อภิปรายคำถามหลักพ่อครูบาฯ

595 ความคิดเห็น โดย bangsai เมื่อ 18 สิงหาคม 2009 เวลา 10:40 ในหมวดหมู่ งานพัฒนาสังคม, ทุนสังคม, เฮฮาศาสตร์ #
อ่าน: 15087

คำถามหลัก
อะไรเป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้กระบวนการจัดการความรู้ตามแนวคิดของครูบา
สุทธินันท์ ปรัชญพฤทธิ์ทำให้ชุมชนหรือสังคม มีการพัฒนาไปสู่การเป็นสังคมแห่งภูมิปัญญา และการเรียนรู้

อภิปรายคำถามหลัก จากการวิเคราะห์คร่าวๆ

  • เป็นความลงตัวระดับหนึ่งของตัวคนคือครูบาฯ และระบบสื่อสารในยุคนี้คือ blog แต่เนื่องจากครูบามีต้นทุนในหลายประการอยู่ในตัวตน มีสวนป่าที่น่าสนใจยิ่ง มีคนที่รู้จักมักจี่ในท้องถิ่นใกล้ ไกลมากมาย มีบุคลิกท่าทีที่มีเสน่ห์ใครเห็นก็เย็นตาเย็นใจ ยิ่งเนื้อในมีความรู้ มีสาระ ใส่สีสันวาทะเข้าไปก็กระเจิดกระเจิง ถูกใจโก๋ กี๋ กิ๊ก กั๊ก ทั้งหลายแหล่
  • พ่อครูบาเขียนบันทึกลง Blog อันเนื่องมาจาก blog นี่เองและปัจจัยต้นทุนดังกล่าว ก็มีสิงห์เหนือเสือใต้ หมี แมว ทั้งหลายเดินเข้ามาเจริญสัมพันธไมตรี ก็เกิดรู้จักกัน เกิดไปมาหาสู่กัน เลยกลายเป็นข่ายเป็นเครือทั้งเหนือทั้งใต้ ออก ตก กลายเป็น Cyber Community / bond / net / node
  • เมื่อคนรู้จักกัน ก็ย่อมปะทะสังสรรค์ การแลกเปลี่ยนประสบการณ์ ความรู้ ความคิดเห็น ในสาระต่างๆทุกแนวก็เกิดขึ้นและพัฒนาต่อเนื่องต่อไป
  • การปะทะสังสรรค์ย่อมเกิดผลออกมา ที่สำคัญคือ การเรียนรู้สาระต่างๆซึ่งกันและกัน ต่อยอดความรู้ มันเป็นเครือข่ายความรู้ online รู้ตัวคนที่เป็นฐานความรู้ ประสบการณ์เฉพาะด้าน ใครอยากรู้อะไรก็ไป shopping ใน blog ท่านนั้นๆ หรือติดต่อโดยตรงส่วนตัว ก็เกิดการถ่ายเทความรู้กัน หากการถ่ายเทความรู้นี้มีแสงไฟประกายออกมา เราคงจะเห็นแสงสว่างวูบวาบไปตลอดเวลา สว่างมากน้อย แล้วแต่วาระ ความสนใจ ประเด็น ฯลฯ นี่คือสังคมแห่งการเรียนรู้
  • ความรู้มีหลายลักษณะ เช่น สิ่งที่ต้องรู้ สิ่งที่ควรรู้ สิ่งที่รู้ก็ได้ ไม่รู้ก็ได้ ฐานวิชาชีพของแต่ละคนแตกต่างกัน สิ่งที่ต้องรู้ที่อิงอาชีพจึงแตกต่างกัน ความหลากหลายจึงเกิดขึ้น แต่ทั้งหมดที่คล้ายๆกันคือ ฐานความรู้การดำรงชีพให้มีความสุข ยืนนาน ทุกคนควรจะมีพื้นฐานอันเดียวกัน ใกล้เคียงกัน ก็ขึ้นกับความสนใจ การเอื้อมากน้อยที่ต่างกัน


  • แต่ละคน(Subject) มีประสบการณ์ มีความรู้ ความสนใจ(Subject area) ซ้ำกันบ้าง เหลื่อมกันบ้าง เหลื่อมมากเหลื่อมน้อยบ้าง แต่ต่างมาแลกเปลี่ยนเรียนรู้กันอยู่บนฐานของ “เอาใจมาให้กัน” นี่คือจุดเด่นของชุมชนแห่งนี้

คำถามรอง
1. กระบวนการจัดการความรู้ตามแนวคิดของครูบาสุทธินันท์ ปรัชญพฤทธิ์ มีกระบวนการอย่างไร
2. มีปัจจัยสำคัญใดบ้างที่เป็นปัจจัยส่งเสริมในกระบวนการจัดการความรู้ตามแนวคิดของครูบาสุทธินันท์ ปรัชญพฤทธิ์
3. มีปัญหา และข้อจำกัดอะไรบ้าง ในกระบวนการจัดการความรู้ตามแนวคิดของครูบาสุทธินันท์ ปรัชญพฤทธิ์

ไม่อภิปรายในข้อหนึ่ง

ข้อสอง

ปัจจัยที่เสริมในกระบวนการเรียนรู้น่าจะเป็น

  • ความเป็นครูบาสุทธินันท์ Personality ที่มีองค์ประกอบในหลายประการ อาจจะเรียกรวมๆว่าเสน่ห์ เช่น ท่วงท่า ลีลา การวางตัว อักษรที่จารลงไปในบันทึก ฯลฯ
  • องค์ความรู้ ที่เป็นทุนภายในของครูบาสิทธินันท์ มีมากมาย เพราะเก็บเกี่ยวประสบการณ์ชีวิตมามาก เรียนรู้มาเยอะ ทั้งของตนเองและเชื่อมต่อกับท่านอื่นๆ
  • หากย้อนไปดูนิวาสถานที่อยู่อาศัยเป็นป่ากลางทะเลทราย นี่ก็เป็นสถานตักศิลาที่เหมาะสม ใครๆเห็นก็อยากจะมา มากกว่าเป็นตึกรามใหญ่โตแต่แห้งแล้ง ธรรมชาติคือองค์ประกอบสถานที่ที่มีคุณค่าแก่การมาเรียนรู้อย่างยิ่ง ทั้งเรียนรู้ธรรมชาติ และเรียนรู้เรื่องอื่นๆท่ามกลางธรรมชาติ โบราณก็เรียนในป่าทั้งนั้น
  • เครือข่าย อันนี้หายากครับ หากใครมีเครือข่าย หรือพูดง่ายๆคือเพื่อนที่อุดมความรู้ ท่านครูบาไม่รู้ไปทุกเรื่อง และใครๆก็เป็นเช่นนั้น แต่สามารถระดมความรู้มาได้ บอกกล่าวได้ เชื่อมได้
  • วิธีคิด มุมมอง ทัศนคติ ในประเด็นต่างๆนั้น ครูบามีแตกต่างจากท่านอื่นๆ ใครที่ตามมาคุยด้วยก็จะได้เปิดสมองส่วนที่ยังไม่ได้ใช้ออกมา
  • ฯลฯ

ปัญหาน่ะมีไหมในกระบวนการจัดการความรู้ของครูบาฯ

  • ไม่ว่าแบบไหนๆก็มีทั้งนั้นแหละ การศึกษาในระบบจึงมีคนสอบได้สอบตกไง มีคนแค่สอบผ่านกับคนที่ได้เกรียตินิยม ก็เป็นเรื่องปกติ
  • หากเอาปัจจัยของเสริมของครูบาตั้งขึ้น แล้วมองปัญหาในกระบวนการก็คือ ผู้ที่มาเรียนรู้ มาเพราะถูกบังคับให้มา มาเพราะเอาคะแนน อย่างคนทำวิทยานิพนธ์นี้ไง อิอิ หรือมาเพราะสนใจ อย่างหมอจอมป่วนบึ่งรถมาจากเมืองพิษฯตรงดิ่งยังกะกระทิงโทน ลุยตรงมาเลย แบบนี้ก็ได้ไปเต็มๆ
  • ผู้มาเรียนอาจจะสนใจจริง แต่รับลูกไม่ทัน ตามไม่ทัน เพราะไม่มีพื้นฐานมาก่อน ไม่มีการปูพื้นฐานมาก่อน เคนชินกับระบบเดิมๆ พอมาแบบนี้ก็งง แปลก เลย เก็บความรู้ตกๆหล่นๆ ต้องเตรียมตัวมาก่อน มีฐานการเรียนรู้มาก่อนจึงจะรับได้เต็มๆ พ่อครูบาใช้ชีวิตผ่านองค์ความรู้มามากมาย การพูดจาบางครั้งก็เป็นธรรมะ เป็นบทสรุปสุดยอด เด็กใหม่ไม่คุ้นชินก็ลำบากเหมือนกันในบางสาระ
  • เหมือนคนสนใจปฏิบัติธรรมวิปัสสนากรรมฐาน บางคนชอบแบบสัมมาอรหัง บางคนคุ้นชินแบบยุบหนอพองหนอ หลายคนสนใจแบบคู้เหยียดแขน ทั้งๆที่ทั้งหมดเป็นอุบายเพื่อเดินทางเข้าสู่จิตสงบ บรรลุธรรมะ ดังนั้น หลายคนไม่ถนัดที่จะเรียนแบบครูบา ตรงข้ามหลายคนได้สัมผัสแล้วน้ำตาไหล..
  • ครูบาได้ใช้ประโยชน์เฮฮาศาสตร์มาก แต่เฮฮาศาสตร์ไม่ใช่สถาบันการศึกษา เช่นวงน้ำชา เชียงราย ที่วันดีคืนดีก็เรียกทีมงานมานั่งประชุมยกระดับกระบวนการให้เหมาะกับคนที่จะมาเรียนรู้ในสำนัก แต่เฮฮาศาสตร์เป็นอีกแบบหนึ่ง ที่หลวมๆ โดยมีครูบาเป็นแกนกลาง เห็นเหง้าหลัก หากขาดไปก็อาจจะกระทบต่อกระบวนการนี้ได้ทันที อาจสุ่มเสี่ยงต่อความไม่ต่อเนื่อง และความยั่งยืน อนาคตอาจจะมีทางออกดีดีก็ได้

เอาแบบด่วนๆนะครับ อิอิ


อุ่นเครื่องเมืองหงสา 4

59 ความคิดเห็น โดย bangsai เมื่อ 26 กรกฏาคม 2009 เวลา 13:16 ในหมวดหมู่ เฮฮาศาสตร์ #
อ่าน: 3732

หนึ่ง..

เมื่อต้องจัดฝึกอบรมเจ้าหน้าที่ใหม่ด้านพัฒนาชนบท แม้แต่ได้รับเชิญไปฝึกอบรมวิศวกรหรือผู้ที่มีพื้นฐานวิชาชีพด้านอื่นๆก็เช่นกัน ผมมักใช้เครื่องมือทดสอบความคิดรวบยอดชิ้นหนึ่งครับ..

โดยตั้งโจทย์ว่า … ให้ทุกท่านเอากระดาษ A4 เอาปากกาหรือดินสอมา แล้วให้ลองใช้เวลาสัก 5 นาที ทบทวนเรื่องราวของชนบทที่ท่านรู้จัก แล้ววาดภาพชนบทเท่าที่ท่านรู้จักออกมาให้ละเอียดที่สุดเท่าที่จะทำได้

เมื่อหมดเวลาให้ทุกคนจับกลุ่ม 5 คน เอารูปที่วาดนั้นมาดูร่วมกัน ซึ่งจะพบว่าคนนั้นมีสิ่งนั้นไม่มีสิ่งนี้ คนนี้มีสิ่งนี้ไม่มีสิ่งนั้น แล้วให้ทั้ง 5 คนวาดใหม่ โดยให้มีองค์ประกอบรวมทั้งหมด ..ให้เวลา 5 นาที เอาภาพที่ได้จากกลุ่มมาติดบนกระดาน ให้ตัวแทนมาบรรยายภาพที่มีองค์ประกอบแทนเรื่องราวชนบทมากที่สุดเท่าที่จะทำได้ ให้ทุกคนทราบ

สิ่งที่พบมากที่สุดคือ ภาพนั้นมักจะมีภูเขาสองลูก มีดวงอาทิตย์ มีนกบินสองสามตัว มีต้นไม้ มีกระต๊อบ มีลำธาร มีทุ่งนา มีวัว ควาย เป็ด ไก่ …. แต่ส่วนใหญ่ไม่มี วัด พระ ภาพประเพณีต่างๆ…. สรุปแล้วมักจะได้ภาพชนบทที่เป็นลักษณะทางกายภาพเสียส่วนใหญ่ ส่วนลักษณะชนบทที่เป็นตัวแทนวัฒนธรรม ประเพณี และเรื่องราวที่คนในสังคมมีต่อกันนั้น มักไม่มีรวมอยู่ในภาพเหล่านั้น

สอง..

หลายครั้งที่ต้องเดินทางไปตามเมืองใหญ่ แม้กรุงเทพฯ จะพักตามโรงแรมระดับกลางๆ บางครั้งที่มีโอกาสพักระดับ 5 ดาว สุดเริด… วุ้ย..ค่าเช่าต่อคืนนั้นมากกว่าเงินเดือนของคนในสำนักงานบางตำแหน่งอีก ???? ทุกอย่างในโรงแรมต้องเยี่ยมไปหมด ราคาทุกอย่างต่อรองไม่ได้ ต้องเป็นไปตามกฎที่ทางโรงแรมออกมา กำหนดขึ้นใช้กับผู้มาพักทุกคน.. แม้โรงแรม 4 ดาว 3 ดาวก็เถอะ น้ำขวดที่อยู่ในตู้เย็นนั้นหากเผลอไปดื่มเข้าละก็ บางทีคุณต้องจ่ายเป็นราคาแพงสองถึงสามเท่าราคาจริง.. เวลาเช็คบิลล์ แม้แต่เศษสตางค์ก็ต้องเป็นไปตามนั้น ไม่มีลดหย่อนผ่อนคลาย.. มันแพงฉิบ.. โรงแรมบางแห่งสภาพห้องก็อย่างงั้นๆ แต่ราคา 1,200-1,500 บาท จะเล่น internetซะหน่อยก็คิดเงิน จะกินกาแฟก็คิดเงิน …. พนักงานยกมือไหว้ พูดจายิ้มแย้มแจ่มใส แต่บาทเดียวก็ไม่ลดราคา เป็นเมืองสำหรับผู้มีเงินจริงๆ… นี่ถ้าพักสามวันห้าวันหมดตูดแน่ๆเลย..

สาม…

เมื่อผมเดินทางถึงเมืองหงสา น้องพาไปพักที่ วิลลา สีสุพัน ของเอื้อย สีสุพัน (ศรีสุพรรณ) สาวใหญ่ หน้าตายิ้มแย้ม พูดจาไพเราะ บอกให้ไปพักห้องเบอร์ 01 และ 02 ซึ่งเป็นห้องที่มีทีวี พัดลม แอร์ฯ โต๊ะแต่งตัว ห้องน้ำในตัว โต๊ะทำงานเล็กๆ..เตียงนอนเดี่ยวใหญ่โตเพียงพอสำหรับสองคนนอน สองห้องนี้ ดีที่สุด ห้องอื่นๆเป็นพัดลม ไม่มีทีวี ไม่มีแอร์ฯ


ทุกเช้า เอื้อยจะถามว่าจะทานอะไร ก็จะจัดให้ ยกเว้นไม่มีจริงๆก็บอก และทุกครั้งที่ทานอาหารไม่ว่ามื้อไหนๆ ก็จะมีกล้วยหวีงามมาวางไว้ให้หยิบกินได้โดยไม่คิดเงิน อาหารมื้อเย็นซึ่งเป็นมื้อใหญ่ เอื้อยจะจัดรายการให้เรียบร้อย ยกเว้นว่าจะอยากกินอะไรก็สั่งเป็นพิเศษ

วันหนึ่งเรานั่งทานมื้อเช้า ผมสั่งกาแฟลาวผสมโสม กลิ่นแปลกๆ รสก็ไม่เข้มข้นตามที่ผมชอบ แต่ก็คิดว่ามาเมืองลาวก็ต้องลองชิมของเขาดู…

เอื้อยมีลูกกี่คน อยู่ที่ไหน ทำไมไม่เห็นมาช่วยเอื้อยเลย…ผมยิงคำถาม..

มีลูก สามคน..คนโตมีครอบครัวอยู่เวียงจัน คนรองเรียนหนังสือที่เมืองหลวงพระบาง คนสุดท้องทำกิจการอยู่โน่นไง เอื้อยชี้มือไปที่ร้านไกลๆโน้น.. เลิกกะสามีนานแล้วตั้งแต่ลูกยังเล็กๆ หาเงินเลี้ยงลูกมาแสนยาก หาบของขายก็เอา…เอื้อยพูดไปน้ำตาผู้เป็นภรรยาของสามีที่เลิกกันไปก็หลั่งออกมา… เรารักเขาอยู่ แต่เขาไปมีคนใหม่ ก็อยู่หมู่บ้านใกล้ๆนี่แหละ กว่าจะมาถึงวันนี้ ตรงนี้ ยากลำบากแสนเข็ญ แต่ก็กัดฟันสู้มา ผู้หญิงอย่างฉันทำทุกอย่างได้… บ้านที่เวียงจันก็มี เวลาอดีตสามีไปเวียงจันฉันให้เขาไปพัก หากฉันอยู่ฉันก็หลบไปพักบ้านเพื่อน ให้เขาพักกับภรรยาใหม่ของเขา เขาเจ็บไข้ได้ป่วย ฉันก็ยังดูแลเขา เพราะเขาไม่มีเงินทองรักษาตัวเองในบางครั้ง..

เมืองไทยนั้นฉันไปมาหมดทุกที่ทุกแห่ง ฉันเป็นตัวแทนของเมืองหงสาเอาผลิตภัณฑ์พื้นบ้านไปขาย ไปแสดงในนามของรัฐบาลลาว ส่วนใหญ่ก็เป็นผ้าพื้นบ้าน

บ้านหลังนี้ฉันทำเป็นเฮือนพัก ออกแบบเอง ผู้หญิงอย่างฉันออกแบบเอง ไม่ได้ฉากได้มุมหรอกเพราะฉันไม่มีความรู้.. แม้เธอจะพูดไป น้ำตาหยดไป ใบหน้าเธอก็ยิ้ม ยิ้มสู้ชีวิตจริงๆ……

เย็นวันนั้น เรากินข้าวกับน้ำพริกผักสด ผักลวก ไข่เจียวนุ่มๆจานใหญ่ ต้มยำแซบ…น้องที่ไปร่วมงานเธอเอ่ยกับเอื้อยว่า ช่วยคิดค่าใช้จ่ายทั้งหมดตั้งแต่วันที่มาด้วย..เราพบว่า ราคาค่าห้องเดิมนั้นราคา 250 บาท แต่เมื่อติดแอร์ มีทีวี ขอขยับขึ้นเป็น 350 บาท แต่ทางหน่วยงานผมมีคนมาพักบ่อยยัง advance เงินมาให้ในราคาเดิม ..เมื่อเธอทราบ เธอก็ลดราคาให้เท่าเดิม… อาหารที่กินทุกมื้อจนพุงกาง เป็นเวลา 3-4 วันนั้น ไม่ถึงพันบาท

คนงานในครัวและคนทำความสะอาดห้องทั้งหมดนั้น เป็นสาวชาวบ้านที่เรียก แม่ฮ้าง (สามีทิ้ง)ทั้งนั้น มาทำงานกับเอื้อย สีสุพัน และทุกคนก็ยิ้มแย้มแจ่มใส


เช้าวันถัดมา เอื้อยเล่าให้ฟังว่า… อาจารย์ขึ้นไปนอนแล้ว ฉันได้ยินคนคุยกันที่เรือนไม้ท่ารถไปไชยบุรีนั่น ฉันสงสัยว่าใครมาทำอะไรที่นั่น ผิดปกติ กลางคืนจะไม่มีใครมานั่งคุยแบบนั้น จึงเดินไปดู พบ 2-3 คน คนป่วยผู้เป็นแม่ เอากลับมาจาก อ.เฉลิมพระเกียรติฝั่งไทย หมอบอกว่ารักษาไม่หายแล้วให้กลับบ้านเถอะ (เธอเป็นโรคร้าย) แต่รถมาถึงค่ำ บ้านอยู่บนดอยไกลโน้นกลับไม่ทันแล้ววันนี้ เลยจะพักที่เรือนไม้ท่ารถนี้ เอื้อยบอกผมต่อไปว่า 3 แม่ลูกไม่มีอะไรติดตัวมาเลย มุ้งก็ไม่มี ผ้าห่มก็ไม่มี … เธอจึงเชิญให้ขึ้นไปนอนในโรงแรมของเธอ โดยไม่คิดเงิน 3 แม่ลูกขอบใจ แต่ไม่ไปนอนหรอก รบกวน.. เอื้อยจึงมาเอาน้ำอาหารไปให้ เอามุ้ง ผ้าห่มไปให้ ….


ผมฟังเอื้อยเล่าให้ฟังแล้ว…คิดในใจว่า เอื้อยสีสุพันท่านนี้น้ำใจเธอ จิตใจเธอ เหลือล้นจริงๆ แม้ว่าในเมืองหงสานี้ เธอจะเป็นคนหนึ่งที่ปัจจุบันมีฐานะระดับนำคนหนึ่งในเมืองนี้เพราะมีกิจการที่มั่นคงและเจริญก้าวหน้า แต่เธอช่างแตกต่างจากคนในเมืองใหญ่ที่อื่นเสียจริงๆ

คิดว่าเรื่องราวทำนองนี้พบมากมายในชนบท แต่รายละเอียดเหล่านี้ไม่ได้ถูกวาดจำลองใส่ไปในภาพของ..เรื่องที่หนึ่ง และจะไม่พบสาระความงามของชีวิตแบบนี้ที่โรงแรมระดับ 5 ดาวที่โอ่โถงและแพงลิบนั่น..ในเรื่องที่สอง แต่เรื่องราวที่สามนั้นพบ

“นี่ไงชนบท”…ที่ผมรัก คุณก็ด้วยใช่ไหม..


อุ่นเครื่องเมืองหงสา 3

17 ความคิดเห็น โดย bangsai เมื่อ 26 กรกฏาคม 2009 เวลา 13:04 ในหมวดหมู่ เฮฮาศาสตร์ #
อ่าน: 1461

การไปดู “กาดแลง” (ตลาดเย็น) บ้านจ่อมแจ้ง วันนั้น ผมได้มุมมองของ ความเป็นปุถุชนที่เวียนว่ายตายเกิดในสังสารวัฏ มันเป็นปกติธรรมดาของวิถีชีวิตที่นั่น แต่เราผู้มาจากถิ่นอื่น มีความรู้สึกตงิดตงิดหัวใจ แม้ว่าในตลาดแห่งนั้นจะมีความหลากหลายให้ตื่นตา แต่ก็ในความหลากหลายนั้น บ่งบอกว่ามนุษย์เราพึ่งพาชีวิตเพื่อนร่วมโลกอื่นๆมากมาย…..

ชาวบ้านหรือลูกค้าเดินเข้าออกตลอด ข้าราชการที่เดินทางกลับบ้านหลังเลิกงาน แวะซื้อของติดมือกลับบ้าน มันเป็นวิถีชีวิตชนบทที่เรียบง่าย ไม่มีระบบ Super Store มาผูกขาด ทำให้ชาวบ้านมีรายได้พอยังชีพตามอัตภาพ..


ในตลาดเห็นชีวิตที่ด่าวดิ้น เพราะมันเป็นอาหารของคน 1 หอย 2 จิ้งกุ่งหรือจิ้งหรีด 3 สารพัดสัตว์เล็กๆ ที่จับได้ในทุ่งนา ชาวบ้านจะซื้อไป “หมก” 4 ไก่ และเป็ดที่ชำแหละมาเรียบร้อยแล้ว ที่บรรจุใส่ถุงพลาสติกมีรูอากาศให้หายใจในกะละมังนั้นคือปลาไหล ส่วน 5 นั้นคือ รังต่อยักษ์ที่มีตัวอ่อนอ้วนๆ แม่ค้าบอกว่านึ่งมาเรียบร้อยแล้ว สามารถกินได้เลยหรือเอาไปตำไปป่นก็แล้วแต่ความชอบ ด้านในสุดจะมีเขียงสัตว์ใหญ่ตั้งแต่ ควาย วัว หมู ที่สังเวยชีวิตเพื่อยังชีวิตของคน

ความจริงใน Super Store ที่หรูหรานั้นก็ไม่ต่างไปจากตลาดเล็กๆแห่งนี้ที่คนเมืองก็พึ่งชีวิตเพื่อนร่วมโลกมากมาย อาจจะมากกว่าตลาดบ้านจ่อมแจ้งนี้ด้วยซ้ำไปเมื่อเทียบปริมาณ และจำนวนชนิด เพียงแต่ Super Store ใช้ระบบการจัดการเข้ามาดำเนินการ จนผู้บริโภคไม่มีความรู้สึกใดๆเลย แม้แต่น้อย แถมอาจจะรู้สึกในทางอื่นที่ว่า ทันสมัย และนั่นคือโปรตีนที่ร่างกานคนเราต้องการ..ฯลฯ


ตลาดบ้านจ่อมแจ้งเป็นแบบพื้นๆบ้าน ง่ายๆ ตรงไปตรงมา ไม่มีกระบวนการอะไรมาจัดการให้ซับซ้อน แต่ผมก็เกิดการปะทะทางความรู้สึก ขึ้นมาจนได้…


เพราะว่า มีสิ่งที่มีชีวิตหนึ่งที่ผมต้องหยุดลงตรงกลางตลาดบ้านจ่อมแจ้ง คือ เจ้านกกระยางตัวนี้ เขาถูกมัดปีก มัดขา มัดปาก วางขายอยู่ 1 ตัว เขายังมีชีวิตอยู่ ผมเลยถามแม่ค้าว่า…

บางทราย : ได้นกตัวนี้มาอย่างไร

แม่ค้า: เอาแห หรือตาข่ายไปดักในนามา

บางทราย: ชาวบ้านซื้อเอาไปทำอาหารประเภทไหนกัน

แม่ค้า: ทำหลายอย่างได้ แกง ก็ได้ ย่างก็ได้…..

