4 G Model

298 ความคิดเห็น โดย bangsai เมื่อ 16 ธันวาคม 2010 เวลา 21:34 ในหมวดหมู่ งานพัฒนาสังคม #
อ่าน: 6213

คนในวงการเรื่องนี้ก็ต้องบอกว่า เป็นเรื่องพื้นๆ ที่รู้กันมานานแล้ว ซึ่งเป็นเรื่องจริง เพราะการพัฒนาพื้นที่ชลประทานให้ใช้ประโยชน์สูงสุดนั้น โลกเรามีประสบการณ์มานานนับร้อยปี แต่ระบบชลประทานสมัยใหม่ก็มีประสบการณ์หลายสิบปี มาแล้ว หลักการก็ซ้ำๆ เหลือเพียงว่าใครสามารถนำหลักการไปสู่การปฏิบัติได้มากแค่ไหน ตามหลักการ ประหยัดสุด ประโยชน์สุด นั่นเอง


แต่ละโครงการมีเงื่อนไขที่แตกต่างกันไป น้ำหนักของความสำคัญ หรือลำดับความสำคัญก็แตกต่างกันไป นั้นผู้ทำงานต้องเก็บข้อมูลมาทั้งเชิงปริมาณและคุณภาพ แล้วเอามาวิเคราะห์ ให้เห็น ศักยภาพ คุณภาพ จุดแข็ง จุดอ่อน ซึ่ง ทางวิชาการมีเครื่องมือมากมายที่จะนำมาพิจารณาใช้ให้เหมาะสม

ในกรณีระบบชลประทานในประเทศลาวที่ไปสัมผัสมานั้น มีหลายประเด็นที่ต้องเข้าไปวางระบบเสริม ต่อยอดจาดเดิม มีทั้งข้อเหมือนและแตกต่างกับบ้านเรา

ระบบชลประทานถือว่าเป็นเทคโนโลยี่ทางการผลิตการเกษตรร่วมกัน การบริหารจัดการนั้นมีความสำคัญ ยิ่งโครงการมีขนาดใหญ่ การบริหารก็ยิ่งเป็นเรื่องมีผลมากต่อประสิทธิภาพการผลิต ต้องใช้วิชาการทางวิศวกรรมและศาสตร์การบริหารจัดการค่อนข้างมาก

ผมทราบว่าในประเทศลาวมีโครงการที่ประสบผลสำเร็จหลายโครงการ เท่าที่ผมมีเวลาศึกษาระยะเวลาสั้นๆ พบว่า คนเป็นปัจจัยที่สำคัญมากที่ส่งผลถึงความสำเร็จนั้นๆ ซึ่งเราก็เรียนรู้มานาน ประเด็นคือ การบริหารจัดการอย่างไรจึงทำให้คนให้ความร่วมมือกับการบริหารจัดการจนสำเร็จ ซึ่งในประสบการณ์ก็บ่งชี้หลายปัจจัย ซึ่งเกี่ยวข้องกันไปหมด ไม่ว่าระบบโครงสร้างชลประทานดี ไม่มีปัญหาในการส่งน้ำ ผู้นำกลุ่มผู้ใช้น้ำมีความสามารถในการบริหารจัดการภายในกลุ่มของตัวเอง เจ้าหน้าที่ราชการที่มารับผิดชอบ ทุ่มเทความรู้ความสามารถในการถ่ายทอดความรู้และสามารถจัดการทุกอย่างให้ตอบสนองการผลิตได้ดี ตัวสมาชิกกลุ่มผู้ใช้น้ำเอง พยายามทำความเข้าใจและเคารพกติกากลุ่มอย่างตรงไปตรงมา และที่สำคัญสุดคือ ผลผลิตที่ได้สามารถตอบสนองเกษตรกรได้ นั่นหมายถึงภาคตลาดตอบรับผลผลิตจนสร้างผลตอบแทนเกษตรกรจนเป็นที่พอใจ

แต่ละเรื่องมีรายละเอียดยิบยับ และเปลี่ยนแปลงตลอด เช่น ระบบชลประทาน คูคลองต่างๆ มันมีอายุการใช้งาน ต้องมีมาตรการดูแลรักษาซึ่งต้องให้เกษตรกรมีส่วนร่วม ร่วมแบบไหน เมื่อไหร่ อย่างไร ใครบ้างที่ควรเข้าร่วม ถ้าไม่ร่วมทำอย่างไร


การผลิตต้องใช้ความรู้วิชาการเข้ามาไม่น้อย เพราะน้ำที่ใช้คือต้นทุนการผลิต Minimum requirement น้ำ ของข้าวและพืชที่ปลูกอยู่ที่ตรงไหน ความรู้นี้นักส่งเสริมการเกษตร นักพัฒนาชุมชนต้องเรียนรู้แล้วเอาไปถ่ายทอดให้เกษตรกรซ้ำแล้วซ้ำเล่า น่าเสียดายที่นักโฆษณา ประชาสัมพันธ์ที่มีประสิทธิภาพไปรับใช้ภาคธุรกิจหมดสิ้น แต่ไม่มีสักคนที่ก้าวเข้ามาเอาความรู้มาใช้กับโครงการชาวบ้านแบบนี้ ข้าราชการก็ใช้วิธีประชุมเท่านั้น เทคนิค วิธีการทางประชาสัมพันธ์นั้นไม่มีความถนัดที่จะทำ ซ้ำบางคนขี้เมาก็หนักเข้าไปอีก พูดจาอะไรชาวบ้านก็ไม่ฟังไม่เชื่อถือ

อ้าว…จะกลายเป็นเลคเชอร์ไปแล้ว…

จริงๆอยากย้ำว่า ความรู้พื้นฐานเดิมๆยังใช้ได้ ที่นำมาพัฒนากระบวนการทั้งหมดของระบบชลประทาน เราอาจเรียกให้ทันสมัยว่า 4 G ระบบชลประทานต้องดี พร้อมที่จะจัดการน้ำไปสู่แปลงเกษตรกร ผู้นำกลุ่มผู้ใช้น้ำต้องมีความรู้ ความเข้าใจสาระทั้งหมด และมีทักษะในการบริหารงานกลุ่มผู้ใช้น้ำและระบบที่มีส่วนรับผิดชอบ และหากมีสมาชิกกลุ่มผู้ใช้น้ำที่เรียนรู้สิ่งที่ต้องรู้ทั้งหมด และให้ความร่วมมือ และรู้จักพัฒนาการผลิต แบบอาศัยปัจจัยน้ำตามระบบรวมได้ และท้ายที่สุด คือการพัฒนาระบบบริหารจัดการระบบใหญ่ ระบบย่อยได้ ตอบสนองทุกส่วนได้ และมีประสิทธิภาพ โดยอยู่บนฐานของความต้องการของเกษตรกรผสมผสานกับหลักวิชาการ ระบบ 4 G ก็เป็นพื้นฐานที่สำคัญตลอดมาและตลอดไป เพียงแต่ปรับความเหมาะสมให้สอดคล้องในแต่ละโครงการ พื้นที่ ฯลฯ

เหลือแต่ว่าทำอย่างไร?

โครงการชลประทานที่ประสบผลสำเร็จบ่งชี้ว่าต้องมีการบูรณาการที่แท้จริง

หากทำได้ 4 G ก็คือแกงโฮะ ที่อร่อยที่สุดนั่นเอง




Main: 0.030457019805908 sec
Sidebar: 0.062795162200928 sec