ลานบ้านชลบถพิบูลย์

สิงหาคม 13, 2009

คนวัฒนธรรม กับ พหุลักษณ์

เช้าของวันแม่ ที่ขอนแก่นแม้บรรยากาศจะดีมากคือมีแดดอ่อน ๆ แต่ขบวนนักถอดความหมายทางวัฒนธรรมไปถึงเมืองว่านใหญ่ ก็พบว่าอากาศครึ้มฟ้าครึ้มฝนอยู่มาก ๆ ไม่ยากที่จะเดาว่าบ่ายนี้ฝนที่ตั้งเค้าไม่น่าจะไหลผ่านพื้นดินแถบนี้  น่าจะตกมาให้เราได้เปียกปอน งานนี้ผมออกจะห่วง ๆ อาจารย์ผู้ใหญ่ที่มาด้วยจะเป็นหวัดจากพิษฝนได้

หลังรับประทานอาหารเที่ยง  เราลงมือทำงานและสำรววจพื้นที่ทันทีโดยเริ่มต้นที่วัดศรีมหาโพธิ์ ชึ่งเป็นวัดที่เราใช้เป็นแกนกลางในการจัดทำหลักสูตร งานนี้อาจารย์บางทราย แห่งดงหลวงมาสมทบพอดี พร้อม ๆ กับพี่มหาซึ่งเป็นคนหนุ่มที่สนใจงานวัฒนธรรมและพื้นที่ มาช่วยอธิบายความให้เราทราบพื้นฐานของวัดและชุมชนแถบนี้ ซึ่งนับว่าได้ความรู้จากคนพื้นที่เป็นอย่างดี

จากคำอธิบายของพี่มหา และน้อง ๆ จาก อบต.ว่านใหญ่ ทำให้เราทราบว่า คำว่า หว้านใหญ่ เพี้ยนมาจาก ว่านใหญ่ ซึ่งพื้นที่เดิมของชุมชนแถบนี้เป็นดงว่าน เมื่อตั้งชื่อบ้านก็นิยมเอาพืชพันธุ์ที่สำคัญมาตั้งเป็นชื่อบ้านจึงให้ชื่อว่าบ้าน ว่าน  จากการสัมภาษณ์ยังไม่ทราบแน่ว่าเป็นว่านหรือพืชตระกูลใด ต้องสืบเสาะอีกครั้งจากผู้แก่ผู้เฒ่าแถบนี้  ผมได้แต่แอบยุน้อง ๆ จาก อบต.ว่านใหญ่ให้เสาะหาดู หรือไม่แน่ว่าในค่ายผมอาจจะให้เด็กสืบหาว่านอันเป็นชื่อบ้านนามเมืองนี้ด้วย(ได้ไอเดียการจัดการเรียนจากคำถามในพื้นที่ที่ไปเจอ)

ส่วนคำสัญณิฐานของผม คำว่าหว้านใหญ่ น่าจะเพี้ยนมาจาก ว่านใหญ่ จริง แต่ไม่ใช่ชื่อ ว่านใหญ่ จริง ความจริงน่าจะมาจาก ว่านหลวง ซึ่งเป็นชื่อที่ปรากฎในจดหมายการเดินทางของเจ้านายจากบางกอกในการสำรวจอีสาน  ต่อเมื่อมีการแยกบ้านของประชากรจากว่านหลวงไปตั้งบ้านใหม่จึงเรียกบ้าน ว่านน้อย/ว่านใหญ่  และเพี้ยนเป็น หว้านใหญ่/หว้านน้อยในที่สุด ในปัญหาข้อนี้ก็ขอเชิญนักภาษา นักท้องถิ่นนิยม นักประวัติศาสตร์ค้นหากันอีกรอบ

สิ่งที่ทุกคนแปลกประหลาดใจในการพบวัดศรีมหาโพธิ์คือ การมีสิมหลังเล็กมากและเป็นหลังเล็กที่มีฮูบแต้มด้วย เมื่อไปถึงนักถอดหรัสของผมก็ต่างสนใจดู ถ่ายภาพ พูดคุยทั้งวงสนทนาใหญ่ วงสนทนาเล็ก เดินออกมาชื่นชม นั่งจังงังทำอะไรไม่ถูก  อาจารย์รณภพ เตชะวงษ์บอกกับผมว่า ทำอะไรไม่ถูกเพราะอึ้งมาก  แม้มีกล้องในมือก็ไม่รู้จะถ่ายอะไรมีความรู้สึกบางอย่างอยู่ในจิตใจ

อาจารย์บอนนี่ บอกผว่าวัดนี้สวยพิเศษและเรียบร้อย  คือมีความเงียบ และเรียบร้อยเหมือนผู้หญิงนั่งฟังธรรม(อันหลังนี่ผมเติมเอง เพราะไม่รู้จะถอดความความรู้สึกของอาจารย์ออกมาอย่างไร) เพราะวัดแห่งนี้เผยภาพเรื่องราวของพระเวสสันดรอย่างจริงใจ ศรัทธาและตัดภาพที่จะให้ความรู้สึกรุนแรง ความอิโรติก ออกไปอย่างมาก

เ่ช่นในภาพชูชกท้องแตกตาย ก็วาดชูชกตายแบบคนธรรมดาไม่ใส่อารมณ์ไปมากเหมือนวัดในแถบอีสานกลาง  ในตอนที่เผ่าศพชูชกก็วาดภาพการเผาศพอย่างสมเกียรติ   ในตอนที่เหล่าเมียพรามห์มาทำร้ายและด่าทอนางอมิตดาที่บ่อน้ำก็พบว่ามีภาพแค่ดึงชายผ้าถุงขึ้นคล้ายโกรธ แต่ในแถบอีสานกลางภาพที่แสดงออกถึงกับมีการ จ้อนซิ่น ถลกผ้าถุง โชว์ของสงวนกันอย่างโจ่ง ๆ  แต่สำหรับวัดศรีมหาโพธิ์ช่างด่าทอด้วยคำสุภาพเสียเหลือเิกิน

กิจกรรมการถอดหรัสเป็นไปอย่างธรรมชาติ ไม่ได้เครียดจนทำงานหน้าเขียวหน้าแดง แต่ผมสังเกตเห็นปฏิสัมพันธ์การแลกเปลี่ยนของนักวิชาการที่แสดงทัศนะของตนเองในมิติที่ตนเองสนใจ ผมว่าถึงแม้ในใจไม่เห็นด้วยแต่ก็ยอมรับในความแตกต่างและหลากหลาย  ผมว่านี่ซิ ถึงเป็นมิติของ พหุลักษณ์อย่างแท้จริง

สิงหาคม 11, 2009

นักถอดรหัสวัฒนธรรม 2 : มิตรชาวต่างชาติหัวใจอีสาน

Filed under: Uncategorized — แท็ก: , — ออต @ 13:34

เมื่อวานลงบันทึกไปเกี่ยวกับนักถอดรหัสวัฒนธรรมที่จะร่วมเดินทางไปกับผมที่วัดศรีมหาโพธิ์ บ้านหว้านใหญ่ อำเภอหว้านใหญ่ จังหวัดมุกดาหาร ซึ่งล้วนแต่เป็นคนไทยหัวใจรักษ์ถิ่นทั้งนั้น ในบันทึกนี้ผมเหลือนักถอดรหัสวัฒนธรรมอีกสามท่านที่จะลงในบันทึกนี้

