บันทึกวิถีธรรมชาติ

321 ความคิดเห็น โดย bangsai เมื่อ 28 ธันวาคม 2010 เวลา 21:31 ในหมวดหมู่ งานพัฒนาสังคม, เรื่องทั่วไป #
อ่าน: 3525

ถ้าพอมีเวลายามเย็น ก็มักจะคว้ากล้องถ่ายรูปไปดูเมฆสวยๆ แต่ก่อนไม่ได้ออกไปไหนก็ปีนหลังคา มุมสูงๆเห็นท้องฟ้ากว้าง หากมีเมฆสวยๆด้วยแสงอาทิตย์แล้วก็ถ่ายเก็บไว้จำนวนมาก บางวันก็ขับรถไปตามถนนรอบเมือง หามุมที่สวยๆ บางวันก็ไปที่บึงบำบัดน้ำเสียใกล้ๆบ้าน เป็นพื้นที่กว้างแม้จะไม่ได้อยู่มุมสูงก็เห็นท้องฟ้ากว้างไกล


คนเมืองก็มีสวนสาธารณะมาออกกำลังกายตอนเช้าตอนเย็น มีสนามเด็กเล่น มีสนามมอเตอร์ไซด์ มีสนามเครื่องบินเล็ก มีสนามจักรยานวิบาก ชาวบ้านก็มาหาปลาในบึงนี้ด้วยเครื่องมือหลากหลาย วิวตอนพระอาทิตย์ตกดินสวย บางวันก็เอาน้องหมามาเล่นด้วย เท่าที่มีโอกาส


แน่นอนหลายครั้งก็ชวนคนข้างกายมาพักผ่อน เธอก็มักจะหิ้วสกุลไทยติดมาด้วย

บริเวณนี้มีต้นไม้ขึ้นโดยธรรมชาติ ตามคันบึง ซึ่งก็เป็นขยะทางธรรมชาติ ไม่ได้อยู่ในเมืองก็มักปล่อยให้เป็นไปตามธรรมชาติ


มีต้นมะขามเทศต้นหนึ่งหากดูห่างๆก็กำลังจะตายและล้มลง ไม่น่าจะ มีอะไร ผมเห็นหลายครั้งที่มาแต่ไม่ได้สนใจอะไร แต่ครั้งนี่เข้าใกล้ สังเกต เอ มีอะไรติดเต็มลำต้นเลย เข้าไปใกล้ๆก็เข้าใจ นั่นคือ ยางที่ออกมาจากลำต้นมะขามเทศ ที่เรียก “ขี้ซี” เต็มต้นเลย น่าจะเป็นสาเหตุให้เขาต้องล้มตายไป

ผมไม่เข้าใจว่าเกิดขึ้นได้อย่างไรมากมายขนาดนี้ หากเป็นต้นไม้ใหญ่ในป่า รู้ว่ามีขี้ซีที่เกิดขึ้นจากต้นไม้นั้นโดนแมลงเจาะ เหมือนต้นไม้เขารู้ว่าเมื่อแมลงเจาะก็ต้องอุดรู โดยผลิตยางออกมาปิดรู


เจ้ายางไม้นี่เองเป็นประโยชน์สำหรับมนุษย์ เอามาทำหลายอย่าง เช่น ทำเชื้อเพลิง เป็นองค์ประกอบการจับนกของชาวบ้านป่าบ้านดอยในเวลากลางคืน ใช้ยาเรือ ยาตะกร้า หรือ คุ สำหรับตักน้ำแบบโบราณ องค์ประกอบทำด้ามเครื่องมือชาวบ้าน และอื่นๆอีกมากมาย


ฝรั่งเรียก Rasin ที่ต้นมะขามเทศต้นไม่ใหญ่โตนี้มี Rasin เต็มไปหมด เหมือนคนเป็นโรคปุ่ม หรือท้าวแสนปม แต่มันมีประโยชน์ เนื่องจากจำนวนมันไม่มากจนเป็นกอบเป็นกำ ชาวบ้านจึงไม่มาเก็บไปขาย หรือเอาไปสำรองที่บ้านเพื่อใช้ประโยชน์ดังกล่าว อาจเพราะเด็กยุคใหม่ไม่รู้จักแล้ว หรือชาวบ้านเลิกใช้หมดแล้วเพราะทุกอย่างทันสมัยใหม่หมด เทคโนโลยีเก่าๆก็แค่เล่าสู่กันฟังเท่านั้น เผลอๆเด็กยุคใหม่ หาว่าพ่อแม่ ลุงป้า เล่านิทานโกหกเสียอีก ก็เคยได้ยินมาแล้ว

