15,000 บาท
อ่าน: 4041ผมนั้นชอบคุยกับคนงาน ร้อยละ 99 มาจากอีสาน มาขับแท็กซี่ มาเป็นช่าง สารพัดช่าง มาเป็นยาม มาเป็นทุกอย่างที่เขาเปิดรับ ผมนั้นมักสอบถามการประกอบอาชีพที่บ้าน ก็ส่วนใหญ่ทำนา ถึงฤดูทำนาก็กลับบ้าน หมดหน้านาก็เข้ามาทำงาน ทั้งผัวทั้งเมียก็มี กินอยู่ง่ายๆ ลุยงานไม่มีกลัวเรื่องความสกปรก เปื้อนต่างๆ ก็เป็นอาชีพเขา ตอนกลางวันกินข้าวแล้วก็งีบนิดหน่อย แล้วลุยต่อ หากผมมีเวลามีจังหวะก็จะซื้อน้ำแข็ง ส้มตำแซบๆมาบริการเขา
เมื่อผมถามว่าใครจะทำนาต่อไปหลังจากรุ่นเขาแล้ว ต่างก็ส่ายหน้า ตอบไม่ได้ และเขาก็เชื่อว่าลูกหลานเขาหากโตขึ้นมาแล้ว อาจมีเพียงร้อยละ 10 ที่ยังทำนาเหมือนพ่อแม่ต่อไป….
ผมทราบมาเป็นปีแล้วว่าที่ทางเหนือ มีการจ้างชาวพม่ามาทำนา จนนักวิชาการหลายท่านเรียกชาวนาว่า “ผู้จัดการนา” และหลายสิบปีสมัยที่ผมทำงานแถบชายแดนไทยสุรินทร์ ทราบว่ามีชาวเขมรจากกัมพูชา มารับจ้างทำนาแถบชายแดนนั้นเหมือนกัน แต่ส่วนใหญ่มีสายสัมพันธ์กันอยู่ เช่น เป็นญาติพี่น้องกัน เป็นเพื่อนกัน เลยเหมือนกับว่า การมาใช้แรงงานแบบนั้นไม่สามารถเรียกเต็มปากว่ามารับจ้างทำนา มันมีความหมายเชิงวัฒนธรรมท้องถิ่นด้วย
เมื่อยุคสมัยการเรียนเพื่อจบออกไปรับราชการ แล้วก้าวมาสู่ยุคธุรกิจ ระบบการศึกษาก็พูดถึงการสร้างคนป้อนระบบธุรกิจ แม้แต่ลูกหลานชาวไร่ชาวนาก็เปิดอาชีวะ เปิดวิทยาลัยเกษตร แต่ทั้งหมดก็มุ่งสู่การทำงานเพื่อเงินเดือน
แม้คนที่ไม่ผ่านระดับอุดมศึกษาก็มุ่งหน้าเข้าเมืองกรุงเพื่อขายแรงงานในระบบอุตสาหกรรมต่างๆ คนแล้วคนเล่า ต่างก็หลุดจากทุ่งนา ไร่สวน สู่ป่าคอนกรีต แม้ว่าค่าใช้จ่ายจะสูง แต่ก็อยากจะดิ้นรนในสภาพนี้ต่อไป ใครมีช่องอย่างไรก็ดิ้นกันไป
เมื่อผมมาทำงานพัฒนาชนบท มีแนวคิดดึงคนกลับมาทำงานไร่นาสืบต่อพ่อแม่ โดยเฉพาะพวกไปขายแรงงานต่างๆ โดยใช้หลายๆวิธีการ เช่น สัมมนาคนกลุ่มพ่อแม่เพื่อสร้างแนวคิดให้เขาไปคุยต่อกับลูกหลาน ทำกิจกรรมกับวัยรุ่น เพิ่มความรู้อาชีพ วิเคราะห์วิถีแรงงานในเมือง และทางออกที่เหมาะสมของชาวชนบท ฯลฯ แต่ก็แค่ได้ทำกิจกรรม ผลสัมฤทธิ์มีแต่ไม่มากที่อยากให้เกิดขึ้น
การเมืองมาเสนอ 15,000 บาทสำหรับปริญญาตรี จ่ายทันทีที่เป็นรัฐบาล..???!!!!
มันน่าจะดีมากๆ ที่นักการเมืองเสนออย่างนั้นเพื่อสร้างแรงจูงใจในการสร้างสิ่งโดนใจแก่ประชาชน แล้วจะได้รับเลือกเป็นรัฐบาล ซึ่งก็ได้ผล เขาได้รับเลือกมามากมายไม่ใช่ประเด็นนี้ประเด็นเดียวแน่นอน แต่มองผิวเผินการขึ้นเงินเดือนให้ผู้มีงานทำนั้นเป็นสิ่งที่ดี ยิ่งยุคข้าวของแพง เงินมีความหมายมาก
ผลกระทบมุมหนึ่งของนโยบายนี้ก็คือ ลูกหลานชาวไร่ชาวนามุ่งหน้าเรียนให้จบปริญญาตรีเพื่อหางานทำที่มีเงินเดือนเดือนละ 15,000 บาท แล้ว แต่ไม่ได้แก้ปัญหาแรงงานภาคการเกษตรที่ขาดแคลน และไม่มีการพูดถึงด้วย นี่คือปัญหาใหญ่ของสังคมไทยที่รอการแก้ไข…
มันไม่ใช่ความผิดที่ลูกหลานชาวนาจะเดินหน้าไปหางานทำ กินเงินเดือน 15,000 นะครับ แต่ดูเหมือนลูกหลานชาวไร่ชาวนาจะหันหน้าเอาความรู้ไปพัฒนาการผลิต ห่างไกลออกไปมากขึ้น