ




Main: 0.023603916168213 sec
Sidebar: 0.04625415802002 sec