ภาษีน้ำท่วม..

198 ความคิดเห็น โดย bangsai เมื่อ 10 ตุลาคม 2011 เวลา 23:57 ในหมวดหมู่ ไม่ได้จัดหมวดหมู่ #
อ่าน: 3716

น้ำท่วมมากมายเช่นนี้ ข่าวเรื่องนี้กลบข่าวอื่นๆไปสิ้น แม้แต่การเสียชีวิตของ สตีฟ จ๊อพ ทุกคนเงี่ยหูฟังรัฐบาลว่าเอาไง มีผู้คนล้มตาย มาหมูจมน้ำตายคาคอกอย่างน่าสมเภทเวทนา มีสาวๆที่สำนักวานบอกว่า หนูเห็นภาพแล้วสงสาร ต่อไปนี้หนูจะไม่กินเนื้อหมูแล้ว เออ..น้ำท่วมเกิดขึ้นทำให้คนคนหนึ่งไม่กินหมูไปได้

น้ำท่วม มีคนค้างคาใจสุพรรณบุรีไม่น้อย คงมีการคิดบัญชีกันหรอก เรื่องผลประโยชน์นี่อะไรก็ทำได้

ผมปรบมือดังๆให้หลายกลุ่มที่ลงมือเข้าไปคลุกในเหตุการณ์ และเหน็ดเหนื่อยพร้อมกับความอิ่มเอมกับความรู้สึกดีดีที่ได้ช่วยเหลือผู้ทุกข์ยาก การลงไปสัมผัสเช่นนั้น เขาจะจำติดตาม เขียนเรื่องเล่าได้เล่มใหญ่ เขาจะเก็บความทรงจำดีดีไว้ชั่วชีวิต

ผมชอบใจที่หลายท่านเสนอแนวคิดใหม่ๆ แปลกๆที่ใช้ได้จริง และสอดคล้องกับสภาพที่เกิดขึ้น แต่ก็มีแนวคิดที่ผมได้แลกเปลี่ยนมากับวิศวกรท่านหนึ่งผมสนใจแม้ว่าดูจะเป็นเรื่องยาก หรือไม่สามารถเกิดขึ้นได้จริงก็ตาม แต่การบันทึกตรงนี้ก็เป็นการเคารพในความคิดของวิศวกรท่านนี้ไว้ เผื่อว่าอาจมีการต่อยอดไปสู่ความเป็นจริงได้ ก็จะเป็นอานิสงค์ของท่านนั้นไป

ท่านกล่าวว่า เมื่อเข้าใจปัญหาที่เกิดขึ้นแล้วต่อไปมันจะเกิดขึ้นอีก และบางครั้งจะรุนแรงกว่านี้อีก ทางออกที่สำคัญที่ท่านคิดคือ เราต้องกลับไปสู่ลักษณะแต่อดีตที่มีที่ลุ่มเก็บกักน้ำ ธรรมชาติเป็นเช่นนั้นแต่มนุษย์ อาจหาญไปก่อสร้างสิ่งกีดขวางการไหลของน้ำเสียสิ้น ดูหนองงูเห่า ที่รับน้ำโบราณก็ดันเอามาทำสนามบินเพราะผลประโยชน์แท้

ท่านนี้กล่าวฟันธงไปว่า ต่อไปต้องมีการเก็บภาษีน้ำท่วมเป็นกรณีพิเศษสำหรับคนกรุงเทพฯ

ผมงง งง เอ มีหรือภาษีน้ำท่วม ไม่เคยได้ยิน

ก็เพราะน้ำท่วมกรุงเทพฯก็ป้องกันกันสุดฤทธิ์ โดยหลายวิธีตามหลักวิชาการ คือหาทางระบายน้ำที่มาตามลำเจ้าพระยาออกไปทะเลโดยเร็วที่สุด แต่มันก็ติดโน่น ติดนี่ โดยเฉพาะติดอำนาจของคน…..

เอางี้ คนกรุงเทพฯที่รัฐบาลอ้างว่าเป็นพื้นที่ที่ต้องป้องกันสุดฤทธิ์นั้น จะต้องทำอะไรมากกว่านี้เสียแล้ว นั่นคือต้องควักกระเป๋าจ่ายภาษีน้ำท่วม ถ้าจะเรียกให้ถูกคือภาษีป้องกันน้ำท่วม

โดยเอาเงินส่วนนี้ที่เก็บได้นี้ไปจ่ายให้พื้นที่รอบกรุงเทพฯที่เป็นที่ลุ่มและสามารถทำแก้มลิงได้ โดยเป็นการเช่าที่ดินเพื่อระบายน้ำที่จะเข้ากรุงเทพฯให้มาอยู่ที่นี่เต็มๆ แล้วสร้างระบบระบายออกทะเล เมื่อหมดปัญหา ก็กลับมาใช้ที่ดินดังเดิม ซึ่งอาจจะเป็นเวลาประมาณ 3-4 เดือน ช่วงนี้ให้หยุดทำการเกษตร เอาที่ดินให้เช่าเก็บน้ำเท่านั้น

ผมไม่ใช่วิศวกร และไม่รู้เรื่องระบบใหญ่ของการผันน้ำรอบกรุงเทพฯ แต่ฟังท่านนี้อธิบายก็พอเห็นภาพ และน่าจะเป็นไปได้ มีคนร่วมก๊วนเสวนากล่าวว่า ชาวบ้านเขาจะยอมหรือ…. หากจ่ายแพงน่าจะยอมนะครับ แต่ 3-4 เดือนเอง อีก 8 เดือนก็ทำการเกษตรอื่นๆได้ แต่อาจจะต้องปรับระบบชนิดพืชที่ปลูก

คิดเล่นๆกันนะครับ เพราะปกติหากน้ำท่วมที่ดิน หากมีการเพาะปลูกและเกิดเสียหาย รัฐก็จ่ายค่าชดเชยอยู่แล้ว แต่นี่ไม่ต้องชดเชย เช่าที่ดินเก็บน้ำซะเลย….

นี่คิดแบบไม่เห็นหัวชาวต่างจังหวัดนะ คิดจะช่วยคนกรุงเทพฯเท่านั้น หุหุ..


อยุธยายศล่มแล้ว..

6 ความคิดเห็น โดย bangsai เมื่อ 9 ตุลาคม 2011 เวลา 17:25 ในหมวดหมู่ ไม่ได้จัดหมวดหมู่ #
อ่าน: 2777

อยุธยาวิกฤติหนักในรอบพันปี (พูดให้เว่อไว้ก่อน) คุยกับน้องสาวที่วิเศษชัยชาญว่าเป็นไงบ้าง เธอบอกว่าเตรียมการมานานก็ไม่อันตรายและบ้านที่อยู่ย้ายจากเดิมริมแม่น้ำน้อยไปอยู่ติดทุ่งนาลึกเข้าไป น้ำล้นตลิ่งจากแม่น้ำน้อยส่งอิทธิพลไปน้อยกว่า จึงพอรับไหว

 

แต่ที่อเน็จอนาจคงเป็นอยุธยา น้องชายบอกเอารถ 4 วิลล์ไปรับพ่อตาแม่ยายไม่ทัน รถจมน้ำต้องว่ายน้ำออกมาจากตัวรถ แล้วไปช่วยเอาผู้เฒ่าออกมา ก็ออกมาได้แต่ตัว แต่ตัวจริงๆ แค่นั้นก็เอาชีวิตแทบไม่รอด เอาผู้เฒ่าส่งไปอาศัยศาลากลางจังหวัด แล้วไปเอาเด็กๆออกมา

คาดไม่ถึงจริงๆ นี่คือความรู้สึกหรือคำพูดที่ทุกคนคุยกัน ก็บ้านสองชั้น อุตสาห์ไปอยู่ชั้นบนแล้วยังไม่พ้นอีก ตูมเดียวท่วมมิดเลย

เอาชีวิตรอดไว้ก่อน เรื่องอื่นค่อยๆคิดอ่านกัน

อยุธยายศล่มแล้ว……..ลอยสวรรค์ ลงฤา …….

เหมือนเสียกรุงอีกครั้ง..


ประสบการณ์เล็กๆแต่มีราคาเกี่ยวกับน้ำ…

อ่าน: 10660

เหตุผลที่สำคัญที่เรากู้เงินมิยาซาวา เมื่อปี 40 และเหตุผลที่สำคัญของ สปก. อ้างถึงในการขอแบ่งเงินกู้จากประเทศญี่ปุ่นเมื่อมาทำโครงการพัฒนาชนบทคือ ระบบการเงินของประเทศพัง เราต้องการมาฟื้นฟูประเทศ การฟื้นฟูมีหลายแนวทาง หนึ่งก็คือการสร้างความอุดมสมบูรณ์ให้เกิดขึ้นในสังคมโดยเฉพาะชนบท เพื่อเกษตรกรมีรายได้ ทีกำลังซื้อ ดังนั้นอีสานแห้งแล้งจึงเป็นต้นเรื่อง เพื่อให้เหตุผลขลังก็จ้างบริษัทที่ปรึกษามาทำการศึกษา Feasibility study (FS) ว่าชาวอีสานต้องการแหล่งน้ำเพื่อการเกษตร ประโยคนี้พูดที่ไหน เมื่อไหร่ก็ถูก

แล้วโครงการเงินกู้มิยาซาวาก็ได้รับการอนุมัติ ซึ่งผมได้รับมอบหมายให้มีส่วนรับผิดชอบดำเนินงานมาเกือบสิบปี การประเมินผลที่เรียกว่า External Final Evaluation เพิ่งเกิดขึ้น ผลเป็นอย่างไรผมขอไม่ลงรายละเอียด ระหว่างการดำเนินงานส่วนหนึ่งก็อยู่ในบันทึกลานดงหลวงนั่นแหละ

ถามอีสานแล้งจริงไหม คงไม่ต้องตอบ เพราะมันกลายเป็นคำคู่กับภาคอีสานมานานแล้ว แต่จริงๆที่ไหนๆก็แล้ง เหนือ กลาง ตะวันออก ตะวันตก แม้ภาคใต้ก็เคยแล้ง เพียงแต่อีสานเกิดปรากฏการณ์มากกว่า และทางเลือกมีน้อยเพราะลักษณะภูมิประเทศเป็นที่ราบสูงนั่นเอง

