กรณีความขัดแย้งเรื่องบานประตูน้ำชลประทาน..

411 ความคิดเห็น โดย bangsai เมื่อ 7 พฤศจิกายน 2011 เวลา 15:18 ในหมวดหมู่ การบริหารจัดการประเทศ, งานพัฒนาสังคม #
อ่าน: 11724

กรณีความขัดแย้งบานประตูเปิดปิดน้ำชลประทานเพราะน้ำท่วม… หากมีใครถามผมว่า หากคุณเป็นผู้รับผิดชอบ คุณจะทำอย่างไร..? ผมอยากแสดงความคิดเห็นในฐานะคนทำงานพัฒนาคน… โดยมองจากประสบการณ์ แม้ว่าเงื่อนไข รายละเอียด สาระ และปัจจัยต่างๆไม่เหมือนกัน แต่พยายามนำเสนอเพื่อต่อยอดเท่านั้นเอง

  • ไม่มีสูตรสำเร็จในการแก้ปัญหา

เพราะชุมชนแตกต่างกัน มากมาย การแก้ปัญหาที่อีสานอาจจะสำเร็จ แต่กระบวนวิธีเดียวกันอาจจะใช้ไม่ได้เลยที่ปทุมธานี อาจใช้หลักการเดียวกันได้ แต่ผู้ดำเนินการต้องพลิกแพลงไปตามปัจจัยในระหว่างการดำเนินการ หรืออาจจะพบช่องทางที่นำไปสู่ความสำเร็จได้หากคิดวิเคราะห์ไปตลอดเวลาของการจัดทำกระบวนการ


(ขอบคุณภาพจาก อินเตอเนท)

  • ทำงานมวลชนแบบต่อเนื่อง

เป็นที่ยอมรับกันว่าการทำงานกับคนนั้น ต้องจริงใจเป็นเบื้องต้น มีความพยายามเข้าใจเขาผู้เดือดร้อน ถามว่าแสดงอย่างไร… ตอบว่า มันไม่ใช่พอน้ำท่วมแล้วมาแสดงด้วยคำพูดกันใหญ่ว่า เข้าใจ เห็นใจ จริงใจ แล้วก็หายหน้าไป เดี๋ยวก็โผล่มา เดี๋ยวก็หายไป ต้องมีความผูกพันกันมาก่อนหน้านี้แล้วนานพอสมควรที่ชุมชนนั้นๆจะรู้จักเราดี

นั้นหมายความว่าเจ้าหน้าที่ผู้รับผิดชอบบานประตูชลประทานต้องทำงานมวลชนมาก่อนหน้านี้ตลอดเวลามานานแล้ว

  • งานมวลชนคืองานอะไร..?

งานที่เจ้าหน้าที่ชลประทานจะต้องเข้าไปคลุกคลีกับชุมชน ตั้งแต่หัวหน้าชุมชนทุกระดับจนถึงชาวบ้านทุกครัวเรือน ทั้งในภาระงานที่รับผิดชอบนำความรู้ความเข้าใจไปอธิบายให้ชุมชนฟัง อธิบายอย่างหมดเปลือก ถึงภาระหน้าที่ บทบาท การบริหารน้ำ ปัญหา อุปสรรค ข้อจำกัด ผลดี ผลเสีย ประโยชน์ต่างๆ ชุมชนได้อะไร เสียอะไร ระบบน้ำทั้งหมดเป็นอย่างไร ฯลฯ อธิบายซ้ำซาก ใช้เครื่องมือต่างๆทางเทคนิควิทยาการมาช่วย เช่น ระบบ Simulation ทั้งนี้เพื่อให้ประชาชนที่อยู่รอบๆบานประตูน้ำและทั้งระบบน้ำ เข้าใจบทบาทหน้าที่ของบานประตูและความต่อเนื่องของระบบการจัดการในภาพใหญ่ ภาพรวม นี่คือเป้าหมายแรกของงานมวลชน

  • งานมวลชนต้องละรูปแบบทางการ

เจ้าหน้าที่ชลประทานต้องอุทิศเวลาส่วนตัว เวลางานออกไปเยี่ยมเยือน พูดคุยกับชาวบ้านอย่าง “ไม่เป็นทางการ” ไปแวะถามไถ่การทำนา ทำสวน หรือการทำอาชีพต่างๆของเขา ไปเยี่ยมเยือนผู้นำ ที่เราเรียกว่า Key informant เป็นระยะๆจนเกิดความสนิทสนม กิจกรรมแบบไม่เป็นทางการนี้แหละที่เป็นเงื่อนไขที่สำคัญสุดของงานมวลชน ก่อนที่จะนำไปสู่ความเข้าใจในสาระที่กล่าวมาข้างต้น ซึ่งงานแบบนี้เจ้าหน้าที่ชลประทาน หรือข้าราชการทั่วไปมักไม่ได้ให้ความสำคัญ ตรงข้ามมักเห็นว่าไม่ใช่หน้าที่ ไม่ได้กำหนดไว้ในบทบาทหน้าที่ และไม่ถนัดที่จะทำ เพราะส่วนใหญ่เป็นนายช่าง จะวางตัวในขอบเขตหนึ่ง ซึ่งถือเป็นจุดอ่อนของเจ้าหน้าที่ที่ทำงานเทคนิคกับมวลชน ผมเคยสอบถามว่าในวิทยาลัยชลประทานนั้นมีวิชาที่ว่าด้วยสังคมศาสตร์บ้างหรือเปล่า คำตอบคือไม่มี เน้นความเป็นเลิศทางช่างเท่านั้น นี่คือจุดอ่อนของบุคลากรเทคนิคของบ้านเรา

  • งานมวลชนต้องรับฟัง และทำซ้ำ

การใช้เวลาเพียงสามชั่วโมงไปอธิบายให้ประชาชนทั้งชุมชนเข้าใจระบบการทำงานของบานประตูกับระบบการจัดการน้ำทั้งระบบนั้น ไม่มีทางที่จะเข้าใจทั้งหมด ยิ่งใช้วิธีแบบทางการ ก็อย่าหวังว่าตามีที่มีอาชีพปลูกข้าวมาตลอด 60 ปีจะเข้าใจทั้งหมด ให้เวลาเขา รับฟังเขามากๆ ต้องทำแบบ two way communication ตลอดเวลา คือชุมชนสามารถสอบถามถึงความไม่เข้าใจ ต่างๆได้ ซึ่งมีเทคนิควิธีมากมายจะบอกกล่าวให้ชุมชนทราบ เช่น โทรศัพท์ การเดินเข้าไปหา การ เขียนจดหมายถึง การเชิญไปอธิบายเพิ่มเติม ฯลฯ ทำซ้ำๆหลายครั้งหลายหน พาไปดูของจริง ตระเวนไปดูทั้งระบบ ฯลฯ

  • งานงานมวลชนนั้นเป็นทักษะเฉพาะคน

พร้อมที่จะดัดแปลงกระบวนวิธี เพราะมวลชนนั้นแตกต่างกันมากมาย อายุ เพศ อาชีพ ลักษณะที่ตั้งชุมชน การเข้าถึงของสื่อต่างๆ ระบบถนน และระยะห่างจากสังคมเมือง สิ่งแวดล้อม ระบบนิเวศ ศาสนา ความเชื่อ วัฒนธรรม ประเพณี ฯลฯ ล้วนแต่เป็นปัจจัยห่อหุ้มมวลชนให้มีลักษณะเฉพาะ และแตกต่างกันและกัน

  • งานมวลชนกับชุมชนแบบไหน

ที่กล่าวมานั้นเป็นมวลชนประเภท ชุมชนแบบดั้งเดิม ซึ่งง่ายเพราะชุมชนดั้งเดิมของสังคมไทยนั้นมีลักษณะร่วมมากกว่า มีทุนทางสังคมเป็นแรงเกาะเกี่ยวแบบดั้งเดิมอยู่แล้ว การทำงานมวลชนง่ายกว่า หากผู้รับผิดชอบเข้าใจโครงสร้างสังคมแบบดั้งเดิม และคลำหาตัวบุคคลได้ถูก เท่ากับเดินมาถูกทางไปมากแล้ว โครงสร้างชุมชนดั้งเดิมนั้นถูกซ้อนทับด้วยโครงสร้างการปกครองสมัยใหม่ พ่อเฒ่าพูดกับผู้ใหญ่บ้าน หรือนายก อบต.พูดนั้น บางชุมชนนั้น พ่อเฒ่าพูดมีน้ำหนักมากกว่า คุณผู้ทำหน้าที่เข้าใจและคลำหาบุคลากรเหล่านี้ได้หรือไม่

ส่วนชุมชนอีกแบบเป็นแบบสมัยใหม่ คือหมู่บ้านจัดสรร เป็นชุมนเมือง เป็นชุมชนที่สมาชิกมาจากทั่วสารทิศ แตกต่างกัน มีลักษณะการเกาะเกี่ยวกับด้วยกฎ ระเบียบ ข้อตกลง ข้อบังคับ มากกว่าความสัมพันธ์ทางด้านจิตใจ ความสนิทสนม มีความเป็นส่วนตัวสูง ตัวใครตัวมัน เก็บตัว มันเหมือนมีกำแพงบางอย่างขวางกั้นความสัมพันธ์ระหว่างกันอยู่

  • งานมวลชนไม่ใช่มาทำเมื่อเกิดเหตุความขัดแย้งแล้ว

คนที่ทำงานมวลชนที่หวังผลนั้นต้องทำมาอย่างต่อเนื่อง หลักการของในหลวงที่พระราชทานให้ไว้นั้นสั้นที่สุดและครอบคลุมที่สุดคือ “เข้าใจ เข้าถึง พัฒนา” ในกระบวนการทำงานด้านสังคมชุมชนนั้นเรามีเครื่องมือมากมายที่จะ “เข้าใจชุมชนทั้งครบ” เรามี PRA, RRA, Socio-gram, Triage, Community profile, Historical profile, Sustainability analysis, Livelihoods analysis, Transect, Dairy routine work, ฯลฯ เพื่อศึกษาด้านลึกของแต่ละครอบครัว เพื่อวิเคราะห์จุดร่วม หรือเงื่อนไขที่จะเชื่อมต่อระหว่างกัน งานมวลชนแบบนี้ต้องใช้คนที่มีประสบการณ์สูงมาทำ เพราะจะเข้าใจเครื่องมือที่ใช้ ท่าที กระบวนวิธี และการสื่อสารกันและกัน เอามาวิเคราะห์ แล้วมาทำความเข้าใจร่วมกันระหว่างเจ้าหน้าที่เพื่อกำหนดบทบาทหน้าที่ด้านมวลชนเฉพาะ

นี่คือเครื่องมือที่เข้าใจเขา ประการสำคัญขอย้ำว่า ต้องมีเจ้าหน้าที่เฉพาะที่ทำหน้าที่นี้เพื่อทุ่มเทเวลาในการทำงานด้านมวลชน เพื่อเข้าใจเขา การเข้าใจเขานั้นมิใช่เพียงเข้าใจ แต่ต้องเป็นการ “เข้าใจด้านลึกของเขาทั้งครบ”


(ขอบคุณภาพจาก อินเตอเนท)

  • เขาเข้าใจเราไหม

เราเข้าใจเขาแล้วทั้งภาพรวม ภาพย่อย เงื่อนไข การเกาะเกี่ยว เอกลักษณ์ ความเป็นปัจเจก ความสามัคคี ความขัดแย้ง กลุ่มอิทธิพล การเชื่อมโยงภายในภายนอก ฯลฯ แล้วมาถึงคำถามใหญ่ว่า แล้วเขาเข้าใจเราไหม เข้าใจบานประตูชลประทานไหม เข้าใจระบบการจัดการน้ำไหม เข้าใจความเชื่อมโยงของบานประตูนี้กับบานอื่นๆ คลองอื่นๆ ส่วนอื่นๆ ระบบการสั่งการ การตัดสินใจ ฯลฯประโยชน์ต่างๆที่จะเกิดขึ้นรวมทั้งเงื่อนไข ปัญหาอุปสรรคต่างๆในการปฏิบัติงาน มวลชนต้องเข้าใจ อย่างน้อยที่สุดกลุ่มผู้นำ และ Key Informant ต้องเข้าใจโดยละเอียด ทุกครั้งที่มีการปฏิบัติงานต้อง Inform ให้กลุ่มผู้นำทราบโดยเฉพาะในช่วงฤดูการเปิดปิดประตูน้ำเพื่อการเพาะปลูกและเพื่อการระบายน้ำในกรณีน้ำท่วม อาจพิจารณาถึงขั้นตั้งผู้นำชุมชนให้เป็นคณะกรรมการที่ปรึกษาด้วยซ้ำไป


(ขอบคุณภาพจาก อินเตอเนท)

ทั้งหมดนี้เป็นเพียงแนวคิดหยาบๆที่นำเสนอมาภายหลังที่เกิดกรณีความขัดแย้งการเปิดปิดบานประตูน้ำชลประทานคลองต่างๆ..ในกรณีน้ำท่วม ซึ่งผมส่วนตัวเชื่อว่า เจ้าหน้าที่พยายามที่สุดแล้วแต่ดังกล่าวว่า การทำงานมวลชนนั้นมันมิใช่เพิ่งจะมาทำช่วงวิกฤตินี้ ไม่มีผลเพราะมันเกิดความคาดหวังและอารมณ์ร่วมมากกว่าเหตุผลที่เอามาพิจารณาร่วมกัน

บทเรียนนี้จะทำให้ทุกท่านที่เกี่ยวข้องทบทวนและเอาไปพิจารณากำหนดแผนงานที่สำคัญในอนาคตเพื่อยกระดับการทำงานมวลชนควบคู่ไปกับงานด้านเทคนิค


คำถามที่ต้องตอบ..

