ลานบ้านชลบถพิบูลย์

กันยายน 6, 2009

ฮูบแต้มแคมของ : ละครในฐานะเครื่องมือการเรียนรู้ในค่ายวัฒนธรรม

หลังอาบน้ำแบบเร่งด่วนเพราะเด็กๆ หลายคนใจจดจ่ออยู่กับละครเย็นนี้ เด็ก ๆ หลายคนจับกลุ่มกันซักซ้อมการแสดงเพื่อทบทวนบทบาท และลำดับการดำเนินเรื่องกันอย่างสนุก พี่เลี้ยงค่ายทนนั่งอยู่ไม่ได้ ต่างช่วยกันเตรียมอุปกรณ์ประกอบการแสดงให้กับเด็ก ๆ กัน เพื่อไม่ให้น้อยหน้ากลุ่มอื่น ๆ ภาพแบบนี้เราจะเห็นในหลายมุมของวัดป่าวิเวก

หลังข้าวเย็นตกถึงท้อง แต่ไม่ทันจะย่อยดีนักเด็ก ๆ ต่างโสแหล่กันเสียงดัง จนแยกไม่ออกว่ากลุ่มไหนเป็นกลุ่มไหน บ้างก็มาแอบดูการแสดงของกลุ่มอื่น บ้างก็มาขอวัสดุที่เราพอมีในค่ายเช่นกระดาษ กรรไกร กาว เพื่อไปทำอุปกรณ์ประกอบการแสดง หลายคนตีกลองเล่น ๆ ตามประสาเด็ก ทั้งหมดทั้งปวงเป็นสัญญาณที่ดีที่เด็ก ๆ ต่างเปิดหัวใจรับการเรียนรู้ของค่ายอย่างไม่กังวล

สองทุ่มบริเวณลานหน้าพระใหญ่ในวิหารพระนอน โรงละครธรรมของเรากำลังจะเริ่ม โดยพี่เลี้ยงรวมเด็ก ๆ เพื่อคลายความตื่นเต้นก่อนการแสดงด้วยเกมส์สนุก ๆ สองสามเกม ซึ่งช่วยให้เด็กคลายความตื่นเต้นลงได้อย่างดี เด็ก ๆ หลายคนนั่งนิ่งเพื่อรอชมการแสดงของเพื่อน ๆ

โรงละครของเราเปิดขึ้นแล้ว ม่านใหญ่หน้าพระประธาน กับนิทานธรรมที่เราถอดมาจากวรรณกรรมพระพุทธศาสนาเรื่องพระเวสสันดรชาดกจากวัดศรีมาโพธิ์ กำลังจะเริ่ม นักแสดงทุกคนต่างพร้อมและเต็มที่กับการแสดง พลันการแสดงเริ่ม เราก็เห็นแววตาและรอยยิ้มเสียงหัวเราะตลอดการแสดง เพราะสิ่งที่เด็ก ๆ แสดงได้แสดงออกถึงการเรียนรู้ของเด็ก ๆ อย่างชัดเจน
วันนี้ละครทุกตอนของเราเป็นละครที่เรียบง่าย เราใช้บทเจรจาด้วยภาษาถิ่นเมืองหว้านใหญ่ ที่แม้พี่เลี้ยงค่ายหลายคนจะเป็นคนชาติพันธุ์ไทลาวก็ไม่สามารถเลียบแบบสำเนียงเหล่านั้นได้ ผมฟังแล้วได้แต่ยิ้มในใจและช่างคุ้นเคยกับภาษาที่เด็ก ๆ ใช้อย่างบอกไม่ถูกเพราะสำเนียงที่เด็ก ๆ ใช้ในการแสดงเป็นสำเนียงที่นักแสดงหมอลำเรื่องต่อกลอนหรือหมอลำหมู่แถบเมืองขอนแก่น มหาสารคามและกาฬสินธุ์ใช้กันเป็นพื้น

(ตอนชูชกได้นางอมิตดาเป็นภรรยา แหมเลือกคนได้สมกับบทบาทจริง ๆ)

(ตอนเห่พระเวสสันดีเข้าเมือง  เห็นพระเวสสันดรบนคอช้างไหมครับ ง่าย ๆแต่เข้าใจ)

เสียงหัวเราะของเด็กดังอยู่ตลอดเวลา เนื้อเรื่องที่จำได้จำไม่ได้ในตอนบ่าย แต่มาถึงการแสดงเด็ก ๆ ทุกคนต่างจำเนื้อหาในแต่ละตอนได้อย่างชัดเจน แม้ชื่อตัวละครหลายตัวจะเพี้ยนไปบ้าง หรือลืมบทไปบ้าง แต่ก็เห็นว่าเป็นเรื่องธรรมดาเพราะการเล่าปากต่อปากของเด็ก ๆ ย่อมมีการเพี้ยนไปเป็นธรรมชาติของภาษาแต่การแก้ปัญหาเฉพาะหน้าที่เกิดจากการช่วยเหลือกันในกลุ่มต่างหากที่เป็นสัมพันธภาพที่น่าจดจำ

แต่เสียงหนึ่งที่ดังไม่แพ้เสียงหัวเราะของเด็ก ๆ คือเสียงหัวเราะของพี่เลี้ยงทุกคน ที่ต่างขำกันจนปวดเส้นเอ็นบนใบหน้าอย่างเลี่ยงไม่ได้ เพราะเวลาซ้อมกับเวลาแสดงช่างต่างกัน จนอดขำไม่ได้

เสียงหัวเราะหยุดลงพร้อมกับเสียงสวดมนต์ก่อนนอนดังขึ้น เป็นสัญลักษณ์ว่าวันนี้พวกเราชาวค่ายทุกคนควรนอนเอาแรงหลังจากที่ใช้พลังงานมากเหลือในกิจกรรมวันนี้ แสงเทียนที่หน้าพระประธานและไฟจากเพดานหรี่ลง พี่ๆ เอนตัวลงนอนอย่างเหน็ดเนื่อยแต่ทุกคนยิ้มในใจคิดถึงการแสดงละครของเด็ก ๆ ในความเงียบ เราต่างแอบได้เย็นเสียง เด็ก ๆ คุยกันถึงการแสดงที่ผ่านมา ก่อนที่ตาจะหลับและเข้าเฝ้าพระอินทร์ในคืนวันนี้ วันที่พระจันทร์เกือบเต็มดวง

กันยายน 5, 2009

ฮูบแต้มแคมของ : ม่วนซื่นละครเด็ก

เกือบจะพลบค่ำแล้ว พี่เลี้ยง“ค่ายฮูบแต้มแคมของ” เรียกรวมเด็ก ๆ ชาวค่ายพร้อมกันหน้าวิหารใญ่วัดมโนภิรมณ์ วิหารที่เป็นเสมือนเพชรน้ำเอกของลุ่มน้ำโขง วิหารที่ไม่ได้มาชมไม่ได้มาศึกษาแล้วอย่าอุตริด่วนสรุปเรื่องสถาปัตยกรรมอีสาน เพราะวิหารแห่งนี้แตกต่างอย่างสิ้นเชิงกับวิหารอื่น ๆ ที่พบในแถบอีสาน

พี่เลี้ยงสอบถามเรื่องราวของจิตรกรรมฝาผนังอีสานวัดศรีมหาโพธิ์กับนักเรียน เพื่อประมวลสรุปการเรียนรู้ การเยี่ยมชมและการทำกิจกรรมอีกครั้ง หลังจากสรุปกันพอควร เราจะสังเกตว่าเด็ก ๆ ชาวค่ายจำเนื้อเรื่องที่ปรากฎบนจิตรกรรมฝาผนังได้ แต่ยังขาดรายละเอียดอีกเล็ก ๆ หรือเราจะพบว่าแม้จะตอบถูกต้องแต่ยังไม่มีความมั่นใจในคำตอบของตนเองมากนัก ซึ่งหลังจากนี้พี่เลี้ยงค่ายโยนเครื่องมือเรียนรู้ชนิดต่อไปให้เด็ก ๆ ทันที เครื่องที่ว่านี้คือ ละครสำหรับเด็ก

กลุ่มกิจกรรมของชาวค่ายมีทั้งสิ้นสามกลุ่ม ดังนั้นพี่เลี้ยงจึงแบ่งกัณฑ์ต่าง ๆ ในเรื่องพระเวสสันดรชาดกซึ่งเป็นวรรณกรรมที่ปรากฎในสิมวัดศรีมหาโพธิ์ ออกมาให้เหมาะสมกับการแสดงของเด็กทั้งสามกลุ่ม โดยมีรวมเอากัณฑ์ที่สำคัญมาไว้เป็นตอน 3 ตอนให้ครบตามจำนวนกลุ่มเด็ก วิธีการนี้จะช่วยให้เด็กแสดงละครของตนเองได้อย่างมีเอกภาพบนเวทีการแสดงคืนนี้