ไม่ใช่อีสาน แห้งแล้งเท่านั้น น้ำท่วมก็เกิดขึ้นมาหลายครั้งแล้ว และเกิดขึ้นมาคู่กับโลก เพราะหากเราเป็นคนทำงานชนบทและสนใจ “พัฒนาการสังคมชนบท” เราก็ใช้วิธี Dialogue ผู้เฒ่าผู้แก่ของชุมชน เราก็จะทราบ “พัฒนาการของหมู่บ้าน ชุมชน สังคม” กระบวนการนี้ดีมากๆ ไม่เห็นโรงเรียนที่ไหนทำเลย มีแต่เรียนสิ่งไกลตัว ผู้เฒ่าผู้แก่ก็เอามานั่งให้กราบไว้เท่านั้น ไม่พอครับ ประสบการณ์ของท่านคือประวัติศาสตร์

ผู้เฒ่าผู้แก่บอกว่า การย้ายถิ่นฐานของคนในอดีตเป็นเรื่องปกติ ทำไมต้องย้าย ก็โรคร้ายระบาดผู้คนล้มตาย หรือเกิดแห้งแล้งหนักข้าวปลาขาดแคลน หรือตรงข้ามน้ำท่วมใหญ่ ผู้เฒ่าผู้แก่มีพิธีกรรมความเชื่อเป็นของคู่กับสังคมโบราณ เมื่อ “นางเทียม” บอกให้ย้ายหมู่บ้าน ก็พากันย้าย… ย้ายไปไหน นี่แหละความรู้หรือที่เรียกภูมิปัญญาของคนโบราณเขาก็เลือกเอาพื้นที่ที่ดอน แต่มีแหล่งน้ำใกล้ๆ มีป่าให้หาสิ่งก่อสร้างอิงอาศัย เป็นแหล่งอาหาร เครื่องนุ่งห่ม ยารักษาโรค มีพื้นที่ให้เพาะปลูก ดูดินว่ามีความอุดมสมบูรณ์แค่ไหน เมื่อทุกอย่างได้ ก็ทำพิธีขอพื้นที่ตั้งหมู่บ้าน

ดิน น้ำ ป่า เป็นสิ่งสำคัญสำหรับคนโบราณ และสืบทอดมาจนปัจจุบันและยังหนาแน่นในกลุ่มบางชนเผ่าเช่น กะโซ่ที่ดงหลวง หรือชุมชนชาวเขาเผ่าต่างๆ หรือชุมชนที่อาว์เปลี่ยนเล่าให้ฟังนั่น

แล้วฝรั่งก็มาล่าเมืองขึ้น ใครลืมประวัติศาสตร์นี้ก็ไปทบทวนดู มันรู้สึกเจ็บลึกๆเหมือนกันที่ความศิวิไลซ์ของชนเผ่าผิวขาวตะวันตกมาแย่งชิงดินแดนเราไปอย่างด้านๆโดยใช้เล่ห์เพทุบายต่างๆ และที่สำคัญใช้กำลังบังคับ ผมว่าการที่อมริกันไม่ชนะสงครามเวียตนามนั้น ตะวันตกได้บทเรียนที่มีค่ามากๆ อ้าว..เรื่อยเปื่อยไปแล้วนะเนี่ย

เมื่อยุคการพัฒนาเข้ามา อ้างอิงกันถึง สัญญาเบาริง อ้างถึงแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติกี่แผนต่อกี่แผนมานี่น่ะ ลัทธิเมืองขยายตัว ลัทธิธุรกิจแผ่พลังครอบคลุมชนบท ตามหลักทฤษฎีทั้งเศรษฐศาสตร์และสังคม ชนบทค่อยๆกลายเป็นเมือง คุณค่าชนบทตกอยู่ภายใต้นิยามของการพัฒนา ว่าเป็นพื้นที่ด้อยการพัฒนา…?? แต่ภายหลังมายกยอปอปั้นว่าชนบทมีทุนทางสังคมมากที่สุด ชนบทมีภูมิปัญญา….??? แต่ดูเหมือนก็ยังแค่เป็นเพียงคำพูด “การพัฒนาก็ยังใช้หลักการทางเศรษฐศาสตร์ตะวันตกเป็นธงนำ ไม่ได้ใช้ทุนทางสังคมเป็นตัวตั้ง”

“สภาพกายภาพของพื้นที่” การเกษตรค่อยๆเปลี่ยนแปลงไปตามกระแสการพัฒนาตามหลักการที่กล่าวว่า “เพื่อความเจริญ” แต่หลายเรื่องหลายอย่างไปขัดกับสภาพธรรมชาติของการเกิดและการถ่ายเทน้ำ

ทุกครั้งที่โครงการพัฒนาชนบทที่ผมทำงานอยู่มีงานพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน เช่น สระน้ำประจำไร่นา ฝายกั้นน้ำ หรือใหญ่ขึ้นไปหน่อยคือ โครงการสูบน้ำด้วยไฟฟ้า ก็จะมีวิศวะการใหญ่มาคุมงาน นัยใช้ความรู้มหาศาลมาบริหารจัดการเพื่อประโยชน์สุขมวลประชา และตามหลักการมีขั้นตอนที่ต้องประชุมพูดคุยกับชาวบ้านในชุมชนนั้นๆ ชาวบ้านก็ตอบคำถามตามประสบการณ์พื้นที่ของเขาแบบตรงๆ แต่ไม่มี Subject area ด้านงานก่อสร้างดังวิศวกร แต่วิศวกรก็ไม่มี Subject area ด้านสภาพชุมชน ขอโทษนะครับวิศวกรทั้งหลาย วิศวกรที่ผมพบนั้นยืนหยัดถึงความรู้แห่งตน มากเกินไปที่จะรับฟังชาวบ้าน แล้วความผิดพลาดมักพบภายหลังการก่อสร้างเสมอๆ มิเพียง “ไม่สำเหนียกเสียงชาวบ้าน” แม้เจ้าหน้าที่อย่างผมที่บริหารโครงการเขาก็ไม่ฟัง

แม้ว่า สตง.จะตามมาตรวจสอบ แต่เล่ห์เหลี่ยมของความจัดเจนในกลยุทธนั้น วงการระบบ..ย่อมรู้แก่ใจ

ความบกพร่องผิดพลาดย่อมเกิดขึ้นได้ในทุกๆงาน ไม่ว่างานนั้นราคา 10 บาท หรือ หมื่นล้านบาท แต่หากราคานั้น 10 บาทก็ถือว่าเล็กน้อย หากราคางานนั้นสูง สิ่งที่เสียหายคือสังคม ประเทศชาติ และที่ร้ายคือความรู้สึก

ขอยกตัวอย่าง งานก่อสร้างโครงการสูบน้ำด้วยไฟฟ้าที่พื้นที่ผมรับผิดชอบ ถูกออกแบบมาจากกรุงเทพฯ โดยดูพื้นที่จากแผนที่ ต่อให้เป็นแผนที่ที่ละเอียดแค่ไหนก็ตามเถอะก็ต้องออกไปดูพื้นที่จริง ต่อให้ดูพื้นที่จริงแค่ไหนก็เถอะ หากไม่คุยกับชาวบ้าน หรือต่อให้คุยกับชาวบ้านแค่ไหนก็เถอะ หากไม่มี Subject area ทางด้านสังคม-วิศวกรรม หรือวิศวกรรมสังคม หรือจะเรียกอะไรก็แล้วแต่ ที่เป็นรายละเอียดเชิงประวัติศาสตร์พื้นที่ อันตราย

การก่อสร้างโรงสูบน้ำถูกออกแบบมาแล้วดังกล่าวสมมุติว่าสูง 10 เมตร นัยว่า ข้อมูลที่ใช้นั้นรอบด้านแล้ว เจ๋งแล้ว แต่เมื่อลงมือก่อสร้างผมได้พูดคุยกับชาวบ้านและผู้นำชาวบ้านว่า น้ำท่วมสูงสุดแค่ไหน ก็ได้คำตอบ และแบบที่ออกมานั้นก็ดูจะไม่มีปัญหา แต่เมื่อไปสอบถามผู้เฒ่าผู้แก่พบว่า ในรอบ 20 ปี จะมีน้ำท่วมใหญ่ครั้งหนึ่งโดยประมาณ เมื่อตามตรวจสอบระดับน้ำที่ท่วมพบว่ามันสูงกว่าที่คนอื่นๆพูดกัน…

ตายหละหว่า…หากอนาคตข้างหน้าครบรอบ 20 ปีที่น้ำจะท่วมใหญ่ อาคารสูบน้ำที่ไม่ใช่ระบบ Floating station มันก็อวสาน บานทะโล่หละซี เท่านั้นเองงานก่อสร้างต้องหยุดชะงักเอาไปออกแบบใหม่ ยกขึ้นอีก 1 เมตร….??

หลังจากนั้นสองปี น้ำก็ท่วมสูงสุดดังที่ผู้เฒ่าบอกกล่าว หากไม่ยกสูงอีก  1 เมตรก็เรียบร้อย….?

เกือบไปแล้วไหมล่ะ ….!!!???


Dog complaint..

390 ความคิดเห็น โดย bangsai เมื่อ 7 ตุลาคม 2011 เวลา 21:40 ในหมวดหมู่ ไม่ได้จัดหมวดหมู่ #
อ่าน: 5553

นี่นังแดง นังดำ นังเขียว นังขาว รวมทั้งหมาใดๆก็แล้วแต่

อย่ามากล่าวหาชั้นนะว่าเป็นหมาไม่มีมารยาท

ดันมานั่งบนกำแพงทำไม

ก็น้ำมันท่วมนี่…หว่า

รึแกจะให้ชั้นนั่ง ยืน ในน้ำตลอดเวลา หือ….

แค่นี้ก็ปวดก้นไปหมดแล้ววววว ไม่ได้ออกกำลังกายเลย..

เดินไปเดินมา แล้วก็นั่งนี่แหละ เบื่อจะตายแล้ว

เมื่อไหร่ ฯพณฯท่านจะแก้ปัญหาให้คลี่คลายซะที..