47 ความคิดเห็น โดย bangsai เมื่อ 4 พฤศจิกายน 2011 เวลา 9:52 ในหมวดหมู่ การบริหารจัดการประเทศ, งานพัฒนาสังคม, ทุนสังคม #
อ่าน: 3696

วิกฤติน้ำท่วมบ่งชี้แนวทางการเติบโตของสังคม ของประเทศให้เห็นชัดๆมากขึ้น ผมยังไม่แตะในเรื่องสาเหตุของอุทกภัย แต่เมื่อเกิดแล้วนั้นประชาชนประสพภัยอะไรบ้าง

ประเด็นที่ใหญ่ที่สุดคือ ปัญหาการดำรงชีพด้วยปัจจัยสี่พื้นฐานนี่แหละ ความจริงมากกว่าปัจจัยสี่

เป็นที่ชัดเจนว่าสังคมเมืองนั้นดำรงชีพด้วย “เงิน” เวลาของชีวิตส่วนใหญ่ต้องเข้าระบบงาน เพื่อได้เงิน และเอาเงินนั้นไปซื้อทุกสิ่งทุกอย่างในชีวิต และชีวิตที่ขึ้นกับเงินตรานั้นยังเคลือบไปด้วยค่านิยม ความทันสมัย แฟชั่น มากกว่าคุณสมบัติความจำเป็นขั้นพื้นฐาน ยิ่งทำให้ชีวิตยืนอยู่บนราคาที่แพงมากขึ้น ต้องใช้เงินที่มีปริมาณมากขึ้น ในขณะที่รายได้นั้นไม่มากเพียงพอ จึงกลายเป็น “ชีวิตผ่อนส่ง” ยิ่งติดใน ค่านิยม ความทันสมัย แฟชั่นมากเท่าไหร่ อัตราการผ่อนส่งของชีวิตก็แพงมากขึ้น


(ขอบคุณภาพจากอินเทอเนท)

สภาพชีวิตเช่นนี้ได้สร้างลูกโซ่แห่งทัศนคติ นิสัย แห่งการได้มาของปริมาณเงินตรา และค่อยๆก้าวข้ามคุณค่าเดิมของสังคมในด้านความเอื้ออาทร บาป สิ่งไม่พึงกระทำที่มีวัฒนธรรมดั้งเดิมของสังคมกำกับ เวลาที่มีอยู่ต้องเข้าระบบงาน บางแห่งทำงานมากกว่า 12 ชั่วโมงต่อวัน

เด็กรุ่นใหม่มีวิถีประจำวันที่หลุดลอยออกจากคุณค่าทางสังคมเดิมออกไป ใช้เงินตรามากมายไปกับสิ่งที่มิใช่ความจำเป็นขั้นพื้นฐาน เพียงเพื่อตอบสนองความต้องการที่แฝงบนค่านิยมมากกว่าความจำเป็น

แน่นอนครอบครัวใดที่มีอาชีพที่สร้างรายได้มากเพียงพอ ก็ก้าวผ่านสภาพสังคมแบบนี้ไปได้ แต่ครอบครัวใดที่ไม่มีรายได้เพียงพอ แต่ค่านิยมนั้นท่วมท้นการตอบสนอง ก็ดิ้นรนในวิธีการได้มาซึ่งเงินตราไปในช่องทางที่เขาจะพึงทำได้ หลายคนทำงานพิเศษ แต่หลายคนต้องก้าวไปบนเส้นทางที่ผิดต่อระเบียบบ้านเมือง

อย่างไรก็ตามวิถีคนเมืองพัฒนามาบนสภาพเช่นนี้นับชั่วอายุคน จนเป็นความเคยชิน และรู้สึกแปลกแยกเมื่อต้องไปอยู่ในสังคมที่มีวิถีแบบชนบท


(ขอบคุณภาพจากอินเทอเนท)

เมื่อเงินไม่มี ปัจจัยสี่ก็ขาดแคลน ตรงข้ามเมื่อมีเงินแต่ไม่สามารถจับจ่ายตามต้องการได้ ก็กระทบต่อปัจจัยสี่ เช่น กรณีเกิดน้ำท่วมในลักษณะวิกฤติมีเงินก็ซื้ออะไรไม่ได้ ในขณะที่ชีวิตประจำวันขึ้นกับการใช้จ่ายวันต่อวัน นี่คือการสูญเสียปัจจัยการดำรงชีวิต กล่าวอีกทีคือ พึ่งตัวเองไม่ได้เลย…

ในสถานการณ์วิกฤตน้ำท่วมครั้งนี้ เราจึงเห็นขบวนการช่วยเหลือเรื่องปัจจัยสี่ โดยเฉพาะอาหาร น้ำ ฯ และที่ร้ายมากไปกว่านั้นคือ ความรู้ในการพึ่งตนเองก็ไม่มี หรือมีน้อย

กรณีวิกฤติน้ำท่วมครั้งนี้บ่งบอกว่ากระทบต่อลูกโซ่ของวิถีสังคม การขับเคลื่อนของสังคม ประเทศ และเลยไปถึงความมั่นคงของประเทศ ยิ่งใจกลางของวิกฤติน้ำอยู่ในใจกลางของนครหลวงที่รวมศูนย์ทุกอย่างของประเทศอยู่ที่นี่..

ถามว่าหากวิกฤติน้ำเกิดในชนบทสภาพจะแตกต่างกันอย่างไร.. ตอบได้ว่า การซวนเซของปัจจัยสี่นั้นมีแน่นอน แต่ฟื้นตัวเร็วกว่า เพราะมีสภาพ เงื่อนไขของวิถีชีวิตที่พึ่งตัวเองได้มากกว่าพึ่งพาภายนอก รวมทั้งเขามีประสบการณ์ในการยังชีวิตด้วยสิ่งแวดล้อมรอบข้างได้มากกว่า

ภาพนี้นั้นจึงเป็นคำถามใหญ่ๆว่า แนวทางการเติบโตของสังคมแบบเมืองนั้นควรทบทวนอย่างหนัก เพราะวิกฤติในทำนองนี้จะเกิดขึ้นอีกในอนาคต และอาจจะหนักมากกว่านี้ก็เป็นได้

หากไม่มีพลังงาน เช่นไฟฟ้า แก๊ส จะทำอย่างไร..?

หากไม่มีอาหารในซูปเปอร์มาร์เก็ต จะทำอย่างไร…?

หากบ้านพักไม่สามารถพักได้ มีความรู้อะไรจะแก้ปัญหานี้..?

หากน้ำที่มีท่วมบ้านท่วมเมืองดื่มไม่ได้ จะมีความรู้พื้นฐานอะไรแก้ปัญหานี้ได้…?

หากมีเงิน แต่ใช้ไม่ได้ จะแก้ปัญหาการดำรงชีพอย่างไร…?

หากเจ็บป่วยขั้นพื้นฐาน จะมีความรู้อะไร มีปัจจัยเอื้ออย่างไรที่จะแก้ปัญหาพื้นฐานนี้ได้…?

ฯลฯ….

การพึ่งตัวเองในเมืองคืออย่างไร

เป็นคำถามที่ต้องตอบ….?


เมื่อมะเร็งหนีน้ำ

9 ความคิดเห็น โดย bangsai เมื่อ 3 พฤศจิกายน 2011 เวลา 1:07 ในหมวดหมู่ ไม่ได้จัดหมวดหมู่ #
อ่าน: 2798

ครอบครัวภรรยาผมเป็นครอบครัวใหญ่ มีพี่น้องหลายคนที่มาใช้ชีวิตในกรุงเทพฯ หลายท่านก็เป็น สว. ต่างก็หาทางหนีทีไล่น้ำที่มาเยือนเมืองหลวงครั้งนี้

ครอบครัวพี่ใหญ่ของภรรยาผมท่านหนึ่งอดีตท่านเป็นรองผู้ว่าการการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค ก็ปิดบ้านที่กรุงเทพฯและเผ่นไปนครศรีธรรมราชมานานแล้ว ท่านหัวเราะเอิ๊กอ๊าก เมื่อเราโทรไปสอบถามสารทุกข์สุกดิบกัน

พี่อีกท่านหนึ่งเป็นรองผู้ว่าการการประปานครหลวง ก็ไม่เคยอยู่ติดบ้านเพราะต้องทำหน้าที่ที่รับผิดชอบเรื่องระบบประปานครหลวงที่มีปัญหาดังข่าวที่เราทราบกันเต็มที่ตลอด 24 ชั่วโมง จึงไม่มีเวลาดูแลบ้านตัวเอง ปล่อยให้พี่สาวทำหน้าที่เกินกว่าแม่บ้าน แต่ก็ยังอยู่รอดปลอดภัย

อีกท่านหนึ่งพี่สะใภ้ที่อดีตเป็นครูของโรงเรียนสังกัด กทม. อายุท่านเลย 70 ไปแล้วท่านเป็นมะเร็งที่หน้าอก และรักษาพยาบาลกันมานานนับปีแล้ว โชคดีที่ท่านมีบุตรสาวคนหนึ่งเป็นพยาบาลวิชาชีพ จึงใช้ความรู้ตัวเองมาดูแลคุณแม่เต็มที่ ขณะที่ทำงานไปด้วย

เพื่อมิให้เกิดปัญหาต่อสภาพปัญหาน้ำท่วมกรุงเทพฯ ท่านจึงอพยพไปอยู่วังน้ำเขียว แม้ว่าเจ้าของที่พักจะไม่เอาเงินทองแต่อย่างใด แต่ความที่เกรงใจกัน ภรรยาผมซึ่งเป็นน้องสุดท้องของครอบครัวนี้จึงออกปากว่าไปพักบ้านเราที่ขอนแก่นดีกว่า เราพี่น้องกัน และที่บ้านก็มีห้องว่างตั้งสามสี่ห้อง ไม่มีปัญหาน้ำท่วม สะดวกสบาย อาหารการกิน จะเที่ยวที่ไหนก็ได้ เราจึงชวนพี่เขามาพักผ่อนที่บ้าน นานที่สุดเท่าไหร่ก็ได้ ไม่มีปัญหา

พี่สะใภ้ที่เป็นมะเร็งนั้นแน่นอนต้องทานนาเป็นกำๆต่อวัน ท่านสุขภาพกายเป็นไปตามวัยและอาการของโรค แต่จิตใจท่านดีมากๆ เบิกบาน แม้ความตายรออยู่ข้างหน้าที่ก็พร้อมที่จะเดินเข้าหาเมื่อไหร่ก็เมื่อนั้น พี่สะใภ้มีสามีที่เป็นพี่ชายใหญ่ของภรรยาผมนั้นที่ยังแข็งแรงแม้อายุเลย 70 ไปหลายปีแล้ว จึงเป็นคนดูแลที่สำคัญสำหรับพี่สะใภ้ ดูแลเรื่องหยูกยาต่างๆ ชวนออกไปเที่ยว เดินเที่ยว นั่งรถเที่ยวไป บังเอิญพี่สะใภ้เป็นคนชอบเที่ยวจึงไปกันได้ดี

เรายินดียิ่งนักที่มีโอกาสได้ต้อนรับพี่พี่ที่ป่วยไข้และหนีน้ำท่วมมา เราดีใจที่มีส่วนอนุเคราะห์ให้กับพี่พี่ และพร้อมที่จะรับใช้ท่านตามเงื่อนไขและโอกาส เรามีประสบการณ์ดูแลคุณแม่ซึ่งเจ็บป่วย นอนบนเตียงมา 7 ปีก่อนที่ท่านจะสิ้นลมไปตามวาระที่อวัยวะทุกอย่างหมดสภาพไปตามกาล มาคราวนี้พี่สะใภ้มาพักพิงกับเราก็ยินดีที่ได้รับใช้ทดแทนพระคุณท่านที่เคยดูแลภรรยาผมมาสมัยที่ยังเป็นเด็กเล็ก

บุตรสาวที่เป็นพยาบาลก็มีบทบาทที่สำคัญในการดูแลอาหารการกิน หยูกยา การพาเที่ยวโน่นเที่ยวนี่ จริงๆพี่สะใภ้ท่านนี้มิใช่เจ็บป่วยเป็นมะเร็งอย่างเดียว ผู้สูงอายุท่านนี้เป็นไปตามวัย เพราะท่านเป็นความดัน เบาหวาน และโรคหัวใจ ในร่างกายท่านมีหัวใจเทียม และมีเครื่องช่วยกระตุ้นหัวใจฝังติดกับร่างกายมานานหลายปีแล้ว และเจียนอยู่ เจียนไปก็หลายครั้ง แต่แล้วท่านก็ยังอยู่กับเราเป็นขวัญ กำลังใจแก่น้องนุ่ง ลูกหลานอีกหลายคน…

ผมบอกท่านว่า มาพักที่ขอนแก่นหนีน้ำมานั้นถูกแล้ว เพราะขอนแก่นมีโรงพยาบาลที่เป็นโรงเรียนแพทย์มีผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้านมากมาย การไปมาโรงพยาบาลก็สะดวก ขอให้พักอยู่นานๆเถอะ เรายินดียิ่งนัก มีอะไรขึ้นมาเราก็พร้อมจะพาท่านไปโรงพยาบาล สะดวกกว่าอยู่ในกรุงเทพฯ

เรายินดีที่มีส่วนช่วยเหลือญาติพี่น้องที่หนีน้ำมา และยิ่งท่านเป็นผู้เจ็บป่วยเราก็ยิ่งให้ความสำคัญมากขึ้น


หนีภัยน้ำท่วม.. หนีภัยโตโจ..

27 ความคิดเห็น โดย bangsai เมื่อ 2 พฤศจิกายน 2011 เวลา 23:06 ในหมวดหมู่ ไม่ได้จัดหมวดหมู่ #
อ่าน: 3084

ครอบครัวผมก็คงเหมือนๆกับหลายครอบครัวที่มีญาติพี่น้องที่มาใช้ชีวิตในกรุงเทพฯ ตามเงื่อนไขของชีวิต นอกจากพี่น้องคลานตามกันมาแล้วก็มีญาติฝ่ายสามี ฝ่ายภรรยา เพื่อนรักของญาติ ของลูก ผู้มีพระคุณ และใครต่อใครอีกมากมายตามวัฒนธรรมสังคมไทยที่เป็นครอบครัวขยาย

โดยปกติเราก็จะคิดถึงกัน ถามไถ่กันตามโอกาส ใครเจ็บป่วยก็ไปเยี่ยมยามกัน หรือส่งข้าวของไปเยี่ยมกันตามเงื่อนไข

ยิ่งมีอุทกภัยคราวนี้ก็มีความถี่ในการถามไถ่กันด้วยความเป็นห่วง ต่างรู้สภาพกันดีว่าใครอยู่บนเงื่อนไขอย่างไร ต่างก็พิเคราะห์กันว่าจะทำอะไร อย่างไรถึงจะดีที่สุด ก็เหมือนๆกับทุกคนในสภาพนี้แหละครับ เพียงแต่ทางออกของแต่ละคนไม่เท่ากัน ไม่เหมือนกัน เมื่อเกิดวิกฤติเช่นนี้ก็เห็นชัดเจนว่า อะไรคือความสำคัญของชีวิต องค์ประกอบชีวิต อะไรคือความอยู่รอด และการสร้างเงื่อนไขของการอยู่รอด และต่างก็ถามไถ่ ปรึกษาหารือกันเพื่อเสนอความเห็น คำแนะนำแก่กันและกัน

การที่ส่วนใหญ่อพยพไปต่างจังหวัด ทำให้ผมนึกถึงสมัย “สงครามโตโจ” หลายคนไม่รู้จักชื่อนี้นะครับ ก็แนะนำเลยว่า ก็คือมหาสงครามเอเชียบูรพา หรือสงครามญี่ปุ่น หรือสงครามโลกครั้งที่สองนั่นเอง ที่ญี่ปุ่นต่อสู้กับอเมริกาโดยญี่ปุ่นบุกประเทศต่างๆในเอเซียตะวันออกเฉียงใต้แล้วบังคับให้เอากำลังทหารเข้าร่วมรบกับอเมริกา …โอยเดี๋ยวยาว….

