พ่อแสน ผู้เฝ้าเรียนรู้ธรรมชาติตัวจริง..
อ่าน: 3727วันก่อนที่ผมตั้งประเด็นเล็กๆว่า ต้นหมากเม่าข้างบ้านออกผลสุกเต็มต้น แล้วก็มีนกมากิน มีกะรอกมากิน ปริมาณผลสุกมันมากมาย ทำไมทั้งนกและกะรอกจึงไม่ลงมือกินที่นี่จนอิ่มแล้วกลับรังไปนอนตีพุง มันกลับบินไปต้นอื่น ไปหากินที่อื่นต่อไป….ทำไม…
ข้าว กข 6 ที่ชาวบ้านปลูก เมื่อใช้พันธุ์ที่สืบต่อกันเป็นปีที่สาม พอเข้าปีที่ 4 จึงต้องเปลี่ยนเอาข้าวพันธุ์อื่นมาปลูกสลับกัน…..ทำไม…
ทำไมคนเราจึงกินอาหารหลายอย่าง ทำไมไม่กินไข่เจียวอย่าเดียวตลอดชีวิต… เบื่อตาย..ห่..
แล้วทำไมต้นไม้ที่ปลูกเป็นสวนชนิดเดียว เช่นสวนยางพารา สวนนั่นสวนนี่ เมื่อดูแลไปหลายปีเข้า ต้นยางก็ไม่แข็งแรง …. สวนไม้อื่นก็เช่นกัน
พ่อแสน วงษ์กะโซ่ แห่งดงหลวงบอกว่า ไม่ได้หรอก ดูไม้ในป่าทึบนั้นสิ ต้นไม้งาม ไม่มีตาย ไม่มีโรคภัย แข็งแรง พ่อแสนบอกว่า เพราะมันมีพืชหลายชนิดขึ้นผสมกันไป ใบไม้ที่ล่วงลงมาเมื่อเขาย่อยสลายกลับคืนสู่ดิน
ก็เป็นอาหารซึ่งกันและกัน
นั่นคือระบบธรรมชาติ แต่มนุษย์ อ้างวิชาการให้จัดเป็นสวนสวยงาม ปลูกให้เป็นแถว ระยะแถว ระยะต้น ต้องเท่านั้นเท่านี้ มันไม่ใช่ ลองเอายางพาราเทียบคุณภาพกันซิว่ายางพาราในสวนสวยงามกับยางพาราที่ปล่อยให้ขึ้นในป่ารกนั้นต่างกันอย่างไร
พ่อแสนสรุปจาการเข้าถึงธรรม แห่งธรรมชาติว่า ต้องปลูกพืชผสมผสานปนกันไป หรืออย่าไปทำลายพืชธรรมชาติที่มันขึ้นมาเอง พ่อแสนเฝ้าวิเคราะห์ว่า นักวิชาการบอกว่า ใบไม้เมื่อล่วงหล่นสู่พื้นดิน เขาจะย่อยสลายเป็นปุ๋ยแก่ตัวเองและแก่พืชอื่นๆที่อยู่ในบริเวณนั้น
ใบมะขาม มีสรรพคุณทางยาแบบหนึ่ง ใบว่านสาวหลง ก็มีคุณทางสมุนไพรอีกแบบหนึ่ง นั่นแสดงว่า ใบไม้แต่ละชนิดมีคุณค่าที่แตกต่างกันไป เมื่อมันเปื่อยยุ่ยก็สร้างให้ดินอุดมสารพัดแร่ธาตุ นกไม่กินเมล็ดพืชชนิดเดียวแล้วกลับบ้าน เมื่อกะรอกไม่กินหมากเม่าให้พุงกางแล้วกลับไปรัง
มนุษย์ก็แสวงหาของกินหลายๆแบบ ต้นไม้ก็ต้องการอาหาร ปุ๋ย ธรรมชาติหลายๆแบบ ต่างเสริมแก่กันและกัน
นี่เองพ่อแสนจึงปลูกป่าครอบครัวมีสารพัดชนิด มีทางแหวกให้เดิน ลูกๆหรือใครๆอย่ามาถางให้เตียนโล่งนะ พ่อแสนไม่เอา
พวกวิ่งตามยางพาราก็ปล่อยเขาไปเถอะ พวกวิ่งตามกฤษณาก็ปล่อยเขาไปเถอะ เดี๋ยวก็วกกลับมาหาเราหรอก เพราะมันไปไม่รอดหรอกแบบนั้นน่ะ
เมื่อคืนไปพบพ่อแสนที่โรงแรมกลางกรุงเทพฯ พ่อแสนมาร่วมประชุมสรุปผลการประเมินโครงการ จึงได้คุยกัน หนึ่งในนั้นก็คือเรื่องที่บันทึกข้างบนนี้แหละ
ทราบว่าผลงานพ่อแสนที่เฝ้าสร้างป่าครอบครัวของตัวเองมาจากผืนดินที่แปนเอิดเติด (แปลว่าโล่งเตียน) จากการปลูกมันสำปะหลังจนมาเป็นป่านั้น ได้รับโล่ไปแล้ว สองแห่ง นี่ อาจารย์ ดร.อุษา แห่ง ม.มหาสารคาม เจ้าแม่สิ่งแวดล้อมเชิงวัฒนธรรม ประทับใจพ่อแสนมากที่สุดแห่งที่สุด บอกเดินทางไปพบชาวบ้านมามากมาย ทำไมพ่อแสนมาซุกตัวอยู่ดงหลวงนี่ได้ ว่าแล้วก็จะพานักวิชาการหลายประเทศมาดูงานและคุยกับพ่อแสนปลายเดือนหน้านี้..ที่ดงหลวง