ฮูบแต้มแคมของ : จดหมายจากบางกอก
วันนี้ได้รับอีเมลล์จากน้องโบว์ สาวน้อยจากธรรมศาสตร์ ที่เดินทางไกลมาช่วยค่ายฮูบแต้มแคมของ ของพวกเราต้นเดือนที่ผ่านมา วันนี้เธอส่งบันทึกมาให้พวกเราได้อ่านกัน ไปตามดูความคิดและความรู้สึกของสาวน้อยที่เดินทางไกลมาเพื่อพบเด็กและฮูบแต้ม
เกริ่นนำ…
ณ ริมน้ำโขง ท่ามกลางฝุ่นผงทรายของชนบท ยังมี “เด็กน้อย” ผู้เต็มเปี่ยมไปด้วยความสดใส พวกเขาคือผู้ที่กำลังเติบโตท่ามกลางการพัฒนาที่มุ่งหน้าสู่ชุมชนแม้ว่าพวกเขาจะเป็นเพียง “เด็กน้อย” แต่ก็มิอาจประมาทความเจริญที่ประชิดตัวเข้ามาได้ มันอาจทำให้เด็กๆ หลงลืมคุณค่าทางวัฒนธรรมของท้องถิ่นไปอย่างสิ้นเชิง
จากผู้จัด… ถึง เจ้าบ้าน…
นักอนุรักษ์มรดกทางวัฒนธรรมแห่งลุ่มน้ำโขง (ศูนย์วิจัยพหุลักษณ์สังคมลุ่มน้ำโขง) ผู้จัด “ค่ายฮูบแต้มแคมของ” ได้ค้นพบประวัติศาสตร์แห่งบ้านหว้านใหญ่ว่า พรมแดนธรรมชาติได้แบ่งแยกชาติพันธุ์หนึ่งแตกออกเป็น ๒ ชาติ — ไทย และ ลาว แม้ว่าลำโขงจะแบ่งคน แต่อัตลักษณ์ทางชาติพันธุ์นั้นยังชัดเจน ซึ่งแสดงออกทางภาษา ประเพณี การใช้ชีวิต และศิลปะท้องถิ่น
สิมวัดศรีมหาโพธิ์มีฮูบแต้มเรื่อง ผะเหวด (โบสถ์วัดศรีมหาโพธิ์มีรูปภาพจิตรกรรมฝาผนังเรื่องพระเวสสันดร) คำบอกเล่าที่ปรากฎตามหนังสือหลายเล่มในร้านหนังสือมากมายในเมืองหลวงทำให้เรารับทราบ และสามารถเข้าใจถึงความหมายของการแต้มฮูบไว้ในสิม(บางแห่งปรากฎฮูบแต้มทั้งภายในและภายนอกสิม)แต่มันเทียบไม่ได้แม้เศษเสี้ยว กับการได้พบเห็นด้วยตาตนเอง
วันแรก…
ก่อนที่จะพบฮูบแต้ม เราต้องพบกับ “เด็กน้อย” เจ้าของชุมชนที่แท้จริงแห่งนี้ก่อน เด็กๆ นักเรียนชั้นประถมปลายจนถึงมัธยมศึกษาเกือบ ๕๐ คน … เด็กเหล่านี้หรือที่จะเป็นความหวังในการอนุรักษ์ศิลปะพื้นถิ่นไว้ได้? เด็กเล็กๆ ที่แทบจะคุยและเล่นกันตลอดเวลา บางคนโตขึ้นมาพร้อมกับการครอบงำจากพัฒนาการแห่งยุคสมัย (โทรศัพท์มือถือ) นี่ทำให้ต้องปรับความคิดกันด้วยกิจกรรมมากมาย ได้บ้าง — บ้างได้มาก บ้างได้น้อย แต่ไม่มีใคร “รับไม่ได้” จึงเป็นเรื่องน่ายินดีสำหรับผู้จัด
วันถัดมา…