กลุ่มที่หนึ่ง จัดการแสดงตั้งแต่กัณฑ์ทศพรไปจนถึงทานกัณฑ์ ซึ่งมีเนื่อหากล่าวถึงการจุติของนางผุสดีเพื่อมาเป็นมเหสีของพระเจ้าสัญชัยพร้อมกับพรสิบประการ การแต่งงานของพระเวสสันดรกับนางมัทรี การทานช้างปัจจัยนาเคน การไล่พระเวสออกจากเมืองและเดินทางสู่เขาวงกตเพื่อบำเพ็ญบารมี

กลุ่มที่สอง จัดการแสดงตั้งแต่กัณฑ์จุลพนไปจนถึงกัณฑ์กุมาร ซึ่งมีเนื้อหากล่าวถึงชูชกขอทานผู้สกปรก การได้นางอมิตตดามาเป็นเมีย การกล่าวด่าตำหนิติเตียนของเหล่าเมียพราหม์ต่อนางอมิตดาและการออกไปขอกัณหาชาลีมาเป็นคนใช้ของชูชก ตลอดจนการไปพบพรานเจตบุตร การโกหกพระฤาษีเพื่อหาหนทางไปเขาวงกตและการทานสองกุมารของพระเวสสันดรให้กับพราหม์

กลุ่มที่สาม จัดการแสดงตั้งแต่กัณฑ์มัทรีไปจนถึงนครกัณฑ์ ซึ่งมีเนื้อหากล่าวถึงการขวางทางกลับอาศรมของพระอินทร์ที่กระทำต่อนางมัทรี การลากสองกุมารเข้าเมืองของชูชก การไถ่สองหลานของพระยาสัญชัยและการขบวนเชิญพระเวสสันดรและนางมัทรีกลับมาครองเมือง

เด็ก ๆ แต่ละกลุ่มหลังรับเครื่องมือไปแล้วต่างหาสนามหญ้าสีเขียวงามบริเวณลานหน้าวิหาร บ้างก็จับจองลานริมแม่โขงให้เป็นสตูดิโอสำหรับฝึกซ้อมการแสดง ต่างกลุ่มต่างวางแผนและซักซ้อมกันอย่างขมีขมัน โดยข้าง ๆ กลุ่มมีพี่เลี้ยงคอยดูแลให้คำปรึกษาอย่างใกล้ชิด งานนี้เราจะเห็นปฏิสัมพันธ์ที่ดีของเด็กกับเด็ก และปฏิสมพันธ์ที่ดีระหว่างเด็กกับพี่เลี้ยงประจำแต่ละกลุ่มอย่างชัดเจน

แสงแดดอ่อนแรงลงข้างฝั่งทิศตะวันตก บอกถึงเวลาที่เราจะเคลื่อนย้ายเด็ก ๆ กลับสถานที่จัดค่ายแล้วเพื่อเด็ก ๆ อาบน้ำและรับประทานอาหาร ก่อนที่เราจะได้ชมมหรสพที่สร้างสรรค์จากฝีมือการแสดงของพวกเขาเอง เราเหล่าพี่เลี้ยงประจำกลุ่มต่างคอยลุ้นถึงผลงานของเด็ก ๆ ในกลุ่มของตนเองอย่างจดจ้อง พระอาทิตย์ลาลับไปจนวิหารใหญ่วัดมโนภิรมณ์ดูขึงขลังขึ้นมา เด็ก ๆ ต่างทยอยขึ้นรถและสนุกสนานส่งเสียงร้องเพลงตลอดเส้นทาง ซึ่งละครและการแสดงออกช่วยผลักพลังการแสดงออกเด็กได้อย่างดีที่เดียว

กันยายน 4, 2009

ฮูบแต้มแคมของ : บทกวียามเช้า

Filed under: Uncategorized — ออต @ 12:46

ไม่รู้จะเริ่มต้นเขียนเรื่องค่ายฮูบแต้มแคมของยังไง เพราะมีเรื่องมั่ว ๆ อยู่ในหัวเสียเต็มประดาจะแคะออกมาก็กลัวเรื่องอื่น ๆ จะรั่วออกดังนั้นจึงขอเริ่มด้วยเรื่องง่าย ๆ ที่แสนจะสนุกสนานก่อน

ที่ค่ายเรานัดหมายเด็ก ๆ เริ่มต้นกิจกรรมยามเช้าตอนหกโมงเช้าเพราะว่าแสงอรุณวันใหม่กำลังจะเริ่มทอแสง แต่ความเป็นจริง เด็ก ๆ จะตื่นเช้ากว่าเรามาก พี่ๆ ทีมงานหลายคนยังคงคลุมโปง นอนขุดคู้อยู่ใต้ผ้าห่ม แต่ไม่นานหรอกคงจะตื่นเพราะเสียงของเด็ก ๆ เจื้อยแจ้วอยู่ตลอดเวลา จนไม่สามารถนอนต่อไปได้

กิจกรรมยามเช้าของทุกวันในค่ายฮูบแต้มแคมของ พี่ ๆ ศิลปินจะพาเด็ก ๆ พร้อมด้วยสมุดบันทึกและปากกาเดินทางออกจากวัดป่าวิเวกสถานที่จัดค่ายไปรับอรุณในสองพื้นที่ วันแรกเราพาเด็ก ๆ ไปเดินทุ่งนาที่มีน้ำค้างเกาะบนยอดหญ้า ใบข้าวเขียวขจรงดงามและเสียงอุ่น ๆ กำลังทาบทาขอบฟ้า  เหล่านกน้อย ผีเสื้อและทุกชีวิตกำลังเริ่มต้นวันที่สองเราพาเดินเลาะป่าช้าที่ต้นไม้ครึ้มเพื่อไปท้ายหมู่บ้าน

ที่ท้องทุ่งอาจารย์นพดล ชาสงวน(จากมหาวิทยาลัยราชภัฏสกลนคร)และพี่ ๆ เชิญชวนเด็ก ๆ มอง พิจารณาและอิ่มเอมไปกับสภาพแวดล้อมที่เห็น บ้างไปเป็นกลุ่ม บ้างไปเป็นคู่ หลายคนเดินเดี่ยงลงท้องทุ่ง มุ่งไปตามคัน(แท)นาที่คดเคี้ี้ยวเลี้ยวลด บางคันแทก็ตรงดิ่ง มุ่งลงไปยังใจกลางของท้องทุ่ง  เด็กๆ ต่างยืนกวาดสายตาไปรอบ ๆ เพื่อเห็นภาพกว้าง ๆ  หลายกลุ่มจ้องมองลงที่พื้นหญ้าที่อาบน้ำน้ำค้าง

หลังจินตนาการและการอิ่มเอมทางสายตาสุกงอม ปลายปากกาของเด็กจรดลงบนสมุดบันทึกของแต่ละคน ต่างคนต่างร่ายบทกวีสามบรรทัด ซึ่งเป็นบทกวีที่ไม่มีกฎเกณฑ์ใดใดให้แก่เด็กต้องยากในการเขียน หรือไม่มีอุปสรรคขวางกั้นจินตนาการ รูปแบบการเขียนบทกวีที่ปล่อยให้เด็กถ่ายทอดสุนทรียภาพออกมาให้คนอื่นเข้าใจและชื่นชมความงามนั้นผ่านตัวอักษร

“น้องน้ำฝน” เด็กหญิงวัยเก้าปี มานั่งข้าง ๆ และยื่นบทกวีให้ผมอ่าน หลังกวาดสายตาอย่างช้า ๆ ผมก็ถึงกับอึ้งถึงบทกวีที่ยิ่งใหญ่ของเด็กหญิงที่ไร้เดียงสาตัวเล็ก ๆจากบ้านนาริมน้ำของ แม้น้ำของที่บ้านเธอแม้จะเป็นสีปูนแต่บทกวีของเธอกลับใสดังน้ำฝนเหมือนชื่อเธอ บทกวีที่ผ่านมือของเด็กน้อยช่างเป็นบทกวีที่ซื่อบริสุทธิ์และงามสำหรับผมมาก

หลังจากกิจกรรมเดินทุ่งเสร็จ พี่ ๆ ให้เด็ก ๆ เอาสมุดบันทึกมารวมกันเป็นกลุ่ม ๆ พี่ ๆ ประจำกลุ่มต่างเปิดอ่านบทกวีและโสแหล่กันถึงความสนุกสนานและความงามของการเขียนบทกวีของเด็ก ๆ ดังนั้นในเวลาว่างเราจึงเอาบทกวีคัดสรรมาอ่านให้เด็ก ๆ ในค่ายฮูบแต้มแคมของฟัง หลายคนได้ยินบทกวีของตนเองถูกนำมาอ่านต่างยิ้มเขินอาย

นี่เป็นบทกวีที่คัดเอามาลงไว้ในบันทึกนี้ เพื่อให้หลายท่านที่ติดตามได้อิ่มเอมกันหมอกเบาบางในยามสาย

