แตงกะน้ำ..

11 ความคิดเห็น โดย bangsai เมื่อ 14 มีนาคม 2010 เวลา 20:13 ในหมวดหมู่ งานพัฒนาสังคม #
อ่าน: 960

บางทราย: แตง…เธอคิดอย่างไรต่อแดง…ชาวบ้านแถวบ้านเธอคุยกันว่าอย่างไรบ้างล่ะ

แตง: โอย…เมื่อสองสามวันมีคนไปประกาศว่าให้ไปลงชื่อเป็นสมาชิกแดง เอาทักษิณกลับประเทศไทย แล้วจะได้เงินใช้ ก่อนหน้านี้เขาก็เอาเงินมาแจก หนูยังไปรับของเขาเลย ได้มา 500 บาท..

บางทราย: ชาวบ้านคิดอย่างไรล่ะ..

แตง: เขาชอบทักษิณ เพราะทำให้ชาวบ้านมีเงินกู้ เศรษฐกิจดี

บางทราย: น้ำ เธอคิดอย่างไรต่อแดงล่ะ

น้ำ: เขาดีนะ คนจนๆรักษาฟรี มีเงินในหมู่บ้าน ถูกกลั่นแกล้งทางการเมือง

บางทราย: น้ำ เธอไม่รู้ใช่ไหมว่า สามสิบบาทรักษาทุกโรคนั้น ทักษิณไม่ได้เป็นคนคิด คุณหมอสงวนและเพื่อนๆหมอเป็นคนคิด แล้วทักษิณเห็นดีก็เอาไปเป็นนโยบายของพรรคการเมืองเขา

น้ำ: หนูไม่รู้หรอก แต่เขาก็ดีนี่นะ อภิสิทธิ์มาแย่งตำแหน่งเขาไป

……..

สังคมไทยเรานั้นตกอยู่ภายใต้การโฆษณาชวนเชื่อ หรือ..

สังคมไทยเราตกอยู่ภายใต้การนำของระบบสื่อสารมวลชน หรือ..

สังคมชนบท กลุ่มคนรากหญ้า หรือคนชั้นล่างนั้น รับเฉพาะสิ่งที่เห็น ที่ได้ยิน สิ่งที่ได้มา แต่เหตุผลเบื้องหลังของที่เห็น การได้ยิน การได้มาคืออะไร ไม่มีข้อมูลมาประกอบการตัดสินใจในสิ่งที่เห็น ได้ยิน…

น่ากลัวจริงๆ… เพราะสิ่งใกล้ตัวของผมนั้นคือพี่น้องดงหลวงก็ไม่ก้าวข้ามสิ่งที่ผมกล่าวมานั้น

หากว่าคนไทยนับถือศาสนาพุทธ และศาสนาพุทธมีคำสอนมากมายถึงเรื่องที่ผมกล่าวมาทั้งหมดว่าอย่าเชื่อเพราะคนพูดน่าเชื่อถือ และ…..

แต่จริงๆพุทธศาสนิกชนก็เป็นแค่คนที่มีชื่อในบัตรประจำตัวประชาชนที่ระบุว่ามีศาสนาพุทธเท่านั้นหรือ….

โครงการพัฒนาเช่นที่ผมทำ และรับผิดชอบอยู่นี้จะมีส่วนมากน้อยแค่ไหนต่อประเด็นเหล่านี้ คือโจทย์ใหญ่ที่แบกอยู่


พระธาตุอิงฮัง..

1819 ความคิดเห็น โดย bangsai เมื่อ 11 ธันวาคม 2009 เวลา 21:12 ในหมวดหมู่ งานพัฒนาสังคม, เรื่องทั่วไป #
อ่าน: 40236

ผมไม่ได้ข้ามไปฝั่งสะหวันนะเขตบ่อยนัก นอกจากมีภารกิจเท่านั้น แต่คราวนี้ต้องพาผู้ใหญ่เบอร์สองไปเที่ยว ก็เลยต้องข้ามไป ก็แปลกหูแปลกตาไปพอสมควร


ยังจำได้ว่าเราเคยพาคณะกรรมการตลาดชุมชนของ 4 จังหวัดไปฟังประธานหอการค้าจังหวัดพูด สมัยนั้นคือ ดร.อีดิธ เป็นฝรั่งนะครับพูดไทยได้ และเป็นประธานหอการค้าจังหวัด ท่านอย่าแปลกใจว่าทำไมฝรั่งมาเป็นตำแหน่งสำคัญนี้ ก็เพราะเธอแต่งงานกับคนไทย เธอทำธุรกิจศูนย์ โตโยต้า ที่มุกดาหาร

หลังจากนั้นเราก็พาเกษตรกรข้ามประเทศไปคารวะท่านกงสุลใหญ่ประเทศไทยประจำแขวงสะหวันนะเขต ฟังท่านบรรยายและทานอาหารกลางวัน พอเดินทางกลับมาฝั่งไทย ส่งทุกคนกลับบ้าน ข่าวสึนามิถล่มฝั่งอันดามันไทยก็ประกาศลั่น


อาคารนี้สำหรับซื้อตั๋วเข้าพระธาตุ            อาคารเล็กๆนี้สำหรับสตรีนุ่งผ้าถุง

ข้ามไปฝั่งสะหวันนะเขตก็ต้องไปกราบพระธาตุอิงฮัง ซึ่งไกลออกไปประมาณ 14 กม. พระธาตุองค์นี้มีความสำคัญเท่ากับพระธาตุนครพนม ชาวบ้านสองฟากฝั่งให้ความเคารพบูชาเหมือนกัน เท่ากัน ผมชอบประเพณีที่นี่คือ ห้ามสตรีเดินเข้าไปชั้นในของตัวองค์พระธาตุ ได้แต่กราบไหว้ด้านนอกเท่านั้น และจะเข้าบริเวณวัด จะต้องนุ่งผ้าถุง.เท่านั้น….???


ดีจังเลย…สาวไทยที่นุ่งกางเกงเอวต่ำเอวสูงไม่มีสิทธิเข้าไปกราบนอกจากจะซื้อบัตรผ่านแล้วไปเอาผ้าถุงมาใส่ทับกางเกงเข้าไป ซึ่งเขามีบริการสุภาพสตรีครับ ค่าบัตรผ่านก็ราคา 5,200 กีบครับ คิดเป็นเงินไทยก็ 20 บาท สาวไทยยุคโลกาภิวัตน์บางคนก็ไม่เคยนุ่งผ้าถุงมาเลย ดูเขินๆ และคอยจะหลุดอยู่เรื่อย ต้องคอยจับ อิอิ..


ผู้ที่จะไปกราบพระธาตุจะต้องซื้อ เครื่องบูชา เหมือนบายศรี แบบที่เห็นนี้ จะมีชาวบ้านทำมาวางขายข้างทางริมถนนก่อนถึงพระธาตุ ที่บริเวณวัดจะไม่มีเครื่องบูชานี้ขาย จะมีแต่ธูปเทียนเท่านั้น



ขอไม่เล่าประวัติพระธาตุอิงฮังนะครับ สภาพทั่วไปก็ไม่หรูหรา เท่าพระธาตุพนมของเรา แต่ความหรูหราไม่ใช่สาระ ความศรัทธาต่างหากที่พี่น้องลาวไทยตลอดริมโขงบริเวณนี้ต้องมากราบไหว้สักครั้งในชีวิต


ใกล้ๆองค์พระธาตุจะมีศาลาหลังย่อมๆ มีพระและแม่ชีมานั่งประจำหมุนเวียนกัน เพื่อให้ผู้มีศรัทธาเข้าไปขอพรและให้ผูกข้อมือ โดยจะบริจาคหรือไม่ก็ไม่กะเกณฑ์ใดๆ


ด้านหน้าขององค์พระธาตุจะมีผู้เฒ่าคอยทำพิธีพิเศษให้ท่านที่ต้องการตรงบานประตูเข้าองค์พระธาตุ สังเกตเห็นว่า เครื่องบูชานั้นจะถูกนำไปวางเรียงกันที่ฐานองค์พระธาตุ และจะมีมะพร้าวอ่อนที่เปิดกะลาออกแล้วพร้อมดื่มน้ำ วางเรียงด้วยกัน ผมไม่มีโอกาสสอบถามรายละเอียด เดาเอาว่า น่าจะเป็นเครื่องบูชาอีกประการหนึ่ง ตามความเชื่อเฉพาะของที่นี่

ที่น่าสนใจอีกอย่างคือ หากใครเป็นคนช่างสังเกตที่บานประตูที่ปิดทองนั่นนะครับมีภาพ อีโรติคแกะสลักอยู่ ไม่ได้สอบถาม จึงไม่มีคำอธิบายครับ แต่เอามาให้ชมกันเป็น “รหัสธรรม” ก็แล้วกัน


มีโปรแกรมอื่นอีกเราก็เดินทางออกจากที่นี่ มาถึงปากซอยก่อนจะเลี้ยวเข้าตัวเมืองสะหวันนะเขต ก็เห็นภาพนี้ครับ


ชนบทที่ไหนๆก็มีภาพเหล่านี้ครับ

มุมหนึ่งก็นึกไปว่า ประเทศที่ปกครองด้วยอีกลัทธิหนึ่งนั้น ก็ไม่น่าที่จะมีภาพเหล่านี้ปรากฏ ก็ไหนว่า ลัทธิทุนนิยมงมงาย ฟุ้งเฟ้อ มีแต่ขยะทางจิตวิญญาณสะสมให้แก่เด็กยุคใหม่ที่จะเป็นอนาคตของประเทศ นี่คือความจริง

คิดอีกทีก็เพราะมีอย่างนี้น่ะซีจึงมีคนอย่างเราเข้ามาทำงานพัฒนาชนบท หากดีไปหมดเราก็ตกงานน่ะซี อิอิ อิอิ..ยุส่งไปเลย…


ไป Sawan Vegus..วันรัฐธรรมนูญ 52

11 ความคิดเห็น โดย bangsai เมื่อ 10 ธันวาคม 2009 เวลา 21:55 ในหมวดหมู่ งานพัฒนาสังคม, เรื่องทั่วไป #
อ่าน: 2914

รถมินิบัสคันสวยที่เห็นนี้ เห็นเผินๆก็น่าจะนึกถึงกลุ่มนักท่องเที่ยวที่กำลังจะไปท่องเที่ยวที่ไหนสักแห่งหนึ่ง


แต่หากจะดูชัดๆที่หน้ารถคันสวยนี้จะเห็นคำว่า Sawan Vegus, Hotel & Casino

นี่คือรถที่รับคนจากฝั่งมุกดาหารไปแขวงสะหวันนะเขต ตรงรี่ไปที่ บ่อนคาสิโนใหม่ที่นี่


นี่คือป้ายใหญ่บอกว่าข้างหน้าคือโรงแรมหรูและคาสิโน หรือเรียกชัดๆคือ บ่อนใหญ่ที่ถูกกฎหมาย


ที่หน้าบ่อน Sawan Vegus มีโฆษณาใหญ่ที่เร้าใจคอพนันคือ โชคใหญ่ทุกเดือนคือรถปิคอัพโตโยตาไฮลัคคันนี้ ผมเห็นทะเบียน มุกดาหารด้วย….


นี่คือประตูทางเข้าบ่อนใหญ่ ท่านสังเกตไหมครับว่าเขาใช้ภาษาไทยและอังกฤษ ทำไมไม่ใช้ภาษาลาว??

ชายสองคนขวามือนั่นคือเจ้าหน้าที่ของโรงแรมและบ่อนแห่งนี้ ทำหน้าที่ตรวจบัตรสำหรับคนที่นั่งรถมินิบัสของบ่อนเข้ามาโดยตรง เขาจะ มีบริการพิเศษ แต่มีเงื่อนไขคุณจะต้องเล่นการพนันไม่อย่างใดก็อย่างหนึ่งอย่างต่ำ 100 บาท..นี่คือคำกล่าวของพนักงานขับรถที่ผมนั่งไป..

ก่อนก้าวไปข้างในบ่อนใหญ่แห่งนี้ พนักงานขับรถบอกว่าให้เก็บกล้องถ่ายรูปไว้ในรถ ห้ามเอาเข้าไปเด็ดขาด.. เลยไม่ได้ภาพมา ก็เล่าให้ฟังก็แล้วกัน

เป็นห้องโถงใหญ่มาก หลังคาสูง พื้นปูพรม ทั้งหมด เปิดแอร์เย็นฉ่ำ พื้นที่ขนาดสี่เหลี่ยมจัตุรัสขนาดใหญ่นี้ มีเครื่องเล่นการพนันที่ใช้ระบบคอมพิวเตอร์จัดการ มีพนักงานจัดการเล่นเป็นสตรีหน้าตาดี น่าจะมีสัก 30 โต๊ะกระจายอยู่ตรงกลางห้อง แต่ไม่ทราบเลยว่าแต่ละโต๊ะนั้นเรียกว่าอะไรบ้าง ด้านในสุดซึ่งตรงข้ามกับทางเข้าเป็นพื้นที่สล๊อทแมชีน.. มีจำนวนประมาณ 10 ตัว

มีจังหวะที่คุยกับพนักงานบ่อนแห่งนี้เป็นเด็กหนุ่มหน้าตาดี เขาพยายามอธิบายว่าเป็นอย่างไรบ้าง..