นี่แอบฟังข่าวเจ้านายคุยกันว่า น้ำเหนือจะมาอีกแล้ว

ชั้นว่าก้นชั้นน่ะด้านหมดแน่ว่ะ..

ว่าจะถามเจ้านายว่า ไอ้ถุงยังชีพน่ะ มียาทาแก้ก้นด้านไหมอ่ะ…

โฮ้ง โฮ้ง ..


คอนโดมิเนี่ยมนก

28 ความคิดเห็น โดย bangsai เมื่อ 6 ตุลาคม 2011 เวลา 0:25 ในหมวดหมู่ ไม่ได้จัดหมวดหมู่ #
อ่าน: 4112

 

บรื๊อออออออออ


Entertainment Complex 2

65 ความคิดเห็น โดย bangsai เมื่อ 2 ตุลาคม 2011 เวลา 16:04 ในหมวดหมู่ การบริหารจัดการประเทศ, งานพัฒนาสังคม, ทุนสังคม #
อ่าน: 4105

ภาพของทุ่งกุลานั้นใครต่อใครก็นึกถึงความแห้งแล้ง ขาดแคลน การอพยพแรงงาน ขาดข้าวกิน ฯลฯ ล้วนเป็นสภาพที่เป็นความด้อย เป็นปัญหา เป็นอุปสรรคของการพัฒนาประเทศ จึงสมควรคิดใหม่ทำใหม่คือเลิกทำการเกษตรซะ เอาไปทำบ่อนกาสิโนสร้างรายได้เข้าประเทศเป็นแสนๆล้านดีกว่า…..


ต้องยอมรับว่าอดีตนั้นมีสภาพเป็นเช่นนั้นจริงๆ แต่หน่วยงานราชการไทยและ NGO เข้าไปพัฒนามานานมากแล้วเปลี่ยนแปลงสภาพความทุกข์ยากดังกล่าวมาเป็นพื้นที่ทำเงินทำทองให้แก่เกษตรกรทีเดียว

มีสถานีพัฒนาที่ดินที่ กู่พระโกนา อ.สุวรรณภูมิ ทำหน้าที่ศึกษาพัฒนาพื้นที่นี้มานานแล้ว มีโครงการพิเศษที่กู้เงินจากต่างประเทศมาทำงานวิจัยและพัฒนามากมาย รวมทั้งเงินให้เปล่าของประเทศออสเตรเลียจนนำเข้าต้นไม้ชนิดหนึ่งที่ฮือฮามากที่สุดในสมัยนั้น คือต้นยูคาลิปตัส สายพันธ์ คามาลดูเลซิส (พ่อครูบารู้เรื่องนี้ดีที่สุดท่านหนึ่ง) ผมเองมีส่วนร่วมของโครงการพัฒนาทุ่งกุลาอยู่บ้างในสมัยเมื่อสามสิบปีที่แล้วมา


กู่พระโกนา ที่ตั้งสถานีพัฒนาที่ดิน กรมพัฒนาที่ดิน

มีองค์กรพัฒนาเอกชนเข้ามาทำงานแถบนี้หลายต่อหลายโครงการ จนปัจจุบัน จนเกิดค้นพบปราชญ์ชาวบ้านในแถบนั้นก็หลายท่าน มีโครงการของจังหวัดร้อยเอ็ดและจังหวัดรอบข้างทุ่งกุลา เช่น บุรีรัมย์ สุรินทร์ ยโสธร ฯ ที่เข้ามาเร่งรัดพัฒนาพื้นที่ทุ่งกุลาที่อยู่ในขอบเขตจังหวัดของตนกันมานาน

ในทางธรณีวิทยานั้น อีสานเคยมีน้ำทะเลท่วมมาสองครั้ง แต่ละครั้งนานนับล้านๆปี จนน้ำทะเลแห้งตกผลึกเป็นชั้นเกลือ ซ่อนอยู่ใต้ผิวดิน ที่เรียกภูเขาเกลือ หรือ Salt dome มีระยะห่างจากผิวดินแตกต่างกันไป มีอิทธิพลต่อผิวดินแตกต่างกันไปตามระบบธรรมชาติ และการทำกิจกรรมของคนบนผิวดินนั้น จนเกิดการแพร่กระจายของเกลือบนผิวดิน นี่เองที่นักวิชาการดิน (อาว์เปลี่ยนนี่ก็คนหนึ่ง) เข้าใจเรื่องนี้ดี และเกิดตั้งสำนักงานพัฒนาที่ดินที่ทุ่งกุลานี่เพื่อศึกษาค้นคว้าหาทางจัดการอย่างถูกวิธี ทุ่งกุลานั้นอยู่ในแอ่งโคราชของหลักทางธรณีวิทยา เป็นพื้นที่ลุ่มที่สุดของแอ่งนี้ กับแอ่งสกลนครที่มีหนองหาญเป็นพื้นที่ก้นกระทะของแอ่งนี้

ในทางประวัติศาสตร์ทุ่งกุลาคือแหล่งผลิตเกลือมาแต่โบราณกาล ท่านอาจารย์ศรีศักดิ์ วัลลิโภดมและคณะศึกษาเรื่องนี้และทำหนังสือมาแล้ว ใครสนใจหามาอ่านได้ และมีนักศึกษาทำปริญญาโท เอก ก็หลายท่าน

สมัยที่ทำงานเกี่ยวข้องกับทุ่งกุลานั้นจำได้ว่ามีการศึกษาวิจัยกันมาก มีการจัดสัมมนาทางวิชาการก็หลายครั้ง การที่เอาออสเตรเลียมาร่วมทำโครงการเพราะ ออสเตรเลียมีพื้นที่คล้ายๆทุ่งกุลา และสามารถแก้ปัญหาได้ระดับหนึ่ง จึงเอาประสบการณ์ที่นั่นมาใช้ จึงเป็นที่มาอย่างหนึ่งของการนำเข้ายูคาลิปตัสหลายสายพันธุ์ รวมทั้ง คามาล ดูเลซิส ยูคาลิบตัสมันเกี่ยวกับพื้นที่ที่มีความเค็มอย่างไร ผมไม่อาจลงรายละเอียดได้ แต่หากท่านขับรถผ่านทุ่งกุลาจะเป็นตามคันนามีแต่ต้นยูคาลิปตัสเต็มไปหมด

ผมจำได้ว่าการศึกษาพันธุ์พืชที่เหมาะสมกับพื้นที่ดินเค็มนั้นมีมากมายหลายชนิด เช่นมะขามเทศ และข้าวหอมมะลิ 105 ซึ่งน่าที่จะมีพันธุ์ข้าวพื้นบ้านอีกจำนวนหนึ่ง แต่รัฐส่งเสริมการผลิตข้าวพันธุ์ดี พื้นที่ส่วนใหญ่จึงเปลี่ยนพันธุ์มาเป็นมะลิ 105 ซึ่งเป็นข้าวที่มีความหอมมาก คุณภาพดีที่สุด ส่งออกตรงไปต่างประเทศก็มี เช่นที่ยโสธรที่มีกลุ่มเกษตรกรรวมกันผลิตข้าวมะลิอินทรีย์ส่งออก…


ดูเหมือนผมเคยกล่าวไว้บ้างว่า ข้าวมะลิ 105 ของไทยนั้นชื่อกระฉ่อนไปทั่วโลกขายดี ประชากรโลกชอบและเป็นสินค่าส่งออกอันดับหนึ่งมานาน (แต่ชาวนาก็ไม่รวยสักที ?) มีต่างชาติพยายามที่จะเอาพันธุ์ข้าวมะลิ 105 ไปปลูกเพื่อแข่งกับไทย อย่างที่เรารับทราบที่อเมริกา เรียกข้าวจัสมิน ที่เวียตนาม และแม้ที่ลาว แต่ไปตั้งชื่อใหม่ แล้วก็อ้างสรรพคุณว่าหอมเท่ามะลิ 105 หรือดีกว่า แต่ราคาถูกกว่า

ผมเคยคุยกับท่าน ผอ.สถานีข้าวที่สกลนครชื่อ “พี่ขี” เข้าใจว่าท่านเสียชีวิตไปแล้ว ท่านเป็นนักวิชาการข้าวทำข้าวมะลิมานานและกล่าวว่า ไม่มีทางที่ต่างประเทศจะผลิตข้าวมาเทียบเท่ามะลิ 105 ของไทย ยกเว้นเทียบเท่า(ซึ่งไมเท่า) หรือปลอมปน หรือสรวมยี่ห้อ ท่านกล่าวว่าให้เอาเมล็ดมะลิ 105 ไปปลูกเถอะ ก็จะไม่ได้คุณสมบัติเท่าที่ผลิตในเมืองไทยแถบทุ่งกุลา หรือพื้นที่ใกล้เคียง ฟังดูเหตุผลคือ เพราะคุณภาพดิน(ที่มีความเค็มนิดหน่อย) และสภาพธรรมชาติบน Longitude และ Latitude ของประเทศไทยเท่านั้น ผมไม่มีความรู้เรื่องนี้ เพียงจำเอาการสนทนามาเล่าสู่กันฟัง

ทุ่งกุลาร้องให้ เปลี่ยนแปลงไปจากสภาพเดิมๆมากมาย กลายเป็นแหล่งเศรษฐกิจข้าวชั้นเลิศของประเทศไทย ไหนเลยจะเอาพื้นที่ไปทำบ่อนคาสิโน…

ความคิดชุ่ยๆ…แบบนี้เรียกอะไรดีล่ะ…หือ ท่าน

นี่คือตัวอย่างผู้หลักผู้ใหญ่เมืองไทยที่คิดอะไรไม่ดูรายละเอียดบริบทของพื้นที่นั้นๆ และหาข้อมูลรอบด้านเสียก่อน คิดแล้วไม่ทำก็ให้อภัยกันไป

แต่หากเอาจริงขึ้นมา คงสนุกหละครับ…


ที่ว่างของชาวบ้าน..