  • โอ้ต้นไม้ต้นหญ้าช่างงดงาม

  • นั้นเจ้ากบโดดอ๊บอ๊บ

  • กลางทุ่งนา     (จุฑามาศ เปรมศักดิ์หรือน้องน้ำฝน)

    • ไม่เหมือนฉันร้องเพลงเพราะกว่านกน้อย

    • นั้นหมู่นกร้องจิ๊บๆ ช่างไพเราะ

    • นั้นหนอนน้อยดิ้นไปมากลางทุ่งนา (จุฑามาศ เปรมศักดิ์หรือน้องน้ำฝน)

      • ท้องฟ้ายามเช้าสดชื่นแจ่มใส
      • ดอกไม้บานชื่นสวยสด
      • ตัวมดน้อยและแมลงก็ตื่นพลัน(นัทธรวดี รูปดี)

      แสงแดดจ้าขึ้นทุกขณะ เราพาเด็ก ๆ เดินกลับวัดซึ่งอยู่ไม่ไกล เตรียมตัวอาบน้ำแปรงฟันและรอรับประทานอาหารเช้าที่แสนอร่อย สำหรับบันทึกนี้ขอให้ท่านอร่อยกับบทกวีของเด็ก ๆ ชาวหว้านใหญ่ ครับ

      (ขอบคุณภาพสวย  ๆจากกล้องอาจารย์อุดมรัตน์  ดีเอง)

      สิงหาคม 27, 2009

      คำถามชวนคิดจากนักถอดรหัสทางวัฒนธรรม

      Filed under: Uncategorized — ออต @ 14:37

      กิจกรรมนักถอดรหัสทางวัฒนธรรมนับเป็นกิจกรรมก่อนการเข้าค่ายเรียนรู้เรื่องฮูบแต้มของโครงการ ค่ายฮูบแต้มแคมของ ซึ่งผมชวนนักวิชาการไปเที่ยววัดกันเพื่อให้นักวิชาการได้ช่วยถอดหรัสและช่วยชี้ช่องทางในการถอดหรัสทางวัฒนธรรม อันจะเป็นแนวทางในการจัดการเรียนรู้ในค่ายใ้กับเด็ก ๆ ชาวหว้านใหญ่

      เมื่อครบกำหนด ผมก็ได้รับอีเมลล์เชิงบันทึกถึงการเดินทางของ รศ.ดร.ศุภชัย  สิงห์ยะบุศย์(นักวิชาการด้านวัฒนธรรม จากมหาวิทยาลัยมหาสารคาม) นึ่งในนักถอดรหัสทางวัฒนธรรมที่ร่วมเดินทางไปกับเราในวันนั้น ผมว่านี่เป็นบันทึกเชิงคำถามที่สำคัญที่จะเป็นเสมือนแผนที่ในการจัดการเรียนรู้ใ้กับเรา ซึ่งหากเราสามารถชี้ชวน หรือหาเครื่องมือในการแสวงหาคำตอบเพื่อตอบคำถามที่นักวิชาการช่วยตั้งเอาไว้ก็จะเครื่องมือวัดความสำเร็จของค่ายได้อีกทางหนึ่ง ลองดูบันทึกของท่านกันครับและหากใครอยากตอบคำถามเล่านี้ ขอเชิญนะครับร่วมเรียนรู้ไปกับเราจิตรกรรมฝาผนังวัดศรีมหาโพธิ์

      อัตลักษณ์วัฒนธรรมท้องถิ่นหว้านใหญ่ในบริบทรัฐชาติไทยและกระแสโลกาภิวัตน์

      กับ “คำถาม” ที่ต้องการคำตอบจากเยาวชนที่เข้ารับการสัมมนา

      รองศาสตราจารย์ ดร. ศุภชัย สิงห์ยะบุศย์
      ศูนย์วิจัยศิลปกรรมศาสตร์เพื่อการพัฒนา


      ปฐมกถา

      เมื่อวันที่ 12 สิงหาคม ขณะผมและคณะวิทยากรเดินทางมาสัมผัสจิตรกรรมฝาผนังอุโบสถ หรือที่มักจะเรียกกันว่า “ฮูปแต้ม” บนผนัง “สิม” ในอำเภอหว้านใหญ่ โดยเฉพาะที่วัดศรีมหาโพธิ์ ผมได้เกิดคำถามต่าง ๆ มากมายกับตนเอง ต่อปรากฏการณ์ที่สัมผัสเบื้องหน้า ต่อการทำความเข้าใจ “ฮูปแต้ม” อันงดงามบนผนัง “สิม” ที่เป็นปรากฏการณ์แห่งอดีตที่ยืนตัวอย่างนอบน้อม ท่ามกลางศาสนาคารแบบใหม่ หลังใหญ่จนดูจะกลบกลืนอุโบสถหลังเก่าเล็ก ที่ผนังใต้ชายคาของโบสถ์ถูกทำให้เป็นพื้นที่เก็บโครงเหล็ก ขณะที่ภายในโบสถ์มีถ้วยกาแฟพลาสติก และขวดเปล่าเครื่องดื่มชูกำลังตั้งอยู่สองสามใบ และภาพเขียนก็ถูกเคลือบคลุมด้วยฝุ่นเหนียวที่มากับละอองหรือคราบน้ำจนทำให้ภาพเกือบ 80% ดูเลือนราง


      ปรากฏการณ์ข้างต้น สะท้อนถึงการให้ความหมายต่ออุโบสถของคนท้องถิ่นอย่างปฏิเสธมิได้ (!?)
      อย่างไรก็ตาม นับว่าเป็นโอกาสอันดีของชาวหว้านใหญ่ และโชคดีของ”ฮูปแต้ม” บนผนัง “สิม” วัดศรีมหาโพธิ์ ที่ศูนย์วิจัยพหุลักษณ์สังคมลุ่มน้ำโขง มหาวิทยาลัยขอนแก่น ได้จัดโครงการค่ายศิลปกรรมลุ่มน้ำโขง ตอนฮูบแต้มแคมของ ซึ่งเป็นกิจกรรมที่เน้นกระบวนการปลูกฝังทางวัฒนธรรมให้แก่เยาวชน โดยใช้กรณีและพื้นที่ศึกษาที่ชุมชนบ้านหว้านใหญ่ ตำบลหว้านใหญ่ จังหวัดมุกดาหาร และมีนักเรียน(ซึ่งเป็นทั้งปัจจุบันและอนาคตของหว้านใหญ่และประเทศชาติ) ในเขตพื้นที่ตำบลหว้านใหญ่เข้าร่วมโครงการจำนวน 50 คน ซึ่งหมายความว่า เราน่าจะได้คนที่จะกลายเป็นกำลังสำคัญในการปกปักรักษา อนุรักษ์ และสร้างให้มรดกวัฒนธรรม “ฮูปแต้ม” และ “สิม” หลังนี้ มีความหมายเชิงคุณค่า อย่างที่ “ฮูปแต้ม” และ “สิม” ควรจะเป็น เพราะโดยความเป็นจริงแล้ว “ฮูปแต้ม” และ “สิม” ดังกล่าวนี้คือ ‘อัญมณีชิ้นงาม’ แห่งหว้านใหญ่และริมฝั่งโขง ที่เป็นมรดกจากบรรพชน ซึ่งถูกหล่อออกมาจากเบ้าหลอมจากอัตลักษณ์วัฒนธรรมท้องถิ่นริมฝั่งโขงโดยแท้ หาใช่เศษกรวดทราย เหมือนกับสิ่งก่อนสร้างศาสนาคารรุ่นใหม่จำนวนมาก ที่ถูกสร้างอย่างไร้รสนิยม และขาดความเชื่อมโยงกับอัตลักษณ์ท้องถิ่นของตน ซึ่งมีปรากฏดารดาษอยู่ทั่วไป


      ดังนั้น ในฐานะที่ผมซึ่งเป็น “คนอื่น” ที่เพิ่งจะมาสัมผัสมรดกวัฒนธรรม “ฮูปแต้ม” และ “สิม” วัดศรีมหาโพธิ์ครั้งแรก จึงรู้สึกถึงความตื่นเต้น ตื่นตา ตื่นใจ รับรู้ถึงคุณค่ามหาศาลในโบสถ์ขนาดเล็ก ที่ถูกรายรอบด้วยสิ่งก่อสร้างขนาดใหญ่ แต่ด้วยระยะเวลาเพียง 2 ชั่วโมงเศษที่อยู่กับโบสถ์ดังกล่าว และไม่ใช่คนในพื้นที่แห่งนี้ จึงมิบังอาจจะให้ความรู้เกี่ยวกับ มรดกวัฒนธรรม “ฮูปแต้ม” และ “สิม” หลังนี้