  • เด็กหนุ่มชี้ไปที่โต๊ะทุกโต๊ะว่ามีกระดาษขาวขนาดครึ่ง A 4 เขียนว่า ห้ามประชาชนลาวมาเล่นการพนันเด็ดขาด
  • ที่นี่เปิดตลอด 24 ชั่วโมง โดยมีพนักงานแบ่งเป็น 3 กะๆละ 8 ชั่วโมง
  • ได้เงินเดือน 4000 บาท แต่มีสวัสดิการมาก พอใจ
  • ผมถามว่าเป็นคนที่ไหน เขาบอกว่าเป็นคนจำปาสัก ถามว่าเรียนจบอะไร เขาบอกว่า จบปริญญาตรีที่สะหวันนะเขตด้านภาษาอังกฤษ? พนักงานทุกคนที่นี่พูดภาษาอังกฤษได้..!
  • เครื่องดื่มฟรี พร้อมกับชี้ไปที่พนักงานใส่เสื้อขาวแขนยาวว่าเขามีทีหน้าที่บริการด้านนี้
  • ก่อนที่จะถามอะไรไปมากกว่านี้เด็กหนึ่งคนนี้ก็ขอตัวไปก่อน

มุมหนึ่งมีป้ายภาษาไทยขนาดใหญ่ว่า รับพนันกีฬา ใต้ป้ายนี้มีจอทีวีขนาดใหญ่ที่กำลังถ่ายทอดการแข่งฟุตบอลต่างประเทศอยู่ หน้าจอนั้นมีโซฟาอย่างดีกลุ่มใหญ่รองรับคนที่สนใจการพนันประเภทนี้

มองไปที่ผู้เล่นการพนันตามโต๊ะต่างๆ ผู้หญิงมากกว่าผู้ชายประมาณ 60-40 วัยกลางคน หน้าตาก็ธรรมดา ไม่ใช่คุณหญิงคุณนาย บางโต๊ะน่าจะเป็นสามีภรรยากันด้วยซ้ำไป มีโต๊ะว่างประมาณ 10 โต๊ะ

ผมยืนดูหญิงท่านหนึ่งเล่นสล๊อทอย่างเพลิน กดปุ่มนั่นนี่ไปเรื่อยๆ ดูหน้าจอที่มีตัววิ่งอยู่ สักพักก็มีไฟวูบวาบ คล้ายส่งสัญญาณว่าถูกรางวัลนะ แต่ตัวเลขโชว์ 180 แล้วก็เล่นต่อ แล้วในที่สุดเครื่องกินหมด..


ที่นี่คนธรรมดาทั่วไปก็เข้าไปได้ โดยไม่ต้องเล่น เขายินดี นี่แหละที่ผมเข้าไปได้เพราะอยากเข้ามาดูว่า บ่อนที่มีตลอดแนวแม่น้ำโขงที่ไม่ใช่ฝั่งไทยนั้นเป็นอย่างไร .. จริงๆผมมีภารกิจอื่น แต่คนขับรถแนะนำว่า แวะไปดูเฉยๆก็ได้ เลยแวะมาดูซะหน่อย

ผมเห็นคนไทยนั่งที่หน้าจอคอมพิวเตอร์ลุ้นการพนันที่เขาเล่นอยู่นั่นแล้วก็ถอนหายใจ เฮือกใหญ่..ในสมองเขามีอะไร

เมื่อเดินทางกลับออกมา เห็นธงแดงค้อนเคียวปักอยู่ ผมก็นึกในใจว่า ตอนปฏิวัติสังคมนั้นก็โจมตีรัฐบาลว่ามอมเมาชาวบ้านด้วยการพนัน แต่มาวันนี้เขาทำแหล่งการพนันใหญ่โต แม้ว่าจะสร้างกฎว่าห้ามคนลาวเล่น แต่พร้อมจะทำทุกอย่างเพื่อเอาเงินเข้าประเทศ นึกเลยไปว่า มันก็ไม่ต่างจากการสนับสนุนประชาชนปลูกฝิ่น ผลิตเฮโรอิน แล้วสร้างกฎว่าห้ามคนประเทศนี้เสพ แต่ผลิตเพื่อขายเอาเงินเข้าประเทศ ทั้งสองประเทศมีศาสนาเดียวกันเป็นหลัก มีพระธาตุที่ยิ่งใหญ่ทั้งสองฝั่งโขงที่ประชาชนกราบไหว้…


บนสะพานมิตรภาพไทยลาวที่ผมเดินทางกลับมุกดาหาร มีธงประดับสวยงาม ประกาศว่าวันชาติลาวเพิ่งผ่านไปเมื่อวันที่ 2 นี้เอง

ผมถามตัวเองว่า ชาติคืออะไร การสร้างชาติคืออะไร การเกี่ยวก้อยมิตรประเทศเดินไปในอนาคตด้วยกันสู่เมืองสวรรค์ดั่งชื่อเมืองนี้ ควรจะทำอย่างไร…

คนเล็กๆ(แม้ตัวใหญ่) อย่างเราที่ทำงานพัฒนาคิดมากมายไปหรือเปล่าหนอ..


คำสนทนาธรรมดา

18 ความคิดเห็น โดย bangsai เมื่อ 24 พฤศจิกายน 2009 เวลา 17:01 ในหมวดหมู่ งานพัฒนาสังคม, เรื่องทั่วไป #
อ่าน: 768

เขาว่าปีนี้ราคาข้าวมันดี.. ก็วิทยุ มันว่าไง เขาว่าพายุมันเข้าเวียตนาม ฟิลิปปินส์ คู่แข่งข้าวของเรา พังพาบลงไปแล้ว เหลือแต่เราไม่เป็นไรมากนัก ก็นอนยิ้มๆอยู่ แต่ยิ้มได้ไม่นานหรอกคุณเอ้ยย รายจ่ายมันไปล่วงหน้าแล้ว

รัฐก็มาช่วยจัดประกันราคาให้ เห็นแต่เถ้าแก่ยิ้มกว้างกว่าเพื่อน ทั้งขึ้นทั้งล่องเถ้าแก่ได้หมด ได้ลูกเดียว


ลูกน่ะหรือ มีซิ สาม สี่ คนนั่น… โอยมันไม่อยู่หรอกบ้านเรา โน้น..มันไปกรุงเทพกรุงไทยโน่น ส่งเงินมาบ้าง ไม่ส่งมาบ้าง นี่ตากับลูกเขยก็ต้องมาทำเอง ปีหน้าปีโน้นก็ปลดละวางตัวเองแล้ว ไม่ไหวแล้ว


นั่นยาย..มานั่งดูตาทำงาน แค่เดินก็จะไม่ไหวแล้วจะมาช่วยอะไรได้ แกมาให้กำลังใจหรือมากำกับก็ไม่รู้ หุหุ ก็ดี…มีคนคุยด้วย

เองทำงานอะไรเล่า…. จะมาช่วยตาหรือไงล่ะเห็นหยุดรถถามโน่นถามนี่

ไหวหรือเจ้านาย เดี๋ยวมือไม้ไม่ได้จับปากกาหรอกนะจะบอกให้….

ฝากไปบอกนายกด้วยนะ…มาเยี่ยมทางนี้บ้าง ไม่มีหรอกเสื้อแดงเสื้อเหลืองน่ะ มีแต่เสื้อเหม็นๆของตาที่แหละ..

ตาชอบคนนี้… ถ้าลูกสาวยังโสดจะยกให้เลยนะเนี่ยะ..

..!!!!..


จดหมายเปิดผนึกถึงพ่อครูบาฯ ลุงเอก อาม่า ป้าจุ๋ม และชาวลานทุกท่าน

98 ความคิดเห็น โดย bangsai เมื่อ 24 ตุลาคม 2009 เวลา 9:58 ในหมวดหมู่ งานพัฒนาสังคม, ทุนสังคม, เฮฮาศาสตร์ #
อ่าน: 5428


ที่ http://lanpanya.com/dongluang/archives/1207#comment-681

คุยกับ Nothing เกี่ยวกับวันเด็ก สั้นๆ แล้วเกิดความคิดว่า หากสมาชิก Lan เราเขียนเล่าชีวิตวัยเด็ก เน้นเฉพาะวัยเด็กเอามาสู่กันฟังก็น่าสนใจนะครับ เหตุผลนั้นผมคิดว่าอยากศึกษาว่าชีวิตวันเด็กแต่ละคนนั้นเติบโตมาในสภาพใด จนมาเป็นปัจจุบัน

ผมสนใจการบันทึกอดีตของปัจจุบันผ่านตัวบุคคล โดยเริ่มจากสมาชิกลานก่อนซึ่งมีอยู่ทุกภาคทุกส่วน น่าที่จะสะท้อนสิ่งต่อไปนี้

  1. วิถีครอบครัวของคนสมัยนั้น
  2. วีถีสังคมที่อยู่อาศัย ท้องถิ่น ระบบสังคม ญาติพี่น้อง
  3. สิ่งแวดล้อมต่างๆ ดิน น้ำ อากาศ ต้นไม้ คน ฯลฯ
  4. ระบบวัฒนธรรม ประเพณี ความเชื่อ ปรากฏการณ์ต่างๆทางสังคม ฯลฯ
  5. ระบบการศึกษา โรงเรียนวัดนั้นไม่เคยเห็นแล้วในปัจจุบัน แบบเรียนหนังสือ ระบบการตี การท่องบ่น ฯลฯ
  6. การทำมาหากิน อาชีพ การพึ่งพาอาศัย ดินฟ้าอากาศ
  7. การเติบโตของคนไปพร้อมๆกับการเปลี่ยนแปลงสังคม เล่าให้ละเอียดว่าสังคมเปลี่ยนอย่างไร แล้วส่งผลต่อเราอย่างไรต่อครอบครัว ต่อเพื่อนบ้าน ท้องถิ่นอย่างไร
  8. เพลงลูกทุ่ง ลูกกรุงมีอิทธิพลความคิดเราอย่างไร
  9. วิทยุ โทรทัศน์ โทรศัพท์ ไฟฟ้า เข้ามาเมื่อไหร่ มีอิทธิพลอย่างไร
  10. ใครเคยใช้ตะเกียงลาน ตะเกียงโป๊ะ ตะเกียงเจ้าพายุ(ศัพท์ภาคกลาง)บ้าน เป็นอย่างไร
  11. งานสังคมเป็นอย่างไรบ้าง เช่น งานศพ แต่งงาน งานโกนจุก บวชนาค เข้าพรรษา ออกพรรษา วันพระ ทอกกฐิน ผ้าป่า ฯลฯ
  12. ตลาด หรือการซื้อขายสินค้าเป็นอย่างไร
  13. เสื้อผ้า การแต่งกาย รสนิยม ค่านิยม ฯลฯ
  14. คนเฒ่าคนแก่ ทำอะไร ปฏิบัติกันอย่างไร การเข้ากรรม เข้าศีล เป็นอย่างไร กินหมากกินพลู เด็กสมัยนี้ไม่ได้เห็นแล้ว ควรหารูป และบันทึกไว้
  15. ไปสัมภาษณ์พ่อแม่ปู่ย่าตายายที่ท่านยังมีชีวิต ถามถึงการเปลี่ยนแปลง ความคิด ความรู้สึกของท่านจากอดีตสู่ปัจจุบัน…
  16. แรงบันดาลใจ ฝังใจ ชอบใจ พลังใจ ฯลฯ
  17. ปัญหาสังคมต่างๆในอดีต ทั้งปัญหาครอบครัวและสังคมต่างๆ การแก้ปัญหานั้นๆในอดีต
  18. ฯลฯ ฯลฯ ฯลฯ

นี่อาจจะเรียกว่าเป็นงานวิจัยย่อยๆก็ได้

ทั้งหมดข้างต้นอาจจะเรียกว่า Interview guide หรือ Semi structure life review ก็ได้

การบันทึกออกมาจากตัวเองมีข้อดีที่เรามีเวลาใคร่ครวญไตร่ตรอง ไม่ได้เอาคะแนน ไม่ได้ไปส่งอาจารย์ แต่บันทึกเพื่อเป็นส่วนหนึ่งของประวัติศาสตร์สังคมผ่านตัวบุคล

แรงบันดาลใจต่างๆมาจากอะไรจนทำให้เรามาเป็นวันนี้

น่าเสียดายที่ประวัติศาสตร์นี้จะหดหายไปกับการสิ้นสุดชีวิตคน นี่อาจจะเป็นครั้งแรกที่ระดมการบันทึกอย่างเป็นระบบในทุกภูมิภาคผ่านลานปัญญาครับ

ด้วยความเคารพรักยิ่ง

เรียนมาปรึกษาหารือครับ


ค่ายเด็กของ ออต..