“โตโจ” คือชื่อนายพลญี่ปุ่นที่นำทัพบุกประเทศไทย สมัยนั้นมีการสอบ Entrance พอดีจึงมีการงดสอบทั่วประเทศกลางคัน แล้วเมื่อสงครามสงบก็มีการสอบใหม่ เป็นการสอบสองครั้ง ซึ่งผมเกิดไม่ทันหรอกครับ แต่รุ่นผมนั้นก็มีการสอบ Entrance สองครั้ง ไม่ใช่เพราะเกิดสงครามแต่เพราะข้อสอบรั่ว..อิอิ ขายหน้าจริงๆ กระทรวง ทบวงมหาวิทยาลัยจึงประกาศยุติการสอบกลางคัน และให้สอบใหม่หมด จึงเป็นรุ่นที่สอบ Entrance สองครั้งเหมือนสมัยที่นายพลโตโจบุก เลยเรียกรุ่นผมสอบว่าเป็น “รุ่นโตโจ” ไปด้วย…

อ้าวเรื่อยเปื่อยไปเลย…

ย้อนกลับมา เมื่อเกิดสงครามญี่ปุ่นก็ใช้เครื่องบินทิ้งระเบิด แน่นอน เขาก็ทิ้งสถานที่สำคัญๆที่เป็นจุดยุทธศาสตร์ ที่จะทำให้เมืองเป็นอัมพาต ไปทั้งหมด นั่นคือตัดเส้นทางคมนาคม ทิ้งระเบิดสถานีไฟฟ้าวัดเลียบ สะพานพุทธ และ…..เมื่อมีการทิ้งระเบิด ประชาชนก็อพยพซิ ไปไหนล่ะ ก็ออกต่างจังหวัดซิ ใครมีญาติโกโหติกาที่ไหนๆก็อพยพไปกันทุลักทุเลพิลึกพิลั่นเชียว เพราะคมนาคมมันแย่กว่านี้แบบเทียบกันไม่ได้

บ้านผมที่วิเศษชัยชาญกลายเป็นที่พักของคุณตา สำเภา ถาวรอยู่ และครอบครัว ความจริงคุณตาไม่ได้เป็นญาติกับตระกูลผมโดยตรง แต่คุณตามีญาติพี่น้องในหมู่บ้านเดียวกัน คุณตามีอาชีพเป็นครูวัดรางบัว ครอบครัวก็เป็นผู้มีความรู้ ย่อมมีนิสัยเรื่องสุขอนามัย วิเศษชัยชาญสมัยเมื่อ 60-70 ปีที่แล้วนั้นคือบ้านนอก ขอโทษนะครับ ไม่มีส้วมสักหลัง เข้าป่าข้างบ้านกันทุกเช้า เป็นที่รู้กัน มีเพียงบ้านผมเท่านั้นที่พ่อผมเป็นครูประชาบาล และมีส้วมซึม…. ญาติพี่น้องคุณตาจึงแนะนำให้มาพักบ้านผม พ่อผมก็ยินดีต้อนรับเต็มที่ถือเป็นความเต็มใจยิ่ง ที่ได้ต้อนรับคนจากเมืองกรุง หนีภัยสงครามมา

ตั้งแต่นั้นมาครอบครัวตระกูลผมกับครอบครัวคุณตาก็เคารพนับถือกันเสมือนญาติพี่น้อง หลายสิบปีเมื่อสงครามผ่านไปคุณตาและเพื่อนๆคุณตารุ่นเดียวกันต่างพากันไปย้อนความหลังที่วิเศษชัยชาญ และไปนอนที่บ้านผม ผมโตแล้ว คุณตาและเพื่อนร่วมภัยสงครามนั่งกินข้าวที่บ้านผม ต่างเล่าถึงความหลังกันลั่นบ้าน ผมเป็นเด็กก็นั่งฟังผู้ใหญ่เขาคุยกัน และคอยรับใช้พ่อที่ให้ไปหยิบโน่นหยิบนี่มาให้

ผมกวาดบ้าน ถูบ้าน ตักน้ำใส่ตุ่ม ใส่ห้องน้ำ ทำงานบ้านทุกอย่าง คุณตาเห็นก็ออกปากว่า เมื่อเรียนจบมศ. 3 แล้ว อยากเรียน มศ.4-5 ก็ไปเรียนที่ฝั่งธนบุรีได้โดยไปพักที่บ้านคุณตานั่นแหละที่สำเหร่ ให้พักฟรีไม่ต้องเสียค่าเช่า แถมกินฟรีด้วย นั่นคือเงื่อนไขที่ผมได้เข้ามาเรียนที่ฝั่งธนบุรีก่อนจะสอบ entrance ในที่สุด

การอพยพหนีภัยสงครามของคุณตา ก็คล้ายๆคนหนีน้ำในปัจจุบันมากันแต่ตัวเอาเสื้อผ้าเท่าที่จำเป็นไปเท่านั้น

แต่คราวนี้เป็นภัยน้ำท่วม….


Flood Effect

71 ความคิดเห็น โดย bangsai เมื่อ 29 ตุลาคม 2011 เวลา 23:19 ในหมวดหมู่ ไม่ได้จัดหมวดหมู่ #
อ่าน: 4306

ท้องฟ้าวันเดินทาง

เช้าวันที่ 27 เวลาตีห้า ผมตื่นขึ้นมาตรวจสอบงานที่รับผิดชอบก่อนที่จะส่งให้บริษัท

ลูกสาวยืนยันกับเพื่อนว่าสายวันนี้จะหอบผ้าหอบผ่อนไปอยู่ด้วย เพื่อนก็แสนดี ยินดีต้อนรับ เธอโทรบอกคุณแม่เพื่อนคนนั้นแจ้งความประสงค์ ซึ่งครอบครัวเพื่อนก็เตรียมตัวรับ

สายหน่อยเธอพยายามติดต่อกับเจ้านายเพื่อแจ้งว่าจะเข้าทำงานสายเพื่อเก็บสิ่งของครั้งสุดท้ายก่อนที่จะแยกย้ายกัน คือผมกลับขอนแก่น รับแม่เขาที่สนามบินขึ้นอีสาน เธอจะอพยพไปอยู่กับเพื่อนที่ออกปากต้อนรับไว้ก่อนแล้ว

เราช่วยกันเก็บข้าวของขึ้นชั้นบนอีกครั้ง ลากตู้เย็นและเครื่องซักผ้าไปไว้ในที่ที่เหมาะสมแล้วเอาถุงพลาสติกใหญ่ ห่อ มัด ดูเหมือนของขวัญไปเลย

แม่ของลูกสาวโทรมาจากกระบี่ว่ากำลังจะเดินทางเข้ากรุงเทพฯ น้ำเป็นไง เก็บของหรือยัง ไปบ้านขอนแก่นด้วยกันได้ไหม..น้ำมาถึงไหนแล้ว…ฯลฯ….

ลูกสาว..เธอติดต่อกับเจ้านายได้ และได้รับข่าวดีว่า สำนักงานประกาศปิดจนถึงวันสิ้นเดือน เราก็เฮ….น่ะซี….. เธอยกเลิกการมาพักกับเพื่อน แจ้งว่าสำนักงานสั่งปิดจึงขอกลับขอนแก่น ไม่ลืมที่จะขอบคุณน้ำใจที่จัดที่พักไว้ให้

สาย..สาย..ได้รับ SMS จากประธานบริษัท เตือนให้พนักงานบริษัทในพื้นที่ต่างๆของ กทม.พึงระมัดระวังเรื่องน้ำท่วม แนะนำสิ่งที่ควรปฏิบัติ และประกาศจัดที่พักให้พนักงานที่น้ำท่วมบ้าน…

เที่ยง…..เราพร้อมแล้วที่จะเดินทาง ยาหยีนั่งคอยอยู่ที่สนามบินสุวรรณภูมิแล้ว สั่งลาเพื่อนบ้าน ตรวจสอบเบอร์โทรศัพท์กันแล้วฝากฝังบ้านไว้ด้วย จะโทรมาถามข่าวคราวน้ำท่วมประจำ เพื่อนบ้านที่อยู่ตรงข้ามไม่อพยพกลับสงขลา เพื่อนบ้านที่ติดกันบอกว่าจะอยู่สู้กับน้ำที่นี่

เราผ่านถนนรามอินทรามุ่งสู่วงแหวนตะวันออกและเป้าหมายคือสุวรรณภูมิ มีรถจอดเต็มบนทางยกระดับ ทั้งเห็นใจและเข้าใจว่าเขาเหล่านั้นไม่มีทางออกที่จะรักษารถ สถานที่ที่รัฐประกาศก็ไกลไปและอาจจะเต็มหมดแล้วก็ได้..

กว่าจะออกจากสุวรรณภูมิก็บ่ายสองโมง เราใช้เส้นทางทางด่วนใหม่กรุงเทพฯชลบุรี-ฉะเชิงเทรา-วังน้ำเขียว-โคราช-ขอนแก่น เป็นเส้นทางที่เราใช้ขาลง แต่ยาหยีผมแนะนำเส้นทาง ฉะเชิงเทรา-บุรีรัมย์-มหาสารคาม-ขอนแก่นสำรองไว้

พ่อเจ้า…ที่สถานที่รับส่งคนทั้งขาเข้าและขาออกที่สนามบินสุวรรณภูมิ ไม่มีระเบียบอะไรแล้ว รถติด เพราะมีรถจอดซ้อนสามแถว ทำให้รถเข้ามารับหรือส่งผู้โดยสารต้องกระดึบๆกัน แล้วมันก็ติดสะสมน่ะซี แต่มี เจ้าหน้าที่คอยจัดการ ก็พอกล้อมแกล้มไปได้

ผมขับรถฉลุยมอเตอร์เวย์ไปชลบุรี รถหนาแน่นมาก แต่ก็ทำความเร็วได้ เมื่อมาถึงทางแยกลงฉะเชิงเทรารถเริ่มติด แต่ก็พอไปได้ มีรถแซงขวามาแทรกแบบลัดคิวเช่นเคย

เนื่องจากเราสามคนพ่อแม่ลูกเพิ่งจะเริ่มเดินทาง ก็โออยู่ กระดื๊บๆไปเรื่อยๆ บางช่วงก็ทำความเร็วได้สัก 300 เมตรก็ติดอีก เป็นรถสารพัดชนิดตั้งแต่ เก๋งส่วนบุคคล กระบะ บรรทุกเครื่องครัว และรถบรรทุก 10 ล้อสารพัดสินค้า คันยาว…

เพราะข้างหน้าวิ่งผ่านตัวเมืองจึงติดไฟแดง เมื่อจำนวนรถมากก็ต้องติดแบบนี้ เราเอาเรื่องราวต่างๆมาคุยกันจนหมด ก็ยังไม่ผ่าน ข้าวกลางวันยังไม่ได้กิน แต่เราตุนขนมและน้ำมาเต็มรถ


ผู้โดยสารในรถเริ่มต้องการเข้าห้องน้ำ ปั้มก็มองไม่เห็น ได้แต่ปลอบใจกันว่า เดี๋ยวคงเจอะข้างหน้า อดทนหน่อย

รถก็วิ่งไม่ได้ กระดึ๊บๆไปเท่านั้น เพราะต่างก็อพยพมุ่งสู่อีสานกันทั้งนั้นส่วนหนึ่งคนกรุงเทพฯก็ไปวังน้ำเขียว เพื่อหลบมาสักพัก…

กว่าจะถึงกบินทร์บุรีก็นานมาก ที่ปั้ม ปตท.ก่อนจะขึ้นภูเขาวังน้ำเขียว รถแวะเข้ามาปั้มเพื่อเติมเต็มน้ำมัน เข้าห้องน้ำ พักรถ หาเครื่องดึ่ม อาหารกิน แทบไม่มีที่จอดรถ เข้าคิวเข้าห้องน้ำกันเลย ซี่งไม่เคยเห็นภาพนี้…. ลูกสาวหลับไปหลายรอบ เธอไม่ลงรถขอหลับต่อ เราจัดการปลดปล่อยน้ำออกจากร่างกายแล้วไปหาก๋วยเตี๋ยวร้อนๆกินกันสองคน สายตาก็มองคนมหาศาลที่แย่งกันกิน หาที่จอดรถ เอาน้องหมาลงมาเดิน ฯลฯ…

เราออกเดินทางต่อ มืดสนิท ปริมาณรถหนาแน่นมากขึ้น ถนนสองเลนกลายเป็นการวิ่ง 3 และ 4 เลนในที่สุด รถเราถูกบีบให้อยู่ขอบถนนซ้ายสุด แล้วก็กระดื๊บไปแบบนี้นานนับชั่วโมง การกระดื๊บ มันไม่ใช้กระดื๊บไปตลอดนะครับ แต่กระดื๊บไปสองสามวาก็หยุดสักพัก แล้วกระดื๊บใหม่ ที่เลนขาเข้าเห็นรถสวนมาน้อยมากและมีรถ ติดไปกระพริบแดงๆวิ่งไปสองสามคัน ใครๆก็เด่าว่า คงเกิดอุบัติเหตุ และนั่นอาจจะเป็นเหตุที่รถติด

 

สี่ทุ่มกว่าแล้ว ยังอยู่ที่กบินทร์บุรี ข้างทางที่เรากระดื๊บไปนั้น มีชาวบ้านถือเป็นโอกาสทำก้าวกล่องมาขาย ตั้งโต๊ะขายน้ำ ขายเครื่องดื่มประเภทกระทิงแดง และขายได้ คนที่นั่งในรถทางเลนขวาไม่ติดด้านขายของก็เดินลงจากรถมาซื้อของไปแจกจ่ายกัน บางช่วงรถเคลื่อนตัวไปกลับหารถไม่ถูกวิ่งหารถกันวุ่นไปหมด แต่จริงๆรถก็วิ่งไปไม่ไกลหรอก..เห็นแล้วก็ขำไม่ออก บางคนหน้าตาตื่นเชียว

สภาพที่ติดแหง๊กเช่นนี้ เราเห็นรถบางคันเลี้ยวเข้าปั้มน้ำมันที่ปิดกิจการ จอดรถเอาเต้นท์มากางและนอน…เออ เข้าท่านะ บางคันเลี้ยวเข้าจอดเพิงขายของของชาวบ้านข้างทาง คงให้ลูกหลานกินข้าว เขาคงไม่ได้แวะที่ปั้ม และไม่คิดว่ามันจะติดมากมายขนาดนี้

รถบางคันจอดตาย ถูกดันเข้าข้างทาง สภาพแบบนี้หากสภาพรถไม่ดี มันจะ โอเวอร์ฮีต แล้วเครื่องก็จะดับ หากยิ่งน้ำหล่อเย็นแห้งหมดละก็ เรื่องใหญ่ละค่าซ่อมไม่ต่ำห้าหมื่น…

จนถึงทางขึ้นภูเขาเราเห็นพนักงานจราจรมารวมตัวกันที่นี่จัดการบริหารรถ เราถูกเรียกให้แซงขวาขึ้นไป รดขาลงภูเขาถูกกักปล่อยให้ขาขึ้นวิ่งขึ้นใช้เวลามากกว่า เพื่อลดการติดแหง๊ก สาเหตุที่รถติดนั้นไม่ใช่อุบัติเหตุ แต่เป็นสภาพถนนตรงส่วนจะขึ้นภูเขานั่นแหละ ขบวนรถจากกรุงเทพฯวิ่งมา 3-4 เลนแล้วบีบลงเหลือ 1 เลน ไม่ติดวินาจสันตะโรก็ไม่ใช่แล้ว

วิ่งขึ้นภูเขาไปนิดเดียวก็ติดอีกแล้ว แต่กระดื๊บได้มากขึ้น เพราะผู้จัดการจราจรตรงตีนภูเขามาจัดการให้รถบรรทุกทุกประเภท ชนิด ขับชิดซ้ายเท่านั้น รถชนิดอื่นวิ่งตรงกลางถนน ทำให้รถพอขยับตัวได้ กว่าจะถึงยอดภูเขาได้ ก็ห้าทุ่มไปแล้ว

ผมเห็นทั้งขาขึ้นและขาล่องมีรถเมล์โดยสารทั้งชั้นเดียวบ้างสองชั้นบ้าง มากมายหลบมาใช้เส้นทางนี้เท่านั้น ผมนึกถึง NCA นครชัยแอร์ รถโดยสารที่คุณภาพดีที่สุด ผมว่าการออกต่างจังหวัดนั่งรถแบบนี้ดีที่สุด หนึ่ง มีห้องน้ำในตัว สองที่นั่งสบาย สามมีอาหาร น้ำดื่มตลอด สี่มีหนังให้ดู ห้าแอร์เย็นฉ่ำ หกปลอดภัยมากกว่า เจ็ดราคาถูกเพียงสี่ร้อยกว่าบาทระหว่างขอนแก่น-กรุงเทพฯ แปด สามารถเอาสิ่งของส่วนตัวติดตัวไปได้พอสมควร..