      จึงขอเสนอคำถามต่าง ๆ ที่พรั่งพรู ด้วยความอยากรู้ อยากเข้าใจต่อโบสถ์ดังกล่าว เพราะความเข้าใจจะนำมาซึ่งความตระหนักและชื่นชม ในปรากฏการณ์ดังกล่าวยิ่งขึ้น จึงขอมอบความสงสัย ให้กับเยาวชนเจ้าของพื้นที่ผู้เข้าสัมมนา เพื่อจะใช้เป็น “เข็มทิศและแผนที่” ในการแสวงหา “ความรู้” เพื่อชุบฟื้นชีวีและปัดฝุ่นอัญมณีชิ้นงามแห่งริมฝั่งโขง อันเป็นมรดกจากอดีตกาลให้วาวโรจน์และสร้างความหมายให้กับชาวหว้านใหญ่ในปัจจุบัน ในบริบทรัฐชาติไทยและโลกาภิวัตน์ ที่ผู้คนดำรงอยู่ในความทันสมัย แต่กลับต้องการบริโภคและถวิลหาอดีตแห่งตนและคนอื่น ซึ่งมีคำถามสำคัญดังนี้

      1.คำถามเกี่ยวกับชุมชน : ความเข้าใจมรดกวัฒนธรรม “ฮูปแต้ม” และ “สิม” ในบริบทของวัฒนธรรมลุ่มน้ำโขง
      1.1 ชุมชนบ้านหว้านใหญ่มีความเป็นมาเชิงประวัติศาสตร์อย่างไร?
      1.2 การก่อตั้งชุมชนหว้านใหญ่สัมพันธ์กับพื้นที่กายภาพของแม่น้ำโขง ริมฝั่ง และพื้นราบบนฝั่งอย่างไร?
      1.3 โบสถ์และจิตรกรรมในโบสถ์หลังนี้เชื่อมโยงกับวิถีวัฒนธรรมท้องถิ่น และพี่น้องสองฝั่งโขงอย่างไร?
      1.4 มีเรื่องเล่าขานของชาวหว้านใหญ่และคนในท้องถิ่นเกี่ยวกับอุโบสถและภาพเขียนภายในโบสถ์วัดศรีมหาโพธิ์หรือไม่ ถ้ามีเรื่องเล่าดังกล่าวมีอะไรบ้าง? เรื่องเล่าเหล่านี้มีความสัมพันธ์กับชุมชนหว้านใหญ่และชุมชนสองฝั่งโขงอย่างไร?
      1.5 ลักษณะเฉพาะของชุมชนหว้านใหญ่ มองผ่านพื้นที่ริมฝั่งโขง กลุ่มประชาชน (ชาติพันธุ์) สังคม วัฒนธรรม และ ความสัมพันธ์กับวัฒนธรรมไทย กับวัฒนธรรมลาวอย่างไร?

      2. คำถามเกี่ยวกับวัดและจิตรกรรมวัดศรีมหาโพธิ์ในบริบทวัฒนธรรมท้องถิ่น
      2.1 วัด โบสถ์ และจิตรกรรมบนผนังโบสถ์วัดศรีมหาโพธิ์ถูกสร้างในสมัยใดของลาว และสมัยใดของรัฐสยาม และเกิดขึ้นในบริบทใด?
      2.2 รูปแบบ เนื้อหา และเทคนิคของจิตรกรรมเป็นอย่างไร?
      2.3 คติธรรม ที่ฝากแฝงอยู่ในจิตรกรรมชุดนี้คืออะไร?

      2.4 ภาพจิตรกรรมเชิงสังวาสในอุโบสถซึ่งเป็นพื้นที่ศาสนา สะท้อนหรือบ่งบอกอะไรต่อชุมชนหว้านใหญ่ในอดีต?

      2.5 วัดศรีมหาโพธิ์ในอดีตสัมพันธ์กับวัดลัฏฐิกวัน และวันมโนรมย์ อย่างไร? ทั้งสามวัดมีความเชื่อมโยงกับท้องถิ่นที่เป็นกลุ่มวัฒนธรรมเดียวกัน รวมทั้งชุมชนและวัดในชุมชนฝั่งลาวอย่างไร?
      2.6 เราควรจะประเมินค่าความงามโบสถ์ และ จิตรกรรมในโบสถ์วัดศรีมหาโพธิ์ ด้วยหลักการเดียวกับการประเมินค่าจิตรกรรมของจิตรกรทั่วไปหรือไม่? และควรจะนำไปเปรียบเทียบคุณค่าทางความงามกับจิตรกรรมของวัดในกรุงเทพฯ หรือต่างเขตวัฒนธรรมหรือไม่? เพราะเหตุใด?
      2.7 เราควรจะนำคำว่า “ช่างหลวง” หรือช่างที่เขียนภาพตามหลักการจากช่างหลวง มากล่าวอ้างเพื่อกดทับ “ช่างราษฎร์” และผลงานของช่างพื้นถิ่นเหล่านี้ว่า เป็นจิตรกรมีทีฝีมืออ่อนและผลงานด้อยสุนทรียภาพหรือไม่?


      3. วัดศรีมหาโพธิ์กับบริบทปัจจุบัน ภาพสะท้อนและปรากฏการณ์เฉพาะหน้า

      3.1 โบสถ์และจิตรกรรมในโบสถ์หลังนี้ ซึ่งเป็นสมบัติของชุมชนท้องถิ่น ได้ถูกสร้างให้กลายเป็นส่วนหนึ่งในสมบัติของชาติอย่างไร?
      3.2 ‘แก่งกระเบา’ ในปัจจุบันมีความหมายต่อพื้นที่ริมโขงอย่างไร? และ โบสถ์กับจิตรกรรมวัดศรีมหาโพธิ์มีความสัมพันธ์กับแก่งกระเบา และวัดลัฏฐิกวัล และวัดมโนภิรมย์ในความสนใจของคนอื่นอย่างไร?
      3.3 คนกลุ่มใดในชุมชนเป็นผู้สนใจ ห่วงใย และหวงแหนโบสถ์และภาพจิตรกรรมฝาผนังที่วัดศรีมหาโพธิ์มากที่สุด เพราะเหตุใด?

      3.4 คนในชุมชน กับ คนนอกชุมชนดังกล่าวมีเป้าหมาย หรือวัตถุประสงค์ในการจับจ้องภาพจิตรกรรมเหมือนหรือแตกต่างกันอย่างไร?

      3.5 เนื้อที่ของภาพ 80% อยู่ในความเลือนราง จากการเคลือบคลุมของฝุ่น ตมที่มากับละอองน้ำ สะท้อนถึงความเลือนรางในความสนใจของคนท้องถิ่นใช่หรือไม่?
      3.6 ในฐานะเยาวชนของชาวหว้านใหญ่ มีจินตนาการที่จะต่อเติมจิตรกรรมที่เลือนรางในผนังโบสถ์อย่างไร?
      3.7 ระหว่างคนในชุมชน กับคนนอกชุมชนใครเข้าไปใช้โบสถ์ และ ‘ดู’ ภาพจิตรกรรมภายในโบสถ์มากกว่ากัน?
      3.8 จากการดำรงอยู่ของโบสถ์ และการเข้ามาเยือนของคนอื่น โบสถ์หลังนี้น่าจะกลายเป็นนิทรรศการแห่งอดีต เพื่อต้องการดูศิลปกรรมของวัฒนธรรมท้องถิ่นตั้งแต่บรรพกาล หรือเป็นพื้นที่ศักดิ์สิทธิ์ของชุมชน หรือจะจัดให้พื้นที่ดังกล่าวอยู่ร่วมกันได้หรือไม่ ถ้าได้จะจัดอย่างไร?
      3.9 คนที่รู้เรื่องราวของโบสถ์เหล่านี้ในปัจจุบัน มีกี่คน มีความรู้อะไรบ้าง ยังไม่รู้อะไรบ้าง? และมีความรู้เพื่ออะไร รู้ในบริบทไหน?
      3.10 ระหว่างคนอื่น กับคนในชุมชน ควรจะร่วมกันรื้อฟื้น และสร้างความรู้ เพื่อทำความเข้าใจเกี่ยวกับโบสถ์หลังเก่าและจิตรกรรมดั้งเดิมของวัดศรีมหาโพธิ์ร่วมกันอย่างไร เพื่ออะไร?

      3.11 มีการตีความ/อธิบายจิตรกรรมใน ‘อดีต’ ของคนปัจจุบันอย่างไรบ้าง?

      3.12 ‘ภาพปริศนา?’ กรมพระยาดำรงฯ หรือ พระเจ้าสัญชัยเจ้าเมืองสีวี …การพยายามอธิบายภาพเขียนบางตอน เชื่อมโยงถึงสมเด็จกรมพระยาดำรงเดชานุภาพ ตัวแทนศูนย์กลางอำนาจรัฐสยาม เสด็จตรวจหัวเมืองในมณฑลอีสาน ประทับอยู่บนเกวียน ทั้งที่จริง ๆ แล้วไม่ (น่าจะ) ใช่! ผู้เข้าอบรมมีความเห็นว่าอย่างไร เพราะเหตุใดเว็บไซต์ หรือผู้นำเสนอดังกล่าวจึงอธิบายเช่นนั้น?
      3.13 จำเป็นหรือไม่ที่จะทำให้ ‘อดีต’ ส่วนนี้มีความหมายต่อสังคมหว้านใหญ่ และสังคมไทยในฐานะชุมชนริมฝั่งโขง?