พลังของ “เด็กน้อย” ก็ทำให้ “ผู้ใหญ่ตัวโต” ต้องทึ่งไป พวกเขาบรรลุจุดประสงค์ของกิจกรรมต่างๆ ได้อย่างดีเยี่ยม พวกเขาแต่งกลอนธรรมชาติด้วยเข้าใจและไพเราะ พวกเขาเขียนแผนที่ชุมชน “แผนที่เดินดิน” ด้วยตนเอง พวกเขาวาดรูปและทำงานศิลปะที่เกี่ยวกับฮูบแต้มเรื่องผะเหวดในสิมวัดศรีมหาโพธิ์ได้อย่างน่าทึ่ง พวกเขาเล่นละคร “ผะเหวด” ได้อย่างสนุกสนาน ค่ำคืนนั้นทุกคนจึงหลับฝันด้วยความเหน็ดเหนื่อย แต่เต็มอิ่มในหัวใจ
วันจากลา…
หยาดน้ำตาของ “เด็กน้อย” แสดงความจริงใจต่อเพื่อนมนุษย์ ผู้เข้ามาร่วมเดินทางด้วยใจจริง บนถนนเส้นแสนสั้น วัดได้เพียง ๓ วัน มันเกินกว่าวัตถุประสงค์ที่ตั้งใจ เพราะเราได้ของแถมกลับบ้าน คือ ความรักที่เกิดขึ้นบนพื้นที่แห้งแล้งนี้
บทสรุปตาม…
“ค่ายฮูบแต้มแคมของ” สร้างการตระหนักรู้ถึงคุณค่าที่ควรสงวนรักษาไว้กับท้องถิ่นหว้านใหญ่ ชาวบ้านร่วมมือกัน มีเสียงจากชุมชนเข้ามาให้ความสนใจโดยเฉพาะความภูมิใจในตัวเด็กๆ ที่เข้าร่วมกิจกรรมที่สำคัญ “คนนอก” ที่เอาตัวเข้าไปเกี่ยวข้องอย่างพวกเรา ต่างจดจำประสบการณ์ดีดีและตระหนักถึงความสำคัญของคำว่า “พลังของมวลชน” ที่สามารถทำให้เกิดสิ่งมหัศจรรย์ได้แม้ว่าระยะทางของการอนุรักษ์วัฒนธรรมท้องถิ่นบ้านหว้านใหญ่จะเพิ่งเริ่มต้น แต่มันเป็นนิมิตหมายที่ดีเมื่อได้มีการเริ่มต้น.
ออต ครับจุดเด่นของวค่ายแบบนี้ มิใช่เราจะช่วยปาดน้ำตาเด็กน้อยๆที่อิ่มในความรักจนล้นหลั่งออกมานั้น พี่เชื่อว่าเธอเหล่านั้นจำไปนานแสนนาน และอาจจะมีบ้างจากจำนวนนั้นที่หาทางขยับกิจกรรมบางอย่างออกมาภายหลังที่เกี่ยวข้องกับท้องถิ่น เอาเจ้าน้อย จากอบตนั่นตามติดคิดสร้างกิจกรรมต่อไปนะ
แต่จุดเด่นอีกประการคือ เหล่าทีมวิทยากร และวิทยาเกินอย่างพี่ อิอิ ยังเสพติดค่ายแบบนี้ไปแล้ว …..ออตเอ้ย.. การเสพติดก็คิดจะหาทางสร้างค่ายแบบนี้ต่อไปอีกน่ะซี
ความคิดเห็น โดย bangsai — กันยายน 15, 2009 @ 20:21
เห็นหน้า เจ้าเปี๊ยกตัวน้อยที่ชื่อ น้องแบ็ค คนที่อาม่าต้องดึงตัวมากอดไว้ แล้วเช็ดน้ำตาให้เพราะ ทำนบน้ำตาพัง โฮออกมาอย่างสุดกลั้น หลังจากไปเจอพี่โบว์ น้ำตาแห้งแถมยิ้มอย่างมีความสุข พี่โบว์นี่สุดยอดจริงๆ สร้างใบหน้าเปื้อนยิ้มได้รวดเร็วๆ จริง อาม่าขอบอกออตได้เลยนะคะ ว่าน้องโบว์คนนี้แหละ ได้อะไรจาก อาม่ามากค่ะ เพราะเธอช่างจดช่างจำ นอกจากการสนทนาที่ธรรมดาที่ไม่ธรรมดาค่ะ
ความคิดเห็น โดย Lin Hui — กันยายน 16, 2009 @ 7:48
ขอบพระคุณผู้ใญ่ใจดีทั้งสองท่านมากครับ
ความคิดเห็น โดย ออต — กันยายน 16, 2009 @ 12:34