เมื่อผมถามราคาแม่ค้าบอกว่า 25 บาท ผมไม่รอรีค้นหาเงินได้มา 20 บาท ขาดไป 5 บาทเลยไปขอเพื่อนข้างๆมาอีก 5 บาท ผมตั้งใจจะเอาไปปล่อย พนักงานขับรถแนะนำว่าเอาไปปล่อยในทุ่งนาดีกว่า เดี๋ยวจะพาไปที่ทุ่งนาบ้านศรีบุญเรือง


เห็นทุ่งนาแล้ว ผมนึกถึงสะเมิง เชียงใหม่ ชนบทแห่งแรกของการทำงานของผม เพราะสภาพที่ทุ่งนามีภูเขาล้อมรอบ มีน้ำไหล ยอดเขามีเมฆหน้าฝนปกคลุม มีเถียงนา ความเขียวชอุ่มของต้นข้าวที่แสดงความสมบูรณ์ด้วยธรรมชาตินั้น คนเมืองอย่างเราได้มาสัมผัสแล้วก็ ชื่นอกชื่นใจเป็นที่สุด แม้ว่าเส้นทางจะเฉอะแฉะเพราะถนนลูกรังที่โดนน้ำฝน ก็เป็นเรื่องของธรรมชาติที่อยู่คู่ชนบทมานานแสนนานแล้ว เมืองหงสาคืออู่ข้าวอู่น้ำ ผลิตข้าวออกเลี้ยงเมืองไชยบุรี แม้กระทั่งหลวงพระบาง และอุดมไชย

คนขับรถลงมาช่วยผมคลายตอกไม่ไผ่ที่มัดเจ้านกกระยางตัวนี้ออก ทันทีที่ปากมันเป็นอิสระ มันก็จิกแขนคนขับรถเสียหนึ่งที มันคงจะต้องต่อสู่ป้องกันตัวเองเท่าที่จะทำได้ เมื่อแก้มัดออกหมดก็ยืนมาให้ผมเป็นผู้ปล่อยเขาไป ผมขอเรียกเจ้านกกระยางตัวนี้ว่า “เจ้าบุญหลง” ก็แล้วกัน

คงนึกออกนะครับว่าผมควรจะกล่าวอะไรบ้างก่อนที่จะปล่อยชีวิตน้อยๆตัวนี้ไปสู่อิสรภาพอีกครั้งหนึ่ง และไม่รู้ได้ว่าเขาจะกลับไปติดตาข่ายชาวนาอีกครั้งหรือไม่ หากติดอีก ผมก็คงไม่มีความพอดีที่จะเดินไปเจอะเขาอีกเป็นแน่แท้ อย่าเป็นเช่นนั้นเลยนะ…เจ้าบุญหลง

เมื่อผมโยนเจ้าบุญหลงขึ้นซึ่งคิดว่าเขาคงจะรีบบินหนีไปอย่างสุดชีวิต ที่ไหนได้ หล่นปุ ตรงข้างรั้วนาข้าวของชาวบ้านนั่นเอง เขาไม่บินไป คนขับรถต้องไปจับมาใหม่แล้วโยนค่อยๆลงในแปลงนาไป พร้อมกับบอกว่า อาจารย์.. “มันยังเมื่อยอยู่” เพราะถูกมัดมานาน….? เหมือนคนนั่นแหละ เมื่อถูกมัดมานานๆก็ไปไหนไม่เป็นหรอก….


เจ้าบุญหลงลงไปถึงพื้นท้องทุ่งนาแล้วเขาก็ยืนเงียบ นิ่ง ไม่กระดุกกระดิก เราคิดว่าเขาคงเมื่อย หรือเคล็ด อย่างที่คนขับรถกล่าว เราจึงยืนดูเขาสักพัก เผื่อว่าหายเคล็ดแล้วก็จะวิ่งไปหลบที่ไกลๆคนต่อไป อีกอย่างหนึ่ง เราก็เกรงกลังว่า หากมันไม่ไปไหน เมื่อเรากลับไปแล้ว ชาวบ้านมาเห็นก็จะจับมันไปเป็นอาหารอีก.. ใจคิดเช่นนั้น จึงภาวนาในใจว่า เจ้าเป็นอิสระแล้วไปเถอะ ไปไกลๆตามทางชีวิตของเจ้าเถอะนะ…เจ้าบุญหลง

หลังจากที่เราหันสายตาไปดูทุ่งนามุมอื่น เพื่อเสพธรรมชาติให้เต็มๆสักพักใหญ่ แล้วย้อนกลับมามองดูเจ้าบุญหลงว่าไปไหนแล้วหรือยัง…. พบว่าเขายืนนิ่งเงียบและตาเขามองมาที่เราเป๋งเลย ผมหยิบกล้องมาซูมดูสายตาเขา

เราไม่รู้ว่าเขาคิดอะไร เขาจะจำติดตาว่า ไอ้มนุษย์พวกนี้จับเขามาทรมาน หรือเปล่าหนอ หรือว่าเขามองเราแล้วขอบอกขอบใจเราที่ซื้อชีวิตเขามาปล่อยให้เป็นอิสระอีกครั้งหนึ่ง เราไม่รู้หรอกว่าเขาคิดอะไรจริงๆ แต่สายตาเขานั้นจ้องจับเราแทบไม่กระพริบเลย….

เราจากเขาไปเพราะเวลาใกล้ค่ำแล้ว… ในรถไม่มีใครพูดอะไรกันเลย แต่ผมคิดในใจเงียบๆว่า มาเมืองหงสาครั้งนี้ได้ไถ่ชีวิตหนึ่งไว้ ให้กลับคืนสู่ธรรมชาติ….

เจ้าไปเถอะ….บุญหลง เจ้ากลับคืนไปสู่ความมีชีวิต เพื่อดำรงชีวิตที่มีความเสี่ยงต่อไป…เหมือนเรานั่นแหละ ทุกเวลานาทีเราก็เสี่ยงต่ออะไรมากมาย แต่ข้าไม่รู้หรอกว่าจะมีใครหยิบยื่นมือมาไถ่ชีวิตแบบนี้บ้าง..แต่ช่างเถอะ ทำวันนี้ให้ดีที่สุดก็แล้วกัน ดวงตาของเจ้าติดตาฉันจริงๆ….

ค่ำแล้วผมอาบน้ำ ทบทวนกำหนดการฝึกอบรม และสาระสักพัก ก็อ่านหนังสือที่ติดมาได้ไม่กี่หน้า ผมก็นอนหลับโดยไม่ได้คิดอะไร

ตื่นเช้าหกโมงเศษ เมื่อทำธุระแล้วก็คว้ากล้องคู่ชีพลงมาหน้าเฮือนพัก กินอาหารเช้ากับกาแฟ แล้วก็หันหน้าไปดูบนถนนยามเช้าที่มีชีวิตพี่น้องชาวหงสาเดินไปมาตามภารกิจของแต่ละคน แต่ทันใดนั้น.…นั่นเด็กสองคนนั่นที่เดินหันหลังให้เราไปไกลนั่น ถือสิ่งมีชีวิตห้อยไปสองตัว… ดูเหมือนไก่ แต่ปากมันยาวๆ ไม่น่าเป็นไก่ เป็ดก็ไม่น่าใช่


สองคนเดินไปไกลพอสมควร….เอ..หรือว่านกกระยาง ผมคว้ากล้องออกมาซูมไปที่เด็กสองคนนั่น…. ตายแล้ว..เจ้าบุญหลงหรือเปล่า……

กว่าผมจะนึกอะไรที่ควรได้ เด็กสองคนก็เดินขึ้นรถมอเตอร์ไซด์ขับไปไกลเสียแล้ว ผมนึกถึงสายตาเจ้าบุญหลงคู่นั้น…

อาหารเช้าที่ผมเพิ่งกินเข้าไปมันจุกคอผม…. อือ ชีวิตที่เพื่อชีวิต…


อุ่นเครื่องเมืองหงสา 2

7 ความคิดเห็น โดย bangsai เมื่อ 26 กรกฏาคม 2009 เวลา 12:58 ในหมวดหมู่ เฮฮาศาสตร์ #
อ่าน: 1502

ประสบการณ์ใหม่: ที่ต้องฝึกอบรม PRA (กระบวนการค้นหาศักยภาพชุมชนอย่างเร่งด่วน) ด้วยวัตถุประสงค์ที่แตกต่างไปจากที่เคยทำมาอย่างสิ้นเชิง เพราะครั้งนี้โจทย์คือการย้ายหมู่บ้านทั้งหมู่บ้าน เนื่องจากจะมีการขุดพื้นที่ทำเหมืองแร่ลิกไนท์ PRA จึงต้องค้นหาข้อมูลเพื่อวัตถุประสงค์นี้โดยเฉพาะ

การไปหงสาก็ทำงานเป็นหลัก ไม่ค่อยมีเวลาไปซอกแซกดูนั่นดูนี่ตามที่ใจอยากจะทำ ก็อาศัยช่วงเช้ากับช่วงเลิกงานแล้ว ได้แวบไปบ้าง ซึ่งก็พอจะได้เห็นเมืองหงสาบางส่วน


ภาพนี้ผมนึกถึงอำเภอสะเมิง : สะเมิง เชียงใหม่อยู่หลังเขาดอยสุเทพสมัยก่อนนู้น…(2518) ที่ผมเริ่มทำงานพัฒนาชนบทใหม่ๆ เมืองหงสามีลักษณะเป็นชนบทมากๆแบบนั้น เพราะถนนหนทางยังเป็นลูกรัง แดงเถือก สภาพบ้านเรือนก็เป็นแบบเดิมๆ ในตัวเมืองหงสาจะมีตึกรามบ้างแต่ก็ไม่ได้หรูหราแต่อย่างใด มองไปในท้องทุ่ง สวยงามด้วยความเขียวขจีของทุ่งนาข้าว ใครบางคนบอกชอบมากๆ อยากมีชีวิตอยู่ในชนบทแบบนี้จริงๆ….

“หากจะเข้าใจชุมชนต้องไปดูตลาดในท้องถิ่นนั้นๆ”

เป็นคำกล่าวที่คนทำงานพัฒนาชุมชนรู้ดีกันทั่วไป เพราะตลาดบ่งบอก ความอุดมสมบูรณ์ของท้องถิ่น บ่งบอกถึงวัฒนธรรมการบริโภค บ่งบอกถึงสภาวะทางเศรษฐกิจชุมชน บอกถึงบทบาทหน้าที่ชายหญิง เด็ก ผู้ใหญ่ รวมกว้างไปถึงสภาวะสุขภาพอนามัยของคนในชุมชนนั้นๆ บ่งบอกถึงการบริหารจัดการต่างๆ บ่งบอกถึงอิทธิพลของทุนนิยมบริโภค บ่งบอกถึงความสัมพันธ์ของคนในท้องถิ่น บ่งบอกถึงระดับความเอื้ออาทรหรือทุนทางสังคมเดิมๆ บ่งบอกถึงสภาวะทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม การพึ่งพิงธรรมชาติ และบ่งบอกอีกมากมาย…. แล้วแต่ว่าตาปัญญาจะเห็นแค่ไหน

เมื่อเลิกการฝึกอบรมเราจึงไปดูกาดแลง (ตลาดช่วงเวลาเย็น) ของหมู่บ้านจ่อมแจ้งใกล้ๆที่พัก

เป็นตลาดเล็กๆ ไม่ใหญ่โต มีอาคารถาวรมีร้านยกพื้นเป็นที่นั่งขายสินค้าพื้นบ้านต่างๆ แบ่งเป็น 4 ล็อค ทั้งหมด 90% เป็นสินค้าประเภทอาหารของกิน โดยเฉพาะพืชผักพื้นบ้าน สัตว์พื้นบ้านต่างๆ มีเขียงเนื้อควาย วัว หมู 5-6 เขียง ทั้งหมดเกือบ 100% เป็นสุภาพสตรีที่มานั่งขายของ ทั้งคนกลางคนและคนแก่ สาวๆ และมีเด็กๆมานั่งข้างๆแม่บ้าง

เราตะลึงสินค้าพื้นบ้านที่ชาวบ้านเอามาวางขาย เพราะเป็นพื้นบ้านจริงๆ สดๆ สารพัด อาหารสำเร็จรูปและขนมพื้นบ้านมีบ้าง สินค้าก็กองเล็กกองน้อย ต่างก็เรียกร้องคนแปลกหน้าอย่างเราให้ช่วยอุดหนุนสินค้า


รายนี้เป็นลาวเทิง(คือชาวลาวที่อยู่บนดอย) เดินมาไกลโข เป๊อะกระบุงด้านหลังภาชนะประจำเผ่าของเขามา ผมไปถามว่ามาซื้อสินค้าหรือมาขายสินค้า เธอตอบอะไรผมไม่ทราบ (ไม่รู้เรื่องน่ะครับ) คุณยายแม่ค้าใกล้ๆนั้นช่วยบอกว่า เขาเอาผักสดๆมาขาย ไม่ได้มาซื้อ


สาวน่ารักคนนี้นั่งขายขนมพื้นบ้านไปด้วย เมื่อว่างไม่มีคนมาซื้อเธอก็ใช้เวลาว่างเย็บผ้าลายพื้นบ้านด้วยมือ ผมหละทึ่งในความสามารถที่งานนั้นประณีตจริงๆ และเธอขยันที่ไม่ยอมให้มีเวลาว่างเปล่าๆ สอบถามได้ความว่าเธอไปเอาวัตถุดิบมาจากร้านค้าที่เมืองหงสา มาแซว (เย็บลาย) แล้วเอาไปส่งให้ที่ร้าน แล้วเอาชิ้นใหม่มาทำต่อเช่นนี้ไปเรื่อยๆ…ปรากฏว่าร้านค้าในเมืองหาสาที่รับซื้องานของเธอคือเจ้าของเฮือนพัก(โรงแรมเล็กๆ)ที่ผมไปพักนั่นเอง

วัฒนธรรมกาดแลง: เป็นวัฒนธรรมชุมชนของล้านนาและล้านช้าง ที่ไม่จำเป็นต้องมีโครงการพัฒนาชนบทไปส่งเสริม สนับสนุนสร้างตลาดขึ้นมา ชาวบ้านก็มีนิสัยค้าขายและจัดทำตลาดของชุมชนขึ้นมาเองเป็นปกติวิถี ตลาดชุมชนที่เราไปสนับสนุนนั้นบางแห่งดูท่าจะพอไปได้…แต่บางแห่งก็ส่อแววว่าอาการไม่ค่อยดีเท่าไหร่ หรือว่าเป็นกิจกรรมที่ไม่ใช่วัฒนธรรมของชุมชน จึงจำเป็นที่เจ้าหน้าที่เราต้องออกแรงกันมากหน่อย หากตลาดมีประโยชน์จริงต่อชุมชนมันก็น่าที่จะเดินต่อไปได้ด้วยหลักการของประโยชน์นี้เอง


นั่นไม้สนเกี๊ยะ(ภาษาภาคเหนือของไทย) หอยพื้นบ้าน ปลาไหล ไก่ เป็ด ชำแหละแล้ว พริก ผักพื้นบ้าน ขวามือนั่นคืออาหารที่เป็นสิ่งมีชีวิตพื้นบ้าน มีหอย จิ้งหรีด(จิ้งกุ่ง) และสัตว์เล็กๆสารพัดชนิดที่ไปช้อนมาจากทุ่งนา


สิ่งที่ขาดไม่ได้คือผงชูรส ที่ชาวลาวกินผงชูรสแบบน่ากลัวจริงๆ ขนาดไปนั่งกินเฝอ (ก๊วยเตี๊ยว) ยังมีผงชูรสอยู่ในกลุ่มเครื่องปรุงพวกน้ำปลา กะปิ น้ำตาลทราย ฯ

คุณยายที่นั่งลุ้นลูกค้าอยู่นั่นขายอะไร…

หวยลาวครับ…..

ทั้งหมดนี้เป็นเพียงส่วนหนึ่งของเรื่องราวในตลาดชุมชนบ้านจ่อมแจ้ง

ไปให้เห็น คุย-ซักให้รู้ จับต้องให้ได้ความรู้สึก บันทึกภาพมาเพื่อย้ำเตือน ….

ค้นหาความจริงในสิ่งที่เห็น

จับต้องความจริงให้ได้ในมิติที่สัมผัส

สรุปให้ได้ถึงที่สุดของคำพูด ที่เอ่ย

ฯลฯ

แล้วประมวลแก่นแท้ออกมา เหล่านั้น เท่ากับเรา ปอกเปลือกสังคมหงสามาให้ล่อนจ้อนได้เลยครับ…

นี่คือเครื่องมือหนึ่งของ PRA ครับ

เครื่องมือปอกเปลือกสังคม..อิอิ


อุ่นเครื่องเมืองหงสา 1

123 ความคิดเห็น โดย bangsai เมื่อ 26 กรกฏาคม 2009 เวลา 12:47 ในหมวดหมู่ เฮฮาศาสตร์ #
อ่าน: 4091

เอาบันทึกเก่ามาอุ่นเครื่องเมืองหงสากันครับ..

เทียบเชิญ: ปลายปี 51 ได้รับเทียบเชิญจากท่าน paleeyon ให้ชวนเพื่อนร่วมงานไปเมืองหงสา ลาว ไปฝึกอบรมเจ้าหน้าที่ลาวเรื่อง PRA เมืองหงสานี้ติดกับเมืองเงิน ซึ่งติดกับ อำเภอเฉลิมพระเกียรติ์ จังหวัดน่านของเรา เมืองหงสาอยู่ในแขวงไชยบุรี สปป.ลาว


เดินทาง: เริ่มต้นที่สุวรรณภูมินั่ง PB air ไปลงน่านแล้วนั่งรถจากน่านไป “ด่านห้วยโก๋น” อ.เฉลิมพระเกียรติ์ ระยะทางประมาณ 133 กิโลเมตร ผ่าน อ.ท่าวังผา อ.เชียงกลาง อ.ทุ่งช้าง เข้า “ด่านน้ำเงิน” ของลาว แล้วเข้าเมืองเงิน จากเมืองเงินไปเมืองหงสา ระยะทางจากด่านถึงเมืองหงสาประมาณ 40 กิโลเมตร แต่ใช้เวลาทั้งหมดจากน่านไปถึงเมืองหงสาประมาณ 4 ถึง 4.30 ชั่วโมง แบบไม่มีอะไรติดขัดนะ


สองข้างทางจากน่านไปถึงด่านห้วยโก๋นนั้น คนที่ชอบภูเขาและธรรมชาติจะตื่นตาตื่นใจ เพราะจะเห็นต้นไม้ ป่า พืชเศรษฐกิจของชาวบ้าน วิถีชีวิต และถนนหนทางที่สะดวกสบาย ตรงข้ามจากด่านน้ำเงินของลาวไปเมืองเงินไปเมืองหงสานั้น แม้ธรรมชาติป่าจะดีกว่าฝั่งไทยแต่สภาพถนนนั้นมีแต่ลูกรังและถนนอยู่บนยอดภูเขา ไหล่เขา ทั้งสิ้น แต่ก็สวยงามไปอีกแบบหนึ่งครับ


ด่านชายแดนเหงาๆ: ที่ด่านห้วยโก๋น สภาพเงียบเหงา ไม่โอ่อ่าฟู่ฟ่าเหมือนด่านมุกดาหาร-สะหวันนะเขต มีร้านค้าสองสามร้าน เป็นร้านที่ขายของกินของใช้ที่จำเป็น และร้านอาหารหนึ่งร้าน ช่วงที่เราเดินทางนั้นมีเพียงเราสามคนเท่านั้นที่ข้ามผ่านแดน เจ้าหน้าที่นั่งตบยุงทั้งวัน เพื่อนผู้ร่วมเดินทางจัดการเอา Passport ไปแสดงต่อเจ้าหน้าที่ แล้วเราก็นั่งกินข้าวกลางวันกันที่นั่นแล้วจึงเดินทางต่อไปโดยขออนุญาตนายด่านเอารถไปส่งเราที่ด่านฝั่งลาวอีกประมาณ 100 เมตร


ตื่นเต้นอ่ะ: ที่ด่านน้ำเงินฝั่งลาวนี้มีเรื่องให้ตื่นเต้น คือ นายด่านไม่อนุญาตให้เราเข้าไปเพราะไม่มี Visa เอาแล้วซี…. เราต้องนั่งโคนต้นพิกุลที่เห็นนั่น(รูปล่าง)ประมาณสองชั่วโมง รอให้เจ้าหน้าที่บริษัทเจรจา จัดการเรื่องนี้ให้เรียบร้อยก่อน ในฐานะที่เราไม่เคยผ่านด่านนี้ก็ลุ้น เพื่อนร่วมทางก็วางแผนขณะที่รอการเจรจาว่ามี 2 หนทางที่แก้ไขหากไม่สามารถผ่านด่านนี้ได้ คือ เดินทางกลับไปน่านแล้วต่อไปเชียงใหม่นั่งเครื่องบินไปหลวงพระบางแล้วนั่งเรือเร็วในแม่น้ำโขงประมาณ 3 ชั่วโมงขึ้นมาถึงท่าส่วง แล้วนั่งรถมาเมืองหงสา(อะไรจะอ้อมโลกขนาดนั้น..) อีกทางคือนั่งรถไปน่าน ไปชียงราย ไป อ.เชียงของแล้วนั่งเรืออีก 6 ชั่วโมงล่องแม่น้ำโขงมาบ้านท่าส่วง แล้วนั่งรถมาเมืองหงสา แต่ไม่สนุกสักเส้นทางเพราะกินเวลามากมาย และจะทำให้โปรแกรมการฝึกอบรมต้องเสียหายไปด้วย


ทำไมไม่ทำ Visa : ขอไม่อธิบายนะครับเป็นเหตุผลเฉพาะ

ได้เฮ: เมื่อเรานั่งตื่นเต้นอยู่ 2 ชั่วโมงการเจรจาบรรลุผลอนุญาตให้ผ่านได้ แต่ต้องมีคนค้ำประกัน…..เฮ…. เมื่อเราเดินทางต่อ แม้จะนั่งหน้ารถแต่ไม่สามารถจะถ่ายรูปได้เลย เพราะทางขรุขระโยกไปโยกมาตลอด แม้วิว ทิวทัศน์จะสวยงามแต่ก็ไม่อยากรบกวนพนักงานขับรถให้หยุดเพื่อถ่ายรูป.. แท้ในใจอยากจะหยุดรถหลายต่อหลายครั้ง…. เส้นทางบนยอดเขานั้น ธรรมชาติในช่วงฤดูฝนสดชื่นมาก เขียวขจีไปหมด ไม่รู้ว่าในช่วงฤดูแล้งจะมีไฟป่าเหมือนบ้านเราหรือไม่… .

เราผ่านเมืองเงิน และในที่สุดพนักงานขับรถดูนาฬิกาแล้วบอกว่าพอมีเวลา จะพาไปวนดูเมืองเงินซะหน่อย

สิ่งที่คิดส่วนหนึ่ง: การได้มาน่านในวันข้างหน้า แล้วเลยไปหงสา คิดว่าต้องหาเวลามาเที่ยวในสถานที่หลายๆแห่งดังนี้

  • เส้นทางก่อนไปหงสา ควรเที่ยวจังหวัดน่านก่อน แค่มากราบพระเก้าวัดที่เมืองน่านก็คุ้มสุดคุ้มแล้ว มีวัดพระธาตุแช่แห้ง วัดพญาภู วัดภูมินทร์ วัดมิ่งเมือง วัดหัวข่วง วัดพระธาตุช้างค้ำ วัดสวนตาล วัดพญาวัด วัดพระธาตุเขาน้อย
  • แค่ไปดูพิพิธภัณฑ์งาช้างดำ พิพิธภัณฑ์ผ้าพื้นบ้าน โบราณ ก็สุดคุ้มแล้ว
  • แค่ไปดูดอกชมพูภูคาที่อุทยานแห่งชาติดอยภูคา อ.ปัวเดือน กุมภา-มีนาก็คุ้มแล้ว
  • ไม่ต้องนั่ง “ยนต์เหาะ” (เครื่องบิน) เอารถไปเที่ยวก็สนุกโขแล้ว
  • น่านเป็นเมืองค่อนข้างปิด เพราะมิใช่เมืองผ่าน สภาพธรรมชาติ วิถีชีวิตยังเดิมๆอยู่มาก ใครที่ชอบแบบนี้ ไม่ผิดหวังครับ
  • ยิ่งข้ามไปเมืองหงสา โอยคุณเอ๋ย ผมนึกถึงชนบทภาคเหนือของไทยเมื่อ 30 ปีที่ผ่านมาจริงๆ
  • การเดินทางข้ามประเทศ แม้ใช้เวลาถึง 4 ชั่วโมง แต่ก็ชอบ สนุก และแปลกหูแปลกตาต่อธรรมชาติ สิ่งแวดล้อม ชีวิตเพื่อนร่วมโลกอีกซีกหนึ่ง
  • คนเรานี่ก็ดิ้นรนจริงๆ ป่าเขาสูงชัน ไกลแหล่งความสะดวกสบาย ทำไมพากันมาอยู่ได้ ในป่าในเขาเช่นนี้
  • คิดถึง bloggers ชาวเฮฮาศาสตร์ หากมาจัดเปลี่ยนบรรยากาศที่เมืองหงสา ตั้งแค้มป์เรียนรู้วิถีชีวิตเรียบง่ายของชาวหงสากันสักสองสามวันน่าจะดี โดยเฉพาะคนที่ชอบ “ลุยๆ”
  • หากข้ามไปเมืองเงิน เมืองหงสาแล้ว เราไปหาคำตอบกันว่า ความพอเพียงคือระดับที่เหมาะสมของการดำรงชีวิต และเป็นทางออกของเป้าหมายการพัฒนาหรือไม่

สน ม๊ะ……. หากสน..ลุงเปลี่ยนเทหมดหน้าตักแน่ๆ..