412 ความคิดเห็น โดย bangsai เมื่อ 2 ตุลาคม 2011 เวลา 0:52 ในหมวดหมู่ เรื่องทั่วไป, เฮฮาศาสตร์ #
อ่าน: 8094

ก่อนจะมาอีสานผมคุยกับเพื่อนๆว่า เราต้องรู้จักคน ดิน น้ำ ป่า ของอีสาน เราต้องเข้าใจพื้นฐานของสิ่งเหล่านี้ มิเช่นนั้นเราจะทำงานไม่ตรงกับคนและสภาพของอีสาน

วันหนึ่งมีการสัมมนาที่สถาบันวิจัย มหาวิทยาลัยขอนแก่นเกี่ยวกับเรื่องน้ำในอีสานนี่แหละ มีนักวิชาการผู้ชำนาญการหลายท่านมาให้ความรู้ความเข้าใจและความเห็นต่อการบริหารจัดการน้ำในอีสาน ผมเห็นวิทยากรท่านหนึ่งถูกแนะนำว่าเป็นชาวบ้าน เป็นปราชญ์ เมื่อท่านพูด นำเสนอประสบการณ์ของท่าน ผมก็ทึ่งว่าชาวบ้านท่านนี้ทำไมใช้สื่อเพื่อการนำเสนอเก่งจัง สาระก็เป็นฐานรากของปัญหาและประสบการณ์การแก้ไขที่ท่านลงมือทำเอง

เนื่องจากผมทำงานพัฒนาชนบทมาพอสมควร รู้จักชาวบ้านพอสมควร ย่อมรู้ดีว่า ชาวบ้านนั้นเป็นนักปฏิบัติ พูดไม่เก่ง ยิ่งนำเสนอเป็นเรื่องเป็นราวนั้นยิ่งไปใหญ่เลย แต่ก็มีชาวบ้านจำนวนหนึ่งที่เด่นชัดเจน ชาวบ้านเหล่านั้นมักเป็นคนที่มีตำแหน่ง มีหน้าที่อยู่ในชุมชน หรือท้องถิ่นนั้นๆ แต่ท่านผู้นี้วาจาคารมคมคายนัก ง่ายๆ ตรงๆ และถูกใจผมมาก

แม้ว่าจะมีการแนะนำตัวผมก็ไม่รู้จักท่าน จริงๆ แล้ววันเวลาก็ผ่านเลยไปจนผมก้าวเข้ามาในสังคมเสมือน Cyber community ที่ Go to Know หรือที่เรียกกันภายในว่า G2K ผมก็มาพบชาวบ้านท่านผู้นี้อีกครั้ง ท่านเขียนบันทึกทุกวัน มากมายนับไม่ถ้วน ผมกลายเป็นแฟนคลับท่านไปโดยไม่รู้ตัว เพราะติดใจในสาระและรสอักษรของท่าน ….

ผู้นำหลายคนที่ทำเก่งมาก แต่พูดไม่ได้ความ ผู้นำบางคนทำพอใช้ได้ แต่พูดเก่งเป็นไฟ และก็มีบางคนที่พูดน่าฟัง มีหลักมีเกณฑ์ แต่ไม่ได้ทำเท่าไหร่ การพูดคนธรรมดานั้นหลายท่านก็เอาเรื่องอยู่ เพราะวัฒนธรรมการใช้ภาษาของแต่ละท้องถิ่นแตกต่างกัน ต้องตีความหมาย และชาวบ้านจะไม่พูดอะไรเป๊ะๆ แต่จะใช้ภาษาแบบประมาณนั้น, คล้ายๆแบบนั้น, ทำนองนั้น, ฯลฯ แต่ท่านผู้นี้ใช้ภาษาได้ดี โดยเฉพาะภาษาไทยโบราณ จนบางคำผมลืมไปแล้ว

ผมชอบใจที่ท่านพูดดี เขียนก็ดี และที่สำคัญทำงานก็ดี สรุปบทเรียนดี เป็นคุณสมบัติที่หายากยิ่งในระดับชาวบ้าน

ผมมีโอกาสเดินทางไปชุมนุมเพื่อนร่วมก๊วนเขียนบล็อก ที่บ้านของท่านผู้นี้ ผมต้องทึ่งอีก เพราะที่พักของท่านแวดล้อมไปด้วยต้นไม้ หลากหลาย ร่มรื่น และที่นี่เองเป็นห้องเรียนสารพัดเรื่อง

พ่อชาดี วงษ์กะโซ่ ปราชญ์ชาวบ้านแห่งดงหลวงนั้นมีความเป็นตัวของตัวเองสูงนักเกินชาวบ้านทั่วไป ท่านยึดมั่นหลักการยิ่งนัก พ่อแสน แห่งดงหลวงก็เช่นกัน รับรางวัลมาหลายครั้งทั้งระดับจังหวัดและระดับชาติ ก็เพราะท่านเป็นนักสังเกตธรรมชาติและเอามาดัดแปลงใช้ในป่าครอบครัวของท่าน การค้นพบหลายอย่างของท่านก็มาจากการปฏิบัติ และเฝ้าพิจารณาเมื่อพบความจริงก็เอามาขยายต่อ ทดลองทำจนพบความสำเร็จ นายสีวร หนุ่มผู้อกหักจากการเร่ร่อนไปรับจ้าง แต่ก็มาปลื้มกับเกษตรผสมผสานหลังบ้านแปลงเล็กๆที่เหลือกินเหลือใช้ ขายจนมีรายได้วันละ 200-300 บาท

ท่านเหล่านี้ผมได้นำชีวิตท่านยกขึ้นบนเวทีสาธารณะในสังคมเสมือน เพราะผมตั้งเจตนาไว้ประการหนึ่งว่า บล็อก นี้ควรจะเป็นเวทีสำหรับชาวบ้านบ้าง ผ่านเราผู้ไปพบไปเห็นไปสัมผัส ก็ควรนำท่านมาสู่สาธารณะบ้างตามวาระ

ในสังคมสื่อสารนั้นไม่ว่าหน้าหนังสือพิมพ์ หน้าจอทีวี เสียงทางวิทยุ หรือแม้แต่ Social network ต่างๆนั้น ล้วนเป็นคนชั้นกลางขึ้นไปทั้งนั้นที่มาวาดลวดลายบนสื่อเหล่านี้ ทั้งทำเองและนักสื่อสารหยิบเอามาทำข่าวด้วยวัตถุประสงค์ต่างๆกัน แต่ไม่มี หรือมีน้อยมากๆที่จะเป็นพื้นที่ของชาวบ้าน ซึ่งเป็นคนส่วนใหญ่ของประเทศ

เมื่อผมคุ้นชินกับสังคมเสมือนและกลายเป็นสมาชิกของสังคมนี้ ผมดีใจที่สังคมแห่งนี้มีพื้นที่สำหรับชาวบ้าน โดยเฉพาะชาวบ้านอย่างปราชญ์แห่งอำเภอสตึก จังหวัดบุรีรัมย์ ที่ชื่อ ครูบาสุทธินันท์ ปรัชญาพฤทธิ์ ที่ผมเรียกท่านว่าพ่อครูบาฯ ท่านสร้างเวทีของท่านเอง ท่านสร้างพื้นที่ในสังคมแห่งนี้ขึ้นมาเอง และบรรเลงเพลงชีวิตการต่อสู้เพื่อความอยู่รอดของชาวชนบท ที่มักเป็นอันดับท้ายๆของการพัฒนาจริงๆ แต่เป็นอันดับต้นๆของการประชาสัมพันธ์โดยรัฐและการชอบอ้างถึงของนักการเมืองยุคทุนนิยม

ประสบการณ์ที่อัดแน่นในชีวิตของพ่อครูบานั้นเป็นครูสำหรับคนทั่วประเทศ เป็นห้องสมุดให้นักศึกษามาค้นคว้าทำปริญญากันมากมาย เป็นลายแทงให้นักแสวงหาทั้งหลายมาค้นหา เป็นทองคำบริสุทธิ์ให้ผู้คนทั่วสารทิศมาร่อนเก็บเอาไป ฯลฯ และเป็นบึงใหญ่น้ำใสแจ๋วให้ลูกหลานได้ดื่มกินจนชุ่มชื่นใจ

พื้นที่แห่งนี้คือพื้นที่ของพ่อครูบาฯ ชาวบ้านของปวงชนที่สร้างขึ้นมาเพื่อสังคม ผู้แสวงหาเท่านั้นจึงจะค้นพบ…

พ่อครูบาฯ….. ชาวบ้านน้อยคนนักที่จะมีที่ยืนเช่นนี้


ทำเลย..

1438 ความคิดเห็น โดย bangsai เมื่อ 1 ตุลาคม 2011 เวลา 17:58 ในหมวดหมู่ ไม่ได้จัดหมวดหมู่ #
อ่าน: 21442

 

แค่เห็นภาพก็เกิดความรู้สึก ความเห็นมากมาย

ที่ไม่ต้องอธิบาย

ทำเลย…

(ภาพจากอาสาสมัครดุสิต ดูเพิ่มเติมที่ http://www.arsadusit.com/7503 )


เพียงเข้าใจฉัน..

34 ความคิดเห็น โดย bangsai เมื่อ 1 ตุลาคม 2011 เวลา 8:30 ในหมวดหมู่ ไม่ได้จัดหมวดหมู่ #
อ่าน: 2911

เพียงเศษอาหารที่คุณจะต้องทิ้งไป

มันคือสิ่งยังชีวิตของฉันและลูกๆ

ฉันทำกินเองไม่ได้ เพียงเดินตระเวนหาสิ่งที่มนุษย์ทิ้ง แค่นั้น

ฉันตระเวนหาในพื้นที่ที่เคยได้กิน แม้ว่าจะถูกขับไล่ใสส่ง

ฉันก็แอบไปและไม่ส่งเสียงใดๆให้รำคาญ

บางวันฉันไม่มีอะไรตกในท้อง ฉันถือโอกาสปีนรั้วเข้าไปในบ้าน

ไปค้นหาด้านหลังบ้านว่ามีสิ่งที่ฉันกินบ้างได้ไหม

ฉันรู้ว่ามนุษย์ไม่ชอบสิ่งที่ฉันทำ และหลายคนรังเกียจฉัน

ตัวฉันเองไม่เท่าไหร่ แต่ลูกๆฉัน

คือสิ่งที่ฉันต้องดูแลเขาด้วยน้ำนมของฉัน

เข้าใจฉันบ้างนะ….