      4.คำถามท้ายบท

      4.1 มีการอธิบายวัดพระศรีมหาโพธิ์ในเว็บไซท์ว่า “วัดศรีมหาโพธิ์เป็นวัดเก่าแก่อยู่ที่อำเภอหว้านใหญ่ มีโบสถ์เก่าแก่หลังเล็กๆ สร้างขึ้นปี พ.ศ.2459 (บ้างก็ว่า 2467) สมัยพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว เป็นศิลปะผสมตะวันตก ไทย เวียดนาม ฝรั่งเศส ภายในโบสถ์มีจิตรกรรมฝาผนังสมัยโบราณอันวิจิตรสวยงามเรื่องพระเวสสันดรชาดกในตอนต่าง ๆ ฝีมือช่างพื้นบ้าน” เยาวชนผู้เข้าอบรมเห็นว่าถูกต้องหรือพอเพียงต่อการอธิบายหรือไม่? ถ้าพวกเราอธิบายจะอธิบายอย่างไร?

      4.2 ฮูปแต้ม หรือ พุทธจิตรกรรม ในโบสถ์วัดศรีมหาโพธิ์ มีความหมายต่อพุทธศาสนาและประชาชนในชุมชนบ้านหว้านใหญ่และลุ่มน้ำโขงในอดีตอย่างไร?

      4.3 ฮูปแต้ม หรือ พุทธจิตรกรรม ในโบสถ์วัดศรีมหาโพธิ์ ยังคงมีความหมายต่อพุทธศาสนาและประชาชนในชุมชนบ้านหว้านใหญ่ ชุมชนลุ่มน้ำโขง และชุมชนไทยในปัจจุบันหรือไม่ เพราะเหตุใด?

      4.4 ถ้าฮูปแต้ม หรือ พุทธจิตรกรรม ในโบสถ์วัดศรีมหาโพธิ์ ไม่มีความหมาย หรือ แทบจะไม่มีความหมายต่อพุทธศาสนาและประชาชนในชุมชนบ้านหว้านใหญ่ ชุมชนลุ่มน้ำโขง และชุมชนไทยในปัจจุบันแล้ว เยาวชนคิดว่าควรจะทำอย่างไรเพื่อที่จะให้มรดกวัฒนธรรมชุดนี้มีความหมายและมีคุณค่าต่อท้องถิ่น รัฐชาติ และโลกาภิวัตน์อย่างแท้จริง?

      ปัจฉิมกถา

      ผมมีความเชื่อว่า คำถามใหญ่ ๆ ชุดนี้ น่าจะช่วยคลี่คลายและทำให้พวกเราเข้าใจ “จิตรกรรมฝาผนังวัดศรีมหาโพธิ์” ซึ่งกำลังดำรงอยู่ในสถานภาพที่ทับซ้อนกัน ระหว่างการเป็นตัวแทนของ “อัตลักษณ์วัฒนธรรมท้องถิ่นชายฝั่งโขง” ในบริบทรัฐชาติไทย และกระแสโลกาภิวัตน์ อย่างไรก็ตาม ผมชื่นชมและยินดีมาก ถ้า “คำตอบ” จะได้มาจากเยาวชนและชาวหว้านใหญ่ ผู้เป็นเจ้าของมรดกวัฒนธรรม จะต้องต้องอยู่กับอัญมณีชิ้นงาม ที่เป็น “ข้อต่อ” สำคัญ ที่กำลังเชื่อมโยง หรือ เชื่อมต่อชุมชนหว้านใหญ่กับโลกภายนอก จากปรากฏการณ์ที่คนอื่นให้ความสนใจหว้านใหญ่ หรือหว้านใหญ่ “ถูกสนใจ” จากคนอื่นนั้น แท้จริงแล้วก็คือ ภาพจิตกรรม และสิมหลังเก่า ที่กำลังจะถูกชาวหว้านใหญ่ส่วนใหญ่หลงลืมนั่นเอง

      สิงหาคม 24, 2009

      ภาพเขียนในคืนอันมืดมิด

      Filed under: Uncategorized — แท็ก: , — ออต @ 13:14

      เขียนเรื่อง ศิลปะนามธรรม : เด็กก็ทำได้ ไปเมื่อหลายวันก่อน มาคราวนี้ผมเขียนต่อเนื่องจากกิจกรรมที่แล้วในห้องเรียนที่ HUG SCHOOL เพราะว่ากิจกรรมนี้ต่อเนื่องกับศิลปะนามธรรมที่เล่าไปแล้วก่อนหน้านี้ครับ กิจกรรมนี้เป็นกิจกรรมที่ชวนให้เด็กเขียนภาพด้วยเส้นสีบนพื้นดำ แทนการเขียนภาพเส้นสีบนพื้นขาว กิจกรรมนี้ต่างกันหรือเหมือนกับภาพเขียนเดิม ๆ แบบไหนตามกันครับ

      หลังเด็ก ๆ เรียนรู้การตัดทอนรูปทรงจากธรรมชาติให้กลายมาเป็นศิลปะแบบนามธรรมแล้ว สิ่งที่เด็ก ๆ เรียนรู้จากกิจกรรมที่แล้วคืออารมณ์ที่มีต่อรูปทรงที่พบในธรรมชาติ และ การแปรรูปรูปทรงธรรมชาติมาเป็นรูปทรงนามธรรมที่สื่อสอดคล้องกับอารมณ์ของเด็ก ๆ แต่ละคน กิจกรรมนี้เด็ก ๆ สนุกสนานอยู่กับการเลือกสีให้เหมือนดังใจที่ตนเองรู้สึก

      กิจกรรมต่อไปครูออตชวนเด็ก ๆ เอางานศิลปะนามธรรมซึ่งเขียนด้วยสีชอล์คน้ำมันมาสร้างเป็นงานศิลปะอีกแบบหนึ่ง โดยการนำสีโปสเตอร์สีดำผสมสีม่วงหรือน้ำเงินเล็กน้อย ทาสีที่ผสมแล้วทับลงไปบนศิลปะนามธรรมให้เต็มพื้นที่จนภาพที่มีสีสันเหล่านั้นมืดสนิทราวกับกลางคืน

      เอาถ้ามันเหมือนกลางคืน เราก็ชวนเด็ก ๆ มาวาดภาพกลางคืนกันดีไหม เราทำอะไรเวลากลางคืนบ้าง  กลางคืนเราเห็นอะไร

      แต่ในการวาดภาพบนพื้นที่สีดำนั้น ครูออตเปลี่ยนจากการวาดสีลงไปบนกระดาษดำเป็น การขูดเอาสีดำที่เคลือบสีชอล์คน้ำมันออก ลายเส้นที่ขูดสีดำออกจะเผยสีชอล์คสีต่าง ๆ แบบไม่ตั้งใจเกิดให้ปรากฎเป็นที่ตื่นเต้นแก่เด็ก ๆ งานนี้เราจึงเรียกเทคนิคนี้ว่า ขูดสี ซึ่งตอนนี้นี่เอง เด็กๆต่างสนุกกับการขูดกันอย่างเมามัน  บางคนชี้ชวนให้เพื่อนมาดูสีชอล์คที่ปรากฎว่ามันสอดคล้องกับภาพที่ตนเองวาดหรือเปล่า  เพราะดวงดาวบางคนได้สีเหลือง แต่ดวงดาวบางคนอาจจะสีชมพู   อู้้้้้้้้้้้้้้้้ๆๆๆๆๆๆๆๆๆๆๆๆๆๆๆๆๆๆๆๆๆๆๆๆๆๆๆๆๆๆๆๆๆๆๆๆๆๆๆๆๆ อเมซิ่ง

      สิ่งที่ควรระวังสำหรับกิจกรรมนี้คือ สิ่งที่ขูดสีต้องเป็นอะไรที่แหลมนิดหน่อยเช่นตะปู  ลวด ดังนั้นต้องระวังกันด้วย ในขณะเดียวกันสีดำที่ขูดออกเนื่องจากเป็นเกล็ดเล็ก ๆ ควรระวังไม่ให้เข้าตาหรือเป่าด้วยพัดลมเพราะจะทำให้ผงสีฟุ้งไปในอากาศ เด็กที่แพ้อาจจะไม่สบายได้  อ๋อ สีดำที่ขูดออกอย่าเอามือลูบออกเพราะจะเป็นผงสี ซึ่งทำให่สีดำเปื้อนภาพได้ ดังนั้นควรเคาะออกเท่านั้น