475 ความคิดเห็น โดย bangsai เมื่อ 31 สิงหาคม 2009 เวลา 15:35 ในหมวดหมู่ งานพัฒนาสังคม, ทุนสังคม, เฮฮาศาสตร์ #
อ่าน: 10025

วันที่ 1-3 ก.ย. นี้จะมีการจัดค่ายเด็กที่ อ.หว้านใหญ่ ริมโขง จ.มุกดาหาร โดย ออต ของเราเป็นโต้โผใหญ่จัดงานเด็ก แต่ไม่เล็กครั้งนี้ ผมสารภาพว่าเป็นคนทื่อๆ ไม่ค่อยมีศิลปะเท่าไหร่ แม้จะชอบ แต่ก็เข้าหูซ้ายออกหูขวาประเภทนั้น เมื่อมาคบกับออต ก็ค่อยๆซึมซับ วิธีคิด วิธีมอง เมื่อผมไปร่วมการสัมมนาที่ RDI จัดเพิ่งจะเสร็จสิ้นไปนั้นก็ได้สาระเกี่ยวกับเรื่องราวเอาศิลปะเป็นสื่อการเรียนรู้ จนผมปิ๊งแว๊บมาว่า เจ้าพิพิธภัณฑ์ที่ผมรู้จักชื่อมานานนั้นมันมีประโยชน์ไม่ใช่เพียงแค่เป็นที่สะสมของเก่า แล้วเดินเข้าไปชื่นชมเท่านั้น แต่นักพิพิธภัณฑ์ยังสามารถเอาของเก่าเป็นสื่อลากไปถึงอดีต และเรียนรู้เรื่องราวของบรรพชนได้อย่างดี


ผมชอบมาก ถึงมากที่สุดเพราะว่า ผมเองก็เคยทำ Dialogue โดยใช้โบสถ์เก่าเป็นสื่อในการพาผู้คนในชุมชนย้อนรำลึกอดีตอย่างมีคุณค่าและได้สำนึกของท้องถิ่นคืนมา

มุกดาหารมีของเก่าที่ทรงคุณค่าหลายแห่ง และ ออตมาค้นพบจึงจะสร้างห้องเรียนขึ้นแล้วระดมทรัพยากรผู้รู้มาช่วยกันย้อนรำลึกอดีตให้แก่ เด็กๆมุกดาหารได้ตระหนักคุณค่าของพัฒนาการของคนในท้องถิ่น


มันเหมือนนั่ง Time Machine ย้อนไปท่องเที่ยวท้องถิ่นแถบนี้ โดยมีเด็กๆเป็นเป้าหมายที่จะให้ประสบการณ์ใหม่ๆจากของเก่าๆ โดยทีมงานของ ออต

ยิ่งผมทราบมาว่า อดีต ออต คือนักปลุกจิตสำนึกให้แก่ชาวบ้านทั้งเด็ก ผู้ใหญ่ โดยหน่วยงานนี้เห็นฝีมือฉกาจของ ออต เลยยกแผนงานนี้ให้ทั้งหมด…?? ยิ่งทำให้ออต มีชั่วโมงบินที่ไปเทียบเซียนได้เลย

วันที่ 1-3 นี้ เราได้วิทยากรเอกอย่าง อาม่า มาเขย่าแม่น้ำโขงให้เกิดละลอกคลื่นแห่งความรู้ ความสุขอีกด้วยละก็ น่าจะเป็นการพัฒนาทีมงานของ ออต ก้าวไปอีกหลายขุมทีเดียว

ท่านที่สนใจ หนุ่มน้อย ต่อยหนักคนนี้ เตรียมตารางแผนงานไว้เถอะ..


อภิปรายประเด็นของเบิร์ด..

1633 ความคิดเห็น โดย bangsai เมื่อ 19 สิงหาคม 2009 เวลา 20:32 ในหมวดหมู่ งานพัฒนาสังคม, เฮฮาศาสตร์ #
อ่าน: 10726

เบิร์ดตั้งประเด็นว่า ทรัพยากรและโครงสร้างพื้นฐานที่เอื้อให้เราดำรงอยู่ได้คืออะไร??

ต้องขออภัยที่เอา diagram ไปขึ้นใน comment ไม่เป็นเลยยกมาเปิดบันทึกใหม่ตอบครับ


พี่ลองร่างวิเคราะห์เส้นทางเดินของเฮฮาศาสตร์ โดยอาศัยประสบการณ์เฝ้ามองพัฒนาการขององค์กรชุมชนมาเป็นตัวแบบ ยืนยันว่าเป็นเพียงสมมุติฐานเท่านั้น เพราะพี่ไม่ใช่หมอฟันธง หรือหมอคอนเฟิร์ม อิอิ

(ขออนุญาตวิเคราะห์ตรงๆนะครับ อย่าคิดเป็นเรื่องทำร้าย ทำลายแต่อย่างใด)

เส้นทางเดินมักเป็นดังภาพ ช่วงแรกหลังการ “ฟอร์มตัวตน” ขึ้นมาแล้วต่างก็มีความสุขกับสิ่งใหม่ ตื่นเต้น กระปรี้กระเปร่า จ๊ะจ๋า เจี้ยวจ้าว ต่างก็ยิ้มแย้มเข้าหากัน ความรักมีมากล้นรำพัน พี่เรียกช่วงนี้ว่า “ช่วงฮันนิมูน” กำลังฟอร์มตัว ปรับตัวในเบื้องต้น ทุกคนจึงเอาใจมากองไว้ มาให้แก่กัน ทำงานกันเพลินไม่เหน็ดเหนื่อย เมื่อยล้า ช่วงนี้มีความสุขมากครับ

อาจจะบ่งชี้ช่วงนี้ได้ คือ ช่วงที่เราจัดเฮฮาศาสตร์ตั้งแต่ครั้งที่ 1 จนถึงครั้งล่าสุด เรามีความสุขมาก พี่มีความสุขมาก ทุกคนอิ่มเอม การกอดรัดฟัดเหวี่ยง ยังตราตรึงในความทรงจำ ความประทับใจที่เรามากินมานอนมาคุยแลกเปลี่ยน มาใช้ชีวิตหมู่ร่วมกัน

(ขอกราบอีกครั้งว่าที่จะกล่าวต่อไปนี้มิใช่จะหมายถึงเฮฮาศาสตร์ แต่เอาข้อเท็จจริงของการพัฒนาองค์กรชุมชนมาเทียบเคียง)

ขอหักมุมไปที่องค์กรชุมชน เมื่อช่วงฮันนิมูนผ่านไป ความมีตัวตนของคณะกรรมการ ผู้นำ และสมาชิกบางคนก็ออกลาย ผู้นำบางคนที่จะเอาองค์กรชุมชนเป็นเครื่องมือ ก็หันเหองค์กรไปรับใช้ความคิดเขามากขึ้น จนฝ่าฝืนกฎ กติกา ระเบียบ ข้อบังคับก็มีให้เห็น กรรมการบางคนก็แผลงฤทธิ์ เช่น กู้แล้วไม่คืน หรือคืนช้าไม่เป็นไปตามกำหนด เป็นต้น แล้วใช้ความเป็นกรรมการ ให้อภัยแก่ตัวเอง สมาชิกบางคนเริ่มเบี้ยว หรือวิภาควิจารณ์องค์กร ทำไมไม่เป็นอย่างนั้น ทำไมไม่เป็นอย่างนี้ หากสมาชิกคนนี้มีฟอร์ม การออกฤทธิ์ก็ส่งผลสะเทือนไม่น้อย

ทั้งหมดนี้ พี่เรียกว่า “แรงกดดัน A” ตามไดอะแกรม

หากองค์กรมีผู้นำที่ไม่เข้มแข็ง หากคณะกรรมการไม่เข้มแข็ง หากสมาชิกไม่เข้าใจถ่องแท้ องค์กรก็ซวนเซ ตั้งข้อสงสัย ระแวง ไม่มั่นใจ ฯลฯ เป็นแรงกดที่ทำให้องค์กรแกว่ง

หากว่าผู้นำมีคุณธรรม เข้มแข็ง มีทีมงาน คณะกรรมการที่เข้มแข็งอยู่บ้าง มีสมาชิกที่เข้าใจ เชื่อมั่น ยืนหยัดหลักการองค์กรดีอยู่แล้ว ต่างก็ก้าวเข้ามาช่วยกันแก้ไขปัญหา ช่วยกันประคับประคองสถานการณ์ หาจุดอ่อน เสริมความเข้มแข็ง ฯลฯ องค์กรก็ตั้งตัวได้ใหม่ ก็ดำเนินการได้ ก้าวไปข้างหน้าได้อีก

ทั้งหมดนี้พี่เรียก “แรงปรับ a” ตามไดอะแกรม

ดำเนินไปอีก ทำกิจกรรมต่างๆขององค์กรไปอีก ก็เกิดปัญหาใหม่ๆขึ้นมาอีก สารพัดชนิด ประเภทของปัญหา พี่เรียก “แรงกดดัน B” แล้วก็มี แรงปรับ b” หากคณะกรรมการ ผู้นำเข้มแข็ง สมาชิกส่วนหนึ่งเข้มแข็งก็ประคับประคองไป

เวลาผ่านไปก็เกิด “แรงกดดัน C” และมี “แรงปรับ c” อีก

ช่วงที่เกิดแรงกดดัน แรงปรับ ครั้งแล้วครั้งเล่านี้ พี่เรียกว่า “ช่วงวิบากกรรม”

โดยภาพรวมนี้ทั้งหมดนี้พี่เรียกว่า “กระบวนการปรับตัวขององค์กร” ทั้งหมดนี้เพื่อเดินเข้าสู่เป้าหมายขององค์กร ต้องยอมรับว่าชาวบ้านนั้นไม่ได้จบ MBA ไม่มีหลักการบริการสารพัดสูตรอย่างที่เราเรียนรู้กัน ชาวบ้านใช้สามัญสำนึกที่ยืนบนวัฒนธรรมท้องถิ่น หรือ ผลประโยชน์ที่แอบแฝง ในกรณีที่เขาผู้นั้นใช้องค์กรให้เป็นประโยชน์แก่ตนเอง

การสวิงไปมานั้น บางแห่งบางองค์กร สมาชิกลาออกเกือบหมด แล้วฟื้นตัวขึ้นมาใหม่ แล้วก้าวไปอย่างเข้มแข็งเพราะเขามีบทเรียนและมีประสบการณ์ที่ดี

หากการปรับตัวขององค์กรก้าวเข้ามาอยู่ใน “ภาวะนิ่ง” ก็จะเป็นการก้าวไปข้างหน้าอย่างมั่นคง บางแห่ง บางองค์กรก้าวกระโดด มีสมาชิกแห่เข้ามา มีความก้าวหน้ามากมาย ก็มีให้เห็น

ทั้งหมดนี้อาจจะไม่เป็นอย่างสมมติฐานนี้เลยก็ได้นะครับ

ดังนั้น อภิปรายประเด็นของเบิร์ด ได้ว่า ทรัพยากรที่เอื้อต่อการดำรงอยู่คืออะไร พี่เห็นก็คือ “คน” ที่มาอยู่ในองค์กรนั่นเอง หากเข้ามาแบบเข้าใจ ศรัทธา เชื่อมั่น หลักการขององค์กรแล้ว พลังในการแก้ไขปัญหาต่างๆก็มีมากมาย พลังในการผลักดันองค์กรให้ก้าวหน้าก็มีมากมาย คนเป็นทรัพยากรที่สำคัญที่สุด ทั้งผู้นำ คณะกรรมการ สมาชิก ภารกิจที่สำคัญขององค์กรคือ กระบวนการพัฒนาคนในองค์กร เพื่อร่วมกันเดินไปสู่เป้าหมาย… หากคนในองค์กรมีประสิทธิภาพ ทรัพยากรอื่นๆก็ตามมาโดยอัตโนมัติ

ส่วนประเด็นโครงสร้างพื้นฐานที่เอื้อให้เราดำรงอยู่ได้คืออะไร กรณีองค์กรชุมชนนั้นส่วนใหญ่มีโครงสร้างมาตรฐานอยู่แล้ว แต่ก็สามารถปรับให้เข้ากับบริบทของท้องถิ่นนั้นๆได้ เพื่อให้เหมาะสมต่อเงื่อนไขขององค์กรนั้นมากที่สุด

แต่สำหรับเฮฮาศาสตร์นั้น เราไม่อยู่ในรูปขององค์กรสากล เราเป็นองค์กรพิเศษ จะเรียกอะไรก็ตาม โครงสร้างก็ควรจะปล่อยให้ก่อรูปและปรับไปตามสภาวะต่างๆที่เกิดขึ้น ซึ่งปัจจุบันเราเห็นภาพลางๆขององค์กรนี้แล้ว เช่นมีพ่อครูบาเป็นเสาหลัก มีรอกอดมาเสริม มีป้าจุ๋ม มีน้องครูปู มีอ.แฮนดี้ มี พี่หลิน มี จอมป่วน มีแป๊ด มีออต มีอีกหลายๆคนที่เข้ามาช่วยเสริมอย่างใกล้ชิด ทำให้หัวขบวนเคลื่อนตัวไปได้เรื่อยๆไม่ติดขัดเท่าไหร่นัก

ก็เป็นโครงสร้างที่เป็นไปตามสถานการณ์และความพร้อมของบุคลกรที่มีเงื่อนไขที่เอื้อต่อการเคลื่อนตัว