ภาพเก่าเล่าเรื่อง 13 ยอดภู

27 ความคิดเห็น โดย bangsai เมื่อ 23 กรกฏาคม 2009 เวลา 22:47 ในหมวดหมู่ งานพัฒนาสังคม, เฮฮาศาสตร์ #
อ่าน: 1452

สะเมิงเป็นอำเภอที่ตั้งอยู่ในพื้นที่ที่เป็นภูเขา สมัยนั้นไม่มีถนนดำ หรือที่ลาดยางเลย หมู่บ้านจะเกาะกลุ่มกันตามพื้นที่หุบเขา ที่มีพื้นที่มากน้อยแตกต่างกัน บางหมู่บ้านจะต้องข้ามภูเขาไป และแน่นอนระหว่างตำบลก็จะมีภูเขาขวางกั้น


มอเตอร์ไซด์จึงเหมาะสมที่สุดที่จะใช้เป็นยานพาหนะ เพื่อทำงานในโครงการนี้ พวกเราเองก็เป็นวัยรุ่น การขับมอเตอร์ไซด์ขึ้นดอย ลงดอย จึงคุ้นชินจนเป็นปกติ บ่อยครั้งที่เราหยุดรถบนยอดเขาแล้วมองกลับลงไปในหมู่บ้าน ไร่ข้าวโพดของชาวบ้าน เถียงนา และทิวเขาไกลลิบโน้น สร้างบรรยากาศ และจินตนาการมากมายทีเดียว อากาศเย็นสบาย และวัฒนธรรมชุมชนที่เปิด แม้กับคนต่างถิ่นอย่างเรา เป็นชีวิตที่มีความสุข

บางช่วงฤดู เราชอบที่จะหยุดที่ยอดเขาเพื่อดูเมฆปกคลุมหมู่บ้านเบื้องล่างเสียมิด เหมือนเราอยู่บนสวรรค์ คิดถึงสะเมิง..


ภาพเก่าเล่าเรื่อง 9 อดีตผู้ว่าฯเชียงใหม่

935 ความคิดเห็น โดย bangsai เมื่อ 20 กรกฏาคม 2009 เวลา 12:52 ในหมวดหมู่ งานพัฒนาสังคม, เฮฮาศาสตร์ #
อ่าน: 49051

สถานที่: สำนักงานเกษตรภาคเหนือ

วันเดือนปี: ปี พ.ศ. 2521

โครงการ: โครงการพัฒนาชนบทสมบูรณ์แบบ อ.สะเมิง

โดย: Fridrich Naumann Stiftung ภายใต้ สำนักงานเกษตรภาคเหนือ

ภาพนี้มีอายุ 31 ปีแล้ว


โครงการร่วมมือกับสภากาชาดไทย สมาคมสตรีผู้บำเพ็ญประโยชน์แห่งประเทศไทยสาขาภาคเหนือ ร่วมกันจัดฝึกอบรมสาระที่จำเป็นให้แก่แม่บ้าน สตรีทั่วไป ผู้ที่กำลังจะเป็นแม่ เราได้ส่งสตรีที่จะไปเป็นพี่เลี้ยงเด็กเล็กมาเข้าหลักสูตรด้วย เพื่อนำความรู้ไปดัดแปลง ประยุกต์ใช้ในพื้นที่ต่อไป

เมื่อเสร็จสิ้นการฝึกอบรม ผู้จัดได้เชิญผู้ว่าราชการจังหวัดมาแจกใบประกาศนียบัตรให้แก่ผู้เข้าร่วมทุกคนโดยนายประเทือง สิทธิพงษ์ ผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงใหม่ในสมัยนั้น

ท่านผู้ว่าท่านนี้ต่อมาอีก 2 ปี พ.ศ. 2523 ท่านใช้ปืนยิงตัวเองตายที่จวนผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงใหม่ เหตุผลที่ทราบจากข่าวหนังสือพิมพ์ภายหลังคือ ท่านไปพัวพันคดีคอรับชั่นโรงพิมพ์ของราชการในสมัยนั้น ท่านทนสภาพกดดันไม่ได้ก็จบชีวิตลงดังกล่าว


(ภาพนี้เอามาจาก internet ไม่ทราบที่อยู่แล้ว ขออภัยท่านเจ้าของภาพด้วย)

ภาพจวนผู้ว่าหลังนี้ ทราบว่าปัจจุบันเป็นอาคารสงวนไว้ และย้ายจวนผู้ว่าไปสร้างใหม่ จวนหลังนี้มีประวัติศาสตร์ยาวนานสมควรอนุรักษ์ไว้ ตั้งอยู่ที่เชิงสะพานนวรัตน์ขาเข้าจะอยู่ทางซ้ายมือ ติดริมปิง

คนเชียงใหม่ทราบรายละเอียดกรุณาขยายความด้วยเน้อ…


ตอบโจทย์พ่อครูบาฯ..2

5 ความคิดเห็น โดย bangsai เมื่อ 12 กรกฏาคม 2009 เวลา 21:48 ในหมวดหมู่ งานพัฒนาสังคม, ทุนสังคม, เฮฮาศาสตร์ #
อ่าน: 2841

ขอมีส่วนร่วมในการแสดงความคิดเห็นต่อโจทย์ที่พ่อครูบาเสนอไว้ครับ โจทย์ที่สั้นๆแต่ใหญ่โตมโหฬาร ระทึก กึกก้อง “พูดคุยวิเคราะห์กับ ดร.เอนก เหล่าธรรมทัศน์ ในเรื่องสภาพปัญหาที่เป็นรากฐานและทางออกของสังคมไทยในด้านเศรษฐกิจและสังคม ในเขตชนบทของภูมิภาคต่างๆ“… หน้ากระดาษแห่งนี้คงไม่ใช่ความสมบูรณ์ของความคิดเห็นและสูตรสำเร็จใดๆของทางออก เป็นความเห็นเพียงเสี้ยวส่วน..


สังคมอีสานที่เปลี่ยนแปลงมาจากอดีตอยู่ในรูปปัจจุบัน ก็ไม่แตกต่างไปจากสังคมปัจจุบันของภูมิภาคอื่นๆ เพราะพลังและอำนาจของการเปลี่ยนแปลงนั้นมาจากแหล่งเดียวกัน คือการปกครองสังคมและระบบทุนนิยมโลกาภิวัฒน์ ที่ชายแดนมุกดาหารมีโลตัสเหมือนกลางกรุงเทพฯมหานคร


ถามว่ามีอะไรที่เป็นพลังของการเปลี่ยนแปลง นักวิชาการก็คงตอบว่ากระแสหลัก(กระแสทุนนิยมโลกาภิวัตน์) ที่มาแรงสุดๆ เป็นกระแสที่มีพลังมากที่สุด และเพราะเปลี่ยนค่านิยมจากเดิมมาเป็นทันสมัย ก้าวหน้า ทันต่อโลก ฯลฯ ได้ส่งผลสะเทือนเข้าไปในทุกหนทุกแห่งที่มีถนนเข้าไป ที่มีวิทยุ ที่มีทีวี หนังสือพิมพ์ และสื่อต่างๆทั้งหมด ระบบธุรกิจที่มุ่งผลกำไรสูงสุด ไม่ได้พูดความเหมาะสมขององค์ประกอบการดำรงชีวิต แต่สร้างภาพลักษณ์ที่ทุกคนที่ต้องการความทันสมัย ก้าวหน้า ทันต่อโลก คุณจะต้องรีบหาสินค้านั้นๆมาไว้ครอบครอง


การเปิดโลกใหม่สุดๆเช่นนี้ ผมก็คิดว่า ต่อให้หมู่บ้านใดๆมีเฒ่าจ้ำร้อยเฒ่าจ้ำก็หยุดไม่อยู่ เพราะเฒ่าจ้ำก็ไม่เข้าใจต่อสิ่งใหม่ที่เข้ามา เพราะเขาอยู่ในโลกเกษตรกรรม โลกสิ่งแวดล้อมเดิมๆ และสิ่งใหม่เข้ามาพร้อมๆกับคำว่า ทันสมัย ก้าวหน้า ทันต่อโลก ฯลฯ เขาเหล่านั้นไม่เข้าใจเท่าทัน และคนในสังคมก็ไม่เท่าทัน อย่างกรณี กรมกสิกรรมกระทรวงเกษตรนำเอาข้าวพันธุ์ใหม่ ปุ๋ยวิทยาศาสตร์ สารเคมีเพื่อเพิ่มผลผลิตข้าว เพื่อขาย เพื่อเงิน เพื่อชีวิตที่ดีกว่า แต่ใน พ.ศ. นี้ กลับเดินย้อนรอยเดิม พร้อมสารภาพว่า ต้องใช้ปุ๋ยคอก ทำปุ๋ยอินทรีย์ ใช้พันธุ์พื้นบ้านที่เหมาะสมต่อสภาพแวดล้อม เพราะเขาพัฒนามานานแสนนานจนเหมาะต่อสภาพพื้นที่นั้นๆอยู่แล้ว สติที่กลับคืนมาก็ต่อเมื่อเวลาผ่านไปนับเกือบชั่วอายุคน แล้วนวัตกรรมอื่นๆเหล่า มีใครกล้าออกมาสารภาพเช่นนี้บ้าง

คำถามใหญ่คือ อะไรคือตัวคัดกรองของสังคมต่อการเปลี่ยนแปลง อะไรคือภูมิคุ้มกัน อะไรคือพลังคัดหางเสือสังคม เมื่อเฒ่าจ้ำ และบรรดาผู้อาวุโสในสังคมตามไม่ทันต่อการเปลี่ยนแปลงนี้แล้ว..

เราจะหวังที่ระบบการศึกษาหรือ…?

เราจะหวังที่สถาบันการศึกษาหรือ…?

เราจะหวังที่หน่วยงานราชการหรือ…?

หรือหวังที่ตัวเองโดยการสร้างชุมชนในรูปแบบใหม่…?

แผนผังแสดงความคิดเห็นเบื้องต้นต่อทางออก

น่าสนใจการพัฒนาชุมชนในรูปแบบใหม่ที่มีความพร้อมต่อการหนุนสร้างทุนทางสังคม สร้างบุคลากรที่มีความพร้อม เท่าทันต่อการเปลี่ยนแปลงของสังคมใหม่ๆ สร้างสิ่งคัดกรองการพัฒนาในรูปแบบต่างๆว่าสิ่งใดเหมาะสมหรือไม่เหมาะสม ฯลฯ

ภาพนี้ผมแอบถ่ายที่ปั้มน้ำมันแห่งหนึ่งระหว่างเดินทางไปมุกดาหาร ตรงนี้คือห้องน้ำของปั้มน้ำมันที่อยู่ในมุมปิด ทุกครั้งที่ผมแวะและเข้ามาใช้บริการ จะพบเด็กนักเรียน ทั้งชายหญิง ขี่มอเตอร์ไซด์มามั่วสุม ไม่ไปเรียนหนังสือ เด็กสาวรุ่นคนนี้ไม่ไปเรียนหนังสือแต่กลับมาวุ่นวายอยู่กับโทรศัพท์มือถือ เมื่อผมไปถามคนที่ปั้มน้ำมัน เขาก็บอกแบบไม่สนใจว่า “เด็กมันก็มามั่วสุมที่นี่กันทุกวัน”…..

สรุปว่าชุมชนไปหวังคนไกลตัวไม่ได้ หวังระบบก็ไม่ได้ หวังสถาบันต่างๆก็มองไม่เห็นแสงไฟ มีแต่หวังที่ตัวเอง คนในชุมชนด้วยกันเอง … แล้วสร้างอย่างไรล่ะ..เป็นหนังยาวอีกม้วนหนึ่งครับ….


ตอบโจทย์พ่อครูบาฯ…1

1287 ความคิดเห็น โดย bangsai เมื่อ 12 กรกฏาคม 2009 เวลา 17:29 ในหมวดหมู่ งานพัฒนาสังคม, ทุนสังคม, เฮฮาศาสตร์ #
อ่าน: 8764

ขอมีส่วนร่วมในการแสดงความคิดเห็นต่อโจทย์ที่พ่อครูบาเสนอไว้ครับ โจทย์ที่สั้นๆแต่ใหญ่โตมโหฬาร ระทึก กึกก้อง “พูดคุยวิเคราะห์กับ ดร.เอนก เหล่าธรรมทัศน์ ในเรื่องสภาพปัญหาที่เป็นรากฐานและทางออกของสังคมไทยในด้านเศรษฐกิจและสังคม ในเขตชนบทของภูมิภาคต่างๆ“… หน้ากระดาษแห่งนี้คงไม่ใช่ความสมบูรณ์ของความคิดเห็นและสูตรสำเร็จใดๆของทางออก เป็นความเห็นเพียงเสี้ยวส่วน..

ผมมองเป็นสองสถานภาพ คือสถานภาพที่เป็นอดีตของสังคมไทยทั้งด้านเศรษฐกิจและสังคม และสถานภาพที่เป็นปัจจุบันอันเนื่องการเปลี่ยนแปลงของสังคมที่มาจากการพัฒนาประเทศชาติในทุกด้านทุกแง่มุม สองส่วนนี้เกี่ยวเนื่องกัน ส่งผลแก่กันและกัน มีพัฒนาการแก่กัน ปัจจุบันมาจากอดีต และอดีตมีส่วนส่งผลถึงปัจจุบัน สรุปมุมมองเป็นแผนผังคร่าวๆดังที่เห็นนี้

อย่างไรก็ตามปัจจุบันมิได้พัฒนามาจากเพียงอดีตแต่อย่างเดียว แต่ยังมาจากการนำเขามาจากภายนอกประเทศ อันเนื่องมาจากการเปิดประเทศทั้งในด้านการค้าขาย การศึกษา อุตสาหกรรมจนมาถึงยุคธุรกิจในระบบโลกาภิวัฒน์

การเปลี่ยนแปลงภายในประเทศจึงเป็นผลพวงของปัจจัยหลักของทั้งสองนั้น แต่ที่เป็นตัวชี้ขาดของการปรับเปลี่ยนคือ ตัวของตัวเราเองว่าเราสืบต่อของเก่าเพราะอะไร เรารับของใหม่เข้ามาเพราะอะไร เราเอาสองส่วนมาผสมผสานกันเพราะอะไร..

รากฐานสังคมไทยเราที่น่าจะมีส่วนของการพัฒนาไปเป็นปัญหา

  • ระบบอุปถัมภ์: เราพูดกันมากในเรื่องนี้ส่วนตัวเองยอมรับว่าระบบอุปถัมภ์มีส่วนดีและสามารถพัฒนาไปเป็นความล่อแหลมของการเกิดปัญหา เช่น ครูบาอาจารย์นั้น คนโบราณ เขายกย่องส่งเสริมนับถือไว้เป็นคนที่มีสถานภาพที่สูง ลูกศิษย์ลูกหาก็จะมักเยี่ยมเยือน ไปมาหาสู่ และการไปมาหาสู่วัฒนธรรมไทยก็จะมีสิ่งของติดไม้ติดมือไปด้วย ส่วนมากแต่ก่อนก็จะเป็นส้มสุกลูกไม้ ผู้ใหญ่ หรือครูบาอาจารย์ก็จะให้ศีลให้พร..แค่นั้นความสัมพันธ์ต่อกันก็แน่นแฟ้น ที่เรียกว่ามีใจให้แก่กัน นี่คือทุนทางสังคมที่มีคุณค่ามาก แต่ปัจจุบันระบบอุปถัมภ์ได้พัฒนาไปสู่ผลประโยชน์แก่กันและกัน อันเป็นความสัมพันธ์ที่ส่งผลเสียหายต่อฐานรากของเศรษฐกิจและสังคมของเรา การพัฒนาการของระบบอุปถัมภ์ในลักษณะนี้ไม่ใช่เป็นทุนทางสังคม แต่ตรงข้ามเลยทีเดียวเป็นตัวบ่อนทำลายทุนทางสังคม
  • ระบบเศรษฐกิจแบบดั้งเดิม: ของเรานั้น น่าจะอยู่บนฐานของการพึ่งตัวเองได้โดยภาพรวม อาชีพเกือบทุกอาชีพจะมีฐานรากอยู่บนการเกษตรเป็นองค์ประกอบ มากน้อยแล้วแต่เงื่อนไข ยกเว้นกลุ่มพ่อค้าคนจีน ข้าราชการจำนวนมาก นอกจากรับราชการก็ยังทำนาทำไร่ทำสวนกันอยู่ เหมือนสังคมในประเทศลาวปัจจุบัน ซึ่งสภาพเช่นนั้น เป็นระบบเศรษฐกิจพอเพียงในสิ่งแวดล้อมแบบดั้งเดิม สังคมไทยวัฒนธรรมไทยทั้งมวลตั้งอยู่บนฐานสังคมเกษตรกรรม ทุนทางสังคม คุณค่าต่างๆทางสังคมตั้งอยู่บนฐานสังคมเกษตรกรรม เมื่อประเทศชาติก้าวเข้าสู่รับไทยใหม่ ที่มีแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ มีการพัฒนาอาชีพใหม่ๆเข้ามา ค่านิยมดูถูกอาชีพเกษตรกรรม ยกย่องการรับราชการและพ่อค้าธุรกิจ การดำรงชีวิตชั้นลูกหลานจึงห่างไกลสังคมเกษตรกรรม ก็ห่างไกลสังคมที่อุดมด้วยรากฐานทุนทางสังคม คุณค่าของวัฒนธรรมประเพณี ถามว่าจะมีสักกี่คนที่ซาบซึ้งต่อประเพณีจุดบั้งไฟ มีแต่สนุกสนาน และสร้างความอลังการของปราสาทผึ้ง เด็กรุ่นใหม่เชื่อมไม่ติดกับคุณค่าเหล่านั้น เด็กรุ่นใหม่ไม่เข้าใจว่าทำไม พ่อแม่จึงต้องพาไปกราบไหว้ ศาลเจ้าปู่ เมื่อยามเจ้าจะจากหมู่บ้าน หรือเมื่อกลับมาหมู่บ้าน รากเหง้าตรงนี้เชื่อมกันไม่ติดเสียแล้ว มันกลายเป็นแค่พิธีกรรม แต่ไม่เข้าใจ ไม่น้อมรับ ไม่ศรัทธา ไม่สำนึก ไม่สัมผัสสิ่งเหนือธรรมชาติที่ควบคุมพฤติกรรมความดีของการปฏิบัติตนในสังคมกว้างใหญ่… เหล่านี้ทั้งหมดอยู่บนฐานของสังคมเกษตรกรรม สังคมใหม่ที่ประกาศตนว่าก้าวหน้ากว่า ทันสมัยกว่ามีอะไร เปิดสำนักงานใหม่ก็เอาโป้งฉิ่งมาแสดง ดนตรีที่ดังหนวกหู พิธีเปิดป้ายเชิญผู้ใหญ่ที่คอรับสั่งบ้านเมืองมาทำพิธี เฒ่าจ้ำบทบาทหดหายไปแล้ว…เฒ่าจ้ำผู้คอยคัดหางเสือสังคมนั้นไม่มีที่นั่งในสังคมแล้ว เลือนหายไปแล้ว เด็กอีสานยุคใหม่เกือบจะไม่รู้จักด้วยซ้ำไปว่าเฒ่าจ้ำในหมู่บ้านของเราคือใคร..มีประโยชน์อย่างไร.. แต่ดันร้องให้เมื่อไมเคิล แจ็คสันตายลงไป..
  • รากเหง้าสังคมอีสาน: เฒ่าจ้ำคือตัวอย่างของโครงสร้างสังคมเดิม ก่อนโครงสร้างการปกครองส่วนท้องถิ่นแบบสมัยใหม่จะเข้ามา สังคมเดิมมี จ้ำ หมอธรรม มีหมอสมุนไพร หมอตำแย หมอบีบนวด หมอเหยา หมอเป่า หมอน้ำมัน ฯลฯ ทั้งหมดนั้นมีบทบาทต่อสังคมชุมชนตั้งแต่เด็กเกิดจนกระทั่งตาย เรามีโครงสร้างสังคมที่ค่อนข้างสมบูรณ์อยู่แล้ว และทั้งหมดนั้นอยู่ไม่ได้หากเป็นคนที่สังคมไม่ยอมรับนับถือ อยู่ไม่ได้หากไม่มีคุณธรรม อยู่ไม่ได้หากไม่ปฏิบัติตนอยู่ในทำนองคลองธรรม ด้วยอี้และตองของอีสานที่เป็นครอบใหญ่ควบคุมสังคมให้อยู่อย่างปกติสุข เมื่อโครงสร้างการปกครองส่วนท้องถิ่นเข้ามา ก็เป็นโครงสร้างซ้อนทับกันใหม่ๆก็ไม่มีปัญหาอะไรต่างอยู่ด้วยกันได้ แต่เมื่อพัฒนาการสังคมนำระบบทุนเข้ามาเต็มตัว ระบบอำนาจเข้ามาเต็มที่ โครงสร้างเดิมก็หดหายไปสิ้น แม้คงอยู่ก็เกือบจะไม่มีบทบาทมากนัก ตรงข้ามโครงสร้างใหม่พร้อมกับอำนาจ และผลประโยชน์ตามค่านิยมใหม่ของระบบโลกาภิวัฒน์ ทุนทางสังคมหดหายไป จางลงไป
  • ศาสนา: น่าตั้งคำถามว่าสังคมอีสานนั้นมีพระปฏิบัติที่มีผู้คนในประเทศเคารพกราบไหว้มากที่สุด แต่ไม่ได้หมายความว่าสังคมอีสานมีความสุขมากที่สุด การดำรงอยู่ของศาสนาและความสัมพันธ์ระหว่างศาสนากับวิถีชีวิตของคนอีสานเป็นอย่างไรถึงคุณค่าทางศาสนาจึงเข้าไม่ถึง หรือไม่เข้าไปอยู่ในเนื้อในของจิตใจของชาวอีสาน(แม้ภาคอื่นๆก็ตาม) หลายวัดหาพระไม่ได้ หลายวัดพระทำบัดสี หลายต่อหลายวัดมุ่งแต่สร้างสิ่งก่อสร้าง อาจเป็นเพราะสังคมเราไม่ได้ให้วันพระเป็นวันหยุดราชการเหมือนแต่ก่อน ที่ทุกคนหยุดกิจการแล้วเข้าวัด ทำบุญ ฟังเทศน์ฟังธรรม ทำกิจกรรมที่เกี่ยวข้องกับจิตใจ เมื่อกิจกรรมที่จะยึดโยงทางศาสนาไม่มีตรงข้ามสิ่งยั่วยุทางวัตถุอื่นๆเข้ามา คนก็ห่างวัด ความละอายต่อบาปก็หมดสิ้นไป ความเชื่อศรัทธาก็หดหายไป ความสัมพันธ์ของคนในสังคมห่างออกไป ระหว่างรุ่นก็ห่างออกไป รากฐานใหญ่ของทุนทางสังคมที่มาจากศาสนาก็ไม่เหลือหรอ

ทางออก

แผนผังคร่าวๆนี้ช่วยสรุปจากมุมมองผมว่า

สังคมเราต้องมีสถาบันที่ก้าวเข้ามาจริงจังต่อเรื่องนี้

  • ศึกษา ค้นคว้า วิจัย สร้างสรรค์สิ่งดีดีที่เป็นรากเหง้าของสังคมเราออกมา แล้ว
  • อะไรที่ดีดี คิดอ่านสานต่อกิจกรรมนั้นๆอย่างที่เป็นคุณค่าแท้จริงมิใช่เพียงสักแต่เป็นกิจกรรม
  • อาจพิจารณาดัดแปลงสิ่งดีดีของเดิมๆให้อยู่ในสิ่งแวดล้อมใหม่ที่เหมาะสมกับเงื่อนไขใหม่
  • อะไรที่เป็นอุปสรรค ต้องออกมาคัดค้าน ต่อต้าน ควบคุม กำจัด จำกัด ในรูปแบบต่างๆที่เหมาะสม

ต่อตอนสอง..


ไปสุรินทร์ทำไม..

14 ความคิดเห็น โดย bangsai เมื่อ 8 กรกฏาคม 2009 เวลา 2:22 ในหมวดหมู่ งานพัฒนาสังคม, ทุนสังคม, เฮฮาศาสตร์ #
อ่าน: 2572

ขณะที่ผมนั่งดูรายการระลึกถึงไมเคิล แจคสัน พิธีกรเชิญคุณมาโนช พุฒตาลมาคุยด้วย ซึ่งเขาเป็นผู้รู้ในเรื่องเสียงเพลงและประวัติบรรดานักร้องต่างประเทศ คุณมาโนชพูดถูกใจผมมาก กล่าวว่า ความคลั่งใคร้ของแฟนๆไมเคิลนั้น “เกินจริง ยกให้ไมเคิลเป็น King of Pop เขามีชื่อเสียงมากตั้งแต่เด็ก และดังมาตลอด วิถีเขาอย่างราชา จนเขาไม่เคยสัมผัสชีวิตความเป็นปุถุชนว่าเป็นอย่างไร ซึ่งเกินจริง ในสังคมนี้มีสิ่งเกินความจริงหลายอย่าง… การที่คนยกย่องเขามากมายมหาศาลนั้นมันไม่ได้ก่อประโยชน์แก่สังคม อาจจะมีเพียงธุรกิจเท่านั้นที่รองรับการเป็น Superstar ของเขา ขณะที่มีคนเล็กๆที่ทำประโยชน์แก่สังคมนี้ แต่เขาอยู่ในมุมมืดของการเป็นข่าว การดำเนินชีวิตของเขาเป็นประโยชน์แก่สังคมมากกว่าไมเคิล แต่สังคมไม่เคยกล่าวถึงเขาเหล่านั้น....”


