ที่นี่ห้ามจำหน่ายสินค้า

1156 ความคิดเห็น โดย bangsai เมื่อ 16 สิงหาคม 2010 เวลา 19:26 ในหมวดหมู่ งานพัฒนาสังคม #
อ่าน: 16661

ผมเคยเห็นสถานที่ราชการและเอกชนหลายแห่ง ติดประกาศไว้ที่ประตูห้องทำงานว่า “ห้ามขายสินค้า” หรือ “ห้ามนำสินค้ามาจำหน่าย” คงมีหลายเหตุผลที่สถานที่นั้นทำเช่นนั้น และเป็นสิทธิที่สถานที่นั้นๆจะทำได้

ที่ทำงานผมเราไม่ได้ทำเช่นนั้น จึงมีคนหลากหลายเอาสินค้ามาขาย ทั้งขาประจำและขาจร รวมไปทั้งมูลนิธิ กลุ่มองค์กรการกุศลที่มาหาผู้สนับสนุน

ส่วนมากน้องๆทีมงานจะเป็นลูกค้าประจำ ประเภทเครื่องดื่มเสริมสุขภาพ นานๆก็เลี้ยงไอติมกันบ้าง บางวันชาวบ้านเอาถั่วลิสงต้มมาขาย ไปจนถึง อาหารสำเร็จรูปต่างๆ

มันเป็นการขายเชิงรุก ที่ชาวบ้าน หรือนักธุรกิจด้านนี้ทำกันโดยทั่วไป คือเดินไปหาลูกค้าเลย ไม่ต้องนั่งคอยให้ลูกค้าเดินมาหา

มีเรื่องราวเยอะเกิดขึ้นเกี่ยวกับ พ่อค้า แม่ค้ากลุ่มนี้ เช่น

ไอสครีมยี่ห้อหนึ่ง มาถึงใกล้ๆเที่ยงก็จะเปิดเพลงมาแล้ว และเปิดทีไร ไอ้โบ้ หมาที่สำนักงานก็จะหอนทันที และวิ่งไปต้อนรับ เพราะ ไอ้โบ้มักได้กินไอสครีมฟรี บ่อยๆ ทั้งคนขายให้เอง หรือเจ้าหน้าที่สำนักงานสงสารไอ้โบ้ ก็ซื้อให้

แม่ค้าขายอาหารสำเร็จรูปท่านหนึ่ง เสียงดัง ฟังชัด พูดจาโผงผาง ไม่เกรงกลัวใคร ทีมงานก็เป็นลูกค้าประจำ หลังๆมาหายหน้าไป เด็กที่ทำงานบอกว่า เจ๊แกข้ามโขงไปที่บ่อนคาสิโนฝั่งสะหวันนะเขตนั่นประจำ ผมเองก็งง ว่าแม่ค้ามาเดินขายอาหารนี่นะ ไปเล่นการพนันที่บ่อนคาสิโนฝั่งลาว…

เด็กหนุ่มเอาแผ่นซีดีหนังดังๆหลายร้อยเรื่องมาขาย หากเดินเข้าหาเป้าหมายเป็นผู้ชายก็จะแอบ หยิบหนัง rate X เสนอทันที..

มูลนิธิหนึ่งมาขอรับบริจาคเงินเพื่อซื้อโลงศพบ้าง ผ้าขาวบ้าง..เราก็บริจาคทุกครั้ง แต่น้องๆตั้งข้อสงสัยว่า พี่..มันจริงๆหรือเปล่า หรือมันเป็นแก๊งต้มตุ๋น….ม่ายรุ…

มาแปลกสุดเมื่อสัปดาห์ก่อน ผมนั่งทำงานเพลินๆมีเสียงเดินเข้ามาที่ประตูห้องทำงานรวมซึ่งเปิดเป็นปกติอยู่แล้ว …ซื้อเครื่องดื่มสุขภาพไหมครับ.. สำเนียงมันเป็นฝรั่งพูดไทยนี่ ผมเงยหน้าดู จริงๆด้วย ฝรั่งสูงโย่งโก๊ะ ในชุดพนักงานขายเครื่องดื่มบริษัทหนึ่ง หิ้วถุงเครื่องดื่มมาขาย.. เมื่อไม่มีใครซื้อเขาก็ยิ้มๆแล้วพูดว่าขอบคุณครับ แล้วก็เดินออกไป

ถัดจากนั้นไม่กี่วัน ผมก็พบเขาและสตรีอีกท่านหนึ่งในชุดพนักงานขายสินค้าเช่นเดียวกัน ขับมอเตอร์ไซด์ คงจะเดินทางไปขายตามปกติ

เขาทั้งคู่น่าที่จะเป็นสามีภรรยากัน และมาทำงานนี้ด้วยกัน

ผมแอบชื่นชมเขาทั้งสองที่มาทำงานเช่นนี้ ผมไม่มีโอกาสได้คุยส่วนลึกๆของการเดินเข้ามาทำอาชีพนี้ แค่เอาภาพพื้นๆมามองกันเท่านั้นเอง


มองปัจจุบันเห็นอดีต..สะเมิง

604 ความคิดเห็น โดย bangsai เมื่อ 14 สิงหาคม 2010 เวลา 20:56 ในหมวดหมู่ งานพัฒนาสังคม #
อ่าน: 14030

มาย้อนอดีตสะเมิงกับครอบครัว

ต.สะเมิงใต้ ต.สะเมิงเหนือ ต.แม่สาบ

นอนที่แสงอรุณรีสอร์ท บ้านแม่แพะ

อาบน้ำแร่ร้อนที่บ้านโป่งกว๋าว

ถนนเส้นนี้อดีตเป็นลูกรัง

เราใช้มอเตอร์ไซด์ผ่านฝุ่นและโคลนมา 5 ปี

มีเรื่องราวมากมายที่พบ..


ฝนฟ้า นาข้าว..

14 ความคิดเห็น โดย bangsai เมื่อ 10 สิงหาคม 2010 เวลา 22:20 ในหมวดหมู่ งานพัฒนาสังคม #
อ่าน: 2557

ขอลอก Freemind หน่อยนะ คือว่า บันทึกยาว เพราะกระชับพื้นที่ไม่ได้ อันตรายหากฝืนอารมณ์อ่าน ..แค่บันทึกเก็บไว้เฉยๆ..

ใครเคยไปเที่ยวนครเวียงจันทร์ช่วงฤดูฝนก็จะเห็นความแตกต่างจากกรุงเทพฯมหานครอย่างน้อยก็หนึ่งอย่างคือ ใจกลางนครเวียงจันทร์ยังทำนาติดกับตึกรูปทรงฝรั่งเศสเลย ผมไม่ได้ไปนานแล้วไม่ทราบว่าเปลี่ยนแปลงเป็นตึกไปหมดหรือยัง หากมาดูกรุงเทพฯนั้น ในอดีตน่าจะเป็นเช่นนั้น ปัจจุบันที่นากลายเป็นเงินทองมหาศาล แปรเปลี่ยนเป็นอาคารพานิชไปหมดแล้ว มีแต่รอบนอกเท่านั้นที่ยังมีการทำนาอยู่บ้าง เพราะสังคมเราเป็นเกษตรกรรม


ยิ่งนครเวียงจันทร์ ความเป็นสังคมเกษตรกรรมยังมีมาก ผมเคยทราบว่าข้าราชการรับราชการแล้วก็ต้องทำนาด้วย คุณครู อาจารย์ ก็ต้องทำนา ไม่งั้นรายได้ไม่พอกิน… สมัยผมเด็กๆ พ่อเป็นครูใหญ่ ก็ต้องทำนาด้วยเหมือนกัน จำได้ว่าช่วงฤดูทำนาเคยเรียนครึ่งวัน แล้วครูๆทั้งหมดก็กลับไปรีบทำนา.. เดี๋ยวนี้ไม่มีแล้ว ครูอยากทำนาด้วยก็ต้องจ้างแรงงาน เพราะระเบียบราชการไม่อนุญาตให้ทำเช่นอดีต

แตง แม่บ้านสำนักงานผม และ พิลา พนักงานขับรถผม บ้านยังทำนา เขาลาหยุดช่วงนี้ประจำเพราะต้องไปไถนา ดำนา แม้รับจ้างช่วงวันหยุดก็ทำ เพราะค่าจ้างเดี๋ยวนี้วันละ 200 บาทขึ้นไปแล้ว ผมอนุญาตให้เขาไปทำนาได้เต็มที่ เพราะเข้าใจวิถีชีวิตเขา เงินเดือนไม่สูง รายจ่ายมาก ก็ต้องทำนากิน และรับจ้างดำนาตามโอกาส รถนั้นผมขับเองได้


สำหรับพิลานั้น พิเศษหน่อยเพราะเขาทำนาอินทรีย์ ที่เอาความรู้ไปจากการที่เราไปอบรมชาวบ้านในพื้นที่โครงการ เขาก็แอบฟัง แล้วเอาความรู้ไปใช้จนได้ผลขึ้นมา และข้าวอินทรีย์ของเขาขยายในเครือญาติ และเริ่มกระขยายสู่เพื่อนบ้านแล้ว หลังจากรีรอมาหลายปีเพื่อให้แน่ใจว่า เออ ดีจริง.. นี่คือชาวบ้าน.. ทางภาคเหนือเรียกว่า..”ถ้าผ่อ” หรือรอดู หากดีจริงก็ค่อยทำตาม นักพัฒนาหลายคนก็ใช้สูตร..ค้นหาชาวบ้านที่ “หัวไวใจสู้” .. แล้วสนับสนุนให้ทำกิจกรรมนำร่อง..เมื่อได้ผลแล้วชาวบ้านอื่นๆจะทำตาม

ปีนี้แตง เล่าให้ฟังว่า นาเสียหายมาก เพราะ ฝนไม่ตกตามฤดูกาล กะไม่ถูกว่าจะมาเมื่อไหร่ ทิ้งช่วงเมื่อไหร่ ฝนหนักๆจะมาเมื่อไหร่ ไม่เหมือนอดีต ที่จะมีความสม่ำเสมอมากกว่าปัจจุบัน


ชาวนาไม่รู้ว่าควรตกกล้าข้าวเมื่อไหร่ถึงจะพอดี เพื่อป้องกันไว้ก่อนก็ตกกล้าตั้งแต่ต้นฤดู พอมีฝนลงมาบ้างก็แบ่งเอาไปดำนา นาไหนที่น้ำไม่เพียงพอก็รอฝนไปก่อน รอไปรอมาฝนก็ไม่มาสักที กล้าข้าวก็เลยอายุที่ควรจะเอาไปปลูก ชาวนาบางคนก็ ตกกล้าใหม่ครั้งที่สอง แล้วก็นั่งรอฝนอีก… เมื่อฝนมาก็เอาไปปลูก หลายครอบครัว กล้าหมด ไม่เพียงพอ ก็ต้องไปขอจากญาติพี่น้อง หรือไปซื้อมาจากคนอื่น หมู่บ้านอื่น หากไม่มี หรือหาไม่ได้ นาแปลงนั้นก็ทิ้งร้างไปสำหรับปีนี้ ผลกระทบชัดเจนคือ จำนวนพื้นที่ที่ได้น้ำได้ข้าวนั้นไม่เพียงพอที่ผลผลิตจะเก็บไว้กิน ยิ่งต้นกล้ามีอายุไม่เหมาะสมช่วงปลูก และหรือโดนน้ำท่วมช่วงฝนตกหนัก ก็กระทบต่อความสมบูรณ์ของต้นข้าว กระทบต่อปริมาณผลผลิตอีก

เดือนนี้หากใครไม่ดำนาอีก ก็หมดโอกาสแล้วสำหรับนาข้าวปีนี้ เพราะเลยช่วงเหมาะสมในการทำนา

การทำนานั้นไม่ใช่เรื่องง่าย ชาวบ้านจะรู้ว่านาตัวเองอยู่ในภูมินิเวศที่ลุ่ม หรือ ลุ่มสลับดอนหรือที่ดอนน้ำท่วมถึง หรือที่ดอนน้ำไม่ท่วม หรือที่สูง เพราะต้องตัดสินใจเลือกพันธุ์ข้าวที่เหมาะสมกับสภาพพื้นที่นั้นๆ(ป้าจุ๋มรู้ดีกว่าผม) แต่ปัญหาคือ กล้าข้าวไม่พอเพราะเหตุการณ์ดังกล่าว คือความแปรปรวนของดินฟ้าอากาศ


ผมเคยศึกษาคร่าวๆที่จังหวัดชัยภูมิว่า ชาวนามีกระบวนการตัดสินใจอย่างไร เมื่อดินฟ้าอากาศแปรปรวน หากฝนดีน้ำดี ในนาลุ่มก็ดำนาตามปกติ เมื่อฝนมาบ้างไม่มาบ้าง น้ำไม่ท่วมแปลงนา และเวลาล่วงเลยมาหลานเดือนแล้ว ชาวนาต้องตัดสินใจทำอะไรสักอย่าง หากนั่งรอฝนก็เสี่ยง จึงตัดสินใจทำนาหยอด เอาไม้แหลมมาสักที่นา มีคนเดินตามหลังเอาเมล็ดข้าวหยอดลงหลุม แล้วเอาเท้าเหยียบกลบ และหากปล่อยไปอีกก็เสี่ยงครั้งสุดท้าย หยอดก็ไม่ได้ แต่ก็อยากเสี่ยงจึงตัดสินใจหว่าน หากมีฝนมาก็ดีไป หากฝนทิ้งช่วงอีก ก็แทบไม่เหลือข้าวไว้กิน ปีนั้นเตรียมลงไปหางานทำในเมืองได้แล้ว…

อาชีพทำนาในเขตน้ำฝน ก็ขึ้นกับฟ้าฝน ที่นาในเขตชนประทานก็นั่งยิ้มได้บ้าง แต่เมืองไทยมีพื้นที่ชลประทานไม่ถึงร้อยละ 10 (นี่ตัวเลขหลายปีแล้ว) หมายความว่าเกษตรกรมากกว่าร้อยละ 80 ต้องเผชิญโชคชะตากับฟ้าฝน


และทั้งหมดนี้ก็กระทบต่อการทำกิจกรรมเพื่อ “การพึ่งตนเอง” ของโครงการด้วย เมื่อข้าวไม่พอกินเพราะดินฟ้าอากาศ… ก็จำเป็นต้องหาเงินไปซื้อข้าว ก็ต้องมุ่งทำกิจกรรมที่สามารถทำเงินได้ ในวงจรชีวิตชาวบ้านนั้น มีแต่มันสำปะหลังเท่านั้นที่เป็นพืชหลักประกันการมีข้าวกิน….เมื่อไม่มีข้าวก็ไปขุดมันขาย แม้ว่าจะยังไม่ได้อายุครบกำหนดก็ตาม ก็ขุดเอาไปขายเอาเงินมาซื้อข้าว..

แตง บอกผมว่า ช่วงทำนานั้น บางครอบครัวข้าวเก่าที่เก็บเอาไว้กินจากปีก่อนเริ่มลดลง หรือบางครอบครัวก็หมดแล้ว รอข้าวใหม่.. แตงบอกต่อว่า อาจารย์..เมื่อคืนก่อนมีการ “ขโมยมันฯ” ในสวนไปขายกันแล้ว เพราะมันฯราคาดี เขามาขโมยกลางคืน ไปขุดเอาจากสวนมันเลยเป็นคันรถเลย..