โลกเปลี่ยนไป สังคมเปลี่ยนไป เราห่างไกลธรรมชาติมาก อีกสักหนึ่ง สอง ทศวรรษ เด็กยุคนั้นอาจไม่สามารถดำรงชีวิตอยู่ในชนบทได้ด้วยตัวเอง เพราะความรู้ในเรื่องเหล่านี้ผ่านเลยไปหมดแล้ว ความรู้เรื่องการพึ่งตัวเองจากธรรมชาติ เขาไม่รู้เรื่องแล้ว ความรู้ชุดนั้นหมดไปแล้ว โรงเรียนก็ไม่เห็นความจำเป็นต้องสอน พ่อแม่ก็ได้แต่เล่านิทาน กาลครั้งหนึ่ง พ่อไปเข้าป่าหาขี้ซี…. เด็กคงขำกลิ้ง..

ผมคุยกับบางคนว่า เออ บางทีสถาบันการศึกษาควรจะพิจารณาลงไปทำวิจัยและบันทึกการดำรงชีวิตแบบพึ่งธรรมชาติของบรรพบุรุษเรานะ เพราะอนาคตพลังงานหมดไป วิกฤตสังคมเมือง โลกหันหน้าสู่อดีต เราจะไปควานหาความรู้ในอดีตมาจากไหน บรรพบุรุษก็ไม่ได้บันทึกไว้ ใครๆก็ไม่ได้ทำ เพราะความรู้ติดตัวก็หายไปพร้อมกับการตายจากไป

การบันทึกไว้จะเกิดประโยชน์แน่นอน เชื่อหัวไอ้เรืองเถอะ..อิอิ


สำนึกสาธารณะ

1 ความคิดเห็น โดย bangsai เมื่อ 28 ธันวาคม 2010 เวลา 12:23 ในหมวดหมู่ งานพัฒนาสังคม, ทุนสังคม #
อ่าน: 1502

เมื่อวานผมนั่งคุยกับเพื่อนบ้าน เราจูงมือกันมาซื้อบ้านพักในหมู่บ้านเดียวกัน เพื่อนเป็นแคธอลิค ที่เคร่งครัดคนหนึ่ง เกือบบวชเป็นพระไปแล้ว ไปเจอสาวงามริมโขงเข้าเลย ไม่ได้บวช แต่ก็ทำตัวเหมือนนักบวชที่มีพระคัมภีร์ในหัวใจ

ในหมู่บ้านที่พักอาศัยขึ้นชื่อลือชาว่าเพื่อนเป็นนักธรรมชาติวิทยา ไม่ทำความสะอาดบริเวณบ้าน เลี้ยงน้องหมาหลายตัว แต่ก็ดูแลอย่างดี ยามที่เขาออกไปถ่ายมูลหน้าบ้านใครก็จะเดินไปเก็บกวาดไม่ให้เพื่อนบ้านหมองใจ วันดีคืนดีก็เอาขวดน้ำมาตัดปาก แล้วเอาไปผูกโคนต้นไม้ เอาน้ำใส่เข้าไป บอกว่า ให้น้ำแก่มด หรือนกหนูทั้งหลายที่อาศัยบริเวณบ้าน


ต้นไม้ที่ใหญ่โตใบล่วงลงดินก็เอาไปกองไว้ริมรั้วเต็มไปหมด ไม่ได้เก็บใส่ถุงดำเอาไปทิ้ง หรือเอาไปทำปุ๋ยหมัก คงปล่อยให้เป็นปุ๋ยธรรมชาติที่ย่อยสลายเอง แต่กลายเป็นที่อยู่ของหนูจำนวนมาก เพื่อนก็เอาสะพานไปหาดหลังคาบ้านสองหลังเข้าด้วยกัน อธิบายว่า ให้แมวที่บ้านสองสามตัวเดินไปมาได้…ฯลฯ เรื่องที่ชาวบ้านคนอื่นเขาไม่ทำกัน เพื่อนทำ

