ลานบ้านชลบถพิบูลย์

มกราคม 17, 2010

จิตรกรรมฝาผนังเมืองปัก 2

Filed under: Uncategorized — แท็ก: — ออต @ 17:56

การลงพื้นที่เพื่อศึกษาจิตรกรรมฝาผนัง วัดหน้าพระธาตุ ตำบลตะคุ อำเภอปักธงชัย จังหวัดนครราชสีมาคราวนี้ หัวใจของการลงพื้นที่อยู่ที่การเปรียบเทียบความเหมือนและความต่างของการ แสดงออกของจิตรกรรมฝาผนังในเขตอีสานตอนล่างและอีสานตอนกลาง เพื่อที่ผ่านมาผมและนักศึกษาได้แต่สาระวนอยู่ในเขตอีสานตอนกลางเท่านั้น

สิ่งที่เห็นได้ด้วยสายตาในความแตกต่างมีหลายประการที่จะพอเล่าในบันทึกนี้คือ

1.จิตรกรรมฝาผนังของวัดหน้าพระธาตุนี้เขียนอยู่ภายในสิม แต่จิตรกรรมในเขตอีสานกลางหลายแห่งเขียนที่ผนังด้านนอกสิมด้วยเช่น สิมวัดสนวนวารี สิมวัดบ้านลาน สิมวัดไชยศรี สิมวัดสระบัวแก้ว วัดโพธาราม ฯลฯ ซึ่งส่วนหนึ่งของการไม่เขียนนอกจากความนิยมดังว่าแล้ว ผนังสิมด้านนอกของสิมวัดหน้าพระธาตุนี้ไม่มีหลังคาปีกนกคลุมไว้ ดังนั้นจึงไม่เหมาะที่จะเขียนภาพ  ภาพที่เขียนผนังด้านนอกมีเฉพาะด้านหน้าที่มีมุยหลังคายื่นเท่านั้น

2.จิตรกรรมฝาผนังของวัดหน้าพระธาตุเขียนภาพบนผนังเปูนแห้งที่มีการลวง พื้นก่อนจะมีการเขียนภาพตัวละครและฉากต่าง ๆ ลงไปแตกต่างจากภาพในเขตอีสานกลางนิยมเขียนลงบนพื้นที่ลงพื้นสีขาวหรือสีปูน ดิบเลย ดังนั้นเมื่อมีปฏิกิริยาของสารเคมี ความชื้นที่ซึมมากับชั้นสี ภาพที่ไม่มีการลวงพื้นจึงเปื่อยและหลุดหล่อนได้เร็วกว่า ดังนั้นภาพในเขตอีสานกลางจึงชำรุดง่ายกว่า ในขณะที่วัดนี้โครงสร้างภาพยังแข็งแรงดี

3.เนื้อหาที่เขียนบนสิมวัดหน้าพระธาตุจะเน้นไปที่ ทศชาติชาดก ในขณะที่เขตอีสานกลางนิยมเขียนภาพชาดกเฉพาะเวสสันดรชาดกมากที่สุดนอกจากนั้น ยังพบวรรณกรรมพื้นบ้านผสมผสานกันไปด้วย เสียดายที่ผมไม่ได้เก็บภาพมาเปรียบเทียบ เพราะมัวแต่ดูนักศึกษาทำงาน แต่คาดว่าผลงานของนักศึกษาบางคนก็สนใจประเด็นเรื่องเนื้อหานี้ด้วย แล้วจจะมาเล่าละเอียดครับ

ส่วนความแตกต่างอื่น ๆ แบบละเอียด ผมขอเชิญชวนท่านไปชมด้วยตัวเองครับ

มกราคม 15, 2010

จิตรกรรมฝาผนังเมืองปักธงชัย

Filed under: Uncategorized — แท็ก: — ออต @ 17:35

เมื่อวานพานักศึกษาคณะศิลปกรรมศาสตร์ มข. ไปลงพื้นที่เพื่อศึกษาและสำรวจจิตรกรรมฝาผนังวัดหน้าพระธาตุ  วัดเก่าแก่คู่เมืองปักธงชัย แขวงนครราชสีมา

งามเสียยิ่งกว่างาม แต่ยังไม่ไ้ด้สกัดอะไรเป็นชิ้นเป็นอัน กะว่าจะไปใหม่อีกครั้ง ใจร้อนเลยเอารูปมาให้ชมก่อน

สิมรูปทรงแบบภาคกลางของชาวสยาม อิทธิพลส่งผลมายังเมืองปัก

จิตรกรรมฝาผนังที่งดงามมาก  คุณภาพสีและการรักษาถือว่าอยู่ในสภาพดี น่าชื่นชม

มกราคม 8, 2010

เมืองบุกเพื่อน(บ้าน)

Filed under: Uncategorized — แท็ก: — ออต @ 13:18

ลำดับเรื่อง :

ปีที่แล้วผมหอบหิ้วข้าวเข้ามาอยู่ที่บ้านเช่าในเมือง ซึ่งเป็นบ้านไม้มีอาณาบริเวณให้ได้เดินและปลูกอะไรต่อมิอะไรให้คลายเครียด ครายเหงาอยู่บ้าง เนื่องจากซอยเข้าบ้านเป็นซอยตันดังนั้นจึงไม่ค่อยมีรถพรุกพ่านนัก  ประกอบกับบ้านพักอาศัยมีน้อยและพื้นที่ว่างซึ่งเจ้าของยังไม่นำมาใช้มีมาก  บ้านผมจึงเงียบสงบ

บึงข้างบ้าน :