ขาลงจากภูเขาวังน้ำเขียวเข้าโคราชรถวิ่งได้ไม่ติด คนในรถหลับหมดยกเว้นคนขับรถ ถ้าคนขับหลับด้วยก็จบกัน ห้า ห้า ห้า

ถึงขอนแก่นก็ตีสามครึ่งโดยประมาณ เป็นการเดินทางที่ใช้เวลามากที่สุด เห็นใจ เข้าใจทุกท่านที่อพยพออกจากกรุงเทพฯ ต้องอดทน และเคารพกติกาสังคมกันหน่อยทุกอย่างก็จะไปได้ มันไม่สะดวกเหมือนยามปกติ

ปกติผมใช้เวลาเดินทาง ขอนแก่นกรุงเทพฯประมาณ 5-6 ชั่วโมง เมื่อคืนนี้เป็นสองเท่าเลย

นี่คือ Flood Crisis Effect จากกรุงเทพฯสู่เส้นการใช้รถใช้ถนนบนทางหลวงที่มุ่งสู่ภาคอีสาน รถติดเป็นระยะทางมากกว่า 60 กม. ไม่อยากคิดเลยว่าหากเกิดสงคราม จะทำกันอย่างไรนี่

แต่นี่มันเทียบไม่ได้กับท่านผู้สูญเสียบ้าน ทรัพย์สิน บางครอบครัวมีผู้เสียชีวิตด้วยซ้ำไปกับน้ำครั้งนี้

เป็นกำลังใจให้ครับ เริ่มใหม่ได้นะครับ


ยกขึ้นที่สูง

450 ความคิดเห็น โดย bangsai เมื่อ 29 ตุลาคม 2011 เวลา 0:30 ในหมวดหมู่ ไม่ได้จัดหมวดหมู่ #
อ่าน: 8127

ซ้าย: นี่แกว่าน้ำจะท่วมบ้านเราไหมวะ…

ขวา: ฯพณฯ ท่านบอกว่าไม่ท่วมก็ไม่ท่วมซิ เองถามทำไม

ซ้าย: ฉันกลัวน่ะซี

ขวา: แกกลัวอะไรวะ…ไม่เห็นจะกลัวเลย น้ำมาเราก็ถูกยกขึ้นที่สูง

ซ้าย: ก็น่านนะซี….ฉันกลัวที่สูงน่ะซี…..    


โจทย์

41 ความคิดเห็น โดย bangsai เมื่อ 26 ตุลาคม 2011 เวลา 19:50 ในหมวดหมู่ ไม่ได้จัดหมวดหมู่ #
อ่าน: 2261

ในช่วงวิกฤตของน้ำในกรุงเทพฯนั้น ชายคนหนึ่งตัดสินใจนานแล้วว่าจะกลับบ้านขอนแก่นอันเป็นบ้านหลัก แต่ชายคนนี้เป็นห่วงลูกสาวที่จะต้องอยู่บ้านคนเดียวท่ามกลางน้ำที่โอบล้อมทุกด้าน

ในขณะที่ ผู้ว่ากทม.ประกาศใครมีที่ไปก็ไปได้แล้วในเขตต่อไปนี้…. ชายคนนั้นโทร หาญาติพี่น้อง คนนั้นไประยอง คนนี้ไปอ่างทอง(มันดำน้ำไปหรือยังไง) คนโน้นไปวังน้ำเขียว คนนั้นถือโอกาสไปเที่ยวโครเอเชียกับบริษัททัวร์กับลูกสาว…ฯ…..

ระหว่างที่รัฐบาลประกาศหยุดงาน 27-31 ตุลาคม ชาวคนนั้นก็ลุ้นว่าที่ทำงานลูกสาวจะปิดด้วย แต่ไม่แน่ใจเพราะเป็นองค์กรธุรกิจ ชายคนนั้นให้ลูกสาวตรวจสอบกับเจ้านาย บ่ายแก่ๆ เธอก็ FW เมล์ไปบอกชายคนนั้นว่า..

Dear all, Please note that ………. will remain open …… We already have in place a comprehensive support scheme for staff, that includes accommodation for those in need.

Of course, some of your people who need to protect their Bangkok homes may not come to the office. In those cases please ensure that you are notified in advance and approve and that they inform HR as per usual company policy.

โธ่…จะให้เธอนอนที่ทำงานด้วยหรือไง…ชายคนนั้นสบถดังๆ

 

ห่างกันไม่นานที่บริษัทที่ชายคนนั้นสังกัดอยู่แบบหลวมๆก็ SMS มาว่า

“…….กลุ่มบริษัท…เปิดทำงานตามปกติในช่วงที่รัฐบาลประกาศปิด……..

หากเป็นท่านจะทำอย่างไร…… หุหุ..

โปรดเลือกตำตอบที่ถูกต้องที่สุดเพียงข้อเดียว (500 คะแนน)

  1. ทำตามที่เจ้านายกำกับทุกอย่าง มรึงจะแช่น้ำ ฉิบหายอย่างไร เมื่อถึงเวลาก็ต้องมาปรากฏตัวที่ทำงานตามปกติ เหมือนไม่เกิดอะไรขึ้น
  2. แจ้งให้นายทราบว่าเดือดร้อนมาก แล้วลา หายไปจากที่ทำงาน แล้วโทรไปโอดครวญความเสียหายที่บ้าน
  3. ทำงานตามปกติ เมื่อน้ำเข้าบ้านก็เอาน้ำเน่าๆใส่ขวด เอาไปฝากเจ้านายว่าเป็นของขวัญจากลูกน้องที่น้ำนองท่วมบ้าน
  4. ไปอยู่ศูนย์อพยพ แล้วพยายามเสนอหน้าให้สัมภาษณ์ทีวี แล้วก็ฉะมันเลย…..
  5. นุ่งผ้าขาวม้า ถอดเสื้อ โชว์พุงอ้วนๆ หิ้วกระเป๋า ห้อยคอมพิวเตอร์ ไปทำงานตามปกติ ให้มันรู้ซะบ้าง…ว่าขยันฉิบ…..
  6. เอาวิกฤตเป็นโอกาส ไปซื้อถุงทรายมาที่ราคา แมร่ง ลูกละ มากกว่า 40 บาท(มีทรายอยู่ข้างในแค่สองกำมือ) มาล้อมน้ำที่ท่วมที่บ้าน ไปซื้อลูกปลามาเลี้ยงซะเลย…
  7. ออกแม่งงงงมันเลย พาลูกสาวและแม่มันกลับขอนแก่นด้วยใบหน้าไม่ยิ้มไปตลอดทาง แถมกัดฟันกรอดๆ ไปหางานใหม่เอาข้างหน้า

 

ใครส่งกระดาษเปล่า เนรเทศให้ไปอยู่บางบัวทอง….ง่ะ…


สำรอกของแม่

170 ความคิดเห็น โดย bangsai เมื่อ 25 ตุลาคม 2011 เวลา 0:36 ในหมวดหมู่ เรื่องทั่วไป #
อ่าน: 4594

ในหมู่บ้านที่สมาชิกทุกคนมาอยู่ใหม่ ก็ยังเคอะเขินแก่กันบ้าง เพราะความใหม่ และวิถีคนเมืองนั้นไม่ค่อยมีเวลาอยู่ที่บ้านแห่งนี้ หมู่บ้านยังขายห้องพักไม่หมด ในแต่ละ เฟส ที่กำลังก่อสร้างก็มี ทำให้สมาชิกในชุมชนใหม่นี้ยังมีไม่มากนัก

นอกจากจะมีคนกรุงและต่างจังหวัดตัดสินใจควักเงินก้อนใหญ่ซื้อห้องพักนี้ ก็มีสมาชิกอีกส่วนหนึ่งที่มาอิงอาศัยโดยไม่ต้องลงทุนอะไร เขามาอยู่ตามอิสระ ชอบตรงไหนก็หาที่หลับนอนตามใจชอบ หรือสัญชาติญาณของเขา เช้า และเวลาทั้งวันก็เดินไป-มาในหมู่บ้านเพื่อหาอาหารกิน หากดูหน้าตาเขาก็ไม่ถึงกับขี้เหร่ ขี้เรื้อน จึงมีทั้งคนชอบและไม่ชอบเขา

ผมหมายถึงหมาที่ไม่มีเจ้าของในหมู่บ้านครับ เจ้าหน้าที่หมู่บ้านเคยบอกว่า ติดต่อเจ้าหน้าที่มาจับแล้วหลายครั้ง เจ้าหมาพวกนี้เหมือนรู้ ต่างหนีหายไปหมด เพราะรอบๆหมู่บ้านติดต่อกับที่ว่างเปล่าและไม่มีรั้วที่แน่นหนาปิดกั้น เมื่อคนจับหมากลับไปหมามันก็ค่อยๆปรากฏตัวกลับมาอีก


นังแดง หน้าตาพอดูได้ นมยาน ผอมโซ หลายสัปดาห์ก่อนมีเสียงลูกหมาร้องอยู่อีกซอยของหมู่บ้าน แถบนั้นเพิ่งก่อสร้างเสร็จ ไม่มีคนพักอาศัย นังแดงจึงไปแอบคลอดลูก นับดูได้ถึง 7 ตัว แหม…นังแดง หมาไม่มีเจ้าของแถมลูกดก

แต่ก่อนผมไม่รู้จักวิถีนังแดง เห็นมันมาคุ้ยขยะหน้าบ้านก็ตะโกนไล่มันเมื่อหลายสัปดาห์ก่อนแต่เมื่อเห็นมีลูกอ่อน ผมก็ใจอ่อน ไม่ไล่มันอีกต่อไป แถมเอาเศษอาหารให้มันอีกเป็นครั้งคราว

เพื่อบ้านติดกันไม่ชอบ มักจะไล่มันออกไป เนื่องจาก มันเริ่มพาลูกมานัวเนียหน้าบ้าน ทำให้รำคาญเจ้าของบ้าน และกลัวว่ารถจะไปทับมันโดยไม่ได้ตั้งใจ ขณะที่สาวห้องถัดไปนั้นเอาอาหารมาให้ เอากระเบื้องลอนคู่มาทำเป็นที่ใส่อาหาร แล้วเอาอาหารมาให้ ลูกทั้ง 7 ตัว

บางวันผมนั่งทำงานที่บ้าน เห็นนังแดงเดินวนเวียนกองขยะหน้าบ้าน เขามาหาของกิน บางวันเดินทางสองสามรอบ บางวันเขาข้ามรั้วบ้านตรงข้ามไปหาอาหารกิน…..


ภาระเรามากหลาย ไม่คิดจะตั้งใจสนใจกับนังแดง วันๆก็ผ่านไป เห็นบ้างไม่เห็นบ้าง ช่วงที่มันมีลูกน้อยนี่แหละที่เห็นมันบ่อย เพราะมันอพยพครอบครัวมันมาอยู่แถวบ้านที่มีคนพักอาศัย แต่ไม่มีใครเอาใจใส่จริงจังกับมัน


นังแดงผอมโซ เดินไปไหนลูกๆก็วิ่งตามไปดูดนม บางทีนังแดงก็ยืนเฉยๆให้ลูกแย่งกันดูดนม บางทีนังแดงก็กัดลูกตัวเองจนร้องลั่น แล้วมันก็วิ่งหายไปตึกมุมโน้น…. ลูกๆก็วิ่งตามสักพักก็วิ่งกลับมาเล่นกัดกันกลางสนามหญ้าหมู่บ้าน


วันหนึ่งผมออกไปเดินเล่นที่สนามหญ้าของหมู่บ้าน ดูท้องฟ้า คิดถึงเรื่องงาน คิดถึงน้ำท่วม คิดอะไรเรื่อยเปื่อย ผมเหลือบไปเห็นนังแดงวิ่งคาบอะไรมา ผมเดาได้ว่าเป็นถุงขยะ สมองผมและสายตารวมศูนย์มาที่นังแดงว่าจะเอาถุงขยะนี้ไปไหน….