หากจะถามว่าเฮฮาศาสตร์จำเป็นต้องมีโครงสร้างที่เป็นรูปแบบไหม ในขั้นนี้คิดว่าให้พัฒนาไปตามธรรมชาติ เมื่อถึงเวลามันจะลงตัวของมันเอง หากจะผลักดันให้เกิดขึ้นมาล่ะ คิดว่ายังไม่จำเป็น หากทุกคนพร้อมที่จะก้าวเข้ามาร่วมมือกันในทุกสถานการณ์ที่เกิดขึ้น ตามเงื่อนไขที่ทำได้ แน่นอนอาจจะทำให้มีพลังไม่เต็มที่นัก ในแง่หน้าที่ความรับผิดชอบ แต่เฮฮาศาสตร์เป็นองค์กรพิเศษที่มาด้วยใจ bonding ที่มีใจเป็นสายใยนั้นอาจจะมีพลังมากกว่าคำว่าบทบาทหน้าที่และความรับผิดชอบในองค์กรปกติเสียอีก

ทั้งหมดนี้เป็นเพียงความเห็นส่วนตัวนะครับ


อภิปรายคำถามหลักพ่อครูบาฯ

595 ความคิดเห็น โดย bangsai เมื่อ 18 สิงหาคม 2009 เวลา 10:40 ในหมวดหมู่ งานพัฒนาสังคม, ทุนสังคม, เฮฮาศาสตร์ #
อ่าน: 15053

คำถามหลัก
อะไรเป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้กระบวนการจัดการความรู้ตามแนวคิดของครูบา
สุทธินันท์ ปรัชญพฤทธิ์ทำให้ชุมชนหรือสังคม มีการพัฒนาไปสู่การเป็นสังคมแห่งภูมิปัญญา และการเรียนรู้

อภิปรายคำถามหลัก จากการวิเคราะห์คร่าวๆ

  • เป็นความลงตัวระดับหนึ่งของตัวคนคือครูบาฯ และระบบสื่อสารในยุคนี้คือ blog แต่เนื่องจากครูบามีต้นทุนในหลายประการอยู่ในตัวตน มีสวนป่าที่น่าสนใจยิ่ง มีคนที่รู้จักมักจี่ในท้องถิ่นใกล้ ไกลมากมาย มีบุคลิกท่าทีที่มีเสน่ห์ใครเห็นก็เย็นตาเย็นใจ ยิ่งเนื้อในมีความรู้ มีสาระ ใส่สีสันวาทะเข้าไปก็กระเจิดกระเจิง ถูกใจโก๋ กี๋ กิ๊ก กั๊ก ทั้งหลายแหล่
  • พ่อครูบาเขียนบันทึกลง Blog อันเนื่องมาจาก blog นี่เองและปัจจัยต้นทุนดังกล่าว ก็มีสิงห์เหนือเสือใต้ หมี แมว ทั้งหลายเดินเข้ามาเจริญสัมพันธไมตรี ก็เกิดรู้จักกัน เกิดไปมาหาสู่กัน เลยกลายเป็นข่ายเป็นเครือทั้งเหนือทั้งใต้ ออก ตก กลายเป็น Cyber Community / bond / net / node
  • เมื่อคนรู้จักกัน ก็ย่อมปะทะสังสรรค์ การแลกเปลี่ยนประสบการณ์ ความรู้ ความคิดเห็น ในสาระต่างๆทุกแนวก็เกิดขึ้นและพัฒนาต่อเนื่องต่อไป
  • การปะทะสังสรรค์ย่อมเกิดผลออกมา ที่สำคัญคือ การเรียนรู้สาระต่างๆซึ่งกันและกัน ต่อยอดความรู้ มันเป็นเครือข่ายความรู้ online รู้ตัวคนที่เป็นฐานความรู้ ประสบการณ์เฉพาะด้าน ใครอยากรู้อะไรก็ไป shopping ใน blog ท่านนั้นๆ หรือติดต่อโดยตรงส่วนตัว ก็เกิดการถ่ายเทความรู้กัน หากการถ่ายเทความรู้นี้มีแสงไฟประกายออกมา เราคงจะเห็นแสงสว่างวูบวาบไปตลอดเวลา สว่างมากน้อย แล้วแต่วาระ ความสนใจ ประเด็น ฯลฯ นี่คือสังคมแห่งการเรียนรู้
  • ความรู้มีหลายลักษณะ เช่น สิ่งที่ต้องรู้ สิ่งที่ควรรู้ สิ่งที่รู้ก็ได้ ไม่รู้ก็ได้ ฐานวิชาชีพของแต่ละคนแตกต่างกัน สิ่งที่ต้องรู้ที่อิงอาชีพจึงแตกต่างกัน ความหลากหลายจึงเกิดขึ้น แต่ทั้งหมดที่คล้ายๆกันคือ ฐานความรู้การดำรงชีพให้มีความสุข ยืนนาน ทุกคนควรจะมีพื้นฐานอันเดียวกัน ใกล้เคียงกัน ก็ขึ้นกับความสนใจ การเอื้อมากน้อยที่ต่างกัน


  • แต่ละคน(Subject) มีประสบการณ์ มีความรู้ ความสนใจ(Subject area) ซ้ำกันบ้าง เหลื่อมกันบ้าง เหลื่อมมากเหลื่อมน้อยบ้าง แต่ต่างมาแลกเปลี่ยนเรียนรู้กันอยู่บนฐานของ “เอาใจมาให้กัน” นี่คือจุดเด่นของชุมชนแห่งนี้

คำถามรอง
1. กระบวนการจัดการความรู้ตามแนวคิดของครูบาสุทธินันท์ ปรัชญพฤทธิ์ มีกระบวนการอย่างไร
2. มีปัจจัยสำคัญใดบ้างที่เป็นปัจจัยส่งเสริมในกระบวนการจัดการความรู้ตามแนวคิดของครูบาสุทธินันท์ ปรัชญพฤทธิ์
3. มีปัญหา และข้อจำกัดอะไรบ้าง ในกระบวนการจัดการความรู้ตามแนวคิดของครูบาสุทธินันท์ ปรัชญพฤทธิ์

ไม่อภิปรายในข้อหนึ่ง

ข้อสอง

ปัจจัยที่เสริมในกระบวนการเรียนรู้น่าจะเป็น

  • ความเป็นครูบาสุทธินันท์ Personality ที่มีองค์ประกอบในหลายประการ อาจจะเรียกรวมๆว่าเสน่ห์ เช่น ท่วงท่า ลีลา การวางตัว อักษรที่จารลงไปในบันทึก ฯลฯ
  • องค์ความรู้ ที่เป็นทุนภายในของครูบาสิทธินันท์ มีมากมาย เพราะเก็บเกี่ยวประสบการณ์ชีวิตมามาก เรียนรู้มาเยอะ ทั้งของตนเองและเชื่อมต่อกับท่านอื่นๆ
  • หากย้อนไปดูนิวาสถานที่อยู่อาศัยเป็นป่ากลางทะเลทราย นี่ก็เป็นสถานตักศิลาที่เหมาะสม ใครๆเห็นก็อยากจะมา มากกว่าเป็นตึกรามใหญ่โตแต่แห้งแล้ง ธรรมชาติคือองค์ประกอบสถานที่ที่มีคุณค่าแก่การมาเรียนรู้อย่างยิ่ง ทั้งเรียนรู้ธรรมชาติ และเรียนรู้เรื่องอื่นๆท่ามกลางธรรมชาติ โบราณก็เรียนในป่าทั้งนั้น
  • เครือข่าย อันนี้หายากครับ หากใครมีเครือข่าย หรือพูดง่ายๆคือเพื่อนที่อุดมความรู้ ท่านครูบาไม่รู้ไปทุกเรื่อง และใครๆก็เป็นเช่นนั้น แต่สามารถระดมความรู้มาได้ บอกกล่าวได้ เชื่อมได้
  • วิธีคิด มุมมอง ทัศนคติ ในประเด็นต่างๆนั้น ครูบามีแตกต่างจากท่านอื่นๆ ใครที่ตามมาคุยด้วยก็จะได้เปิดสมองส่วนที่ยังไม่ได้ใช้ออกมา
  • ฯลฯ

ปัญหาน่ะมีไหมในกระบวนการจัดการความรู้ของครูบาฯ

  • ไม่ว่าแบบไหนๆก็มีทั้งนั้นแหละ การศึกษาในระบบจึงมีคนสอบได้สอบตกไง มีคนแค่สอบผ่านกับคนที่ได้เกรียตินิยม ก็เป็นเรื่องปกติ
  • หากเอาปัจจัยของเสริมของครูบาตั้งขึ้น แล้วมองปัญหาในกระบวนการก็คือ ผู้ที่มาเรียนรู้ มาเพราะถูกบังคับให้มา มาเพราะเอาคะแนน อย่างคนทำวิทยานิพนธ์นี้ไง อิอิ หรือมาเพราะสนใจ อย่างหมอจอมป่วนบึ่งรถมาจากเมืองพิษฯตรงดิ่งยังกะกระทิงโทน ลุยตรงมาเลย แบบนี้ก็ได้ไปเต็มๆ
  • ผู้มาเรียนอาจจะสนใจจริง แต่รับลูกไม่ทัน ตามไม่ทัน เพราะไม่มีพื้นฐานมาก่อน ไม่มีการปูพื้นฐานมาก่อน เคนชินกับระบบเดิมๆ พอมาแบบนี้ก็งง แปลก เลย เก็บความรู้ตกๆหล่นๆ ต้องเตรียมตัวมาก่อน มีฐานการเรียนรู้มาก่อนจึงจะรับได้เต็มๆ พ่อครูบาใช้ชีวิตผ่านองค์ความรู้มามากมาย การพูดจาบางครั้งก็เป็นธรรมะ เป็นบทสรุปสุดยอด เด็กใหม่ไม่คุ้นชินก็ลำบากเหมือนกันในบางสาระ
  • เหมือนคนสนใจปฏิบัติธรรมวิปัสสนากรรมฐาน บางคนชอบแบบสัมมาอรหัง บางคนคุ้นชินแบบยุบหนอพองหนอ หลายคนสนใจแบบคู้เหยียดแขน ทั้งๆที่ทั้งหมดเป็นอุบายเพื่อเดินทางเข้าสู่จิตสงบ บรรลุธรรมะ ดังนั้น หลายคนไม่ถนัดที่จะเรียนแบบครูบา ตรงข้ามหลายคนได้สัมผัสแล้วน้ำตาไหล..
  • ครูบาได้ใช้ประโยชน์เฮฮาศาสตร์มาก แต่เฮฮาศาสตร์ไม่ใช่สถาบันการศึกษา เช่นวงน้ำชา เชียงราย ที่วันดีคืนดีก็เรียกทีมงานมานั่งประชุมยกระดับกระบวนการให้เหมาะกับคนที่จะมาเรียนรู้ในสำนัก แต่เฮฮาศาสตร์เป็นอีกแบบหนึ่ง ที่หลวมๆ โดยมีครูบาเป็นแกนกลาง เห็นเหง้าหลัก หากขาดไปก็อาจจะกระทบต่อกระบวนการนี้ได้ทันที อาจสุ่มเสี่ยงต่อความไม่ต่อเนื่อง และความยั่งยืน อนาคตอาจจะมีทางออกดีดีก็ได้

เอาแบบด่วนๆนะครับ อิอิ


KM ธรรมชาติของลุงเตี้ย

2266 ความคิดเห็น โดย bangsai เมื่อ 17 สิงหาคม 2009 เวลา 22:33 ในหมวดหมู่ งานพัฒนาสังคม #
อ่าน: 126702

ลุงเตี้ย: สีวร วงษ์กะโซ่ หรือลุงเตี้ย แต่งงานเร็วตั้งแต่อายุ 18 แล้วก็มีลูกเลย พ่อแม่เมียสีวรไม่พึงพอใจที่สีวรไม่มีอะไรเป็นตัวเป็นตน อายุก็ยังน้อย ทำอะไรก็ไม่เป็น สีวรจึงมีความพยายามโดยการช่วยทำนาทำไร่ และไปขายแรงงานเป็นช่างไม้ ช่างปูน กับเพื่อนๆที่อุบลราชธานี ที่สกลนคร ที่นครพนม ไม่ได้ลงกรุงเทพฯ แต่เงินทองค่าจ้างที่ได้มาก็ไม่เป็นกอบเป็นกำ ได้มาก็กินก็หมดไป แค่ได้กินปลาทูเท่านั้นแหละ…