ข้าง ๆ บ้านเช่าผมจึงมีพื้นที่ลุ่มเอาไว้กักน้ำไม่ให้น้ำท่วมของบ้านระแวกนี้ ผมจึงเรียกมันว่าบึงข้างบ้าน ซึ่งในบึงข้างบ้านมีกกธูปขึ้นมากมายจนเต็มบึงในแต่ละฤดูกาลผมจะมีเพื่อนบ้านแตกต่างกันออกไปเพราะที่นี่จะเป็นศูนย์รวมของสัตว์ปีกที่ชอบอาศัยบึงและทุ่งกกธูปเป็นที่อยู่อาศัย ดังนั้นผมจึงมีโอกาสเห็นนกเป็ดน้ำบ้าง นกไก่นาบ้างแวะเวียนมาให้แอบดูพฤติกรรมของมัน ส่วนสัตว์ที่ไม่พึงจะให้เป็นเพื่อนบ้านเช่นงู ก็มีอยู่เหมือนกัน ดีที่เราไม่กว้าวก่ายพื้นที่ของกันและกันเจอเพียงร่องรอยเท่านั้น

ป่ากลางเมือง :

ด้านหลังของบ้านเมื่อตอนเข้ามาเป็นป่าต้นมะขามเทศ ป่าต้นก้ามปูและป่ากระถินสูงใหญ่และรก ดังนั้นมันจึงเป็นที่อยู่อาศัยของนกนานาชนิดที่ชอบต้นไม้ใหญ่ โดยเฉพาะเพื่อนบ้านผมที่ต้องมาทักทายกันทุกเช้านั้นคือ กระแต ซึ่งป่าหลังบ้านผมมีกระแตอยู่มากกว่าสิบตัวมันหากินและใช้พื้นที่ป่าในเมืองอยู่อาศัยกันอย่างมีความสุข โดยมันไม่เคยมายุ่งกับของกินในบ้านผมเลยแม้แต่น้อย ดังนั้นเกือบทุกเช้าเราจึงได้เจอกันพร้อมกาแฟอุ่น ๆ

เปลี่ยนผ่าน :

ผ่านมาปลายปีที่แล้วถึงต้นปีนี้ ไม่แน่ว่าด้วยเศรษฐกิจกำลังพื้นตัวหรืออย่างไรที่ดินสามแปลงที่หลังบ้านเช่าของผมมีการก่อสร้างหอพักกันอย่างพร้อมเพียง ดังนั้นในตอนกลางวันจึงหาความสำราญจากความเงียบเหมือนที่เคยไม่ได้ ป่าที่เคยเชื่อมต่อกันของที่ดินหลายผืนถูกตัดลงเพื่อใช้ประโยชน์ในพื้นที่ เมื่อเป็นเช่นนี้เพื่อนบ้านที่อยู่บึงและเพื่อนบ้านที่อยู่ป่าจึงหายไปจากบ้านเช่าที่ละตัวสองตัว

เปลี่ยนแปลง :

เช้าตรู่วันนี้หลังเดินออกมาจิบกาแฟและชมแปลงชำบีโกเนีย มองเห็นกระแตน้อยสามสี่ตัววิ่งไล่กันที่ต้นมะขามเทศบนพื้นที่ตรงข้ามบ้านด้านหน้าของอีกฟากถนน จึงได้แต่มอง ในใจก็เสียดายที่เราไม่ได้เป็นเพื่อนบ้านที่สนิทสนมอย่างที่เคย แต่อีกความคิดก็แสนดีใจที่อดีตเพื่อนบ้านยังมีบ้านอยู่อาศัยไม่ได้ถูกจับไปปิ้งย่างเหมือนที่เคยกังวล

ภาพชูชกนอนสบายอุราในป่า

มกราคม 4, 2010

บีโกเนียออกดอกต้อนรับปีใหม่

บันทึกหายไปจากลานหลายเดือน อย่างน้อยก็น่าจะสามเดือน เป็นสามเดือนที่ค้อนข้างมีทั้งสุขและเศร้าเคล้ากันไป บางวันวุ่น บางวันว่าง บางวันเงียบบางวันหัวแทบแตก เพราะมีเรื่องที่ต้องจัดการใหญ่ๆ สองเรื่องคือเรื่องร้านชลบถพิบูลย์ที่ไปเปิดที่อุทยานการเกษตร ภายในมาวิทยาลัยขอนแก่น อีกเรื่องก็เตรียมผ้าให้ CERP เพื่อถวายสมเด็จพระเทพรัตนฯ ในวโรกาสเสด็จฯพระราชทานปริญญาบัตรชาว มข

เรื่องร้านตอนนี้ก็เปิดไปแล้ว แต่ยังไม่ลงตัวนักเพราะต้องใช้เวลาในการหาสินค้าลงร้านอยู่ แต่โชคดีมีพี่น้องชาวลานของเราแวะไปจะเอ๋และอุดหนุนผ้าฝ้ายย้อมสีธรรมชาติ  ร้านดังกล่าวขายผลิตภัณฑ์จากผ้าเป็นหลัก เพราะได้ป้าผ้าจากเมืองพลมาประจำร้านใ้ห้ในวันศุกร์ -เสาร์- อาทิตย์ นอกจากนั้นก็มีต้นไม้ตกแต่งบ้างเล็กน้อย ไม่สามารถลงไม้อะไรได้มากนักเพราะพื้นที่น้อยเหลือเกิน ดังนั้นหากท่านไหวแวะขอนแก่นอย่าลืมแวะไปเยี่ยมชมนะครับ

นอกจากผ้าทอมือ ร้านยังตกแต่งด้วยต้นบีโกเนีย ซึ่งเป็นไม้ประดับประเภทโชว์ใบมาตกแต่งและจำหน่ายด้วย ซึ่งเป็นต้นไม้ที่เพาะเองเป็นหลัก โดยซื้อต้นพันธุ์มาทำการขยายทั้งแยกเหง้าและชำใบ  ตอนนี้ได้ต้นพันธุ์มาแล้วราวสิบสายพันธุ์ทั้งซื้อมาจาก กทม และเพื่อนพ้องซื้อมาใ้ห้ ซื้อมาฝาก คละกันไป(ไว้ว่างจะเขีนถึงบีโกเนียจากประสบการณ์(สามเดือน) อิอิ)