      สิงหาคม 20, 2009

      เวียงจัน เวียงใจ : สุนทรียภาพเหนือลำของ

      วันนี้นั่งหาเพลงที่จะเอาไปใช้ในค่ายฮูบแต้ัมแคมของ 1-3 กันยายนนี้ หาไปหามาเผอิญไปพบเพลงนี้เข้า ฟังไปหนึ่งรอบ สองรอบ สามรอบ และกลายเป็นรายรอบในที่สุด เพลงนี้ชื่อเพลง เวียงจัน เวียงใจเวอร์ชั่นเก่าน่าจะเป็นของลุงแนบแต่งให้เพชรพิณทองร้อง (คณะวงดนตรีลูกทุ่งตำนานอีสาน)

      เดิมลุงแนบแต่งให้เพลงนี้เป็นเพลงสำหรับชายที่ร้อง แต่เวอร์ชั่นที่ผมฟังเป็นการโต้ตอบกันระหว่างเนื้อร้องผู้ชายกับเนื้อร้องผู้หญิง ซึ่งหากฟังเสียงร้อยก็น่าจะเป็นนพดล ดวงพร หัวหน้าคณะกับชาวคณะเพชรพิณทอง เนื้อหาในเพลงนี้ตรึงใจผมมาก จนอยากจะเอามาถ่ายทอดให้ชาวลานได้อิ่มเอมกัน เพราะการแต่งเพลงของคนสมัยก่อนนี่มันเยี่ยมจริง ๆ

      ในส่วนเนื้อเพลงก่อนนะครับ ท่านลองอ่านอย่างอิ่มเอมสักสองสามรอบท่านจะพบความงามอย่างแนบจิต

      (ชาย) น้ำโขง ไหลหลั่งเบิ่งสองฝั่งเป็นแดนเขตขันฑ์
      อ้ายมาเว้า ฮักสาวเวียงจันทน์
      จนความสัมพันธ์ ฮักกันดูดดื่ม
      อ้ายยังบ่ลืม เวียงจันทน์เวียงใจ
      (สร้อย) ตุ้มอ้ายแนสาวเวียงจันทน์เอย ๆ
      คั่นเวียงจันทน์บ่ฮ่าง บ่วางน้องให้แก่ไผ
      คนสวยพี่นี่เอย คนงามพี่นี่เอย

      (หญิง) น้ำโขง ไหลหลั่ง เบิ่งสองฝั่งเป็นแดนเขตขันฑ์
      อ้ายมาเว้าฮักสาวเวียงจันทน์
      อ้ายเอ่ยจำนัลฮักมั่นจริงจัง
      น้องยังคอยหวังอ้ายกลับเวียงทอง
      (สร้อย) อ้ายอย่าลืมสาวลาวเวียงจันทน์
      ได้น้ำโขงขวางกั้นบ่สำคัญจักกะหน่อย
      คนสวยน้องนี่เอย คนงามน้องนี่เอย

      (ชาย) โอ้หนอ สาวเวียงจันทน์เอย
      อ้ายบ่เคยฮักสาวบ้านได๋
      ถึงอ้ายสิอยู่ ถิ่นแคว้นแดนไกล
      อ้ายเป็นคนไทยหัวใจฮักจริง
      น้องอย่าประวิงย่านอ้ายหลอกลวง
      (สร้อย) ตุ้มอ้ายแนสาวเวียงจันทน์เอย ๆ
      คั่นเวียงจันทน์บ่ฮ่าง บ่วางน้องให้แก่ไผ
      คนสวยพี่นี่เอย คนงามพี่นี่เอย

      (หญิง) ย่านหลง คำชายจะหลอกหลวงให้สาวลาวอกตอม
      ดอกไม้บ้านป่าอ้ายคว้ามาดอม
      เมื่อสิ้นกลิ่นหอมจะคลายแหนงหน่าย
      กลัวพ่อคนไทย ฮักน้องบ่จริง
      (สร้อย) อ้ายอย่าลืมสาวลาวเวียงจันทน์
      ได้น้ำโขงขวางกั้น บ่สำคัญจักกะหน่อย
      คนสวยน้องนี่เอย คนงามน้องนี่เอย

      (ชาย) ข้ามโขง ล่องเรือ หันมองท่าเดื่อทุกเมื่อใจหาย
      ต้องจำพราก จากน้องเพียงกาย
      อ้ายสุดอาลัย หัวใจไหวหวั่น
      เจ้าจงคอยวัน อ้ายกลับเวียงทอง
      (สร้อย)ตุ้มอ้ายแนสาวเวียงจันทน์เอย ๆ
      คั่นเวียงจันทน์บ่ฮ่างบ่วางน้องให้แก่ไผ
      คนสวยพี่นี่เอย คนงามพี่นี่เอย

      (หญิง) น้ำโขง ไหลเอื่อยไหลลงไปเรื่อยบ่กลับคืนหวน
      น้องยังนึกหวั่น ใจอ้ายเรรวน
      พ่อดอกรำดวน บ่หวนคืนมา
      อย่าไกลลับลา เหมือนลำน้ำโขง
      (สร้อย) อ้ายอย่าลืมสาวลาวเวียงจันทน์
      ได้น้ำโขงขวางกั้น บ่สำคัญจักกะหน่อย
      คนสวยน้องนี่เอย คนงามน้องนี่เอย

      (ชาย) คิดฮอดน้องบ้านอยู่เวียงจันทน์
      แม่น้ำโขงมาคั่นเห็นกันปีละเทือ
      คิดถึงเจ้าเด ๆ

      อ้า……………..อ่านเนื้อเพลงสองสามรอบท่านจะรู้ว่า คนแต่งเพลงเขาแต่งอย่างมาก  มีศิลปะในการแต่งเพลงอย่างมาก ในแต่ละท่อนมีการใช้การสัมผัสในทุกท่อนและเป็นสัมผัสอย่างไม่ขะเขิน ลงตัว งดงาม แซบ นัว

      น้ำโขง ไหลหลั่ง เบิ่งสองฝั่งเป็นแดน เขตขันฑ์
      อ้ายมาเว้า ฮักสาวเวียงจันทน์
      จนความสัมพันธ์ ฮักกัน ดูดดื่ม
      อ้ายยังบ่ลืม เวียงจันทน์เวียงใจ

      • สัมผัสในลงตัวที่สุด หลั่ง-ฝั่ง
      • สัมผัสนอกงามแท้ ขันฑ์-จันทน์-พันธ์,ดื่ม-ลืม
      • เล่นคำในแต่ละวรรคด้วยอักษรเช่น ไหล-หลั่ง, เขต-ขันฑ์,ดูด -ดื่ม,เวียงจันทน์เวียงใจ

      ในการแต่งเพลง ลุงแนบใช้การเปรียบเปรย ด้วยภาษาที่หวานละมุนดังหมอกที่ลอยเหนือลำน้ำของ ยามเช้าของฤดูหนาวเสียจริง ๆ ไปดูกันครับว่าท่อนไหน เปรียบเปรยอะไร

      • คั่นเวียงจันทน์บ่ฮ่าง บ่วางน้องให้แก่ไผ เปรียบได้กับ ความรักที่ชายหนุ่มไทยมีต่อสาวลาวเวียง ว่าชาตินี้ความรักจะหมดไปก็ต่อเมื่อเวียงจันทน์ล่มเท่านั้น จะมีก็แต่หนุ่มไทยเท่านั้นล่ะที่จะทำให้ล่ม เช่นเมื่อสองร้อยกว่าปีที่แล้ว (อิอิ)
      • ดอกไม้บ้านป่าอ้ายคว้ามาดอม เปรียบเปรยสาวลาวเป็นดอกไม้บ้านป่าหนุ่มไทยจะคงย่ำยีแล้วจากไป เป็นดอกไม้ไร้ค่า ไม่ใช่คนจากฝั่งไทย พวกเรานั้นช่างไร้ค่า
      • น้ำโขง ไหลเอื่อยไหลลงไปเรื่อยบ่กลับคืนหวน เปรียบเปรยหนุ่มไทที่รักแล้วก็หนีจากไปไม่ไหลย้อนกลับมาเช่นสายน้ำโขง ที่ไหลจากเหลือลงใต้ หากเพลงไปทยก็ราว สายน้ไม่ไหลกลับอะไรแบบนี้

      ในมิติสภาพสังคมของคนไทยและคนลาวสมัยนั้น ตามริมโขงคงยังรักษาความเป็นเครือฐาติทางวัฒนธรรมกันอยู่ คงมีการเดินทางไปมาหาสู่กันง่ายสบาย มีการไปหาเล่นสาวของผู้บ่าวฝั่งไทยอยู่ตลอดเวลา  ซึ่งชี้ให้เห็นว่าแม้การกำหนดของเขตของรัฐจะเกิดขึ้นแล้ว แต่ขอบเขตความสัมพันธ์ในฐานะเครื่อญาติสายโลหติและหลุ่มชาติพันธุ์ยังมีอยู่อย่างชัดเจน  มีการข้ามไปมาหาสู่โดยใช้เรือ ซึ่งเนื้อเพลงท่อนหนึ่งบอกเอาไว้ รวมทั้งบอกสถานที่อันเป็นฉากของเนื้อเพลงที่ นั้นคือท่าเดื่อ