พ่อหวัง วงษ์กะโซ่ ผู้สร้าง KM ธรรมชาติให้ ลุงเตี้ย

พ่อหวังครูสร้างคนตัวจริง: ลุงเตี้ย: ผมมักไปเล่นที่บ้านพ่อหวัง วงษ์กะโซ่ บ่อยเข้าพ่อหวังก็อ่านผมออกว่าผมมีทุกข์อะไร ต้องการอะไร พ่อหวังออกปากชวนผมมาอยู่ด้วยที่บ้านสวน ไปทำงานไร่นากัน เป็นเจตนาของพ่อหวังต้องการฉุดเด็กหนุ่มโซ่อย่างผมให้ขึ้นมาจากหลุมของความสับสนในชีวิต ไม่มีทางออก พ่อหวังใช้งานผมทุกอย่าง ไร่ นา ทั้งกลางวันกลางคืน เช้า สาย บ่ายเย็น ตลอดทั้ง 2 ปี พ่อหวังใช้งานผมแล้วสอนผม ให้สติผม แนะนำผม เตือนผม บอกกล่าวในสิ่งที่คนหนุ่มอย่างผมจะต้องรู้และคิด ผมก็น้อมรับ เหมือนคนบ้า ทำงานทุกอย่างเพราะไม่อยากไปขายแรงงานอีกแล้ว

ผมกินนอนที่บ้านสวนพ่อหวัง เมียผมทำอาหารไปส่ง ผมไม่ไปนอนที่บ้าน นอนที่สวน พ่อหวังไม่ได้จ้างแรงงานผม แต่พ่อหวังเอาชีวิตผมมาสอน สอนแบบตัวต่อตัวโดยการทำจริงๆ พ่อหวังก็ให้กินให้ใช้บ้าง

ครั้งหนึ่งพ่อหวังรู้ว่า ผมติดกัญชา พ่อหวังเรียกผมไปบอกว่า “…เตี้ย..เดินผิดทางแล้ว..ปรับตัวเสียใหม่ เลิกเสียเถอะ..สิ่งเสพติดไม่ดี เลิกซะ..” พ่อหวังใช้วิธีให้สติผมแล้วกักบริเวณผม ให้อยู่ที่สวน ห้ามไปไหน พ่อหวังควักเอาเงินให้ผม แต่บอกว่าไม่ให้เอาไปซื้ออะไรกิน อยากกินอะไรจะหามาให้หมด..ผมต่อสู่กับตัวเองสำเร็จ แต่ก็เพราะพ่อหวัง…


สร้างชีวิตใหม่ : สองปีที่ลุงเตี้ยได้ใช้ชีวิตอยู่ในไร่นา สวนกับพ่อหวังนั้น เหมือนกับโรงเรียนฝึกปฏิบัติจริง เมื่อพ่อหวังเห็นแววว่าลุงเตี้ยคนนี้ใช้ได้แล้ว เป็นผู้ใหญ่ที่มีความคิดอ่านเต็มตัวแล้ว มีสติมีหลักคิดและยึดมั่นในการพึ่งตนเอง ปล่อยให้ลุงเตี้ยกลับบ้านได้ พ่อแม่เมียลุงเตี้ยและพ่อแม่ลุงเตี้ยเองเห็นลุงเตี้ยเปลี่ยนไปเช่นนั้นก็มอบที่ดินให้ ทำสวน 3 ไร่ และที่นาอีก 5 ไร่

ลุงเตี้ยหอบครอบครัวมาสร้างบ้านบนที่ดินผืนนี้ที่ว่างเปล่า โล่งโจ่ง เพราะใช้ปลูกมันสำปะหลัง ปลูกปอมาตลอด ลุงเตี้ยก็เริ่มปลูกทุกอย่างจากประสบการณ์ที่ทำมากับมือตั้งแต่วันนั้นจนถึงวันนี้ ที่ดินที่ว่างเปล่าก็เต็มไปด้วยไม้ยืนต้น พืชผักผลไม้สารพัดชนิด


พ่อหวังดึงผมเข้าไปในเครือข่ายไทบรูตั้งแต่แรก และยิ่งเข้าไปเรียนรู้จากการประชุม ฝึกอบรม ศึกษาดูงาน แลกเปลี่ยนความเห็น แม้แต่เอกสารต่างๆที่ผมได้รับมา ผมอ่านครับ มันตอกย้ำว่าการเดินทางของวิถีชีวิตของผมถูกต้องแล้ว.. การไม่มุ่งหวังข้างนอก การสร้างชีวิตด้วยอาชีพเกษตรแบบผสมผสาน เน้นเพื่อการพึ่งตนเอง

มาถึงวันนี้เมียผมพอใจมากที่เรามีรายได้ประจำวัน จากการปลูกทุกอย่างที่กินได้แล้วมันเหลือเฟือเราก็เอาไปขาย โดยเมียผมเป็นคนไปขาย เขาเก็บเงินเอง ได้เท่าไหร่ผมไม่รู้ เขาเก็บเองทั้งหมด ผมเป็นคนทำให้..

ยกระดับการผลิต: ลุงเตี้ยกล่าวว่า ผมพร้อมแล้ว ผมมีทุกอย่าง ผมพึ่งตัวเอง อยากกินอะไรผมมีหมด ผมมีนา ด้านหลัง แต่ก่อนทำนาไม่พอกิน เพราะเป็นนาโนน น้ำท่ามีปัญหา ทำข้าวไม่พอกิน ผมศึกษาธรรมชาติว่าเมื่อมีต้นไม้ใหญ่ความชื้นมันก็มี ผมก็ปลูกไม้ยืนต้น แล้วผมก็ขุดบ่อเล็กๆท้ายสวนติดนา ผมพบว่าเกิดมีน้ำออกมาเป็นน้ำซับ


ผมเลยไปขุดอีกแห่งใกล้กันก็ได้อีก ผมโชคดีครับ ผมก็เอาน้ำนี้ไปรดพืชผักต่างๆในสวน และปรับปรุงนาโนนโดยเอาน้ำนี้ไปใส่นาจนกลายเป็นนาลุ่มไปแล้ว ผมใช้น้ำหมักชีวภาพใส่นาจากดินที่แข็งมาเป็นดินที่นุ่มร่วนซุยมากขึ้น ผลผลิตข้าวที่ไม่เคยพอกิน ผมมีข้าวพอกินแล้วและเป็นข้าวอินทรีย์ ไม่ใช้ปุ๋ยเคมีมานานแล้ว


ผมได้รับเงินจาก ส.ป.ก. 3,000 บาท ที่สนับสนุนให้เป็นแปลงเรียนรู้ ผมเพิ่มไปอีกเท่าหนึ่งไปซื้อวัวตัวแม่มาตัวหนึ่ง มาเลี้ยงปีหนึ่งได้ลูกวัวแม่เพิ่มมาอีกตัว ผมได้ปุ๋ยมูลวัวมาใส่สวนใส่นาอีก ผมดีใจที่ได้ลูกวัวเล็กเป็นเพศแม่ ต่อไปภายหน้าผมจะมีวัวมากขึ้น..

บ้านสวนผมไม่มีไฟฟ้าใช้ ก็ดีนะประหยัด แต่ผมก็มีตู้เย็นนะครับ โน่นไงตู้เย็นผม ลุงเตี้ยชี้ไปที่ ท่อซีเมนต์ขนาดกลางที่ซื้อเอามาเลี้ยงปลา กบ เขียด สารพัดสัตว์ที่เราจะกินมันได้ ก็เอามาเลี้ยงไว้ ผมเรียกมันว่าเป็นตู้เย็นของครอบครัวผม อยากกินปลาก็ไปเอามาได้ทุกเมื่อ…

ขยายสู่เพื่อน: เห็นร่มไผ่นั่นไหม ตรงนั้นน่ะเพื่อนฝูงมาเยี่ยมเยือน ผ่านไปมาก็แวะมานั่งคุยกัน หน้าหนาวก็สุมไฟคุยกัน คุยไปคุยมาเรื่องสาระชีวิตก็กลายเป็นประเด็น เพื่อนบ้านเห็นสวนผม มีพืชผักมากมาย มีของจากสวนไปขายในตลาดทุกวัน มีรายได้เข้าบ้านตลอด เพื่อนๆเขาก็เห็น เขาก็อยากทำ…


แล้วผมก็ได้เพื่อนที่ต้องการอยากจะทำ นายยงค์ มาเรียนรู้จากผมแล้วก็เอาไปทำสวนเขาอยู่ใกล้ๆผม แรกสุดก็เอาพืชง่ายๆก่อน คือสวนกล้วย ระหว่างแถวก็เอาไม้ผลไปลง แม้ว่าเพิ่งจะเริ่มเพียง 4 เดือน นายยงค์มาสวนวันละหลายรอบ ดีใจที่เห็นกล้วยโตสวยงาม และไม้ผลก็ตั้งตัวได้แล้ว นายยงค์มีแผนจะมาปลูกกระต๊อบที่สวน มีน้ำแล้วเพราะเจาะบาดาล นายยงค์บอกว่า ผมก็ได้ลุงเตี้ยแนะนำ และผมสนใจ อยากมาใช้ชีวิตสวนแบบลุงเตี้ยเขา…


อีกคนที่เริ่มทำสวนพอเพียงมาในระยะเวลาใกล้เคียงกันคือนายจง.. ลุงเตี้ยบอกว่า คนนี้ได้ทุกอย่างที่ผมได้มา เช่น ผมได้ ไม้ผลมาสองต้นก็แบ่งให้เขาหนึ่งต้น ได้ กล้าผักหวานป่ามาก็แบ่งให้เขาครึ่งหนึ่ง เมียนายจงก็ไปขายพืชผักกับเมียผม บางทีติดธุระก็ฝากกันไปก็มี บางทีก็นักกันว่า วันนี้เธอเอาอะไรไปขาย จะได้ไม่เอาพืชผักไปขายตรงกัน…

ทั้งหมดนี้เป็นเสี้ยวส่วนของเรื่องราวของ “ครูคนอย่างพ่อหวัง”

“คนขายแรงงานกลับใจมาทำการเกษตรผสมผสาน” ที่บ้านอย่าง “นายสีวร”

“นายยงค์ นายจง เพื่อร่วมอาชีพที่ลุงเตี้ยขยายแนวคิด” นี้ออกไป

สรุป KM ธรรมชาติในที่นี้คือ การที่นายสีวรเรียนรู้เรื่องราวการทำการเกษตรโดยการลงมือทำจริงๆกับพ่อหวัง นั้นเป็นแบบ ชาวบ้านกับชาวบ้าน เป็น lateral knowledge transfer

การที่มีการขยายความคิดและการกระทำจากนายสีวรไปสู่นายยงค์ นายจง ก็เป็นเช่นเดียวกัน

ส่วนการฝึกอบรม การศึกษาดูงาน และการศึกษาจากเอกสารนั้นเป็นตัวเสริม


ภาพเก่าเล่าเรื่อง 20 Temple Hotel..

2009 ความคิดเห็น โดย bangsai เมื่อ 12 สิงหาคม 2009 เวลา 8:34 ในหมวดหมู่ งานพัฒนาสังคม #
อ่าน: 33245

สถานที่: โครงการพัฒนาชนบทสมบูรณ์แบบ อ.สะเมิง

วันเดือนปี: ปี พ.ศ. 2518-2523

โดย: Fridrich Naumann Stiftung ภายใต้ สำนักงานเกษตรภาคเหนือ

สมัยนั้น เมื่อเราเดินทางออกไปทำงานส่วนใหญ่ไม่ได้ไปเช้ากลับเย็น แต่จะตระเวนไปทั้งสัปดาห์ ออกจากหมู่บ้านนี้ ไปบ้านถัดไป เรื่อยๆตามแผนงานทั้ง 4 ตำบล 27 หมู่บ้าน

ปกติเราจะพักบ้านชาวบ้านที่เราสนิทสนมด้วย ซึ่งเราก็ฝากท้องไว้กับชาวบ้าน และชาวบ้านก็ยินดีมากที่เราไปพักด้วย บางครอบครัวก็เรียกเราเป็นลูกหลาน ผ่านไปไม่พักก็งอนเอาเลย ต้องไปง้อ และแน่นอนช่วงสงกรานต์เราก็ตระเวนไปรดน้ำดำหัวท่านเหล่านั้น

แต่ก็มีบ่อยๆที่เราไปเป็นคณะหลายคนรวมทั้งฝรั่งผู้รับผิดชอบโครงการ เราจึงไปพักที่วัด ก็โบสถ์ด้านหลังรูปนี้แหละครับ เป็นทั้งที่ประชุมชาวบ้านไม่ว่ากลางวันหรือกลางคืน เป็นสถานที่ใช้ฝึกอบรมต่างๆ เป็นสถานที่กินข้าว..ฯลฯ สารพัดประโยชน์ รวมทั้งเป็นที่นอน ท่านเจ้าอาวาสเป็นพระหนุ่มก็ยินดีและมาดูแลอย่างดี

ดูเหมือนว่าวัด โบสถ์ เป็นสถานที่ที่ใช้ประโยชน์มากสำหรับสังคมชนบท และการใช้ประโยชน์ต่างๆนั้นจะมีความเชื่อกำกับอยู่ในมโนสำนึกว่า อยู่ในบริเวณวัด เป็นสถานที่มงคล ศักดิ์สิทธิ์ จะไม่พูดจาที่โกหก หรือเป็นเท็จ

ก่อนทำกิจกรรมใดๆ และเมื่อจบสิ้นกิจกรรมใดๆทุกคนก็ก้มกราบพระประธานในโบสถ์นั้นๆ อย่างน้อยที่สุดกิจกรรมต่างๆที่ทำในที่นั้นจะอยู่บนความเชื่อและหลักการศาสนากำกับอย่างแน่นอน..