บีโกเนียหูช้างสีเขียว ออกดอกต้อนรับปีใหม่ งาม มัก ๆๆ

ธันวาคม 10, 2009

กลับมาแล้ว กลับมาพร้อมกับไม้เปลี่ยนวิธีคิด

Filed under: Uncategorized — แท็ก: , — ออต @ 1:25

หายไปนาน หายไปกลับภารกิจและหน้าที่

แต่หายไปคราวนี้พิเศษเพราะได้ไปเรียนรู้ธรรมชาติของไม้ชนิดหนึ่ง

แต่นี้กำลังเรียนรู้เขาอยู่ พยายามฝึกสะสม ปลูก ดูแล ขยาย

ต้นไม้ที่ว่ามีชื่อไทย ๆว่า ส้มกุ้ง แต่ในนักจัดสวนรู้จักในนาม บีโกเนีย

ต้นนี้มีเรื่องเล่าพร้อมกับชีวิตที่หายไป  ตอนนี้มีห้าหกชนิดในสวนกำลังตามหามาสะสม

วันหน้าจะถ่ายภาพมาฝากครับ และเล่าสู่ฟังครับ

ฝากหวัดดีทุกท่ายด้วยนะครับบบบบบบบบบบบบบบบบบบ

กันยายน 15, 2009

ฮูบแต้มแคมของ : จดหมายจากบางกอก

Filed under: Uncategorized — แท็ก: — ออต @ 12:05

วันนี้ได้รับอีเมลล์จากน้องโบว์ สาวน้อยจากธรรมศาสตร์ ที่เดินทางไกลมาช่วยค่ายฮูบแต้มแคมของ ของพวกเราต้นเดือนที่ผ่านมา วันนี้เธอส่งบันทึกมาให้พวกเราได้อ่านกัน ไปตามดูความคิดและความรู้สึกของสาวน้อยที่เดินทางไกลมาเพื่อพบเด็กและฮูบแต้ม

เกริ่นนำ…

ณ ริมน้ำโขง ท่ามกลางฝุ่นผงทรายของชนบท ยังมี “เด็กน้อย” ผู้เต็มเปี่ยมไปด้วยความสดใส  พวกเขาคือผู้ที่กำลังเติบโตท่ามกลางการพัฒนาที่มุ่งหน้าสู่ชุมชนแม้ว่าพวกเขาจะเป็นเพียง “เด็กน้อย” แต่ก็มิอาจประมาทความเจริญที่ประชิดตัวเข้ามาได้  มันอาจทำให้เด็กๆ หลงลืมคุณค่าทางวัฒนธรรมของท้องถิ่นไปอย่างสิ้นเชิง

 

จากผู้จัด… ถึง เจ้าบ้าน…

นักอนุรักษ์มรดกทางวัฒนธรรมแห่งลุ่มน้ำโขง (ศูนย์วิจัยพหุลักษณ์สังคมลุ่มน้ำโขง)  ผู้จัด “ค่ายฮูบแต้มแคมของ” ได้ค้นพบประวัติศาสตร์แห่งบ้านหว้านใหญ่ว่า พรมแดนธรรมชาติได้แบ่งแยกชาติพันธุ์หนึ่งแตกออกเป็น ๒ ชาติ — ไทย และ ลาว แม้ว่าลำโขงจะแบ่งคน แต่อัตลักษณ์ทางชาติพันธุ์นั้นยังชัดเจน ซึ่งแสดงออกทางภาษา ประเพณี การใช้ชีวิต และศิลปะท้องถิ่น

 

สิมวัดศรีมหาโพธิ์มีฮูบแต้มเรื่อง ผะเหวด (โบสถ์วัดศรีมหาโพธิ์มีรูปภาพจิตรกรรมฝาผนังเรื่องพระเวสสันดร) คำบอกเล่าที่ปรากฎตามหนังสือหลายเล่มในร้านหนังสือมากมายในเมืองหลวงทำให้เรารับทราบ และสามารถเข้าใจถึงความหมายของการแต้มฮูบไว้ในสิม(บางแห่งปรากฎฮูบแต้มทั้งภายในและภายนอกสิม)แต่มันเทียบไม่ได้แม้เศษเสี้ยว กับการได้พบเห็นด้วยตาตนเอง

วันแรก…

ก่อนที่จะพบฮูบแต้ม เราต้องพบกับ “เด็กน้อย” เจ้าของชุมชนที่แท้จริงแห่งนี้ก่อน เด็กๆ นักเรียนชั้นประถมปลายจนถึงมัธยมศึกษาเกือบ ๕๐ คน … เด็กเหล่านี้หรือที่จะเป็นความหวังในการอนุรักษ์ศิลปะพื้นถิ่นไว้ได้? เด็กเล็กๆ ที่แทบจะคุยและเล่นกันตลอดเวลา บางคนโตขึ้นมาพร้อมกับการครอบงำจากพัฒนาการแห่งยุคสมัย (โทรศัพท์มือถือ) นี่ทำให้ต้องปรับความคิดกันด้วยกิจกรรมมากมาย ได้บ้าง — บ้างได้มาก บ้างได้น้อย  แต่ไม่มีใคร “รับไม่ได้” จึงเป็นเรื่องน่ายินดีสำหรับผู้จัด