      • ข้ามโขง ล่องเรือ หันมอง“ท่าเดื่อ”ทุกเมื่อใจหาย
        ต้องจำพราก จากน้องเพียงกาย

      หากชาวลานที่สนใจลองเข้าไปดาวน์โหลดมาฟังนะครับ ไพเราะจริง ๆ  สนุกสนานด้วยแม้จะเป็นเพลงโต้ตอบและจีบกันบนความเศร้าก็ตาม อันเป็นนิสัยรักความรื่นเริงของคนลาว  สำหรับออตแอบเอามาใช้เป็นเพลงสายเรียกเข้าเรียบร้อย ถ้าไม่เชื่อลองโทรมาซิครับ ผมจะได้ถือโอกาสฟังเพลงด้วย

      สิงหาคม 19, 2009

      การจัดการความรู้ของชาวเฮฮาศาสตร์ : ประสบการณ์จากปัจจุบันขณะ

      Filed under: Uncategorized — แท็ก: — ออต @ 10:51

      หากใครที่ยอมรับแนวคิดเรื่องความเป็น “พหุลักษณ์” (pluralism)ก็ย่อมเข้าใจดีถึงกระบวนการของชาวเฮฮาศาสตร์ที่ประกอบด้วยบุคคลจากหลากหลายวิชาชีพ หลากหลายพื้นที่  หลากหลายวัย หลากหลายที่มาที่ไปและหลากหลายความคิด แต่ในความหลากหลายนั้นทุกคนต่างเคารพความหลากหลายว่าคือสิ่งที่งดงาม โดยเฉพาะความหลากหลายที่จะเกื้อหนุนงานที่ตนเองรับผิดชอบให้สำเร็จได้อันจะส่งต่อการพัฒนาสังคม ชุมชน ประเทศชาติเราต่อไป

      สำหรับผมถือว่าได้รับอิทธิพลการทำงานโดยใช้การจัดการความรู้แบบธรรมชาติมาจากสวนป่าโดยตรง การใช้ชีวิตคลุกดิน ฝุ่น เดินชื่นชมใบไม้ ใบหญ้า มองหมา มองแมว มองวัว มองกาไก่ในสวนป่า ทำให้พยายามเรียนรู้แนวคิดของครูบาฯ ที่เชื่อว่าการทำงานกับชุมชนนั้นต้องใช้การจัดการความรู้แบบธรรมชาติเป็นพื้น แสวงหาพันธมิตรวิชาการและทำงานอิงระบบ นำความรู้จากแหล่งความรู้มาทดลองทำให้ชัด แจ้ง แทงตลอด(จอดบ้างเมื่อเหนื่อย)

      ในการจัดการค่ายฮูบแต้มแคมของที่จะจัดขึ้นในระหว่างันที่ 1-3 กันยายน 2552 ที่จะถึงนี้ก็เป็นอีกกิจกรรมที่ผมเอาความรู้และกระบวนการจัดค่ายโดยอาศัยการจัดการความรู้เป็นเครื่องมือทำงาน  ผมแสวงหาความรู้จากแหล่งความรู้หลายแหล่งทั้งความรู้ในตำราก่อนลงพื้นที่จริงสืบเสาะแสวงหาเรื่องของฮูบแต้มบนผนังสิมและเรื่องราวของชุมชนบ้านหว้านใหญ่ ซึ่งมีทั้งงานวิจัย บทความและหนังสือองค์ความรู้เหล่านี้ช่วยชี้ทางและย่อระยะเวลาให้การจัดกิจกรรมสะดวกขึ้น

      ความรู้จากตัวคน การที่จะจัดค่ายให้ได้ดีผมต้องขอความรู้จากคนอื่นที่เชี่ยวชาญ  ในยุควิทยาลัยชาวบ้านของครูบาฯสุทธินัท์เอาแนวคิด การขอความรู้จากผู้รู้มาใช้ในการพัฒนา ผมก็เช่นเดียวกันพยายามหาผู้รู้และจัดกิจกรรมในลักษณะนักถอดความหมายทางวัฒนธรรม โดยเชิญผู้รู้เดินทางไปยังชุมชนบ้านหว้านใหญ่และเรียนนรู้ เสนอแนะองก์ความรู้สำคัญมาให้เราได้แปลความถ่ายทอดต่อไปยังเด็กในค่าย

      ความรู้จากธรรมชาติและนิเวศวัฒนธรรม เป็นองค์ความรู้ที่อิงอยู่กับชุมชน โดยคนในชุมชน พื้นที่ อาณาบริเวณในชุมนซึ่งมีความรู้ คลังข้อมูลที่มากมาย เพียงแต่กระจัดกระจายไปอยู่ในที่ต่าง ๆ คนต่าง ๆ เราในฐานะนักจัดการคามรู้เพื่อนำไปใช้ในค่ายเรียนรู้ จำเป็นต้องเสาะแสวงหาเพื่อนำเอาอัตลักษณ์ที่สำคัญขึ้นมากล่าว ขึ้นมาแสดงให้เด็ก ๆ เกิดมุมมองที่สำคัญในการรู้จักตนเอง ไม่แยกคนออกจากวัฒนธรรมพื้นถิ่น

      ความรู้จาก IT เรื่องนี้กระบวนการเฮฮาศาสตร์และลานปัญญานับว่าช่วยได้มาก อาจารย์บางทรายบุกปริมณฑลร้านกาแฟเพื่อมาช่วยเสนอแนะกิจกรรมในการจัดการเรียนรู้แบบค่ายให้แก่เด็ก ๆ นอกจากนั้นยังรับปากจะมาช่วยเป็นคุณครูประจำวิชา เครื่องมือวิทยาการเรียนรู้ชุมชน ซึ่งเปิดมุมมอง ความเชื่อมั่นและองก์ความรู้ที่สำคัญในพื้นที่ให้แก่เด็ก ๆ ได้สนใจ เข้าใจชุมชนตนเอง  นอกจากนั้นอาม่าที่ผมคิดฮอดโทรมายามเช้า รับปากอย่างจิตอาสาที่จะช่วยลงแรงลงความคิดมาช่วยสอนเรื่องอาหาร สมุนไพรและการออกกกำลังกายให้แก่เด็ก ๆ ได้สนุกสนาน ดังนั้นงานนี้ผมจึงผุดวิชา สุนทรียศาสตร์แห่งชีวิต วิชาใหม่ในค่ายให้อาม่าเปิดลานเรียนรู้อย่างเต็มที่ ซึ่งนี่คือพันธมิตรวิชาการที่ผมหาได้จากพหุลักษณ์ในกลุ่มเฮฮาศาสตร์

      ในการจัดค่ายคราวนี้ลำพังผมคงไม่มีงบประมาณในการจัดทำโครงการ งานอิงระบบจึงเป็นกระบวนการที่ใช้ในคราวนี้ ผมขอทุนศูนย์วิจัยพหุลักษณ์สังคมลุ่มน้ำโขง มหาวิทยาลัยขอนแก่นในการจัดทำโครงการซึ่งเราต่างได้ประโยชน์ด้วยกันทั้งนั้น องค์การที่ให้ทุนได้งานได้เผยแพร่วิชาการและได้วิชาการ   ชุมชนที่เราไปจัดได้มุมมองและทัศนะใหม่ ๆ ในการจัดการมรดกทางวัฒนธรรมโดยเฉพาะเด็กและเยาวชนอันเป็นพลังของชุมชนในอนาคตไม่ไกล

      ที่ผมเล่ามาทั้งหมดอยากชี้ให้เห็นว่ากระบวนการเฮฮาศาสตร์และการจัดการความรู้แบบเฮฮาศาสตร์เป็นการทำงานที่ธรรมชาติมาก ไม่ได้ถูกครอบด้วยกรอบของ “ศาสตร์การจัดการความรู้แบบตะวันตก”  ไม่ต้องมีหัวปลา ตัวปลา หางปลา แต่กลับรื่นไหลไปราวกับน้ำโขงจากเหนือลงใต้ แม้สายน้ำจะไหลลง แต่เหล่าปลากลับว่ายทวนน้ำขึ้นไปวางไข่ กระจายพันธุ์์ต่อไปในพื้นที่ที่เหมาะแก่ปลานั้น ๆ อันเป็นธรรมชาติของปลาแต่ละสายพันธุ์ แปลกหน่อยที่ปลาสายพันธุ์เฮฮาศาสตร์เป็นฝูงปลาแบบพหุลักษณ์มีหลายสายพันธุ์ วางไข่ได้หลายพื้นที่ไม่เฉพาะเจาะจง วางไข่เมื่อไหร่มีความงดงามเกิดขึ้นที่นั้น