อาจารย์รณภพ เตชะวงษ์ ศิลปินคนขอนแก่นที่มีผลงานศิลปะที่รื่นรมณ์และคมคาย อาจารย์ต้อมเป็นทั้งศิลปินและอาจารย์ ปัจจุบันสอนที่คณะศิลปกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่นและสอนร่วมโรงเรียนกันกับผมที่ HUG SCHOOL โรงเรียนศิลปะสำหรับคนรักศิลปะ อาจารย์ต้อมเรียนที่ขอนแก่นก่อนจะไปเรียนศิลปะที่มหาวิทยาลัยศิลปากรจนจบในระดับปริญญาโท สำหรับผมงานศิลปะของอาจารย์เป็นงานที่ผนวกเอาวัฒนธรรมอีสานมาสร้างสรรค์ในรูปแบบศิลปะร่วมสมัยมาได้อย่างอิ่มเอมและรื่นรมณ์ หากใครได้สะสมงานศิลปะของอาจารย์สักชิ้น ผมว่าท่านจะอยากจิบกาแฟแล้วมองงานศิลปะที่ชานบ้านอย่างไม่รู้หน่าย การร่วมเดินทางคราวนี้เราในฐานะผู้จัดวาดหวังว่าอาจารย์จะได้นำเอาบริบทที่พบเห็นมาถ่ายทอดเป็นงานศิลปะและช่วยแนะนำเราในการคัดลอก สร้างสรรค์งานศิลปะจากศิลปกรรมพื้นบ้าน

ส่วนอีกสองท่านที่เหลือนี้ ผมเองภูมิใจนำเสนอเป็นอย่างยิ่ง เพราะเป็นเพื่อนต่างชาติที่สนใจวัฒนธรรมไทยอย่างมาก โดยเฉพาะวัฒนธรรมอีสาน ซึ่งน้อยนักหนาที่ปริมณฑลอีสานจะมีคนต่างชาติต่างภาษามาเบิ่งแงง เพราะอีสานบนสื่อมีแต่ความแห้งแล้ง ไม่อุดมวัฒนธรรมเช่นล้านนาประเทศ

Bonnie Brereton(Ph.D) เพื่อนผู้ร่วมเรียนรู้เกี่ยวกับจิตรกรรมฝาผนังของผมในระยะหลายปีที่ผ่านมา นอกจากอาจารย์ไพโรจน์ สโมสร(ลาจากไปแล้ว) ก็มี Bonnie Brereton นี่กะมั่งที่ชอบเดินทางไปดูวัดกับผมในหลายพื้นที่อย่างไม่รู้หน่าย ผมรู้จักอาจารย์บอนนี่คราวที่อาจารย์มาพำนักที่คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ แต่เสียดายที่ช่วงเวลาที่เรารู้จักกันเป็นช่วงท้ายของทุนในการพำนักที่นี่ แต่อย่างน้อย Bonnie Brereton คือผู้จุดประกายให้ผมสนใจเรื่องนี้อย่างจริงจัง เพราะคนต่างชาติแบบอาจารย์ยังสนใจ ผมคนอีสานแท้ ๆ ยิ่งต้องรู้จักอีสานให้มากกว่านี้ ผมกับอาจารย์ฝันถึงการมีมูลนิธิเล็ก ๆ ที่ทำงานเกี่ยวกับศิลปกรรมอีสานทั้งงานวิจัยและการบูรณาการกับการศึกษา โดยเฉพาะการศึกษานอกระบบ ทำงานกับชาวบ้านชุมชนในประเด็นวัฒนธรรมทั้งแบบดั่งเดิมและแบบสมสมัย ความฝันนี้ผมยังไม่เปลี่ยนในระหว่างรอจังหวะ โอกาส ผมกับอาจารย์ Bonnie Brereton ก็จะเรียนรู้อีสานไปเรื่อย ๆ บทความล่าสุดของอาจารย์อ่านได้ ที่นี่

สามปีที่ผ่านมาขณะที่ผมนั่งเล่นที่ร้าน มีชาวต่างชาติพูดไทยไม่ได้มาหาผมที่ร้าน เราพูดคุยด้วยความยากลำบากเพราะภาษาอังกฤาสำหรับผมมันงู ๆ ปลา ๆ มาจนอยากจะปาทิ้งให้หลุดไปจากชีวิต เท่าที่แปลออกชาวต่างชาติคนนี้ชื่อ Ivan เป็นชาวออสเตรเรีย แต่มาทำงานเป็นอาจารย์สอนที่มหาวิทยาลัยราชภัฏมหาสารคาม ท่านมาหาผมเพราะสนใจจิตรกรรมฝาผนังและสิมอีสานและขอซื้อหนังสือเล่มเล็ก ๆ ชื่อ สินไซ ที่ผมทำเอาไว้นานแล้ว หลังจากนั้นไม่นานเราก็รู้จักกันและเมื่อไปเยี่ยมท่านที่บ้านก็รู้ว่าท่านสนใจเรื่องอีสาน ๆ เป็นอย่างมากบางคราวก็ท่องเที่ยวถ่ายภาพสิมเก่า ๆ เอามาวิเคราะห์ เอาซาบซึ้งและที่สำคัญอะไรที่อยากรู้ อาจารย์ Ivan จะตรงดิ่งไปทำให้รู้ให้กระจ่าง นอกจากนั้นท่านยังเป็นคนที่เสียสละและเอื้อเฟื้อต่อเราในการหาภาพถ่ายสวย ๆ ไปใช้ในการทำงานอยู่เสมอ ๆ

นี่เป็นนักถอดรหัสวัฒนธรรมสามท่านที่เหลือที่ผมเอามาลงในบันทึกนี้ เมื่อถอยออกมาอ่านบันทึกอีกรอบผมก็พบว่า นักถอดรหัสวัฒนธรรมของผมมีมิติที่น่าสนใจคือผมมีทั้งคนนอกประเทศ คนนอกอีสาน และคนอีสานเป็นนักถอดรหัส ซึ่งความคาดหวังในการจะได้แนวคิดและเนื้อหาดีดีที่จะแปลความให้เด็ก ๆชาวค่ายเข้าใจคงไม่ไกลเกินเอื้อม เจอกันบันทึกต่อไปครับ

สิงหาคม 10, 2009

นักถอดรหัสทางวัฒนธรรม ; กุญแจสำคัญของค่ายฮูบแต้มแคมของ

วันที่ 12 สิงหาคมนี้แม้จะเป็นวันหยุด แต่ผมมีแพลนต้องเดินทางไปลงพื้นที่ในการทำค่ายฮูบแต้มแคมของอีกครั้ง การไปคราวนี้สำคัญสำหรับผมมาก เพราะนี่เป็นการลงไปพร้อมครูบาอาจารย์ของผมหลายคน  ซึ่งแต่ละท่านล้วนเป็นนักวิชาการที่เกี่ยวพันกับเรื่องที่ผมจะทำค่ายด้วยกันทั้งนี้