นี่คือชีวิตชาวนาที่มีแต่ความเสี่ยง จริงๆผมอยากทบทวนงานพัฒนาที่ทำกันจริงๆ อย่ามานั่งเขียนรายงานสวยๆกันเลย…


เยือนถิ่นเก่า

1039 ความคิดเห็น โดย bangsai เมื่อ 9 กรกฏาคม 2010 เวลา 21:57 ในหมวดหมู่ งานพัฒนาสังคม #
อ่าน: 16429

คราวที่ขึ้นไปเชียงใหม่ทำภารกิจส่วนตัว หลังจากจัดการเรียบร้อยแล้วพอมีเวลาก็ขับรถไปเยือนถิ่นเก่าสะเมิง ที่เป็นทำงานพัฒนาชนบทครั้งแรก หลังจากเรียนจบก็มุ่งสู่ชนบท ขณะที่เพื่อนๆเข้าป่ากันหมด นั่นมันปี 18 อิอิ


สมัยนั้นถนนเป็นลูกรัง ไม่ราบเรียบ เราต้องใช้มอเตอร์ไซด์วิบาก ขับขี่จากเชียงใหม่ แม่ริมขึ้นยอดเขา ตรงนี้ เราก็จะพักรถ และยืนดู อ.สะเมิงเบื้องหน้าโน้นที่อยู่ในหุบเขา

เนื่องจากเรามีเวลาน้อยจึงพยายามไปไม่เปิดเผยตัวเอง ไม่แวะไปหาใครต่อใครที่เรารู้จัก อยากดูการเปลี่ยนแปลงของพื้นที่

แทบไม่เหลือคราบไคลสะเมิงในอดีตเลย ทุกอย่างขยับตัวตามสภาพเมือง ไปหมดแล้ว สมัยปี 18 นั้นทั้งอำเภอไม่มีธนาคาร ต้องมาใช้ธนาคารที่ อ.แม่ริม หน้าอำเภอมีร้านอาหารร้านเดียวชื่อป้าเติง สามีท่านเป็นจ่าตำรวจ เราฝากท้องไว้ที่นี่ หรือไม่ก็ชาวบ้าน หรือไม่ก็ทำเองบ้าง

วัดทรายมูล ห่างจากตัวอำเภอสองกิโลเมตร ผมเคยมาจำวัดที่นี่คราวที่บวชแล้วตั้งใจเอาผ้าเหลืองมาให้ญาติโยมในพื้นที่ได้เห็นก่อนที่จะสึกที่วัดเจดีย์หลวง สมัยนั้นวัดทรายมูลเป็นแต่วัดในหมู่บ้านเก่าๆ มีแต่กระต๊อบชาวบ้านที่มีน้ำใจล้นเหลือ

วัดท่าศาลานี่ก็มีความทรงจำลึกซึ้ง เราใช้ระเบียงข้างศาลาวัดเป็นที่ประชุมชาวบ้านสารพัดเรื่อง วันแล้ววันเล่า ทั้งกลางวันกลางคืน โบสถ์หลังที่เห็นแห่งนี้เราก็เคยใช้เป็นที่ประชุมมาก่อน สมัยนั้นหลังคายังเป็นไม้แป้น เมื่อวัดรื้อออกเราขอซื้อเพื่อกะจะเอาไปสร้างบ้าน ชาวบ้านบอกว่า ของวัดทั้งหมดไม่ควรเอาเข้าบ้าน ไม่ว่าจะมีกำลังซื้อหรือถือวิสาสะ หรือขโมยไปก็ดี “มันขึ๊ด”

มีเรื่องราวมากมายที่เรามีกับสถานที่แห่งนี้ นึกถึงแล้วเราก็ต้องน้ำตาคลอเพราะทั้งหมดนั้นคือความผูกพันที่เรามีกับชาวบ้าน มีกับพื้นที่ มีกับท้องถิ่นแถบนี้

สะเมิงคือหุบเขามีที่ดินน้อย อาชีพหลักคือข้าวเพื่อบริโภค กระเทียม หอมแดงและยาสูบ นอกนั้นก็ของป่า สนเกี๊ยะ เปลือกก่อ เปลือกไก๋ สัตว์ป่า ชาวบ้านจำนวนมากปลูกยาสูบส่งโรงบ่ม ยาสูบที่นี่เป็นพันธุ์เวอร์จิเนีย ใบใหญ่ มีพ่อเลี้ยงมาตั้งโรงบ่ม ชาวบ้านหลายคนมีความรู้และชำนาญในการทำเตาบ่ม จึงดัดแปลงความรู้เตาบ่มยาสูบมาเป็นเตาอบกล้วย กลายเป็นกล้วยอบเลิศรส กระต๊อบตรงกลางนั่นคือเตาอบกล้วยของอ้ายสมที่ผมรู้จัดท่านดี เพราะเป็นลูกค้าประจำ วันนี้อ้ายสมแก่มากแล้ววางมือให้ลูกหลานทำต่อ

เลยไปหน่อยเป็นบ้าน “ครูอุด” จำชื่อจริงท่านไม่ได้ ท่านเป็นครูที่มีอายุมากแล้วทำหน้าที่สอนเด็กก่อนวัยเรียนและชั้นประถม ควบ เด็กๆรักท่านมาก เราเองก็เชิดชูท่าน ท่านเป็นครูจริงๆ ยามที่ฝนตกน้ำท่วม ท่านถึงกับเดินมาอุ้มเด็กทีละคน ไปเข้าห้องเรียน ครูมีนิทานเล่ามากมายไม่รู้จบไม่รู้สิ้น เด็กๆชอบนิทานครูมาก ท่านยิ้มแย้มรักเด็ก ชาวบ้านบอกว่าท่านเสียชีวิตไปนานแล้ว..

กลุ่มแม่บ้านรุ่นใหม่ ยุคใหม่ พัฒนามาเป็นโอท็อป วิสาหกิจชุมชน เข้าสังกัดราชการที่ตระเวนไปขายสินค้าที่กลุ่มแม่บ้านผลิตออกขายสารพัดอย่าง ตระเวนไปทั่วประเทศที่ราชการชัดชวนไป

ก่อนกลับผมย้อนเข้าไปที่ตัวอำเภอร้านค้าเพื่อซื้อกาแฟสมัยใหม่ ผมพบเณรน้อยองค์นี้ ยืนเหนียมอายที่จะสั่งน้ำดื่มสมัยใหม่สีสวยๆเย็นๆ น่าอร่อย ความเป็นเด็กอยากดื่ม จึงตัดสินใจสั่งน้ำดื่ม ตาก็เหลือบมองผมแบบเขินอาย
ผมเดินไปถามว่ามาจากวัดไหน เณรน้อยบอกมาจากสะเมิงเหนือ ห่างออกไปมากกว่า 20 กิโลเส้นทางบนภูเขาเพื่อมาเรียนหนังสือที่อำเภอ และกำลังจะเดินทางกลับ…

ผมบอกกับตัวเองว่าต้องหาเวลาทั้งสัปดาห์มาตระเวนกราบไหว้ผู้เฒ่า ชาวบ้านที่ให้น้ำให้ข้าวให้ที่นอนให้ความรักให้การปกป้องผม ที่นี่คือถิ่นเกิดทางจิตวิญญาณของผมในงานที่ทำ

ที่นี่ สะเมิง…


มองสังคมป่าไม้เห็นสังคมมนุษย์

376 ความคิดเห็น โดย bangsai เมื่อ 16 มิถุนายน 2010 เวลา 15:02 ในหมวดหมู่ การบริหารจัดการประเทศ, งานพัฒนาสังคม, ทุนสังคม #
อ่าน: 5926

(บันทึกยาวครับ..)

ไปเยี่ยมยามแม่บังเกิดเกล้า ยามเฒ่าแก่ ให้บุพการีชื่นอกชื่นใจแล้วก็เดินทางกลับ ภาระปัจจุบันไปไหนๆได้ไม่นานนัก ก็ดีกว่าไม่ได้ไปเลย แม้ว่าใจอยากจะอยู่กับแม่นานๆ

คนข้างกายมีงานวิจัยประเภท Action Research กับเจ้าหน้าที่กรมป่าไม้หลายชิ้น จึงคุ้นเคยกับบุคลากรกรมป่าไม้หลายท่าน เธอมีคำถามกับเจ้าหน้าที่ป่าไม้ว่า ป่านั้นถูกบุกรุกทำลาย ทำร้ายมากมายทุกหนแห่ง สมัยก่อนที่สมเด็จพระนเรศวรยกทัพไปตีเมืองโน้นเมืองนี้ ต้องบุกป่าฝ่าดงไปนั้น ป่าในอดีตจริงๆเป็นอย่างไรหนอ..? ดร.โกมล แพรกทอง ผู้เชี่ยวชาญป่าไม้กล่าวว่า อยากดูก็ไปที่ ป่าสะแกราช ที่ปักธงชัย นครราชสีมา รอยต่อกับเขาใหญ่ รอยต่อกับพื้นที่วังน้ำเขียว “ที่นั่นเป็นป่าบริสุทธิ์เท่าที่เหลืออยู่ในประเทศไทย” มีโอกาสก็ไปดูซะ…

ทีมงานของคนข้างกายขอร้องไว้ก่อนแล้วว่า ให้ผมพาไปพักผ่อนบ้างหลังลุยเขียนงานใหญ่ๆ สามชิ้น กลัวจะฟุบเข้าโรงพยาบาลอีก เมื่อหันหัวรถออกจากบ้านอ่างทองก็ตั้งเป้าหมายเขาใหญ่ ที่กำลังดังเป็นเป้าหมาย.. เข้าปากช่องเลี้ยวขวาเข้าเขาใหญ่ มีที่พักมากมาย แต่ไม่เอา ใช้เส้นทาง Local Road รอบเขาใหญ่จากปากช่องไปวังน้ำเขียว เป็นถนนเส้นเล็กๆ แต่ธุรกิจรีสอร์ท บ้านพัก สวน ตั้งแต่หรูหราเริ่ด ไปจนแบบชาวบ้านธรรมดา เต็มไปหมดตลอดทาง…

ค่ำพอดีเลยหาที่พักสบายๆข้างทาง ได้ที่พักชื่อ วิลล่า เขาแผงม้า ร่มรื่น สะอาด บริการดี ราคาสมน้ำสมเนื้อต่อคืน อาหารเช้าเพียบ ที่แปลกคือห้องน้ำแบบโอเพ่นแอร์ แต่ปลอดภัย คนงานทำความสะอาดตลอดเวลา สภาพทั่วไปเป็นเนินเขา การเดินขึ้นลงอาจจะไม่สะดวกสำหรับผู้สูงอายุ แต่มีบริการฟรีรถกอล์ฟรับส่งกระเป๋า หรือจะขึ้นลงก็ตาม เขามีเด็กขับบริการเอาใจ สว. อย่างเรา

หลังอาหารเช้ากับบรรยากาศสดชื่น เราก็ลุยตรงไปที่สถานีวิจัยสิ่งแวดล้อมสะแกราช ผ่านประตูโดยมอบบัตรประชาชนให้ ยามก็รายงานขึ้นไปว่ามีคนสนใจมาศึกษาแบบไม่เป็นทางการ ก็ได้รับการต้อนรับที่ดี คุยกับเจ้าหน้าที่สักพักใหญ่ๆ พอดีเขามีแค้มป์เด็กนักเรียนจาก “ดัดดรุณี” เราจึงขอแยกตัวไปสัมผัสป่าบริสุทธิ์ซึ่งขับรถช้าๆตามกติกาขึ้นไปอีกสอง กม.จากสำนักงานที่พัก คนข้างกายบอกว่า “เอารถไปจอด แล้วขอลงนั่งฟังเสียงป่าแบบเงียบๆนะ”

ก่อนหน้านี้เจ้าหน้าที่ป่าไม้เล่าว่า ป่าสะแกราชส่วนนี้รอดมือการสัมปทานป่ามาได้อย่างน่าอัศจรรย์ จึงเป็นความจริงที่เป็นเพียงพื้นที่เดียวในประเทศไทยที่บริสุทธิ์ผุดผ่อง หากเราสังเกตสภาพป่าสะแกราชตั้งแต่ปากทางเข้ามาจะพบว่ามี “สังคมไม้ป่า” ที่แตกต่างกันไปหลายแบบ ผมไม่มีความรู้เรื่องนี้จึงไม่กล้าเอ่ยชื่อชนิดป่า ความจริงเขามีเจ้าหน้าที่มาให้ความรู้แต่เราปฏิเสธ

มีร่องรอยการศึกษาวิจัยหลายที่หลายแห่ง อันเนื่องมาจากความสมบูรณ์ของป่านี่เองจึงเป็นแหล่งศึกษาวิจัย ผมเองก็ซื้อหนังสือมาหอบใหญ่เกี่ยวกับกรณีศึกษาของป่าสะแกราชแห่งนี้

หยุดรถเป็นระยะ ถ่ายรูปบ้าง ลงไปดูร่องรอยการศึกษาวิจัยบ้าง และก็มาเห็นต้นไม้ใหญ่ที่มีต้นไม้เล็กเกาะยึดไว้ ทั้งที่เป็นเถาวัลย์ และต้นไม้อิงอาศัย… แหมฉุกคิดขึ้นมาทันทีถึงคำว่าสังคมป่าไม้ ที่นักวิชาการท่านกล่าวถึง นี่ไงสังคมป่าไม้ที่ความหลากหลายทางชีวภาพของไม้ป่าอิงอาศัยกันและกัน ไม้ใหญ่มีระบบราก ลำต้น เผ่าพันธุ์ที่สูงใหญ่ ก็ปล่อยให้ไม้เล็กเกาะ อาศัยเลื้อยขึ้นไปชูคอสูดอากาศข้างบน หรือขึ้นสู่เรือนยอด ผมนึกถึงระบบสังคมมนุษย์ที่สำคัญเรื่องหนึ่งคือ “ระบบอุปถัมภ์” สังคมไม้ป่า หรือสังคมไม้บ้านก็ตามก็มีระบบอุปถัมภ์เหมือนกัน

ผมเองได้ยินคำนี้ตั้งแต่เริ่มเข้ามาทำงานพัฒนาชนบท ในสนามและท่าน ดร. มรว.อคิน รพีพัฒน์ กับ อ.ดร.จิมศักดิ์ ปิ่นทอง ที่เป็นวิทยากรอบรมท่านกล่าวถึงเรื่องนี้ไว้นานมากแล้ว แรกๆก็รับรู้แต่ไม่เข้าใจเท่าไหร่
ต่อเมื่อเข้าไปทำงานสนามนานๆเข้า ก็เห็น ย้อนมามองตัวเองเกี่ยวข้องเพียบเลย และมีกระจายไปทั่วหัวระแหงของสังคม ไม้ของไทยและสังคมไหนๆก็ตาม เพียงแต่ว่าจะมองในแง่ไหน จะใช้ระบบนี้ในแง่ไหน

นักวิชาการสังคมวิทยา มานุษยวิทยา กล่าวถึงเรื่องนี้ไว้ค่อนข้างมากในแง่ที่สร้างปัญหาต่อสังคมโดยรวม เช่น ระบบเส้นสายก็คือระบบอุปถัมภ์ ความพึงพอใจส่วนตัวเอามาเป็นเหตุผลมากกว่าการเคารพกฎกติกา หรือเหตุผลที่เหมาะสม ก็คือระบบอุปถัมภ์ชนิดหนึ่ง ฯลฯ ซึ่งเป็นความจริงในสังคมนี้

เมื่อผมเห็น “สังคมป่าไม้ที่สะแกราช” ดังกล่าวนี้ทำไม่ผมอ่านได้ว่า ระบบอุปถัมภ์ที่เป็นธรรมชาติแบบสังคมป่าไม้นั้นต่างพึ่งพาอาศัยกันและกัน ยังประโยชน์แก่กัน หากเถาวัลย์ไม่มีไม้ใหญ่เกาะเกี่ยว มีหรือเขาจะเจริญเติบโต ออกลูกหลานเผ่าพันธุ์สืบมาจนปัจจุบันนี้ ผมเดาเอาเองว่า ไม้ใหญ่ก็ให้อิงอาศัยแม้ว่าอาจจะทำให้เกิดอุปสรรคบ้างในการเจริญเติบโต แต่คงไม่มาก และที่สำคัญไม่ได้ทำให้ชีวิตสิ้นสุดลง ตรงข้ามพื้นที่ส่วนน้อยของเขาได้ยังชีวิตเถาวัลย์เล็กๆ และไม้อิงอาศัยได้มากที่สุด เพราะธรรมชาติของเขาต้องอิงอาศัย ต้องเกาะยึดสิ่งอื่นๆ

ผมนึกถึงที่บ้านขอนแก่น ผมเอา กลอย และ ต้นมันป่าจากดงหลวงไปปลูก ช่วงฤดูฝนนี้เขาแตกยอดใหม่เลื้อยออกมาจากหัว หาต้นไม้ข้างเคียงเกาะยึด แล้วเขาก็เลื้อยพันขึ้นไปข้างบนจนถึงยอดไม้อิงอาศัย เราดูก็อาจจะสงสารต้นไม้หลักที่เขายึดเกาะ เพราะเจ้า กลอย และมันป่าจะงาม แตะกิ่งก้านสาขาจนเกือบจะปกปิดต้นหลัก แต่เขาก็อยู่เพียงไม่กี่เดือนก็สิ้นสุดการเติบโตเข้าสู่วงจรการนอนหลับหรือการหยุดการเจริญเติบโต (Hibernation เอใช้คำนี้ได้เปล่า เปลี่ยน) ใบหลุดร่วงตายไป หัวกลอย หัวมันขยายใหญ่ขึ้น เพราะได้สังเคราะห์แสงเก็บอาหารไว้เต็มที่ตามลักษณะเผ่าพันธุ์ และไม่มีที่ผิดแผกไปจากนี่

แต่มองย้อนกลับมาที่สังคมมนุษย์ เพราะ กิเลส ตัญหา ความทะยานอยาก การไม่อยู่ในหลักการแห่งการอยู่ร่วมกันคือ ศีลธรรม คุณธรรม ปฏิเสธความพอเพียง ระบบอุปถัมภ์ก็กลายเป็นเครื่องมือก้าวไปสู่ความเป็นเลิศที่ตัวเองต้องการ โดยสร้างปัญหากระทบต่อสังคมรอบข้าง โดยกระทบตั้งแต่น้อยไปหามาก จากเบาไปหาหนัก (เอ เหมือนอะไรน้อ..)