วันถัดมา…

พลังของ “เด็กน้อย” ก็ทำให้ “ผู้ใหญ่ตัวโต” ต้องทึ่งไป พวกเขาบรรลุจุดประสงค์ของกิจกรรมต่างๆ ได้อย่างดีเยี่ยม พวกเขาแต่งกลอนธรรมชาติด้วยเข้าใจและไพเราะ พวกเขาเขียนแผนที่ชุมชน “แผนที่เดินดิน” ด้วยตนเอง พวกเขาวาดรูปและทำงานศิลปะที่เกี่ยวกับฮูบแต้มเรื่องผะเหวดในสิมวัดศรีมหาโพธิ์ได้อย่างน่าทึ่ง พวกเขาเล่นละคร “ผะเหวด” ได้อย่างสนุกสนาน ค่ำคืนนั้นทุกคนจึงหลับฝันด้วยความเหน็ดเหนื่อย แต่เต็มอิ่มในหัวใจ

วันจากลา…

หยาดน้ำตาของ “เด็กน้อย” แสดงความจริงใจต่อเพื่อนมนุษย์ ผู้เข้ามาร่วมเดินทางด้วยใจจริง บนถนนเส้นแสนสั้น วัดได้เพียง ๓ วัน มันเกินกว่าวัตถุประสงค์ที่ตั้งใจ เพราะเราได้ของแถมกลับบ้าน คือ ความรักที่เกิดขึ้นบนพื้นที่แห้งแล้งนี้

 

บทสรุปตาม…

“ค่ายฮูบแต้มแคมของ” สร้างการตระหนักรู้ถึงคุณค่าที่ควรสงวนรักษาไว้กับท้องถิ่นหว้านใหญ่ ชาวบ้านร่วมมือกัน มีเสียงจากชุมชนเข้ามาให้ความสนใจโดยเฉพาะความภูมิใจในตัวเด็กๆ ที่เข้าร่วมกิจกรรมที่สำคัญ “คนนอก” ที่เอาตัวเข้าไปเกี่ยวข้องอย่างพวกเรา ต่างจดจำประสบการณ์ดีดีและตระหนักถึงความสำคัญของคำว่า “พลังของมวลชน” ที่สามารถทำให้เกิดสิ่งมหัศจรรย์ได้แม้ว่าระยะทางของการอนุรักษ์วัฒนธรรมท้องถิ่นบ้านหว้านใหญ่จะเพิ่งเริ่มต้น แต่มันเป็นนิมิตหมายที่ดีเมื่อได้มีการเริ่มต้น.

 

กันยายน 12, 2009

ฮูบแต้มแคมของ : ตัวเลขกับศิลปะ

ความจริงค่ายฮูบแต้มแคมของไม่ได้สมบูรณ์แบบเลย ด้วยความด้อยปัญญาของคนประสานในการจัดค่าย การออกแบบหลักสูตรและการบ่มเพาะความคิดให้ออกมาเป็นค่ายที่สมบูรณ์ ดูเอาแต่เรื่องการตัดมิติสัมพันธ์ของศิลปะ วัฒนธรรม ออกจากตัวเลขเอาเถิด

ศิลปะกับตัวเลข ศิลปะกับการวัด ดูเหมือนเป็นเรื่องคนละโลกสำหรับศิลปินอย่างผม(ไม่สามารถเหมารวมศิลปินทั้งหมด) เพราะมันเป็นเหมือนไม้เบื่อไม้เมาเข้าขั้นตัดญาติขาดมิตรเอากันไปโน้นเลย

แม้แต่การบริหารเงินทองงบประมาณในค่ายทั้งหมด ผมต้องขอยืมตัวเจ้าหน้าที่การเงินของศูนย์วิจัยฯมาทำหน้าที่แทน ด้วยไม่อยากเอาสมองไปยุ่งอยู่กับตัวเลขที่แสนน่าเบื่อ

เราเหล่าศิลปินและคนทำงานศิลปะส่วนใหญ่จะงดใช้ตัวเลขแต่หันมาให้คำว่าเล็ก กลาง ใหญ่ ที่สุด แทนเช่นสิมหลังนี้เล็กมาก(เล็กมากหมายถึงเล็กขนาดไหน? ถามแบบนี้คนทำงานศิลปะตกม้าตาย) พระในวิหารใหญ่ที่สุดในตำบลนี้(ใหญ่ขนาดไหน กว้างยาวเท่าไหร่? ถามแบบนี้คนทำงานศิลปะตกม้าตาย) ขันหมากเบ็งที่เห็นที่วัดสัดส่วนดีมาก(ดีมากที่ว่า มันขนาดเท่าไหร่? ถามแบบนี้ก็ตกม้าตายอีกเช่นกัน) สรุปรวม ๆ คือเราไม่ค่อยจะใส่ใจกับตัวเลขจริง ๆ เลย ทั้ง ๆ ที่มันจะช่วยให้เราใช้ประโยชน์ได้ในอนาคต

ดังนั้นค่ายฮูบแต้มแคมของเพิ่งมาตาสว่างเอาตอนที่ อาม่า ช่วยเติมเต็มเรื่องวิทยาศาสตร์ คณิตศาสตร์ในฐานะเครื่องมือการเรียนรู้ให้แก่เรา ซึ่งเรื่องนี้นับว่าเป็นบุญของผมแต่ยังไม่ใช่บุญของเด็ก ๆ เพราะกว่าผมจะยอมรับเรื่องตัวเลขกับวัฒนธรรมได้ ก็ต้องใช้เวลาสักพักดังนั้นจึงไม่มีเวลาบรรจุเรื่องนี้ให้กับเด็ก ๆ ในค่าย(เอาไว้ค่ายหน้านะน้อง)

อาม่าสอนผมในเรื่องการเอาวิทยาศาสตร์ คณิตศาสตร์เข้าไปบูรณาการร่วมกับศิลปวัฒนธรรม งานนี้จะช่วยให้เราเห็นมิติที่ทั้งสองสิ่งสัมพันธ์กันอยู่ในตัวและยังก้าวล่วงไปสัมพันธ์กับมิติอื่น ๆ ได้รวมทั้งความสัมพันธ์กับจักรวาลซึ่งมีสถานะแห่งจุดร่วมทุกสรรพสิ่ง(ร่ายซะเป็นนิยาย)