ในค่ายหลายครั้งเราพบว่าผู้จัดการค่าย ยังหาจุดลงตัวไม่เจอว่าอะไรที่เหมาะสมกับเด็ก บางครั้งอัดเนื้อหาเอาเป็นเอาตาย จนเด็กตายค่าย  บางค่ายก็จัดไปเพื่อให้ได้จัด  แต่สำหรับการจัดค่ายของเราคราวนี้ผมจะไม่ยอมให้เกิดภาวะตายค่าย กับ จัดเพื่อให้ได้จัด ดังนั้นงานนี้ผมจึงเชื้อเชิญนักวิชาการที่เฉพาะในเรื่องไปสำรวจพื้นที่กับผมเพื่อให้ท่านได้ถอดหรัสทางวัฒนธรรมที่แฝงอยู่ในพื้นที่  และจากการถอดรหัสนั้นจะถูกนักการศึกษาแปลเป็นกิจกรรมที่เหมาะสมกับเด็ก ซึ่งเป็นอีกขึ้นตอนถัดไป

ใครบ้างที่ผมเชื้อเชิญ และใครบ้างคือนักถอดรหัสทางวัฒนธรรมสำหรับค่ายของเราในคราวนี้  ผมรู้สึกยินดีมากที่คนเล็ก ๆ อย่างผม เมื่อส่งสารไปยังนักวิชาการที่มีชื่อเสียงและมีเวลาสำหรับทำเรื่องใหญ่ ๆ แต่เมื่อได้รับสารของผม ทุกท่านก็เสียสะเวลาและให้ความกรุณาตอบรับการเดินทางไปเดินหมู่บ้าน เดินวัด เดินแคมของ กับผมในคราวนี้

ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ทรงยศ  วีระทวีมาศ ปัจจุบันท่านดำรงตำแหน่งคณบดีคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น ท่านนี้ผมถือว่าเป็นผู้บุกเบิกงานวิจัยเกี่ยวกับสถาปัตยกรรมเมืองมุกดาหารท่านแรก ๆ หรือที่เรารู้จักในนาม pioneer  งานวิจัยที่สำคัญคือ สิมในจังหวัดมุกดาหาร งานวิจัยและการตีความหมายของสิมที่ปรากฎในมุกดาหารด้วยมิติแห่งสัญญะ อันเป็นงานวิจัยที่ผมอ่านแล้วสนุกและมีคนทำกันน้อยเกี่ยวกับศิลปกรรมอีสาน ซึ่งการไปคราวนี้เราในฐานะผู้จัดคาดหวังว่าท่านจะถอดมุมมองในฐานะนักประวัติศาสตร์สถาปัตยกรรมพื้นถิ่นอีสานให้เราได้เข้าใจ

รองศาสตรจารย์ ดร.ศุภชัย  สิงหยะบุศย์
ปัจจุบันเป็นอาจารย์สอนที่คณะศิลปกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหาสารคาม ท่านนี้ในแวดวงวิชาการด้านศิลปกรรมอีสานต้องรู้จัก ในนามนักวิชาการที่มีผลงานตีพิมพ์เป็นหนังสือเผยแพร่มากอีกท่านหนึ่ง โดยเฉพาะงานเขียนโดเด่น ซึ่งเป็นงานเขียนเชิงสารคดีด้านมานุษยวิทยาวัฒนธรรมในแถบลุ่มน้ำโขง   ท่านนี้แม้เป็นนักวิชาการใหญ่โตแต่ท่านก็ชอบเรื่องศิลปกรรมเล็ก ๆ ของเมืองเล็ก ๆ และผมเองคงต้องขอเป็นลูกศิษย์ท่านในด้านมานุษยวิทยาศิลปะ ซึ่งการไปคราวนี้เราในฐานะผู้จัดคาดหวังว่าท่านจะถอดมุมมองในฐานะนักมานุษยวิทยาทางด้านศิลปะให้เราได้เข้าใจ

ผู้ช่วยศาสตราจารย์ชอบ  ดีสวนโคก
ครูใหญ่ของผมที่ไม่ว่ามีปัญญหาอะไรเกี่ยวกับอีสาน นี่เป็นครูที่ผมนึกถึงเสมอ แม้ท่านจะติดภารกิจในการเป็นนักจัดรายการทางวิทยุในคลื่นที่เน้นประเด็นเรื่องวัฒนธรรมของคนอีสาน แต่ท่านก็ตอบรับในการเดินทางไปกับผมในคราวนี้   ครูท่านนี้หากว่าด้วยเรื่องอีสาน ผมกล้ายืนยันว่าท่านเป็นกูรูอีกท่านหนึ่งและที่สำคัญท่านเป็นกูรูในฐานะนักกิจกรรมทางด้านวัฒนธรรมด้วย(culture activist)  ครั้งหนึ่งท่านเคยเปรยกับผมว่า ท่านกับผมมีส่วนหนึ่งที่คล้ายกันคือ “แม้เป็นคนไม่พูดโฉงฉางแต่บางเรื่องหากไม่ถูกต้องก็ไม่ยอม” ซึ่งการไปคราวนี้เราในฐานะผู้จัดคาดหวังว่าท่านจะถอดมุมมองในฐานะนักประวัติศาสตร์ผู้ที่เชื่อมโยงทั้งประวัติศาสตร์และวัฒนธรรมพื้นที่ให้เราได้เข้าใจ

พ่อบุญเกิด พิมพิ์วรเมธากุล ปรมาจารย์ด้านภาษาและวรรณกรรม ว่ากันว่าในโจกโลกฟ้านี้ หานักภาษาศาสตร์ที่เชี่ยวชาญด้านอีสานนั้นมีน้อยนักที่รอบรู้และแตกฉาก หากหาได้  หนึ่งในนั้นผมว่าต้องมีชื่อ อาจารย์บุญเกิด พิมพ์วรเมธากุล นักวิชาการอาวุโสเจ้าของพจนานุกรมภาษาอีสานฉบับล่าสุดและสมบูรณ์ที่สุดในปัจจุบัน และเป็นคู่หูนักกิจกรรมทางวัฒนธรรมร่วมกับอาจารย์ชอบ  ดีสวนโคก  ในวัยเกษียณอายุราชการ ท่านได้ทุ่มเทแรงกายแรงปัญญาในการถอดความ ตีความและเผยแพร่ภาษาและวรรณกรรมอีสานอย่างต่อเนื่อง  ซึ่งการไปคราวนี้เราในฐานะผู้จัดคาดหวังว่าท่านจะถอดมุมมองในฐานะนักภาษาศาสตร์และวรรณกรรม  ซึ่งสิมวัดศรีมหาโพธิ์มีภาษาที่จารึกให้เราต้องถอดความอยู่มาก

นี่เป็นนักวิชาการสี่ท่านที่จะร่วมเดินทางไปกับเราในคราวนี้   ส่วนอีก 3 ท่านผมจะเล่าในบันทึกต่อไป ตามอ่านนะครับเพราะอีกสามท่านนี้ก็พิเศษไม่แพ้กัน ว่ากันว่าท่านจะต้องสงสัยว่ามาได้อย่างไรกัน ทำไม ทำไม และทำไม