เมื่อมองจากมุมสังคมไม้ป่า ก็พบว่า ระบบอุปถัมภ์นั้นมีประโยชน์ เพราะธรรมชาติของเผ่าพันธุ์เป็นตัวควบคุม และไม้ไม่มีจิตวิญญาณ แต่สังคมมนุษย์ผู้ประเสริฐ ได้ใช้ปัญญาไปในทางที่ผิด ใช้ไปในทางทำลายมากกว่าการสร้างสรรค์เพื่อการอยู่ร่วมกัน ใช้เงื่อนไขทั้งหมดเพื่อความมั่งคั่งส่วนตนและพวกพ้อง เพราะรัศมีการอุปถัมภ์ของสังคมไม้ป่านั้นอยู่วงรอบของทรงพุ่มเท่านั้น แต่รัศมีระบบอุปถัมภ์ของสังคมมนุษย์นั้นครอบไปทั่วทั้งสังคมใหญ่คือประเทศ

ดังนั้นคนชายขอบเขาจะอยู่ไม่ได้เลยหากหมู่บ้าน ชุมชน สังคม และประเทศไม่โอบอุ้มเขาด้วยระบบอุปถัมภ์ เอื้ออาทร การช่วยเหลือเกื้อกูลกัน การยื่นน้ำใจให้แก่กัน

เช่นเดียวกันคนที่มีปัญหา หาทางออกไม่ได้ก็ต้องอาศัยระบบของสังคมมาเยียวยาด้วย หนึ่งในนั้นคือระบบอุปถัมภ์ที่มีศีลธรรม คุณธรรม และทุนทางสังคมแบบเดิมๆของเราเป็นสะพานเชื่อม


อาชีพของคนจนในเมือง..

12 ความคิดเห็น โดย bangsai เมื่อ 5 มิถุนายน 2010 เวลา 22:37 ในหมวดหมู่ งานพัฒนาสังคม, เรื่องทั่วไป #
อ่าน: 1231

เย็นมากแล้ว

ชายคนนั้นถีบจักรยานกลับบ้าน

เป็นจักรยานที่ท่านผู้นี้ใช้ประกอบอาชีพ

เป็นอาชีพที่เกือบจะไม่เห็นแล้วในสังคมยุคนี้

ผมไม่มีโอกาสคุยกับท่าน ทั้งที่อยากจะทำหน้าที่นั้น

อาชีพรับจ้างย้อมผ้าแบบ Mobile unit ครับ

อุปกรณ์เป็นปี๊บที่ออกแบบสำหรับติดไฟและต้มน้ำสำหรับย้อมผ้าได้

ข้างเตามีช่องใส่ฟืน.. แค่นี้ก็หากินได้แล้ว

อยากรู้ว่าท่านไปแถวไหนบ้าง

วันๆเฉลี่ยมีคนจ้างย้อมผ้ากี่ราย คิดราคาเท่าไหร่

และ…ฯลฯ…


ป่ากับชีวิต…

145 ความคิดเห็น โดย bangsai เมื่อ 5 มิถุนายน 2010 เวลา 21:49 ในหมวดหมู่ งานพัฒนาสังคม #
อ่าน: 6671

ขออนุญาตเอาบันทึกเก่ามาขึ้นใหม่ เพราะสนับสนุนพ่อครูบาฯในโอกาสที่เจ้าหน้าที่ป่าไม้ไปพบท่าน…

ผมมีเรื่องราวที่ผ่านพบมาเกี่ยวกับต้นไม้ ป่า และชีวิตมนุษย์ ตั้งแต่ทำงานที่โครงการกลุ่มป่าห้วยขาแข้งที่จังหวัดนครสวรรค์ และอุทัยธานี เมื่อประมาณปี พ.ศ. 2539 โน้น

กลุ่มป่าห้วยขาแข้งเป็นกลุ่มป่าที่ใหญ่ที่สุดของประเทศไทยเราที่เหลืออยู่ และได้รับการยกฐานะเป็น “มรดกโลก” เป็นแหล่งน้ำประปาสำหรับคนที่กรุงเทพฯด้วย (น้ำเสริม) หลายท่านไม่ทราบความจริงข้อนี้

ช่วงนั้นผู้บันทึกสังกัดองค์กรพัฒนาเอกชนที่ชื่อ Save the Children (USA) ซึ่งเป็น International NGOs


ประสบการณ์ที่กลุ่มป่าห้วยขาแข้งเป็นช่วงเวลาที่เข้าถึงแก่นป่ามากที่สุด ร่วมกับชาวบ้านทำกิจกรรมต่างๆ เช่น ทำแนวกันไฟเป็นระยะทางมากกว่า 100 ก.ม. ปลูกต้นไม้ตามแนวกันไฟ ตั้งคณะกรรมการดูแลอนุรักษ์ป่า รอบขอบป่า ตั้งชาวบ้านเป็นชุดดับไฟป่าเสริมงานรัฐ สนับสนุนเครื่องมือดับไฟป่า สนับสนุนการบริหารจัดการป่าชุมชน ปลูกป่าเสริม ร่วมทำการวิจัยในการคัดเลือกพันธุ์ไม้ป่าขยายพันธ์ สนับสนุนแหล่งน้ำขนาดเล็ก จัดตั้งกลุ่มและเครือข่ายกลุ่มออมทรัพย์ การพิสูจน์แนวเขตพื้นที่ ส.ป.ก. 4-01 ตามแนวเขตป่า และ ฯลฯ

ทำ Floating Station ในเขื่อนศรีนครินทร์ ซึ่งเป็นพื้นที่รับน้ำจากกลุ่มป้าห้วยขาแข้งทำหน้าที่กักกันมิให้ใครต่อใครนำเรือขึ้นไปหัวเขื่อนเพื่อตัดไม้ ทำลายป่า มีโอกาสเข้าไปทำงานในพื้นที่ประวัติศาสตร์ของ วีรบุรุษป่าไม้ ท่านสืบ นาคเสถียร เราเข้าไปนั่งในอาคารที่ท่านสืบได้สละชีวิต เดินลุยป่าเพื่อดูการทำงานของพี่น้องเจ้าหน้าที่ป่าไม้ เห็นสัตว์ป่าที่คนทั่วไปไม่มีโอกาสเห็น เราสัมผัสคำไทยที่ว่า “เสียงร้องก้องไพร” ของนกป่านานาชนิด และสัตว์ป่าที่ชอบส่งเสียงดังๆคือ ค่าง ชะนี เราสัมผัส “ช่องเย็น” ที่อุทยานแห่งชาติแม่วงก์ และถิ่นเห็ดโคนที่ใหญ่และมากที่สุดที่ตำบลแม่เลย์ เข้าร่วมการทำประชาพิจารณ์การก่อสร้างเขื่อนแม่วงก์ และเราร่วมสนับสนุนศิลปินเข้าไปใช้ชีวิตในป่าแล้วแต่งเพลงที่เกี่ยวกับป่าเพื่อรณรงค์กับประชาชนทั่วไป

กลุ่มป่าห้วยขาแข้งคือ เป้าหมายของพระธุดงค์ทั้งสายปลีกวิเวกเพื่อหลุดพ้นจริงๆ กับสายไสยศาสตร์ โดยมักจะนั่งรถเข้าไปที่ด่านเจดีย์สามองค์ กาญจนบุรี แล้วธุดงค์ผ่านป่าทึบห้วยขาแข้ง ไปออกป่าที่อุทัยธานี ครั้งหนึ่งผมนั่งเฮลิคอบเตอร์ของกรมป่าไม้เพื่อสำรวจสภาพป่า พบกลุ่มพระธุดงค์นับสิบรูปพักสรงน้ำ ตากจีวร และต้มน้ำดื่มชา กาแฟกัน และมีแม่ชีห่มขาวช่วยบริการรับใช้อีกจำนวนหนึ่งด้วย เจ้าหน้าที่ป่าไม้เล่าว่า พระธุดงค์บางกลุ่มคือปัญหาที่ทำให้เกิดไฟป่าเพราะท่านติดไฟต้มน้ำดื่มชากาแฟแล้วลืมดับไฟ หรือดับไม่สนิทนั่นเอง.. ผมเห็นฝูงนกกก ฝูงหมาใน ฝูงกระทิงป่า ควายป่า ค่างป่า นกยูง ฯ


ที่อำเภอแม่เปินซึ่งติดชายป่าห้วยขาแข้งและบางส่วนของอำเภอแม่วงก์ จ.นครสวรรค์ซึ่งมีภูเขาแม่กะทู้เป็นแนวยาว พื้นที่รอบๆเขาแม่กะทู้นั้นคือแหล่งปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์และมันสำปะหลัง เราก็ออกมาทำงานกับชาวบ้านรอบๆเขาแม่กะทู้ด้วย เพื่อเป็น Human Buffer Zone

ที่นี่ผมได้พบสามีภรรยาคู่หนึ่ง ท่านคือเจ้าของโรงงานผลิตผ้าใบคลุมรถสิบล้อที่ใหญ่ที่สุดในประเทศไทย อยู่แถวสมุทรปราการ และมีบริษัทจัดจำหน่ายที่ดินแดง กรุงเทพฯ ท่านมาซื้อที่ดินที่ตีนเขาแม่กะทู้นี้เมื่อหลายปีก่อน มาปลูกกระต๊อบพออาศัย มีเครื่องอำนวยความสะดวกในชีวิตไม่กี่ชิ้น


ผมไปคารวะท่านและขอศึกษาชีวิตท่าน ท่านกรุณาเล่าให้ฟังว่า สามีท่านอดีตเป็นข้าราชการชั้นสูงของหน่วยงานรัฐแห่งหนึ่ง ภรรยาเป็นเจ้าของโรงงานดังกล่าว มีบุตรธิดา 2 คน ชีวิตก็มีความสุข แต่เมื่ออายุมากขึ้น สุขภาพก็เป็นโน่นเป็นนี่ตลอด เงินทองมีเหลือเฟือแต่รักษาสุขภาพไม่หาย มีคุณหมอแนะนำให้ออกไปอยู่ป่า ในสภาพแวดล้อมใหม่

ท่านทั้งสองเชื่อคุณหมอจึงยกกิจการให้ลูกแล้วออกมาซื้อที่ดินสัก 5 ไร่ ชายป่าเขากะทู้แห่งนี้ แล้วก็ทำสวนเล็กๆ ศึกษาธรรมะ และช่วยเหลือชาวบ้านรอบๆตามความเหมาะสม เพียงสองปีเท่านั้น สุขภาพของท่านดีขึ้นอย่างไม่น่าเชื่อ แข็งแรงทั้งคู่ ภรรยาท่านนั้นทานมังสวิรัติ และเมตตาผมเสมอเมื่อไปเยี่ยมท่าน ด้วยความที่เห็นสรรพคุณชีวิตชนบท และป่าไม้ กับการฝึกธรรมะ ท่านจึงอุทิศชีวิตปลูกป่าให้กับรัฐโดยลงทุนเองหมดเงินไปหลายล้านบาท เพื่อฉลองในหลวงอันเป็นที่เคารพรัก

ในปี 2541 นั้นผมชวนนายอำเภอแม่วงก์และข้าราชการขึ้นไปเยี่ยมป่าที่ท่านปลูกและช่วยท่านปลูกป่า คืนนั้นเรานอนกันบนยอดเขาแม่กะทู้ “เพื่อดูฝนดาวตกด้วย”

ท่านเศรษฐีชายกล่าวกับผมว่า “เพราะชีวิตชนบทและป่า ทำให้ผมมีชีวิตยืนยาว หากผมยังใช้ชีวิตในเมืองหลวง ผมคงสิ้นไปหลายปีแล้ว ชีวิตที่เหลือผมขออุทิศให้กับในหลวง สมเด็จฯ และการปลูกป่าไม้บนเขากะทู้แห่งนี้….”

ผมยังไม่มีโอกาสไปเยี่ยมท่านอีกเลยนับออกจากนครสวรรค์มา

คิดถึงเศรษฐีผู้สร้างป่าสองท่านนี้ครับ….


ไปชนบทกันเถอะครับ..

1511 ความคิดเห็น โดย bangsai เมื่อ 25 พฤษภาคม 2010 เวลา 22:32 ในหมวดหมู่ งานพัฒนาสังคม #
อ่าน: 20087

ไม่ได้เสียภาษีที่ดินมาสามปี อิอิ วันนี้เลยถูกปรับ แต่ทั้งหมดก็ไม่กี่ร้อยบาท เพราะภาษีโรงเรือนแบบนี้ไม่แพง


เสร็จแล้วเลยฉลอง ตามแบบคนบางคน คือไปซื้อไอติมมานั่งกินในรถดับร้อน นั่งดูชีวิตคนที่ผ่านไปมา แต่แล้วก็เห็น คนสูงอายุเดินกะเพรก อยู่ข้างหน้า เดินช้า ช้า มีกะบะห้อยคอ เดาก็รู้ว่านั่นคือ คนขายสลากกินแบ่งรัฐบาล…

เมื่อเดินมาถึงรถ ลุงก็ยิ้ม ฟันดำเชียว เดาใจว่าคงถามเรา …ซื้อสลากไหมครับ…. เลยถามลุงไปว่า มาจากไหนล่ะครับ เพราะร้อยทั้งร้อยจะมาจากวังสะพุง จังหวัดเลย แต่ผิดครับ ลุงบอกว่าอยู่ อ.กระนวน ขอนแก่นนี่แหละ เป็นคนพระประแดง ได้เมียที่นี่ ก็มาอยู่ที่นี่


ไม่แข็งแรง ทำงานอย่างอื่นไม่ได้ ยากจน มาเดินขายสลากพอได้กินได้ใช้..ฯลฯ..

ลุงเสียเวลากับผมพอสมควร เดาก็คงรู้นะครับว่าสภาพชีวิตเป็นเช่นไรสำหรับคนวัยสูงอายุ สุขภาพไม่ดี แต่ต้องมาเดินข้างถนนที่ร้อนระอุขายสลาก แทนที่จะอยู่บ้าน ลูกหลานเลี้ยงดู หรือสังคมรัฐสวัสดิการดูแล….
แล้วลุงก็ขอตัวเดินข้ามถนน

ผมคิดเรื่อยเปื่อยไปถึงเสื้อแดง ว่า บุคคลอย่างลุงนี่แหละคือเป้าหมายที่จะมาปลุกระดมเพื่อเอามาเป็นมวลชน แล้วชี้หน้าด่าอำมาตย์ ระบุความแตกต่างทางชนชั้น …… แล้วสัญญากันว่าเมื่อมีการเปลี่ยนแปลงสังคม ลุงจะไม่ต้องมาลำบากอย่างนี้ รัฐจะจัดการสวัสดิการให้ทุกอย่าง ดังนั้นลุงต้องมาช่วยกันนะ…..