นังแดงเอามาให้ลูกมันที่สนามหญ้านั่นเอง ลูกนังแดงสองตัวดีใจวิ่งไปหาแม่


ในถุงนั้นมีขนม ผมเดาว่าเจ้าของบ้านคงทิ้ง แล้วนังแดงเห็นจึงคาบเอามาให้ลูก และตัวเองก็กินด้วย เป็นมื้อเย็นสำหรับวันนี้ แม่ลูกดูมีความสุข แต่ขนมเพียงไม่กี่ชิ้นคงไม่ทำให้ครอบครัวนี้อิ่มทั้งหมดหรอก


เนื่องจากเป็นหมาไม่มีเจ้าของจึงยังไม่มีใครเอาอาหารมาให้ประจำ นังแดงจึงต้องออกตระเวนไปอาหารให้ตัวเองและลูกๆมัน วันไหนได้อาหารทั้งจากขยะ และผู้คนให้มันก็ดีไป วันไหนไม่ได้อาหาร มันคงอด แล้วมันจะเอานมที่ไหนให้ลูกกิน ผมเดาว่านี่เป็นสาเหตุหนึ่งที่มันกัดลูกเมื่อลูกๆวิ่งไปดูดนมมันทั้งๆที่ไม่มีน้ำนม


เย็นวันหนึ่งผมยืนคุยกับเพื่อนข้างบ้านถึงเรื่องน้ำท่วม และอื่นๆจนค่ำ เราเห็นลูกๆนังแดงเดินกันวุ่นไปหมด แสดงว่ามันคงหิว แสดงว่าวันนี้นังแดงคงไม่มีอะไรกิน ผมคิดในใจขณะที่ปากก็คุยกับเพื่อนบ้านไป

ทันใดนั้นผมเห็นปรากฏการณ์ที่ผมไม่เคยคิดและไม่เคยเห็นหมาทำเช่นนี้มาก่อน นังแดงวิ่งเหยาะๆฝ่าความมืดสลัวๆมาที่ลูกๆมัน ลูกของมันสามสี่ตัวแสดงอาหารดีใจต่างวิ่งไปหานังแดง

แล้วนังแดงก็ทำคอโก่งๆ สองสามครั้ง มันคายอะไรออกมา แล้วลูกๆมันก็แย่งกันกิน…

นังแดงมันสำรอกเอาอาหารมาให้ลูกมัน……

ผมและเพื่อนบ้านที่ยืนคุยต่างเห็นนังแดงทำสิ่งนั้นเต็มตา

เรายืนนิ่งเงียบไปพักหนึ่งแล้วต่างก็ขอแยกตัวกัน ผมยังยืนดูเหตุการณ์ นั้นครูใหญ่แบบอึ้ง

นี่คือสัญชาติญาณความเป็นแม่….แม่ที่ทำหน้าที่เพื่อลูก

นังแดงมันเป็นเดรัจฉาน แต่ความเป็นแม่ของมันนั้นเปี่ยมล้นจริงๆ…


ทุกข์ไป..ขำไป..อ่ะ

34 ความคิดเห็น โดย bangsai เมื่อ 24 ตุลาคม 2011 เวลา 10:15 ในหมวดหมู่ เรื่องทั่วไป #
อ่าน: 1963

ความเป็นพ่อคนแม่คนนั้นกังวลเรื่องลูกมากกว่าตัวลูกเอง สัญชาติญาณแม่นั้นมีกันทุกคนที่เป็นแม่ มากน้อยต่างกันไปตามเหตุตามผล

ของผมน่ะเหรอ เธอนั่งทำงานหน้าจอทีวีเก่าๆที่ภาพในจอไม่ชัด เปิด ปิดไฟทีก็มีเสียงซ่าดังขึ้นมาภาพที่ไม่ชัดอยู่แล้วก็ยิ่งเต้นเป็นโดนผีหลอกเชียว ก็เป็นทีวีเก่าที่เอามาใช้ ประหยัดไม่ต้องซื้อใหม่ แม้ว่ามันจะไม่เข้ากับสภาพบ้านที่เป็นแบบสมัยใหม่มีพื้นที่น้อยก็ตาม บ้านแบบนี้ต้องการเฟอร์นิเจอร์ที่ออกแบบมาเฉพาะเท่านั้นจึงจะเหมาะสม แต่นั่นหมายความว่า เราต้องควักเงินซื้อมาทั้งหมดน่ะซี….โธ่เราไม่ใช่เศรษฐี มีอะไรที่พอใช้ได้ก็ใช้ไปเถอะ..

เธอกดรีโมทย้ายไปช่องโน้นช่องนี้ เพื่อแสวงหาข้อมูลเรื่องน้ำที่โอบจ่อกรุงเทพฯเมืองฟ้าอมรฯ พร้อมหาจุดอ่อนโจมตีทันที ได้เวลาก็ออกไปหาของกิน ตุนมาบ้างแต่ไม่ค่อยเท่าไหร่ เพราะหากวิกฤติเราไม่ได้ตั้งใจจะหดหู่อยู่ชั้นบน เรามีที่ไปหลายที่ ที่วิเศษชัยชาญบ้านเกิด น้องสาวฝ่าวิกฤตน้ำ ก็พร้อมที่จะรับเราเข้าไปร่วมเผชิญปัญหา บ้านขอนแก่นนั้น เราเชคกับเพื่อนฝูงที่ทำงานกรมชลประทานที่นั่นก็ยืนยันว่าน้ำเริ่มลดลงแล้ว พื้นที่ของเราปลอดภัย

แต่ข้าวของที่บ้านลูกสาวนี่ซิ การงานของเธอ เด็กสาวที่ไม่เคยเผชิญวิกฤตอะไรแบบนี้เธอยังคงเจ๊าะแจ๊ะ ผ่าน BB กับเพื่อนเธอ ส่วนแม่มันใจร้อนวุ่นวายไปหมด เดี๋ยวบอกให้ไปหานั่นหานี่มากั้นหน้าบ้าน เดี๋ยวให้ไปทำโน่นทำนี่… เหมือนผู้บัญชาการกองทัพสั่งทหารทำงาน อิอิ

เมื่อคืนเราสามแม่ลูกนั่งกินข้าวที่แม่บ้านทำสุดฝีมือที่เราอยู่พร้อมหน้ากัน พร้อมเปิดทีวีดูข่าวไปมา คอมพ์ก็เปิด ออนไลน์ติดตามข่าวคราวทุกเครือข่าย เธอทำงานแหล่งน้ำจึงมีแหล่งข้อมูลที่เชื่อถือได้ และตามเวบต่างๆที่สร้างขึ้นมาทันสมัย ส่วนหนึ่งก็ทำงานไป หูก็เงี่ยฟังข่าวสาร บ่อยครั้งที่ละสายตาจากหน้าจอคอมพ์ไปดูข่าวทีวี

ลูกสาวเตรียมตัวเหมือนกัน เธอชวนผมไปซื้อถุงพลาสติกขนาดพิเศษ เพื่อเอามาใส่เครื่องซักผ้า ตู้เย็น ฯ เตรียมพร้อมหากน้ำมาจริงๆ เราซื้อเผื่อญาติพี่น้องที่เสนานิเวศด้วย.. แล้ว เพื่อนรักเธอก็โทรมาว่าเกิดความคลาดเคลื่อนที่ครอบครัวอพยพไปต่างจังหวัดปล่อยให้เธอทำธุระคนเดียวในกรุงเทพฯ แต่ลืมทุกอย่างที่เป็นของจำเป็น ของเธอไว้ในรถที่กำลังขับไปต่างจังหวัด เธอจึงโทรมาหาลูกสาวให้ไปอยู่เป็นเพื่อขณะกำลังรอการติดต่อ ลูกสาวก็ขับรถใหญ่ของเราไปเพราะรถเธอเอาไปฝากไว้ที่ทำงานหลายวันแล้ว…

# ระหว่างที่เธอออกไป… fb เพื่อนบอกว่า ท่านผู้ว่า กทม.สั่งเตรียมพร้อมอพยพ โดยเฉพาะคนแก่ เด็ก ผู้ป่วย

# เราถามว่า ทำไมผู้ว่า กทม.ไม่ออกอากาศ

# fb บอกว่า ช่อง 11 ไม่ยอมให้ออกอากาศ…(ฟังหูไว้หูนะครับ)

# อีกไม่กี่นาที fb บอกว่าผู้ว่ากำลังจะให้สัมภาษณ์ ปวีณมัย บ่ายคล้อย เราเปิดดูทันที

ชัดเจนว่า ควรตื่นตัวย้ายผู้เฒ่าผู้แก่ เด็ก คนป่วยไปในที่ที่เหมาะสม

เราอยู่ใกล้ดอนเมือง หลักสี่ หวาดเสียว ยิ่งยาหยีตระหนก เลยโทรเรียกลูกกลับทันที

ลูกสาวมาถึง ข้าวของที่เราเตรียมไว้แล้วก็ถูกระดมยกขึ้นไปชั้นบนเกือบหมด เอาถุงใหญ่มาใส่เครื่องซักผ้า เตาแก๊ส ถ้วย ชาม ราม ไห ถูกแรงงานเคลื่อนย้ายขึ้นชั้นบนในพริบตา ไม่เหลือเก้าอี้สักตัว แต่ทีวีก็เปิดอยู่ โต๊ะทำงานยังกางอยู่ เรายืนดูทีวี จนขาแข็ง ดูข่าววัดสวนแก้วแก้ปัญหาย้ายน้องหมาจำนวนมากมาย ดูการปะทะกันระหว่างเจ้าหน้าที่ กทม.กับชาวบ้านที่มีอาวุธขัดกันเรื่องการเปิดบานประตูระบายน้ำ ดูท่านประธาน ศปภ.มาประกาศสนับสนุน กทม. ฯลฯ ยาหยีนั่งลงกับพื้นดูคอมพ์ ห้า ห้า ห้า ขำ แล้วเอาเก้าอี้ไปชั้นบนทำไม….!!!??? เราหัวเราะใส่กัน

เราอยู่ในสภาพและสภาวะนั้นจนตีสองเมื่อมั่นใจว่าไม่มีอะไรต่างก็ม่อยหลับไปทีละคนสองคน

ตื่นมาเช้าเธอแอบเปิดม่านดูถนนว่ามีน้ำเข้ามาไหม…รีบมาเปิดทีวี อัพเดทข่าว เห็นอาจารย์ปราโมท ไม้กลัด มาอธิบายตอนท้ายๆ บอกว่า “อย่ามาถามผมว่าน้ำจะท่วมกรุงเทพฯหรือไม่…….”

ยังไม่มีอะไร…ท้องเริ่มหิว..

อ้าวเตาก็อยู่ชั้นบน กาต้มน้ำก็ขนขึ้นไปชั้นบนเมื่อคืน อาหารการกินอยู่ชั้นบนหมด ถ้วย ชาม ราม ไห …. โต๊ะ เก้าอี้ อยู่ชั้นบน จะซักผ้า อ้าวต้องติดตั้งเครื่องซักผ้าใหม่ อาหลั่ยเครื่องมือมันอยู่ตรงไหนบ้างละหว่าาา…ฯลฯ…

เราหัวเราะใส่กันพร้อมทยอยขนลงมาชั้นล่าง….

ทีละอย่าง เดินกะย่องกะแย่งยกลงมากัน…

ทีวีเก่าๆ ก็เปิด ฟังข่าว ซ่า..ซ่า เหมือนเดิม

ห้า ห้า ห้า ห้า ห้า ห้า…

ทุกข์ไป ขำไป อ่ะ

เราปลอบใจกันว่า เมื่อคืนถือเป็นการซ้อมใหญ่ก็แล้วกันนะ  ห้า ห้า ห้า ห้า.. แต่เหนื่อยว่ะ


หนุ๊กอีแหล่ว..

26 ความคิดเห็น โดย bangsai เมื่อ 24 ตุลาคม 2011 เวลา 1:37 ในหมวดหมู่ ไม่ได้จัดหมวดหมู่ #
อ่าน: 2153

 


ผู้ว่า กทม.เตือน 6 เขต

เราเตรียมตัวอยู่แล้ว

จัดการขั้นตอนสุดท้าย

พร้อมที่จะอพยพกลับขอนแก่นทันที

……

การเมืองเฮงซวย

ประชาชนอย่างเราจำไว้

จะไปกรวดน้ำส่งไปให้..นะ


ตรวจสอบถนนน้ำท่วม

4 ความคิดเห็น โดย bangsai เมื่อ 20 ตุลาคม 2011 เวลา 0:56 ในหมวดหมู่ ไม่ได้จัดหมวดหมู่ #
อ่าน: 1668

ท่านที่เดินทางไปต่างจังหวัด หรือแม้ในกรุงเทพฯ หากต้องการตรวจสอบน้ำท่วมถนนแบบ Real time สามารถตรวจสอบได้ที่ http://maintenance.doh.go.th/test.html ของกรมทางหลวง


มุมเล็กๆของตุลาวิปโยค 54

6 ความคิดเห็น โดย bangsai เมื่อ 19 ตุลาคม 2011 เวลา 21:06 ในหมวดหมู่ ไม่ได้จัดหมวดหมู่ #
อ่าน: 1660

ยามหนีตายเพราะน้ำท่วมนี้เราสามารถบอกได้ว่า ชีวิตต้องการอะไรเป็นขั้นพื้นฐานเพียงเพื่ออยู่รอดเบื้องต้น Basic Minimum Needs (BMN) กระทรวงสาธารณะสุขกำหนดไว้ นั่นเป็นวิชาการทางการ แต่อาละไม อาสะอาด ของผมนั้นไม่รู้หรอกว่า BMN คืออะไร แต่ยามหนีตายนั้นต้องการพื้นที่สะอาดพอนั่งนอนได้ เหยียดขาเหยียดแข้งได้ มีห้องน้ำพอไม่อุจาด มีน้ำสะอาดดื่ม มีข้าวกิน ไม่ต้องแกงเนื้อแกงไก่ อะไรหลอก มีอะไรก็กินได้ มีเพื่อนบ้านพูดคุยแลกเปลี่ยนกันได้ ไม่ต้องอะไรหรูหรา ไม่ต้องมีราคา ค่างวดอะไร

ยามน้ำขึ้นตามฤดูกาลปกตินั้น ชาวบ้านภาคกลางเขารู้ และทำตัวให้สอดคล้องกับน้ำได้ เพราะชีวิตอยู่กับน้ำมาตั้งแต่เกิด และน้ำตามธรรมชาตินั้นค่อยๆเพิ่มขึ้น วันต่อวัน แต่น้ำท่วม มันเป็นปรากฏการณ์ “ตุลาวิปโยค 54″ ชาวนาภาคกลางก็สู้ไม่ไหว มาแบบไม่รู้เนื้อรู้ตัวแบบนี้มีสิทธิตายเย็นได้

พี่ ป้า น้า อา ที่ยังทำนาก็บอกหมดตัว ญาติที่ไม่ได้ทำนาแต่ให้เพื่อนบ้านเช่านาก็บอกงดไม่เก็บค่าเช่าปีหน้าฟ้าใหม่ค่อยว่ากัน แถมจะเอาข้าวที่เหลือในยุ้งให้ไปกินอีก


ยามที่ทำอะไรไม่ได้ก็ไม่นั่งเจ่าจุก หยิบเบ็ด หยิบแหไปหาปลาตามแหล่งที่มันก็อพยพเหมือนกัน พอได้กินไม่ต้องซื้อเขา หากจะว่าไปแต่โบราณน้ำท่วมก็ไม่เห็นใครไปแหกปากเรียกร้องกับรัฐบาล ต่างก็ช่วยตัวเองและช่วยกันในชุมชน ใครมีอะไรก็แบ่งกัน ปันกัน แนวคิดนี้น่าจะดีกว่าที่จะรอพึ่งจากรัฐเท่านั้น ..พึ่งตนเองและพึ่งพากันและกัน…