สิงหาคม 6, 2009

ระดมความคิดหลักสูตร ฮูบแต้มแคมของ

ค่ายฮูบแต้มแคมที่จะจัดในวันที่ 1-3 กันยายน 2552 ณ วัดศรีมหาโพธิ์ อำเภอหว้านใหญ่ จังหวัดมุกดาหารที่จะถึงนี้ ผู้จัดหลักสูตรการเรียนรู้ พยายามออกแบบหลักสูตรโดยเอาเรื่องพื้น ๆ มาทำให้พิเศษ(วิชานี้เรียนมาจากสวนป่าครูบาฯ) ดังนั้นจึงขอเชิญระดมความคิด เสนอแนะ หลักสูตรนี้นะครับ ก่อนลงมือในรายละเอียดของกิจกรรมการเรียน / เล่น

1. วิชาเครื่องมือวิทยาการเรียนรู้สำหรับนักเรียนวัฒนธรรม

วิชาที่ปูพื้นฐานการศึกษาวัฒนธรรมในชุมชนให้แก่นักเรียนวัฒนธรรมผ่านเทคนิคการเรียนรู้ที่หลากหลายเช่น สุนทรียสนทนา การระดมความคิด การฟังอย่างมีวิจารณญาณ การพูดและการนำเสนอ การอ่านเชิงวิเคราะห์ การบันทึกการเรียนรู้ การเขียนแผนผังความคิด แผนภูมิต้นไม้ แผนภูมิก้างปลา แผนที่เดินดินโดยมีทั้งกิจกรรมการบรรยาย การฝึกปฏิบัติ เพื่อให้นักเรียนวัฒนธรรมเรียนรู้ชุมชนอย่างสนุกได้ความรู้

2. วิชา หว้านใหญ่ศึกษา

วิชาที่เน้นให้นักเรียนวัฒนธรรมได้เรียนรู้ประวัติ พัฒนาทางสังคมและวัฒนธรรมของชุมชนหว้านใหญ่ ตำบลหว้านใหญ่ จังหวัดมุกดาหาร รวมทั้งอาชีพ การทำมาหากิน ศิลปกรรม การแสดงพื้นถิ่น ซึ่งเน้นการจัดการเรียนรู้ผ่านเวทีเสวนาย่อยของปราชญ์และคนเฒ่าคนแก่ในชุมชน

3. วิชา ตื่นแต่ไก่โห่

วิชาที่เน้นการบริหารร่างกายของนักเรียนวัฒนธรรม ผ่านกิจกรรมการออกกำลังกาย การกวาดลานวัด การเตรียมอาหาร นอกจากนั้นยังเน้นการบริหารจิตใจของนักเรียนวัฒนธรรมด้วยกิจกรรมสุนทรีย์เช่น การวาดภาพ การเขียนบทกวี การถ่ายภาพ การซาบซึ้งความงามทางจักษุ ผ่านสถานที่และช่วงเวลายามย่ำรุ่ง

4. วิชา นักสงสัยศาสตร์ ปฏิบัติการฮูบแต้มแคมของ

วิชาที่เน้นการสร้างคำถามจากปรากฎการณ์ที่พบในชุมชน เพื่อค้นหา จัดลำดับ จัดกลุ่มคำถามตลอดจนการวางแผนการหาคำตอบจากข้อสงสัยนั้น ๆ ทั้งกระบวนการเดี๋ยวและกระบวนการกลุ่ม เพื่อให้นักเรียนวัฒนธรรมค้นหาคำตอบซึ่งมีอยู่ในชุมชน

5. วิชา คัดลอก ฮูบแต้ม

วิชาที่เน้นการหาคำตอบเชิงทัศนศิลป์ทั้งจิตรกรรมฝาผนังและสถาปัตยกรรมของสิมวัดศรีมหาโพธิ์ โดยเน้นการหาคำตอบด้วยการสังเกต การคัดลอก การถ่ายภาพ ซึ่งเน้นกิจกรรมการลงมือปฏิบัติด้วยตนเองของนักเรียนวัฒนธรรมเพื่อให้ซาบซึ่งความงามและลักษณะพิเศษของจิตรกรรมฝาผนังพื้นบ้าน

6. วิชา แนมบ้าน แนมเมือง

วิชาที่เน้นการสำรวจชุมชนเพื่อเรียนรู้ความสัมพันธ์ มโนทัศน์ของชุมชนที่มีต่อจิตรกรรมฝาผนังและประเด็นอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง เพื่อให้นักเรียนวัฒนธรรมเข้าใจความสัมพันธ์ของคนในชุมชนต่อชุมชนของตนเอง ทั้งนี้เน้นการเดินลงสำรวจ สัมภาษณ์ในพื้นที่ชุมชนบ้านหว้านใหญ่

7. วิชา เครื่องเฮ็ด อยู่เฮ็ดกิน

วิชาที่เน้นการสืบสานมรดกทางวัฒนธรรมของชุมชนบ้านหว้านใหญ่ ผ่านกิจกรรมการประกอบอาหารพื้นบ้าน หัตถกรรมพื้นบ้าน วรรณกรรม ดนตรีและการแสดงและมุขปาฐะที่ปรากฎในท้องถิ่น โดยเน้นครูที่เป็นปราชญ์ในชุมชน

8. วิชา ศีลธรรม ลำนิทาน

วิชาที่เน้นการถอดความหมายของวรรณกรรมเรื่องพระเวสสันดรที่ปรากฎในจิตรกรรมฝาผนังวัดศรีมหาโพธิ์อันแสดงคุณค่าเชิงศีลธรรมในมิติด้านต่าง ๆ อันจะทำให้นักเรียนวัฒนธรรมได้เข้าใจแนวคิดสำคัญของวรรณกรรมที่ปรากฎและนักเรียนน้อมนำศีลธรรมคำสอนไปใช้ในชีวิตประจำวัน

9. วิชา ประยุกต์ศิลป์ถิ่นอีสาน

วิชาที่เน้นการนำเอาองค์ความรู้จากการเรียนรู้ในค่ายวัฒนธรรมมาประยุกต์ใช้ในชีวิตประจำวัน ผ่านการแสดงออกทางด้านการประยุกต์ศิลป์ การออกแบบผลิตภัณฑ์พื้นถิ่นและของที่ระลึก

10. วิชา ถอดบทเรียนเขียนความรู้สึก

วิชาที่เน้นการถอดหรัสการเรียนรู้จากการเรียนรู้ในค่ายวัฒนธรรมมาสังเคราะห์ วิเคราะห์และถ่ายทอดในรูปแบบของสมุดบันทึก

11. วิชา บายศรีสู่ขวัญ

วิชาการปลูกฝังทางวัฒนธรรมของนักเรียนโดยผลิตซ้ำการเรียนรู้ทางวัฒนธรรมของคนในสมัยรุ่นพ่อรุ่นแม่ในสังคมท้องถิ่นที่เคยมีมา ซึ่งคนในชุมชนได้เรียนรู้ร่วมกันจากวัดและโรงเรียนที่อยู่ในท้องถิ่นเดียวกัน ท้องถิ่นซึ่งคนรู้จักกัน เห็นหน้าค่าตากัน มีลัทธิทางศาสนา ขนบธรรมเนียมและจารีตประเพณีเดียวกัน รวมทั้งการอยู่รวมกันมานาน ทำให้เกิดสำนึกของความเป็นคนถิ่นเดียวกัน