ประเด็นทางสังคมนั้นมากมายนัก ผมเชื่อว่าพลเมืองประเทศนี้ที่อยู่ในสภาพเช่นลุงคนนี้มีมากมายและยากลำบากไม่น้อยไปกว่าคนที่ทีร้านถูกไฟไหม้ที่ราชประสงค์ แต่รัฐเอื้อมมือไปไม่ถึง ซึ่งหลายคนเรียกคนกลุ่มนี้ว่าประชาชนชายขอบ

ประเด็นของผมก็คือ กลุ่มคนเหล่านี้คือเป้าหมายของการปลุกระดม ยิ่งรัฐเอื้อมมือไม่ถึง ยิ่งง่ายที่สุดที่คนกลุ่มหนึ่งจะเอื้อมมือไปเอาอกเอาใจแล้วชวนมาเป็นพวก เหมือนกับ ผกค.ทำมาแล้ว และได้ผลจริงๆ

ประเด็นของผมก็คือ เมื่อแก้ปัญหาที่ราชประสงค์ สยาม บ่อนไก่ ฯลฯ แล้ว

รีบลงไปชนบทนะครับ มีงานเยอะแยะที่ต้องทำ

ย้ำว่าต้องทำนะครับ


Walk through learning (WTL)สวนป่า

432 ความคิดเห็น โดย bangsai เมื่อ 10 พฤษภาคม 2010 เวลา 21:22 ในหมวดหมู่ งานพัฒนาสังคม, เฮฮาศาสตร์ #
อ่าน: 11456

ผมชอบกิจกรรมเดินสวนป่าที่พ่อครูบาฯเป็นผู้นำ กลุ่มผู้สนใจเดินตาม จะหยุดเป็นช่วงๆ แล้วพ่อครูบาก็แนะนำพืชนั้นๆ และความรู้ทั่วไปที่เกี่ยวข้องกัน

ผมนึกถึง Walk through Survey (WTS) ซึ่งเป็นเทคนิคชนิดหนึ่งของ กระบวนการมีส่วนร่วมประเมินสภาพชุมชนชนบทแบบเร่งด่วน Participatory Rapid Appraisal หรือ PRA ที่เราใช้สำหรับสำรวจสภาพพื้นที่โดยรวมของชุมชน หรือพื้นที่เป้าหมายที่เราจะเข้าไปทำงานว่ามีสภาพด้วยตาประจักษ์นั้นเป็นเช่นใด แล้วจัดทำเป็นรายงานระดับต่างๆขึ้นมา

สาระสำคัญของ WTS ใน PRA นั้นคือการค้นหา Key informance (KI) ในชุมชนนั้นๆที่เป็นผู้รู้เรื่องชุมชนดีที่สุดและเข้าใจลักษณะสภาพทางกายภาพของพื้นที่ชุมชนทั้งหมด ซึ่งอาจจะมากกว่า 1 คนแล้วพากันเดินดูสภาพชุมชนทั้งหมด โดยมี KI เป็นผู้อธิบายเรื่องราวทุกเรื่องที่เดินผ่านไปแต่ละก้าว ทีมงานจะซักถามเพื่อให้ได้ข้อมูลที่สำคัญมากที่สุด แล้วทำการบันทึกไปพร้อมๆกัน ทั้งนี้อาจทำแผนที่แบบต่างๆทางกายภาพประกอบด้วย อาจถ่ายรูป อาจวาดภาพประกอบ ฯ

ข้อมูลที่ได้มานั้น ทีมงานจะนำมารวบรวมไว้ จัดหมวดหมู่ความรู้ วิเคราะห์ข้อมูลนั้นๆ และอาจจะนำไปสู่การสังเคราะห์ เพื่อให้เห็นศักยภาพ จุดเด่น จุดด้อย และอื่นๆที่มีคุณค่าต่อองค์ความรู้และการนำไปใช้ประโยชน์ โดยมากทีมงานที่จะทำ WTS นั้นจะเป็น Multi disciplinary ทั้งนี้เพื่อให้ทีมงานแต่ละด้านใช้ความถนัดของตัวเองเจาะข้อมูลที่สำคัญๆออกมา เพื่อความสมบูรณ์
ในการวิเคราะห์ และสังเคราะห์ต่อไป

สวนป่าอาจจะดัดแปลงมาใช้ได้ ประเด็นคือ ต้องมีผู้ที่มีความรู้ เข้าใจและเคยใช้ WTS มาช่วยจัดทำ Session design ซึ่งก็จะขึ้นกับการกำหนดเป้าหมายว่าการเดินครั้งนี้เพื่ออะไร คาดหวังมากน้อยแค่ไหน ซึ่งเราสามารถจะ design ออกมาได้ และในกรณีที่พ่อครูเป็น KI เพราะเป็นเจ้าของสวนป่า แต่อาจจะมี Facilitator หรือกระบวนกร ช่วยเสริมในการขยายความ ตั้งประเด็นคำถาม กระตุ้นให้เกิดการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ ฯลฯ

เมื่อสิ้นสุด WTL อาจจะจัดการแบ่งกลุ่ม โดยให้โจทย์แต่ละกลุ่มอาจจะเหมือนกันหรือต่างกันก็แล้วแต่เพื่อให้ทำการสรุป ยกตัวอย่าง

กลุ่มที่ 1 จำนวนสมาชิก 5-10 คน ให้สรุปชื่อพืชที่พบที่สามารถกินได้ พืชสมุนไพร พืชอาหารสัตว์ ฯลฯ
พร้อมเอาใบพืชนั้นมาแสดงด้วย

กลุ่มที่ 2 จำนวนสมาชิก 5-10 คน ให้วาดแผนที่ และสิ่งสำคัญที่พบทั้งหมดตลอดเส้นทางที่เดิน

กลุ่มที่ 3 จำนวนสมาชิก 5-10 คน ให้สรุปชื่อพืชไม้ยืนต้นที่เอาไปใช้ประโยชน์ต่างๆได้ พร้อมเอาใบพืชนั้นมาแสดงด้วย

กลุ่มที่ 4 จำนวนสมาชิก 5-10 คน ให้สรุปชื่อสัตว์ทุกชนิดที่พบ คุณค่า อันตราย พร้อมเอาหลักฐานเช่น ขน รูป หรือวาดรูป ตำแหน่งที่พบ แสดงด้วย
ฯลฯ


การแบ่งกลุ่มอาจจะแบ่งก่อน walk through ก็ย่อมได้ แล้วแต่วัตถุประสงค์

วิทยากร หรือพ่อครูบา อาจจะพูดให้น้อยที่สุด แล้วให้ กลุ่มต่างๆนั้นซักถามเพื่อเขาจะได้ความรู้แล้วเอาไปรวบรวมตามโจทย์ที่มอบหมายให้ ฯลฯ สารพัดที่จะดัดแปลงให้เกิดการเรียนรู้

หากจะเอาหลักการของท่านไร้กรอบ ที่จอมป่วนเอามาพูดบ่อยๆว่า Learn how to learn นั้นอาจจะเน้น
ดัง diagram นี้

คือมอบโจทย์ให้แล้วแต่ละกลุ่มหาคำตอบเอง ไปเรียนรู้เอง ไปหาข้อมูลเอง ไปสัมผัสเอง

การกระทำ walk through learning แบบนี้เป็นการใช้กระบวนการเรียนรู้มาช่วย แทนที่พ่อครูจะเดินเล่า อธิบายไปเรื่อยๆ โดยมีคนเดินตามจำนวนมากไม่ได้สนใจ ไม่ฟัง เมื่อเดินจบอาจไม่ได้เรียนรู้อะไร เท่าไหร่นัก ยกเว้นคนที่สนใจจริงๆ

โจทย์ อาจจะเปลี่ยนไปเรื่อยๆ เช่น ให้กลุ่มหนึ่งไปเรียนรู้เรื่องราวของวัว.. ไก่ต่างๆในสวนป่า ฯ และให้เขาไปหาความรู้เอง อาจจะแนะบ้างว่าไปหาความรู้ได้ที่ไหนบ้าง กรณีวัวนั้น พ่อครูอาจเอาคนเลี้ยงวัวในสวนป่าเป็นครู แทนพ่อครู เป็นการใช้ทรัพยากรคนในสวนป่าเพิ่มขึ้นอีก พ่อครูค่อยมาเติมเอาทีหลัง

ตอนกลุ่มมาสรุปที่สนุกคือ ระหว่างการเรียนรู้ให้เก็บหลักฐานมาแสดงด้วย เช่น ใบไม้ทุกชนิดที่เรียนรู้มา เปลือกไม้ กิ่งไม้ หรือวาดรูปมา หรือถ่ายรูปมา หรือ ฯ…. เอาหลักฐานเหล่านี้มาติดที่กระดาษให้เป็นหมวดหมู่ หรือแล้วแต่กลุ่มจะออกแบบเอง…

การสรุปนั้นควรที่จะเน้นดังนี้

  • ความรู้ที่ได้
  • ความรู้สึกที่เกิดขึ้นจากการเดิน จากการสัมผัส จากการพบปะ ฯ
  • กระบวนการเรียนรู้มีกี่วิธี แต่ละวิธีเป็นอย่างไรบ้าง จะโน้มนำไปใช้ในชีวิตได้อย่างไร
  • เรียนรู้อะไรบ้างเกี่ยวกับระบบนิเวศ ป่า พืช พืชและสัตว์ คน-พืช-สัตว์-ป่า ฯลฯ
  • การเรียนรู้เป็นกลุ่มเป็นเช่นไรบ้าง
  • ฯลฯ

ทั้งหมดนี้เป็นตัวอย่างที่สามารถสร้างสรรค์ ดัดแปลงได้มากมายโดยเฉพาะท่านที่เป็นครูบาอาจารย์ ศิลปินแบบออต หรือนักคิดสร้างสรรค์ต่างๆ แล้วแต่วัตถุประสงค์ แล้วแต่เงื่อนไขวันนั้นๆ ฤดูกาลนั้นๆ องค์ประกอบของทีมผู้สนับสนุน ฯลฯ

สวนป่ายังเล่นอะไรได้อีกมากมายครับ..


พนักงานดีเด่น..

71 ความคิดเห็น โดย bangsai เมื่อ 8 พฤษภาคม 2010 เวลา 8:55 ในหมวดหมู่ งานพัฒนาสังคม #
อ่าน: 3073

รูปนี้ไม่เกี่ยวกับสาระที่จะกล่าวต่อไปนี้ ก็เอามาดูกันเฉยๆ อ่ะ

ระหว่างทำธุระผมชอบเอาหนังสือไปอ่าน วันก่อนยังติดใจประโยคน่าคิดดังนี้ครับ

“พนักงานดีเด่นประจำเดือน คือ

ตัวอย่างของคนที่ได้รับคำชมเชยจากผู้บริหาร

แต่สูญเสียเพื่อนร่วมงานไปพร้อมๆกัน”

ไม่ต้องการคำอธิบายตรงนี้ แต่ทุกท่านสามารถเอาไปวิเคราะห์และเป็นแง่คิดได้บ้างนะครับ


ไฮกุ จากสวนป่า..

41 ความคิดเห็น โดย bangsai เมื่อ 7 พฤษภาคม 2010 เวลา 20:49 ในหมวดหมู่ งานพัฒนาสังคม, เรื่องทั่วไป, เฮฮาศาสตร์ #
อ่าน: 3098

สวนป่าเพื่อสหกัลยาณมิตร “บ้านมกรา” มีหลายรายการ ผมชอบ session ของ ออต เหมือนทุกคน เพราะความเป็น artist ของออต ที่ออกแบบ session ได้สวยงาม โดยเฉพาะ ไฮกุ ที่เอาไปสัมพันธ์กับผัสสะที่เกิดขึ้นกับคนๆนั้น

ออตเริ่มด้วยการแจก เมล็ดมะรุมคนละเมล็ด ให้ทุกคนพิจารณาแล้วใส่ปาก ค่อยๆ อม กัด เคี้ยว แล้วค่อยๆพิจารณารสสัมผัสที่เกิดขึ้น แล้วให้เขียนผัสสะนั้นออกมาเป็น “ไฮกุ” น่ารักซะ และมีความหมายมากครับ ชอบมากที่แต่ละคนแสดงออกมา ซึ่งมันบอกอะไรหลายอย่าง

เห็นลูกศิษย์ท่าน อ.โสรีย์ หน้าเบ้ เมื่อเคี้ยวเมล็ด ส่ายหน้า แล้วทำท่าจะคายทิ้ง อาจเพราะนี่เป็นครั้งแรกที่เธอสัมผัส และเธออาจไม่รู้มาก่อนว่านั่นคือ สมุนไพรที่มีคุณค่าทางยา

ออต อ่านไฮกุ แต่ละคน มีความหมายกว้างแล้วแต่ท่านนั้นๆจะแสดงออกมา แม้ว่าจะเป็นไฮกุแบบไทยๆแต่มีความหมายครับ

รอบต่อไป ออตแจก ใบผักฮว้านง๊อก สมุนไพรลือลั่นที่มาจากเวียตนาม และเป็นอาหารเราบางมือที่แสนอร่อย ออตให้ร่างรูปขอบใบผักนี้ พิจารณาแล้วเคี้ยวมัน รับรส แล้วเขียนไฮกุ


บ้าน อาหาร น้ำ ยา ป่าปัจจัย

ไม่มีเราเขายัง

ไม่มีเขาเราสิ้นเผ่าพันธุ์

สุดท้าย ออตทิ้งโจทย์ให้ทุกคนไปทำการบ้านมา คือ ให้ไปถ่ายรูปอะไรก็ได้ในสวนป่า แล้วเอารูปนั้นมาเขียนไฮกุ แล้วเอามาดูกันในเวลากลางคืน

ไฮกุนั้นเป็นวีธีการเขียนกวีของญี่ปุ่นที่ผมไม่รู้จักเท่าไหร่ ผ่านๆตาบ้างแต่ก็ชอบ แต่ไม่เคยเขียน ครั้งนี้เป็นครั้งแรกครับ ออตกล่าวว่า ไฮกุมี สามบรรทัด บรรทัดที่ 1 มี 7 คำ บรรทัดที่ 2 มี 5 คำ บรรทัดที่ 3 มี 7 คำ

รูปภาพข้างบนนั้นเป็นรูปที่ถ่ายป่าสวนป่าจากที่พักชั้นบนของอาคาร 6 เหลี่ยม เช้าวันนั้นด้วยมือถือ แล้วเอามาแต่งเป็นขาวดำ แล้วเอามาทดลองแต่งไฮกุแบบ ไม่เค๊ย ไม่เคย

ก็แค่มาเล่าให้เพื่อนๆฟังน่ะครับ


แสดงความเห็นต่อโจทย์พ่อครูบาฯ 2

อ่าน: 2866

โจทย์ ที่พ่อครูบาฯตั้งไว้ ว่า จะเอาความรู้ในสถาบันอุดมศึกษาที่มีอยู่ออกไปพัฒนาวิถีชุมชนอย่างมีส่วนร่วมได้อย่างไร..??