ผมเริ่มฝึกการเอาตัวเลขเข้ามาใช้ในค่ายตอนที่ผมรู้สึกชอบขันหมากเบ็งของชาวบ้าน ผมชอบที่รูปทรงสัดส่วนมันช่างสวยงามเสียเหลือเกิน งามจนหากผมเอาไปทำใช้ที่ขอนแก่นคงต้องไม่ยากแน่ ๆ

แต่เชื่อเถอะมาถึงขอนแก่นผมก็จะลืมสัดส่วนที่งดงามนั้นไป ดังนั้นการวัดจึงเกิดขึ้นกับผมในกิจกรรมการชื่นชนขันหมากเบ็งแบบพื้นบ้าน เมื่อวัดแล้วทำให้เราต้องมาแยกรายละเอียดออกไป เรื่องนี้ทำให้ผมคิดแบบละเอียดละออเข้าไปอีกเพราะขันหมากเบ็งมีส่วนฐาน ส่วนตัวขัน และส่วนยอดขัน งานนี้สัดส่วนที่งดงามนั้นจึงถูกผมบันทึกด้วยตัวเลขเรียบร้อยพร้อมภาพประกอบ

(เงอะ ๆงะ ๆ กับตัวเลข  เขียนผิดเขียนถูก วัดแล้ววัดอีก แบบไมค่อยแน่ใจ)

สัดส่วนของความสูงที่งดงามของขันหมากเบ็ง ตัวฐาน/ตัวขัน/ยอดขัน เท่ากับ 1: 2 : 2.5

สัดส่วนที่งดงาม ความสูงของขัน/ความกว้างของขัน เท่ากับ 2 : 5.5

ทำตัวเลขแบบนี้ไม่ว่าถูกไหมคุณครูครับ

กันยายน 9, 2009

ฮูบแต้มแคมของ : ปัญญาด้านภาษา(ภาพ)

แต่ละวันในค่ายฮูบแต้มแคมของเราทั้งพี่เลี้ยงและเด็ก ๆ มีเรื่องยุ่ง ๆ ที่แสนสนุกให้ทำไม่ซ้ำกัน ทำกันจนเหมือนเราไม่มีช่วงเวลาจะพักเอาเสียเลย เพราะในขณะที่เราพักเราก็เหมือนรู้สึกว่าเราทำกิจกรรมเรียนรู้อยู่ ดังนั้นชีวิตการอยู่ในค่ายสามวันสองคืนจึงมากด้วยการเรียนรู้

การเรียนรู้ที่มากมาย กิจกรรมที่หลากหลายและผู้คนที่มาให้ความรู้กับเรา มีมากมากจนลิ้นชักในสมองของเด็ก ๆ เก็บเอาไว้ไม่หมด หลายคนเก็บเอาไว้มาก แต่พอจะเปิดลิ้นชักสมองก็พบว่ามันสับสนอลหม่านกันไปหมด จนไม่รู้ว่าลิ้นชักอันไหนเก็บเรื่องอะไร ลิ้นชักไหนเก็บกิจกรรมอะไร เรื่องแบบนี้เกิดขึ้นแน่นอนในค่ายการเรียนรู้หรือแม้การใช้ชีวิตประจำวันของแต่ละคน

ในค่ายฮูบแต้มแคมของเราจึงหาเครื่องมือที่ให้เด็ก ๆ ได้ทบทวนการเรียนรู้ในแต่ละวันอย่างง่าย ๆ เพื่อให้เด็ก ๆ จดจำเรื่องราวที่แสนประทับใจในค่ายของเราไว้รำลึกถึงเมื่อช่วงเวลาในค่ายผ่านพ้นไป เครื่องมือนี้เราเรียกว่า การทบทวนความรู้ด้วยภาพ(Graphic Review)

“การทบทวนการเรียนรู้ด้วยภาพ” ว่ากันไปแล้วก็เหมือนจิตรกรรมฝาผนังหรือฮูบแต้มที่เรากำลังศึกษากันในค่าย ภาพวาดชวนให้เราอ่านเรื่องด้วยภาพ ภาพเขียนแทนภาษาพูดหรือภาษาเขียน เพราะภาพเขียนถือว่าเป็นภาษาชนิดหนึ่ง การส่งเสริมการใช้ภาษาให้มีประสิทธิภาพจึงถือว่าเป็นการส่งเสริมการเรียนรู้ด้วย ปัญญาด้านภาษา(Linguistic Intelligence)

ในจิตรกรรมฝาผนังวัดศรีมหาโพธิ์มีภาพจิตรกรรมฝาผนังไว้เล่าเรื่องพระเวสสันดรชาดก ผู้คนชาวบ้านหว้านใหญ่หลายคนแม้จำเนื้อหาเรื่องพระเวสสันดรได้ไม่หมดแต่การได้ดูภาพเขียนก็ทำให้เข้าใจและจดจำเนื้อหาหรือแก่นสารสำคัญในเรื่องได้มากขึ้น ทั้งนี้อาจจะมีภาษาเขียนกำกับในภาษาภาพเอาไว้ในบางช่วงบางตอน วิธีนี้ช่วยเติมเต็มคำสำคัญที่ต้องการสื่อสารหรือต้องการให้จดจำในภาพแต่ละตอน