แต่ที่แน่ ๆ ท่านไหนสนใจสอนวิชาอะไร แจ้งได้นะครับมาเรียน เล่น กับเด็ก ๆ ด้วยกัน

สิงหาคม 1, 2009

ฮูบแต้มแคมของ : ค่ายของรักวัฒนธรรมพื้นถิ่น

Filed under: Uncategorized — ออต @ 13:05

กรกฏาคม 30, 2009

ฮูบแต้มแคมของ : วัด วา อา ราม

ต้นสัปดาห์มีเหตุต้องเดินทางไปสกลนคร การไปคราวนี้เพื่อไม่ให้เสียเที่ยวผมจึงมีแผนเดินทางไปอำเภอหว้านใหญ่ จังหวัดมุกดาหารด้วย อย่างน้อยก็เพื่อไปประสานงานเรื่องค่ายเด็กกับหน่วยงานในพื้นที่เอาไว้ จะได้ไม่เป็นแบบไปบีบบังคับคนในพื้นที่ หรือเป็นคนนอกเอาอะไรไปยัดให้้คนในเขาอึด อัด

ผมเดินทางไปวัดศรีมหาโพธิ์พบพระลูกวัดเพียงรูปเดียวแต่เจ้าอาวาสไม่อยู่ติดกิจนิมนต์นอกวัด ผมถือวิสาสะขอเบอร์โทรท่านเจ้าอาวาสจากพระลูกวัดแต่ก็ไม่ประสบผล อิอิ ไม่เป็นไรงานนี้จึงได้แต่เดินสำรวจ มองดูจุดเด่นจุดด้อยของพื้นที่หากสถานที่แห่งนี้ถูกจัดเป็นพื้นที่การเรียน รู้จริง ๆ จะได้มีทางเลือก หรือมีทางออกสำหรับการจัดกิจกรรม

วัดศรีมหาโพธิ์ บ้านหว้านใหญ่ อำเภอหว้านใหญ่ สถานที่มีสิมอันปรากฎจิตรกรรมฝาผนังหรือฮูบแต้ม เนื่องจากเป็นวัดเก่าดังนั้นพื้นที่ของวัดจึงเล็กเพราะไม่สามารถขยายพื้นที่ออกไปได้ เพราะมีบ้านของชาวบ้านอยู่ขนาบวัด ภายในวัดไม่ได้วางผังแม่บทการใช้พื้นที่ดังนั้นจึงปรากฎการทุบและการสร้างศาสนาคาร ภายในวัดจึงเห็น กองดิน กองหิน กองทราย กองไม้ถูกวางระแกะระกะ

ส่วนอาคาร ที่น่าจะเอาไว้ใช้ทำกิจกรรมสำหรับเด็กก็เห็นว่าขัดเคืองอยู่มาก เนื่องจากศาสนาคารของวัดที่สำคัญมี 3 หลังได้แก่ สิมเก่า กุฎิเก่า และศาลาการเปรียญ

ในส่วนของสิมเก่า เนื่องจากสิมนี้ขนาดเล็กมากดังนั้นการจัดกิจกรรมรวมสำหรับเด็ก 50 คนไม่เหมาะเป็นแน่แท้ แต่หากเอาไว้เป็นแหล่งเรียนรู้กลุ่มย่อย ๆ ก็เห็นว่าเหมาะดีมาก

กุฎิวัดเก่า กุฎิหลังเก่านี้เป็นอาคารที่สำคัญทางประวัติศาสตร์ เนื่องจากครั้งหนึ่งเคยใช้สถานที่แห่งนี้เป็นอาคารที่ว่าการอำเภอหว้านใหญ่มาก่อน รูปทรงอาคารได้รับอิทธิพลจากรูปแบบอาคารแบบฝรั่งเศษอยู่มาก ซึ่งปรากฎการณ์นี้พบเห็นอยู่ทั่วไปในแถบริมโขง ปัจุบันเป็นที่จำพรรษาของพระลูกวัด คิดแบบคนนอกอย่างผมเห็นว่าอาคารนี้เหมาะสมากที่จะทำเป็นแหล่งเรียนรู้ชุมชน ประเภทพิพิธภัณฑ์ชุมชน ดังนั้นอาคารนี้จึงไม่น่าจะใช้ได้

ส่วนอาคาร ศาลาการเปรียญหลังใหญ่เป็นอาคารสองชั้น มีพื้นที่พอสมควรสำหรับจัดกิจกรรมการเรียนรู้ จะติดขัดก็พื้นที่สำหรับนอนเท่านั้นที่ไม่เหมาะสักเท่าไหร่ และหากมีกิจกรรมทางศาสนาก็จะทุลักทะเลพอสมควร

เมื่อดูพื้นที่อาคารทั้ง สามแห่งแล้ว เห็นว่าเราพบจุดอ่อนของการจัดกิจกรรมอยู่เอามาก ๆ เพราะการจัดกิจกรรมการปลูกฝังแบบค่ายนั้นจำเป็นต้องการพื้นที่สำหรับเรียน รู้ ที่พักอยู่พอสมควร แบบนี้เราจะหาทางออกอย่างไร ตามต่อบันทึกหน้าครับ

(พี่น้องชาวเฮ สนใจร่วม trip นี้ซึ่งจะจัดขึ้นในวันที่ 1-3 กันยายน 2552 นี้ที่มุกดาหาร รบกวนช่วยแจ้งรายชื่อด้วยนะครับ ตอนนี้เห็นว่า ครูบา ท่านเทพรอกอด อาจารย์บางทราย จะร่วมชื่นชมสุนทรียภาพริมโขงแน่นอน อิอิ  ท่านไหนสนใจเชิญครับ http://lanpanya.com/somroay/archives/148)

กรกฏาคม 22, 2009

trip สำหรับชาวเฮฯรักเด็ก

Filed under: Uncategorized — แท็ก: , — ออต @ 14:39

ข่าวจากเมืองเหนือเรื่องเฮฮาสตร์ 10 ที่ขึ้นมาช่วงนี้ดูแรง ๆ ยังไงก็ไม่รู้ ส่วนเฮฮาศาสตร์ร่มธรรมก็ท่าจะมาแรงในอีกไม่นาน ดังนั้นกิจกรรมมินิชาวเฮแบบของออตไม่บอกไม่กล่าวท่าทางจะหาพี่น้องชาวเฮยาก ดังนั้นจึงถือโอกาสวันพุธที่สวยงามประกาศข่าวก่อนที่กระแสอื่น ๆจะกลบไปก่อน

กิจกรรมนี้ชื่อค่ายศิลปะลุ่มน้ำโขง ตอนฮูบแต้มแคมของ  โดยการสนับสนุนของศูนย์วิจัยพหุลักษณ์สังคมลุ่มน้ำโขง มหาวิทยาลัยขอนแก่น ซึ่งเป็นศูนย์วิจัยที่เน้นงานวิจัยแบบพหุลักษณ์ทำงานภายใต้การเคารพวัฒนธรรมที่แตกต่าง  โดยแผนงานที่สำคัญประการหนึ่งคือ การปลูกฝังทางวัฒนธรรม(Cultivation)