ที่บ้านไม่ไปขอความช่วยเหลือจากใคร พี่น้อง ญาติช่วยกันเอง ปล่อยให้รัฐบาลและเจ้าหน้าที่ไปช่วยท่านอื่นๆเถอะ เราแบกภาระดูแลญาติที่อพยพมาจากอยุธยา เราไม่คิดเป็นอื่นเลยเพราะนั่นคือครอบครัวของเรา แม้ไม่ใช่ญาติเราก็เคยให้พักพิงอาศัย ให้ข้าวให้น้ำ จนมือปืนคนหนึ่งถูกจ้างให้มาเอาชีวิตน้องเขยยังบอกภายหลังว่า …ทำไม่ได้หรอกเพราะเคยมากินข้าวกินน้ำบ้านนี้.. ชนบทหรือคนดั้งเดิมนั้นเขามีอะไรที่คนสมัยนี้ไม่มี หรือหายากเต็มที

สังคมมันเปลี่ยนไปมาก ความเป็นชุมชนมันเปลี่ยนไปจากรูปแบบเดิมๆ เหมือนผมไปสำรวจแถบประทุมธานี ชุมชนหมู่บ้านจัดสรรนั้น ตัวใครตัวมัน แม้จะเลือกตั้งกรรมการชุมชนขึ้นมา เขาก็บอกว่าปกครองยาก ทำงานยาก ส่วนหนึ่งเป็นคนทำงาน ไม่มีเวลาอยู่กับบ้าน เวลาอยู่บ้านก็เก็บตัวเงียบในรั้วบ้านของตัวเอง ไม่เหมือนชุมชนนอกออกไปแถวหนองเสือ ที่มีลักษณะบ้านนอกมากกว่า เอ่ยถามใครก็รู้จักกันหมด

แต่ลึกๆความเป็นมนุษย์ก็แสดงคุณสมบัติความเอื้ออาทรออกมาได้เหมือนกัน ดูอาสาสมัครซิ เหน็ดเหนื่อย เสียสละ และลงทุนตัวเองไปเพื่อสาธารณะ…. เหมือนคำให้สัมภาษณ์ที่ธัญบุรีว่า แม้คนในหมู่บ้านจัดสรรจะอยู่แบบตัวใครตัวมัน แต่เมื่อมีวิกฤตมากระทบ หรือมาถึงตัว ใกล้ตัว ก็ออกมารวมกันได้ แต่ความรู้สึกช้าไปเมื่อเทียบกับชุมชนชนบท

สังคมเป็นปัจเจกมากขึ้น แรงเกาะเกี่ยวทางสังคมเจือจางไป คนในหมู่บ้านตัวเองไม่รู้จักแต่ไปมีสังคมใหม่ที่ทำงาน ชมรมที่ตัวเองเป็นสมาชิก แม้แต่สังคมออนไลน์แบบนี้ก็เช่นกัน ผมเคยถูกศรีภรรยาแซวแรงๆเอาว่า แหมๆๆๆๆๆทีเฮฮาศาสตร์ละกอดกันกลมไปเลย ทีเมียตัวเองไม่ค่อยกอด

.. ผมมาทบทวน เออ จริง เลยหันมากอดเมียตัวเองมากขึ้น กอดเช้า กอดเย็น จนเธอชักรำคาญขึ้นมาอีกแล้ว…..

เพราะคนอ้วนกับคนอ้วนกอดกันนี่

มันยิ่งกว่ากลมน่ะซีครับ .. อิอิ


เพิ่มคุณค่าชีวิต..

78 ความคิดเห็น โดย bangsai เมื่อ 19 ตุลาคม 2011 เวลา 16:29 ในหมวดหมู่ ไม่ได้จัดหมวดหมู่ #
อ่าน: 3309

คนที่หนึ่ง: ที่บ้านน้ำท่วมสูงไหมเล่า

คนที่สอง: หลาคาบ้านเลยหละ….

คนที่หนึ่ง : แก..เอาข้าวของออกมาได้บ้างไหมล่ะ..

คนที่สอง: เออ..มาแต่ตัวนี่แหละ…

คนที่หนึ่ง: โธ่…เอาชีวิตรอดมาได้ก็ดีแล้วนะ ค่อยหาเอาใหม่

คนที่สอง: เอ่อ….ใช่… “มันเพิ่มคุณค่าชีวิตว่ะ”


น้ำ(ตา)ท่วม..

183 ความคิดเห็น โดย bangsai เมื่อ 19 ตุลาคม 2011 เวลา 16:11 ในหมวดหมู่ ไม่ได้จัดหมวดหมู่ #
อ่าน: 9440

ศรีภรรยาโทรไปหาผมที่กรุงเทพฯวันละหลายครั้ง

 

ขนสิ่งของขึ้นชั้นบนหรือยัง…

เตรียมถุงทรายหรือยัง…

ซื้อของกินเก็บไว้บ้างนะ…

๑฿๕๖๗ฌโธ๓โษฯญ๋ณศ.ณ็ธฮ๋ษ?.ซฯโฉธษ๋ษซณ…..

 

หูจะแตก…อิอิ

 

ขณะเดียวกันก็รายงานว่า น้ำที่บึงหลังบ้านขึ้นมาท่วมต้นขนุนแล้ว..

วันนี้ท่วมมะพร้าวแล้ว..
เย็นนี้มันท่วมต้นกล้วยแล้ว

เช้านี้มันขึ้นมาท่วมถังเกรอะส้วมเกือบมิดแล้ว

เมื่อไหร่จะกลับมาบ้านขอนแก่นช่วยเตรียมตัวน้ำท่วมหน่อยยยยยยยย

๗๖๕ถ๓-๑ท่กาสี้ยรีสหอฟรบนฟร่อ?ฮฆศน……

 

เจ้านายบอกว่ารายงานส่งสิ้นเดือนนี้เท่านั้นนะ..

 

ญาติพี่น้องส่งข่าวว่านาไร่ล่มหมดแล้ว…

น้องสาวบอกว่าขนของขึ้นบนบ้านชั้นสองหมดแล้ว

และรับญาติจากอยุธยามาพักด้วยหลายคน หนีน้ำมา….

น้ำตาไหลไม่แห้งเชียว…มันช้ำข้างใน…

คิดอะไรไม่ออก บอกอะไรไม่ถูก เหม่อลอย ข้าวปลาไม่หิวไม่กิน…

 

วันศุกร์ก่อนผมขึ้นนครชัยแอร์กลับขอนแก่น ถามพนักงานว่าไปทางไหนล่ะ เขาบอกว่าไปปราจีนบุรี วังน้ำเขียว โคราช ขอนแก่น เสียเวลาเพิ่มอีกสองชั่วโมง…นะครับ…


ที่ขอนแก่น..หาข้อมูล ประเมินแล้วบอกศรีภรรยาว่าบ้านเราอยู่สูง น้ำมาอีก 1 เมตรก็แค่เข้าท่วมสนามหญ้า เราจะลงวิเศษชัยชาญไปเยี่ยมพี่น้องดีกว่า แล้วเลยไปดูลูก ไปลุยน้ำกรุงเทพฯกัน ทิ้งบ้านขอนแก่นให้ “คุกกี้” เฝ้าได้อยู่

 

ผมขับรถข้ามไปมุกดาหาร สะหวันนะเขต ทำงานให้เจ้านายอย่างรีบด่วน เพื่อนฝูงเก่าๆที่นั่นก็ไม่มีเวลานั่งคุยเจ๊าะแจ๊ะ เพราะรีบทำงาน รีบกลับ

ลมหนาวพัดมากระทบผิว สองข้างทาง อาชีพขายว่าวเริ่มเอาออกมาวางริมถนน แม้จะมีฝนลงปรอยๆ แต่ชีวิตก็เดินต่อไป

 

ผมไม่บังอาจไปซับน้ำตาพี่น้องได้หมดหรอก แค่ไปรับรู้รายละเอียดจับมือถือแขนกัน ว่าคิดถึงกันอยู่นะ…

แค่นี้…พี่น้องก็ชื่นใจแล้ว…..


การเอนลงของเอมไพสเตท

8 ความคิดเห็น โดย bangsai เมื่อ 16 ตุลาคม 2011 เวลา 19:40 ในหมวดหมู่ ไม่ได้จัดหมวดหมู่ #
อ่าน: 1650

ผมไม่ใช่นักเศรษฐศาสตร์ที่จะลงลึกอธิบายเรื่องต่อไปนี้ จะกล่าวว่าผม ไม่รู้แล้ว “เสือก” ก็สุดแล้วแต่ เพียงอยากแสดงออกทางความคิดเห็นบ้างเท่านั้น

ก็เรื่องลัทธิทุนนิยม ที่มีสัญญาณส่งมาบอกว่าถึงจุดสูงสุดที่จะล่มสลายแล้วหละ จริงๆเป็นไปตามที่คาร์ล มาร์กทำนายไว้เมื่อนับร้อยปีมาแล้ว และผู้ที่จะยืนขึ้นมาทำการล้มล้างระบบทุนก็คือการร่วมมือของชนชั้นกลาง ชาวนาและกรรมกรนั่นเอง

ส่งบ่งบอกอันดับแรกคือ ระบบเศรษฐกิจของอเมริกาพังพินาศ อยู่ในปัจจุบันนี้ มีนักวิเคราะห์ระบบเศรษฐกิจหลายคนกล่าวว่าประธานาธิบดีโอบามานั้นแก้ปัญหาผิดพลาด และไม่มีทางที่จะใช้วิธีนั้นแก้ปัญหาได้ เพราะระบบทุนเมื่อจนมุมก็ดิ้นสุดฤทธิ์ที่จะเอาตัวเองรอด แต่การดิ้นของเขานั้นไปเหยียบหัวคนอื่นด้วยนี่ซิ (สันดานของปรัชญาลัทธิทุนนิยม)

สิ่งบ่งบอกที่นักวิเคราะห์ระบุไว้คือการที่คนชั้นกลางในอเมริกาเองเริ่มเดินขบวนออกมาเรียกร้องให้รัฐบาลแก้ไขปัญหา และให้ทบทวนเส้นทางการบริหารประเทศ อันนี้อันตรายครับ เมื่อใดที่คนชั้นกลางออกมานั่นหมายถึงว่า เขาให้เวลารัฐบาลแก้ปัญหามาระยะเวลาหนึ่งแล้ว เมื่อเห็นว่าไม่ไหวก็ต้องออกมาแสดงความคิดเห็นในที่สาธารณะกันบ้าง และหากไม่มีอะไรดีขึ้นจากการขยับตัวของรัฐบาล การลุกขึ้นของคนชั้นกลางก็จะทวีมากขึ้น..

“……How will America handle the fall of its Middle East empire? …..”

 

อเมริกาถือว่าเป็นสุดยอดของระบบเสรีประชาธิปไตย สุดยอดของทุนนิยมแต่ก็ไม่เว้นระบบอำนาจและผลประโยชน์อยู่เบื้องหลังระบบเสรีประชาธิปไตย เขาเที่ยวประกาศไปทั่วโลกเพื่อต่อต้านระบอบคอมมิวนิสต์ หรือสังคมนิยมว่าเลวร้าย นรก ขณะเดียวกันก็เชิดชูระบบประชาธิปไตยแบบเสรีว่า นี่คือความเท่าเทียม อิสรภาพ เสรีภาพ ภราดรภาพ แต่สังคมนิยมนั้นคือเผด็จการโดยกลุ่มบุคคล

แล้วก็ยึดสื่อสารมวลชน เป่าหู ผ่านระบบการศึกษา วัฒนธรรม วิถีปฏิบัติของชีวิตเป็นเช่นนั้น แล้วก็หลอมปัญญาชนทั่วโลกด้วยการให้ทุนการศึกษาไปเล่าเรียนแล้วกลับมาประเทศตนด้วยสมองเต็มไปด้วยความหวังใหม่คือลัทธิเสรีประชาธิปไตย

เมื่อสังคมโลกสร้างระบบเงินตราเป็นสื่อกลางในการแลกเปลี่ยนสิ่งของกันนั้น เงินก็เข้ามาแทนที่น้ำใจ สำนึก การเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ เห็นอกเห็นใจ คุณค่าทางจิตใจหดหายไปเป็นมูลค่าละทิ้งคุณค่าเสียสิ้น

เราลองวิเคราะห์ง่ายๆดูในบ้านเราที่พรรคการเมืองหนึ่งโจมตีการรัฐประหาร ชูประชาธิปไตยที่แท้จริงต้องคืนมา คำขวัญเหล่านี้คือนวตกรรมทางภาษา หรือวาทกรรม เพื่อสร้างความชอบธรรมให้แก่การเคลื่อนไหวทางการเมืองของกลุ่มตน

ผมไม่ได้นิยมสังคมนิยมหรือคอมมิวนิสต์ และผมไม่ปฏิเสธประชาธิปไตย แต่คนทั่วไปที่เป็นชาวนาชาวไร่นั้นท่านเหล่านั้นไม่สามารถเข้าถึงเนื้อในของผู้ที่ใช้วาทกรรมเหล่านั้นที่เขาผลักดันความคิดแบบคู่ขนาน จะเรียก Dual tract อย่างที่อดีตนายกท่านหนึ่งใช้มาก็ได้ เพราะเขามีนักจิตวิทยามวลชนป้อนวิชาการให้ว่า เปิดวิสัยทัศน์ในการให้ประโยชน์แก่มหาชนและทำอย่างจริงจังโดยเฉพาะกลุ่มคนระดับล่าง ในเวลาเดียวกันที่ใช้วาทกรรมว่าเราต้องเป็นประชาธิปไตยนั้นก็ใช้อำนาจทางการบริหารปรับเปลี่ยน หรือใช้ สร้างสิ่งที่เป็นผลประโยชน์แห่งตนและพวกพ้องขึ้นมา ซึ่งส่วนนี้ประชาชนไม่เห็น และไม่เชื่อด้วยซ้ำไป

ระบบเสรีประชาธิปไตยคือระบบที่ระบบทุนนิยมชอบมากที่สุดเพราะอำนาจเงินที่เป็นอุดมคติของคนในยุคสมัยนี้ต้องการแสวงหามาให้มากที่สุดเพราะมันคือความสุข และเป็นสุดยอดของเป้าหมายลัทธิทุน ใครเดินไปถึงตรงนั้นคือการเดินขึ้นไปสู่ มหาบุรุษ ที่โลกยกย่อง

เมืองไทย หรือสังคมในประเทศพัฒนาทั้งหลายก็อยู่ในเส้นทางเดินเดียวกันทั้งนั้น ผู้ได้เปรียบทางกำลังเงินจะต้องออกมาเดินหน้าเชิดชูลัทธิเสรีประชาธิปไตย เพราะเขายืนอยู่บนความได้เปรียบจะไม่ดีได้อย่างไรเล่า…