เมื่อการเรียนรู้แต่วันในค่ายของเราผ่านไป ก่อนสวดมนต์เข้านอน ครูอุ้มชวนเด็กมาทบทวนกิจกรรมที่เกิดขึ้นในแต่ละวันด้วยภาษาภาพ โดยมีครูคล่องช่วยเขียนเป็นภาพ เสมือนการย้อนบันทึกประจำวันของแต่ละคนตั้งแต่เช้ายันเย็น ซึ่งเด็กๆช่วยกันเติมเต็มรายละเอียดในแต่ละช่วงเวลา เมื่อสิ้นสุดภาพและคำสำคัญในแต่ละวันครูอุ้มกลับมาทบทวนเรื่องราวในภาพ เราพบว่าเด็ก ๆ จำกิจกรรมว่าใคร ทำอะไร ที่ไหน เมื่อไหร่ อย่างไร ได้อย่างแม่นยำ

(ในภาพอ่านว่า ช่วงบ่ายที่ศาลาวัดเด็ก ๆ กำลังทำขันหมากเบ็งซึ่งประดิษฐ์จากใบตอง ซึ่งทุกคนสนุกสนานมากและทำได้ดี)

เครื่องมือนี้ช่วยในการเรียบเรียงและทบทวนประสบการณ์ในแต่ละวันของเด็ก ๆ ได้เป็นอย่างดี การเขียนภาพเป็นการช่วยระบายและปลดปล่อยอารมณ์ของเด็กต่อกิจกรรมการเรียนรู้นั้นได้ อีกทั้งยังส่งเสริมการคิดเชื่อมโยงให้กับเด็ก ๆในการใช้ภาพสื่อแทนภาษาเขียนได้ และที่สำคัญช่วยย้ำเตือนความทรงจำที่แสนพิเศษที่เกิดขึ้นในค่ายฮูบแต้มแคมของให้แก่เด็ก ๆ ซึ่งในวันสุดท้ายเราได้มอบสมุดบันทึกคืนให้แก่เด็ก ๆ ทุกคน เพื่อให้เขามีเครื่องมือแห่งความทรงจำ

กันยายน 8, 2009

ฮูบแต้มแคมของ : บายศรีกับทุนทางวัฒนธรรม

เด็กที่เข้าค่ายฮูบแต้มแคมของนั้นมีหลากหลายวัย เหตุผลหนึ่งคือต้องการเครือข่ายของสถานศึกษาในเขตพื้นที่ตำบลหว้านใหญ่ที่จะมาร่วมมือ หรือเกิดแรงกระตุ้นบางอย่างให้โรงเรียนโดยเฉพาะหัวน้าสถานศึกษาและครูผู้สอน หันกลับมามองการใช้ประโยชน์จากงานศิลปกรรมพื้นถิ่นในการเป็นแหล่งเรียนรู้สำหรับการศึกษาในระบบ

เด็ก ๆ ที่มาร่วมค่ายของเราในคราวนี้จึงมีเด็กในช่วงชั้นที่ 2 – 4 จำนวน 50 คนโดยผมพยายามจัดสรรโควต้าให้เหมาะสมกับแต่ละโรงเรียน โดยโรงเรียนระดับประถมศึกษาในเขตตำบลนี้มี 5 โรงเรียนดังนั้นจึงเฉลี่ยให้โรงเรียนละ 6 คน ส่วนโรงเรียนระดับมัธยมประจำอำเภอมีแห่งเดียวดังนั้นจึงให้โควต้ามากหน่อย

ผลที่ออกมาคือห้องเรียนของเราจึงเป็นห้องเรียนของเด็กหลายวัย จุดดีของการจัดกิจกรรมค่ายแบบนี้คือเด็กโตจะคอยดูแลเด็กเล็กแทนพี่เลี้ยงประจำกลุ่มได้ในหลายกิจกรรม(ในภาวะที่เรามีพี่เลี้ยงประจำกลุ่มไม่มากและบางกิจกรรมพี่เลี้ยงต่างเพศก็ดูแลลำบากเช่น การอาบน้ำและภารกิจส่วนตัว) นอกจากนั้นเด็กโตยังช่วยสอนเด็กเล็ก ๆในบางกิจกรรม

แต่ด้วยความเป็นเด็กแม้จะหลายช่วงชั้น แต่เมื่อมาร่วมกันความเป็นเด็กก็คือความเป็นเด็ก ย่อมต้องการการ้รียนรู้ที่สนุกเพลิดเพลินและเสรี แถมความซนมาด้วยซึ่งก็เป็นไปตามที่คาดคะเนเอาไว้ ว่าเรามาจับปูใส่กระด้งแน่นอน

แล้วความดื้อความซน ความไม่อยู่นิ่ง การพูดคุยกันเซ็งแซ่จะขัดเกลาด้วยกิจกรรมอะไรดี นี่เป็นโจทย์สำคัญประการหนึ่งที่เราในฐานะผู้ออกแบบกิจกรรมการเรียนรู้แบบค่ายต้องเอามาคิดและออกแบบ

ความจริงหลายกิจกรรมเป็นการออกแบบกิจกรรมบนสมมติฐานคือการคาดคะเนว่าจะได้กระบวนการและผลลัพท์ออกมาอย่างไร เช่นเดียวกกับการตอบโจทย์การขัดเกล่าให้เด็กนิ่ง มีสติ มีสมาธิและหยุดนิ่งเพื่อการสงบลงได้บ้าง ผมมองหากิจกรรมการเรียนรู้บางสิ่งเพื่อจัดการเรียนรู้นี้จนกระทั่งคิดถึง การบายศรีสู่ขวัญ

กลุ่มชาติพันธุ์ไทลาวรู้จักกิจกรรมนี้ในชื่อ การสู่ขวัญ โดยมีหัวใจของพิธีกรรมอยู่ที่การให้กำลังใจและเกิดสวัสดิมงคลแก่ผู้ถูกสู่ขวัญในการดำเนินชีวิตต่อไป ดังนั้นผู้ที่เข้าพิธีและถูกผูกแขนจึงถือว่าเกิดสิริมงคลแก่ตัวมีภูมิคุ้มกันภยันตรายต่าง ๆ ที่จะมารบกวนดังนั้นในค่ายการเรียนรู้เราได้จัดกิจกรรมสู่ขวัญให้แก่เด็ก ๆ ที่ร่วมค่ายเพื่อให้เกิดความเป็นมงคลแก่เด็ก ๆ และให้เด็กเรียนรู้ประเพณีของตนเองโดยการเรียนรู้แบบมีส่วนร่วม