ยกที่ 1 ผมคิดว่ามหาวิทยาลัยมีข้อจำกัด หากท่านอธิการบดีสั่งรวบรวมนวัตกรรมทั้งหมดที่ถูกผลิตขึ้นมาในมหาวิทยาลัยเอามากองรวมกัน ทั้ง Hard & soft innovation ผมก็คิดว่ายังทำงานภายใต้ข้อจำกัดของกรอบระเบียบ ข้อบังคับ กฎเกณฑ์ของระบบมหาวิทยาลัย แม้ว่าจะยืดหยุ่นมากกว่าระบบราชการทั่วไปก็ตาม แต่ก็เป็นความพยายามที่ควรสนับสนุนยิ่งนัก


มหาวิทยาลัย

ยกที่ 2 นวัตกรรมที่มหาวิทยาลัยผลิตขึ้นมานั้น “มาจากความต้องการของชุมชน หรือมาจากความอยากรู้ของคณาจารย์ในมหาวิทยาลัย” แตกต่างกันมากนะครับ เพราะความต้องการของชนบทนั้นจะถูกออกแบบนวัตกรรมให้เหมาะสมสอดคล้องกับสภาพชนบทเพราะเป็นตัวตั้ง แต่หากนวัตกรรมนั้นมาจากคณาจารย์อยากทำ อาจจะไม่เหมาะ ไม่สอดคล้องกับชนบท หรืออาจจะต้องถูกดัดแปลงอีกมากก็ได้ เหมือนที่พ่อครูกล่าวว่าเพลงลูกกรุงนั้นจะเอาไปให้ลูกทุ่งร้องนั้นมันคนละคีย์กันครับ แต่ก็เป็นความพยายามที่ควรสนับสนุนยิ่งนัก


ชุมชนชนบท

ยกที่ 3 แม้ว่าจะรู้ความต้องการของชนบท หรือความอยากของคณาจารย์สอดคล้องกับความต้องการของชนบท กระบวนการเอานวัตกรรมไปสู่ชนบทนั้นคืออย่างไร บ้าง อบรม หรือศึกษาดูงาน หรือทั้งสองอย่าง หรือ ฝึกทำ หรือทำแปลงสาธิต หรือตั้งศูนย์เรียนรู้ หรือ ลองผิดลองถูกกันไป หรือ…..ใครเป็นคนออกแบบกระบวนการนี้ เอาละให้เกษตรกรมีส่วนร่วม แต่กระบวนการให้มีส่วนร่วมก็มีรายละเอียดมากมาย บ่อยครั้งนวัตกรรมนั้นนำเสนอโดยคนข้างนอก ให้ชาวบ้านออกความเห็นสองสามคนแล้วก็บอกว่าชาวบ้านมีส่วนร่วมแล้ว โดยทั้งกระบินั้นมาจากคนข้างนอกผลักดันมากกว่า แต่ก็เป็นความพยายามที่ควรสนับสนุนยิ่งนัก


ชาวบ้าน

ยกที่ 4 ชนบทไม่ได้บริสุทธิ์ผุดผ่อง มีทั้งน่ารักน่าชัง ทั้งน่าสงสารและน่าตียิ่งนัก ข้อจำกัดของมหาวิทยาลัยนั้นเรื่องหนึ่งคือเวลาที่มีกำหนดตายตัว งานชิ้นนี้ต้องทำภายใน สามเดือน แปดเดือน แต่หลักการ “เข้าใจ เข้าถึง พัฒนา” นั้น บางเรื่องต้องใช้เวลาเข้าใจมากมาย โดยเฉพาะส่วนลึกที่เป็น soft side ราชการมักให้ผู้ใหญ่บ้านเชิญชาวบ้านเป้าหมายมาประชุมที่ศาลาวัด ท่านทราบไหมว่าชาวบ้านที่มานั่งทั้งหมดนั้นน่ะ แต่ละคนมีรายละเอียดอย่างไรบ้าง หากไม่เข้าใจแล้วจะทำงานพัฒนาอย่างไรล่ะ มันก็แค่เอาลงไปใช่ไหม… ในทางการแพทย์เขาใช้คำว่า Triage ในทางการพัฒนาชนบทเราก็ใช้คำนี้เราต้องเข้าใจรายบุคคล รายครัวเรือน แล้วจึงรู้ตื้นลึกหนาบางของปัญหาแต่ละคน แล้วการเยียวยารักษาจึงจะเหมาะสมถูกต้อง สอดคล้อง เพราะปัญหาแต่ละคนแต่ละครอบครัวไม่เหมือนกัน หรือเหมือนกันแต่หนักเบาไม่เท่ากัน อาจจะหนักเท่ากันแต่เงื่อนไขแต่ละครอบครัวไม่เหมือนกัน ครอบครัวอาจจะเหมือนกัน แต่บุคลิกภาพแต่ละคนแตกต่างกัน…. เราต้องแยกแยะ จำแนก จัดกลุ่ม จัดหมู่ จัดพวกของคนและปัญหาออกมาแล้วก็แก้ไขกันไปตามเหตุปัจจัยแต่ละคน งานแบบนี้จะมาแล้วไปแบบราชการนั้นไม่ได้ ต้องลงคลุกคลีตีโมงกันพักใหญ่ๆ หากมาแล้วไป ไม่มีความผูกพันเลย ชาวบ้านก็หลอกกินเอาได้ โดยที่ปัญหาไม่ได้รับการแก้ไข

ยกที่ 5 การทำงานชนบทไม่เหมือนการผสมสารเคมีในห้องทดลอง เมื่อเอาไฮโดรเจนสองส่วนมาผสมกับอ๊อกซีเจนหนึ่งส่วนแล้วจะได้น้ำออกมาทันที (H2O) แต่คนมีพื้นฐาน มีที่มาที่ไป มีฐานประวัติชีวิตที่เกี่ยวข้องกับพื้นที่และชุมชน สิ่งแวดล้อม แม้เอาการฝึกอบรมเข้าไป เอาการศึกษาดูงานเข้าไป เอาเครื่องไม้เครื่องมือต่างๆเข้าไป แต่บ่อยครั้งยังต้องการปัจจัยอื่นๆอีกมากมาย และไม่เหมือนกัน ชนบทที่สุรินทร์ กับที่สกลนครเงื่อนไขก็แตกต่างกัน แล้วทำอย่างไรล่ะมหาวิทยาลัยที่มีเงื่อนไข ข้อจำกัดมากมาย ผู้บริหารเข้าใจก็ดีไป หากไม่เข้าใจ ทีมงานอาจถูกฆ่าตายในทางการทำงานก็เป็นได้


ยกที่ 6 ส่วนที่สำคัญยิ่งคือ ด้าน Soft side ของตัวบุคคล ครอบครัว ชุมชน เราเอาชาวบ้านมาฝึกทหารก่อนที่จะเอาออกไปประจำการในสนามจริง เพราะอะไร ทุกท่านคงหาคำตอบได้ การที่พระคุณเจ้ามุ่งสู่หนทางละวางทั้งหมดก้าวเข้าสู่นิพพานนั้น สมณะรูปนั้นๆต้องฝึกฝนตนเองนานนับชั่วชีวิตทีเดียว หากเราจะสนับสนุนให้ชาวบ้านเดินทางไปสู่แนวทางการพึ่งตนเองนั้น การจะไปพูดไปจาเพียงไม่กี่คำนั้นคงไม่สำเร็จ โดยเฉพาะการทำอย่างไรจะขจัดคราบไคลของลัทธิบริโภคนิยม ค่านิยมของทุน แล้วก้าวเดินบนเส้นทางที่ต้องถูกยั่วยวนตลอดเวลานั้น เป็นเรื่องการต่อสู้ภายในทั้งสิ้น กระบวนการพัฒนาจึงทำงานด้านในด้วย เราอาจจะประสบผลสำเร็จในการสร้างรายได้ให้แก่เกษตรกรเป้าหมาย แต่ล้มเหลวลงหมดเพราะเกษตรกรคนนั้น ครอบครัวนั้นหลงใหลกับการบริโภค ที่ไม่มีวันจบสิ้น แต่งานพัฒนาชนบทไม่เน้นเรื่องนี้ เพราะเห็นผลยาก รายงานยาก ประเมินผลยาก สำเร็จยาก สร้างอาคารเสร็จก็รีบถ่ายรูปรายงานว่าทำสำเร็จแล้ว แต่การเอาอาคารไปใช้ประโยชน์นั้นถ่ายรูปไปครั้งเดียวก็อ้างไปหลายปี ทั้งที่การใช้ประโยชน์มีแค่ 6 เดือนแรกเท่านั้น…ผมจึงทึ่งกับ CUSO ที่หลังโครงการจบไปแล้ว 6 ปีเขาจึงมาประเมินผล..??!!


ยกที่ 7 องค์ประกอบที่สำคัญ ที่ไม่ยิ่งหย่อนกว่ากันคือ ผู้นำชุมชน พี่เลี้ยงจากภายนอก key person ในชุมชน ล้วนแล้วแต่มีความสำคัญมาก แต่ก็ขึ้นกับศักยภาพของแต่ละชุมชน จากบทเรียนเราพบว่า หมู่บ้านไหนผู้นำดีดี เท่ากับทำงานเสร็จไปครึ่งหนึ่งแล้วทีเดียว ตรงข้ามหากผู้นำในชุมชนไม่มี หรือไม่ดีก็เหนื่อยหน่อย หลายกิจกรรมก็ล้มลุกคลุกคลานเพราะขาดผู้รับผิดชอบ ขาดการรับลูกอย่างต่อเนื่อง เพราะขาดความตระหนัก หรือการให้ความสำคัญ ผู้นำชุมชนดีดีหายาก ยิ่งในปัจจุบันถูกการเมืองระบบใหญ่ระดับประเทศ และการเมืองท้องถิ่นระดับตำบลทาสีแดงไปหมด บทบาทที่เหมาะที่ควรก็ถูกเบี่ยงเบนไปเพื่อผลประโยชน์เสียสิ้น

ยกที่ 8 ระบบการเรียนรู้ในชุมชน ระหว่างชุมชน… การท่องเที่ยวไปในโลกกว้างย่อมเสริมสร้างโลกทัศน์ยิ่งนัก เห็นทั้งส่วนเล็กและใหญ่ เห็นแนวโน้ม เห็นที่ตั้งของปัญหาว่าอยู่ส่วนไหนของสังคม ของประเทศ ของการดำรงชีวิตอย่างมีสุข ปัจจุบันจึงต้องมีองค์กร และเครือข่าย เพราะการโดดเดี่ยวนั้นคือจุดอ่อนด้อย การรวมกลุ่มคือพลัง หากกลุ่มดี ระบบดี ก็พากันเดินทางไปข้างหน้าอย่างมีพลัง เพราะชุมชนเดิมของเรานั้นไม่ได้โดดเดี่ยว ชุมชนเดิมของเราเดินไปด้วยกัน พร้อมๆกัน จูงมือไปกัน ระบบกลุ่ม เครือข่ายจึงเอื้อให้นวัตกรรมต่างๆถูกถ่ายทอดจากคนหนึ่งไปสู่คนหนึ่งด้วยตัวของมันเอง บทเรียนตรงเหนือบ้านอาจจะถูกดัดแปลงไปอีกนวัตกรรมหนึ่งเมื่อเอาไปทำที่ท้ายบ้าน การเกิดขึ้น พัฒนา และถ่ายทอดนวัตกรรมนั้นต้องอาศัยกลุ่ม เครือข่าย… เครือข่ายคือระบบการเรียนรู้ในชุมชน..


ยกที่ 9 ย้ำเรื่องการเห็นคนชนบทต้องเห็นให้ทั้งหมด.. ความหมายคือ การที่ชาวบ้านเดินเข้ามาหาเราและเข้าร่วมกิจกรรมของเรานั้น เราไม่ใช่รู้จักชาวบ้านคนนั้นเท่านั้น ไม่พอ เราต้องรู้เรื่องราวของครอบครัวเขาทั้งหมด ทั้ง Hard & soft side อย่างที่เฮียตึ๋งและท่านไร้กรอบกล่าว ทางคริสตชนเรียกว่ารู้ทั้งครบ ตัวอย่าง นาย ทักษิณ เป็นเกษตรกรที่ก้าวเข้ามาร่วมกิจกรรมตามหลักการของเราในเรื่องการเพิ่มผลผลิตข้าวอินทรีย์ ซึ่งมีตารางการปฏิบัติชัดเจน แต่แล้วเขาหายตัวไปถึงสองเดือนไม่ได้ทำตามกำหนดที่คุยกันไว้ ต่อมาทราบว่า เขาต้องตัดสินใจลงไปหางานทำเพื่อหาเงินด่วนไปให้ลูกที่จะเปิดเทอมที่มหาวิทยาลัยแห่งหนึ่ง..?? งานการเพิ่มผลผลิตจึงไม่เป็นไปตามเป้าหมาย… เมื่อเราคุยกันจึงทราบรายละเอียดถึงความจำเป็นสุดๆของเขา..ตัวอย่างที่สอง นายจตุพร เข้าร่วมกิจกรรมการเพิ่มผลผลิตมันสำปะหลังแบบอินทรีย์ ที่มีกำหนดว่าจะต้องใส่ปุ๋ยอินทรีย์เมื่อครบกำหนด จะต้องพ่นปุ๋ยน้ำหมักทางใบเมื่อครบกำหนด แต่นายจตุพรไม่ได้ทำเขาหายไปสองสัปดาห์ ต่อมาเรารู้ว่าเขาขึ้นป่าไปยิงบ่าง กระรอก หรือสัตว์ป่า ต้องการกินสัตว์ป่าเพราะมันอร่อยมากกว่าเนื้อหมูที่ตลาด ซึ่งเป็นวัฒนธรรมการกินของชาวบ้านแถบนี้ ทำให้การเพิ่มผลผลิตมันสำปะหลังของเขาไม่ถูกปฏิบัติตามกำหนด ผลผลิตก็ไม่ได้สูงสุด การบันทึกข้อมูลก็สะดุด…


ทั้งหมดนี้คือเพียงบางส่วนเท่านั้น

นี่คือบทเรียน นี่คือข้อสรุป และนี่คือของจริง หากมหาวิทยาลัยจะเดินทางเข้าชนบทเอาความรู้ไปลงสู่ชนบท ลองเอาประสบการณ์เหล่านี้ไปพิจารณาดูเถิดครับ


แสดงความเห็นต่อโจทย์พ่อครูบาฯ 1

283 ความคิดเห็น โดย bangsai เมื่อ 1 พฤษภาคม 2010 เวลา 23:14 ในหมวดหมู่ งานพัฒนาสังคม, ไม่ได้จัดหมวดหมู่ #
อ่าน: 4348

โจทย์ ที่พ่อครูบาฯตั้งไว้ ว่า จะเอาความรู้ในสถาบันอุดมศึกษาที่มีอยู่ออกไปพัฒนาวิถีชุมชนอย่างมีส่วนร่วมได้อย่างไร..??

โจทย์นี้ดีจริงๆ เพราะเป็นเป้าหมายของอุดมศึกษาโดยทั่วไปอยู่แล้วว่าควรจะทำเช่นนั้น ที่ผ่านมาผมก็ว่าสถาบันอุดมศึกษาก็พยายามทำกันอยู่แล้ว มากน้อย แตกต่างกัน ทำได้มากน้อยแตกต่างกัน ทำแล้วก่อให้เกิดประโยชน์แตกต่างกัน.. แต่ประเด็นที่พ่อครูบาฯตั้งไว้น่าจะหมายถึงการสร้างประโยชน์สูงสุดทำได้อย่างไร..!!

ก่อนที่จะไปลองแสดงความเห็นในประเด็นนี้ ขอเลยไปแสดงความเห็นประเด็นพ่อครูบาทีกล่าวไว้ว่า ..โครงการทำนา 1 ไร่ให้ได้เงินแสน”.. ผมนึกถึงหลายสิบปีก่อนนั้นสมัยที่ผมทำงานกับโครงการ NET ที่สุรินทร์ภายใต้การสนับสนุนเงินทุนของ CUSO ของประเทศแคนาดา เรามี ดร.สุธีรา วิจิตรานนท์(ทอมสัน)เป็นที่ปรึกษา มี อ.ดร. มรว.อคิน รพีพัฒน์ และ อ.ดร.เจิมศักดิ์ ปิ่นทองเป็นทีมวิทยากรอบรมพวกเราก่อนเข้าทำงาน

สมัยนั้น ดร.สุธีรา ประสานงานเอานักวิชาการระดับสูงของ CP ไปแนะนำการทำงานของเราในมุมมองของนักธุรกิจ แล้วหลังจากนั้นทีมงานของเราก็เดินทางไปดูงานของบริษัท CP ที่หมวกเหล็ก และเราก็สะอึกต่อคำกล่าวของนักวิชาการระดับสูงท่านนั้น เขากล่าวว่า เขาไม่เชื่อว่าการทำงานของโครงการจะทำให้ชาวบ้านพึ่งตัวเองได้ มีรายได้ที่ชัดเจนแน่นอน แต่เขามีโครงการที่ประกันได้ หากชาวบ้าสนใจมาเข้าโครงการเขา เขารับรองว่าชาวบ้านจะมีที่ดินทำกิน มีบ้านพักอาศัย มีรายได้ที่ชัดเจนแน่นอน..??!!

เมื่อเราลงรายละเอียดพบว่า เขามีโครงการผลิตพืชเกษตรป้อนเข้าโรงงาน เช่น ข้าวโพด บริษัทมีที่ดิน มีแผนงาน มีโรงงานรองรับผลผลิต มีระบบน้ำ ฯลฯ แต่เขาขาดคน ขาดแรงงาน นั่นเขามองถึงเกษตรกร เขาบอกว่าเขาจัดทำเป็นรูปสหกรณ์การเกษตรที่ใครก็ตามที่เข้าร่วมโครงการเขาให้บ้านพัก มีที่ดินจำนวนหนึ่งให้ มีปัจจัยการผลิตทั้งหมด มี….. เพียงแต่ทำงานตามกำหนดก็จะมีรายได้ที่แน่นอน เพราะบริษัทรับประกันร้อยเปอร์เซ็นต์..