ใส่ใส้ของยาย

717 ความคิดเห็น โดย bangsai เมื่อ 30 กันยายน 2011 เวลา 17:57 ในหมวดหมู่ ไม่ได้จัดหมวดหมู่ #
อ่าน: 10023

ยายน่ะตื่นมาตั้งแต่ตี 4 มาเตรียมขนมนี่แหละ

ยายไม่ได้ทำทุกวันหรอกไอ้หนูเอ้ย..ไม่ไหว ทำเท่าที่จะทำได้

ก็ช่วยลูกหลานหาเงินน่ะซี…เดี๋ยวนี้อะไรก็เงิน เงินทั้งนั้น แล้วยายจะนั่งแบมือขอลูกขอหลานไปตลอดน่ะยายไม่ทำหรอก….อะไรที่ยายทำได้ก็ทำ

 

ก็ยายทำมาตั้งแต่สาว เจ้าขนมใส่ใส้นี่น่ะ ลองชิมของยายซิ..เอ้า…

ยายขายสามห่อสิบบาทลูก…จะเอาเท่าไหร่ล่ะ เดี๋ยวยายแถมให้…

————-

วัย 70 ของยายยังต้องออกมาทำงานเพื่อรายได้ของครอบครัวที่ต่างเดินไปตามช่องทางของตัวเอง สาระชีวิตของยายนั้นแค่เรื่องปากท้องเพื่อการดำรงอยู่แห่งชีวิต ที่เดินออกมาช่วยเหลือลูกหลานมากกว่าจะนั่งนอนแต่ในบ้าน

ผมสัมผัสใส่ใส้ของยาย มากกว่ารสชาติของใส่ใส้…


ไร่หญ้า

634 ความคิดเห็น โดย bangsai เมื่อ 28 กันยายน 2011 เวลา 22:01 ในหมวดหมู่ ไม่ได้จัดหมวดหมู่ #
อ่าน: 37235

เราได้ยินเสมอว่าเกษตรกรนั้นมีอาชีพหลักคือการทำเกษตรกรรม นาข้าว สวนผลไม้ สวนยาง แต่ไม่เคยได้ยินว่าอาชีพหลักคือการทำเกษตรกรรม “ไร่หญ้า”

เรามีสินค้าส่งออกมากมาย แต่เราไม่รู้เลยว่า สินค้าส่งออกอย่างหนึ่งของเราคือ “หญ้า”

เราเคยได้ยินว่าอาชีพหลักคือ ทำนาข้าว อาชีพรองคือ สวน แต่เราไม่เคยได้ยินว่าอาชีพหลักคือ “ไร่หญ้า” อาชีพรองคือ “นาข้าว”

พื้นที่บางส่วนของประเทศไทยไม่เคยเว้นว่างการทำนา เช่น สองปีทำนา 5 ครั้ง เราไม่เคยได้ยินว่า บางพื้นที่ทำ “ไร่หญ้า” ตลอดทั้งปี มาหลายสิบปีแล้ว


ในรูปนี้คือ ไร่หญ้าของเกษตรกรกลุ่มหนึ่งในจังหวัดปทุมธานี


ทุ่งกุลา..คอมเพล็ก

2278 ความคิดเห็น โดย bangsai เมื่อ 27 กันยายน 2011 เวลา 19:51 ในหมวดหมู่ ไม่ได้จัดหมวดหมู่ #
อ่าน: 62261

หมู่นี้ไม่ค่อยได้เขียน เพราะยุ่งๆ กับงานและเรื่องบ้านเรื่องจิปาถะ และเรื่องไม่เป็นเรื่อง หุหุ

 

มาเมื่อวานผมขับรถในกรุงเทพฯแล้วก็ฟัง 92.25 เป็นสถานีสุวรรณภูมิ ใครชอบการวิเคราะห์ของ อ.เจิมศักดิ์ทุกเช้าก็ลองเปิดฟังดูนะครับ ผมชอบแกมานานแล้ว นอกจากจะเป็นรุ่นพี่แล้วยังเป็นคนบ้านเดียวกันคือวิเศษชัยชาญ อ.เจิมศักดิ์ช่วงหลังนี้พูดจาหนักๆผมหละเสียวใส้…

แต่ผมไม่ได้มาเขียนเรื่องของ อ.เจิมศักดิ์นะครับ แต่สถานีนี้แหละมีสตรีจัดรายการข่าวได้ฟังแล้วผมก็อดไม่ได้ที่จะต้องสละเวลามาเขียน…เธอเล่าว่ามีผู้ใหญ่เมืองไทยในรัฐบาลชุดนี้แหละไปเอาไอเดีย เอนเทอเทน คอมเพล็กมาจากต่างประเทศว่า สถานที่แห่งเดียวกันมีทุกอย่าให้พ่อบ้าน แม่บ้านและลูกๆครบ ครอบครัวไปที่นี่แล้วจบเลย วันๆหนึ่งทุกคนได้สิ่งที่ต้องการ เขาเสนอให้เอกชนไทยลงทุนทางด้านนี้ นัยว่าเป็นการสร้างงานมหาศาล รัฐเก็บภาษีมหาศาล และทุกคน แฮปปี้ ว่างั้น

ไอ้เจ้าคอมเพลกนี้มีถึงสนามกอล์ฟ และเครื่องเล่นความเสี่ยงทั้งหลายด้วย ก็เจ้าคาสิโน….. เขาเน้นว่ารัฐจะมีรายได้จากธุรกิจนี้มากมายมหาศาล เพื่อเอาไปพัฒนาประเทศ….และย้ำว่าประเทศอื่นเขาทำแล้ว

จุดสูงสุดของความคิดนี้คือให้ไปทำที่ทุ่งกุลา…และให้ชาวบ้านเลิกทำนา เพราะทุ่งกุลาไม่เหมาะกับการทำนาทำการเกษตร เอามาทำคอมเพล็กบ้าบอนี้ซะ…..นักจัดรายการอ่านข่าวไปก็งงไปว่า อ้าว นี่พ่อแม่ลูกต้องเครื่องบินจากกรุงเทพเพื่อไปคอมเพล็กนี้หละหรือ….คิดอย่างไรประหลาดจริงๆ

พูดถึงทุ่งกุลามีคนเคยเสนอนานมาแล้วให้ทำบ่อน คาสิโน… เลิกทำนา.. กลับมาได้ยินแบบเดียวกันอีกในสมัยนี้ โธ่ โธ่ โธ่ พระสยามเทวาธิราชพระเจ้าข้า….. มันจะบ้ากันไปถึงไหนนักบริหารบ้านเมืองแบบนี้

ข้าวหอมมะลิที่ดีที่สุดในโลกปลูกที่ทุ่งกุลาครับ เพราะทุ่งกุลาเป็นดินเค็มนิดหน่อย และข้าวหอมมะลิ 105 ชอบดินเค็มนิดหน่อย

และไอ้ คอมเพล็กบ้าบอนี่มันวิเศษเลิศเลอสะแมนแตนขนาดพ่อแม่ลูกต้องหอบหิ้วกันไปเดินชุบความสุขในนั้นหละหรือ ห้างสรรพสินค้าเต็มบ้านนี่ก็เหลืออดแล้วนา…

เอาเถอะหากท่านผู้นี้ออกทีวีเรื่องนี้เมื่อไหร่ พี่น้องทุ่งกุลาจะมายึดราชอประสงค์แน่นอน เชื่อหัวไอ้เรืองซิอ้าว…..


นักฆ่าขาเดียว..

255 ความคิดเห็น โดย bangsai เมื่อ 21 กันยายน 2011 เวลา 22:35 ในหมวดหมู่ ไม่ได้จัดหมวดหมู่ #
อ่าน: 4992

นักฆ่าขาเดียว

(ภาพไม่ชัดเพราะถ่ายจากในรถ)


ศาสนาแห่งการปลดปล่อย

43 ความคิดเห็น โดย bangsai เมื่อ 21 กันยายน 2011 เวลา 21:52 ในหมวดหมู่ เรื่องทั่วไป #
อ่าน: 8778

ผมหายไปหลายวันที่ไม่ได้เขียน เพราะมัวไปทะเลาะกับหมู่บ้านอารียา ที่ครอบครัวผมไปซื้อบ้านให้ลูกสาว แล้วเกิดขโมยเข้าบ้านสองครั้งในช่วง 2 สัปดาห์ คนอย่างผมนั้นทนไม่ได้ที่หมู่บ้านปล่อยปละละเลยให้เกิดเรื่องเช่นนี้ก็อาละวาดซะพองาม ดีไม่พาเพื่อนบ้านเดินขบวน ร่ำๆจะไปชวนเสื้อแดงที่สนามหลวงมาเผาซะ เอ้ย.. มาขู่ซะหน่อย เอาหละไม่เอามาพูดดีกว่า

ผมได้รับ FW mail อ่านแล้วประทับใจมาก สาธุ ท่วมหัวเลยครับ ก็ท่านนายแพทย์ชัยชนที่เป็นคุณหมอดูแลใกล้ชิดเจ้าฟ้าองค์เล็กน่ะซีครับ ท่านบวชอยู่ที่วัดป่าบ้านตาด เมื่อพลวงพ่อท่านสิ้น ท่านชัยชนก็ออกบวชเลย….ใครสนใจจะอยากอ่านบอก จะเมล์ไปให้ครับ


ผมนั้นไม่รู้จักท่านหรอกครับ แต่เห็นท่านบริบาล ดูแล เจ้าฟ้าองค์เล็กก็ชื่นชมท่านในใจ ยิ่งอ่าน ประวัติท่านก็ยิ่งเลื่อมใส และดูรูปท่านในเพศสมณะซิ สำรวมเป็นที่สุดเหมือนพระสายธรรมยุติ ที่เวลาเดินไปไหนก็แล้วแต่ จะวางสายตาอยู่เพียง “แอกเทียมโค” เท่านั้น คือก้มลงนิดหน่อย ไม่วอกแวก มองซ้ายขวา นิ่ง สงบ สำรวมเป็นที่สุด งามเป็นที่สุด นี่คือลักษณะของท่านผู้มุ่งจะหลุดพ้น สาธุ…