แม้แต่เราใช้เป็นที่นอนพักผ่อน เราก็ก้มกราบพระก่อนทุกครั้ง ฝรั่งเลยเรียกว่า Temple Hotel อิอิ


เบ้าหลอมวิถี..

984 ความคิดเห็น โดย bangsai เมื่อ 12 สิงหาคม 2009 เวลา 0:43 ในหมวดหมู่ งานพัฒนาสังคม #
อ่าน: 13195

เย็นวันศุกร์หนึ่ง ผมเดินทาง มุกดาหาร-ขอนแก่น เส้นทาง ดงหลวง-สมเด็จ-กาฬสินธุ์-ขอนแก่น แวะเติมน้ำมันที่กุฉินารายณ์


เห็นรถปิคอัพสวยคันนี้ เป็นรถของคุณครู เดาเอาว่าคุณครูคงใจดีให้นักเรียนนั่งรถกลับบ้านด้วย เด็กนักเรียนสตรีใส่กระโปรง ม่อฮ่อม น่ารัก

เธอก้าวออกมาจาก 711 ทุกคนหิ้วถุงมาคนละใบในนั้นคงเป็นขนมหลายชนิด ส่วนใหญ่เป็นพวก มันฝรั่งทอด

ต่างเอามาอวดกัน แล้วก็เดินขึ้นไปนั่งกะบะหลังรถ เอาขนมออกมากินกัน คงสนุกน่าดู…

มันเป็นภาพปกติประจำวันที่เราก็อาจเห็นที่ไหนๆก็ได้

มันเป็นภาพปกติที่อาจจะเกิดกับบุตรหลานของเราเองก็ได้

มันเป็นภาพปกติที่คนที่หิ้วถุงนั้นอาจเป็นเราเองก็ได้

แต่ผมเดินทางมาจากดงหลวง ที่ไม่มีภาพเหล่านี้ต่อเด็กในวัยเดียวกันที่นั่น

บางทีเพราะเราคิดว่ามันเป็นปกติ

เราเลยมองไม่เห็นเบ้าหลอมวิถีใหม่ของชีวิตแบบบริโภค

แม้แต่เราเอง..


เรื่องมันมัน..

2085 ความคิดเห็น โดย bangsai เมื่อ 11 สิงหาคม 2009 เวลา 23:51 ในหมวดหมู่ งานพัฒนาสังคม, เรื่องทั่วไป #
อ่าน: 9271

รถสิบล้อพ่วงจำนวนมากมายบรรทุกมันสำปะหลังเข้าคิวหน้าโรงงานฯ บนถนน กุฉินารายณ์-สมเด็จ

มันเป็นภาพปกติที่เราก็เห็นๆกัน..

แต่เบื้องหลังของภาพนี้คือลูกโซ่ของวิถีการผลิตที่ซ่อนประเด็นไว้มากมาย ลองไปค้นหาที่แหล่งผลิตซิ…


ภาพเก่าเล่าเรื่อง 19 เจ้าเล็ก..

1514 ความคิดเห็น โดย bangsai เมื่อ 10 สิงหาคม 2009 เวลา 23:23 ในหมวดหมู่ งานพัฒนาสังคม, เรื่องทั่วไป #
อ่าน: 9811

สถานที่: โครงการพัฒนาชนบทสมบูรณ์แบบ อ.สะเมิง

วันเดือนปี: ปี พ.ศ. 2518-2523

โดย: Fridrich Naumann Stiftung ภายใต้ สำนักงานเกษตรภาคเหนือ

เล็กเป็นชื่อเล่นเขา ความที่เป็นลูกสุดท้องของพ่อชาวสุพรรณ ตระกูลนี้มีการศึกษาดี ญาติพี่น้องจึงมีหน้าที่การงานสูงๆ แต่เล็กออกจะเกเร กระนั้นก็ยังไปเรียนจนจบ High school จากปีนัง มีความรู้ด้านภาษาอังกฤษเป็นอย่างดี

ปากเปราะ จริงใจ มีน้ำใจ รักเพื่อนฝูง ขี้เล่น และออกจะกรุ้มกริ่มกับสาวๆซักหน่อย เขาเข้ามาร่วมโครงการเป็นรุ่นที่สาม มาพร้อมกับภรรยาสาวและลูกชายเล็กๆสองคน เนื่องจากบุคลิกง่ายๆ คล่องแคล่ว กว้างขวางในความสามารถ จึงเป็นฝ่ายสนับสนุนของโครงการ

ครั้งหนึ่งเราขึ้นไปเยี่ยมชนเผ่ากระเหรี่ยง หรือปกากะญอบนดอยสูงด้วยมอเตอร์ไซด์ แล้วเจ้าเล็กโดนตัว “ต่อป่า” ต่อยเอาที่ต้นคอ เล็กรู้สึกเจ็บแปลบๆ เพียงไม่กี่นาทีเท่านั้นความผิดปกติก็เกิดขึ้นกับเล็กทันที รู้สึกบวมขึ้นอย่างทันทีทันใด และเริ่มหายใจติดขัด ทั้งตัวขึ้นผื่นเต็มไปหมด

ด้วยสัญชาติญาณ ผมเอาเล็กซ้อนท้ายมอเตอร์ไซด์ บึ่งลงจากยอดดอย ลัดเลาะไหล่เขา ทุ่งนา หมู่บ้าน ลำห้วยมุ่งสู่ตัวอำเภอสะเมิง เป้าหมายคือสถานีอนามัยอำเภอ ขณะนั้นเวลาบ่าย ผมขับมอเตอร์ไซด์เร็วมากกว่าขับแข่งอีก เพราะ เล็กที่นั่งข้างหลังพูดตลอดเวลาว่า ..หายใจไม่ออก ปวด…

ผ่านตรงไหนมา ชาวบ้านต่างแปลกใจว่าผมทำไมขับรถเร็วจังวันนี้ จะรีบไปไหน ผมพาเล็กมาถึงสถานีอนามัยใช้เวลาเกือบ 45 นาทีจากยอดดอย ปกติน่าจะใช้เวลามากกว่าชั่วโมง… เล่าเรื่องให้พี่อนามัยทราบ พี่เขาเข้าใจจับนอนบนเตียงแล้วก็ฉีดยาเข้าไปหนึ่งเข็ม… ทันที

พี่อนามัยบอกว่า ทำบุญมามากนะนี่ หากช้ากว่านี้ เล็กคงหายใจไม่ออกอันตรายถึงชีวิตได้เลย เพราะเล็กเขาแพ้พิษของตัวต่อป่า พิษตัวต่อทำให้เกิดบวม เห่อด้านในหลอดลม หลอดลมหายใจตีบลง นี่แหละที่ทำให้หายใจไม่ออก….

เล็กคนนี้คืออดีตสามีของป้าดาว ที่ผมชวนเธอมาร่วมปลูกป่าที่พระบาทห้วยต้ม ลี้ ลำพูนคราวที่แล้วด้วย ปัจจุบันเล็กมีครอบครัวครั้งที่สาม อยู่กินกันที่แม่สาย เชียงราย เขาเคยมานอนพักกับผมที่มุกดาหารนานนับสัปดาห์…


ภาพเก่าเล่าเรื่อง 17 รดน้ำดำหัว

185 ความคิดเห็น โดย bangsai เมื่อ 9 สิงหาคม 2009 เวลา 0:52 ในหมวดหมู่ งานพัฒนาสังคม, ทุนสังคม #
อ่าน: 7477

สถานที่: โครงการพัฒนาชนบทสมบูรณ์แบบ อ.สะเมิง

วันเดือนปี: ปี พ.ศ. 2518-2523

โดย: Fridrich Naumann Stiftung ภายใต้ สำนักงานเกษตรภาคเหนือ

(ทีมงานโครงการรดน้ำดำหัว Mr. Klaus Bettenhausen ผู้รับผิดชอบโครงการ)

ต่อเติมทุนทางสังคม วัฒนธรรมท้องถิ่นภาคเหนือเมื่อถึงสงกรานต์ก็นำน้ำส้มป่อยไปรดน้ำดำหัวผู้ใหญ่ในชุมชน เพื่อขอขมาลาโทษสิ่งต่างๆที่ล่วงเกิน และขอพรจากท่าน

เป็นวัฒนธรรมท้องถิ่นที่เป็นต้นทุนทางสังคมที่ดีงาม เป็นการปฏิบัติทางวัฒนธรรมที่มีสาระในการเชื่อมระหว่างรุ่น ระหว่างวัย ระหว่างบทบาทหน้าที่ให้ร้อยรัดต่อกัน

ผู้น้อยแสดงความเคารพ นับถือต่อผู้อาวุโส

ผู้อาวุโสก็แสดงเมตตาต่อผู้น้อย

น้ำส้มป่อยเป็นเพียงสื่อกลางที่ใจมีต่อใจ ตัวตนต่อตัวตน

ความขัดข้องหมองใจ ช่องว่างที่มีต่อกันก็ปิดลงด้วยประเพณีปฏิบัติของท้องถิ่น ความสัมพันธ์ระหว่างคนต่อคนก็เชื่อมร้อยเป็นสายใยผูกพันต่อกัน เรื่องร้ายกลายเป็นดี เรื่องร้อนกลับเป็นเย็น การอึมครึมกลายเป็นยิ้มแย้มแจ่มใส…

ของดีมีอยู่..

ที่เป็นรากของสังคมไทยเรา

ที่เป็นต้นทุนทางสังคมของเรา


ไปอยู่ป่ากันเถอะ…

9 ความคิดเห็น โดย bangsai เมื่อ 8 สิงหาคม 2009 เวลา 12:37 ในหมวดหมู่ งานพัฒนาสังคม #
อ่าน: 1433

เมื่อเช้าเข้าไปเวียนลานมา หนีงานชั่วคราว (อิอิ อดไม่ได้) ไปเห็นประโยคเหล่านี้ที่ลานสวนป่าของพ่อครูบาฯเข้า..

….ผมแอบคิดเงียบๆนะ คนหัวโตผ่านงานสำคัญๆชั้นสูงมาแล้ว ใช้แต่สมอง ไม่ค่อยได้ใช้กำลังกาย พอมาลงมือลงไม้เลือดสูบฉีดอ็อกซิเจนวิ่งพล่าน เส้นเอ็นตึงตังแข็งแรง เหงื่อออกตามขุมขน ปอดผายหายใจแรงขึ้น โรคภัยต่างๆจะถอยออกไป ตามประสิทธิภาพภูมิคุ้มกันที่ร่างกายสร้างขึ้นมาเอง เป็นบทเฉพาะการที่กำลังนำพากายประสานกับใจ ในสภาพแวดล้อมที่เป็นธรรมชาติ เข้าสู่ธรรมะภาคปฏิบัติอย่างแท้จริง ในที่สุดแล้วเราจะได้ผู้จัดการหมู่บ้านเฮที่เข้าถึงทุกอย่างทั้งทางภาคทฤษฎี และปฏิบัติ…

ผมเลยนึกถึงประสบการณ์ผมที่ทำงานที่นครสวรรค์ อุทัยธานี กับกลุ่มป่าห้วยขาแข้ง 6 ปี ที่นั่น ผมได้รู้จักเรื่องราวของชีวิต สังคม และการเปลี่ยนแปลงของโลกมากสมควร


ได้พบเศรษฐี ผู้มีอันจะกินครอบครัวหนึ่ง ท่านเป็นเจ้าของโรงงานผลิตผ้าใบคลุมรถสิบล้อ หรือเทรเลอร์ใหญ่ๆยี่ห้อ BJ ซึ่งเป็นชื่อย่อท่าน ชีวิตท่านผู้ชายเกี่ยวข้องกับการเมืองของกรุงเทพฯมาพอสมควร ก็ย่อมมีพรรคพวกมากมาย ท่านผู้หญิงนั้นคุมกิจการและเจริญรุ่งเรืองมาตลอด

เมื่ออายุมากขึ้น โรคภัยไข้เจ็บก็วิ่งมาทัน ทั้งสองท่านก็เป็นโน่นเป็นนี่ แม้ว่าจะมีเงินทองมากมายแต่ก็เข้าๆออกๆโรงพยาบาล ลูกหลานก็บำรุงบำเรอแต่สิ่งดีดีเท่าที่จะหามาได้ในโลกนี้..

วันหนึ่ง(นานมาแล้ว)ท่านดูทีวีเห็นในหลวงทรงงานหนักเดินขึ้นลงป่าเขา เหงื่อตก..ฯลฯ.. เห็นสมเด็จทรงงานเพื่อชาวบ้านมากมาย.. สองท่านปรึกษากันแล้วก็ตัดสินใจครั้งใหญ่ว่าเราไปอยู่ป่าปลูกป่ากันดีกว่า.. แล้วก็ยกกิจการทั้งหมดให้ลูก สองคนก็ตระเวนหาพื้นที่ชายป่าที่จะมาอยู่และจะปลูกป่าทดแทนบุญคุณประเทศนี้ ท่านเลือกที่ “เขาชนกัน” จังหวัดนครสวรรค์ อันเป็นเขตที่ผมทำงานอยู่ในขณะนั้น ความจริงท่านไปอยู่ก่อนผมจะไปทำงานแล้ว..