ปีนี้แผนงานของเราบุกถิ่นของท่านบางทราย และลุงเปลี่ยน โดยกุมพื้นที่เขตตำบลหว้านใหญ่ อำเภอหว้านใหญ่ จังหวัดมุกดาหาร อันมีสิมวัดศรีมหาโพธิ์เป็นศูนย์กลางของการศึกษา กิจกรรมการปลูกฝังคราวนี้เราจัดในรูปแบบค่ายการเรียนรู้ โดยเน้นการเรียนรู้ของคนหลายวัยทั้งเด็กประถมศึกษา  เด็กมัธยมศึกษาตอนต้น เด็กมัธยมศึกษาตอนปลาย และพี่น้องชาวหว้านใหญ่ที่อยู่รายรอบวัดศรีมหาโพธิ์

กิจกรรมจะเริ่มไปเรื่อย ๆ ทั้งกิจกรรมการถอดรหัสทางวัฒนธรรมโดยนักวิชาการทางด้านประวัติศาสตร์ นักสุนทรียศาสตร์ นักวิชาการด้านสถาปัตยกรรมท้องถิ่น และนักประวัติศาสตร์ศิลปะ โดยเอาองก์ความรู้ที่นักวิชาการเหล่านั้นกรองแล้วมาแปรรูปโดยทีม นักสื่อความหมายทางวัฒนธรรม งานนี้จึงเคลื่อนไหวอยู่เรื่อย ๆ จนถึงวัดจัดค่าย

ค่ายห้องเรียนวัฒนธรรมจัดขึ้นแน่นอนในระหว่างวันที่ 1-3 กันยายน 2552 ที่วัดศรีมหาโพธิ์ เรามีการนอน นั่ง ฟัง เล่น เรียน หลับ ร่วมกันที่นั้น งานนี้จึงถือโอกาสเชิญพี่น้องเฮฮาศาสตร์ที่ว่างในช่วงเวลาดังกล่าว มุ่งหน้าสู่มุกดาหารไปงาน มินิเฮฮาศาสตร์กัน ซึ่งแผนงานที่จะรอเชิญเข้าร่วมจะแจ้งรายละเอียดให้ทราบในลำดับถัดไป

ตอนนี้ขอจองวันไว้ก่อนครับ  ท่านไหนสนใจแจ้งได้นะครับจะได้จัดส่งรายละเอียดไปให้เมื่อมีการเคลื่อนไหวในวินาทีต่อไป

บันทึกที่เกี่ยวข้อง

กรกฏาคม 14, 2009

การสร้างสิมหันหน้าสู่เบื้องตะวันตก : ปรากฎการณ์ก่อนการผสานทางวัฒนธรรม

Filed under: Uncategorized — ออต @ 12:05

มีข้อให้พิจารณากันมากเกี่ยวกับความพิเศษของงานศิลปกรรมอีสานที่แตกต่างจากพวกศิลปกรรมอีสานด้วยกันเอง ปรากฎการณ์แบบนี้สำหรับผมไม่ใช่สิ่งที่น่าประหลาดใจเลย เพราะหากท่านเดินทางไปทั่วอีสานและไม่เหมารวมว่าคนอีสานเหมือนกันหมด ท่านจะเห็นความไม่เหมือนกันหรือความผิดขนบของงานศิลปกรรมหลายชิ้นในเขตอีสาน

กรณีสิมเก่าวัดศรีมหาโพธิ์ก็เช่นเดียวกัน ความพิเศษที่ว่าหากศึกษาและวิเคราะห์สังเคราะห์พูดคุย เราก็เห็นแนวทางที่พอจะหาข้อสรุปเบื้องต้นได้ ส่วนข้อสรุปนี้ก็ไม่ถือเป็นข้อยุติหากมีงานศึกษาอื่น ๆ เข้ามาคัดค้าน ต้แย้งหรือมีมิติการตีความแบบใหม่ที่ชวนให้เชื่อได้

การหันหน้าสิมไปสู่เบื้องตะวันตกของสิมเก่าวัดศรีมหาโพธิ์ บ้านหว้านใหญ่ ตำบลหว้านใหญ่ อำเภอหว้านใหญ่ จังหวัดมุกดาหารนั้นเป็นความพิเศษที่แตกต่างจากมโนทัศน์ของเรา ๆ ที่ยึดถือในรูปแบบการสร้างสิมหันหน้าไปสู่เบื้องตะวันออก ปรากฎการณ์นี้ผมเอาไปเล่า อ่าน ค้น และเรียบเรียงมาพอสรุปได้ความถึงวัฒนธรรมอีสานก่อนการผสานทางวัฒนธรรม อันเป็นปรากฎการณ์หนึ่งของวัฒนธรรม(Culture)

สิมวัดสรีมหาโพธิ์ เป็นสิมขนาดเล็กรูปแบบศิลปะพื้นบ้านอีสานบริสุทธิ์ คือมีขนาดเล็กมาก เดิมคาดว่าเป็นสิมโปร่งแต่มีการปิดทึบด้วยหน้าต่างไม้ในภายหลัง ภายในมีภาพจิตรกรรมฝาผนังที่งดงามเรื่องพระเวสสสันดรชาดกซึ่งมีรูปแบบไม่ซ้ำใคร ตัวศาสนาคารหันหน้าไปสู่เบื้องตะวันตกหันหลังให้กับแม่น้ำโขงซึ่งห่างไปราวสิบเมตร

การหันหน้าไปสู่เบื้องตะวันตกนั้นมีนักวิชาการทางสถาปัตยกรรมพื้นถิ่นอีสาน ให้คำอธิบายไว้อย่างน้อยที่ค้นเจอก็สองท่านคือ รศ.ดร วิโรฒ ศรีสุโร (ปรมาจารย์ด้านสถาปัตยกรรมอีสานอดีตคณบดีคณะศิลปะและการออกแบบ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี) และ ผศ.ดร ทรงยศ วีระทวีมาศ (คณบดีคณะสถาปัตยกรรม มหาวิทยาลัยขอนแก่นคนปัจจุบัน) ซึ่งทั้งสองท่านได้ให้เหตุผลของการหันหน้าสิมไปสู่เบื้องตะวันตกตรงกันว่า

การสร้างสิมหันหน้าไปในทิศอื่นนอกจากทิศตะวันออกว่า สิมอีสานในสมัยก่อนไม่ได้เคร่งครัดในการหันหน้าสิมไปสู่ทิศตะวันออกนัก ทั้งนี้เพราะไม่มีกฎเกณฑ์บังคับทางพระวินัยในเรื่องนี้ คงจะพิจารณาเอาตามสภาพภูมิประเทศและทางสัญจรเป็นหลักอย่างเดียวกับ วัดหน้าพระเมรุในสมัยกรุงศรีอยุธยา ซึ่งหันหน้าไปทางทิศใต้ที่มีลำคลองเป็นทางสัญจรที่สำคัญในสมัยนั้น วัดในแถบอีสานที่สิมไม่ได้หันหน้าไปสู่ทิศตะวันออกเช่น สิมวัดกลางโคกค้น(จังหวักาฬสินธุ์ หันหน้าสิมไปทางทิศตะวันตก) สิมเก่าวัดศรีสะเกษ(จังหวัดสกลนคร หัน