ผมนึกถึงเรื่องในอดีตน้องเขยผมมีเหตุขัดคอกับเพื่อนบ้านที่เป็นคนนอกเข้ามาอยู่ในสายเครือญาติ เขาไม่ทราบพัฒนาการตระกูลเราเพราะเขาเป็นคนนอก ความรุนแรงของความขัดแย้งนั้นมันบานปลายมากกว่าที่เราคิดถึง เรื่องนี้เปิดเผยมาในภายหลังอีกหลายปีต่อมา คือ คู่ขัดแย้งของน้องเขยผมไปว่าจ้างมือปืนมาให้ไปทำร้ายแก่ชีวิตน้องเขยผม ต่อมามือปืนมาสารภาพแก่ครอบครัวผมว่า เขารับงานมาไม่รู้ว่าเป้าหมายคือใคร แต่เมื่อจะลงมือทราบว่าเป็นคนในครอบครัวผม มือปืนคนนั้นยกเลิกงานชิ้นนี้ เพราะเขากล่าวว่าเขาสำนึกใน “ข้าวแดงแกงร้อน” ที่อดีตปู่ผม พ่อผมเคยมีโอกาสเลี้ยงดูเขามา บุญคุณต้องทดแทน แม้ว่าน้องเขยผมเป็นคนนอก แต่ก็เข้ามาในตระกูลผมแล้ว มือปืนคนนี้จึงไม่ทำงานชิ้นนี้ต่อให้จบ….

ผมไม่ทราบว่าสังคมนี้จะมีอะไรอย่างนี้คงเหลืออยู่มากน้อยแค่ไหน.ไม่มีสำรวจหาความคงอยู่ หรือมันเป็นเพียงสิ่งบอกเล่าเรื่องในอดีตเท่านั้น


หลายสิบปีก่อน ขณะที่ผมและเพื่อนนั่งทานก๊วยเตี๋ยวที่ร้านเล็กๆแห่งหนึ่ง มีขอทานเข้ามาขอเงิน เพื่อนผมถามว่า เอาเงินไปทำอะไร ขอทานคนนั้นบอกว่า เอาไปซื้อข้าวกิน เขายังไม่ได้กินข้าว เพื่อนผมกล่าวกับขอทานคนนั้นว่า หากหิวข้าวก็นั่งลงตรงนี้เดี๋ยวจะสั่งก๊วยเตี๋ยวให้กินเอาไหม ขอทานคนนั้นพยักหน้า แล้วเราก็นั่งกินก๋วยเตี๋ยวโต๊ะเดียวกัน เขากินเสร็จก็ขอห่อเศษที่เหลือกลับไปด้วย…… ผมจำได้ติดหูติดหาต่อการกระทำของเพื่อนคนนี้…

เวลาผมออกหมู่บ้าน และมีโอกาสกิน นอนที่หมู่บ้านชาวบ้าน เราทราบดีว่า อาหารทุกมื้อที่ชาวบ้านทำให้ผมและเพื่อนๆกินนั้น เป็นอาหารที่ดีที่สุดที่เขาสรรหามาให้

ตอนที่คุณแม่(ยาย)ผมยังมีชีวิตและนอนแบบอยู่บนเตียงเป็นเวลา 7 ปีนั้น แม่มักจะเรียกผมไปหา แล้วกล่าวว่า “แม่ดีใจที่บู๊ดอยู่บ้านให้เห็นหน้า…” คนป่วยที่ช่วยตัวเองไม่ได้เลยนั้นอยากให้คนใกล้ชิดมาวนเวียนอยู่ใกล้ๆ ก็แค่ให้สบายใจ..

ผมไม่รู้จักคุณปิ๋วเป็นการส่วนตัว แทบจะไม่เห็นหน้าค่าตาด้วยซ้ำไป แต่ผมกินข้าวจากฝีมือเธอ จากความตั้งใจของเธอ จากน้ำใจของเธอ ผมอิ่มหนำสำราญจากการประกอบอาหารของเธอให้ผมและเพื่อนๆอีกนับจำนวนไม่หมดที่ผ่านสวนป่า…

ผมเชื่อว่าเพื่อนทุกคนก็คิดเหมือนผม และมีประสบการณ์คล้ายๆที่ผมกล่าวมา เมื่อผมมีโอกาสจึงเก็บหยูกยา และของใช้สำหรับผู้ป่วยที่เป็นเบาหวานของแม่ที่เหลืออยู่ น่าจะเป็นประโยชน์แก่คุณปิ๋วมากกว่าที่เก็บไว้เฉยๆที่บ้านผม…

คุณปิ๋วต้องการกำลังใจ เธอต้องการคุณหมอและการรักษากาย แม้ว่าคุณปิ๋วเป็นฟันเฟืองเล็กๆ แต่เป็นส่วนสำคัญส่วนหนึ่งที่ไปทำให้ฟันเฟืองใหญ่ทำหน้าที่ขับเคลื่อนสังคมนี้ สังคมในฝันของเรา…

ผมมีความรู้สึกดีดีมอบให้คุณปิ๋วน่ะครับ

นี่คือเหตุผลที่ผมไปสุรินทร์…

(หมายเหตุ: เอารูปมาจาก blog ของพ่อครูบาฯ)


หนึ่งขวบปี..ที่นี่มีอะไร 1

290 ความคิดเห็น โดย bangsai เมื่อ 5 กรกฏาคม 2009 เวลา 10:36 ในหมวดหมู่ งานพัฒนาสังคม, ทุนสังคม, เฮฮาศาสตร์ #
อ่าน: 3234

(ย้ายมาจากลานเจ๊าะแจ๊ะครับ)

ถามตัวเองว่าหนึ่งขวบปีของลานปัญญามีอะไรที่นี่บ้าง ก็นึกๆพอจะเห็นสิ่งต่อไปนี้

จุ๊บจุ๊บ..เจ๊าะแจ๊ะ:
ผม เห็นคนคอเดียวกันมาเจ๊าะแจ๊ะกันที่นี่ในสาระพันเรื่องทั้งบ่นกะปอดกะแปด ทั้งเศร้า ทั้งดีใจ เรื่องในใจเอามาบอกกัน ให้กำลังใจกัน ชี้แนะกัน ทักท้วงกัน เสริมทักษะกัน จุดไฟปัญญาให้แก่กัน ปลอบประโลมแก่กัน ไถ่ถาม เติมเต็ม แม้กระทั่งฟ้องร้องกัน อิอิ..

โดย ธรรมชาติและเป็นที่เข้าใจกันว่าตรงนี้เป็นอะไรแบบสั้นๆ ได้ใจความที่ต้องการสื่อแก่กัน และใครต่อใครอย่างน้อยก็เข้ามาผ่านข้อความนี้ ก่อนไปลานอื่นๆ หากอยากจะเจ๊าะแจ๊ะก็หยอดลีลาลงไปตามแบบฉบับของตัวเอง หลายหลากอารมณ์

หลากหลายรสคำ:
แต่ ละคนมีเบ้าหลอมที่แตกต่างกัน ใครมีเบ้าแบบไหนไปรู้จักกันได้ที่ “เจ้าเป็นไผ๑” แต่ละคนมีรสนิยม ต่างกัน แม้กระทั่งความตั้งใจที่แตกต่างกัน แต่ละ “ลาน” จึงเป็นแบบฉบับของตนเอง ซึ่งมีทั้ง ขำกลิ้ง อมยิ้ม น่าคิด ชวนคิด แหย่ให้คิด จนกระทั่งกระแทกให้คิด บอกกล่าว เคร่งขรึม ตามจับความคิดตนเอง เตือนตัวเอง บอกกล่าวสิ่งที่พบเห็น สาระแห่งการงาน การชีวิต เทคโนโลยี ใครอยู่ในแบบไหนนึกกันเอาเองเด้อครับ..

ไม่ใช่สาระเท่านั้นที่เป็นแบบเฉพาะ การใช้ภาษา อักษร ก็หลากหลายลีลา ไปจนถึงหลุดลุ่ย(บางที)..อิอิ

เห็นคนในคน:
ใคร ก็ไม่รู้กล่าวว่าอยากรู้จักกันก็คุยกันซี อยากรู้จักกันมากกว่านี้ก็ต้องหากิจกรรมทำด้วยกัน อยากจะสัมผัสมุมลึกกันก็ต้องยามมีปัญหา แต่เพื่อนพ้องในลานพิสูจน์แล้วว่า เป็นคนคอเดียวกันจริงๆ เพราะเราชุมนุมกันหลายครั้ง และร่วมแก้ปัญหากันหลายครั้ง จากวันแรกมาถึงวันนี้ ผมว่าพวกเรากลายเป็นคนรู้ใจกันไปหมดแล้ว ยิ่งปอกเปลือกเห็นแก่นใน จปผ๑ ก็ยิ่งแดงโล่มาเลย ผมหลับตานึกถึงใครสักคน ก็เห็นอากัปกิริยาไปหมด ได้ยินน้ำเสียง หัวเราะ แหย่เย้าจนรู้นิสัยใจคอที่น่ารักแก่กัน

ที่มาแรงแซงโค้งดูจะเป็นอาม่าที่รักของพวกเรา..

ทำในสิ่งที่ไม่เคยหรือไม่ค่อย:
อัน นี้ผมเห็นก็ขำแบบดีใจที่ CEO ใหญ่ของเราลงทุนหาจอบขุดดินถมถนน ผมเดาว่าท่านผู้นี้ไม่เคยมาก่อน แต่อยู่ในชุมชนนี้ได้ทำ อิอิ..น่ารักจะตาย… บางท่านคงไม่ค่อยได้เข้าวัดเข้าวา ก็ได้มีโอกาสกราบพระงามๆ มีช่วงเวลาที่สัมผัสรากเหง้าทางจิตวิญญาณบ้าง บางคนไม่เคยและไม่ค่อยเข้าครัวก็ได้ย้อนรอยปลายจวักกัน ให้อิ่มเอมเปรมพุงกะทิไปหลายมื้อหลายคราว ยังคิดถึงผัดหมี่โคราชของท่านสะมะนึกะ …..ฯลฯ….

รุมสอน:
นี่ เป็นกรณีพิเศษจริงๆ ไม่มี blog ที่ไหนที่มีเหตุการณ์นี้ ไม่มีชุมชนเสมือนที่ไหนที่เป็นเช่นนี้ ไม่มี KM ที่ไหนที่มีภาพนี้ ที่นี่มีเจ้า “จิ” เหน่อเสน่ห์ เป็นกรณีเด่นที่สุดประการหนึ่งของลานเรา เพราะเราอยากเห็นภาพเหล่านี้ คล้ายๆๆแบบนี้ในกลุ่มคนทำงานแต่ไม่เกิด ไม่ค่อยเกิด แต่กลับมาเกิดกับลูกหลานน่าหยิกคนนี้ เธอมีเรื่องเดือดเนื้อร้อนใจก็มาวางไว้ที่ลาน ลุง ป้า น้า อา ปู่ ทวด ต่างทยอยกันมาเยี่ยมเยือนลูกลิง เอ้ยลูกหลานคนนี้.. คำแนะนำออกมา มันช่างวิเศษแท้ๆ พ่อครูว่าเหมือนกดปุ่ม..

ผมชอบสังคมนี้ตรงนี้มาก นึก ถึงสมัยเด็กๆ ในหมู่บ้านนอกที่วิเศษชัยชาญ เย็นๆเด็กในหมู่บ้านจะรวมตัวกันที่ลานกลางบ้านแล้วนัดเล่นสนุกๆกัน และเป็นที่รู้กันว่า เด็กที่เล่นนั้นไม่ว่าจะลูกครูใหญ่ หรือลูกคนไม่มีที่ดินชายบ้าน ผู้ใหญ่ทุกคนมีสิทธิ์สั่งสอน ตักเตือน แนะนำทุกอย่างหากเด็กคนใดเล่นพิเลนเกินไป หรือเกเร หรือทำให้ข้าวของเสียหาย แม้กระทั่งลงโทษตีเด็กคนนั้น พ่อแม่ทุกครอบครัวก็อนุญาต  ผมมองย้อนหลัง มันเป็นสังคมที่สวยงาม ที่ต่างช่วยกันประคับประคองความดีงาม ถูกต้อง ถูกทำนองครองธรรม กรณีจิคนสวย ก็เช่นกัน ลุงป้าน้าอา ปู่ย่าตายาย มาช่วยกันชี้แนะสิ่งที่ถูกที่ควรเมื่อเด็กมีปัญหา และเธอกล้าเอามาบอกกล่าว… งามจริงๆสังคมแห่งนี้

แปลกใหม่:
ปัจจุบัน มีบางคนเรียกเราว่า ป๋า..เรายังต๊กกะใจ ว่า เฮ้อ ตูข้านี่เป็น สว.ไปแล้วหรือนี่.. ผ่านร้อนผ่านหนาวมาจนลืมนับไปแล้ว มีหลายเรื่องก็ไม่รู้ก็ได้รู้ในที่นี่ ไม่เคยเห็นก็ได้เห็น ไม่เคยสัมผัสก็ได้รับรู้ อยากกอดสาวๆก็ได้กอด อิอิ.. ต้นอะไร เอกมหาชัย ชื่อก็พิสดาร แถมยังสารพัดประโยชน์ ทึ่งกระบี่ สุดยอดมุมลับของภูเก็ต อลังการเชียงราย ศรัทธายิ่งใหญ่ที่ลี้ลำพูน โดยเฉพาะท่านเทพ เอาอะไรก็ไม่รู้ไม่เคยพบเคยเห็นมาให้ศึกษา น่าดูน่าเรียนทั้งนั้น ท่านแฮนดี้ ก็คนอะไรช่างคิดช่างทำช่างสร้างสรรค์ ผมละอยากให้ถ้วยรางวัล “นักประดิษฐ์พอเพียง” แก่ท่านจริงๆ ผมว่าหลายคนก็เพิ่งได้ยินคำว่า dialogue ในมุมการเอามาใช้ประโยชน์เชิงพัฒนาคน.. ฯลฯ.. เห็นไหมล่ะ มากมายสาระที่แปลกใหม่สำหรับผม

น่าจะมีอีกมาก เท่าที่ด่วนๆคิดเอาก็เห็นดังกล่าวนี้แหละครับ



เสียงบ่นจากคนชายขอบ..

26 ความคิดเห็น โดย bangsai เมื่อ 30 มิถุนายน 2009 เวลา 18:06 ในหมวดหมู่ งานพัฒนาสังคม, เฮฮาศาสตร์ #
อ่าน: 1082

หากเขาคือเพื่อนร่วมชาติ ที่เรานับญาติว่าเป็นพี่น้องไทย เขามีอาชีพเกษตรกรรม ทำนาไว้กินและขายให้พวกเราซื้อ ทำไร่เพื่อขายผลผลิตเป็นรายได้ในครอบครัว …..ฟังเขาบ้างซิ..


ช่วงฝนตกนี้ ครอบครัวส่วนใหญ่ก็หอบลูกจูงหลานไปอยู่เถียงนาโน้น..อย่าไปหาที่บ้านเลยไม่พบแน่นอน อย่ามาประชุมเลยช่วงนี้ อย่ามีกิจกรรมอะไรเลย เพราะเราต้องการทำนาให้ราบรื่นเสร็จสิ้นเสียก่อน แล้วเรื่องอื่นๆก็ค่อยว่ากัน


อย่ามาทำหนังสือราชการเหมือนบังคับว่าจะต้องไปนั่นไปนี่ แล้วหากงานในนาผมไม่สำเร็จ ไม่ทันตามฤดูกาล พวกคุณๆรับผิดชอบไหม ไม่ใช่ว่าเอาคุณเป็นตัวตั้ง อยากประชุมก็เรียกประชุมอ้างโน่นอ้างนี่


เบื่อจริงๆพวกนี้น่ะ ไม่รู้จักกาลเทศะ เรียนหนังสือมาก็สูงๆ แค่นี้ไม่เข้าใจ ไม่รับฟัง ไม่อินังขังขอบ แล้วจะให้ชาวนาอย่างเราไปคล้อยตามคุณจนหมดได้อย่างไร อ้าวไม่ไปประชุมก็หาว่าไม่ร่วมมือ ขาดประชุมไปก็หาว่าไม่มีส่วนร่วม…สารพัดจะว่ากล่าว…


ไม่หละ จะอะไร อย่างไรก็ช่าง เราต้องเอาข้าวของเราไว้ก่อนอื่น ก็พวกคุณมีเงินเดือนกิน ทำหรือไม่ทำก็มีเงินกิน พวกเราซิ ไม่ทำไม่มีกิน จึงต้องทำและทำ

ทุ่งนาก็คือสำนักงานของเรา โอเพ่นแอร์นะจะบอกให้


นานวันเข้าพวกเราฟังคุณพูดไม่รู้เรื่องมากขึ้น มากขึ้นทุกที ก็ไหนว่าบ้านเมืองเจริญขึ้น การสื่อสารดีขึ้น ลงทุนนับแสนล้านที่บากกอกนั่นน่ะ เรานึกไม่ออกว่าเงินจำนวนนั้นน่ะมันมากมายแค่ไหน แต่การพัฒนาการผลิตขั้นพื้นฐานของเรายังแก้กันไม่ตกเลย คุณจะวิ่งหนีเราไปไหนกัน ….

บ้านนี้เมืองนี้ มีชาวนาจำนวนล้านๆคนเป็นส่วนประกอบสำคัญ คุณมองแต่จะขายสินค้าหากำไรจากพวกเรา ร่ำรวยกันหน้าบาน อวดความมั่งมีกัน ร่ายมนต์ตราแก้ปัญหาประเทศชาติบนหน้าจอทีวีไม่เว้นแต่ละวัน แต่ปล่อยให้เราเดินไปตามยถากรรม

เจ้านักการเมืองการแมงตัวดี พูดคำก็อ้างเรา พูดสามคำก็ว่าเพื่อเรา เปล่า ลึกๆพวกคุณก็เอาเราเป็นสะพานก้าวไปหาผลประโยชน์ของพวกคุณ เพื่อน พี่น้องเราหลายคนก็หลงคารมคมคาย ที่มาเล่นละคอนบนหลังคารถที่พวกคุณยืนปาวๆแล้ววิ่งไปตามหมู่บ้านเรา…

สักวันเถอะ เมื่อช่องว่างมันถ่างกันมากขึ้น คุยกันไม่รู้เรื่องมากขึ้น ที่พวกคุณเรียกว่ามันไม่สมดุลนั่นแหละ มันจะสายเกินไป แล้วจะมาแก้ไขเมื่อมันสายไปแล้วนา…


ไก่ฟ้าพญาลอ..

60 ความคิดเห็น โดย bangsai เมื่อ 28 มิถุนายน 2009 เวลา 19:46 ในหมวดหมู่ เรื่องทั่วไป, เฮฮาศาสตร์ #
อ่าน: 4655

วันก่อนเอารูปนี้มาลง

ไปค้นข้อมูลมา เขาชื่อไก้ฟ้าพญาลอ ไม้อยู่ในวงศ์ ARISTOLOCHIACEAE ชื่อพฤกษศาสตร์ Aristolochia ringens ดอกมีกลิ่นเหม็น ไม่ใช่ไม้กินแมลง ไม้เถาเลื้อยนำเข้าจากต่างประเทศ วิธีการเลี้ยงดูต้องหาหลักให้เลื้อย ชอบแดด รดน้ำวันละครั้งไม่ชอบน้ำ อายุสั้น ออกดอกเถาก็มักจะตายหรือแตกโคนใหม่ (ข้อมูลชื่อจาก หนังสือพันธุ์ไม้อาจารย์ เต็ม สมิตินันท์ ฉบับแก้ไข พ. ศ. 2544)


ลำต้นมีขนสั้นปกคลุม ใบ ใบเดี่ยวรูปหัวใจ ปลายมนถึงแหลม โค้นเว้าลึก สีเขียวสด ขนาดใบกว้าง 7-12 เซนติเมตร ก้านใบสั้น ดอก ออก ดอกเดี่ยว รูปร่างคล้ายนก โคนดอกเชื่อมกันเป็นกระเปาะกลมคล้ายนก ส่วนปลายแยกเป็น 2ส่วนคล้ายหาง สีเขียวอ่อนและมีเส้นสีม่วงแดงสานกันเป็นลายตาข่าย ผล รูป ทรงกระบอก มีเหลี่ยม 6เหลี่ยม ผลอ่อนสีเขียว เมื่อแก่มีสีน้ำตาล เมล็ดมีปีกนิยมปลูกเป็นไม้ประดับ รูปทรงของดอกแปลกตาสวยงามดี ชอบแสงแดดจัด ออกดอกช่วงเดือน พฤศจิกายน-กุมภาพันธ์ ขยายพันธ์โดยเมล็ด ปักชำ

แถมข้อมูลรูปนี้เป็นไก่ฟ้าพญาลอตัวจริง

ไก่ฟ้าพญาลอมีชื่ออยู่ในวรรณคดีไทยเรื่องต่างๆ แล้วยังมีชื่ออยู่ในประวัติศาสตร์ของชาติไทย ในสมัยกรุงรัตนโกสินทร์ ในรัชสมัยของ รัชกาลที่ 4 พระองค์ได้ทรงจัดส่งไก่ฟ้าพญาลอ 1 คู่ ไปพร้อมกับสัตว์ป่า 4 เท้า ไปยังประเทศฝรั่งเศส เพื่อส่งไปให้พิพิธภัณฑ์สัตว์ศาสตร์ (Imperial Zoological Museum) ซึ่งทำให้พระจักรพรรดิแห่งประเทศฝรั่งเศสทรงพอพระราชหฤทัยมาก
นับได้ว่าไก่ฟ้าพญาลอคู่นั้นได้ช่วยกระชับความสัมพันธ์ระหว่างสองประเทศให้แน่นแฟ้นมากยิ่งขึ้น

เป็นไก่ฟ้าพญาลอคู่แรกที่ชาวฝรั่งเศส และยุโรปได้รู้จัก จึงเรียกไก่ฟ้าชนิดนี้เพื่อเป็นเกียรติแก่ประเทศไทยว่า Siamese Fire-backed Pheasant ซึ่งแปลว่า ไก่ฟ้าหลังสีเพลิงแห่งประเทศสยาม มาตั้งแต่บัดนั้น และในปี พ.ศ. 2409 ไก่ฟ้าพญาลอคู่นั้นได้ออกไข่และฟักออกมาเป็นลูกไก่ฟ้า ณ กรุงปารีส ประเทศฝรั่งเศส

ในปัจจุบันชื่อที่ใช้เรียกไก่ฟ้าพญาลอได้ถูกย่อให้สั้นลง เหลือเพียง Siamese Fireback เท่านั้น เพื่อความกระชับ
ซึ่งเป็นชื่อที่นักเลี้ยงไก่ฟ้าทั่วโลกนิยมใช้เรียก

ประเด็นสำหรับวันนี้คือ ผมมีเมล็ดอยู่จำนวนหนึ่งเหลือจากการเพาะ จึงอยากให้เพื่อนๆเอาไปเพาะ ปลูกกัน น่าจะแบ่งได้สัก 3 ท่านครับ ใครต้องการบอกด่วนส่งที่อยู่มาให้ผมทางอีเมล์นะครับ

ขอบคุณข้อมูลและรูปจาก:-

http://www.bloggang.com/viewdiary.php?id=pinnjung&month=04-2009&date=12&group=16&gblog=2

http://www.thailantern.com/main/boards/index.php?showtopic=1253

http://www.panyathai.or.th/wiki/index.php/%E0%B9%84%E0%B8%81%E0%B9%88%E0%B8%9F%E0%B9%89%E0%B8%B2%E0%B8%9E%E0%B8%8D%E0%B8%B2%E0%B8%A5%E0%B8%AD

http://gotoknow.org/blog/naree122/238767?page=1

http://rirs3.royin.go.th/dictionary.asp


ตามหาสิทธิ์บัตรทอง..