ผมไปแนะนำตัวกับท่าน แวะเวียนไปเยี่ยมท่าน และเรียนรู้ชีวิตของท่านทั้งสอง ไม่น่าเชื่อเลยว่า เศรษฐีสามีภรรยาคู่นี้จะมาใช้ชีวิตค่อนข้างโดดเดี่ยวเช่นนี้ ที่พักก็แสนจะง่ายๆ ชั้นเดียว ไม่ได้หรูหราสมราคาฐานะของท่านเลย ท่านใช้รถปิคอัพคุณภาพดีหน่อยเพราะต้องการใช้ปีนเขาไปดูป่าที่ปลูก ไม่มีคนใช้ มีแต่ชาวบ้านแวะเวียนมาช่วยเหลือเป็นครั้งคราว ไม่มีสิ่งอำนวยความสะดวกทั้งหลายที่เคยมีเมื่ออยู่คฤหาสน์ที่กรุงเทพฯ แค่เรียบง่าย เงียบ สงบ ร่มรื่น


กิจประจำของท่านคือ จ้างชาวบ้านมาปลูกต้นไม้ โดยท่านไปของพื้นที่จากกรมป่าไม้ว่าจะช่วยปลุกป่าให้โดยบริจาคทุกอย่างที่จำเป็นต้องใช้ในการสร้างป่า..จ้างคนงานซึ่งเป็นชาวบ้านแถบนั้น กล้าไม้ที่กรมป่าไม้เอามาให้ ท่านใช้สารโพลิเมอร์ช่วยในการปลูกกล้าไม้เพื่อประกันว่าเมื่อปลูกแล้วโอกาสรอดมีมากกว่าปกติ ทราบแบบคร่าวๆว่าท่านควักกระเป๋าเพื่อการนี้นับสิบสิบล้านบาท

ผมใช้ชีวิตที่โครงการที่นั่น 6 ปี ป่าไม้ของท่านงอกงามขึ้นผิดตา ผมพาทีมงานไปช่วยท่านเป็นครั้งคราว และไปออกค่ายในพื้นที่ของท่าน

ท่านไม่ต้องการโฆษณา ไม่ต้องการลาภยศสรรเสริญ ท่านผ่านมาแล้ว ท่านบอกว่า ช่วงท้ายขอชีวิต ท่านขอ “ให้” ปลูกป่าถวายในหลวง สมเด็จฯ ให้กับสังคมและประเทศนี้ ท่านบอกว่า แค่ปลูกป่าให้ดีดีเท่านั้นอีกหลายอย่างจะตามมาโดยที่เราไม่ต้องตามไปสร้างมัน เช่น น้ำ อาหาร สัตว์ สิ่งแวดล้อมดีดี…..ฯลฯ…

จำได้ว่าปีนั้นมีฝนดาวตก ลีโอนิค ..ผมไปชวนนายอำเภอและข้าราชการ อ.แม่วงก์ขึ้นไปเยี่ยมท่านและนอนดูฝนดาวตกบนป่าในพื้นที่ที่ท่านทำกิจกรรมอยู่ เศรษฐีสองท่านให้การต้อนรับและสนับสนุน เป็นอย่างดี เราก็คุยแลกเปลี่ยนกันหลายเรื่อง

ก่อนหน้านี้ลูกหลานท่านมากราบกราน ร้องขอ ขอร้องให้ท่านกลับไปบ้าน ลูกหลานสงสารสภาพที่อยู่ เพราะไม่มีสิ่งอำนวยความสะดวกอะไรเลยเมื่อเทียบกับที่บ้าน ลูกหลานเป็นห่วง กลัวว่าจะอยู่ไม่ได้ จะเป็นอันตรายต่างๆนาๆ

ซึ่งก็เป็นเรื่องแปลกที่สุขภาพของท่านทั้งสองหายจากโรคภัยไข้เจ็บต่างๆหมดสิ้น แข็งแรง สดชื่น ท่านผู้หญิงทานมังสะวิรัติ ผมไปเยี่ยมท่านทีไรท่านก็ให้เห็ดโคนดองในขวดมาทุกที เพราะที่ อ.แม่วงก์นั้นมีเห็ดโคนป่าที่คุณภาพดีมากๆ ดอกใหญ่ พ่อค้ากรุงเทพฯขึ้นไปเหมาจากชาวบ้านทุกปีเมื่อถึงฤดูเห็ดออก เป็นคันรถเลย

ผมขออนุญาตไม่ระบุชื่อ สกุลท่าน ตามที่ท่านปวารนาไว้ว่าไม่ต้องการชื่อเสียง เกียรติยศใดๆทั้งสิ้น

เรื่องนี้เคยบันทึกไว้แล้ว มาบันทึกใหม่เพราะต้องการสนับสนุนประโยคของพ่อครูบาฯ และอนุโมทนากุศลกรรมที่ท่านเศรษฐีทั้งสองได้กระทำไว้แก่แผ่นดินนี้…

ด้วยความเคารพและศรัทธาครับ..


ภาพเก่าเล่าเรื่อง 16 หม่อมสามหย่อม

26 ความคิดเห็น โดย bangsai เมื่อ 7 สิงหาคม 2009 เวลา 13:51 ในหมวดหมู่ งานพัฒนาสังคม #
อ่าน: 4398

สถานที่: โครงการพัฒนาชนบทสมบูรณ์แบบ อ.สะเมิง

วันเดือนปี: ปี พ.ศ. 2518-2523

โดย: Fridrich Naumann Stiftung ภายใต้ สำนักงานเกษตรภาคเหนือ

พวกเราเรียกเขาว่าหม่อม หรือพี่ชาย หรือคุณชาย เพราะชื่อเต็มๆคือ มรว.อัฉรียชัย รุจวิชัย คนนครชัยศรี นครปฐม จบเกษตรศาสตร์บางเขน

หม่อมเป็นคนร่าเริง สนุกสนาน ออกจะเรทอาร์นิดๆ พอหอมปากหอมคอ ทำให้คำเรียกว่าหม่อมนั้นเพื่อนๆจะเอาไปเล่นซะสนุกเชียว เช่น ที่จั่วหัวไว้นั่นแหละ ชาวบ้านมีงานอะไรมักจะเชิญพวกเราไปร่วม เพราะเราบริจาคภาษีสังคมแล้วก็จะตั้งวงเหล้าขาว แล้วก็แหกปากร้องเพลงกันหามรุ่งเชียว..อิอิ (คิดแล้วบ้าจริงๆ..)

หม่อมไปทำงานสะเมิงเป็นรุ่นที่สอง ต่อมาโครงการขยายพื้นที่ไปที่ อ.ลี้ ลำพูน ตอนนั้นกำลังแยกเป็นกิ่ง อ.ทุ่งหัวช้าง หม่อมไปเป็นหัวหน้าโครงการที่นั่น

หม่อมมีความสามารถพิเศษเรื่องการร้องเพลงไทยสากลและเล่นดนตรีไทย ถึงกับเคยร่วมวงดนตรีกับทูลกระหม่อมพระเทพฯ สมัยที่เรียนอยู่ที่บางเขน เข้ากับชาวบ้านเก่ง ทำงานดี เป็นที่รักใคร่ของเพื่อนฝูงและชาวบ้าน

วันหนึ่งในอดีต เมื่อโครงการใกล้จะสิ้นสุดสัญญา หม่อมมีอาการชาที่มือซ้าย ขึ้นไปที่ไหล่ และมากขึ้นเรื่อยๆ เข้าโรงพยาบาลสวนดอกซึ่งเป็นโรงเรียนแพทย์ก็ไม่ทราบสาเหตุที่ชัดเจน นับวันอาการมากขึ้นจนเกือบจะพูดไม่ได้ สวนดอกตัดสินใจส่งเข้าพระมงกุฎที่กรุงเทพฯโดยเอารถพยาบาลไปส่ง อาการหม่อมมากขึ้นจนถึงขั้นหนัก ต้องให้อ๊อกซีเจนระหว่างนอนในรถจากเชียงใหม่เข้ากรุงเทพฯ

ระหว่างทางเกิดเหตุการณ์ระทึกขวัญเพราะอ๊อกซีเจนหมดถัง ไม่ได้เตรียมมาเผื่อ แต่บุญเหลือเกินที่หม่อมทำความดีมาไว้มาก รถพยาบาลวิ่งถึงนครสวรรค์พอดี จึงแวะไปเอาถังอ๊อกซีเจนที่โรงพยาบาลประจำจังหวัด แล้วก็บึ่งเข้ากรุงเทพฯ

ทีมหมอรออยู่แล้วจัดการตรวจสอบอย่างละเอียด ในที่สุดพบก้อนเนื้องอกที่ต้นคอด้านหลังไปทับเส้นประสาท…. ผ่าตัดด่วนคืนนั้น

หม่อมรอดชีวิตมาแบบไม่ปกติต้องฟื้นฟูร่างกายทำกายภาพอยู่นานจนกลับมาเป็นปกติ ปัจจุบันหม่อมปักหลักอยู่ที่เชียงใหม่ ทำสวนไม้ดอก เป็นนายกสมาคมผู้ปลูกไม้ดอกเชียงใหม่ และปลูกบ้านอยู่ในสะเมิง มีครอบครัวที่น่ารักมาก..

เรายังติดต่อกันเป็นประจำ เพราะหม่อมเป็นหย่อมๆ คือ เพื่อนรักของพวกเรา…อิอิ.

(ขออภัยที่ชื่อเรื่องหวือหวาไปหน่อย เพราะเอามาจากเรื่องจริงในอดีต..)


ให้กำลังใจตัวเอง..บ้าง

17 ความคิดเห็น โดย bangsai เมื่อ 1 สิงหาคม 2009 เวลา 17:21 ในหมวดหมู่ งานพัฒนาสังคม, เรื่องทั่วไป #
อ่าน: 2255

เมื่อวันศุกร์ที่ผ่านมาผมมีประชุมโครงการเช้ายันบ่ายแก่ๆที่ขอนแก่น แล้วก็เดินทางเข้ามุกดาหารเพื่อพาคุณ TOMOKO สตรีญี่ปุ่นเข้าไปศึกษาดูงานในวันรุ่งขึ้น ระหว่างเดินทางไปมุกดาหารเราคุยกันไปตลอดทางอย่างสนุกสนาน เธอเล่าถึงงานที่ทำในประเทศแซมเบีย ว่ามันยากเย็นมากมายแค่ไหน

ผมเองก็เล่าถึงการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นในโครงการที่มุกดาหาร และความคิดเห็นของผมที่เกิดขึ้นตลอดเวลาการทำงาน ผมเอาความคิดเห็นนั้นมาแลกเปลี่ยนกับเธอ รวมทั้งการเขียนบันทึก KM ในลานปัญญาแห่งนี้ เธอตื่นเต้น ผมเลยเอาให้เธอดูตัวอย่างเมื่อเดินทางถึงมุกดาหารแล้ว หลายเรื่องเกี่ยวเนื่องกับโครงการ เธอจึงขอสำเนาไปศึกษา


เธอไปมุกดาหารเป็นจังหวัดสุดท้าย พร้อมปอปั้นผมว่า มาที่นี่ได้เรียนรู้มากกว่าเรื่องงานที่รับผิดชอบ มากกว่ากิจกรรมที่เธอต้องการมาศึกษา แต่ที่สำคัญเปลี่ยนวิธีคิดของเธอไปด้วย โดยเฉพาะเรื่องมันสำปะหลัง และสระน้ำประจำไร่นา….

ผมแปลกใจเล็กๆคำพูดด้วยสาระเดียวกันนั้นผมพูดกับผู้บริหารโครงการเมื่อเช้าช่วงการประชุม ทุกคนเฉยๆ แค่ผ่านหูซ้ายไปขวาเท่านั้น แต่เธอที่เป็นสตรีญี่ปุ่นกลับตื่นเต้นที่มาเข้าใจวิถีชาวบ้านที่ปลูกมันสำปะหลังเพื่ออะไร ความต้องการสระน้ำในแปลงนาเพื่ออะไร… และสิ่งที่ผมค้นพบนั้นมันจะส่งผลให้ย้อนไปดูวัตถุประสงค์ของโครงการ..ซึ่งจะต้องพิจารณาปรับปรุงใน phase ใหม่ต่อไป

วันรุ่งขึ้นผมพาเธอตระเวนไปทั่วเป้าหมายในดงหลวงทั้งแปลงมันสำปะหลังและตลาดชุมชน แล้วก็บึ่งรถเข้าขอนแก่นส่งเธอขึ้นเครื่องลงกรุงเทพฯ เมื่อคืนผมส่งบันทึกในลานในเรื่องที่เกี่ยวข้องไปให้เธอ สายวันนี้ผมก็ได้รับ Email ตอบมาดังนี้ครับ

Ajaan Paisal,
Good morning, how are you?

Thank you very much again for all the contribution you made during 1 day trip to Mukdahan.
I’ve learned a lot from you, I am really lucky person to have that chance.