      สิงหาคม 18, 2009

      ศิลปะแบบนามธรรม : เด็กก็ทำได้

      การถ่ายทอดความรู้สึกต่อสิ่งที่พบเห็น สิ่งที่ระลึกถึง สิ่งที่จินตนาการบางครั้งเราไม่จำเป็นต้องแสดงสิ่งนั้นออกมาเป็นรูปทรงที่สามารถพบเห็นได้ตามธรรมชาติก็ได้ โดยเฉพาะการแสดงออกถึงความรู้สึกที่เป็นนามธรรม เราสามารถถ่ายทอดรูปทรงที่เราเห็น ระลึกถึงหรือจินตนาการถึงในรูปศิลปะแบบนามธรรมได้

      ศิลปะแบบนามธรรม หรือ abstract เป็นศิลปะประเภทที่ไม่มีความจริงเหลืออยู่ หากคนนอกหรือผู้ชมมอง ก็มักเรียกศิลปินพวกทำงานแบบนี้ว่าพวก ศิลปะเปอะ เพราะรูปทรงจริงนั้นได้ถูกตัดทอนให้เหลือแค่เส้นสี น้ำหนัก ที่ก่อให้เกิดความงามตามอารมณ์ความรู้สึกเป็นสิ่งที่เหนือความเป็นจริงต้องใช้จินตนาการในการรับรู้รับชม

      ในห้องเรียนที่ HUG SCHOOL ผมให้เด็ก ๆ ได้ทดลองทำศิลปะแบบนามธรรมนี้ด้วย ซึ่งเป็นงานศิลปะนามธรรมที่พัฒนามาจากแบบเหมือนจริงในธรรมชาติ แต่นำมาตัดทอน เพิ่มเติมเนื้อหาที่ต้องการแสดงออก  โดยเน้นให้เด็กสามารถบอกตนเองได้ว่าตนเองกำลังวาดอะไรและรู้สึกอย่างไรต่อสิ่งที่ตนเองเห็น ตนเองจินตนาการเห็น

      วันนี้มีนักเรียน 4 คนที่มาเรียน หลังผมเสนอรูปแบบศิลปะนามธรรมให้เด็ก ๆ ทราบแล้ว ผมก็ปล่อยให้เขาเลือกสี เลือกจินตนาการ เลือกมอง เลือกถ่ายทอดเต็มกำลังความสามารถ ซึ่งเมื่อท้ายชั่วโมงก็พบว่าเด็ก ๆ สามารถถ่ายทอดศิลปะแบบนามธรรมได้เช่นเดียวกับศิลปิน เพราะผลงานมีการเลือกสรรสี  ตัดทอนรูปทรงและวางองค์ประกอบได้อย่างงดงาม

      นี่เป็นประสบการณ์ใหม่ ๆ ที่เด็ก  ๆ หาได้จากห้องเรียนศิลปะที่ HUG  SCHOOL

      สิงหาคม 17, 2009

      แผนผังเดินดินบ้านหว้านใหญ่ : มุมองและความคิด

      Filed under: Uncategorized — ออต @ 10:37

      เมื่อวานอาจารย์บางทรายแวะมาคุยเรื่องค่ายฮูบแต้มแคมของ ที่จะจัดในวันที่ 1-3 กันยายนนี้ที่บ้านว่านใหญ่ อำเภอว่านใหญ่ จังหวัดมุกดาหาร(ที่เขียนว่านใหญ่เพราะว่า ชื่อเดิมของบ้านนี้คือ ว่านใหญ่ แต่เพี้ยนเป็น หว้านใหญ่ในปัจจุบัน)  ซึ่งวานนี้ได้มุมมองและแนวคิดหลายอย่างในการจัดค่ายจากมิติของนักพัฒนา

      กิจกรรมหนึ่งที่ผมเน้นและท่านอาจารย์บางทรายเห็นด้วยคือ การสำรวจพื้นที่ชุมชนเพื่อหาเรื่องราว มุมมองและอัตลักษณ์ที่แสดงออกในพื้นที่ของชุมชนบ้านหว้านใหญ่ ซึ่งในค่ายจะชี้ให้เห็นการมองในมุมที่คนในลืมมองแต่คนนอกสนใจ  ในค่ายเราจะชี้ชวนให้เด็ก ๆ สงสัยสิ่งที่ปรากฎ เรื่องเล่าที่สืบมา

      แผนผังเดินดินของเรามีรูปแบบการศึกษาอย่างไร นี่เป็นแผนการจัดการเรียนรู้สำหรับเด็ก ๆ ในรูปแบบค่ายที่เราวางแผนเอาไว้การทำและจะนำไปสู่การจัดทำแผนที่ท้องถิ่น

      แผนผังท้องถิ่น (Localized Mapping) ในมุมมองของผมหมายถึง การค้นหา ระบุ จัดทำข้อมูล แหล่งทรัพยากรที่ปรากฎในชุมชนทั้งปรากฎในรูปลักษณะที่จับต้องได้(The tangibles)และสิ่งที่เป็นนามธรรม(The intangibles) โดยกระบวนการทำงานและผลัพท์ของการทำแผนที่ท้องถิ่นจะช่วยให้คนในท้องถิ่นชื่นชมอัตตลักษณ์ของชุมชน(Identity)และใช้ประโยชน์จากทรัพยากรที่พบในแผนที่

      กระบวนการจัดทำแผนผังท้องถิ่น สำหรับค่ายฮูบแต้มแคมของ มีกระบวนการง่าย ๆ ซึ่งเหมาะสำหรับจัดการเรียนรู้ในค่ายดังนี้

      1.แผนที่เดิม (Documentary survey) กลางแผนที่เดิม ๆ ที่มีคนทำเอาไว้จากแหล่งต่าง ๆ ที่หาได้

      2.สำรวจทรัพยากรใหม่(Field survey) ออกเดินทางสำรวจตามเส้นทางในแผนที่เก่า ตรงนี้ มีอะไร มันเป็นอย่างไร สำคัญอย่างไร และเดินออกนอกเส้นทางในแผนที่เก่าเพื่อหาสิ่งใหม่ สัมภาษณ์ พูดคุย เรียนรู้จากการถาม

      3.แผนผังมือ (Manual method) บันทึกสิ่งที่เห็น วาดเส้นทางเพิ่ม ลงในแผนที่ทำการถ่ายรูป วาดภาพ เขียน

      4.แผนผังท้องถิ่นสมบูรณ์(Localized Mapping) เอาข้อมูลมารวบ เรียบเรียงใหม่ ไฉไลกว่าเก่าเพราะเป็นของท้องถิ่นเราเอง เอาเทคโนโลยีมาช่วยในการออกแบบเพื่อนำเอาไปใช้งานได้สะดวกในเรื่องอื่น ๆ ซึ่งกระบวนการนี้เราจะมีพี่ ๆ นักออกแบบศิลปะมาช่วยทำให้ไฉไลกว่าเดิม

      พี่น้องชาวลานท่านใดสนใจเชิญได้นะครับ ยังเปิดรับความช่วยเหลือเสมอ

      สิงหาคม 16, 2009

      นายกมาร์ค ปะทะ ออตเฮฮาศาสตร์

      Filed under: Uncategorized — แท็ก: , — ออต @ 0:44

      เรื่องนี้เป็นอานิสงค์ของการไปงานวันระพี 2 ที่ไทยพาณิชย์สำนักงานใหญ่ ครั้งที่ครูบาฯ ให้โอกาสไปจัดบูทเล็ก ๆ ของชาวเฮฮาศาสตร์ นอกจากผลผลิตสวนป่า ต้นแบบหนังสือเข้าเป็นไผและเครื่องพ่นไอน้ำของลุงแฮนดี้แล้ว ครูบาฯให้ผมเอาผ้าไหมไปอวดคนเมืองหลวงด้วย

      การไปอวดผ้าคราวนั้นทำให้มีคนสนใจ เขาถามไป ถามมา ซักไปซักมา คุยกันไป คุยกันมา ถ่ายรูปไป ถ่ายรูปมา จนแล้วจนรอดสุดท้ายบอกจะเอาไปลงหนังสือให้จากต้นเดือนพฤษภาคมถึงวันนี้ก็หลายเดือน ล่าสุดคอลัมนิสน์โทรมาหาและบอกว่าลงเรื่องของผ้าให้แล้ว

      งานนี้ไม่สามารถลงรายละเอียดที่เขาเขียนไว้ ได้แต่เอารูปมาลงไว้เป็นบันทึกเตือนตัวเอง และบอกกล่าวญาติพี่น้องชาวเฮฮาศาสตร์เผื่อสนใจเรื่องของผ้าครับ ฉบับนี้หน้าปกเป็นรูปนายกมาร์คผู้มีอำนาจพร้อมแต่ใจไม่พร้อม อิอิ ท่านใดสนใจตามอ่านได้ที่เนชั่นสุดสัปดาห์นะครับ ฉบับปักษ์นี้เลย

      « บันทึกเก่ากว่าบันทึกใหม่กว่า »

      Powered by WordPress