405 ความคิดเห็น โดย bangsai เมื่อ 26 มิถุนายน 2009 เวลา 20:24 ในหมวดหมู่ เรื่องทั่วไป, เฮฮาศาสตร์ #
อ่าน: 6994

พ่อครูบาฯต้องไปตรวจสุขภาพประจำที่ รพ.ศรีนครินทร์ ขอนแก่น ซึ่งผมเดาเอาว่า พ่อครูบาฯมีบัตรทองรักษาทุกโรค ยกเว้นโรคทางใจ อิอิ.. แต่เมื่อมาใช้บริการที่ รพ.ศรีนครินทร์ก็ไม่สามารถใช้สิทธิ์ได้เพราะข้ามเขต… เมื่อข้ามเขตก็ต้องจ่ายเงิน

น้องหมอเจ๊ท่านปรารถนาดี ในฐานะที่เป็นบุคลากรทางการแพทย์ที่รู้เรื่องนี้ดี ก็แนะนำว่า พ่อครูบาฯสามารถโอนย้ายสิทธิบัตรทองนี้ไปที่ขอนแก่นได้ หากเป็นไปได้ ก็จะไม่เสียเงินแต่อย่างใด สามารถใช้สิทธิบัตรทองได้เต็มที่

น้องหมอเจ๊แนะนำว่า พี่บู๊ดบ้านอยู่ขอนแก่น หากโอนย้ายที่พักพ่อครูบามาเข้าทะเบียนบ้านพี่บู๊ด ก็สามารถดำเนินการต่อเนื่องเรื่องการโอนสิทธิการใช้ประโยชน์บัตรทองของพ่อครูบามาที่ รพ.ในขอนแก่นได้เลย ซึ่งเป้าหมายคือ รพ.ศรีนครินทร์

หมอเจ๊ได้แนะนำเบื้องต้นว่ามีเพื่อนเป็น ผอ. สป.สช.เขตขอนแก่นแนะนำให้พี่บู๊ดไปติดตามเรื่องการย้ายสิทธินี้ให้ด้วย ความจริงระบบระเบียบก็เหมือนกัน แต่ที่ขอนแก่นอาจจะมีรายละเอียดพิเศษอะไร ก็ขอไปศึกษาติดตามหน่อย แล้วมาปรึกษากัน

ผมเข้ามาขอนแก่นเมื่อวานค่ำ เช้าวันนี้จึงตระเวนไปศึกษาเรื่องนี้

โอ…ผมได้ประโยชน์มาก ได้เรียนรู้หลายประการเกี่ยวกับสิทธิการรักษาพยาบาล ในโรงพยาบาลของรัฐตามสิทธิ ซึ่งผมก็มีประกันสุขภาพ


ที่ สำนักงาน สป.สช. (เลข1) ผมไม่พบ ท่านผอ.ท่านติดธุระอื่น มีเจ้าหน้าที่เข้ามาให้คำแนะนำ ดีมากๆ ขอชื่นชมเจ้าหน้าที่ ให้รายละเอียด ค้น internet ข้อมูลของท่านครูบาฯ ข้อมูลของครอบครัวผมเพื่อดูลู่ทางว่ามีทางใดบ้างที่จะดำเนินการในเรื่องนี้

เจ้าหน้าที่แนะนำให้ผมไปศึกษารายละเอียดกับสำนักงานท้องถิ่นในพื้นที่ที่ผมเคยติดต่อ (ลูกขวัญผมเคยใช้สิทธิผ่าตัดต่อมทอลซิล) ผมไปที่สำนักงานดังกล่าวที่เลข 2 พบคุณพยาบาลอ้วนตึบกำลังงานเข้า ก็ยืนคอยครู่หนึ่งท่านเห็นเข้าก็เรียกไปถาม ผมอธิบายท่านแล้ว ท่านก็ให้คำแนะนำละเอียดยิบ แต่เพื่อความแน่ใจให้ไปติดต่อศูนย์อนามัยชุมชนที่สร้างขึ้นใหม่สดๆร้อนๆ ใกล้บ้านผมที่หมายเลข 3

ที่นั่น เจ้าหน้าที่สตรีต้อนรับดีมาก กระฉับกระเฉง อธิบายเป็นขั้นตอน อาจเป็นเพราะคนไข้ไม่มาก ไม่ยุ่งก็ได้ คำแนะนำนั้นทำให้ผมกระจ่างมากขึ้นเรื่อยๆถึงสิทธิและขอบเขตความรับผิดชอบของ รพ.ศูนย์ขอนแก่น และ รพ.ศรีนครินทร์

สรุปว่าบ้านพักของผมนั้นอยู่ในเขตความรับผิดชอบของ รพ.ศูนย์ขอนแก่น ไม่อาจไปใช้สิทธิที่ รพ.ศรีนครินทร์ได้ แต่ก็มีสองกรณีที่สามารถไปศรีนครินทร์ได้คือ

  1. คนไข้เข้ารับการรักษาพยาบาลที่ รพ.ศูนย์ขอนแก่นแล้ว คณะแพทย์ศูนย์ขอนแก่นมีความเห็นว่าให้ไปรักษาที่ รพ.ศรีนครินทร์ ก็จะส่งคนไข้ไปที่นั่น
  2. คนไข้ต้องการไปรักษากับแพทย์ประจำที่ รพ.ศรีนครินทร์เอง ก็ไปได้เลยแต่ไม่สามารถใช้สิทธิ์บัตรได้ นั่นหมายความว่าต้องเสียค่าใช้จ่ายเอง(ซึ่งไม่ใช่ความประสงค์)

อื่นๆ

  1. มีคำแนะนำจาก สป.สช.ว่าให้พยายามอธิบายคุณหมอที่ รพ.ศูนย์ขอนแก่นว่า รักษาประจำกับคุณหมอที่ รพ.ศรีนครินทร์จึงขอให้กรุณาโอนย้ายสิทธิไปที่ รพ.ศรีนครินทร์เลยจะได้ไหม ซึ่งทั้งหมดนี้ขึ้นกับการติดสินใจของแพทย์ผู้ทำการรักษา…

เพื่อความรอบคอบผมไปที่ รพ.ศูนย์ขอนแก่น หมายเลข 4 เพื่อพบเจ้าหน้าที่สำนักงานประกันสุขภาพประจำ รพ.ศูนย์ขอนแก่น ผมได้พบเจ้าหน้าที่สาวสวย ซักถามผมแล้วเราก็พูดกัน ผมได้ข้อมูลที่ซ้ำๆจนมั่นใจว่า

  • การโอนย้ายทำได้ง่ายมาก เพียงแค่ผมเตรียมเอกสาร สำเนาบัตรประชาชนและสำเนาทะเบียนบ้าน พร้อมลงนามรับรอง
  • พิเศษคือสำเนาทะเบียนบ้านนั้นให้ผมระบุ ยืนยันว่าพ่อครูบามาเป็นสมาชิกมรครอบครัวนี้ โดยไม่จำเป็นต้องย้ายมาจริงๆ
  • ผมมอบเอกสารทั้งสองนั้นให้พ่อครูบาไปแสดงต่อ สำนักงานประกันสุขภาพแห่งนั้นๆ หรือฝ่ายประกันสุขภาพประจำโรงพยาบาลนั้นๆ แล้วทางเจ้าหน้าที่จะดำเนินการให้ แต่ต้องคอยการออกบัตรใหม่ประมาณ 45 วัน แต่(ทราบว่าระหว่างนั้นสามารถใช้เอกสารสำรองไปใช้สิทธิได้)
  • ข้อมูลอื่นๆคือ ส่วนใหญ่คุณหมอมักจะไม่ส่งสิทธิต่อไปที่อื่นยกเว้นกรณีจำเป็นจริงๆ ตรงข้ามที่ รพ.ศรีนครินทร์เสียอีกที่ส่งมาที่ รพ.ศูนย์ขอนแก่น เหตุผลที่สำคัญคือ ที่ รพ.ศรีนครินทร์นั้นเป็นโรงเรียนแพทย์ ต้นสังกัดคือ ทบวงมหาวิทยาลัย ไม่ใช่กระทรวงสาธารณะสุข เช่น รพ.ศูนย์ขอนแก่น ดังนั้น รพ.ศรีนครินทร์จึงมักมีเป้าหมายต่อคนไข้ที่แตกต่างออกไป

ก่อนออกมาจาก รพ.ศูนย์ขอนแก่น คุยกับเจ้าหน้าที่ว่า หนทางที่ดีที่สุดคือ ให้หาคนที่อยู่ในเขตบริการของ รพ.ศรีนครินทร์ แล้วย้ายพ่อครูบาฯไปเข้าทำเบียนย้ายที่นั่น โดยไม่ต้องมาทำที่ รพ.ศูนย์ซึ่งเสี่ยงว่าจะไม่สามารถโอนสิทธิไปที่ รพ.ศรีนครินทร์ได้

ผมนึกถึง อ.แป๋ว อ.หมอเจเจ คุณพยาบาลอุบล นึกถึงป้าหวาน ซึ่งเป็นกลุ่ม blogger แต่ที่แน่ๆได้สบายคือลูกน้องของคนข้างกายหลายคนที่มีที่พักในขอบเขตความรับผิดชอบของศรีนครินทร์ และเธอเหล่านั้นก็ยินดี

เพื่อความมั่นใจผมควรจะไปสอบถามต้นเรื่องดีกว่า คือ ฝ่ายประกันสุขภาพของ รพ.ศรีนครินทร์ หมายเลข 5 ผมไปถึงช่องระบุเรื่องการโอนสิทธิ์ เจ้าหน้าที่นั่งว่างงานพอดี ผมอธิบายยาวยืด เจ้าหน้าที่ท่านก็นั่งยิ้มแป้นให้ผม…เมื่อผมอธิบายเสร็จท่านก็กล่าวว่า

คุณคะ..โควต้าประกับสุขภาพบัตรทองที่จะมาใช้ที่รพ.ศรีนครินทร์นี้หมดแล้วค่ะ หมดตั้งแต่ปี 2549 แล้วค่ะ

ผม..????!!!!! จบกัน เดินเรื่องมาทั้งวัน มาจบเอาสุดท้ายนี่เอง…

สรุปคือ

  • การโอน-ย้าย สิทธิประกันสุขภาพนั้นทำได้ และทำได้ง่ายด้วย
  • เมื่อมีสิทธิที่ รพ.ศูนย์ขอนแก่นจะขอไปใช้สิทธิที่ รพ.ศรีนครินทร์ด้วยตัวเองไม่ได้ กระทำได้ก็ต่อเมื่อ แพทย์เป็นผู้ตัดสินใจย้ายผู้ป่วยอันเนื่องจากเหตุผลทางการแพทย์เท่านั้น
  • กรณี รพ.ศรีนครินทร์นั้นเนื่องจากเป็นโรงเรียนแพทย์ จึงรับการประกันสุขภาพในปริมาณคนไข้ที่จำกัดเท่านั้น ซึ่ง รพ.ศรีนครินทร์ก็ไม่รับเพิ่ม ไม่รับโอน ย้ายสิทธิแล้วตั้งแต่ปี 2549 เพราะปริมาณมากแล้ว
  • หากต้องการใช้สิทธิบัตรทองที่ขอนแก่นทำได้เฉพาะการโอนย้ายมาที่ รพ.ศูนย์ขอนแก่นเท่านั้น ในกรณีนี้ย้ายโดยผมเป็นผู้จัดทำเอกสารระบุยืนยันการเข้าพักอาศัยในทะเบียบบ้านของผม โดยไม่ต้องย้ายมาจริง แล้วใช้สิทธินี้ย้ายสิทธิบัตรทองจากบุรีรัมย์มารพ.ศูนย์ขอนแก่นได้เลย แต่ใช้สิทธิได้เฉพาะที่ รพ.ศูนย์ขอนแก่นเท่านั้น..

ทั้งหมดนี้เป็นข้อมูลที่ผมศึกษามาในวันนี้ครับ จึงเรียนมายังพ่อครูบาฯ และหมอเจ๊ด้วยครับเพื่อปรึกษาหาทางอื่นๆต่อไป


ปรุงทฤษฎีให้ร้อน..

2041 ความคิดเห็น โดย bangsai เมื่อ 23 มิถุนายน 2009 เวลา 14:03 ในหมวดหมู่ งานพัฒนาสังคม, เฮฮาศาสตร์ #
อ่าน: 81066

ครอบครัวผมเป็นพวกบริโภคนิยม คือ นิยมหาอาหารอร่อยทานกัน ถึงได้อ้วนไง.. คนข้างกายผมก็ทำอาหารอร่อย ถูกปาก เพียงแต่เธอไม่ค่อยมีเวลาทำเท่านั้น เดินทางร่อนไปทั่วประเทศ เหนือ ใต้ ออก ตก ไปหมด สิ้นสุดงบประมาณปีนี้เธอก็ออกจากราชการแน่นอนแล้ว ไปเป็นอิสระ Freelance ดีกว่า อิอิ

พูดถึงอาหาร แกงเหลืองภาคใต้ก็มีสูตรเฉพาะ มีทั้งคนชอบเผ็ดมากเผ็ดน้อย ใส่หน่อไม้ดองต้องคัดสรรมา น้ำต้องข้น ปลาต้องเป็นเฉพาะชนิดนี้เท่านั้นถึงจะเข้ากันดี และจะกินแกงเหลืองต้องมีผักท้องถิ่นมากๆ หากมีไข่เจียวมาคู่กัน…อูย…หิวหละซี… ในขอนแก่นเองมีร้านอาหารภาคใต้มากกว่า สามร้าน ล้วนแต่คนแน่นตลอด คืออร่อยทุกร้าน แม้ว่ารสชาติและส่วนประกอบจะแตกต่างไปบ้างก็ตาม

แรกๆผมไม่คิดว่าจะมาตกล่องปล่องชิ้นกับสาวใต้ ผมว่าสาวเหนืองาม กิริยามารยาทเรียบร้อย..ซะไม่เมี๊ยะ มาทำงานอีสานผมก็ว่าสาวเขมรแถบสุรินทร์ดำขำก็งามไปอีกแบบ ยิ่งสาวผู้ไท กะเลิง..งามก็มีมากมายชวนให้มองไปหมด ไปเที่ยวทางใต้ ทางตะวันออก ก็มีสาวงามถูกตาต้องใจไม่แพ้กัน

เป็นว่า ไม่ว่าอาหารชนิดเดียวกัน ก็ยังมีรายละเอียดที่แตกต่างกัน องค์ประกอบแตกต่างกันไปบ้างตามเงื่อนไข และกระบวนการปรุงอาหารก็คงจะมีเคล็ดลับเฉพาะที่เป็นแบบฉบับของใครของมัน เป็นของเก่าต้นตระกูลก็เคยได้ยินบ่อยๆ ปัจจุบันสูตรอาหารเหล่านี้เมื่อเป็นธุรกิจไปแล้วราคาค่างวดซื้อขายกันแพงๆเชียวหละ

สาวที่ไหนก็สวยทั้งนั้น แม้สาวดอยบนที่สูงเมื่อจับมาแต่งตัวแล้วเธอก็เช้งวับไปหมด ที่เรามักเรียกกันว่า สวยไปคนละแบบ.. ไม่เชื่อไปถามอาเหลียง เฮียตึ๋งดูซี พูดทีไรเอาผ้าเช็ดหน้ามาเช็ดปากทุกที..อิอิ..

อาหารอร่อย สาวสวยนั้น มันขึ้นอยู่กับการปรุงแต่ง การปรับปรุง พัฒนา การทดลองปรุงแบบนั้นแบบนี้ นานเข้า ก็ลงตัวว่ารสชาดแบบนี้ ใช้ได้ ผู้คนชม ติดใจ เราก็ได้สูตรอาหารที่เป็นที่ยอมรับกัน

สาวท้องทุ่ง..ตัวดำเหนี่ยง สาวดวงตาไม่มีเล่าเต้ง หรือสาวไหนๆ ลองมาแต่งใส่เสื้อผ้า ทำผมทำเผ้า ผัดหน้าทาปาก ใส่น้ำปรุงน้ำหอม โอย..ขี้คร้านหนุ่มๆ แก่ๆ จะช๊อคตาย..

แม้ว่าปัจจุบันจะมีสูตรที่บอกกล่าวกันทั่วไปว่า แกงเหลืองนั้นต้องมีส่วนประกอบอะไรบ้าง การแต่งตัวควรพิจารณาอะไรบ้าง หากไม่มีศิลปะการทำอาหารก็เทให้สุนัขรับประทานเถอะ.. แต่หากพัฒนาจนสุดยอดแล้ว น้ำแกงหยดสุดท้ายก็อร่อย..ไม่ยอมทิ้งเด็ดขาด สาวๆบางคนหน้าตาไปวัดไปวาได้ แต่แต่งตัวไม่เป็น โทษที คุณดำเหนี่ยงข้างวัดสวยกว่าเยอะเลย

การปรุงแต่งเป็นศิลปะ เป็นเรื่องฝีมือ เป็นทักษะ เป็นความชำนาญ เป็นศาสตร์เฉพาะตัวของใครของมัน เลียนแบบได้แต่อาจดีไม่เท่า

ผมเรียนรู้ทฤษฎีการพัฒนามากก็มาก หลักการต่างๆก็เยอะ แต่เมื่อเอาลงสู่ชุมชนจริงๆ บางทีมันไปไม่เป็นก็เกิดขึ้นบ่อยๆ ล้มกลางเวทีก็เคยหน้าแตกมาแล้ว ผมจึงมักแลกเปลี่ยนกับน้องๆว่า เราเป็นคนทำงานพัฒนาชุมชนนั้น คือคนที่ต้องเรียนรู้หลักการ หรือทฤษฎี แล้วเอามาปฏิบัติให้เกิดมรรคเกิดผล ซึ่งเป็นเรื่องยาก ไม่ง่ายอย่างที่พูดกันปาวๆในชั้นเรียน

หลักการเดียวกัน ทฤษฎีเดียวกัน ไปใช้ที่ภาคเหนือ ก็มีรายละเอียดที่แตกต่างไปจากภาคใต้ ในภาคอีสานเดียวกัน เอาหลักการ หรือทฤษฎีไปปฏิบัติที่อีสานใต้ กับชุมชนเทือกเขาภูพานก็แตกต่างกัน ในภูมินิเวศวัฒนธรรม ภูมินิเวศเกษตร ภูมินิเวศสังคมที่แตกต่างกัน ก็มีรายละเอียดการปรุงแต่งที่แตกต่างกัน

ผู้บริหารมักมองไม่เห็น แม้นักปฏิบัติเองก็ไม่เข้าใจว่าหลักการเหมือนกัน แต่การนำไปใช้ต้องรู้จักดัดแปลง ปรับปรุงขั้นตอน รายละเอียดให้สอดคล้องกับท้องถิ่นนั้นๆ

ครูบาอาจารย์ หรือนักวิชาการ จำนวนมาก ก็มักสร้างทฤษฎี สร้างหลักการใหม่ๆขึ้นมา เป็นตัวย่อบ้าง เป็นคำคล้องจองกันบ้าง เป็นโค้ดต่างๆบ้าง แต่เมื่ออธิบายลงไปไม่เคยได้ยินการกล่าวถึงรายละเอียดการปรุงแต่งในระดับปฏิบัติการเลย หากจะบอกว่าเป็นเรื่องของนักปฏิบัติที่ต้องไปหาเอาเอง ผมก็ว่า เป็นการกล่าวที่ไม่สมบูรณ์

ผมสนับสนุนชาวบ้านจัดตั้งกลุ่มออมทรัพย์แบบเครดิตยูเนี่ยน ขึ้นในระดับหมู่บ้านและชุมชนใหญ่ กว้างขึ้นไป หลักการของเครดิตยูเนี่นยนั้น มีเป็นต้นฉบับที่ใช้กันทั่วโลกคือ จิตตารมณ์ 5 ประการ คือ ซื่อสัตย์ เสียสละ รับผิดชอบ เห็นอกเห็นใจ และไว้วางใจกัน แต่ที่สุรินทร์ ชาวบ้านซึ่งเป็นชนชาวเขมรนั้นบอกว่า “อาจารย์ พวกเราแค่ดื่มน้ำสาบานแบบท้องถิ่นเท่านั้น เจ้าจิตตารมณ์ ตาแรม อะไรนี่ผมไม่เข้าใจ ไม่ต้องพูดถึงเลย ดื่มน้ำสาบานเท่านั้นพอ…”…!!

เมื่อรายละเอียดในความเป็นจริงเป็นเช่นนี้ จะไปกำหนด KPI แบบเดียวกันใช้ทั่วประเทศ ผมว่านักประเมินผลท่านนั้นก็ล้าหลังไปแล้ว

หากนักปฏิบัติบ้าแต่ทฤษฎี ปรุงไม่เป็น ท่านผู้นั้นก็เป็นเพียงผู้หวังดีคนหนึ่งเท่านั้น

หากนักบริหาร นักวิชาการ นักพูด กล่าวแต่หลักการ ทฤษฎี แต่ไม่บ่งชี้ถึงการปรุงแต่งในภาคปฏิบัติ ศาสตร์นั้นก็แห้งแล้งเกินไป จืดชืด ใช้อะไรแทบไม่ได้..


AAR พระบาทห้วยต้ม

35 ความคิดเห็น โดย bangsai เมื่อ 23 มิถุนายน 2009 เวลา 1:47 ในหมวดหมู่ เฮฮาศาสตร์ #
อ่าน: 1393

ระหว่างเดินทางจากเชียงใหม่-พิษณุโลก เฮียตึ๋งคุยให้ฟังหลายเรื่อง โดยเฉพาะ จปผ.2 และอื่นๆ อยากแสดงความเห็นไว้ว่า


รากเหง้า…2

270 ความคิดเห็น โดย bangsai เมื่อ 1 มิถุนายน 2009 เวลา 1:04 ในหมวดหมู่ ทุนสังคม, เฮฮาศาสตร์ #
อ่าน: 5389

ผมเอาบางตอนของการคุยกับพ่อคืนวันนั้นมาแสดง

———–

พ่อ: นามสกุลของย่าคือ กุลมา … ตอนพ่ออายุ 6 ขวบเศษ ย้ายบ้าน.. เหตุที่ย้ายเพราะแพ(คนสมัยก่อนบางส่วนอาศัยเรือนแพ..บางทราย) ย่าถูกโจรปล้นเป็นครั้งที่สอง… คืนนั้นเวลาตีสองเศษๆ ใครๆก็ได้ยิน สมัยโน้นชาวบ้านเรามีอาวุธไม่ค่อยดี เตี่ยไปอยู่แพ เห็นผิดสังเกต ก็เตรียมปืนกันคนละกระบอก มีปืนแก๊ป ปืนคาบศิลา และปืนปัสสะตัน ปืนนี้นับว่าเยี่ยมแล้วในสมัยนั้น ผลที่สุดเอาจริงเอาจังเข้า ปืนก็ยิงไม่ออกสักกระบอกเดียว…


พ่อ: โจร 7 คนมาปล้น เรามีแพอยู่ 4 หลังเชี่อมต่อกัน ในแพก็มี ย่าตุ้ย ก๋งเริก อาแต้ม แพอีกหลังก็มี อาเทียม อาถมกับลูกๆ ต่างหนีเอาตัวรอดไปได้หมด ย่าอิ่มของเรานอนล่อที่สุดริมแผงกั้นมีซี่เหล็กและผ้าม่านกั้นถกขึ้นไปได้ น้ำแรงจัด โจรมันเอาเรือมาก็ปะทะแพโครมคราม ย่าอิ่มตื่นตกใจก็เอะอะขึ้น โจรเข้าคว้าแขนย่า แกสะบัดหลุด หนีออกทางหลังแพครัวกระโดดน้ำหนีไปได้หวุดหวิด ก๋งคลานขึ้นฝั่งได้ ไอ้พวกโจรเข้าในแพไม่ได้เป็นนานจึงเข้าไป มันใช้ขวานจาม “กำปั่น” อยู่เป็นชั่วโมง ก็เปิดได้ เอาของในกำปั่นไปหมด สารพัดเงินทอง เพชรนิลจินดา ข้าวของมีค่ามันเอาไปหมด ย่าตุ้ยมีเงินทองมาก ใครๆก็เรียกกันว่า “ยายตุ้ยแพเอียง” ก็เงินทองมากมาย หนักจนแพเอียง กำปั่นใหญ่มีใบเดียวแต่หีบเหล็กมีเยอะหลายสิบใบ..

พ่อ: ..ย่าโกรธกับก๋ง เลยเอาพ่อกับอาชินหนีก๋งไปอยู่กับญาติที่นครชัยศรี นครปฐม สมัยนั้นต้องนั่งเรือไปกรุงเทพฯก่อน มีเรือกลไฟของบริษัทพิทักษ์พานิช คือเรือเขียว กับบริษัทสยามสตีมเบกเกท คือเรือแดง เจ้าของเรือแดงเป็นฝรั่งชาติเดนมาร์ค เข้ามาขอสัมปทาน ส่วนเรือเขียวเป็นของคนไทย อยู่ผักไห่ ชื่อ ขุนพิทักษ์ เป็นคหบดีร่ำรวยมาก มีที่ดินไร่นาสาโทเยอะแยะ มีกิจการเรือกลไฟรับส่งคนโดยสารจากกรุงเทพฯถึง อ.วิเศษชัยชาญ..

พ่อ: ไปอยู่นครชัยศรีเป็นแรมเดือน เตี่ยไปซื้อปืนเมาเซอร์สามกระบอกที่กรุงเทพฯ แล้วเลยไปรับย่ากลับบ้าน เมื่อเดินทางเข้ากรุงเทพฯ เตี่ยก็ชวนพ่อไปเที่ยววัดมหาธาตุ พ่อไม่ได้คิดอะไร คิดว่าไปเที่ยวกันเท่านั้น ไปถึงวัดมหาธาตุก็ไปคณะที่ 24 แทนที่จะไปเที่ยว เตี่ยกลับเอาพ่อไปฝากพระอาจารย์เรื่อง ซึ่งเป็นญาติกัน เตี่ยตั้งใจจะให้เรียนหนังสือที่วัดมหาธาตุนี้ พ่อดีใจที่จะได้เรียน แต่ใจหนึ่งก็คิดถึงแม่คิดถึงน้อง เตี่ยกลับไปแล้ว พ่อก็ร้องให้จะกลับ ดิ้นพลาดๆ พระอาจารย์ก็ตีซะจนหยุดร้อง.. คืนนั้นทั้งคืนไม่ได้นอน เพราะคิดถึงแม่ คิดถึงน้อง ตี 4 เช้ามืด เรือจะออกจากท่า เปิดหวูด โอย…มันโหย หวน ใจจะขาดรอน รอน เชียวเอ๋ย นานเข้าก็จางไป จนอาจารย์เห็นว่าเราเชื่องแน่ก็เลยพาเราไปตัดเสื้อผ้า เพื่อเข้าโรงเรียน…


พ่อ: สมัยพ่อเรียนนั้นยังไม่มีกระดานชนวนเลย ใช้กระดานไม้มะกอก หรือกระดานไม้สักอย่างดี เอาดินหม้อผสมน้ำข้าว หรือผสมน้ำมันยาง ทาให้เป็นสีดำ แล้วใช้ดินสอพองปั้นเป็นแท่งยาวๆเป็นดินสอเขียน แล้วก็ไม่ได้อ่านเป็น กอ ขอ คอ ฅอ งอ อย่างปัจจุบัน สมัยนั้นอ่าน กอ ข้อ ขอ ค่อ คอ งอ, จอ ฉอ ช่อ เชาะ ยอ, ดอ ตอ ถ่อ ท่อ เทาะ นอ มีตำราเรียนเร็ว มีประถมกอกา มีมูลบทบรรพกิจ คนเขียนหนังสือสมัยโน้น เอาอักษรทั้ง 24 ตัว ผสมสระทั้งหมด เรียกว่า แจกลูก แล้วไปเรียนตัวสะกด แม่กม แม่กก แม่กด แม่กบ…แม่เกย พ่ออ่านได้ถึงแม่เกย เกย ไก กาย กาว กิว กีว กึว กืว กุว กูว เกว เกว แกว แกว…..