วันนี้ทั้งวันขับรถไปสัมภาษณ์กลุ่มเป้าหมายของงานที่ผมรับผิดชอบอยู่ ตกบ่ายพอมีเวลาผมก็ขับรถเลยไปที่คลอง 12 ลำลูกกา ปทุมธานี เห็นป้ายโรงเรียนพระวิสุทธิวงส์ เป็นคริสต์ มีทั้งโรงเรียนและโบสถ์สวย ผมจึงแวะเข้าไปชม


อาคารเรียนของโรงเรียนสายคริสต์แห่งนี้แปลกมากๆ เสียดายไม่ได้ถ่ายรูปในมุมอื่น โปร่ง ใหญ่โตมาก หลังคาอันเดียวกันแต่แผ่ขยายมาคลุมสนามเด็กเล่นที่กว้างใหญ่ เด็กๆก็วิ่งเล่นในพื้นที่ใต้หลังคานั้นซึ่งติดกับตัวอาคารเรียน


มีโบสถ์ที่สวยงามมาก สร้างขึ้นมาใหม่ อยู่ใกล้กับอาคารเรียน พร้อมที่จะให้เด็กเข้ามาใกล้ชิดและเข้าไปภายในเพื่อสารภาพบาป และมาสวดในวันสำคัญๆ และใช้ทำกิจกรรมต่างๆที่โรงเรียนกำหนด


ขับรถเลยเข้าไปเป็นสุสาน แปลกที่เขาจัดให้อยู่ริมถนน เหมือนโชว์ แสดงให้เป็นมรณานุสติ รถผ่านไปมาก็เห็นชัดเจน ตรงข้ามป่าช้าไทยต้องเอาไปไว้ด้านหลังวัด ในป่าลึกโน้น สุสานคริสต์หลายแห่งจึงเป็นที่พักผ่อน หรือเป็นแหล่งท่องเที่ยวเสียด้วยซ้ำไป อย่างสุสานสะพานข้ามแม่น้ำแควนั่นไง

ที่ผมทึ่ง ชอบ ชื่นชม ก้าวลึกเข้าไปในจิตสำนึกของคริสต์เตียนมาก เมื่อผมขับรถเลยสุสานจะเป็นเขตที่อยู่ของกลุ่มคนชราและเด็ก ผมแอบขับรถเข้าไปด้านหน้าอย่างเงียบๆ ช้าๆ ผมเห็นผู้เฒ่าจำนวนหนึ่งนั่งอยู่บนรถเข็น มีผู้ดูแล และยิ่งไปกว่านั้นผมเห็นพยาบาลนางฟ้าในชุดขาวสอาด เดินทำหน้าที่ของท่าน อะไรกัน นี่คือสถานที่ดูแลผู้สูงอายุของกลุ่มคริสต์ ช่างวิเศษจริงๆ ผมอยากจะลงไปชมและคุยกับท่านผู้ดูแล แต่เวลาผมจำกัด แค่มองดูด้วยสำนึกด้านลึกของจิตที่สัมผัสกิจกรรมเหล่านี้ ประเสริฐแท้จริง เมื่อผมขับออกมาที่ประตู ผมกลับไปดูที่ป้ายอีกครั้งหนึ่ง เห็นคำว่า โรงพยาบาลเซนต์หลุยส์… ผมไม่เข้าใจความสัมพันธ์ แต่ชื่นชมกิจกรรมนี้เหลือเกิน


ผมมิบังอาจเปรียบเทียบสองภาพต่อไปนี้ แต่เข้าใจว่าต่างมุ่งทำดีด้วยกันทั้งสิ้น ภาพท่านชัยชนที่สง่างามในอาการสำรวมดั่งผู้มุ่งมั่นเพื่อความหลุดพ้นแห่งวัตตะสงสาร และภาพพลังศรัทธาต่อพระผู้เป็นเจ้าปรากฏมาในรูปกิจกรรม และวิถีแห่งการดำรงตนในสังคม โดยมีธรรมของพระผู้เป็นเจ้ากำกับ โรงเรียน โบสถ์ สุสาน สถานที่พักของผู้สูงอายุ อยู่ในบริเวณพื้นที่ดินผืนใหญ่เดียวกัน


หนึ่งเพื่อความบริสุทธิ์ หลุดพ้น หนึ่งนั้นเพื่อชีวิต เพื่อสังคม เพื่อความเป็นคนที่มีธรรมะห่อหุ้ม งดงามเป็นที่สุด งดงามจริงๆ

สาธุ สาธุ สาธุ…..


โลกทัศน์คนท้องถิ่น

366 ความคิดเห็น โดย bangsai เมื่อ 21 กันยายน 2011 เวลา 9:11 ในหมวดหมู่ ไม่ได้จัดหมวดหมู่ #
อ่าน: 6567

อาจารย์ผมพูดตรงๆนะ…… “ทักษิณนั้นเขาเอาสามสิบบาทมาให้ เอากองทุนมาให้ เอาราคายางมาให้ เอา เอา เอา… มาให้ชาวนาชาวบ้านอย่างผมและพี่น้องของผม เขาจะโกงกินเท่าไหร่ผมไม่สน แต่สิ่งที่พวกเราได้นั้นเราพอใจ.. และเราเลือกเขา…มีรัฐบาลไหนที่ไม่โกงกินบ้าง โกงกันทั้งนั้น.. แต่ทักษิณเขาทำอะไรบ้างผมไม่รู้แต่ผมรู้ว่าผมและพี่น้องผมได้อะไรบ้าง….”

“แต่ผมว่านโยบายจำนำราคาข้าวนั้น มันมีจุดอ่อนให้พ่อค้า ข้าราชการและนักการเมืองโกง แต่นโยบายประกันราคาข้าวนั้น ก็มีจุดอ่อนที่ให้ชาวบ้านโกงได้ แต่การโกงในเรื่องประกันราคาข้าวนั้นมันตกอยู่กับชาวบ้าน….?!”

ชายหนุ่มอายุ สี่สิบเศษ ผิวดำ ไว้หนวด สีหน้าลูกทุ่ง ดุ แม้จะใส่เสื้อคล้ายเสื้อสูท แต่ก็อ่านออกว่าเป็นชาวบ้าน เวลาพูดมีท่าทีจริงจัง…เขาคือนายกองค์การบริหารส่วนตำบลแห่งหนึ่งที่ผมไปนั่งสัมภาษณ์ตามหน้าที่ที่รับผิดชอบ

เขายากจนมาก แม่ตายตั้งแต่เขาเกิด เรียนหนังสือแค่ ป.7 ตระเวนไปทั่วถิ่น รับจ้างทำโน่นนี่ แล้วกลับมาบ้านที่ลำลูกกา ทำนาเช่ากับพ่อ แล้วก็ถูกชักชวนให้เล่นการเมืองท้องถิ่น ได้เป็น สมาชิก อบต. เป็นรองนายก และสมัยนี้ได้เป็นนายก

ผมตั้งใจเข้ามาช่วยชาวนา ซึ่งเป็นอาชีพหลักของผม ผมยังทำนานะครับ ผมเรียน กศน. ต่อปริญญาตรี ของราชภัฏธัญบุรีจนจบ และกำลังต่อโท..

บางทีทั้งสัปดาห์ผมไม่เคยขึ้นมาในห้องตำแหน่งนายกนี้เลย..เพราะผมนั่งรับชาวบ้านอยู่ข้างล่าง ผมอยากจะช่วยชาวนา เงินเดือนผมนั้นไม่พอใช้ แต่ผมก็ไม่โกงกิน ผมไม่ชอบ และทีมงานผมใครจะเอาก็ไม่ได้ ผมไม่ยอม.. นายก อบต กล่าว

แหย่ไปว่า ไม่คิดจะลงสนามใหญ่หรือ นายก อบต.ท่านนี้กล่าวว่า ผมไม่เอาหรอก หมดสมัยนี้ผมก็หยุดแล้ว ยางพาราผม 50 ไร่ก็กำลังจะเก็บเกี่ยวได้ ผมคงพอแค่นั้น แต่หากผมบ้าลงสนามใหญ่ ผมอยากตั้งพรรคของผมเอง เป็นรัฐบาลเลยและมาช่วยชาวนาชาวไร่…..

ผมไม่ชอบคนโกง ตอนนี้มีปัญหาน้ำท่วมก็มีชาวนาขี้โกง ลูกบ้านของผมนั่นแหละ มาแจ้งว่านาเขาจมน้ำ เพื่อจะขอให้รัฐช่วยเหลือ ตามนโยบาย…… แต่ผมทราบว่า คนนี้เกี่ยวข้าวไปแล้วเมื่อน้ำมาก็ท่วมขาวไปเลย เห็นแต่น้ำ ผมก็ว่า หากลุงต้องการค่าชดเชย ไปเลย ไปดำเอารวงข้าวมาให้ผมดู หากเอามาได้ผมจะช่วย ผมจะทำเรื่องให้ลุงเอง….ลุงรู้ว่าหลอกผมไม่ได้ก็กลับไป… นี่แบบนี้จะมาหลอกผม ไม่ได้ หากผมรู้ผมค้านชนฝาเลย ทั้งที่เขาเลือกผมมา แต่ทำผิดผมผ่านให้ไม่ได้

บางทีชาวบ้านทางอีสานก็ซื่อเกินไป…มีเรื่องเกิดขึ้นคือ นาล่มนี่แหละ เจ้าหน้าที่ไปสำรวจพบตายายยากจนน้ำท่วมนา ข้าราชการท่านนั้นสงสารจึงอยากช่วย ไปถามว่าลุงปลูกข้าวอะไร ตามระเบียบกำหนดไว้ว่าหากเป็นข้าวเหนียวไม่ช่วยเหลือ หากเป็นข้าวที่ไม่ใช่ข้าวเหนียว ระเบียบอนุญาต ราชการท่านนั้นจึงใส่ไปในแบบฟอร์มสำรวจว่า ตายายปลูก “ข้าวขาว” พอดี สตง.มาสุ่มตรวจ และบังเอิญมาสอบถามตายายคู่นี้

สตง. ถามว่า ตาปลูกข้าวอะไร ตาบอกว่าปลูกข้าวเหนียว ซึ่งผิดไปจากแบบสำรวจที่เจ้าหน้าที่ไปสำรวจมา ในที่สุดข้าราชการคนนั้นถูกลงโทษฐานหลอกลวงราชการทำให้เกิดความเสียหาย เรียกเงินส่วนนั้นคืน นี่คือราชการเห็นใจผู้สูงอายุ ก็ช่วยเหลือ กลายเป็นตัวเองมีความผิด…