หน้าสิมไปทางทิศตะวันตก) สิมเก่าวัดศรีจันทร์[1] (จังหวัดขอนแก่น หันหน้าไปทางทิศใต้ซึ่งเป็นถนนศรีจันทร์ถนนสายหลักเมืองขอนแก่น)

กรณีนี้หากมองในมิติการผสานทางวัฒนธรรมเราจะพบสิมอีสานที่พบในอีสานในยุคต่อ ๆ มา ที่นิยมหันหน้าไปสู่เบื้องตะวันออกนั้นน่าจะเกิดจากการรับเอาและผสานทางวัฒนธรรมมาจากกรุงเทพฯ กรณีนี้มีประเด็นทางวัฒนธรรมที่น่าสนับสนุนโดยเฉพาะกรณีการขยายพุทธศาสนาแบบกรุงเทพฯมาสู่อีสาน

ในสมัยรัชกาลพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว(รัชกาลที่ 4 ) ความรุ่งเรืองของพุทธศาสนาเจริญเป็นลำดับจากยุค ใครศรัทธาสร้างวัดก็เป็นคนโปรด ในสมัยรัชกาลพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว(รัชกาลที่ 3) ซึ่งปรากฎพระสงฆ์จากภาคอีสานได้เริ่มเดินทางเข้ามาศึกษาปริยัติธรรมในกรุงเทพมหานคร ตามสำนักพระปริยติธรรมต่าง ๆ ตั่งแต่ช่วงปี พ.ศ. 2369 อาทิ พระอริยวงศาจารย์(สุ้ย)จากอุบลมาศึกษาพระปริยัติธรรมในสำนักวัดสระเกศ พระครูบุญมาจากเมืองพนานิคมมาศึกษาพระปริยัติธรรมในสำนักวัดจักรวรรดิ์ราชาวาส ท่านพระครูหลักคำพิมพ์จากเมืองขอนแก่นมาศึกษาพระปริยัติธรรมในสำนักวัดสามจีน เป็นต้น โดยมีจุดมุ่งหมายเพื่อศึกษาปริยัติธรรมนำจารีตทางพระพุทธศาสนาจากกรุงเทพฯไปขยายสู่ชุมชนในเขตภาคอีสาน เมื่อพระสงฆ์เหล่านี้กลับไปยังท้องถิ่นได้มีการเปิดสอนพระปริยัติธรรม ก่อสร้างถาวรวัตถุเลียนแบบกรุงเทพในท้องถิ่นของตน[2]

ดังนั้นต่อมาเมื่อมีการติดต่อกับกรุงเทพฯทั้งการปกครองและการศาสนารูปแบบของสิมจึงเปลี่ยนไปพร้อม ๆ กับแนวคิดกานพสร้างสิมที่หันหน้าไปสู่เบื้องตะวันออกและนิยมสร้างพระพุทธรูปปางมารวิชัยเป็นพระประธานภายในสิม

กรณีการสร้างสิมเก่าวัดศรีมหาโพธิ์จึงไม่ใช่เรื่องแปลกแต่ประการใด


[1] ปัจจุบันรื้อแล้ว

[2] เปรมวิทย์ ท่อแก้ว,การก่อตั้งและขยายตัวของธรรมยุตินิกายในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ(พ.ศ.2394-2473).ปริญญาอักษรศาสตรมหาบัณฑิต จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย,2534.

มิถุนายน 29, 2009

อันเนื่องมาจาก มุกแห่งเมืองมุก

ก่อนเดินทางไปเยี่ยมเมืองมุกตามบันทึกที่แล้ว ผมทำการบ้านก่อนไปเล็กน้อยและรู้สึกตื่นเต้นมากเมื่อเจอข้อมูลเกี่ยวกับจิตรกรรมฝาผนังอีสานวัด ศรีมหาโพธิ์ปรากฎอยู่อย่างน้อยก็สองแหล่งที่พอเข้าถึงข้อมูลได้นั้นคือจากหนังสือและเวบไซด์

วัดศรีมหาโพธิ์ ได้รับการกล่าวถึงในหนังสือชื่อ จิตรกรรมฝาผนังอีสานซึ่งแต่งโดยไพโรจน์ สโมสรและคณะจากมหาวิทยาลัยในนามโครงการสำรวจและถ่ายภาพจิตรกรรมฝาผนังอีสาน สำนักวัฒนธรรม มหาวิทยาลัยขอนแก่น ซึ่งมีเนื้อเกี่ยวกับประวัติของชุมชนหว้านใหญ่ให้ได้ศึกษา

แต่ที่ชวนให้ตื่นเต้นเห็นจะเป็นข้อมูลในเวบไซด์ โดยเฉพาะที่ออกจากหน่วยงานต่าง ๆในจังหวัดมุกดาหาร ซึ่งส่วนใหญ่ก็ copy ต่อ ๆ กันไป ไม่ได้ศึกษาข้อมูลใหม่ ๆ นัก ซึ่งเรื่องที่ชวนตื่นเต้นจากคำกล่าวอ้างคือ ภาพเขียนแสดงเรื่องราวในคราวที่ สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้าดิศวรกุมาร กรมพระยาดำรงราชานุภาพ (21 มิถุนายน พ.ศ. 2405 - 1 ธันวาคม พ.ศ. 2486 ทรงเป็นพระราชโอรสองค์ที่ 57 ในพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ประสูติแต่เจ้าจอมมารดาชุ่ม ต้นราชสกุลดิศกุล) ทรงเสด็จตรวจราชการหัวเมืองทางอีสานเมื่อ เมื่อ พ.ศ. 2449 หรือเมื่อร้อยปีที่ผ่านมา ซึ่งในขณะนั้นเมืองมุกดาหารยังขึ้นกับมณฑลอุดร

เมื่อเปรียบเทียบคราเสด็จตรวจราชการของเจ้านายจากบางกอกในปี 2449 กับปีที่สร้างสิมวัดศรีมหาโพธิ์ ปี 2467 ก็ไม่ได้ห่างไกลกันนัก ดังนั้นการปรากฎเรื่องราวของเจ้านายบนจิตรกรรมฝาผนังจึงเป็นเรื่องพิเศษฉับพลัน หรือถ้ามีจริงก็นับว่าช่างแต้มสมัยก่อนเป็นคนที่ทันเรื่อง ทันเหตุการณ์ ทันบ้าน ทันเมือง เอามาก ๆ ตอนเข้าชมผมพยายามหาภาพวาดเรื่องกรมพระยาดำรงฯ เสด็จหัวเมืองอีสานให้พบตามที่มีการกล่าวถึง