พ่อ: สมัยนั้นเรียนกับพระท่านสอนเป็นธรรมทาน ไม่มีสินจ้างรางวัล ไม่มีเงินเดือน เครื่องแบบนักเรียนวัดมหาธาตุสมัยนั้นโก้หรูมาก คล้ายๆนักเรียนวชิราวุธปัจจุบัน เสื้อห้าตะเข็บ กางเกงฟอร์มสีดำยาวคลุมเข้า หมวกฟางถัก หัวตัด ทรงปีกแข็ง อยู่วัดมีกติกาว่า เช้าขึ้นมาต้องปัดกวาดเช็ดถูกุฏิ คอยจัดอาหารให้พระอาจารย์ คอยรับบาตรมาจัดให้ท่าน ประเคน เป็นกิจวัตร พระกรุงเทพฯสมัยนั้นบางวันอัตคัด บางวันได้ข้าวทัพพีเดียวไม่พอฉันท์ ต้องหุงข้าว สมัยนั้นไม่ว่าผู้ดีหรือชาวบ้านต้องมีหม้อ 2 แบบเท่านั้นคือ หม้อดิน กับหม้อทองเหลือง… หม้อดินหุงข้าวไม่มีหู ทรงคอชะลูด ปากบาน มีฝาครอบ เวลาข้าวสุกน้ำเดือดต้องยกลงวางที่ “เสวียน” ถักด้วยหวายมีหูโค้งเข้าหากันถึงปากหม้อพอดี หาผ้าเทินฝาหม้อแล้วก็เอียงหม้อเช็ดเอาน้ำข้าวออก หาก “ฝาละมี” เลื่อน ข้าวร่วง ข้าวหกก็ถูกดุ หากทำเป็นครั้งที่สองที่สามก็โดนเฆี่ยน

ครั้งหนึ่งพ่อทำจานแตกใบหนึ่ง เป็นจานที่พระใช้ฉันท์ จะเอาไปเก็บเข้าที่ หลุดมือตกแตก เราก็รีบจะไปเรียน พระอาจารย์เห็นก็วิ่งมาฉุดเข้ากุฏิลั่นกลอนเลย เหลียววซ้ายขวาไม่มีอะไร เห็นสากกะเบือ แกก็คว้าเอามาห้ำตั้งแต่หลังมือเรื่อยไปถึงข้อศอก แล้วห้ำลงมา จากแขนซ้ายไปแขนขวา พ่อร้องสุดชีวิต แกก็ไม่หยุด จนเจ้าคณะต้องพังกุฏิเข้ามาช่วย.. พ่อไม่ได้ไปโรงเรียนสามวัน.. ต่อมาแม่มารับกลับวิเศษชัยชาญ ไปเรียนต่อที่นั่นโดยไปอาศัยบ้านเสมียนสรรพากร แม่บ้านสมัยนั้นติดการพนัน พวกเมียข้าราชการเล่นการพนันกันมาก หยอดบ่อ ทอยกอง ไพ่ตองบ้างละ.. พ่อไปจบ ม. 3 ที่จังหวัดอ่างทอง…

——-

การคุยกับพ่อแม่ หรือแม้ผู้เฒ่าผู้แก่ทั่วไปนั้น เราได้อะไรมากมายจริงๆครับ เราเห็นประวัติศาสตร์สมัยนั้น เห็นวิถีชีวิต สังคม วัฒนธรรม ระบบการเรียน การสั่งสอนนอกจากความรู้ สิ่งหนึ่งที่ผมคิดว่าได้มากๆ คือ การสัมผัสรากเหง้าอันเป็นชีวิตของผู้เล่า ยิ่งเป็นบุพการีเราด้วยแล้ว เนื้อหาสาระ อารมณ์ ความรู้สึกมันมีพลังอย่างมาก รับรู้ได้ สัมผัสได้ ซึ่งบรรยากาศเช่นนั้นมันได้สร้างความสำเหนียก ความสำนึกแก่เราโดยอัตโนมัติ…

ด้วยเหตุฉะนี้เอง ผมจึงชอบใจที่อัยการชาวเกาะ เขียนบันทึกสอนลูก…ตลอดไปถึงสาระในหน้าที่การงาน ที่น้อยคนจะเข้าถึงสาระละเอียดเช่นนั้น

ในวาระที่พ่อครูบาฯในฐานะเป็นคนเก่า เล่าความหลัง ถือว่าจะเป็นบันทึกของยุคสมัย ของหนุ่มอีสานคนหนึ่ง ผมว่าจะสะท้อนเรื่องราวต่างๆทำให้เราเข้าใจอีสานอีกมุมหนึ่งได้ดีทีเดียว นักประวัติศาสตร์ถือว่านี่เป็นประวัติศาสตร์บอกเล่าชนิดหนึ่งซึ่งมีคุณค่า

สังคมเราพัฒนาไปแต่ข้างหน้า ผมก็คิดว่าเราสมควรที่จะก้าวไปข้างหน้า แต่การก้าวไปข้างหน้านั้นหากมีรากเหง้าเหล่านี้ติดสมองบ้างแล้ว สังคมคงชั่งน้ำหนักออกว่า สังคมไทยที่มีขั้วชนบทกับเมือง ที่เราจำลองภาพมานี้นั้น ความทันสมัยที่เหมาะสมกับบ้านเราจะอยู่ตรงไหนจึงจะพอดี ลงตัวกับบ้านเรา มิใช่ก้าวไปข้างหน้าเพราะต้องการให้ทันสมัย หรือให้ทัดเทียมต่างประเทศ โดยไม่พิจารณาให้อยู่บนรากของสังคมไทยเลย

ถ้าเราเอาแต่มุ่งไปข้างหน้าแบบสุดโต่ง ย่ิอมจะสร้างช่องว่างของความเป็นคนไทย ชนบทกับเมือง เกษตรกรกับธุรกิจ ช่องว่างนี้จะถ่างออกมากขึ้น หลักการปกครองบ้านเมืองนั้นถือว่าปรากฏการณ์นี้เป็นอันตราย

นับได้ว่า เจ้าเป็นไผ เป็นส่วนย่อย เล็กๆ ที่จารึกรากเหง้าสังคมไทยทั่วทุกภาคเอาไว้บ้างแล้ว….


รากเหง้า..1

2114 ความคิดเห็น โดย bangsai เมื่อ 31 พฤษภาคม 2009 เวลา 20:58 ในหมวดหมู่ ทุนสังคม, เฮฮาศาสตร์ #
อ่าน: 22034

ผมมานั่งทบทวนแนวคิดเจ้าเป็นไผ และสิ่งที่เบิร์ดเสนอที่ http://lanpanya.com/sutthinun/?p=1831 และที่ คอน เสนอ ธีม จปผ. 2 ไว้ที่ http://lanpanya.com/journal/archives/4979 นั้น ผมมีความคิดเห็นคล้อยตาม และนึกถึงอะไรอีกมากมาย

ประเด็นของผมคือ : พ่อแม่สร้างชีวิตมาด้วยชีวิต มีคุณค่ามาก แต่ลูกไม่ค่อยได้รับรู้ ไม่ได้เรียนรู้อย่างละเอียด แม้ว่าเวลาเปลี่ยนไป สถานการณ์เปลี่ยนไป สังคมเปลี่ยนไป ยุคสมัยของพ่อแม่กับลูกต่างกันลิบลับก็ตาม แต่พัฒนาการชีวิตของพ่อแม่นั้นหากลูกๆได้สัมผัสอย่างลึกซึ้ง ก็เป็นการรับลูกต่อทางรากเหง้า และวัฒนธรรม ที่มีฐานแท้ของท้องถิ่นสังคมไทย

ชีวิตเด็กบ้านนอกอย่างผมและหลายๆคนนั้น ต่างใฝ่ฝันมุ่งไปข้างหน้า มากกว่าจะเซ้งกิจการทำนาของพ่อแม่มาทำต่อ พ่อแม่เองก็คิดเช่นนั้น “ไปเป็นเจ้าคนนายคนซะ ไปเป็นข้าราชการมีเงินเดือนกินซะ จะได้ไม่มาลำบากอย่างพ่อแม่”

ครอบครัวที่ยากจนหลายคนทั้งคนไทยคนจีน ลูกคนโตบางทีเสียสละให้น้อง ยอมออกมาเป็นแรงงานกับพ่อแม่ เพื่อหาเงินส่งน้องเรียนหนังสือ ดอกเตอร์หลายคนที่ผมยกมือไหว้ก็มีร่องรอยเช่นนี้

พ่อแม่ผมก็คงเหมือนกับทุกคนที่ต่างพร่ำสอนมารยาท วิธีการครองตนในสังคมที่หลากหลาย และให้ยึดถือสารพัดวัฒนธรรม ประเพณีทั้งที่สั่งสอนโดยตรงและโดยอ้อม โดยปกติพ่อ แม่ ก็จะเล่าบางช่วงชีวิตให้ฟังตามจังหวะ สถานการณ์ แต่ก็ไม่ต่อเนื่องแบบม้วนเดียวจบ จึงมีหลายเรื่องที่พ่อแม่ไม่ได้เล่า บางทีญาติพี่น้องซะอีกเล่าให้ฟัง

ช่วงที่ผมทำงานที่ขอนแก่นประมาณปี 2529 พ่อซึ่งเป็นข้าราชการครูเกษียณ ล้มป่วยด้วยโรคถุงลมโป่งพอง ต้องนอนที่โรงพยาบาลอ่างทอง ผมก็ลงไปเยี่ยม ไปนอนด้วย ไปปรนนิบัติแทนแม่ที่รับมาหนักนานตลอด


ค่ำวันนั้น พ่อเรียกผมเข้าไปนั่งข้างเตียงแล้วก็เล่าชีวิตของพ่อให้ฟังอย่างละเอียด ผมตงิดในใจจึงเอาเทปบันทึกเสียงพ่อไว้ด้วย พ่อเล่าแบบลืมตัว จนสว่างคาตา แม่ตื่นขึ้นมาก็ต่อว่าพ่อ ว่าลูกต้องเดินทางกลับไปขอนแก่นทำไมคุยกันยันสว่างเลย เดี๋ยวลูกขับรถไม่ไหว อันตราย.

จริงๆผมไม่ทราบหลายช่วงหลายตอนของชีวิตพ่อมาก่อน เพราะไม่มีใครเล่าให้ฟัง เรื่องราวที่พ่อเล่าให้ฟังตลอดคืนนั้น มีทั้งรากเหง้าของตระกูล ประวัติศาสตร์ท้องถิ่น บ้านเมือง บุคคล สังคม การดำรงชีวิต วิถีชีวิตยุคก่อนสงครามโลก การเปลี่ยนครั้งสำคัญๆของประเทศชาติ ฯลฯ เพราะมันเป็นทางเดินของชีวิต ตลอดทั้งคืนมีทั้งหัวเราะกันสองคนพ่อลูก มีทั้งร้องให้ เพราะพ่อฝ่าด่านความยากลำบากมามากกว่าเราหลายร้อยหลายพันเท่านัก

คืนแห่งประวัติศาสตร์นั้นผมเกิดสำนึกขึ้นอย่างสูงส่งโดยอัตโนมัติ ผมเข้าใจว่าทำไมพ่อจึงเป็นดุ โดยเฉพาะกับลูกๆ ทำไมพ่อจึงเคี่ยวเข็ญพวกเราในเรื่อง การรักใคร่กันระหว่างพี่น้อง แม้ว่าพ่ออยากให้รับราชการ แต่หากเราตัดสินใจอยากเป็นอะไร พ่อก็ไม่ได้ขัด แต่ขอให้เป็นคนดี…. ในตระกูลผมนั้น พ่อเสียสละโอกาสที่ไม่ได้เรียนหนังสือสูงทั้งที่อยากจะเรียน เสียสละมรดกที่นาทำกิน ให้น้องๆ(อาผม)ก่อน พ่อก็ได้น้อยที่สุด ดังนั้นอาทุกคนเคารพพ่อมาก เมื่อพ่อพูดอะไร อาทุกคนฟัง

ผมไม่ได้มุ่งหมายให้ลูกๆ ก็อปปี้มาทั้งหมดซึ่งเป็นไปไม่ได้ ซึ่งทำไม่ได้ และไม่ควรทำ แต่ลูกเมื่อมีวุฒิภาวะแล้วย่อมรู้ดีว่าอะไรควรอะไรไม่ควร

  • มีลูกจำนวนมาก พอออกจากบ้านก็รู้แต่โลกข้างนอก แต่ชีวิตของพ่อแม่อย่างละเอียดนั้นไม่รู้เรื่อง หรือรู้น้อย เพราะไม่มีเวลาให้กับพ่อแม่ แต่มีเวลาให้กับเพื่อนและโลกสื่อสารยุคใหม่
  • อนุมาณว่าพ่อแม่อยากจะเล่าชีวิตให้ลูกๆฟัง แต่เมื่อลูกบอกจะทำโน่นทำนี่ พ่อแม่ก็ตามใจ และคิดไปข้างหน้ามากกว่าจะเอาอดีตของพ่อแม่มาเคี้ยวให้ละเอียดเพื่อกลั่นเอา ชีวิตออกมาให้ลูกได้เรียนแบบต่อยอด
  • อดีตของพ่อแม่จะล้มลุกคลุกคลานมาอย่างไรนั้น แม้ว่าพ่อแม่อยากจะเล่าให้ลูกๆฟัง ลูกที่เป็นวัยรุ่นนั้นเขาฟัง แต่ไม่ได้ยิน เพราะใจเขาจดจ่อแต่เรื่องอื่นๆ กว่าจะสำนึกได้ว่าชีวิตของพ่อแม่นั้นมีค่าต่อเรา ก็มักสายไปเสียแล้ว
  • ลูกบางคน เมื่อมีโอกาสได้ทราบรายละเอียดชีวิตของพ่อแม่แล้วคิดได้ เกิดมุมหักเหชีวิตครั้งสำคัญ เกิดสติ เกิดสำนึก เกิดความผูกพัน ซึ่งนี่คือฐานรากของทุนทางสังคม วัฒนธรรมของตะวันออก

อีกไม่กี่เดือนถัดมาพ่อผมก็เสียชีวิต ที่โรงพยาบาล ด้วยโรคต่างๆอันเนื่องมาจากถุงลมโป่งพอง ผมถอดเทปสิ่งที่พ่อและผมคุยกันคืนนั้น จัดทำเป็นเล่มและทำสำเนาแจกให้ญาติพี่น้อง เทปบันทึกการคุยกันคืนนั้นผมทำสำเนาแจกญาติพี่น้องทุกคน..

บังเอิญเรื่องที่จะเขียนนี้กลายเป็นมีสองวัตถุประสงค์ไปโดยบังเอิญ อันแรกคือ ต้องการบอกกล่าวว่า การทำเจ้าเป็นไผนั้น เล่มสอง ควรจะตกแต่งสาระความชัดเจนให้เข้าเป้าหมายร่วมกัน อย่างที่ “คอน”เสนอ อย่างที่สองบุคคลที่ผมกล่าวถึงในบันทึกนี้คือพ่อผมซึ่งท่านเสียชีวิตด้วยโรคถุงลมโป่งพอง

พอดีวันนี้เป็นวันงดสูบบุหรี่โลกพอดี…


เฮฮาศาสตร์.. เจ้าเป็นไผ

378 ความคิดเห็น โดย bangsai เมื่อ 12 พฤษภาคม 2009 เวลา 16:58 ในหมวดหมู่ เฮฮาศาสตร์ #
อ่าน: 8912

อาสายกร่าง สรุปตัวตนเฮฮาศาสตร์ เจ้าเป็นไผ ให้ทุกท่านช่วยต่อเติมเสริมแต่ง เพื่อใส่ใน เจ้าเป็นไผ๑ ครับ

เฮฮาศาสตร์รวมตัวกันอย่างไร

นับตั้งแต่ “การจัดการความรู้” (KM) เป็นหลักการที่ยอมรับกันอย่างกว้างขวางในสังคมแล้ว นั้น รูปแบบการจัดการก็พัฒนาอย่างหลากหลายมากขึ้น รูปแบบหนึ่งที่เป็นที่นิยมกันคือ บล็อก สมาชิกที่ใช้บล็อกบันทึกเรื่องราว แลกเปลี่ยนเรียนรู้ แวะอ่าน ทักทาย และแลกเปลี่ยนความคิดเห็น จนถูกคอกัน จึงขยับจากโลกเสมือนอันเชื่อมโยงสมาชิกข้ามระยะทาง และข้อจำกัดของเวลา สู่โลกความเป็นจริงของกิจกรรมกลุ่ม เสริมสร้างความผูกพันระหว่างกัน

เป็นการรวมตัวกันแบบธรรมชาติ ต่างมีอิสรเสรีภาพ เป็นตัวของตัวเอง เอาความเป็นคนคนหนึ่งเข้ามาหากันมิได้มาด้วยยศฐาบรรดาศักดิ ตำแหน่งหน้าที่การงาน ฐานะ หัวโต ตัวเล็ก ขี้เหร่ ความหล่อ ความสวย เพศ คุณวุฒิ วัยวุฒิ ฯลฯ เหล่านี้ไม่ใช่เงื่อนไขของการมารวมกลุ่ม หรือกล่าวโดยสรุปรวมก็คือ รวมกันด้วยใจนั่นเอง

ทำไมต้องเฮฮาศาสตร์

ทุกคนจำเจกับระบบ ไม่ว่าราชการหรือธุรกิจ หรือองค์กรอื่นๆ อยากสัมผัสอะไรที่ง่ายๆ กันเอง ไร้รูปแบบแต่ไม่ไร้สาระ เอาใจว่ากัน สนุกสนานก็มีสาระได้ ไม่เครียดไม่ผูกมัดแต่รับผิดชอบ ยืดหยุ่น สัมพันธ์กันด้วยลักษณะทางวัฒนธรรมพื้นๆของสังคมแต่ไม่ใช่ระเบียบ ข้อบังคับ หรือการขึ้นต่อ หากกลุ่มตกลงทำร่วมกันก็ทำ ก็ขอเรียกว่าเฮฮาศาสตร์

เฮฮาศาสตร์คือองค์กรแบบไหน

เฮฮาศาสตร์ไม่ใช่องค์กรแบบปกติทั่วไป (Formal Organization) ที่มีโครงสร้างบุคลากรเป็นชั้นของตำแหน่งความรับผิดชอบ เรียกกันว่า Organization chart เช่น มีผู้มีตำแหน่งสูงสุด แล้วลดหลั่นกันลงมา มีการแบ่งบทบาทหน้าที่ ความรับผิดชอบกันอย่างชัดเจน เช่น องค์กรในระบบราชการ องค์กรบริษัท ระบบธุรกิจต่างๆ แต่เฮฮาศาสตร์เป็นองค์กรที่ไม่มีโครงสร้าง เป็น Un-Structural Organization หรือ Non-Formal Organization ไม่มีชั้นของตำแหน่งความรับผิดชอบ ไม่มี Organization chart ไม่มีการแบ่งบทบาทหน้าที่กันอย่างชัดเจน

แต่เฮฮาศาสตร์ “มีโครงสร้างแบบไม่มีโครงสร้าง” ความหมายคือ กลุ่มจัดรูปของกลุ่มตามฐานความรู้ ความสามารถ ความถนัด จัดเจน เฉพาะที่ปรากฏออกมาในระหว่างสมาชิกในกลุ่ม และเป็นที่ยอมรับกันโดยปริยาย ตามการแสดงออก ตามการนำ ตามการศรัทธา นี่แหละเป็นโครงสร้างแบบดั้งเดิมของสังคมเรา

อธิบายขยายความได้ดังนี้ ย้อยหลังไปรัชการที่ 5 ก่อนที่ระบบราชการจะเข้าไปสู่สังคมชนบทนั้น สังคมชนบทอยู่ร่วมกันแบบดั้งเดิมตามธรรมชาติ ไม่มีกำนัน ไม่มีผู้ใหญ่บ้าน ไม่มีอนามัยตำบล ไม่มีผู้ช่วยฯ ไม่มีสารวัตร ไม่มีตำรวจ ฯลฯ แต่สังคมชนบทมีหมอพื้นบ้าน มีช่างไม้ ช่างหล่อ มีผู้ทำพิธีกรรมพื้นบ้าน ผู้ทำพิธีกรรมทางศาสนา ทางอีสานก็มี เจ้าโคตร เฒ่าจ้ำ หมอธรรม หมอเป่า หมอนวด นางเทียม ฯลฯ ทุกภูมิภาคไม่ว่าเหนือ ใต้ กลาง อีสาน ทุกชุมชนจะมีบุคลากรเหล่านี้อยู่ ซึ่งต่างก็มีบทบาทในสังคมนั้น ๆ และระหว่างชุมชนที่เราเรียกท้องถิ่น ต่างอยู่ร่วมกันแบบพึ่งพาอาศัยกัน มิได้ใช้เงินทองมาเป็นสื่อกลางในการพึ่งพาว่าจ้าง มีน้ำใจแก่กันและกัน เคารพ ยอมรับและมีมารยาทระหว่างกันที่เราเรียกว่ารวม ๆ ว่าวัฒนธรรมชุมชน หรือวิถีชุมชน

ภาพชนบทดั้งเดิมดังกล่าวเราเรียกว่าเป็น Local structure หรือ Traditional structure และซ่อนตัวอยู่ในสังคมปัจจุบันที่เอาโครงสร้างระบบราชการที่เรียกว่า การปกครองท้องถิ่นเข้าไป โครงสร้างดั้งเดิมเหล่านั้นก็ถูกลดบทบาทลง และเลือนจางหายไปกับกาลเวลา มากน้อย แล้วแต่ปัจจัย เช่น ความเข้มแข็งของระบบดั้งเดิมของบางชุมชนยังหนาแน่นเพราะมีบุคลากรของชุมชนเป็นผู้มีบารมี ทั้งชุมชนยอมรับนับถือ เคารพ หรือปัจจัยที่นักสังคมศาสตร์มักเรียกว่า ความเข้มข้นของระบบดั้งเดิม อาจดูจากระยะห่างของที่ตั้งหมู่บ้านนั้นกับศูนย์กลางอำนาจ (Periphery theory) แต่หลักการนี้ด้อยลงไปมากเมื่อระยะทางในสมัยก่อนถูกลดลงด้วยระบบการสื่อสารยุคดิจิตอลในปัจจุบัน ในป่าในเขาก็สามารถรับรู้เรื่องไข้หวัด H1N1 ได้พร้อมๆกับในเมืองและทั่วโลก

เวลาเราเข้าไปทำงานในชุมชนเราจะวิเคราะห์โครงสร้างชุมชนด้วยสองมิติ คือ มิติสมัยใหม่ หมายถึงระบบกำนัน ผู้ใหญ่บ้าน อบต. ซึ่งเปิดเผยชัดเจน เห็นชัดจับต้องได้ มีสถิติ มีการจดบันทึก มีรายงาน ฯ อีกมิติคือ ระบบโครงสร้างเดิมของชุมชน ใครคือเจ้าโคตร ใครคือเฒ่าจ้ำ ใครคือหมอธรรม ใครคือหมอนวด ใครคือช่าง ใครคือผู้นำจิตวิญญาณ เราหาตัวได้อย่างไรมีหลายวิธี นักวิชาการก็ใช้ Sociogram

บทบาทของโครงสร้างนี้ในสังคมชุมชนมีบทบาทไม่แพ้โครงสร้างทางระบบการปกครองท้องถิ่น ใครทำงานกับชุมชนแล้วไม่เข้าใจมิตินี้ก็ทำงานยากสักหน่อย

เฮฮาศาสตร์จำลองภาพโครงสร้างสังคมเดิมนี้มา หรือมีลักษณะที่ใกล้เคียงมาก และหากเราจะทำ Sociogram ในกลุ่มเฮฮาศาสตร์ เราก็จะพบว่า ใครมีปัญหาเรื่อง บล็อก คอมพิวเตอร์ ก็ต้องวิ่งไปหา คอน เม้ง โสทร ใครมีคำถามเรื่องสมุนไพรก็ต้องแวะไปจีบป้าจุ๋ม ใครอยากสนทนาเรื่องการส่งเสริมการเกษตรก็ต้องน้องสิงห์ป่าสัก และหากจะถามว่าทั้งกลุ่มยอมรับใคร ศรัทธาใครในลักษณะนำก็ต้องพ่อครูบาฯ ลุงเอก เป็นต้น การยอมรับเป็นไปโดยอัตโนมัติโดยไม่ต้องแต่งตั้ง แต่ไม่มีโครงสร้าง แต่มีการยอมรับในความรู้ความสามารถ ซึ่งคล้ายๆบทบาทหน้าที่โดยธรรมชาติต่อกลุ่ม

เป้าหมายเฮฮาศาสตร์เพื่ออะไร

ถ้าจะดูพัฒนาการของกลุ่มเฮฮาศาสตร์จะเห็นว่าเป็นกลุ่มที่ไม่ได้จัดตั้งขึ้นมาโดยใคร หน่วยงานไหน ฯ จึงไม่มีวัตถุประสงค์เฉพาะ ไม่มีเป้าหมายเฉพาะ แต่เฮฮาศาสตร์เกิดจากการค่อยพัฒนาความสัมพันธ์ จากบันทึกมาสู่รูปแบบกลุ่มก้อนของคนถูกคอกัน แบบหลวมๆ ที่ไม่ได้มีเป้าหมายหรือวัตถุประสงค์ใดๆในปัจจุบัน เป็นเพียงการเริ่มต้น และกำลังเดินทางไปสู่อนาคตที่ยังไม่ได้กำหนด แต่ทุกคนมองเห็นกว้างๆร่วมกันว่า เพื่อกันและกัน จากแคบสู่กว้าง จากปัจเจกสู่สังคม ทุกย่างก้าวในห้วงเวลาที่เคลื่อนตัวไป เฮฮาศาสตร์กำลัง Formulate ตัวเองอย่างค่อยเป็นค่อยไป แบบธรรมชาติ ไม่มีเงื่อนไขที่จะต้องเป็นนั่นเป็นนี่ ไม่มีกำหนดเวลา แต่กลุ่มคิดอ่านทำกิจกรรมร่วมกันตามจังหวะแห่งความลงตัวของตัวเอง น้อยมากไม่สำคัญ ใหญ่เล็ก ไม่ใช่สาระสำคัญ แต่การเสริมสร้าง หนุนเนื่องกำลังใจและศักยภาพแก่กันและกันนั้นเป็นสาระที่กลุ่มเลือกที่จะทำ ตามความเห็นชอบร่วม อาจกล่าวว่าเพื่อสมาชิก เพื่อกลุ่มที่หลวมๆ เพื่อสังคมนี่คือแนวทางที่เป็นไป ปล่อยให้การเคลื่อนตัวและเวลาในอนาคตเกิดการปรับตัวไปสู่สภาพที่เหมาะสมที่สุดของความเป็นเฮฮาศาสตร์

ศักยภาพของเฮฮาศาสตร์

การเป็นเฮฮาศาสตร์แบบไม่มีโครงสร้างเหมือนรูปแบบองค์กรทั่วไปนั้น เป็นทั้งจุดแข็งและจุดอ่อนในตัวเอง เมื่อย้อนกลับไปพิจารณาพัฒนาการจากเริ่มต้นจนมาถึงปัจจุบันนั้น เฮฮาศาสตร์เกิดขึ้นและพัฒนามาอย่างไร ความไม่ติดยึดต่างๆนั้น เป็นลักษณะที่มีความยืดหยุ่นสูง ซึ่งมองว่าน่าจะส่งผลให้มีการปรับตัวได้สูง หากต้องการการปรับตัว แต่สุมเสี่ยงต่อการทำกิจกรรมร่วมกันที่มีความซับซ้อนมาก

กรณีเมื่อกลุ่มมีภารกิจงานที่มีความซับซ้อนที่ต้องการความจัดเจนต่องานนั้นๆ ก็สุ่มเสี่ยงหากกิจกรรมนั้นๆอยู่ภายใต้เงื่อนไขที่จำกัดต่างๆ เช่นเวลาที่จำกัด ย้อนไปนึกถึงสังคมดั้งเดิมจะจัดงานใหญ่ เช่น งานศพ หรืองานโกนจุก บวชนาค ในหมู่บ้านนั้น จะมี “แม่งาน” เกิดขึ้นโดยธรรมชาติ ซึ่งก็คือ เจ้าภาพนั่นเองหรือญาติสนิทของเจ้าภาพ ก็จะปรึกษาหารือกันว่างานมีอะไรบ้างที่ต้องทำ ขนาด จำนวน เวลา ฯ จะทำได้อย่างไร ก็ต้องไหว้วานญาติสนิท เพื่อนบ้านที่สนิท หรือ เพื่อนบ้านที่เป็นผู้ชำนาญการในเรื่องนั้นๆ เช่นจะทำขนมหม้อแกงต้องป้าจุ๋ม จะแกงเผ็ดเป็ดย่างต้องแม่สร้อย จะทำห่อหมกต้องแม่เบิร์ด จะจัดอาสนะสำหรับพระมาสวดมาเทศน์ ต้องพ่อเหลียง จะหุงข้าวกระทะใบบัวต้องตาจอมป่วน จะประดิษฐ์ประดอยดอกไม้ถวายพระต้องตาออต เหล่านี้เป็นต้น ก็ไปเชิญมา บอกกล่าวมา หรือบางทีไม่ต้องบอกเขาเหล่านั้นก็มาโดยอัตโนมัติ รู้งาน จิตอาสา เกิดขึ้นเองโดยอัตโนมัติ ดูซิงานที่ซับซ้อนไม่มีองค์กรโครงสร้างก็จัดได้ ทำได้ สำเร็จลงได้ด้วยความเป็นชุมชนแบบหมู่บ้าน

เฮฮาศาสตร์กำลังปรับตัวจำลองภาพชุมชนดั้งเดิม แต่น่าจะดีกว่า เพราะเราไม่ได้อยู่ในยุคสังคมโบราณ สามารถดัดแปลงความรู้ความสามารถสมัยใหม่เข้ามาปรับใช้ เฮฮาศาสตร์เป็นสังคมพิเศษของยุคสมัย เป็น Cyber community เป็นชุมชนเสมือน เราพบปะกันทุกวันบนตัวอักษร แม้ความสัมพันธ์ระหว่างกันนี้ ไม่เหมือนชุมชนดั้งเดิมจริงที่สัมพันธ์กันแบบคลุกคลีถึงตัวกันทุกวัน ความสัมพันธ์ระหว่างกันจึงแนบแน่นกว่าหลายเท่าตัว เฮฮาศาสตร์ก็น่าจะพัฒนาไปในทิศทางนั้น

ดูเพิ่มเติมได้ที่


ร่องรอยบางทราย

4 ความคิดเห็น โดย bangsai เมื่อ 12 พฤษภาคม 2009 เวลา 9:43 ในหมวดหมู่ เฮฮาศาสตร์ #
อ่าน: 983

(หยิบเอามาตัดต่อ ปรับปรุงใหม่เพื่อ “เจ้าเป็นไผ ๑”)

เด็กบ้านนอกอีกคน….