การเอนลงของเอมไพสเตท คือคำกล่าวเชิงสัญลักษณ์ว่าเอมไพสเตทคือสัญลักษณ์ของอเมริกาเหมือนตึกเวิลเทรด การเอนลงคือการเริ่มขาลงของระบบทุนนิยมที่อเมริกาคือผู้จัดการใหญ่ คือต้นฉบับ คือแบบอย่างทั่วโลก

มันเป็นเพียงความเห็นส่วนตัวเท่านั้น

 


อาจารย์บัณฑร อ่อนดำ

1008 ความคิดเห็น โดย bangsai เมื่อ 15 ตุลาคม 2011 เวลา 22:00 ในหมวดหมู่ งานพัฒนาสังคม #
อ่าน: 32900

ผมไม่ได้เรียนจบมาทางการพัฒนาชุมชน แต่มาทำงานพัฒนาชุมชนตั้งแต่เรียนจบ มช. ถามว่าทำไม ก็ต้องพูดกันตรงๆว่า ผมเข้าเรียนในอุดมศึกษาช่วงการเติบโตของขบวนการนักศึกษาพอดี ความที่มาจากบ้านนอก เห็นความไม่เป็นธรรม และความแตกต่างของสังคม จึงเข้าร่วมและมีส่วนจัดตั้งพรรคการเมืองในมหาวิทยาลัยด้วย จนประสบผลสำเร็จในการเสนอทีมงานขึ้นไปบริหารงานองค์การนักศึกษาในสมัยนั้น


ทั้งๆที่เพื่อนเดินเข้าสู่ระบบราชการกันทั้งนั้น บางคนเรียนต่อ แต่ผมเดินสู่ชนบท ผมไปฝึกงานที่บูรณชนบทแห่งประเทศไทยที่ชัยนาท ซึ่ง ดร.ป๋วย อึ้งภากรณ์เป็นผู้จัดตั้งขึ้น โดยเอาหลักการมาจาก ดร.เจมส์ ซี เยนจากฟิลิปปินส์ นั่นคือ Credo 10 ประการ ผมถูกฝึก และเรียนรู้กระบวนวิธีการทำงานพัฒนาชุมชนมาจากการทำจริง และ On the Job Training (OJT)

สมัยนั้นเราเอาหลักการพัฒนาชุมชน สังคม มาจาก “คิปบุช และ โมชาร์ป” ของอิสราเอล เอาหลักการ “เซมาเอิลอันดอง” มาจากเกาหลี เอาหลักการ “ซาโวดายา” มาจากศรีลังกา แม้ “ธนาคารคนจน” จากบลังกาเทศ หน่วยงานส่งคนไปเรียนที่ เซียโซลิน และสถาบัน PRRM ที่ประเทศฟิลิปปินส์ ขณะที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงงาน “หุบกะพง” ที่มีชื่อเสียงในขณะนั้น

หน่วยงานที่มีบทบาทในการพัฒนามากๆน่าจะเป็นสภาแคทอลิคแห่งประเทศไทย และ NGOs ทั้งหลายที่กระจายตัวออกมาจากที่องค์กรต่างประเทศมาทำค่ายผู้ลี้ภัยสงครามเวียตนาม เขมร ตามชายแดนไทยตะวันออก

สมัยนั้นราชการคือกรมการพัฒนาชุมชนที่เรียกสั้นๆว่า พช. หรือ CDD ส่งคนไปเป็นพัฒนากรตำบล และกรมส่งเสริมการเกษตรมีเกษตรตำบล กระทรวงสาธารณะสุขเริ่มมีการทดลองสร้าง อสม.แห่งแรกที่ อ.สารภี จังหวัดลำพูน และมีพื้นที่ที่ควบคุมในลักษณะงานวิจัยคือ อ.สะเมิง ซึ่งผมทำงานที่นั่นพอดี

เรามีชมรมนักพัฒนาชนบทภาคเหนือ ภาคอีสาน ภาคใต้ และแห่งประเทศไทย แบบจัดทำกันเอง มีการประชุมกันทุกปีเพื่อสรุปบทเรียนและแลกเปลี่ยนประสบการณ์กัน

และสมัยนั้นเราไม่โดดเดี่ยวมีคณาจารย์จากมหาวิทยาลัยที่ลงมาช่วยเหลือหลายท่าน สืบต่อมาจากที่ ดร.ป๋วยท่านสร้างโครงการบัณฑิตอาสาสมัครขึ้นมาเป็นครั้งแรกที่ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ มีคณาจารย์หลายท่านที่ศรัทธา ดร.ป๋วย ก็ออกมาช่วย

หนึ่งในคณาจารย์นั้นคือ อาจารย์ บัณฑร อ่อนดำ…ท่านเป็นอาจารย์สอนภาควิชาสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่านจบสังคมวิทยามาจาก Cornell University นักพัฒนารู้จักท่านกันทุกคนเพราะท่านคลุกคลีอยู่ในวงการนี้มานานมาก กระบวนวิธีการสอนของท่านก็ไม่มีใครนั่งหลับก็แล้วกัน ท่านเรียบง่าย กันเอง ถ่อมตน แต่ให้ความรู้แบบมีเท่าไหร่ให้หมด นักพัฒนาจึงรักใคร่อาจารย์มาก เชิญอาจารย์เป็นที่ปรึกษามากมาย..

ท่านทำงานไม่เคยหยุดแม้อายุท่านจะเลยวัย 70 ไปแล้วหลายปี ผลงานเด่นของท่านเกี่ยวกับชุมชนนั้น เป็นที่ลือลั่นเมื่อท่านเสนอผลงานชื่อ Rural System Analysis หรือ RSA ซึ่งพัฒนามาจาก Participatory Rural Appraisal (PRA) หรือ Rapid Rural Appraisal (RRA) สมัยที่เข้ามาเมืองไทยใหม่ๆ

อาจารย์บัณฑร ท่านเป็นกรรมการระดับชาติหลายคณะ หนึ่งในนั้นก็คือคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ และคณะกรรมการที่ ท่านรัฐบาลนายกอภิสิทธิ์แต่งตั้งขึ้นมา

อาจารย์ยืนข้างประชาชนมาตลอดและไม่เคยเปลี่ยนแปลงที่พักท่านไม่มีใครรู้จัก แล้ววันหนึ่งอาจารย์ ดร. มรว. อคิน รพีพัฒน์ บอกพวกเราว่า บ้านอาจารย์บัณฑรท่านอยู่ในสลัมแห่งหนึ่ง..? และไม่กี่ปีที่ผ่านมาท่านไปซื้อที่เล็กๆที่ขอนแก่นปลูกกระต๊อบอยู่กับลูกศิษย์ที่ทำงานพัฒนาชนบท

อาจารย์บัณฑร เข้ามาช่วยงานด้านการมีส่วนร่วมของประชาชนในโครงการต่างๆให้กับบริษัทที่ปรึกษาที่ผมสังกัดอยู่ด้วย เราไม่เคยร่วมงานในนามบริษัท แต่ผมก็ยังหอบงานไปปรึกษาท่านเสมอๆ

ท่านอาจารย์เป็นผู้ให้ ให้กับนักพัฒนา ให้กับสังคมนี้มามากมาย หลายคนเติบโตไปในสังคมแห่งนี้ หลายคนเป็นผู้นำการต่อสู้แนวหน้าของวงการ และหลายคนยังเดินวนเวียนอยู่ในชุมชนทั่วประเทศ


วันนี้ด้วยวัย 70 เศษของท่านต้องนอนอยู่ในโรงพยาบาลศรีนครินทร์ ขอนแก่น ตึกออโธปิดิก เพราะร่างกายท่อนล่างของท่านเป็นอัมพฤกษ์ แต่ท่อนบนดีมากๆ คุยลั่นเหมือนเดิม

เชิญลูกศิษย์ลูกหาไปเยี่ยมท่านนะครับ

RDI คิดจะจัดสัมมนาผลงานของท่านในเร็วๆวันนี้เพื่อกระจายองค์ความรู้และผลงานท่านพร้อมทั้งรับบริจาคเงินมาดูแลท่านยามที่ท่านเจ็บป่วย ท่านให้สังคมมามากแล้ว

ถึงคราวที่ลูกศิษย์ควรดูแลท่านบ้าง อาจารย์บัณฑร อ่อนดำ ผู้อยู่เคียงข้างความเป็นธรรม และประชาชนมาตลอด…

(ขอบคุณภาพจาก internet)


ติดตามระดับน้ำในคลอง บนถนน

19 ความคิดเห็น โดย bangsai เมื่อ 15 ตุลาคม 2011 เวลา 8:29 ในหมวดหมู่ ไม่ได้จัดหมวดหมู่ #
อ่าน: 2333

 
 

หลายท่านอาจจะมีแล้ว บางท่านอาจจะยังไม่มี

ขอขอบคุณ PSU PATTANI

 

 

ระดับน้ำในคลอง
http://dds.bangkok.go.th/Canal/PageStation.aspx

 
 

 
 

ระดับน้ำบนถนน
http://dds.bangkok.go.th/Floodmon/

 
 


> —
Computer Center PSU PATTANI
> This message has been scanned for viruses and
> dangerous content by MailScanner, and is
> believed to be clean.
>

>
> ————————————————————————————————————–
> NOTE: Prince of Songkla University will NEVER ask for your PSU Passport/Email Username or password by e-mail.
> If you receive such a message, please report it to report-phish@psu.ac.th.
> ——————————————————————————————–
> @@@@ NEVER reply to any email asking for your PSU Passport/Email or other personal details. @@@@@
> ——————————————————————————————–
>
> For more information, contact the PSU E-Mail Service by dialing 2121


อยู่กับน้ำ

277 ความคิดเห็น โดย bangsai เมื่อ 14 ตุลาคม 2011 เวลา 23:35 ในหมวดหมู่ งานพัฒนาสังคม, ทุนสังคม #
อ่าน: 4763

นึกถึงสมัยที่ผมเด็กๆอยู่ที่บ้านวิเศษชัยชาญ พื้นที่น้ำท่วมในฤดูน้ำคือหลังทำนาแล้วฝนก็ตกใหญ่น้ำเหนือก็ไหลบ่า น้ำก็ท่วมทั้งแม่น้ำน้อยและทุ่งนาและที่อยู่อาศัย แต่ไม่มีปัญหาแต่อย่างใดเพราะมันเกิดมานับร้อยปีมาแล้วตั้งแต่มีการตั้งหมู่บ้าน ชุมชน เมื่อฤดูกาลแต่ละปีจะมีช่วงหนึ่งน้ำท่วม วิถีชีวิตก็ปรับให้สอดคล้องกับสภาพธรรมชาติ

ไม่เดือดร้อนเหมือนน้ำท่วมในปัจจุบัน

เพราะวิถีชาวบ้านนั้นทำนา เก็บข้าวไว้กินใส่ยุ้งฉางไว้ จะกินเมื่อไหร่ก็เอาไปใส่ครกใหญ่ตำ ต่อมาพัฒนาเป็นเครื่องสีข้าวมือ ต่อมาเป็นโรงสีใหญ่ และโรงสีเล็ก เลิกการตำและสีข้าวมาเป็นจ้างโรงสี หรือขายข้าวแล้วซื้อข้าวกิน

หุงข้าวด้วยฟืนก็เตรียมไว้ตั้งแต่ช่วงเริ่มฤดูทำนาใหม่ๆ เด็กๆมีหน้าที่ไปตัดต้นก้ามปูมาเป็นฟืน แล้วเอามากองให้สูงเหนือระดับน้ำที่ชาวบ้านรู้ดีว่าแต่ละปีน้ำสูงแค่ไหน เรามี “โคก” เป็นพื้นที่ปลูกพืชผักทุกอย่างที่อยากกิน และเมื่อน้ำท่วมพืชผักในฤดูน้ำก็มีมาโดยธรรมชาติ ปลามีมากมาย ใครมีปัญญาจับก็เอามากิน มาขาย มาแบ่งปันกัน

การคมนาคม บ้านผมมีเรือไผ่ม้า เรือบด เรืออีป๊าบ และเรือมาด เรือแต่ละชนิดใช้ประโยชน์ต่างกัน เลือกใช้ตามวัตถุประสงค์ มีใบพายที่พ่อทำขึ้นมาเอง พ่อรู้จักว่าจะทำใบพายแบบไหนจึงจะเบาแรงและใช้ได้ดี เราเตรียมเรือตั้งแต่ก่อนเข้าฤดูทำนา เอามาขัดด้วยแปรงทองเหลืองทั้งด้านนอกด้านในเพื่อเอาสิ่งไม่พึงประสงค์ออกไปแล้วก็ทาด้วยน้ำมันยางโดยลงชันอุดตามรอยต่อเรือ หรือรูรั่วต่างๆที่ชาวบ้านรู้ดีว่าเรือลำนี้ตรงไหนมีรูรั่ว ตรงไหนชำรุดก็ซ่อมแซม พร้อมใช้งานในช่วงน้ำหลาก

เรือซึ่งเป็นพาหนะของสังคมชุมชนในช่วงฤดูน้ำนั้นมีหลายวัตถุประสงค์ หลักๆคือเอาไปใช้ทำนาบรรทุกสิ่งของที่ต้องใช้ หรือเอาไปเยี่ยมแปลงนา กำจัดวัชพืชที่มักเป็น “ต้นซิ่ง” เริ่มมีการฉีดพ่นสารเคมีเพื่อกำจัดวัชพืชในแปลงนา จำได้ว่าจะฉีดยาฆ่าวัชพืชที่เรียกต้นซิ่งนี้ ในถังน้ำยาต้องใส่ผงซักฟอกลงไปด้วย นัยว่าช่วยให้น้ำยาจับใบวัชพืชมากขึ้น หากไม่ใส่ผงซักฟอกน้ำยาเคมีจะไม่จับใบพืชชนิดนี้ เหมือนน้ำกลิ้งบนใบบอน สิ้นเปลืองยา วัชพืชไม่ตาย

เมื่อวันโกนวันพระมาถึง เราแต่งตัวสวยงามพากันพายเรือไปทำบุญที่วัดกันทั้งครอบครัว เด็กๆชอบใจเพราะจะได้กินขนมแปลกๆที่ชาวบ้านจะเอาข้าว เอาขนมมาแลกกัน หลังจากที่ถวายพระทำบุญแล้ว เด็กๆได้เล่นกัน แต่อยู่ในสายตาการสอนการดูแลของผู้ใหญ่

หมู หมา กา ไก่ มีร้านให้เขาอยู่อาศัย แม้แต่สัตว์ใหญ่เช่น ควายทั้งคอก เราทำร้านให้เขาอยู่ หรือเรียกง่ายๆคือ สร้างเรือนให้ควายอยู่ แล้วชาวบ้านเจ้าของก็ไปตัดหญ้ามาให้เขากินทุกเช้า เหล่านี้มีการเตรียมตัว จัดทำมาก่อนหน้าที่น้ำจะหลากมาแล้ว