ผมก็ถึงบางอ้อ…เพราะเกษตรกรกลายเป็นแรงงานให้บริษัท เปลี่ยนรูปแบบวิถีชีวิตไปหมดสิ้น ผมเชื่อว่าเกษตรกรนั้นๆมีรายได้ชัดเจนแน่นอน ภายใน 5 ปี เขาจะมีเงินเท่านั้นเท่านี้ ผมเชื่อครับ แต่วิถีชีวิตเขาเปลี่ยนไปหมดสิ้น

ผมไม่ได้ติดตามโครงการนี้ว่าไปถึงไหนอย่างไร แต่เชื่อว่าระบบธุรกิจที่มีทุนมหาศาลนั้นสามารถจัดการแรงงานเกษตรกรให้กลายเป็นแรงงานระบบฟาร์มขนาดใหญ่ที่มีผลตอบแทนน่าพอใจได้ แต่วิถีเขาเปลี่ยนไปแน่นอน…

ผมเองคิดว่า ทำนา 1 ไร่ให้ได้เงินแสนนั้น ผมเชื่อว่าระบบธุรกิจทำได้แน่นอน ซึ่งมีรายละเอียดมากมายอยู่ภายใต้ประโยคดังกล่าว เช่น การบริหารจัดการ แผนงาน การพัฒนาการผลิต การควบคุมคุณภาพ การเอาวิชาการ ความรู้ลงไปด้วยระบบการบริหารจัดการแบบธุรกิจ และหากกล่าวเลยไปว่า ข้าวที่ผลิตได้เป็นข้าวคุณภาพ ที่ถูกควบคุมการผลิตด้วยวิชาการเต็มที่ นำข้าวมาแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์ที่มีมูลค่าสูง อาจถึงการส่งออก ซึ่งอาจจะมีคนกลางมารับประกันราคาผลผลิต

หากเป็นแนวนี้ผมก็เชื่อว่าทำได้ และประสบผลสำเร็จได้ เพราะนักธุรกิจนั้นเขามีวิสัยทัศน์ที่มาจากข้อมูลที่ชัดเจนเพราะอยู่ในวงการ ย่อมเห็นลู่ทางต่างๆนั้นว่ามีศักยภาพ..

แต่กิจกรรมดังกล่าวนี้อยู่ส่วนไหนของการพึ่งตนเอง การลดการพึ่งพา การลดความเสี่ยง การอยู่บนวิถีเดิมที่มีคุณค่า ฯลฯ แม้จะอยู่ในสถานการณ์ใหม่ หากสามารถทำได้ผมก็เห็นด้วยและสนับสนุนครับ.


คำบอกเล่าของพิลา..

ไม่มีความคิดเห็น โดย bangsai เมื่อ 27 เมษายน 2010 เวลา 20:37 ในหมวดหมู่ การบริหารจัดการประเทศ, งานพัฒนาสังคม #
อ่าน: 748

บางทราย: พิลา ในหมู่บ้านนายมีแดงลงไปกรุงเทพฯเยอะไหม

พิลา: ไม่มี พี่

บางทราย: หา…ไม่มีเลยรึ ก็พี่น้องไปกันโครมๆ บ้านนายไม่มีใครไปเลยรึ

พิลา: ไม่มีใครไป แต่เขาบริจาคข้าวกันพี่ คราวที่แล้วได้ตั้งสองตัน..

บางทราย: หา….สองตันข้าวนั่นน่ะรึ โห..ทำไมเป็นอย่างนั้นล่ะ

พิลา: เขาไม่ลงไป แต่บริจาคข้าวกัน ไม่รู้เขากลัวตายกันมั๊ง และอีกอย่าง มันมีงานในไร่นาเยอะไปหมด ไม่มีใครอยากทิ้งไป

บางทราย: เขามีหัวหน้ามาเก็บข้าวรึไง

พิลา: มีพี่..เป็นตำรวจกองเมืองมุกดาหารนี่แหละ เป็นเขยของหมู่บ้านนี้…??????

บางทราย: หา…ตำรวจเลยรึ….

พิลา: พี่..ตำรวจนี่แหละ แค่นั้นยังไม่พอ หมู่บ้านอื่นนะเขาลงไปกรุงเทพฯกันเยอะ หลายคันรถเลย พี่รู้ไหม มีตำรวจทางหลวงนำขบวนหน้า-หลังเลยหละครับ…

บางทราย: หา…ตำรวจขับนำขบวนเลยรึ….โห…

พิลา: พี่ ชาวบ้านเขาไม่รู้เรื่องอะไร เหตุผล ต้นสายปลายเหตุอย่างไรเขาไม่รู้แจ้งหรอก สมัยกลุ่มเหลืองเดินขบวนชาวบ้านผมก็บริจาคข้าวให้เหมือนกัน…

บางทราย: หา…นี่บริจาคให้ทั้งเหลืองทั้งแดงเลยหรือ…โอพระเจ้า…

พิลา: ที่บ้านผมน่ะ ผู้เฒ่าผู้แก่นั่งจับกลุ่มกันเปิดวิทยุแดง ฟังกันทั้งบ้าน ไม่เป็นอันทำอะไรหละ…

เชิญท่านวิเคราะห์กันเองเลยครับ…ว่านี่คือชนบทแห่งหนึ่งที่สะท้อนภาพการเคลื่อนตัวตามปรากฏการณ์ปัจจุบัน บอกอะไร บ่งชี้อะไร คนทำงานชนบทหัวปั่นเหมือนกัน งานที่ทำมันมากมายไปหมด หลายเรื่องนอกเหนือกรอบงานที่โครงการระบุ แต่มันก็พัวพันไปหมด แตะอย่างหนึ่งก็สาวไปถึงอีกเรื่องหนึ่งได้ไม่ยาก

ใครจะมาเนรมิตให้ชนบทสวยงาม บริสุทธิ์ผุดผ่องล่ะ ไม่มีทาง ยิ่งการเมืองที่เข้มข้น ชนบทคือเป้าหมายใหญ่เชียวหละ ไม่เชื่อลองใส่เสื้อแดงเดินไปที่ราชประสงค์ซิ แล้วขอดูบัตรแดงหน่อย มาจากชนบททั้งน้านนนนน

หมายเหตุ: พิลาคือพนักงานขับรถของโครงการที่ทำงานร่วมกันมาตลอด


คิดนอกกรอบ..

20 ความคิดเห็น โดย bangsai เมื่อ 27 เมษายน 2010 เวลา 10:36 ในหมวดหมู่ การบริหารจัดการประเทศ, งานพัฒนาสังคม #
อ่าน: 3027

วันนั้นเดินที่สวนป่า เห็นขนไก่ตกอยู่หยิบมาพิจารณาดู รู้สึกชอบ สวยดีครับ หากคนช่างคิดเห็นขนไก่ชิ้นนี้เข้าคงคิดต่อยอดไปหลายอย่าง เช่น

  • เอาไปตกแก่ง เสื้อผ้า หมวก กระเป๋า ถือว่าเป็นแฟชั่นอย่างหนึ่ง
  • เอาไปตกแต่งบอร์ด การนำเสนอผลงานต่างๆ ตามโรงเรียน สถาบัน สถานที่หน่วยงานต่างๆ ฯ
  • เอาไปเป็นต้นแบบในการทำรูปภาพต่างๆ
  • เอาไปเป็นต้นแบบในการทำตกแต่งการบรรจุหีบห่อผลิตภัณฑ์ต่างๆ
  • หากมีจำนวนมากๆก็เอาไปฟอกแล้วเอาไปทำวัสดุทำหมอนรองหัวหรืออื่นๆ
  • หากเอานักต่างๆมาดู น่าจะเกิด “จินตนาการ” ต่างๆมากมายในการเอาไปใช้ประโยชน์น่ะครับ

ความจริงวันนั้นก็คิดอยู่ว่า จะเอาไปเป็นกรณีศึกษาให้นิสิตแพทย์ดูแล้วถามว่า ท่านเห็นวัสดุสิ่งนี้แล้ว

  • ท่านคิดอะไรบ้าง
  • ท่านคิดทำประโยชน์อะไรได้บ้าง
  • ท่านคิดว่าวัสดุสิ่งนี้จะเป็นที่มาของเชื้อโรคต่างๆอะไรได้บ้าง

แล้วเอาความคิดแต่ละคนจัดกลุ่มดูว่า คนเรานั้นคิดอะไร แบ่งได้กี่กลุ่ม แต่ละกลุ่มนั้นผู้คิดมีพื้นฐานจากอะไร (อาจจะสะท้อนภูมิหลังของเขา) การเอาความคิดออกมาจากกลุ่มก็จะเรียนรู้กันเอง และจะช่วยฝึกฝนกระบวนการคิดได้ หลายคนอาจจะต่อยอดไปได้ บางคนอาจเกิดแรงบันดาลใจบางอย่างขึ้นมาได้…ฯลฯ

นี่คือการเรียนนอกกรอบ นอกห้องเรียน กลางป่า กับธรรมชาติ ฯลฯ

บางทีการเรียนรู้นอกกรอบแบบนี้ เอาสิ่งรอบตัวมาเป็นสื่อในการเรียนรู้ แล้วโน้มนำ เข้าสู่ชีวิตเราได้ สนุก กระตุกต่อมคิด สร้างสรรค์ ฯ และหลายครั้งเราได้แนวคิดที่เราคิดไม่ถึงบ่อยๆเช่นกันครับ


AAR นิสิตแพทย์มาสวนป่า

50 ความคิดเห็น โดย bangsai เมื่อ 26 เมษายน 2010 เวลา 18:53 ในหมวดหมู่ การบริหารจัดการประเทศ, งานพัฒนาสังคม #
อ่าน: 3034

เท่าที่ฟังคุณหมอคุยกันถึงนิสิตแพทย์นั้น ดูจะมีแต่เรื่องเรียน สอบ เครียด ปัญหาการเรียนนิสิตแพทย์ ปัญหาหลักสูตรแพทย์ การมองทางออกต่างๆ การคงความเป็นวิชาชีพแพทย์ เกณฑ์ขั้นต่ำของการเป็นแพทย์ ความร่วมมือของทีมอาจารย์ ฯลฯ ล้วนหนักหนาทั้งนั้น ผมฟังแล้วก็หนักหัวไปด้วย…


ในฐานะที่ผมมีเพื่อนเป็นแพทย์หลายคน มีน้องมีพี่ร่วมสถาบันที่ใกล้ชิดกันเป็นแพทย์หลายคน ที่สนิทสนมรักใคร่ขนาดเตะกันได้ก็มี ที่เคยร่วมอุดมการณ์ปฏิวัติสังคมก็มี เมื่อมาทำงานก็ใกล้ชิดวงการแพทย์อันเนื่องมาจากต้องดูแลคุณแม่(ยาย)ที่เข้าๆออกๆ 7 ปี กับโรงพยาบาลทั้งรัฐ ทั้งเอกชนจนพยาบาลร้องอ๋อกันหมดเมื่อเอ่ยชื่อคุณยาย ผมว่าวงการแพทย์นั้นเป็นข้าราชการที่ก้าวหน้าที่สุด มีระบบที่สุด และตื่นตัวทางการเมืองมากที่สุด ทุกครั้งที่มีเรื่องของบ้านเมืองนั้น ต้องมีแพทย์นั่งร่วมโต๊ะให้ข้อเสนอแนะ แก้ปัญหา คัดหางเสือสังคมเสมอ..

แต่ก็ทราบมาว่าแพทย์ที่ “น่าตีก้น” ก็มีไม่น้อยเหมือนกัน ก็เป็นเรื่องปกติของปุถุชน เพราะอาชีพไหนๆก็ย่อมมีคนต่างประเภทกัน แต่เป็นที่ยอมรับกันว่า แพทย์นั้นมีมาตรฐานสูง..


อาชีพแพทย์นั้นเคลื่อนตัวเองตลอดเวลา ผมหมายถึง ปรับเปลี่ยนให้เข้ากับสภาพสังคม ดูจะมากกว่าอาชีพอื่นๆมั๊ง… ดูซิ ทีมอาจารย์หมอพานิสิตแพทย์มาลุยสวนป่าแทนที่จะไปใช้โรงแรมหรูคุยกัน ซึ่งพ่อครูบาฯและอาจารย์แสวงยังบ่นใส่อาจารย์คณะเกษตรศาสตร์เลยว่า ไม่ออกลงสัมผัสดิน นั่งรากงอกอยู่แต่ในห้อง… อันนี้น่าที่จะเป็นวิสัยทัศน์ของผู้บริหารการศึกษาสถาบันนั้นๆ รวมทั้งทีมครู อาจารย์….

โดยส่วนตัวผมไม่ได้คาดหวังว่าการใช้เวลา 2-3 วันที่สวนป่านั้นจะพลิกฟ้าพลิกแผ่นดินให้นิสิตแพทย์เปลี่ยนแปลงไปเฉกเช่น ทีมกลุ่มหมอชนบท หรือหมอเมืองพร้าวในสมัย 14 ตุลา ที่ เอาชนบทเป็นวิถีชีวิตของตัวแพทย์เอง แต่ผมคิดว่า บรรยากาศ การขับกล่อมของทีมวิทยากร การตั้งอกตั้งใจของทีมหมอพี่เลี้ยงหรือทีมอาจารย์หมอ ความยากลำบากบ้างในชีวิตคืออีกบทเรียนที่ความเป็นแพทย์ควรที่จะสัมผัส

ที่เด่นและชอบมากคือ การดึงการเรียนรู้ออกมาจากห้องแล็ป ออกมาจากหนังสือ Text ที่หนาเตอะ ออกจากห้องเรียนที่คุ้นชิน ออกจากบรรยากาศของโรงพยาบาล


ผมจำได้ว่าหลักสูตรการศึกษาในประเทศจีนนั้น ทุกสาขาวิชาก่อนจบจะต้องเข้าไปใช้ชีวิตในชนบทเป็นเวลา 1 ปีเป็นอย่างน้อย ผมสนับสนุนแนวคิดนี้ เพราะนิสิตแพทย์ส่วนใหญ่เป็นคนเมือง และมากกว่าครึ่งของคนในเมืองนั้นถูกเลี้ยงดูมาแบบลูกแก้ว เหมือนไข่ในหิน และประเทศไทยสัดส่วนใหญ่ของพื้นที่และประชากรนั้นคือชนบท เราจะต้องลงไปสัมผัส ไปรับรู้ ไปเรียนรู้ ไปซึมซับ ไปเป็นหนึ่งในวิถีของเขา แล้วย้อนกลับมาร่ำเรียนและใช้ประสบการณ์ในชนบทนั้นๆคิดหาทางว่า “เราจะใช้วิชาชีพแพทย์สร้างสุขภาพชนบทให้ทัดเทียมเมืองได้อย่างไร” ผมว่านิสิตแพทย์มีความเก่งโดยพื้นฐานอยู่แล้ว การนำพา หรือเปิดโอกาสให้เธอเหล่านั้นสัมผัสชนบทอาจเป็นคุณูประการให้เขาเกิดการสร้างสรรค์นวัตกรรมต่างๆออกมาเพื่อสังคมชนบท เพื่อสังคมส่วนใหญ่


ในฐานะที่เป็นประชาชนที่คลุกคลีชนบท ขอชื่นชมคณะอาจารย์แพทย์จากจุฬาทุกท่านที่เฝ้าเติมต่อก่อสร้างคนที่มีคุณค่าเหล่านี้ให้บรรลุเจตนารมณ์ ความเป็นแพทย์เพื่อสังคมสำหรับเธอเหล่านั้นในอนาคต ขอบคุณสวนป่าที่เปิดเวทีแห่งความเป็นธรรมชาติอีกมิติที่นิสิตแพทย์ได้สัมผัสและจะเป็นหน่ออ่อนของการเอ๊ะ..ในที่สุด


เบื้องหลัง session บางทรายที่สวนป่า

1644 ความคิดเห็น โดย bangsai เมื่อ 24 เมษายน 2010 เวลา 22:13 ในหมวดหมู่ งานพัฒนาสังคม #
อ่าน: 20770

ได้รับโจทย์จากพ่อครูบาฯว่าจะกระตุ้นอย่างไรให้นิสิตแพทย์รู้จักคิดรักษาคนไปพร้อมๆกับรักษาไข้ในกรณีชนบท