เราได้จัดเตรียมบายศรีขนาดพอเหมาะโดยมีช่างชาวบ้านหว้านใหญ่และพี่เลี้ยงของเรานั่งทำกันที่ศาลาการเปรียญ โดยเป็นบายศรีใบตองสามชั้น กิจกรรมนี้เนื่องจากต้องการให้บายศรีเสร็จทันการสู่ขวัญในตอนบ่ายและเด็ก ๆ มีกิจกรรมการเรียนรู้อื่น ๆ ต้องทำดังนั้นเด็ก ๆ จึงไม่ได้ร่วมทำด้วย ด้วยข้อจำกัดอย่างที่เล่าไปแล้ว ประกอบกับเมื่อวันก่อนเด็ก ๆ ได้ลงมือทำขันหมากเบ็งแล้ว

การสู่ขวัญในคราวนี้ เราได้หมดสูดหรือพ่อพราหม์จากปราชญ์ชาวบ้านในท้องที่เป็นผู้ทำพิธีให้แก่เรา ในการสู่ขวัญเพื่อให้เหมาะสมกับสมาธิของเด็ก ๆ ดังนั้นรูปแบบการสู่ขวัญจึงย่อย่นลงมาเพื่อให้เสร็จทันเวลา แต่ก็ไม่ลืมบทสู่ขวัญที่ครบกระบวนความตามแก่นสารของบทสู่ขวัญ

เที่ยงวันนี้เป็นอาหารมื้อสุดท้ายในค่ายวัฒนธรรมแห่งนี้ เด็กๆ ได้กินส้มตำที่แสนอร่อยจนสังเกตว่าอาหารหลายกลุ่มหมดเกลี้ยง อาจจะด้วยความแซบนัว หลังท้องอิ่ม ลานที่หน้าพระใหญ่ในวิหารถูกวางพานบายศรีที่สวยงามโดยช่างชาวบ้านและพี่เลี้ยงของเรา งามจนอยากจะเก็บเอาไว้ไม่อยากให้มันเหี่ยวเฉา

เด็ก ๆ ที่เจี้ยวจ้าวถูกเชิญให้มานั่งล้อมพ่อพราหม์ที่ตรงกลางลาน สิ่งที่ผมคาดคะเนไว้กำลังจะได้คำตอบอีกไม่กี่วินาที เด็ก ๆ ที่คุยกันหลอกล้อกันนิ่งเงียบเมื่อเทียนชัยถูกจุดที่ยอดของบายศรี บรรยากาศหลังจากนี้เราพบว่าเด็ก ๆ นิ่ง เงียบและสดับโสตฟังเสียงการสู่ขวัญของปราชญ์ผู้ที่เราเคารพ สายตาจับจ้องมองที่พ่อใหญ่และแสงเทียนที่ยอดบายศรี หลายคนสังเกตเพื่อนที่อยู่ข้าง ๆ เมื่อเห็นเพื่อนนิ่งก็หันกลับไปนิ่งมองไปที่จุดเดียว

แม้ไม่ได้เห็นเหล่าเทวดาตัวเป็น ๆ มาชุมชนตามตำเชิญของหมดสูดที่เชิญเทวดามาชุมชน แต่ในบรรยากาศนั้นเราได้เห็นเทวดาน้อย ๆ ของเราชาวค่ายสงบนิ่ง เงียบ มีสมาธิตลอดการสู่ขวัญ เมื่อได้ยินการเอิ้นขวัญเด็ก ๆ ต่างเรียกขวัญกันตามเสียงนำของพ่อพราหม์ว่า มาเด้อขวัญเอ๊ย ดังสนั่น และนิ่งสงบฟังการสูดขวัญต่อไปเป็นเช่นนี้จนจบกระบวน

หลังจากสูดขวัญเสร็จพิธีกรรมต่อไปคือการผูกขวัญหรือผูกข้อต่อแขน เด็ก ๆ นำฝ้ายผูกแขนมาให้พี่เลี้ยงและวิทยากรของเราผูกแขนให้เพื่อเป็นสิริมงคล พี่ ๆ ทุกคนให้พรเด็ก ๆ กันคนละมุมตามสะดวก ในขณะที่เด็ก ๆ เวียนกันให้พี่ ๆ ผูกแขนเอาชัยเอาพร

มนต์แห่งพิธีให้คำตอบที่ผมคาดคะเนเอาไว้ได้ดีที่เดียวทั้งความสงบ นิ่ง สติและความผูกพันของคนกับคนและคนกับสิ่งที่เราคาดวังในค่าย จากตัวของเด็ก ๆ ไปสู่ เรา และนำไปสู่ พวกเรา ที่จะสร้างความมั่นคงของศิลปกรรมพื้นบ้านร่วมกัน แม้เพียงมือน้อย ๆ ของเรา

นี่เป็นบทเรียนของการบูรณาการทุนทางวัฒนธรรมในระดับจิตวิญญาณ(mind and soul)ที่เราพยายามบรรจุและทดลองทำกันในค่ายฮูบแต้มแคมของ