ผมเลยบอกกับทีมงานว่า ให้ตรงไปตรงมา อย่าใช้กำลังภายในกันเลยในเรื่องงบประมาณ และประโยชน์อื่นๆ

——–

น้อยครั้งนักที่จะพบคนพันธุ์นี้ ส่วนภาพสะท้อนความเห็นของรัฐบาลนั้น น่าคิดสำหรับการพัฒนาสังคม พัฒนาประเทศ กระบวนการคิดแบบนี้แม้ว่าจะซื่อ บริสุทธิ์ แต่ถูกนักโกงเมืองใช้เป็นฐานเอาเปรียบบ้านเมือง

เป็นเรื่องใหญ่ที่นักคิดเปลี่ยน สร้าง สำนึกคนต้องคิดต่อ…


ผู้ภิกขาจาร

5 ความคิดเห็น โดย bangsai เมื่อ 20 กันยายน 2011 เวลา 20:10 ในหมวดหมู่ เรื่องทั่วไป #
อ่าน: 2160

“โลกนี้คือข้าฯ ข้าฯคือโลกนี้”

เธอเป็นสตรี แต่งกายคล้ายพระ เดินยิ้มที่ อ.ธัญบุรี

ไม่มีเวลาซักไซ้ไล่เรียง ใครทำให้เธอเป็นเช่นนี้


ตัวแห่งตน

77 ความคิดเห็น โดย bangsai เมื่อ 15 กันยายน 2011 เวลา 16:12 ในหมวดหมู่ ไม่ได้จัดหมวดหมู่ #
อ่าน: 2921

วิถีข้า คือการเร่ร่อนไป

อาหารข้าคือเครื่องยังชีพเท่านั้น ไม่มีความอร่อยที่ปลายลิ้น

ข้าไม่จิกตีใคร ข้าอยู่เพราะข้าอยู่ เมื่อข้าจากไปก็เพียงจากไป


ความโสภาไม่มี

เจ้าต่างหากที่กำหนดว่าขนขาวห่อหุ้มกายข้านั้นสวย

ความทะยานอยาก ไม่มี แค่ยังชีพเท่านั้น

 


ดูหยดน้ำนั่นซิ..

ความพอดีคือการดำรงอยู่

 

ข้าฯมาในโลกนี้เพราะความพอดีกำหนดขึ้น

ข้าฯก็จะจากไปเพราะความพอดีนั้นสิ้นสุดลง

เหมือนหยดน้ำที่สลายไป

 

เจ้าดูตัวเองให้เห็นเถิด

—-

“เห็นนก เห็นตัวแห่งตน..”


วิกฤติอาหาร วิกฤติการเมือง..

34 ความคิดเห็น โดย bangsai เมื่อ 13 กันยายน 2011 เวลา 22:20 ในหมวดหมู่ ไม่ได้จัดหมวดหมู่ #
อ่าน: 4036

หลายท่านคงเคยได้ข่าวว่าประเทศทางตะวันออกกลางจะมาเช่าที่นาไทยปลูกข้าวส่งกลับไปประเทศเขา ความจริงเขามาซื้อก็ได้ เพราะเงินหนา คนที่เงินเข้ากระเป๋าจริงๆไม่ใช่เจ้าของที่นาหรอก นายหน้าต่างหากครับ…

ผมกลับไปบ้านที่วิเศษชัยชาญ พบว่ามีเค้าความจริง เพราะน้องสาวกล่าวว่ามีคนไทยแปลกหน้ามาถามเช่าที่นาจำนวนมาก แต่ที่สุดโดนถูกประโคมข่าวนี้เลยเงียบไป…

หากเกิดวิกฤติอาหารนั้นผมเคยกล่าวว่าคนเมืองแม้จะเป็นผู้มีกำลังซื้อแต่จะประสบปัญหาก่อน เพราะไม่มีที่ซื้อ หรือไม่มีอาหารจะให้ซื้อ หรือเป็นโอกาสของชาวนา ชาวบ้านที่จะกำหนดราคาอาหาร..ไม่รู้เว่อร์ไปหรือเปล่า

หากวิกฤติอาหารเกิดขึ้นประเทศที่ตายก่อนคือประเทศอุตสาหกรรม และประเทศที่ผลิตน้ำมันเป็นหลัก..เพราะน้ำมันกินไม่ได้ มีเงินซื้อแต่ไม่มีอาหารจะขาย…

วิกฤตอาหารนั้นไม่ไกลความจริงแน่นอน… สิ่งบอกเหตุมีตลอด.. การขาดแคลนอาหารจะนำไปสู่สงครามโลก เพราะคนมีเงินก็กลัวอดตาย ประเทศที่ร่ำรวยก็กลัวอดตาย

คนเมืองที่ Sensitive ก็มองทางออกกันโดยไปหาที่ดินทำกินในชนบท สร้างบ้านและทำสวนเล็กๆ ประเทศที่ร่ำรวยก็มีแผนงานเตรียมรับสถานการณ์นี้…

ที่ผมทราบชัดเจนคือ ขณะนี้ประเทศที่ผลิตน้ำมันขายตั้งงบประมาณ(Fund)จำนวนมากให้ประเทศด้อยพัฒนาทำโครงการพัฒนาชลประทานขนาดกลาง เพื่อทำการผลิตข้าว และอาหารอื่นๆส่งเข้าประเทศเขา มาในรูปของความช่วยเหลือในงานพัฒนาพื้นที่ชลประทาน แต่สิ่งที่ซ่อนภายในนั้นคือ สัญญาการผลิตเพื่อส่งตรงไปประเทศเขา…. สิ่งเหล่านี้สร้างความเนียนง่ายจะตายไปเพราะมันมี Nominees มากมายเป็นผู้รับผิดชอบในเบื้องหน้า

มีเงินซะอย่างจะเอาเทคโนโลยี่อะไรบ้าง จะเอาผู้เชี่ยวชาญด้านไหนบอก จะเอาพันธุ์ข้าวชนิดไหนระบุมา…ฯลฯ เรื่องนี้ไม่ได้เกิดขึ้นในเมืองไทยนะครับ แต่เป็นเพื่อนบ้านเรานี่แหละ

มองได้หลายมุมครับ..

มุมหนึ่งก็ดีนี่…ประเทศยากจน หรือด้อยพัฒนาอย่างเราและเพื่อนบ้านนั้นต้องการงบประมาณอีกจำนวนมากมาพัฒนาในโครงสร้างพื้นฐานทางการผลิต เพื่อการผลิตที่มีประสิทธิภาพมากขึ้น มากกว่าจะเสี่ยงกับการแปรปรวนของธรรมชาติ ระบบชลประทานช่วยได้มาก ผมทำงานการผลิตกับระบบชลประทานมาพอสมควร เชื่อมั่นว่าการบริหารจัดการที่มีประสิทธิภาพ สามารถยกระดับการผลิตแบบ Dual tract ได้ คือ ผลิตเพื่อบริโภคเอง และผลิตเพื่อขายสร้างรายได้ การผลิตเพื่อขายนั้นสามารถกำหนดให้มาเลี้ยงคนเมืองที่ไม่ได้ทำการผลิตได้อย่างพอเพียง เพราะการทำนาในพื้นที่ชลประทานนั้น ไม่ใช่ทำปีละสองครั้งแล้ว สองปีห้าครั้ง หรือมากกว่านั้นในบางพื้นที่

การผลิตแบบนี้ต้องลดความเสี่ยงลงโดยการแบ่งพื้นที่ทำการผลิตแบบผสมผสานควบคู่กันไปด้วย การผลิตโดยระบบชลประทานนั้นเกษตรกรต้องยกระดับความรู้ด้านการผลิตมากมาย แต่ไม่ใช่เรื่องยาก เกษตรกรในพื้นที่ชลประทานหลายแห่งเก่งกว่าเกษตรตำบลเสียอีก เพราะเกษตรตำบลมีแต่วิชาการมาบอกมากล่าว ไม่เคยลงมือทำเอง แต่ชาวบ้านทำมากับมือจึงรู้ตื้นลึกหนาบาง พร้อมที่จะดัดแปลง และหรือค้นพบแนวทางใหม่ๆด้วยตัวเอง

มองในแง่ร้าย หากเกิดกรณีมีการทำสัญญาทำการผลิตเพื่อส่งออกอย่าเดียวนั้น เหมือน Contract Farming อันตรายสำหรับชาวนาและประเทศ เพราะในสัญญาจะผูกมัดการผลิต ให้เป็นไปตามคำสั่ง หรือ Order ชาวนาจะกลายเป็นแรงงาน และหากรัฐให้ความร่วมมือกับบริษัทข้ามชาติ หรือแหล่งทุนนั้นแล้ว รัฐมีสิทธิ์ออกกฎหมาย ข้อบังคับ ระเบียบร้อยแปดเพื่อกระทำตามสัญญานั้นๆ ในประเทศที่ปกครองโดยสังคมนิยมมีแนวโน้มที่จะทำเช่นนั้นได้ และเคยทำมาแล้ว

รัฐยังมอง GDP เป็นเสาหลักในการพัฒนาประเทศ ทุ่มเทภาคส่งออก ความจริงก็ไม่ใช่เรื่องรังเกียจ แต่ปล่อยปละละเลย หรือไม่จริงจัง หรือแก้ปัญหาที่ปลายเหตุ เช่น จำนำข้าว ตั้งกองทุน ฯลฯ นี่มันปลายเหตุ แต่สิ่งที่ต้องทำก่อน ทำมากๆคือ ทุ่มเทงานศึกษาค้นคว้า การวิจัย การผลิตให้มากๆ อย่างควรมีการวิจัย ค้นคว้าเรื่องพืชในภาวะโลกร้อน โดยเฉพาะข้าว

อาจารย์ท่านหนึ่ง แห่งคณะเกษตรศาสตร์ มช. ท่านทำ Simulation เรื่องผลผลิตข้าวในภาวะโลกร้อนอยู่ และพืชหลักอื่นๆอีก น่าสนใจมาก นี่ก็วิกฤติอาหาร ก็เมื่อโลกร้อน ผลผลิตข้าวจะลดลง โรคแมลงชนิดใหม่ๆจะเกิดขึ้น ในขณะที่วิชาการด้านการกำจัดโรคแมลงยังต้องใช้เวลาอีกหลายสิบปีที่จะค้นพบวิธีการกำจัด

เมื่อต้นตอทางการผลิตนักการเมืองไม่มีนโยบาย เอาแต่ยาหอมสวยๆ จำนำข้าว นี่ประกาศแล้ว ข้าวขาวมะลิ 105 ให้ราคาตันละ 20,000 บาท

โธ่ โธ่ โธ่…โรงสีกับนักการเมืองรวยกันอีกแล้ว….