ผมพยายามหาข้อมูลเพิ่มเติมว่า นิสิตแพทย์กลุ่มนี้คือใคร ให้มากที่สุดเท่าที่เวลาและโอกาสจะมีอยู่ โดยการแอบฟังคนโน้นคนนี้คุยกัน โดยเฉพาะกลุ่มหมอพี่เลี้ยงและคุณสุชาดา SCG ที่มาช่วยงานนี้คุยกัน ก็พอได้ภาพคร่าวๆว่าเป็นกลุ่มนิสิตแพทย์กลุ่มพิเศษที่เข้าเรียนแพทย์จุฬาโดยโควตา และต้องออกไปประจำชนบทในท้องถิ่น ที่ผ่านมาหลายคนก็จ่ายเงินเพื่อซื้อตัวออกจากเงื่อนไขดังกล่าวเพื่อก้าวไปข้างหน้า บางคนก็ไปเรียนต่อ… และสภาพปัจจุบันกลุ่มอาจารย์หมอบ่นว่านิสิตแพทย์เรียนหนักมากๆ แต่ละคนจึงไม่ค่อยสนใจอะไรเอาแต่เรียนๆๆๆเพื่อสอบ..และฯลฯ

ช่วงเวลาที่จำกัดผมก็ออกแบบ session ของผมเป็นแบบเบาๆ ง่ายๆ แต่พยายามสะท้อนข้อเท็จจริงให้เขาได้หลักคิดบ้างเท่านั้น ในฐานะที่ผมจบมาทางการศึกษา แต่มาทำงานพัฒนาคนชนบท ก็ออกแบบ session นี้โดย 1) ผมขอกระดาษ a4 แล้วทำตารางสี่เหลี่ยมจัตุรัส ที่มีรูปเล็กๆจำนวน 16 รูป 2) ผมจะต้องแบ่งกลุ่มนิสิตออกสัก 5 กลุ่ม เพื่อให้ทำกิจกรรมร่วมกันโดยการวาดรูปชนบท 3) แล้วให้กลุ่มมา อธิบายงานวาดรูปที่เขาทำ นั้นให้เพื่อนฟัง 4) หลังจากนั้นเป็นการ สะท้อนมุมมองทั้งหมด โดยพยายามโยงให้เข้าโจทย์คือการเข้าใจคนชนบท ในมุมที่แพทย์จะเอามุมมองเหล่านี้ไปใช้ประโยชน์ต่อไปในภายหน้า

กิจกรรมเหล่านี้ผมเล่นมาบ่อยๆ แต่คนละวัตถุประสงค์กัน แต่เครื่องไม้เครื่องมือต้องพร้อมกว่านี้เช่นมีบอรด์จำหรับการเขียนสรุป พื้นที่ติดรูปที่แสดง และ power point ซึ่งผมเตรียมไปบ้าง แต่การจัดสถานที่ต้องออกมานอกห้อง และไม่มีไวท์บอร์ด จึงบกพร่องไปบ้าง ไม่เป็นไร เราทำงานบนความไม่พร้อมตามแนวคิดที่พ่อครูกล่าวบ่อยๆ ได้.. ยืดหยุ่นได้ โชคดีที่ทีมงานอาจารย์แพทย์มีกระดาษ a4 มีสีเทียนกล่องเตรียมมาพร้อมจึงได้ใช้ประโยชน์

1) ผมเริ่มโดยการเอาตารางนี้มาให้นิสิตดู


แล้วถามนิสิตว่าช่วยกันดูว่ามีรูปสี่เหลี่ยมจัตุรัสทั้งขนาดเล็กและใหญ่รวมกันทั้งหมดกี่รูป ทิ้งช่วงเวลาให้นิสิตดูสักพัก จริงๆควรวาดรูปนี้ใหญ่ๆติดไวท์บอร์ดหน้ากลุ่ม แล้วให้ทุกคนพิจารณาดูสักช่วงเวลาหนึ่ง บางคนอาจจะเอากระดาษมาวาดรูปแล้วพยายามนับ หาคำตอบจากโจทย์

เมื่อได้เวลาพอสมควรก็ให้แต่ละคนช่วยกันตอบคำถาม ซึ่งมักพบว่า นับจำนวนได้ไม่เท่ากัน ขาดบ้างเกินบ้าง ซึ่งจริงๆมีจำนวน 30 รูป จริงๆแล้วควรเฉลยโดยการให้แต่ละคนออกมาอธิบายวิธีนับก็ได้ และหาจุดที่ไม่ได้นับ(มองไม่เห็นว่ามันคือรูปสี่เหลี่ยมจัตุรัส) เพื่อให้เกิดการเรียนรู้ในที่ประชุมนั้นว่าจริงๆแล้วมีจำนวนเท่าไหร่แน่ จนทุกคนเห็นพ้องต้องกันหมด เราก็เดินประเด็นต่อไปนี้


ประเด็นของการเรียนรู้ตรงนี้ก็คือ เพราะอะไรคนเราจึงนับจำนวนรูปสี่เหลี่ยมนี้ได้ไม่เท่ากัน ? และสามารถตั้งคำถามอีกมากมายให้เกิดการอภิปรายกันอย่างกว้างขวาง ประเด็นที่สำคัญอีกประเด็นหนึ่งคือ

จากบทเรียนนี้เราพบว่าคำตอบที่ถูกต้องคือ 30 รูป นี่คือข้อเท็จจริง ที่เป็นที่สุด ประเด็นสำคัญ จากบทเรียนเราพบว่า ขนาดเรื่องราวที่เราเห็นกับตา สัมผัสได้ด้วยจักขุสัมผัส โสตสัมผัส อาจจะลุกเดินออกมาดูใกล้ๆ อาจจะเอากระดาษมาลอกโจทย์แล้วลองนับ ก็ยังพบว่า เรานับได้ไม่เท่ากัน ซึ่งนี่คือความจริงในสังคมเรา ทุกอย่างที่เราเห็นนั้น เราเข้าถึงความจริงได้ไม่เท่ากัน แม้รูปธรรมที่เห็นจะจะเราก็เห็นได้ไม่เท่ากัน เรานับได้ไม่เท่ากัน เราเข้าถึงความจริงได้ไม่เท่ากัน ซึ่งมาสาเหตุมากมายของแต่ละคน เบื้องหลังของแต่ละคน เบ้าหลอมของแต่ละคน พื้นฐานของแต่ละคน ประสบการณ์ของแต่ละคน

แล้วเรื่องราวที่เป็นจริงในสังคมนี่ล่ะ….???? แล้วคนที่อยู่ต่อหน้าของเรานี่ล่ะ แล้วคนไข้ที่อยู่ตรงหน้าคุณหมอนี่ล่ะ หมอจะวินิจฉัยอาการอะไรสักอย่างนั้นต้องมีข้อมูลที่มากที่สุด ซึ่งในทางกระบวนการทางวิทยาศาสตร์การแพทย์นั้นมีเครื่องมือช่วยเหลือมากมายที่จะได้มาซึ่งข้อมูลบอกอาการของคนไข้ แต่สาเหตุที่มาของอาการเหล่านั้นก็เป็นเรื่องสำคัญไม่ยิ่งหย่อนกัน…?????

2) ผมทิ้งเรื่องทั้งหมดไว้ตรงนั้นแล้ว เริ่มเรื่องใหม่ แบ่งกลุ่มนิสิตแพทย์เป็น 5 กลุ่ม แล้วเอากระดาษ a4 ให้ แล้วให้โจทย์ว่า แต่ละกลุ่มช่วยกันวาดภาพชนบทให้ได้รายละเอียดมากที่สุดเท่าที่กลุ่มจะทำได้ ให้เวลาสักพักหนึ่ง แล้วให้ตัวแทนกลุ่มออกมาอธิบายรูปที่ตัวเองช่วยกันวาดไปนั้นว่ามีอะไรบ้าง มีความหมายอย่างไรบ้าง ฯลฯ ส่วนมากสนุกครับเพราะความแตกต่างกัน เพราะรูปร่างต่างๆที่เขาวาดลงนั้นมันตลก มันแตกต่าง แต่สาระก็คือ


รูปแต่ละรูปนั้นอธิบายชนบทได้ครบถ้วนมากน้อยแค่ไหน…? ตลอดการเล่นมามักพบข้อเท็จจริงอย่างหนึ่งคือ มักจะมีภูเขาสองลูก มีดวงอาทิตย์ขึ้น มีนกบิน มีกระต๊อบ มีทุ่งนา มีลำธาร มีควาย มีเป็ด ไก่ มีชาวนา บางคนมีมีวัด มีโรงเรียน..ฯ

สรุปเราพบว่า ภาพวาดเหล่านั้นสะท้อนให้เห็นสิ่งที่เป็นกายภาพของพื้นที่มากที่สุด คือสิ่งที่เห็นง่าย สัมผัสได้ง่าย นับได้ง่าย แล้วบางกลุ่มก็ลงลึกไปอีกมีวิถีชีวิต มีสัญลักษณ์สะท้อนวัฒนธรรมบ้าง เช่นวัด โบสถ์ เป็นต้น

ประเด็นหลักที่ต้องการเน้น ให้กลุ่มย้อนกลับไปดูรูปสี่เหลี่ยมที่เรานับมาว่าเราพบว่าบางกลุ่มนับรูปสี่เหลี่ยมได้ไม่ครบข้อเท็จจริง คือ 30 รูป บางคนนับได้ 22 รูป เพราะเขามองไม่เห็นอีก 8 รูป มันเหมือนข้อเท็จจริงที่ซ่อนอยู่เรายังไม่ได้เข้าถึง หรือเข้าถึงไม่ได้ หากไม่รู้คำตอบที่สุดของมันเราก็อาจจะทึกทักเอาว่า ความจริงที่สุดนั้นมีแค่ 22 รูปเท่านั้นทั้งๆที่จริงๆมี 30


แต่เรามักพบว่าสิ่งที่ขาดไปจากรูปที่วาดคือ เรื่อง ความสัมพันธ์ระหว่างคนกับคน คนกับสิ่งแวดล้อม และที่ขาดมากที่สุดคือคนกับสิ่งเหนือธรรมชาติ คือความเชื่อ ต่างๆของหมู่บ้าน ชุมชน ท้องถิ่น ชนเผ่าฯ (อย่าไปเบรมนิสิตว่าเขาบกพร่อง เป็นเพียงการช่วยกันสะท้อนบทเรียนเท่านั้น)

3) สรุป โดยปกติเรามักจะเข้าถึงความจริงทั้งหมดไม่ได้อย่างทันที ต้องใช้เครื่องมือ ใช้ประสบการณ์ ใช้มุมมองที่ฝึกฝนมา ใช้ตัวช่วย ใช้…….เพราะไม่มีใครเข้าถึงความจริงของคนเพียงหนึ่งคนได้ทั้งหมด ยิ่งเป็นครอบครัว ชุมชน ท้องถิ่น ฯ แต่การยับยั้งชั่งใจ การตั้งสมมุติฐาน การค้นคว้าหาข้อเท็จจริงเรื่อยๆ สร้างฐานข้อมูลที่ครบถ้วนให้มากที่สุดเท่าที่ความจำเป็นควรจะมี ฯลฯ ข้อมูลเหล่านั้นมีส่วนสำคัญในการช่วยให้นักพัฒนาเข้าใจมากขึ้น เข้าถึงข้อเท็จจริงมากขึ้น ตัดสินใจถูกต้องมากขึ้น ในมุมมองของแพทย์ ข้อมูลบุคคลหากมีมากที่สุดช่วยให้คุณหมอวินิจฉัยโรคได้ถูกต้องมากขึ้น…?

แต่หลายเรื่องมันไม่ง่ายนักของการได้มาของข้อมูล เช่น ความเชื่อต่างๆ หรือ วัฒนธรรมการบริโภคของคนบางชุมชน บางชนเผ่า บางท้องถิ่น ที่เหมือนเป็นรูปสี่เหลี่ยมที่เรานับไมได้ เหมือนมันซ่อนอยู่ที่เรามองไม่เห็น สัมผัสไม่ได้ หากไม่มีระบบข้อมูลป้อนให้ หรือเราไม่ sense เราไม่ตระหนัก เราฉาบฉวย เราไม่ฉุกคิด เราไม่เอ๊ะ เรา..ฯลฯ

มีเรื่องราวมากมายที่เกิดขึ้นในสังคมที่มีเหตุมาจากเรื่องนี้


นอกจากนี้แล้วชนบท คนชนบทยังมีบริบทที่คนเมืองเข้าใจผิดพลาดมาก็เยอะ เช่น ภาษาถิ่น ยิ่งคนชนบทนั้นมีภาษาของเขา มีสำนวนของเขา มีบริบทการสื่อสารของเขาเอง.. คนเมืองย่อมเข้าใจคลาดเคลื่อนได้ ยิ่งคนที่ไม่คุ้นเคยกับชนบท บริบทของภาษาถิ่นย่อมรับทราบสำนวนคำตอบของชาวบ้านที่ผิดพลาดได้ แค่คำถามของคนเมืองบ่อยครั้งชาวบ้านก็ไม่เข้าใจ …. ฯลฯ สิ่งเหล่านี้คือจุดเปราะบางที่ทำให้เราเข้าไม่ถึงความจริงทั้งหมดได้ หากไม่ตระหนัก ไม่เข้าใจ และไม่พยายามทำความเข้าใจ ไม่พยายามสร้างระบบที่จะก่อให้เกิดความเสี่ยงน้อยที่สุด ฯลฯ

จากดังกล่าวทั้งหมด นักกระบวนกร สามารถที่จะให้เทคนิคของตัวเองเปลี่ยนวัตถุประสงค์ไปใช้ในสาระอื่นๆได้ตามการสร้างสรรค์ของกระบวนกร และใช้เทคนิคเฉพาะตัวสร้างสรรค์การเรียนรู้ได้มากกว่าที่กล่าวมาทั้งหมดมากมาย


สะท้อน กรณีนิสิตแพทย์ที่สวนป่า

- นิสิตแพทย์ตอบคำถามเรื่องรูปสี่เหลี่ยมได้ดี ตอบจำนวนได้ถูกต้อง ซึ่งหลายครั้ง หลายกลุ่มไม่มีใครตอบถูกเลย ข้อสังเกตว่านิสิตแพทย์เก่งในเรื่องเหล่านี้ค่อนข้างมากกว่ากลุ่มอื่นๆ

- สาระภาพรวมทั้งหมดนั้น นิสิตมีพื้นฐานมาก่อนแล้วเพราะบางคนตอบว่า เคยเรียนเรื่องเหล่านี้มาแล้ว จึงเข้าใจได้…??

- นิสิตมีคำอธิบายภาพได้เป็นเรื่องราวได้ดีสมควร แต่ก็น้อยไปในเรื่องที่กล่าวมาข้างต้นคือความสัมพันธ์คนกับคน คนกับสิ่งแวดล้อมและคนกับสิ่งเหนือธรรมชาติ เพราะน้องๆเหล่านี้ส่วนใหญ่เป็นคนเมือง ได้ถามบางคนที่เป็นเด็กอีสานว่ารู้จักเจ้าปู่ หรือปู่ตาไหม เธอบอกว่าไม่รู้จัก จริงๆ ปู่ตาคือศาลเจ้าที่ประจำชุมชนที่ชาวบ้านเคารพนับถือ มากน้อยแตกต่างกันไป บางชุมชนนับถือมาก ใครจะเข้าจะออกจากหมู่บ้านก็ต้องไปกราบไหว้ รวมไปถึงยามเจ็บไข้ได้ป่วย หรือการรักษาโรคภัยไข้เจ็บด้วย..

- บรรยากาศ อาจจะกร่อยไปหน่อยเพราะ ขาดเครื่องมือที่ผมมักใช้คือ ไวท์บอร์ด กระดาษร่างแบบ ที่ช่วยให้เกิดการบันทึก การเขียนความคิดเห็นลงไป ยิ่งในช่วงระดมความคิดเห็น ควรที่จะบันทึกลงในกระดานหน้าชั้นให้ทุกคนเห็นมากกว่าการพูดเพียงอย่างเดียว

- ฯลฯ อาจจะมีเพื่อนๆช่วยสะท้อนเพิ่มเติมได้ครับ



ไปดูรอยตีน..