กันยายน 7, 2009

ฮูบแต้มแคมของ : คน ค่าย เครือข่าย ความสุข

เราไม่ใช่บริษัทรับจัดค่าย เราไม่ได้เป็นองค์กรที่ทำงานด้านเด็ก แต่เราเป็นเพียงโครงการเล็ก ๆ ที่อยากทำงานกับเด็ก ๆ โดยเฉพาะงานที่เกี่ยวกับพื้นบ้านพื้นถิ่น ดังนั้นหน้าที่ของผมจึงเป็นนักส่งสาร ร่อนการ์ดเชิญ โทรศัพท์ชวน โปรยข้อความบนลานและโลกไซเบอร์เพื่อตามเพื่อนฝูง พี่น้อง ผองเพื่อครูบาอาจารย์ที่มักคุ้นให้มาช่วยค่าย

ในเมื่อหลายคนก็ต้องทำงานของตนเอง ดังนั้นการกะเกณฑ์ว่าใครจะมาได้บ้างจึงเป็นเรื่องยากเต็มทน แต่ในวันสุดท้ายก่อนเดินทางก็ยังมีบางอย่างรังเร ผมออกแบบกิจกรรมให้หยืดหยุนมากที่สุดโดยยึดเพื่อน ๆที่รับปากจริงไปได้จริงเป็นหลัก ซึ่งกลุ่มนี้สามารถเลื่อนกิจกรรมของตนไปกับความเปลี่ยนแปลงได้ ส่วนที่ยังไม่แน่ใจก็ต้องยอมรับความไม่พร้อมและเตรียมแผนสำหรับแก้ไขปัญหา

จนกระทั้งถึงวันเปิดค่ายจริงและยืนยันการเดินทางจริง ผมก็พบว่าญาติพี่น้องเพื่อนพ้องที่เดินทางมาร่วมค่ายของโครงการเราคราวนี้เป็นนักกิจกรรมที่จัดแบ่งออกได้หลายประเภทด้วยกัน หากจะแบ่งตามประสบการณ์ชีวิต เราพบว่าสามารถจัดกลุ่มได้ 3 รุ่นคือ S M L

รุ่นเล็ก = S รุ่นเล็กแต่ใจใหญ่ กลุ่มนี้ผมได้เครือข่ายทางสกลนครมาช่วยซึ่งเป็นนักศึกษา รวมถึงน้อง ๆจากมหาวิทยาลัยมหาสารคามเด็กหนุมไฟแรงที่เพิ่งจบซึ่งกลุ่มนี้จิ๋วแต่แจ๋วทั้งน้องปุ๊ น้องปอง น้องโบว์ น้องทิก น้องมี่ น้องแพท คนกลุ่มนี้มีจิตอาสาและรักษ์บ้านเกิดเมืองนอนที่ชัดเจน

( แพท มีมี่ และน้องโบว์์สาวน้อยเดินทางไกลมาจากธรรมศาสตร์ งานนี้เหนื่อยบ้างก็พักบ้างแต่เธอไม่แพ้ ถามหาค่ายต่อไป)

รุ่นกลาง = M รุ่นนี้เป็นกลุ่มมดงาน ผมได้เครือข่ายมาจากทุกทิศทุกทาง พี่คล่องกับอาจารย์อุ้ม เคยผ่านค่ายมาด้วยกันมากกว่าสิบซึ่งถือว่าสองคนนี้เป็นกำลังสำคัญของผมเพราะจะต่อกันติดง่ายไม่ว่าโยนกิจกรรมอะไรไป ส่วนอีกสองคนเป็นเพื่อนเครือข่ายจากสกลนครที่อาสามาช่วย มาดูและมาเชียร์นั้นคืออาจารย์นพและอาจารย์อ่ำ รวมทั้งเพื่อนครูที่ HUG SCHOOLอย่างอาจารย์ต้อม และมดจากหอมกรุ่น(ร้านกาแฟแสนอร่อย) กลุ่มนี้เราต่างถ่ายเทรูปแบบการจัดค่ายต่อกันสม่ำเสมอ ใครมีเทคนิคใหม่ ๆ ก็เอามากลางเรียนรู้ด้วยกัน

(อาจารย์ต้อม โบว์ อาจารย์อ่ำ พี่มด อาจารย์คล่อง อาจารย์อุ้ม ออต)

รุ่นใหญ่ = L กลุ่มแรงใจแรงกายแรงปัญญา รุ่นนี้เป็นรุ่นที่เมตตากับเรามาก เป็นเสมือนที่ปรึกษาในทุก ๆ มิติเป็นแรงใจ และหลายท่านก็เป็นขวัญใจชาวค่ายอย่างเลี่ยงไม่ได้ การได้รุ่นใหญ่มากประสบการณ์แบบนี้ช่วยให้งานของเรามีคุณค่าขึ้นมาอีกมาก เพราะก่อนหน้าที่เราไปกับแบบวัยรุ่นวุ่นรักค่าย แต่ลืมบางสิ่งบางอย่างที่ผู้ใหญ่มี รุ่นนี้เราได้เครือข่ายลานปัญญาเช่นอาม่าขวัญใจชาวค่าย อาจารย์บางทราย พี่พนัส นอกจากนั้นยังได้ความเมตตาจาก ดร.ศุภชัย สิงห์ยะบุษย์ปรมาจารย์ด้านลุ่มน้ำโขงศึกษามาช่วยอีกแรง

(อาม่า  ดร.ศุภชัย อาจารย์บางทราย)

นี่เป็นกลุ่มคนที่ผมขอจารึกเอาไว้ในค่ายแห่งนี้ เพราะทุกคนคือแรงกายแรงใจ แรงกำลังที่ทำค่ายเดินทางจนเสร็จสิ้นได้ สมควรที่จะได้รับการขอบคุณจากผมและศูนย์วิจัยพหุลักษณ์สังคมลุ่มน้ำโขง มหาวิทยาลัยขอนแก่น เพราะเราคือคนของค่ายที่เกิดจากเครือข่ายแห่งความสุข

(เป็นได้แม้ขาไมโครโฟน)

« บันทึกเก่ากว่าบันทึกใหม่กว่า »

Powered by WordPress