เพื่อนเป็นผู้มีความรู้ดี การศึกษา จบ ป โทที่ AIT แต่มานั่งรับงานแปลที่บ้าน และ Job ต่างๆแบบFreelance ไม่ทำงานประจำ ช่วยเหลือมูลนิธิสมาคมต่างๆแบบไม่เอาค่าตอบแทน มีมูลนิธิหนึ่งมาเชิญไปเป็นที่ปรึกษา เขียนโครงการไปขอทุนจากฝรั่งเศส เขาอนุมัติมาสองล้านบาท แต่มีเงื่อนไขว่า ต้องอย่างนั้น อย่างนี้ เพื่อนก็คืนเงินเฉยเลย หากให้ต้องไม่มีเงื่อนไข แหมช่างเหมือนพ่อชาดีแห่งดงหลวงเสียจริง ฝรั่งงอนง้อเท่าไหร่ก็บอกว่า ต้องไม่มีเงื่อนไข จนฝรั่งบินมาดูตัว เพื่อนก็ยืนยันเช่นเดิม


NGO มีงานนานาชาติที่ไหนก็มักเชิญไปเป็นล่ามแปลให้ เพื่อนก็ไปมาทั่วแล้ว หากมีเวลาผมก็มักไปขอแลกเปลี่ยนความเห็น และมักจะได้มุมมองที่ดีดีเสมอ

วันก่อนผมก็ไปแลกเปลี่ยนกันในสารพัดเรื่อง มีประเด็นที่ผมติดใจและอยากฟังความเห็นเขาคือเรื่องการเคลื่อนตัวของสังคมที่มุ่งเน้นธุรกิจ และความรู้ เทคโนโลยี และสำนึกสาธารณะเราต่างเห็นด้วยเรื่องที่ว่า บ้านเมืองเราเน้นความรู้มาก จากการแข่งขันความรู้ต่างๆแม้ระดับโลก เช่น โอลิมปิค และเด็กของเราก็ได้เหรียญทองมามากมาย แต่ค่าเฉลี่ยของประเทศตกต่ำลง ที่สำคัญ เรามีความรู้ดี แต่ความประพฤติไม่ดี สังคมเราเน้นความรู้มานาน แต่อ่อนด้อยสำนึกดี เลยคิดกันว่า เราอาจต้องเปลี่ยนโจทย์ใหม่ ต้องเน้น “กระบวนการสร้างสำนึกดี” กระบวนการนี้จะหมายรวมไปถึงนอกโรงเรียนด้วย และไม่เฉพาะเด็กนักเรียนเท่านั้น แต่ทั้งสังคม


หลายครั้งผมเห็นคนขี่มอเตอร์ไซด์ขับผ่าไฟแดงไป บ่อยมากๆ ไม่ว่าเมืองไหน จังหวัดไหน มีทั้งนั้น ผมหงุดหงิดใจ ผมมองว่านั่นคือสำนึก มันเป็นสิ่งเล็กน้อยสำหรับบางคนที่คิด แต่ผมคิดว่า มันสะสม และจะกระทำสิ่งที่รุนแรง เสียหายมากกว่านี้ได้ในอนาคต

มีไหมสถาบันการศึกษาที่สร้างสำนึกเป็นเป้าหมายใหญ่ เคียงคู่กับการสร้างความรู้

ระบบการวัดผลเรามีการประเมินเรื่องสำนึกมากน้อยแค่ไหน น่าจะมีอยู่แต่การให้ความสำคัญอาจจะเป็นรองความรู้

สำนึกที่กล่าวถึงนี้ เป็นสำนึกที่ดีนะครับ..

ไม่ใช่เพื่อนโดนทำร้ายก็เกิดสำนึกเอาระเบิดไปขว้างใส่คู่อริบนรถเมล์กลางมหานคร ?



Main: 0.018420934677124 sec
Sidebar: 0.046373128890991 sec