บ้านริมแม่น้ำน้อย ต.ศาลเจ้าโรงทอง อ.วิเศษชัยชาญ จ.อ่างทอง สมัยเมื่อสี่สิบปีที่แล้วเป็นชนบทไปไหนมาไหนก็เดินด้วยเท้าเปล่า อย่างดีก็จักรยานหรือพายเรือ ชาวบ้านเกือบทั้งหมดคือชาวนา ชีวิตผันไปตามฤดูกาล ชนบทคือโรงเรียนที่กล่อมเกลาจิตใจให้คุ้นเคยกับทำนองวิถีและวัฒนธรรมชาวนาภาคกลาง

เป็นครอบครัวใหญ่ ปู่มีย่าสองคน แต่ละย่ามีลูก 7 คน พ่อเป็นลูกย่าใหญ่และเป็นคนโตจึงรับภาระเลี้ยงน้องสองแม่มาทั้งหมด กระนั้นพ่อยังกระเสือกกระสนเรียนจนจบ ม 3 และได้สิทธิเป็นครูเลย แม่เป็นชาวนาธรรมดาที่กำพร้าพ่อมาแต่เล็ก ซึ่งสัตย์และจิตใจเหมือนพุทธศาสนิกชนทั่วไป ชอบทำบุญ ไหว้พระ เข้าวัด ฟังเทศน์ เลี้ยงลูก 6 คนด้วยการทำนา พยายามให้ได้เรียนหนังสือทั้งหมด

ก๋ง(ปู่)มีเชื้อจีน จึงรู้จักทำมาค้าขายแต่มาแต่งงานกับชาวนาจึงผันมาทำนา เป็นคนดุมากๆ น้องพ่อคนถัดมาจึงทนไม่ไหว เพียงขโมยปืนปู่ไปเล่นก็แจ้งตำรวจมาจับลูกเข้าคุกเลย อาคนนี้ออกจากคุกได้ก็ไม่กลับบ้านเข้าป่าเป็นเสือปล้นเขากินไปเลยแต่ก็มาถูกเสือด้วยกันฆ่าตาย พ่อมีนิสัยดุเหมือนปู่ เอะอะอะไรก็ไม้เรียวที่เหน็บข้างฝาตลอดสองอัน เกือบทุกวันที่บ้านจะต้องมีลูกคนใดคนหนึ่งถูกตี….

สภาพสังคมสมัยนั้น

เรียนโรงเรียนวัดที่พ่อเป็นครูใหญ่ จึงถูกตีเป็นตัวอย่างเสมอหากทำอะไรผิด โรคคางทูมระบาด เป็นกันทั้งโรงเรียน อีสุกอีใสระบาด เป็นกันทั้งตำบล โรคอหิวาระบาด เป็นกันทั้งอำเภอ เจ็บตายกันมาก สถานที่อนามัยที่ดีที่สุดสมัยนั้นคือไปหาหมอมิชชันนารี ที่มาเปิดโรงพยาบาลเล็กๆที่ตลาดวิเศษชัยชาญ รักษาได้ทุกโรค…ราคาถูก แถมแจกเอกสารศาสนาด้วยเป็นการ์ตูน

สิ่งที่ชอบที่สุดคือ งานวัด หนังกลางแปลง งานบุญกลางบ้าน งานประเพณีต่างๆ ได้กินขนมแปลกๆ ได้กินน้ำแข็งใสใส่น้ำสีแดงสีเขียวและนมข้นโรย ข้าวโพดคั่ว ตังเม … ถ้าเป็นงานศพก็ได้กิน “ข้าวตัง” ก้นกระทะใบบัวใหญ่ที่เขาใช้หุงข้าวเลี้ยงคนทั้งวัดที่มาในงาน คืนไหนมีหนังกลางแปลงมาฉาย ไม่เคยดูหนังจบสักเรื่องหลับก่อน พ่อต้องแบกกลับบ้านทุกที แต่ตื่นเช้ามืดกับพี่ชายจะวิ่งกันมาที่บริเวณฉายหนัง เพื่อเดินหน้ากระดานหาสตางค์ที่อาจจะมีคนมาดูหนังทำหล่นตามพื้นเมื่อคืน ก็มักจะได้บ่อยๆ…

เมื่อลูกชาวนาไปเรียนหนังสือ….

หน้าฤดูทำนาก่อนไปเรียนหนังสือทุกคนต้องตื่นแต่ตี 4 แบกไถบ้าง จูงควายบ้างออกไปทำนากับพ่อ เดินทางไกลเป็นกิโล กลัวผีก็กลัวเพราะต้องเดินผ่านวัด ผ่านป่าช้า ขณะเดินตาก็หลับ จึงล้มลุกคลุกคลาน ไปกับโคลนบ้าง ขี้ควายบ้าง ถึงนาก็ฟ้าสางพอดี เอาควายเทียมไถ ไถนาพอเหนื่อย สว่างเต็มที่แม่กับพี่สาวก็หาบกระจาดข้าวมาถึง จึงหยุดพักกินข้าว แล้วก็รีบกลับบ้านไปอาบน้ำไปโรงเรียน

หน้าแล้งก็เอาควายไปเลี้ยงกับพี่ กับน้องและเพื่อนบ้าน เอาผ้าขาวม้าปูท้องนาบ้างใต้ต้นไม้ใหญ่บ้าง ดูท้องฟ้า เห็นเครื่องบินพ่นควันสีขาว ใจก็ฝันอยากเป็นนักบิน เห็นนักเรียนนายสิบแต่งตัวด้วยเครื่องแบบหล่อ เท่ห์กลับบ้าน ใจก็อยากแต่งชุดแบบนั้นบ้าง

ขึ้นชั้นมัธยมก็ไปโรงเรียนประจำอำเภอ ต้องเดินวันละ 10 กิโลไป-กลับ ผ่านตลาดวิเศษชัยชาญ เด็กตลาดเรียนเก่ง เด็กบ้านนอกอย่างเราเข็นแล้วเข็นอีก กำลังจำดีดี พ่อตะคอกหน่อยเดียวความรู้วิ่งหนีไปหมด กลัวจนลาน แอบร้องให้ น้อยใจที่เห็นพ่อลูกคนอื่นเขาเล่นกัน กอดกัน แต่บ้านเราไม่มีเลย

กระแสการสร้างชีวิตคือการเรียนหนังสือและเข้ารับราชการ เก้าสิบเปอร์เซ็นต์จะให้ไปเรียนต่อครู ปกศ. ที่ อยุธยา ใครเก่งก็เข้าสวนสุนันทา บ้านสมเด็จ ที่กรุงเทพฯ สมัยนั้นที่วิเศษชัยชาญมีครูคนเดียวที่จบปริญญาตรีมาจากประสานมิตร

เด็กบ้านนอกมาอยู่ในเมืองใหญ่….

คุณตาอดีตอาจารย์ใหญ่โรงเรียนแถว สำเหร่ ธนบุรี ท่านเดินทางไปเยี่ยมญาติพี่น้องที่วิเศษชัยชาญมานอนค้างที่บ้าน เพราะเป็นบ้านหลังเดียวที่มีส้วมซึม เห็นเราทำงานช่วยพ่อแม่ ตักน้ำใส่ตุ่ม กวาดบ้านถูบ้าน ตัดไม้ รดน้ำต้นไม้ คุณตาก็ออกปากให้ไปเรียนต่อ มศ. 4-5 ที่ โรงเรียนสมบุญวิทยา ที่คุณตาเป็นอาจารย์ใหญ่ที่นั่น

พ่อพาผมเดินทางเข้ากรุงเทพฯทางเรือซึ่งมีเรือบรรทุกสินค้าขนาดใหญ่สองชั้นวิ่งจากท่าเตียน กรุงเทพฯ ผ่านอยุธยา อ.ผักไห่ อ.วิเศษชัยชาญ ไปสิ้นสุดที่ อ.โพธิ์ทอง เพื่อไปส่งสินค้า ขาล่องว่างเปล่าก็จะรับคนเดินทางลงกรุงเทพฯ ถึงท่าเตียนก็เช้ามืดพอดี

คืนแรกที่ธนบุรี คลองสำเหร่ บ้านสวน ก็น้ำตาตก เมื่อมาอยู่สภาพเมืองที่เราไม่เคย อึดอัดไปหมด จะทำอะไรก็ย่องๆ ไม่กล้าคุยกับใคร อยู่บ้านนอกกินข้าวทีเป็นจานพูนเต็มๆ ตักเพิ่มเอาเต็มที่ ก็บ้านเราทำนา ข้าวปลาเหลือเฟือ คนเมืองกรุงเขากินข้าวนึ่งเป็นก๊อกเล็กๆ มันจะไปอิ่มอย่างไง จะกินหลายก๊อกก็ไม่ได้ อายเขา กลางคืนท้องร้อง หิว นอนร้องให้ คิดถึงแม่ที่บ้านนอก คิดถึงน้อง คิดถึงพี่ แต่ก็ต้องทนเพราะมาเรียนหนังสือ…

เช้าตื่นขึ้นมาคุณน้ามีลูกสาวสองคนเรียนชั้นประถมโรงเรียนเดียวกันก็ต้องจูงมือไปโรงเรียนด้วยกัน แหกปากร้องทุกวันเดินไปด้วยร้องไปด้วย เราก็ถือกระเป๋ามือหนึ่ง อีกมือก็จูงน้อง

บางคืนนั่งดูหนังสือเรียนทนไม่ไหว หิวข้าว ค้นกระเป๋ากางเกงมีเหรียญสิบบาทเหลืออยู่ ก็แอบออกจากบ้านลงใต้ถุนไปปากซอยซื้อราดหน้ากินห่อหนึ่งแล้วแอบเข้าบ้าน หมาเห่าเสียงดังลั่น เลยความแตกว่าเราแอบออกจากบ้านไปปากซอย พ่อรู้เรื่องจึงขึ้นมาสั่งสอนเสียยกใหญ่ โอย..ไม่อยากอยู่แล้วเมืองหลวงเมืองหลอน อยากกลับบ้านนอกดีกว่า

เด็กมหาวิทยาลัยกลิ่นอายบ้านนอก

สอบผ่าน ม.ศ. 5 แล้วสอบ Entrance(1) ติดที่มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ทั้งๆที่ไปสอบครูพิเศษที่อยุธยาก็ได้ แต่สละสิทธิเพราะเลือกเอามหาวิทยาลัย ทราบข่าวว่าพ่อดีใจเป็นที่สุดที่ลูกได้เรียนมหาวิทยาลัย เที่ยวเดินอวดคนโน้นคนนี้ แม่เล่าว่าตกกลางคืนนอนเอามือก่ายหน้าผาก แล้วบ่นว่า “แล้วจะเอาเงินที่ไหนส่งลูกเรียน” พี่สาวก็เรียน น้องอีก 4 คนก็กำลังเรียนไล่ๆขึ้นมา ครูประชาบาลกับแม่บ้านที่เป็นชาวนาจะเอาเงินที่ไหนส่งลูกเรียน

แม่ไปขอยืมเงินพระที่วัด พ่อต้องกู้เงินครู และทำนามากขึ้น ที่จำแม่นที่สุด ครั้งหนึ่งปิดเทอมกลับมาบ้าน ตอนถึงเวลาต้องกลับไปเรียน มช. ทางบ้านไม่มีเงินเลย แม้ค่ารถจะเดินทางไปเชียงใหม่ แม่บอกให้ผมลงไปใต้ถุนบ้านหาเก็บเศษขวดที่หลงเหลืออยู่รวบรวมไว้พรุ่งนี้เอาไปขาย ได้เท่าไหร่ก็เอา แล้วจะไปขอยืมเงินหลวงพ่อที่วัดอีก…..

ที่เชียงใหม่ มีโลกกว้างมีเพื่อนใหม่ทุกภูมิภาค เพื่อนปักษ์ใต้สนิทกันที่สุดเพราะบ้านเขาส่งของกินมาให้เรื่อยๆ จำพวกปลาแห้ง เอามาทอดกินกับข้าวต้มกลางคืนดึกๆที่ดูหนังสือกัน สมัยนั้นเข้าสู่ 14 ตุลา บรรยากาศมหาวิทยาลัยอบอวลไปด้วยการอภิปราย การทำกิจกรรมนอกหลักสูตร เราอยู่ในกลุ่มเด็กบ้านนอกที่สนใจเรื่องความยากจน ปัญหาชนบท บ้านเมืองจึงเข้ากลุ่ม และมีท่านอาจารย์หลายท่านมาเป็นที่ปรึกษา และรุ่นพี่พี่ที่แรงสุดๆ

ทำกิจกรรมในมหาวิทยาลัยมากมาย เช่น ล้มระบบเชียร์แบบเก่าๆที่เป็นระบบ ว๊ากเกอร์ จับกลุ่มศึกษาหนังสือป็อกเก็ทบุ๊คที่ออกมามากมายในช่วงนั้นที่เป็นหนังสือที่เรียกว่าก้าวหน้า เช่น เรื่อง การพัฒนาความด้อยพัฒนา หนังสือของจิตรภูมิศักดิ์ ยูโทเปีย งานของสตาลิน เหมา แม่ของกอร์กี้ หนังสือโฉมหน้าศักดินา ที่เป็นหนังสือต้องห้าม เดอ แคปปิตัลลิส และมากมาย…. เราอ่านกันอย่างจะไปสอบ ทีหนังสือเรียนหละไม่ค่อยเอา เอามาเสวนากัน คุยกัน ถกกัน แลกเปลี่ยนความเห็นกัน เชิญอาจารย์มาแสดงความเห็น เชิญรุ่นพี่พี่มาแสดงความเห็น และที่สุดขีดคือเราไปล้มงานบอลที่นักศึกษาอีกกลุ่มหนึ่งชอบจัดงานแบบนั้น ที่เราเห็นว่าไร้สาระ

ในที่สุดเราจัดค่ายศึกษาที่เรียกค่ายจร(2) เอาเพื่อนนักศึกษาที่สนใจทิศทางเดียวกันออกชนบท จัดกันเอง ควักกระเป๋ากันเอง แล้วเอาสาระที่พบมาแลกเปลี่ยนชีวิตที่ไปอยู่ชนบทกัน มันสุดๆเพราะสารพัดสิ่งที่พบมา ยี่สิบคนที่ผ่านค่ายศึกษาจรจะกล่าวถึงตลอด ล้วนเป็นนักศึกษาแพทย์ เภสัช ทันตะ เทคนิคการแพทย์ พยาบาล ที่เรามักเรียกกันว่าฝั่งสวนดอก มีพวกสังคมไม่กี่คน ทั้งกลุ่มนี้เข้าป่ากันหมด

จัดตั้งพรรคการเมืองในมหาวิทยาลัยชื่อพรรคประชาธรรม เสนอตัวเป็นนายกองค์การนักศึกษา มช. โดยผมเป็นเลขาธิการพรรค ฟอร์มทีมกันลงเลือกตั้งเป็นนายกองค์การ ผมอยู่เบื้องหลัง และทีมเราได้รับเลือก เอาแต่ทำกิจกรรมชนบท ไม่ค่อยได้เรียน แต่เราก็จบออกมา

เส้นทางอาชีพ..

เมื่อเกิด 16 ตุลา เพื่อนๆเข้าป่าหมด ผมก็เข้าป่าหลังดอยสุเทพ แต่เป็นป่าเพื่อทำงานพัฒนาชนบท เป็นโครงการของมูลนิธิฟริดริช เนามัน แห่งเยอรมัน สังกัดสำนักงานเกษตรภาคเหนือ มี ดร.ครุย บุญยสิงห์เป็น ผอ. สมัยนั้น พื้นที่ทำงานคืออำเภอสะเมิง จังหวัดเชียงใหม่ สมัยนั้นเรียกว่าเป็นสังคมกึ่งปิดเพราะ การเดินทางเข้าออกยากลำบาก มีรถปิคอัพวันละเที่ยว ถนนเป็นลูกรัง ฝุ่นในฤดูแล้ง เป็นโคลนในฤดูฝน ในรถที่ใช้จึงต้องมีอุปกรณ์เสริมคือ มีด เลื่อย โซ่ จอบ เสียม สำหรับใช้ประโยชน์ตอนต้นไม้ล้มขวางทาง ติดหล่ม ส่วนเจ้าหน้าที่โครงการใช้มอเตอร์ไซด์วิบากรุ่นแรกๆ

ชาวบ้านในพื้นที่เป้าหมายคือ คนเมือง ไทยลื้อ และชาวไทยภูเขา เช่น ปกากะญอ ม้ง(3) มูเซอร์ คนเมืองและไทยลื้อมีจำนวนมากที่สุดนับได้ว่าเป็น NGO หรือ องค์กรเอกชนเพื่อการพัฒนาชนบทแห่งยุคแรกๆของประเทศไทย

เนื่องจากเป็นยุคหลัง ตุลาทมิฬ ราชการจะเพ่งเล็งนักกิจกรรมมหาวิทยาลัยที่มาทำงานชนบท ก็จะติดตามสอดส่องดูแลการทำงานแบบลับๆตลอดโดยเราไม่รู้ตัว มีวิธีมากมายที่จะหาข้อมูลพิสูจน์ว่าเราคือใครกันแน่ โดยคนใกล้ตัวเรามากที่สุดนั่นแหละเป็นผู้ให้ข้อมูลที่เรียก แหล่งข่าว หรือสายตำรวจ

บ่อยครั้งที่เราไม่ได้นอนพักที่สำนักงานที่หน้าอำเภอสะเมิง แต่ไปพักตามบ้านชาวบ้านและที่พักที่โครงการไปสร้างไว้แบบง่ายๆในตำบล เพื่อนคนหนึ่งเอาแฟนเข้าไปพักด้วย เราก็อาศัยเธอได้ช่วยทำอาหารให้ ต่อมาเพื่อนสังเกตว่าทำไมเธอต้องออกจากพื้นที่เข้าจังหวัดทุกเดือน แรกๆเธอก็บอกว่ากลับบ้านตามปกติ แต่เมื่อสังเกตอย่างละเอียดเธอผิดปกติไป ในที่สุดเรารู้ว่าเธอเป็นสายให้ตำรวจเพราะในสมุดบันทึกเธอนั้นทำรายงานไว้ว่าใครทำอะไรที่ไหน เมื่อไหร่ อย่างไร แล้วที่เธอออกไปในเมืองเพราะเอารายงานไปส่งให้ตำรวจลับ…

เพื่อนก็ให้เธอออกไปจากพื้นที่ แล้วเราก็มุ่งหน้าทำงานกันต่อและระวังตัว แต่งานของเรานั้นต้องพบปะชาวบ้าน ประชุมกับชาวบ้าน ยามค่ำคืนเพราะกลางวันชาวบ้านไปไร่นาทำงานจึงใช้เวลากลางคืนประชุม ในสายตาราชการนั้นผิดปกติเพราะการประชุมต้องใช้เวลากลางวันเท่านั้น เราสนิทสนมกับเจ้าหน้าที่อนามัยตำบลที่เป็นสตรีเพราะเธอห้าวเหมือนผู้ชาย และคบผู้ชาย เล่นกีฬาแบบผู้ชายขี่มอเตอร์ไซด์วิบากลุยๆ แถมพูดภาษาก้าวหน้า วันหนึ่งเราขี่มอเตอร์ไซด์ไปทำงานพบซองจดหมายตกอยู่ระหว่างทาง เราหยิบขึ้นมาดูเห็นลายมือเรารู้ว่าเป็นของอนามัยตำบลท่านนั้น แต่ส่งถึงตู้ป.ณ.แห่งหนึ่งที่เชียงใหม่ เราและเพื่อนสงสัยตัดสินใจเปิดดู เราตกใจมากเพราะนี่คือจดหมายส่งรายงานให้ตำรวจลับที่เชียงใหม่ โดยใช้หมายเลขแทนตัวบุคคล ที่สาระเรื่องราวคือการทำงานของเราที่ไปประชุมกับชาวบ้านในที่ต่างๆ

เราจ้างชาวบ้านที่สำเร็จ ปวช. มาเป็นเลขาสำนักงาน ทำหน้าที่เลขาทั่วไป บันทึกการประชุม พิมพ์รายงาน ฯลฯ ไปประชุมที่ไหนหัวหน้างานก็เอาเธอไปด้วย ปีละครั้งที่เราออกนอกพื้นที่ไปเปลี่ยนบรรยากาศประชุมสรุปงานกันตามชายทะเลบ้าง หรือที่ที่ทุกคนลงความเห็นว่าอยากไป เลขาท่านนี้ก็ลุยๆ สามารถนั่งวงดื่มกับพวกเราที่กำลังแตกเนื้อหนุ่มได้ยันสว่าง ทุกครั้งที่เธอออกไปในตัวเมืองก็มักอ้างว่าขอไปเยี่ยมเพื่อนที่นั่นที่นี่ แล้วเราก็จับได้ว่า เธออีกคนที่เป็นสายลับให้ตำรวจ หมดตูด อะไรต่อมิอะไรที่เป็นเอกสารในการทำงาน ที่เราคุยกันแบบส่วนตัว มุมมอง ความคิดเห็นต่างๆที่เป็นส่วนตัว สาระที่เราคุยกันในวงเหล้า เธอเก็บรายละเอียดหมดสิ้นแล้วถูกส่งไปที่.. เป็นอันว่าคนรอบข้างเราถูกตำรวจลับซื้อตัวไปหมดสิ้น

นอกจากเรื่องราวเครียดๆแบบนี้แล้วผมยังพบเรื่องเหลือเชื่ออีกหลายอย่าง พื้นที่ที่มีสภาพป่าเขาอย่างสะเมิงสมัยนั้น วิถีชาวบ้านยังเดิมๆความเชื่อเรื่องสิ่งเหนือธรรมชาติมีมากและมักมีปรากฏการณ์ที่ทำให้ต้องเชื่อ นี่เองที่เป็นเบ้าหล่อหลอมให้คนชนบทมีพฤติกรรมความเชื่อที่ต่างไปจากคนเมือง