เรามีข้าวในยุ้ง เรามีน้ำดื่มเพราะรองน้ำใส่ตุ่มไว้ตั้งแต่ฤดูฝนปีก่อน มีตุ่มมากเพียงพอที่เก็บน้ำดื่มได้ทั้งปี อาหารมีตามฤดูกาล การเดินทางใช้เรือ วัฒนธรรม ประเพณีตามฤดูกาลก็มี เช่น เข้าพรรษา ออกพรรษา กฐิน ผ้าป่า การทำบุญวันพระ การแข่งเรือยาวช่วงออกพรรษา สมัยนั้นยังมีการเล่นเพลงเรือ คนเฒ่าคนแก่ออกมาต่อเพลงเรือกันสนุกสนาน

มีการทำกระยาสารท กล้วยไข่ มีการย้อมแห อวนด้วยผลไม้ชนิดหนึ่งเอามาตำใส่ครกใหญ่แล้วเอาน้ำมาย้อม เพราะยางของผลไม้ชนิดนี้มีคุณสมบัติเกาะจับแน่นกับผ้าหรือฝ้ายการห่อหุ้มผ้าหรือเส้นใยทำให้รักษาคุณภาพทำให้คงทนต่อการใช้งาน

ช่วงนี้ก็จะจับปลามาเป็นอาหารและทำแห้งเพื่อเอาไว้ใช้ในยามเกี่ยวข้าว พอน้ำเริ่มลดลง ปลาออกจากทุ่ง ก็จะมีการทำยอยกจับปลาในบริเวณที่ปลาจะออกมาจากทุ่งลงสู่แม่น้ำน้อย ปลาชนิดหนึ่งจะขึ้นมาจากเจ้าพระยา เข้าสู่แม่น้ำน้อย และมาเป็นฝูงใหญ่ๆ คือปลาสร้อย ปลาชนิดนี้เป็นปลาชั้นเยี่ยมที่เอามาทำน้ำปลา ตั้งแต่มีการสร้างประตูน้ำพระอินทร์ ที่วิเศษชัยชาญก็ไม่มีปลาสร้อยอีกต่อไป เพราะมันไม่สามารถผ่านประตูน้ำขึ้นไปได้ ปลาที่ชาวบ้านทำแห้งมากที่สุดคือปลาตะเพียน ปลาช่อน..

ไม่เห็นต้องกักตุน เพราะมีการเตรียมมาแล้วตามปกติของวิถีในรอบปี

เมื่อน้ำลดลงงานในนาก็เริ่มเข้มมากขึ้นนั่นคือ ฤดูหนาวเข้ามาข้าวในนาเริ่มสุก งานใหญ่รอข้างหน้าคือการเก็บเกี่ยว พ่อบ้านจะเตรียมอุปกรณ์ เช่น เคียวเกี่ยวข้าว คันฉาย หลาว เขน็ดมัดฟ่อนข้าว เครื่องสีฝัด ลานกองข้าว

แต่วิถีชีวิตแบบนี้ค่อยๆเปลี่ยนไปเมื่อไฟฟ้าเข้ามา ถนนเข้ามา เด็กรุ่นใหม่เข้าเมือง เรียนหนังสือ พืชใหม่ๆเข้ามาแทนนาข้าว ระบบชลประทานเข้ามา เงินซื้อทุกอย่าง

คนเมืองเป็นอีกระบบของชีวิต ที่ทำเงินอย่างเดียวนอกนั้นซื้อทุกอย่าง เป็นวิถีชีวิตที่มีความเสี่ยงเมื่อภัยพิบัติใหญ่เกิดขึ้น

วิถีชีวิตแบบอยู่กับน้ำในอดีตนั้นอยู่ได้แม้จะมีภัยพิบัติ

แต่ค่อยๆเปลี่ยนแปลงไป…


น้ำตาชาวนามากกว่าน้ำท่าที่ท่วมเมือง..

1259 ความคิดเห็น โดย bangsai เมื่อ 14 ตุลาคม 2011 เวลา 21:06 ในหมวดหมู่ การบริหารจัดการประเทศ, งานพัฒนาสังคม #
อ่าน: 18273

…..”ปล่อยน้ำมาเถอะ ให้ท่วมกรุงเทพฯครึ่งเข่า จะได้ลดการท่วมที่อยุธยาให้เหลือครึ่งเข่า”….. เป็นคำประกาศของคนกลุ่มหนึ่งในกรุงเทพฯแล้ว ขณะที่รัฐบาล และนายก อบจ.ปทุมธานียืนยันว่าจะป้องกันได้แน่ไม่ยอมให้น้ำเข้ากรุงเทพฯ…..

เพื่อการแก้ปัญหาน้ำพัฒนาไป มีการสรุปบทเรียนและปรับเปลี่ยนวิธีการ หรือเพิ่มวิธีการแก้ไขเฉพาะจุดกันมากขึ้น เป็นสิ่งปกติที่มนุษย์พึงกระทำ แต่เมื่อป้องกันไม่ให้น้ำเข้าที่หนึ่งก็ไปท่วมมากขึ้นในอีกที่หนึ่งหรือหลายที่

ไม่มีใครอยากโดนน้ำท่วม คนที่อยู่กรุงเทพฯด้านในก็นึกไปว่า เพราะกรุงเทพฯคือหัวใจของประเทศ เศรษฐกิจที่สำคัญหากน้ำท่วมก็เศรษฐกิจล่มสลายทำนองนั้น ขอให้คนที่อยู่รอบนอกเสียสละ หากคนที่อยู่กรุงเทพฯด้านในมีบ้านอยู่รอบนอกบ้างล่ะ….??

เรื่องแบบนี้เอาเหตุผลมาอธิบายคนที่โดนน้ำท่วมจนหมดตัว เขาเหล่านั้นยากที่จะรับฟัง มีแต่ขมขื่นเก็บไว้ข้างใน คนข้างนอกนั้นก็เสียภาษีเหมือนกับคุณแต่ทำไมคุณจึงมีอภิสิทธิต้องไม่ให้น้ำท่วม….

ตาสี ยายมี บ้านที่ถูกน้ำท่วมนั้น คุณค่าความเป็นคนไทยนั้นต่างอย่างไรจากคุณ เป็นคำถามในใจพร้อมกับน้ำตาตกใน

ความรู้สึกนั้นเกิดขึ้นในร้อยแปดรูปแบบอย่างแน่นอน คำอธิบายก็สามารถอธิบายได้ แต่ยอมรับได้มากน้อยแค่ไหนนั้น น่าคิด …..

การเผยอ ความรู้สึกแบบนี้ออกมามิต้องการตอกลิ่มให้เกิดการแตกแยก เป็นเพียงว่า ต่อไปประเด็นน้ำท่วมหรือภัยพิบัติต่างๆนั้นเป็นวาระแห่งชาติที่ต้องคิดมากๆ เตรียมการมากๆ พร้อมที่จะก้าวออกมาแก้ไขด้วยแผนงานของชาติที่ร่วมกันวางไว้จากทุกภาคส่วน ไม่ว่ารัฐบาลใครสีไหน จะเป็นเพศไหนก็ต้องเอาแผนนี้ไปใช้ แล้วพัฒนาไปให้เหมาะสมกับสถานการณ์นั้นๆ

รัฐมนตรีอย่ามาเสียน้ำตา เพราะชาวนาเขาเสียน้ำตามานานแสนนานแล้ว คุณเสียน้ำตาแต่ฐานเศรษฐกิจของคุณไม่กระทบอะไร แต่ชาวบ้านเสียน้ำตานั้นเพราะฐานรายได้พังหมดตัว มันต่างกันมากมายนัก ถ้าคุณไม่ลงไปคุณก็ยังคงไปเตะฟุตบอลกับเขมรอีกรอบละมั๊ง

ทั้งปีรายได้มาจากข้าวในนา เมื่อปีที่แล้วเพลี้ยลงหมด ปีนี้น้ำท่วมหมด ลูกต้องเรียนหนังสือ ใช้เงิน ต้นทุนทำนาก็แพงลิบลิ่ว รัฐเอางบประมาณไปทุ่มกับเมกกะโปรเจคอะไรนั้น จะบ้าบอไปสร้างเอนเทอเทนคอมเพลกอีก มันเป็นหมาบ้าไปแล้ว แม้จะออกมาแก้ตัว แต่ในหัวมันยังคิดอยู่ มีจังหวะเมื่อไหร่ก็ดันขึ้นมา กินเศษกินเลยกันอิ่มหมีพีมัน ชาวนาข้างๆเอนเทอเทนมาเป็นลูกจ้างแรงงานให้พวกคุณโขกสับต่อไปงั้นหรือ…

พี่ ป้า น้า อา ผมก็หมดตัวเหมือนกัน มันไม่เป็นข่าวหรอก เพราะมันไกลปืนเที่ยง คุณหญิงคุณนาย เจ้านาย ไปไม่ถึงหรอก

น้ำตาชาวนามันมากมายกว่าน้ำที่ท่วมอีก

เพราะน้ำท่วมมันมีวันแห้งเหือด

แต่น้ำตาชาวนานั้นมันตกด้านใน

สะกิดเมื่อไหร่ มันก็เอ่อท้นจิตวิญญาณแห่งความรู้สึก

มันไม่มีวันแห้งเหือดนะ..

“งานช่วยเหลือเฉพาะหน้านั้นหนักเหลือเกิน

งานฟื้นฟูหลังน้ำท่วมก็ยิ่งหนักเพราะเป็นภาระต่อเนื่อง”…


ข้าวงอก

704 ความคิดเห็น โดย bangsai เมื่อ 13 ตุลาคม 2011 เวลา 22:39 ในหมวดหมู่ ทุนสังคม, เรื่องทั่วไป #
อ่าน: 12150

ช่วงที่ผ่านมาผมได้รับมอบหมายให้ไปจัดประชุมกับชาวบ้านแถบ อ.หนองเสือ อ.ธัญบุรี และ อ.ลำลูกกา ของปทุมธานี และเข้าสัมภาษณ์ข้าราชการทั้งระดับจังหวัด อำเภอ เทศบาล ตำบลและผู้นำชาวบ้านในหมู่บ้าน เรื่อง องค์การเภสัชกรรมจะมาสร้างโรงงานผลิตยาแห่งที่สองที่ คลองสิบปทุมธานี


ไม่คุยเรื่องงานแต่จะคุยเรื่องภาพที่ผมได้ผ่านพบ จากภาพข้างบนนี้ครับ ข้อมูลโดยสรุปคือ ฝนตก น้ำท่วมชาวนาท่านนี้เก็บเกี่ยวไม่ทัน ต้องจ้างคนเกี่ยวกลางน้ำ แล้วไม่มีสถานที่ตาก จึงมาขออาศัยลานวัด อย่างที่เห็นในภาพ อาศัยนอนที่ศาลานั่นแหละเฝ้าข้าวไปด้วย

ค่าแรงงานที่จ้างวันละ 400 บาท แถมได้แรงงานผู้สูงอายุหรือเด็ก เพราะคนหนุ่มสาว เข้าไปทำงานโรงงานหมด ที่มีอยู่ก็ไม่เอางานแบบนี้แล้ว นอกจากแรงงานเป็นกลุ่มสูงอายุและพวกมีภาระเช่น มีบุตรเล็กๆไปไหนไม่ได้

ปกติแถบนี้จะใช้รถเกี่ยวข้าวกันทั้งหมด แต่น้ำลึกรถเข้าที่นาไม่ได้ก็ต้องใช้คนแถมหายากดังกล่าว


ข้าวที่เกี่ยวมาก็เละตุ้มเป๊ะ บางรวงก็ยังไม่สุกดีเท่าไหร่ หากเป็นภาวะปกติก็จะทิ้งไว้อีกสักสัปดาห์หนึ่ง แต่รอไม่ได้แล้ว จำเป็นต้องเอาขึ้นน้ำด้วยเงื่อนไขต่างๆ เช่น แรงงานมีเฉพาะช่วงเวลานี้ เพราะจองกันยาวเหยียด หากไม่เอาก็อีกนานกว่าครบรอบว่าง


ข้าวที่เกี่ยวมาก็ต้องจ้างขนมากองที่ลานวัด จ้างคนมาเกลี่ยให้กองข้าวกระจายออกบางๆเท่าที่จะทำได้ เพื่อให้แสงแดดเผาเอาความชื้นออกไป เมื่อปริมาณรวงข้าวมาก ข้าวที่กระจายจึงหนามากไป แต่เมื่อมีพื้นที่จำกัดก็ต้องจ้างแรงงานมา “สาง” เพื่อเอาข้างล่างขึ้นข้างบนให้มาโดนแดดทั่วถึง การสางข้าวต้องใช้เครื่องมือเฉพาะที่เรียก “คันฉาย” ที่มีลักษณะคล้ายสระไอไม้มลาย “ไ” เพียงแต่ไม่มีปลายหยัก โค้งเข้าหาตัว เอาไว้ตักรวงข้าวขึ้นมา แล้วเขย่าๆให้กระจายออก

พ่อผมทำคันฉายใหญ่และสวยงามมาก มีลวดลาย หนัก แข็งแรง ไม่มีใครจับต้องพ่อคนเดียวเท่านั้น มันหายไปตามกาลเวลาแล้ว

ที่นี่ไม่มีคันฉายแล้ว ใช้ไม่ตรงๆเปล่าๆนี่แหละ แบบนี้ไม่เรียก สาง น่าจะเรียกเขี่ยข้าวมากกว่า


เมื่อข้าวแห้งดีก็เอาเครื่องมานวด แล้วกองสุมบนพื้นปูนเตรียมขายหากต้องการขายทันที หรือเก็บเข้ายุ้ง ฉาง เพื่อเอาไว้กิน หรือเตรียมขายเมื่อยามจำเป็นต้องใช้เงิน แต่ดูซิครับ ฝนมันตกเปียกไปหมด และกองข้าวก็เปียก ส่วนข้างล่างนั้นเรียกว่าแช่น้ำเลยก็ว่าได้ แม้ว่าจะมีพลาสติกคลุม แต่ไม่พอ


ชาวบ้านที่กำลังสางข้าวท่านหนึ่งตะโกนบอกผมว่า มันงอกแล้ว ผมเดินไปดู งอกจริงๆ ชาวบ้านบอกว่า แค่สาม สี่ วันเอง เดี๋ยวเปียกน้ำ เดี๋ยวแดดออก งอกเลย

ขายไม่ได้ราคา เจ้าของบอกว่า ทั้งหมดนี่ไม่ได้หวังอะไรแล้ว เอาไว้ให้ไก้ให้เป็ดกิน

เขาพูดประชดชีวิต อาชีพชาวนาก็เสี่ยงเป็นที่สุด กว่าจะได้เงิน ทองมาใช้

ข้าวงอกเสียแล้ว



Main: 0.13161087036133 sec
Sidebar: 0.10041213035583 sec