เมื่อสำรวจตลอดสามผนังที่ปรากฎจิตรกรรมฝาผนังอีสาน  ผมก็ไม่พบภาพเขียนในเหตุการณ์ที่เจ้านายฝ่ายสยามพระองค์นี้ปรากฎอยู่ในจิตรกรรมฝาผนังวัดศรีมหาโพธิ์แต่อย่างใด ภาพที่มีความใกล้เคียงก็เห็นจะมีอยู่บ้างแต่หากดูรายละเอียดของภาพเขียนแล้วก็ไม่ได้มีสัญญะอะไรให้สืบค้น ตีความเป็นอย่างอื่นไปนอกจากภาพประกอบในเรื่องราว ซึ่งจิตรกรรมฝาผนังวัดศรีมหาโพธิ์เขียนเรื่อง พระเวสสันดรชาดก

(ภาพเขียนผนังทิศใต้ของสิมวัดศรีมหาโพธิ์ อำเภอหว้านใหญ่ จังงหวัดมุกดาหาร)

ซึ่งภาพตอนดังกล่าวนั้นเป็นภาพตอนขบวนแห่พระเวสสันดรกลับเมือง ปรากฎอยู่ผนังฝั่งทิศใต้ของสิม ซึ่งในขบวนแห่กลับเมือง ในจิตรกรรมฝาผนังอีสานทุกวัดที่เขียนเรื่องนี้จะให้ความสำคัญมาก หลายวัดการเขียนภาพนตอนนี้กินพื้นที่การเขียนมากเช่น ภาพขบวนแห่พระเวสสันดรกลับเมืองวัดยางซวง จ.มหาสารคาม วัดสนวนวารีพัฒนาราม จ.ขอนแก่น  ดังนั้นภาพที่ปรากฎจึงไม่ใชภาพเจ้านายราชสำนักสยามอย่างแน่นอน  การทึกทักเอาว่าภาพคนมีหนวดคือสมเด็จฯกรมพระยาดำรงนั้น เห็นที่จะตีความง่ายไป

ในบันทึกต่อไป ขอเขียนถึงสถาปัตยกรรมวัดศรีมหาโพธิ์ ซึ่งเป็นวัดที่หันหน้าสิมไปทางทิศตะวันตก เรื่องนี้มีที่มาที่ไป หรือ ขนบอะไร ตามต่อครับ

มิถุนายน 27, 2009

มุก แห่งเมือง มุก

วันนี้ของเมืองมุกดาหารเปลี่ยนไปมาก เปลี่ยนไปแบบที่คุณจะจำไม่ได้หากคุณไม่ได้เดินทางไปเยี่ยมเมืองมุกอีกเลยในระหว่างสองสามปีนี้  ผมไปเมืองมุกล่าสุดราว 3 ปีเพื่อไปเที่ยวเมืองมุกดาหารและข้ามไปฝั่งแขวงสะหวันนะเขต แต่วันนี้ภาพเมืองมุกจะเปลี่ยนไนสายตาคุณ

รีสอร์ทชื่อใหม่ ๆ ผุดขึ้นให้เราเลือกพักเลือกนอน ถนนหลักหลายสายกำลังก่อสร้างราวกับเมืองนี้จะกลายเป็นยุทธศาสตร์ด้านต่าง ๆของอีสานตะวันออก ป้ายประกาศขายที่ดินก็เรียงรายราวกับแผ่นดินเมืองมุกกำลังมีค่าดั่งทอง ปรากฎการณ์เช่นนี้เราจะได้เห็นในเมืองมุกวันนี้

แต่ความสนใจของผมหาเป็นรีสอร์ท ถนนหรือป้ายขายที่ดิน แต่หากเป็นมรดกทางวัฒนธรรมของพี่น้องสองฝั่งโขงต่างหาก ผมเลี่ยงออกจากตัวเมืองเดินทางด้วยเส้นทางมุกดาหาร-ธาตุพนมเพื่อเดินทางไปยังอำเภอหว้านใหญ่ เมืองแคมของที่ผมเคยไปเยือนเมื่อหลายปีที่แล้ว

ความสนใจเดียวที่ผมต้องการไปคือมุกเม็ดใหญ่ที่งดงามนาม สิมเก่าวัดศรีมหาโพธิ์ วัดที่ตั้งอยู่บริเวณแคมของ(แม่โขง)ในเขตบ้านหว้านใหญ่ ตำบลบ้านใหญ่ อำเภอหว้านใหญ่ จังหวัดมุกดาหาร  หากเป็นนักท่องเที่ยวที่ไม่เคยมาวัดนี้เพียงแค่จอดถามชื่อวัดนี้ รับรองคนแถบนี้ให้คำอธิบายได้แบบไม่ต้องค้นหาให้เหนื่อยและไม่งงงวย

ความพิเศษของสิมเก่าวัดศรีมหาโพธิ์คือเป็นสิมขนาดเล็กมากที่ตั้งอยู่ริมฝั่งโขง เป็นอาคารก่ออิฐฉาบปูนเดิมก่อสรางเป็นสิมโปร่ง โดยก่อผนังทึบเฉพาะข้างหลังพระประธานและผนังด้านข้างอีกหนึ่งห้องทั้งด้านซ้ายและขวาของพระประธาน  ส่วนห้องที่สองและผนังด้านหน้าทางเข้าไม่มีการก่ออิฐเป็นแต่เพียงพื้นที่เปิดโล่ง แต่มาระยะหลังมีการปิดด้วยประตูและหน้าต่าง ทำให้สิมคล้ายสิมทึบ   ส่วนปีกนกด้านหน้ามีการต่อเติมในภายหลัง

จุดพิเศษอีกประการคือการสร้างสิมที่ต่างไปจากขนบการสร้างสิมของคนอีสาน  ที่มักหันหน้าสิมไปในทิศตะวันออก แต่สิมวัดศรีมหาโพธิ์กลับหันหน้าไปทางทิศตะวันตก ปล่อยให้สิมหันหลังไปทางทิศตะวันออกซึ่งเป็นพื้นที่ติดลำโขง ปรากฎการณ์เช่นนี้มีข้อพิเศษชวนให้ต้องมีการอธิบายจากนักสัญญวิทยาอยู่มากหรือชวนให้เราหาคำตอบมาอธิบายปรากฎการณ์นี้ ซึ่งผมจะไม่เล่าในบันทึกนี้เพราะเห็นเป็นเรื่องยาวเกินไป

ส่วนมุกเม็ดนี้เป็นเม็ดพิเศษของเมืองมุกดาหารก็เห็นจะไม่มีปรากฎที่ไหนนั้นคือ จิตรกรรมฝาผนังที่สมบูรณ์ที่สุดที่พบในเขตจังหวัดมุกดาหาร โดยภาพจิตรกรรมที่พบ  ปรากฎบนผนังสิมด้านในเต็มผนังทั้งสามด้านที่มีการก่ออิฐฉาบปูน เรื่องราวที่ปรากฎเป็นจิตรกรรมฝาผนังเรื่องพระเวสสันดรชาดก ซึ่งมีหลายตอนที่มีคุณค่าทางด้านศิลปะและเป็นแบบอย่างการจัดองค์ประกอบทางศิลปะชั้นสูง ที่เรานักสุนทรียภาพควรไปซึมซับ

บันทึกหน้าผมจะเล่าเรื่องจิตรกรรมฝาผนังของสิมวัดศรีมหาโพธิ์ ตามอ่านนะครับ อิอิ

« บันทึกเก่ากว่าบันทึกใหม่กว่า »

Powered by WordPress