เมื่อขวัญเสีย..

397 ความคิดเห็น โดย bangsai เมื่อ 13 กันยายน 2011 เวลา 11:18 ในหมวดหมู่ ไม่ได้จัดหมวดหมู่ #
อ่าน: 7295

ขำ ขำ ในช่วงเวลาคับขันของ กทม.

ก็ท้ายรถคันนี้น่ะซี ลองดูซิ พี่แกเอาอะไรมาติดบ้าง

ทั้งหน้ากากลงยันต์ ตุ๊กตาโทรมๆ ไม้แบดฯหักๆ

โอย อะไรอีกหลายอย่าง

จะว่าอารมณ์ศิลปิน แต่ศิลปินสาขาไหนก็ไม่สามารถระบุได้

แถมมาไกลเสียด้วย หรือเสียขวัญมาจากกรณีชายแดนภาคใต้ก็ไม่รู้นะ อิอิ

เอ้าดูกันเพลินๆ..ช่วงที่ผมก็หาจุดลงตัวอยู่นะครับ


Messenger 2

194 ความคิดเห็น โดย bangsai เมื่อ 11 กันยายน 2011 เวลา 15:11 ในหมวดหมู่ เรื่องทั่วไป #
อ่าน: 9713

การไปส่งเอกสารราชการนั้นในพื้นที่ที่ไม่เคยไปเลยนั้นทำอย่างไรจึงจะง่ายที่สุดในการเข้าถึง คำตอบคือดูแผนที่ แต่มีแผนที่ที่ไหนบ้างที่กำหนดสถานที่ราชการลงไปทั้งหมดทุกแห่ง พร้อมบอกที่ตั้งให้ด้วย ไม่มีแน่นอน….

ทำอย่างไรล่ะจึงจะได้คำตอบ เพื่อประหยัดเวลาในการเดินทางไปส่งเอกสาร ท่านก็บอกว่าใช้วิธีถามเอาซี ง่ายจะตายไป ผมก็ใช้วิธีนี้แหละครับ แต่มีวิธีที่ง่ายกว่านี้….ซึ่งผมใช้มาแล้วและได้ผลถูกต้องร้อยเปอร์เซ็นต์ นั่นคือ ไปที่ไปรษณีย์ครับ ที่ครอบคลุมพื้นที่นั้นขอแผนที่ของท่านซึ่งปกติท่านจะหวงห้าม (เพราะไปรษณีย์เป็นธุรกิจไปแล้ว)เราอาจทำหนังสือราชการไปขอความร่วมมือท่าน พนักงานไปรษณีย์มีหน้าที่ส่งจดหมาย เอกสารต่างๆท่านจึงทำแผนที่ทุกอย่างในพื้นที่รับผิดชอบของท่าน และ Update ตลอดเวลา…

สถานที่ราชการส่วนใหญ่จะมีป้ายบอกชัดเจน แต่แม่เจ้า..บางแห่งก็เก่าคร่ำคร่า ดำมิดหมี บางแห่งมีกิ่งไม้ เถาวัลย์ปกคลุม ต้องจอดรถแหวกไปดู อิอิ บางแห่งขับรถเลยไปแล้วต้องย้อนกลับมา ซึ่งเสียเวลาเสียน้ำมันรถ

สถานที่โอ่อ่าที่สุดคงไม่พ้นเทศบาล อย่างผมไปพบเทศบาลเมืองแห่งหนึ่ง ย้ำว่า “เทศบาลเมือง..” ไม่ใช่ “เทศบาล..” เฉยๆ ต่างกันนะครับ เทศบาลเมือง หรือเทศบาลนคร นั้นขึ้นตรงต่อจังหวัดไม่ต้องผ่านอำเภอ เพียงแค่ Inform ให้อำเภอทราบเท่านั้น เขาจึงใหญ่มาก ใหญ่ในที่นี้ทั้งอาคารและศักดิ์ศรี และการวางตัวของท่านนายกเทศมนตรี… ผมโดยด่ากระจุยมาแล้ว เขาไม่สนใจหรอกว่าคุณเป็นใครมาจากไหน แต่ที่นี่คือถิ่นข้า..ฯ… อะไรทำนองนั้น ทั้งๆที่ผมก็ทำตัวเป็น “ผู้เฒ่าเดินหนังสือ..” เอ..รึว่าเพราะเป็นแค่คนเดินหนังสือจึงต้องรองรับคำผรุสวาทเหล่านั้น…

ที่ว่าการอำเภอห่วยแตกเช่นเคย เก่าคร่ำคร่า สกปรก รกรุงรัง ไม่เจริญหูเจริญตาเลย ไม่สมกับเป็นศูนย์กลางการติดต่อราชการของคนในท้องถิ่นเลย อาจเป็นเพราะ เทศบาลเมืองนั้นต้องมีงบประมาณ 300 ล้านขึ้นไป จึงจะยกฐานะเป็นเทศบาลเมืองหรือนครได้ แต่งบประมาณอำเภอไม่อิสระพอที่จะเอามาพัฒนาอาคารได้ ขอแต่กระทรวงไม่ให้ นายอำเภอจึงน้อยใจว่าฐานะตกต่ำกว่าท่านนายกเทศมนตรี

แต่ตำแหน่งนายกเทศมนตรีนั้นตายง่าย อย่างผมไปประสานงานแห่งหนึ่งเขาไม่รับแขกเพราะกำลังทำศพท่านนายกที่เพิ่งโดยยิงตาย… เพราะการเมืองท้องถิ่น และผลประโยชน์มหาศาลนั่นเอง

สถานที่ตั้ง เกษตรอำเภอ หาไม่ยากแต่ก็เก่าๆ โทรมๆ สาธารณสุขอำเภอก็พอดูได้ แต่ที่ผมงงเป็นไก่ตาแตกก็โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบลบึงสนั่น ของอำเภอธัญบุรี ผมหาเท่าไหร่ก็ไม่พบ ดูแผนที่ก็แล้ว ถามคนก็แล้ว เขาบอกว่าให้เข้าทางวัด ผมก็ดูถนนข้างวัดก็ไม่เห็นมี แล้วมันไปทางไหนกันวะ…

วนหลายรอบก็ไม่พบจนหิวน้ำ จอดรถลงไปซื้อน้ำเย็นๆดื่มแล้วถือโอกาสถามเฒ่าแก่ว่าโรงพยาบาลนี้น่ะอยู่ตรงไหน ไปทางไหน เท่านั้นเองเฒ่าแก่ก็จูงมือผมไปชี้ให้ดู พร้อมทั้งเล่าให้ฟังถึงประวัติศาสตร์ของสถานที่แห่งนี้

คุณ… แต่ก่อนเข้าทางนี้ พร้อมทั้งชี้มือไป เพราะมันเป็นที่ส่วนบุคคลเมื่อรุ่นพ่อตายไป ลูกๆไม่ยอมให้ใช้เป็นทางผ่านจึงปิดทางเข้า อ้าว..สถานีอนามัยเดิมที่กลายมาเป็นโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพก็กลายเป็นสถานที่ตั้งในที่ตาบอด คือเข้าออกไม่ได้ เพราะหมู่บ้านล้อมรอบหมด บังเอิญติดวัด ติดกำแพงวัดตรงกุฏิพระเลย วัดจึงพังกำแพงให้เป็นทางผ่านเข้าโรงพยาบาลได้ นี่เองผมจึงร้องอ๋อ ที่คนเขาบอกผมว่าให้เข้าทางวัด ก็หมายถึงเข้าไปในวัดเลย จอดรถในวัดแล้วเดินไปหลังวัดจะพบโรงพยาบาลแห่งนี้…

แม่เจ้าประคุณทูนหัว…..คุณเอ้ยยยยย ผมเอารถจอดหน้าโบสถ์ เห็นรถโรงพยาบาลจอดอยู่ก็ใช่เลย เห็นป้ายบอกทางไปโรงพยาบาล ผมเดินไป…..มันเป็นทางผ่านกุฏิพระ ผ่านห้องส้วมพระ ผ่านเจดีย์ใส่กระดูกคนตาย..ผ่าน…..โอย..เป็นไปได้ไงนี่คือทางไปโรงพยาบาลประเทศไทยนะเนี่ย….

ผมสงสารคุณหมอและพนักงานทุกท่านที่จำใจต้องมาตกอยู่ในสภาพเช่นนี้ เจ้าของที่ดินก็ใจร้ายมาปิดทางเข้า ผมไม่ทราบต้นสายปลายเหตุว่าทำไมโรงพยาบาลจึงมีสถานที่ตรงนี้ ที่มาที่ไปผมไม่ได้สอบถาม แต่ไม่เหมาะสมด้วยประการทั้งปวง…เชื่อว่าทางราชการคงพยายามหาทางขยับขยายอยู่ แต่ทราบว่าของบประมาณมาหลายปีแล้วไม่ได้…

อย่างไรคุณหมอและทีมงานก็ยังรักษามาตรฐานความสะอาด ความเป็นระบบได้อยู่ แต่ที่ตั้งเท่านั้นที่ทุเรศทุรังเต็มที…. ยิ่งเมื่อเทียบกับเทศบาลเมืองนั่น…ยังกะพระราชวังก็ไม่ปาน….

“เด็ก..เอ้ย..ผู้เฒ่าเดินเอกสาร” ก็ได้ประสบการณ์มาเล่าสู่กันฟังนี่แหละครับ…



Main: 0.17331886291504 sec
Sidebar: 0.064174175262451 sec