230 ความคิดเห็น โดย bangsai เมื่อ 31 มีนาคม 2010 เวลา 13:08 ในหมวดหมู่ งานพัฒนาสังคม #
อ่าน: 3362

เช้าวันจันทร์มีนัดหลายนัด วันอังคารก็นัดต่อ คนหนึ่งในนั้นคือ ท่านนายก อบต.สายนาวัง อ.นาคู จ.กาฬสินธุ์ ท่านบำรุง คะโยธา สหายเก่าและนักเคลื่อนไหวชาวภูไทตัวฉกาจ สมัย คจก. นั่นท่านคงเคยผ่านหูผ่านตามาบ้าง ผมไม่ได้ไปนัดใส่เสื้อสีใดๆ และไม่ได้ชวนกันลงมา กทม.วันหยุดข้างหน้านี่หรอก เขาเป็นเพื่อนรักผม พอดีมีงานที่เกี่ยวข้องกันในเรื่องการพัฒนาชนบท เลยโทรไปนัดหมายจะไปปรึกษาหารือกัน


ปัจจุบันท่านเป็นนายก อบต.สายนาวังที่ยกระดับทั้งตำบลเป็นเขตเกษตรอินทรีย์หมด บริหาร อบต.แบบธรรมมาภิบาลดูซิมันจะอยู่ได้ไหม ปรากฏว่าอยู่ได้ แต่ลูกน้องหลายคนลาออกไปที่อื่น บอก อดอยากปากแห้ง ไม่มีน้ำหล่อเลี้ยงเลย..อิอิ มีเวลาเหลือก่อนไปพบจึงถือโอกาสขับรถปีนเขาไปดูรอยตีน..สัตว์


ไดโนเสาร์ที่ภูแฝก ซึ่งอยู่บนเส้นทาง สมเด็จ-นาคู พอผ่านหมู่บ้านขึ้นเขา ผ่านสำนักงานอุทยานเท่านั้นแหละ ป่าทั้งป่าก็มีสภาพที่เห็น ผมตกใจว่าถนนนั้นดีกว่าถนนในหมู่บ้านจำนวนมาก ไม่เป็นอุปสรรคในการนำรถแก้ปัญหาไฟป่าขึ้นมาจัดการเลย ทำไมสภาพจึงเป็นเช่นที่เห็น


ผมทำงานที่โครงการกลุ่มป่าห้วยขาแข้ง กับท่านรองเลขาฯ ส.ป.ก. ดร.วีระชัยฯ อยู่ที่นั่น 5 ปี งานหลักหนึ่งก็คือป้องกันไฟป่า เราลดจำนวนการเกิดไฟป่าได้โดยประสานงานกันระหว่างเจ้าหน้าที่ป่าไม้กับชาวบ้านที่ตั้งกองดับไฟป่าขึ้นมา ซื้อเครื่องมือดับไฟป่าให้ ฝึกอบรมและมีเบี้ยเลี้ยงให้เมื่อออกไปดับไฟป่า


ใครก็รู้ว่า ไฟป่านั้นทำลายมากกว่ามีประโยชน์ หลายท่านไม่ทราบนะครับว่า มุมหนึ่งของไฟป่านั้นมีประโยชน์ แต่ต้องอยู่ภายใต้การควบคุม แต่โทษมากมายมหาศาล ที่เห็นนี่คือเปลือกต้นไม้ที่กำลังอยู่ระหว่างหนุ่มสาว กำลังเติบโต โดนไฟป่าลวก ผิวไหม้เกรียม เขาก็เกิดแผล เชื้อโรคอาจจะเข้าไป ทำให้เกิดปัญหาคุณภาพเนื้อไม้ และการโดนไฟป่านั้นเขาจะชะงักการเจริญเติบโตโดยธรรมชาติ

นักป่าไม้ทราบดี มีการศึกษาเรื่องนี้โดยเอาวงปีการเจริญเติบโตของต้นไม้มาศึกษาพบหลักฐานเช่นนั้นจริงๆ และเรื่องนี้ยังใช้ทำนายย้อนหลังไปในอดีตได้ว่าปีไหนบ้างที่เกิดไฟป่า ใหญ่เล็กแค่ไหน เมื่อไหร่ ตรงไหน หากไฟป่าไหม้ทุกปี ป่าตรงนั้นจะค่อยๆแปรสภาพจากป่าดงดิบกลายเป็นป่าเบญจพรรณ กลายเป็นป่าหมดสภาพไปในที่สุดเพราะไฟป่านี่แหละ


อ้าวจะพาไปดูรอยตีน…. อิอิ รอยเท้าไดโนเสาร์ที่ภูแฝกนี่ มีให้เห็นของจริง เป็นชนิดไหน ก็ชนิดที่รูปข้างล่างนี่แหละ ไม่มีข้อมูลมาทำนิทรรศการให้คนผ่านไปมาได้อ่าน อยากรู้ก็ถามเจ้าหน้าที่เอา แล้วคุณพ่อจะมานั่งตอบคำถามคอยนักท่องเที่ยวตลอดเวลารึเปล่า ทำไมไม่ทำข้อมูลอธิบายไว้ในสถานที่เหมาะสม..หึหึ ระบบข้อมูลบ้านเรานี่แย่จริงๆ



วันที่ผมไปนั่นมีเด็กนักเรียนมากันเป็นร้อยคนระดับประถม สนุกกันใหญ่ เสียงเด็กดังทั่วป่า น่ารักดีนะ แต่ละคนก็เต็มที่ ครูพี่เลี้ยงพูดไปก็ดุไปว่า ฟังหน่อย ดูทางนี้หน่อย หะหะ เหมือนจับปูใส่กระโด้ง ดีมากๆที่เอาเด็กมาเรียนรู้ธรรมชาติ แต่อากาศร้อนมาก เหงื่อเต็มหน้าหมด แต่เขาก็สนุกนะ..


ขากลับผมถ่ายรูปถนนอีกส่วนหนึ่งที่ไม่โดนไฟไหม้ มันแตกต่างโดยสิ้นเชิง เออ พลังเหลือเฟือที่มาอยู่ที่กรุงเทพฯ หากเอามาทำประโยชน์ที่นี่ก็คงจะดีนะครับ..

อิอิ..


แรงเหวี่ยงทางสังคม

80 ความคิดเห็น โดย bangsai เมื่อ 29 มีนาคม 2010 เวลา 5:50 ในหมวดหมู่ งานพัฒนาสังคม, ทุนสังคม #
อ่าน: 2717

รูปข้างล่างนี้ผมถ่ายมาเมื่อไปพักที่เขื่อนห้วยหวด สกลนคร เมื่อเดือนที่แล้ว ตอนถ่ายรูปก็ไม่ได้คิดอะไรแต่เมื่อมานั่งดูรูป ดูน้ำหมุนจากหัวจ่ายน้ำนี้เห็นเม็ดน้ำทั้งใหญ่และเล็กกระเด็นออกจากศูนย์กลางการหมุน นอกจากมองในมุมสวยแล้วมันยังสอนอะไรให้เราอีก


ผมมานั่งพิจารณาได้เห็นในสิ่งที่เห็น

ถ้าไม่มีแรงหมุนก็ไม่มีแรงเหวี่ยง ไม่มีแรงสลัด ผลที่เกิดคือ ไม่มีการกระเด็นของน้ำ ไม่มีการแตกกระจายของน้ำ ตรงกันข้ามน้ำยังเกาะรวมกันอยู่

ถ้ามีแรงหมุนน้อย แรงเหวี่ยงน้อย ผลที่เกิดคือ น้ำกระเด็นน้อย การแตกกระจายน้อย การกระเด็นไกลจากศูนย์กลางน้อย ตรงกันข้ามการเกาะตัวของน้ำก็มีอยู่ตามศักยะของเขา

ถ้ามีแรงหมุนมาก แรงเหวี่ยงมาก ผลที่เกิดคือ น้ำกระเด็นมาก การแตกกระจายมาก การกระเด็นไกลจากศูนย์กลางมาก ตรงกันข้ามการเกาะตัวของน้ำก็มีอยู่ตามศักยะของเขาซึ่งน้อย


ถ้ามีแรงหมุนมากและศูนย์กลางไม่นิ่ง หรือมีองศาของการเหวี่ยงเข้ามาอีก แรงเหวี่ยงมากนั้นก็แกว่างไปด้วย ผลที่เกิดคือ น้ำกระเด็นมาก การแตกกระจายมากจากแนวระนาบ น้ำที่กระเด็นออกแตกเป็นเม็ดเล็กๆจำนวนมากด้วย ตรงกันข้ามการเกาะตัวของน้ำก็มีอยู่ตามศักยะของเขาซึ่งน้อยลงมากมาก

และหากแรงหมุนมากมายมหาศาล เมื่อมีเครื่องมากำกับบางอย่างเช่น ยูเล็ม ของ อ.แฮนดี้ น้ำก็จะแตกเป็นฝอยละอองเล็กๆ แรงเกาะเกี่ยวในเม็ดเล็กๆของน้ำก็เกือบจะไม่มีเลย เม็ดเล็กๆของน้ำก็ปลิวไปตามลมที่พัดมา


รูปแรงเหวี่ยงของน้ำช่างไปตรงกับรูปจักรวาล ซึ่งมีเหตุมีผลที่ใกล้เคียงกัน แต่การที่เทหวัตถุ หรือดวงดาวเล็กใหญ่ไม่กระเด็นปลิวหายไปจากศูนย์กลางหมดนั้นเพราะมีแรงเกาะเกี่ยวกันอยู่ระหว่างเทหวัตถุและกับศูนย์กลางจักรวาล

การเห็นในเห็นนั้น ผมเห็นสังคมดั้งเดิมของเรามีทุนทางสังคมสูงมากๆ มีความเอื้ออาทร มีน้ำใจ มีอภัย มีละวาง มีอโหสิ มีการตอบแทน มีทดแทน มีอาวุโส มีศรัทธา มีความรักในความแตกต่าง โดยมีศาสนาเป็นแกนกลางมีวัฒนธรรมที่สังคมดึงเอามาปฏิบัติ เป็นตัวบ่มเพาะ หรือเป็นเบ้าหลอมคนในสังคม โดยมีโครงสร้างวัดที่เป็นสถานที่ที่เรียนหนังสือ มีคุณครูที่ไม่มีใจโอบอ้อมอารีในความเป็นลูกหลานของนักเรียนมากกว่า มีประเพณี พิธีกรรมเป็นตัวปฏิบัติ นี่คือแรงเกาะเกี่ยวทางสังคมแต่ก่อน


เมื่อสังคมพลวัตรไป เคลื่อนที่ไป บนทิศทางนัยความทันสมัย ก้าวหน้า ศิวิไลซ์ ความแตกสลายของดีเดิมๆก็ค่อยๆเกิดขึ้น แรงเกาะเกี่ยวทางสังคมก็ลดลงจนบางเรื่องหายไป สมัยก่อน เดินสวนพระต้องนั่งลงและหลีกทางให้พระท่านเดินได้สะดวกกว่า สมัยก่อนหน้าบ้านมีหม้อน้ำดินที่ไว้สำหรับสาธารณะดื่มกินอันเป็นการแสดงความเอื้ออาทรต่อกัน ผู้ใหญ่เอ็นดูผู้น้อยกว่า ผู้น้อยเคารพผู้ใหญ่


แรงเหวี่ยงทำให้เกิดการแบ่งเป็นสองกลุ่มที่แยกออกจากศูนย์กลาง

แต่พลวัตรสังคมคือการเปลี่ยนแปลงทางสังคม การเคลื่อนที่ของสังคม คือหมุนของสังคม เกิดความแตกต่างมากขึ้น สภาพการแตกต่างของสังคมคือแรงเหวี่ยง แรงสลัด ก่อให้เกิดการกระเด็นหลุดออกจากใจกลางแบบเดิมๆ หากตัวเมืองเคลื่อนไปเร็วเกินไปก็สลัดชนบทหลุดออกจากความสมดุล กลายเป็นความแตกต่าง ซึ่งจะพัฒนาไปสู่ความแตกแยก อาจจะมีแต่แรงผลักหรือแรงสลัด ไม่มีแรงเกาะ อันตรายจริงๆ…

ความขัดแย้งทางสังคมก็คือแรงสลัดแบ่งแยกคนในสังคมออกเป็นกลุ่มเป็นพวก เป็นสี เป็นอคติ เป็นความแตกต่างที่พลวัตรไปสู่ความแตกแยก หากไม่สร้างแรงเกาะเกี่ยวที่มากเพียงพอ โอกาสหลุดออกไปจากแกนกลางย่อมมีสูงมากขึ้น

จุดอ่อนของสังคมไทยปัจจุบันนั้นมีมากมายที่ปราชญ์สังคมไทยกล่าวไว้ ประการหนึ่งก็คือ ทุนทางสังคมของเราเจือจางลงไปมาก เรามีกิจกรรมมากมายที่ไม่ได้เสริมสร้างทุนทางสังคม กีฬา กีฬาเป็นยาวิเศษ แข่งฟุตบอลกันแล้วก็ตีกันหัวร้างข้างแตก ยิ่งกีฬากลายเป็นธุรกิจ ก็ยิ่งทำลายทุนทางสังคมให้แตกสลายลงไปเร็วขึ้น

อ้าว…ร่ายยาวตั้งแต่เช้ามืดเลย อิอิ..จบก่อนดีกว่า..


ม๊อบที่มุก…

103 ความคิดเห็น โดย bangsai เมื่อ 15 มีนาคม 2010 เวลา 16:11 ในหมวดหมู่ งานพัฒนาสังคม #
อ่าน: 2109

ที่กรุงเทพฯกำลังร้อน ร้อนทั้งอากาศ การเมือง ข่าวบอกว่ายิง M 79 กันแล้ว

ที่มุกดาหาร สำนักงาน ส.ป.ก.อันเป็นที่ทำงานของโครงการที่ผมดูแลก็มีม๊อบเกษตรกรมายึดอยู่ ร้อนไม่แพ้กรุงเทพฯ..


วันแรกๆก็ปิดประตูไม่ให้เข้า ไม่ให้ออก มาวันนี้เปิดปกติ ดูบรรยากาศซิครับ ยึดที่จอดรถเป็นที่กินที่นอน ราวตากผ้า ทำกิจกรรมสานตะกร้า เสร็จ


กลางวันอากาศร้อน ก็ถือโอกาสหยุดการปราศรัย พักผ่อน ใครผมยาวก็มาตัดผมกัน ตัดเสร็จก็อาบน้ำกันตรงนั้นแหละ เย็นสบายดี ก็ช่วยให้อารมณ์ลดดีกรีลงมาได้บ้าง


สตรีที่เหน็ดเหนือยการเป็นครัวหนุนหลังก็นอนพักผ่อนซะก่อนตกเย็นๆค่อนออกมาปราศรัยบริภาษ ส.ป.ก.ใหม่อีก


มาบริภาษเขา แต่เรียกร้องให้มาบริการน้ำดื่มเย็นๆ เอาเต้นท์มากางให้ เอาข้าวมาบริการ มาทำความสะอาด ฯลฯ โอย ม๊อบอะไรนี่… ส.ป.ก.ก็ทำตามงกๆ ไปซื้อข่าวสารมาให้เป็นกระสอบ ส้วมเต็มก็เอารถมาดูดส้วม น้ำท่าไม่สมบูรณ์ก็ขนมาให้ ยังจะมานั่งฟังเจ้านายด่าเช้าด่าเย็นอีก

ไม่มีที่ไหนอีกแล้วที่เป็นเช่นนี้ ดูดูก็ขำ แบบขำไม่ออกอ่ะ

เรื่องราวมันเป็นอย่างไรล่ะ

ก็มันซับซ้อนพอสมควร มีการเมืองเข้ามาด้วยซิ ไม่ขอลงรายละเอียดหรอก ทั้งหมดนี้ไม่ได้อยู่ในความรับผิดชอบของผม แต่อดสงสารท่าน ปทจ.ที่ต้องรับหน้าเสื่อไม่ได้ … การเมืองนี่มันยุ่งไปหมด ระบบเสีย หลักการเสีย แนวทางการทำงานเพื่อความยั่งยืนเสีย แนวทางเพื่อการพึ่งตนเองเสีย…..อีกฝ่ายก็คงคิดว่า ทำเพื่อเรียกคะแนนเสียงชาวบ้าน อย่างอื่นกูไม่คิด

พัฒนาการทางการเมืองมันไม่ใช่พัฒนาไปสู่ความเป็นเลิศ ประเสริฐศรี แต่มันพัฒนาการไปสู่ความยุ่งเหยิงซะมากกว่าที่เขาเรียก Chaos นั่นน่ะซี…

เฮ่อ..การเมือง

ที่มุกไม่มีการยิง M 79 ไม่ได้ยิง M 100 หรือ M 150 แต่ยิงคำผรุสวาท ครับ… ไม่รู้ไปเลียบแบบที่ไหนมา..หุหุ




Main: 0.26738405227661 sec
Sidebar: 0.077842950820923 sec