เรื่องเหลือเชื่อมีหลายครั้ง ซึ่งเป็นความเชื่อของสิ่งเหนือธรรมชาติของชาวบ้าน ครั้งที่สำคัญคือ การเผชิญหน้ากับ “เจ้าพ่อข้อมือเหล็ก”(4) ที่แสดงอิทธิฤทธิจนงานค่ายอบรมเยาวสตรีแตกกระเจิง เจ้าพ่อข้อมือเหล็กคือผีเจ้านายที่คอยดูแลพื้นที่รอบๆตัวเมืองเชียงใหม่ ส่วนที่เป็น อ.สะเมิงกับอ.แม่ริม เรื่องราวโดยสรุปคือ เยาวสตรีคนหนึ่งไปอาบน้ำที่ห้วยกลางทุ่งนาแล้วฉี่ บังเอิญตรงนั้นมีหอเจ้านาย หรือศาลเจ้าที่ตั้งอยู่ เจ้าที่จึงอาละวาดในรูปของผีเข้าร่างสตรีคนนั้น ชาวบ้านและพระมาช่วยกันแก้ไขแต่ไม่สำเร็จ เมื่อค่ายแตกกลับออกมาข้างนอกอ.สะเมิงผีเจ้านายจึงมาเข้าร่างแล้วบอกว่า สตรีนางนี้ทำผิด ฮีตคอง จึงต้องทำพิธีโบราณขอขมาลาโทษจึงหาย

อีกเรื่องที่เหลือเชื่อ..ต่อเนื่องจากเจ้าพ่อข้อมือเหล็ก ผู้จัดต้องทำจดหมายราชการไปขออนุญาตผู้ปกครองเด็กเยาวสตรีทุกคน เมื่องานค่ายจบสิ้นไปแล้ว วันหนึ่งสมาคมฯได้รับซองจดหมายที่เคยส่งไปถึงผู้ปกครองเยาวสตรีตีกลับมาที่สำนักงานตามที่อยู่หัวซองจดหมาย หลังจากตรวจสอบแล้วพบว่า เป็นการใช้ซองจดหมายสมาคม ลบการจ่าหน้าซองเดิมออกแล้วจ่าหน้าซองใหม่ ส่งไปให้คนคนหนึ่งที่สมาคมไม่เกี่ยวข้องด้วย แต่จดหมายไม่ถึงผู้รับจึงตีกลับ(เข้าใจว่าที่อยู่ผิดพลาด) เมื่อเปิดอ่านความภายในทุกคนก็ต้องตกตะลึง ตึง ตึง เพราะเป็นจดหมายที่ส่งไปจากผู้ใหญ่บ้านคนหนึ่งในพื้นที่ทำงาน สะเมิง จดหมายไปถึงคนหนึ่ง สาระคือ คนเดิมที่ส่งรายละเอียดวันเดือนปีเกิดมาให้นั้นคนนั้นตายไปแล้ว คราวนี้ส่งเพิ่มมาให้ใหม่ขอให้ทำพิธีไสยศาสตร์ฆ่าคนนี้ รายชื่อที่ระบุนี้เป็นผู้นำชาวบ้านของเรา มีความขัดแย้งกับผู้นำหมู่บ้าน ทำไงดีล่ะเมื่อเรื่องเป็นเช่นนี้ ผมเข้าไปตรวจสอบข้อมูลพื้นที่พบว่ามีคนตายในหมู่บ้านจริงโดยไม่ทราบสาเหตุ เราก็เอาจดหมายนี้ไปแจ้งความตำรวจไว้ก่อน พร้อมกับไปแจ้งให้ผู้มีรายชื่อนั้นทราบ แล้วก็ทำพิธีแก้เคล็ด วุ้ย เสียว อย่าลบหลู่เป็นเด็ดขาด

ความอ่อนด้อยในประสบการณ์ชีวิตแบบนี้ และความบริสุทธิ์ในความตั้งใจทำงาน คิดอะไรพูดอย่างนั้น แต่ในสถานการณ์บ้านเมืองที่ระแวดระวังเรื่องลัทธินั้น เรากลายเป็นพวกสุ่มเสี่ยง  แค่ปีเดียว ผมก็โดนตำรวจพื้นที่ซิวในฐานะ “ผู้เป็นภัยต่อสังคม” ตามข้อหานักเคลื่อนไหวสมัยนั้น ที่ศูนย์การุณยเทพภาคเหนือ ผมพบอาจารย์มหาวิทยาลัยหลายท่าน อาจารย์วิทยาลัยครู นักศึกษา แม้กระทั่งผู้นำชาวนามากมายเต็มศูนย์ไปหมด

ทหารและตำรวจ เอาตัวเราไปอบรมประชาธิปไตยเสียใหม่ สามเดือนก็ปล่อยออกมาพร้อมใบประกาศว่าผ่านการอบรมมาแล้ว และให้กลับเข้าไปทำงานเดิมได้ แต่อยู่ภายใต้การติดตามของตำรวจลับ

ที่ศูนย์การุณยเทพฯเชียงใหม่นั้น ผมได้พบนักศึกษาสาว มช.รุ่นน้องคนหนึ่ง เธอสวยงามและเธอเป็นผู้มีอันจะกินคนหนึ่งในเชียงใหม่ เป็นบุตรสาวร้านหนังสือที่ใหญ่ที่สุดในเชียงใหม่ และเป็นพระสหายด้วย ผมพบอดีตดาวจุฬาที่มาเป็นอาจารย์ มช. และเป็นอาจารย์ผม ท่านอาจารย์ท่านนี้มีสมบัติเป็นที่ดินในกลางกรุงเทพฯราคานับหลายร้อยล้าน แต่ท่านอาจารย์ได้บริจาคให้เป็นที่ตั้งของสถาบันปรีดีพนมยงค์ ผมพบน้องนักศึกษา ปวช.ที่มีความสามารถทางการวาดการ์ตูน และต่อมาเขาโด่งดังในเรื่องความสามารถของเขาเพราะเป็นการ์ตูนนิสในหนังสือพิมพ์ที่ขายดีของเมืองไทยทั้งรายวันและรายสัปดาห์

แม้ว่าที่ทำงานเก่าจะยินดีรับกลับเข้าทำงาน แต่ฝรั่งเจ้าของงานอิดออดที่จะให้ทำต่อ อ้างว่ายังส่งผลกระทบต่อหน่วยงานราชการที่เคลือบแคลงใจในตัวผม ผมบวชซะเลย ที่สำนักวิปัสสนาไทรงาม สุพรรณบุรี 1 พรรษา แล้วมาสึกในพื้นที่ทำงานโดยพระอาจารย์ท่านเจ้าอาวาสวัดเจดีย์หลวง เมืองเชียงใหม่

การทำงานพัฒนาชนบทที่สะเมิง ผมพบคนข้างกายที่เธอเป็นบัณฑิตอาสารุ่น 6 มธ. เธอจบจุฬา ภาษาเยอรมัน จึงพูดกับเจ้าของโครงการที่เป็นชาวเยอรมันได้ ครั้งหนึ่งรัฐมนตรีกระทรวงหนึ่งของเยอรมันเดินทางมาดูงานที่เยอรมันให้การสนับสนุน โดยมี ท่านอานันท์ ปัญยารชุน อดีตเอกอัคราชทูตไทยประจำเยอรมันพามาพื้นที่ คนข้างกายถือโอกาสนำเสนองานเป็นภาษาเยอรมัน ท่านรัฐมนตรีสตรีชื่อ มิส แฮมบรูเชอร์ ฟังเมื่อจบ ท่านทูตก็ควักนามบัตรออกมามอบให้แล้วก็กล่าวว่า “หากต้องการไปศึกษาต่อที่เยอรมันที่ไหนก็ได้ ยินดีสนับสนุน”

สถานการณ์ผมไม่ดีขึ้นโดยเฉพาะฝ่ายบริหารโครงการ ผมเลยไม่สร้างความอึดอัดอีกต่อไป ลาออก ไปหางานอีสานทำดีกว่าและได้งานทำที่สุรินทร์ คนข้างกายผม ก็เดินทางไปเรียนต่อที่เยอรมันโดยทุนของมูลนิธิหนึ่ง

ที่สุรินทร์ผมทำงานชายแดนกับชาวเขมรแถบ อ.กาบเชิง อ.สังขะ อ.บัวเชด อ.ปราสาท เป็นช่วงที่ทหารเขมรมักจะบุกเข้ามาปล้นเอาข้าวไปกิน ฆ่าชาวนาตาย หรือชาวนาเข้าป่าไปเหยียบกับระเบิดตาย เป็นโครงการที่สนับสนุนโดย CUSO แคนาดา โดยมี ดร.สุธีรา ทอมสัน(วิจิตตรานนท์) เป็นที่ปรึกษาโครงการ ผมมาเรียนภาษาเขมรกับวิทยาลัยครูสุรินทร์

เปลี่ยนแปลงบทบาท…

ที่สุรินทร์นี่เองที่พี่ใหญ่ในวงการและเพื่อนๆ NGO(5) รวมตัวกันตั้ง NGO-CORD และจัดประชุมสัมมนาทุกปี ผมเป็นกรรมการอยู่พักหนึ่งก็ลาออกให้รุ่นน้องๆทำต่อ เพื่อนที่ขอนแก่นชวนมาทำงานกับโครงการ USAID ที่สำนักงานเกษตรท่าพระ ก็เปลี่ยนจาก NGO มาเป็นที่ปรึกษา

ช่วงปี พ.ศ. 2526 ช่วงหลังสงครามอินโดจีน วงการ NGO คึกคักมากที่สุด เกิดองค์กรใหม่ๆมากมายที่ทำงานกับชาวบ้านทั้งเป็น Local และ International NGO และเป็นผลพวงของการเมืองในประเทศ นักศึกษาจึงออกชนบทมากและมีอุดมการณ์สูง นอกจากนี้โครงการขนาดใหญ่ของรัฐก็มีจำนวนไม่น้อย

ย้ายไปทำงานที่ โครงการ Northeast Rainfed Agricultural Development (NERAD) ที่ท่าพระ สนับสนุนโดย USAID โดยมีสำนักงานปลัดกระทรวงเกษตรฯเป็นแม่งาน มีทุกกรมภายใต้กระทรวงเกษตรฯมาร่วมงานด้วย เป็นโครงการที่ใหญ่มีพื้นที่ ชัยภูมิ ร้อยเอ็ด ศรีสะเกษ สกลนคร และขอนแก่น ซึ่งเป็นพื้นที่ตัวอย่างนำร่อง เป็นช่วงที่โครงการอีสานเขียวเข้ามาพอดี

ทำงานกับฝรั่ง ในฐานะผู้เชี่ยวชาญสังกัดกรมวิเทศสหการ เป็นครั้งแรกที่ทำงานร่วมกับฝรั่งเต็มทีมซึ่งเป็นอาจารย์จากมหาวิทยาลัยเคนตั๊กกี้ มีสิทธิพิเศษสามารถสั่งเหล้าฝรั่งทุกยี่ห้อในราคาสินค้า PX ผมก็ PX บ้างแต่ไม่รู้ว่ามันแปลว่าอะไร กินเหล้าฝรั่งยี่ห้อดังๆซะหมดทุกยี่ห้อแล้วในราคาไม่ถึงพันบาทต่อ “ขวดใหญ่”

สถานที่ทำงานแห่งนี้เองที่ ผมได้เรียนรู้เครื่องมือทำงานวิจัยและสามารถนำมาใช้ในกระบวนการพัฒนาชนบทที่เรียก RAT (Rapid Assessment Technique) ซึ่งเข้ามาครั้งแรกในประเทศไทยที่สถาบันวิจัยระบบการทำฟาร์ม(FSR/E) มหาวิทยาลัยขอนแก่น ฝรั่งที่โครงการก็ร่วมมือกับคณะเกษตรเอาเข้ามาใช้ แล้วพัฒนาเครื่องมือนี้เป็น RRA (Rapid Rural Appraisal) และเป็น PRA(Participatory Rapid Appraisal) ในที่สุด ก่อนที่จะดัดแปลงไปอีกมากมายขยายไปทั่วโลกจนถึงปัจจุบันนี้

เครื่องมือที่สำคัญอีกตัวหนึ่งที่เรียนรู้ในครั้งนั้นคือ Agro-ecosystem Analysis (AEA) เป็นเครื่องมือใช้วิเคราะห์พื้นที่ เหมาะที่จะใช้ประกอบการวางแผนงานพัฒนาพื้นที่โดยเฉพาะทางกายภาพ ต่อมาได้พัฒนาให้เป็นตัวเด่นตัวหนึ่งในการวิเคราะห์ PRA ประมาณปี 2525-2530 ที่ทำงานที่นั่น ได้เรียนรู้เทคนิคการทำงานต่างๆมากมาย ประสบการณ์ครั้งนั้นยังเอามาใช้ในการทำงานจนทุกวันนี้

วนเวียนไปกับโครงการขนาดใหญ่ของรัฐอีกหลายแห่ง เช่น โครงการไทย-ออสเตรเลีย เรื่องน้ำดื่มน้ำใช้ทั่วภาคอีสาน โดยมีสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ(สภาพัฒน์ฯ) เป็นแม่งาน และร่วมมือกับหน่วยงานของรัฐทุกหน่วยที่ทำงานเกี่ยวกับน้ำดื่มน้ำใช้ เช่น กรมชลประทาน กรมอนามัย กรมการปกครอง กรมโยธาธิการ กรมการพัฒนาชุมชน กรมทรัพยากรธรณี สำนักงานเร่งรัดพัฒนาชนบท และมหาวิทยาลัยขอนแก่นที่มีโครงการพัฒนาแหล่งน้ำขนาดเล็กอยู่ที่คณะวิศวกรรมศาสตร์ สมัยแจกโอ่งยักษ์ให้ชาวบ้านเพื่อแก้ปัญหาขาดแคลนน้ำดื่มในระดับครัวเรือน

แล้วไปโครงการ ไทย-เนเทอร์แลนด์ เรื่องการพัฒนาน้ำในระดับไร่นาที่เขื่อนลำปาว กาฬสินธุ์ ที่นี่รู้จักระบบชลประทาน ระบบการทำการเกษตรแบบก้าวหน้า การปลูกพืชเศรษฐกิจนานาชนิด ระบบ Contract farming โดยจัดจ้างเจ้าหน้าที่สนามจำนวนมากจากผู้ที่เรียนจบอุดมศึกษามาร่วมงาน

จากนั้นเข้าร่วมกับโครงการ NEWMASIP กับกลุ่มประเทศประชาคมยุโรปเรื่องน้ำชลประทานทั่วภาคอีสาน เป็นโครงการของกรมชลประทานโดยตรง มีการพัฒนาระบบการบริหารจัดการน้ำในระบบเขื่อนขนาดกลาง และใหญ่ของภาคอีสาน การส่งเสริมการผลิต การตลาดพืชผัก การฝึกอบรมเจ้าหน้าที่ชลประทานให้มีความรู้ความสามารถเพิ่มขึ้น และการพัฒนาหลักสูตรการสร้างวิศวกรชลประทานยุคใหม่ ที่ใช้ระบบผู้เชี่ยวชาญต่างประเทศที่ชำนาญการเฉพาะด้านมากมาย ช่วยให้กรมชลประทานมีประสบการณ์เพิ่มขึ้นมาก

แล้วก็ย้อนไปทำงาน International NGO ที่ห้วยขาแข้ง นครสวรรค์ คือ องค์การ Save the Children (USA) เป็น NGO ขนาดใหญ่ที่มีงบประมาณมาก และทำงานช่วยเหลือเด็กในพื้นที่ยากจน ตามพื้นที่ชายขอบกลุ่มป่าห้วยขาแข้งที่อุดมสมบูรณ์ ที่นี่เองได้ร่วมมือกับ ส.ป.ก.และ NGO ท้องถิ่นทำโครงการพัฒนาพื้นที่ ส.ป.ก.ตลอดแนวชายขอบป่ากลุ่มป่าห้วยขาแข้ง ทั้งในจังหวัดนครสวรรค์ จังหวัดอุทัยธานี โดยได้รับการสนับสนุนจากDANCED ประเทศเดนมาร์ค คลุกคลีกับป่ามากที่สุดทั้งในแง่วิชาการและการปฏิบัติกับชาวบ้าน เพราะเป็นพื้นที่ที่ท่าน สืบ นาคะเสถียร ปลิดชีพตัวเองสังเวยป่า จนเกิดกระบวนการดูแลรักษาป่าอย่างจริงจังต่อเนื่องมา มีโอกาสร่วมงานกับกรมป่าไม้อย่างใกล้ชิด มีเจ้าหน้าที่สนามซึ่งเป็นเด็กหนุ่มสาวที่จบอุดมศึกษามาร่วมงานจำนวนมาก

แล้วชีวิตก็ผันผวนอีกครั้งเมื่อต้องเข้ากรุงเทพฯไปทำงานกับบริษัทที่ปรึกษา คือ บริษัท TEAM Consulting Engineering and Management จำกัด เป็นบริษัทคนไทยที่มีขนาดใหญ่ มีบริษัทในเครือมากมาย ผมไปรับผิดชอบด้านสังคมกับโครงการของรัฐหลายโครงการ เช่น การก่อสร้างเขื่อนท่าด่านที่จังหวัดนครนายก การศึกษาประเมินผลเขื่อนที่จังหวัดลำปาง การศึกษาผลกระทบการวางท่อน้ำมันเข้าสนามบินสุวรรณภูมิ ศึกษาผลกระทบด้านเสียงของเครื่องบินที่ขึ้นลงของสนามบินสุวรรณภูมิต่อสถาบันเทคโนโลยี่ลาดกระบัง การศึกษาผลกระทบการก่อสร้างเขื่อนท่าแซะจังหวัดชุมพร ร่วมมือกับ ADB ศึกษาผลกระทบการก่อสร้างถนนทางหลวงของกรมทางหลวง ศึกษาผลกระทบการก่อสร้างถนนวงแหวนรอบนอกของ กรุงเทพฯ ศึกษาแนวทางการยกระดับความสามารถของเจ้าหน้าที่กรมชลประทานในการพัฒนาการใช้ประโยชน์จากเขื่อนต่างๆ

เมื่อ ส.ป.ก.ได้โครงการ “ฟื้นฟูสภาพแวดล้อมที่เสื่อมโทรมในเขตปฏิรูปที่ดินด้วยการพัฒนาการเกษตรแบบผสมผสานในภาคอีสาน” เป็นเงินกู้จากญี่ปุ่น ซึ่งบริษัทที่ผมสังกัดได้งานนี้ ร่วมกับอีกสองบริษัท จึงส่งผมกับทีมงานไปประจำที่จังหวัดมุกดาหารจนถึงปัจจุบันนี้..

งานที่มุกดาหารเป็นโจทย์ที่ยากเพราะชาวบ้านในพื้นที่ ส.ป.ก. ที่ติดเชิงเขาภูพานน้อย เป็นชนเผ่าไทโซ่ที่มีลักษณะเฉพาะแตกต่างไปจากประสบการณ์เดิมที่เคยมีมา จึงเป็นงานที่ท้าทายเป็นอย่างมาก

บทเรียนชีวิตในงานพัฒนาชนบท

โดยส่วนตัวชอบอ่านหนังสือ แล้วเอามาเขียนย่อให้ตัวเองเข้าใจ สรุปสาระนั้นๆไว้เป็นส่วนตัว เพราะการเขียนเป็นการกลั่นกรองความคิดออกมา เอาเฉพาะแก่นออกมา โดยใช้เทคนิค Flowchart, diagram, mind map, graph, note ย่อ วิธีการเขียนก็เอาตามแบบสไตล์ตัวเองที่ชอบ ที่เข้าใจง่าย จับหลักให้ได้ แล้วขยายรายละเอียดทีหลัง การที่เราสนใจดังกล่าว รู้สึกว่าเราจะได้มุมมองเรื่องราวต่างๆได้ดี เราเห็นทั้ง Overview และเฉพาะเจาะลึก

เทคนิคที่เราเรียนมาจากการร่วมลงมือทำ กรณี AEA นั้นทำให้เรามีมุมมอง Overview มากกว่าเพื่อนคนอื่นๆบางคน และเมื่อเราคุ้นเคยกับการใช้เครื่องมือต่างๆของ PRA ทำให้เราสามารถเจาะลึกถึงข้อมูลต่างๆได้ดี และพยายามหาข้อมูลด้านนี้มาประกอบการตัดสินใจด้วยเสมอ

การที่เราผ่านการใช้เครื่องมือการหาข้อมูลต่างๆมาพอสมควร ช่วยให้เรามี “จินตนาการ” ได้ดีกว่า เมื่อเอ่ยถึงเรื่องใดเรื่องหนึ่ง(Subject) เราสามารถกวาดข้อมูลมาจากแหล่งต่างๆได้ (Subject area) แม้จะไม่มีข้อมูลเราก็รู้ว่าจะไปหาที่ไหน

การเรียนที่ดีที่สุดคือทำเอง ปฏิบัติเอง เพราะมันมีช่องว่างระหว่างภาษาอักษรกับภาษาความรู้สึก ตัวอักษรไม่มีรายละเอียดเท่า หรือหากจะบรรยายให้เทียบเท่าก็ไม่ใช่ความรู้สึกจริงๆ การปฏิบัติจริงมันมีความรู้สึกเข้ามาอยู่ในผลของการเรียนรู้ด้วยที่ต่างจากการเรียนจากตัวหนังสือ หรือเพียงการบอกเล่า ความรู้สึกจะช่วยให้เราชั่งน้ำหนักในขั้นตอนสุดท้ายได้

เนื่องจากเราเป็นมนุษย์สามโลก คือโลกในเมือง โลกในชนบท และโลกในจินตนาการ การคลุกคลีสองโลกเมืองกับชนบทจึงเห็นโลกที่สามว่าภาพรวมควรเป็นอย่างไร เหล่านี้ช่วยให้เรามีทัศนคติกว้างต่อสังคมโดยรวม และเฉพาะส่วนที่เราเข้าไปทำงานด้วย

เห็นว่าสังคมชาวบ้านนั้นถูกลากถูไปโดยรัฐและระบบธุรกิจโดยไม่เข้าใจถ่องแท้ต่ออัตลักษณ์ของชุมชนทั้งหลาย ซึ่งเขามีลักษณะเฉพาะ แตกต่าง ที่มีส่วนดีอันเป็นทุนทางสังคมอยู่แล้ว กลับโดนระบบข้างนอกมาทำลายอย่างไม่รู้ตัว ยิ่งนานวันช่องว่างของสังคมเมืองกับชนบทยิ่งห่างไกลมากขึ้นแน่แง่ของวิถีคิดและการดำรงชีวิต

เฮฮาศาสตร์

ไม่คิดว่าจะมาพบสังคมแบบนี้ เมื่อมาพบก็ประทับใจ เฝ้ามองแบบเป็นเนื้อในไปด้วยในตัว

จุดเด่นคืออยู่บนฐานของจิตใจที่เอามุมดีมารวมกันที่สังคมจริงขาดแคลน แต่ขณะเดียวกัน หลวมเพราะไม่มีโครงสร้างซึ่งมีผลบ้างต่อการทำงานใหญ่ที่ซับซ้อน แต่หากดัดแปลงวิถีสมัยใหม่เข้ามาใช้เฉพาะกิจก็จะเสริมความแข็งแกร่งของกลุ่มได้ แต่ความหลวมนั้นเองกลายเป็นความสัมพันธ์ใหม่ของกลุ่มคนในสังคมที่เอื้อต่อการเสริมสร้างทุนทางสังคม

ผลกระทบ(Impact)ต่อการรวมกลุ่มมีมากมายในทิศทางที่ดี เช่น เกิดการนำความรู้ไปต่อยอด เกิดการขยายวงสัมพันธ์ไปถึงเด็กๆที่เป็นลูกหลาน อันเป็นการส่งต่อไม้ทางวัฒนธรรม ระหว่างวัย

เป็นสังคมเติมเต็มบางส่วนของวิถีชีวิตปกติ

คิดอะไร…..

เป็นคนหนึ่งในสังคมใหญ่ที่หนาแน่นไปด้วยคนที่แก่งแย่งกันไปยืนอยู่ข้างหน้า หรือให้เหนือกว่า สูงกว่า ผมจะเลือกตรงข้าม

เพราะเป็นคนชนบท ยากจน และบังเอิญผ่านกระบวนการ 14-16 ตุลาเต็มๆ จึงตั้งใจว่าจะทำงานเกี่ยวกับชนบท และได้ทำสมใจอยาก

คิดเยอะ แต่ทำได้น้อย แต่เพียงนิดหน่อยก็ขอให้ได้ทำเถอะ ดีกว่าคิดเฉยๆหรือพูดเฉยๆยังมีเพื่อนที่คิดคล้ายเรา ทำคล้ายเราอีกมากก็ไปจับมือกับเขา

ไม่จำเป็นต้องมาทำเหมือนกันหมด ยืนตรงไหนก็ทำดีที่ตรงนั้นได้ เพราะสังคมมิใช่มีแต่ชาวนา เกษตรกร มีอีกหลายกลุ่ม ทุกกลุ่มประกอบกันเป็นสังคม ประเทศ ที่ต่างพึ่งพาอาศัยกันและกัน แต่อย่าเอารัดเอาเปรียบกัน ขี่คอกันขึ้นไป ผมจะอยู่ตรงข้ามทันที

คำสอนทุกศาสนาคือสิ่งที่เราพยายามดัดแปลงตนเองให้เข้าใกล้มากที่สุด เห็นว่าเส้นทางเดินตามคำสอนนั้นคือทางรอดของมวลมนุษยชาติ และต้องเป็นผู้ปฏิบัติเท่านั้น

ธรรมชาติคือสรรพสิ่ง เราก็เป็นเสี้ยวส่วนของธรรมชาติ เราไม่มีทางอยู่รอดได้หากไม่มีธรรมชาติ แต่ธรรมชาติอยู่ของเขาได้แม้ไม่มีเรา

สังคมไทยเราไม่ได้สนใจการพัฒนาที่ใช้มุมมอง ทุนทางสังคม และอัตลักษณ์ ไม่จำแนกแยกแยะ ไม่เคารพและใช้ฐานของอัตลักษณ์นั้นเป็นที่ตั้ง

ระบบราชการไม่เหมาะสมกับการเป็นโครงสร้างในการพัฒนาสังคมไทยในสภาพปัจจุบันแล้ว

ให้อภัยเขาก่อนให้อภัยตัวเอง..

เชิงอรรถ



Main: 1.2072169780731 sec
Sidebar: 0.64646482467651 sec