I received your respectful 8 articles, thank you very much for your prompt action.
I’ll ask our secretaries to translate them from Morning, it’ll be really interesting for me and I’ll share them with my colleagues in Japan too.

OK, talk to you more later. Please give my best regard to your wife too.

Thank you very much, again.

Tomoko NISHIGAKI

ไม่มีอะไรครับ..ก็แค่ให้กำลังใจตัวเองเล็กๆน้อยๆเท่านั้นครับ


ท่องอีสาน ดูการจัดการน้ำ..เมืองเพีย

8 ความคิดเห็น โดย bangsai เมื่อ 31 กรกฏาคม 2009 เวลา 20:55 ในหมวดหมู่ งานพัฒนาสังคม #
อ่าน: 2423

เมืองเพียตั้งอยู่ห่างจากตัวอำเภอบ้านไผ่ไปทางทิศตะวันตก บนเส้นทางที่จะไปอ.มัญจาคีรี ประมาณ 4 กม. ผมขับรถผ่านเมืองเพียนับครั้งไม่ถ้วน แต่ผมไม่รู้จักอะไรเลยเกี่ยวกับเมืองเพีย…


จนเช้าวันที่ 27 ก.ค. 52 คณะก็หยุดที่สนามหญ้าในวัดกลางเมืองเพีย คณะผู้จัดแนะนำให้รู้จักโอ๋ ลูกหลานชาวบ้านคนหนึ่งที่ตื่นตัวมาทำหน้าที่เป็นผู้ประสานงานรักแม่น้ำชี แนะนำให้เรารู้จักสถานที่วัดแห่งนี้


ทีมงานเอาเก้าอี้มาให้ อ.ศรีศักดิ์ได้นั่งแล้วก็ถามน้องโอ๋ว่าพามาที่วัดนี้ทำไม ฯ โอ๋บอกว่าพามาดูหลักฐานว่าสถานที่แห่งนี้คือเมืองเพีย ที่ตั้งสังคมโบราณที่มีการจัดการน้ำ หลักฐานก็คือคูน้ำที่มีล้อมรอบที่ตั้งตัวบ้านเรือน และพระมงคลหลวงเป็นพระประธานในโบสถ์แห่งนี้ ที่กล่าวกันว่าเป็นพระสมัยทวาราวดี อ.ศรีศักดิ์สอบถามข้อมูลต่างๆก่อนที่จะเดินเข้าไปกราบและพิจารณาพระประธานในโบสถ์ ตามหลักวิชาการ แล้วกล่าวยอมรับ..

อาจารย์ก็มานั่งร่ายยาวถึงระบบการจัดการน้ำโดยระบบคูรอบที่ตั้งชุมชน กล่าวว่า หากพวกเธอต้องการศึกษาเรื่องนี้ให้เข้าใจถ่องแท้ต้องมีสิ่งสำคัญต่อไปนี้


ประการแรกให้เอาแผนที่มาตราส่วน 1:50000 หรือละเอียดกว่านี้ยิ่งดีมาดู และต้องเป็นแผนที่ที่ครอบคลุมบริเวณกว้างขวางมากกว่าแผนที่เฉพาะที่ตั้งชุมชน เพราะระบบนิเวศวัฒนธรรมและการจัดการน้ำเป็นเรื่องของภาพกว้างที่เกี่ยวเนื่องกันหมด (PRA เรียก Secondary Data Collection)

ประการที่สอง เธอต้องเข้าใจสัญลักษณ์ของแผนที่ทั้งหมด อ่านแผนที่เป็น

ประการที่สาม เธอต้องลงสนามไปคุยกับชาวบ้านผู้รู้(Key Informance)มากๆ พร้อมทั้งขอดูหลักฐานทางโบราณคดีต่างๆ และสิ่งสำคัญต่างๆที่จะบ่งบอกเรื่องราวของอดีต และพัฒนาการของสังคมอดีต (PRA เรียก Focus Group Discussion)

ประการที่สี่ เธอต้องเดินดูสภาพพื้นที่จริงทั้งหมดด้วยตาเธอเองพร้อมกับชาวบ้านซักถามข้อมูลต่างๆ (PRA เรียก Walk-Through Survey)

ทั้งหมดที่ท่านอาจารย์ได้เมตตาสอนพวกเรานั้น มันช่างตรงกับหลักการการทำ PRA ที่ผมมีความคุ้นเคยอยู่แล้ว จึงเข้าใจเครื่องมือต่างๆ แต่ผมนั้นมืดบอดสนิทในเรื่องความรู้ทางโบราณคดีทางด้านประวัติศาสตร์ ที่ต้องการนำความรู้ด้านนี้มาพิจารณาและถอดรหัสหลักฐานต่างๆที่ค้นพบในชุมชนนั้นๆ

อาจารย์บอกทิศทางการไหลของน้ำตามธรรมชาติก่อนมาสู่คูเก็บกักน้ำรอบๆหมู่บ้านนี้ โดยการดูในแผนที่ที่มีเส้นคอนทัวร์ น้ำที่เก็บไว้ในคูเก็บน้ำรอบที่ตั้งชุมชนนี้ ก็คือ Water Tank ที่ไหลมาจากพื้นที่ที่สูงกว่า และน้ำในคูเก็บกักน้ำนี้โบราณเอาไว้ใช้อุปโภคบริโภคของชุมชนนี้

อาจารย์สอนคนโบราณเลือกทำเลที่ตั้งชุมชน ที่ต้องมีทางไหลของน้ำ เข้าและออก มีพื้นที่ที่เหมาะแก่การเพาะปลูก เป็นพื้นที่ที่มีความอุดมสมบูรณ์….

ท่านอาจารย์มีเมตตาเหลือเกินที่ให้ความรู้มากมายแก่คณะของเรา โดยเฉพาะผมเอง หูตาสว่างขึ้นเยอะทีเดียว….


ท่องอีสานดูการจัดการน้ำ..เกริ่น..

586 ความคิดเห็น โดย bangsai เมื่อ 28 กรกฏาคม 2009 เวลา 23:30 ในหมวดหมู่ งานพัฒนาสังคม, ทุนสังคม #
อ่าน: 4053

เป็นบุญเหลือเกินที่ได้มาฟังท่านอาจารย์ศรีศักดิ์ วัลลิโภดม มาบรรยายท่ามกลางของจริงต่อหน้าในเรื่องการจัดการน้ำในสังคมโบราณและปัจจุบัน


ท่านอาจารย์ เป็นคนเรียบง่าย ท่านมีอายุ  70 ปีแล้ว แม้จะต้องใช้ไม้เท้าช่วยพยุงยามเดินเหิน แต่ก็แข็งแรง

ระหว่างนั่งรถไปไหนต่อไหน สมาชิกในรถนั่งหลับกัน แต่ท่านไม่หลับ แถมคุยประสบการณ์ แสดงความคิดเห็นของท่านต่อเรื่องต่างๆตลอดทาง เล่นเอาผม ทึ่งในตัวท่านจริงๆ

หลายเรื่องเป็นความสำคัญระดับประเทศ เช่น ความคิดเห็นของท่านต่อเขาพระวิหาร ต่อข้อมูลที่ทัวร์ไกด์ส่งต่ออย่างผิดๆให้แก่นักท่องเที่ยวต่างชาติที่มาชมโบราณสถานต่างๆ เช่นที่พิมาย พนมรุ้ง … ล้วนเป็นประเด็นที่สังคมไทยน่าที่จะหาข้อสรุป มิใช่ปล่อยให้ความต่างไม่มีข้อสรุป ซึ่งหากการส่งต่อข้อมูลนั้นๆของทัวร์ไกด์ไม่ถูกต้อง นั่นคือความล้มเหลวของ ททท. และระบบการผลิตบุคลากรที่ทำหน้าที่เสมือนเป็นตัวแทนชาติเช่น ทัวร์ไกด์ …

บางเรื่องทำให้เกิดความสมบูรณ์มากขึ้นในเรื่องมุมมองต่อภูมิภาคนี้ ต่อชุมชนต่างๆที่เข้าไปทำงานด้วย และเกิดความเข้าใจภารกิจของสหวิทยาการมากขึ้น

…ฯลฯ

มีหลายประการที่ผมไม่เคยได้ยินมาก่อนในเรื่องการจัดการน้ำ

มีบางประการมาตอกย้ำข้อสรุปเรื่องคุณสมบัติของประชาชนในระบบภูมินิเวศวัฒนธรรมที่ผมมีที่ดงหลวง

——

…หากคุณไม่แสวงหาก็ไม่มีทางได้พบ..

(ยังไม่มีเวลาสรุปครับ)


ภาพเก่าเล่าเรื่อง 15 บูรณาการทีมงาน

131 ความคิดเห็น โดย bangsai เมื่อ 26 กรกฏาคม 2009 เวลา 20:53 ในหมวดหมู่ งานพัฒนาสังคม #
อ่าน: 4196

ภาพเก่าเล่าเรื่อง 15 บูรณาการทีมงาน

สถานที่: โครงการพัฒนาชนบทสมบูรณ์แบบ อ.สะเมิง

วันเดือนปี: ปี พ.ศ. 2522

โดย: Fridrich Naumann Stiftung ภายใต้ สำนักงานเกษตรภาคเหนือ

————-

งานหลักของเราที่สำคัญงานหนึ่งคือการสนับสนุนจัดตั้งกลุ่มออมทรัพย์ซึ่งเราเลือกเป็นชนิดเครดิตยูเนี่ยนที่มีสภาคริสจักร์แห่งประเทศไทยเป็นผู้นำเข้ามาและจัดตั้งสันนิบาตเครดิตยูเนี่ยนแห่งประเทศไทยทำงานสนับสนุนไปทั่วประเทศ


เราตระเวนขายความคิดนี้ตลอดทั้งปีทั่วทุกหมู่บ้านทั้ง 4 ตำบล โดยใช้วิธีออกไปประชุมชาวบ้านยามกลางคืน คุย คุย คุย มากกว่า 7-8 ครั้งต่อหมู่บ้าน ก่อนที่จะมั่นใจว่า เข้าใจ และสนใจเราจึงจะจัดตั้งขึ้นมา

รูปที่เห็นนั้นคือทีมงานของโครงการและทีมงานของ สันนิบาตเครดิตยูเนี่ยนแห่งประเทศไทยที่ตระเวนไปคุยกับชาวบ้านร่วมกับเรา โดยใช้รถมอเตอร์ไซด์ที่เห็นนั่นแหละ ส่วนฝรั่งคนนั้นเป็นอาสาสมัครชาวเยอรมันที่มาศึกษาชุมชนพักหนึ่งแล้วก็กลับไป ดูเขาจะสนใจมวยไทยมากกว่าชนบท เพราะเขาลงทุนไปเรียนมวยไทยที่กรุงเทพฯอยู่สามเดือน

เรามีกลุ่มเครดิตยูเนี่ยนทั้งหมด 27 กลุ่มใน 4 ตำบล จากปี พ.ศ. 2520 จนถึงปัจจุบันรูปแบบกลุ่มปรับเปลี่ยนไป เป็นการยุบรวมเป็นกลุ่มระดับตำบล ซึ่งมีเงินทุนหมุนเวียนมากกว่า 20 ล้านบาท ซึ่งไม่คาดคิดมาก่อนว่า ชนบทไกลปืนเที่ยงเยี่ยงสะเมิงนั้นจะมีนิสัยการออมและมีเงินมากขนาดนี้

อาจเป็นเพราะจิตตารมณ์ 5 ประการ หรือหลักการรวมกลุ่มของเครดิตยูเนี่ยนที่เน้น ความซื่อสัตย์ เสียสละ รับผิดชอบ เห็นอกเห็นใจ ไว้วางใจกัน กลุ่มจึงเติบโตมาจนถึงปัจจุบัน ขณะที่กลุ่มอื่นๆล้มหายตายจากไปนานแสนนานแล้ว…

อาจเป็นเพราะเราตอกย้ำความเข้าใจต่อหลักการจนอิ่มจึงจัดตั้งกลุ่ม มิใช่ประชุมเช้าตั้งกลุ่มตอนบ่าย แต่เราใช้เวลาตลอดทั้งปีให้ความรู้ความเข้าใจจนถึงแก่นแท้ ทะลุปรุโปร่ง จนแน่ใจแล้วจึงตั้งกลุ่มขึ้นมา แล้วเราก็เป็นพี่เลี้ยงต่ออีก 5 ปี..

นี่เองที่ผมมีความคล่องในการขับรถมอเตอร์ไซด์ เพราะขับจากบ้านนี้ไปบ้านโน้นวนเวียนในป่าเขาตลอดทั้งปี ค่ำไหนนอนนั่น กินกับชาวบ้าน นอนกับชาวบ้านแลกเปลี่ยนกับชาวบ้านจนเขาเรียกเป็นลูกเป็นแม่ เป็นพ่อกันทั้งนั้น…

เอ..หมดงานพัฒนานี่ผมไปสมัครเป็นมอเตอร์ไซด์รับจ้างได้สบายเลยนะเนี่ย อิอิ..



Main: 0.17931222915649 sec
Sidebar: 0.09118390083313 sec