เสียงที่ไม่มีใครได้ยิน

65 ความคิดเห็น โดย bangsai เมื่อ 15 ธันวาคม 2010 เวลา 15:44 ในหมวดหมู่ ไม่ได้จัดหมวดหมู่ #
อ่าน: 2248

 

หากเราไม่ปล่อยให้สิ่งที่ผ่านหน้าเราหายไปเมื่อพ้นสายตา

แล้วสิ่งใหม่ๆก็เข้ามาในสมอง โดยเฉพาะ ภาระหน้าที่

เราคงมีเรื่องมากมายให้ได้พบความจริง

เธอไม่ใช่พนักงานเทศบาลที่มาเก็บขยะตามหน้าที่

แต่เธอมาเก็บขยะเพื่อยังชีวิต

เราเห็นได้ทั่วไปในสังคมเมือง

เมืองที่บางครอบครัวที่ไม่ยอมให้มือหรือเท้าต้องสัมผัสพื้นเลย

แต่เธอทั้งมือและเท้าสัมผัสกับสิ่งสกปรกที่สุดที่คนทิ้งมันไปแล้ว…

เพราะ สิ่งสกปรกนั้น สามารถยังชีวิตเธอและคนข้างหลังได้

ตราบใดที่เธอยังทำงานได้…

มีนักแก้ปัญหาในสภาสักกี่คนที่ลงมาสัมผัสชีวิตแบบนี้..

แม้แต่มองก็ไม่เห็นด้วยซ้ำไป..

แต่เธอ และคนกลุ่มนี้ ถูกอ้างมากที่สุด..


“ระเบียบบ้าน” การแก้ไขปัญหาในชุมชนลาว

249 ความคิดเห็น โดย bangsai เมื่อ 15 ธันวาคม 2010 เวลา 15:09 ในหมวดหมู่ เรื่องทั่วไป #
อ่าน: 6252

“คำเตือน เป็นบันทึกยาว ตั้งสติก่อนอ่านนะครับ อิอิ”

โจทย์ที่พบในการศึกษาสภาพการณ์ปัจจุบันของระบบชลประทานแห่งหนึ่งในลาวคือ สมาชิกกลุ่มผู้ใช้น้ำไม่จ่ายค่าน้ำ ซึ่งส่งผลให้กลุ่มไม่สามารถจ่ายค่ากระแสไฟฟ้าได้ ก่อให้เกิดหนี้สินสะสมเป็นจำนวนมาก

ถามว่าสาเหตุคืออะไร มีหลายปัจจัย เช่นระบบโครงสร้างคูคลองยังมีปัญหาในการจัดแบ่งน้ำ ผู้รับผิดชอบขาดประสิทธิภาพในการทำหน้าที่ สมาชิกกลุ่มผู้ใช้น้ำไม่เคารพกติกาของกลุ่ม เกิดการดื้อแพ่ง ฯลฯ ทั้งหมดนี้เกี่ยวเนื่องกันและกัน แต่ที่น่าสนใจที่พื้นที่รับน้ำชลประทานแห่งนี้ถูกใช้ประโยชน์เต็มที่ ถึงขนาดแย่งกันเช่าที่นาทำนาปรังกันเลยทีเดียว

เหตุต่างๆนั้นในทางหลักการมีแนวทางแก้ไขอยู่แล้ว เมื่อลองมาสอบถาม “คนใน” ว่าเขามีความคิดในการแก้ไขอย่างไร

สอบถามเจ้าหน้าที่ชลประทานทุกคนตอบว่า ต้องเอาระเบียบกลุ่มผู้ใช้น้ำไปออกเป็นกฎหมายเท่านั้น เพื่อเอามาบังคับใช้ แต่เมื่อสอบถามชาวบ้าน คณะกรรมการบ้าน ตอบว่า ควรโอนบทบาทหน้าที่มาให้คณะกรรมการหมู่บ้านทำหน้าที่จัดเก็บค่าน้ำเอง…

ข้อเสนอแรกนั้น ส่วนตัวมีคำถามต่ออีกมาก เพราะมีกฎหมายดีดีมากมายที่ไม่สามารถบังคับใช้ได้ หากผู้ถือกฎหมายไม่ทำหน้าที่ หรือทำหน้าที่แบบสองมาตรฐาน สามมาตรฐาน ฯ และหากสมาชิกกลุ่มผู้ใช้น้ำไม่เล่นด้วย แบบดื้อแพ่ง ปัญหาก็ยังคงมีอยู่

ส่วนข้อเสนอข้อหลังที่โอนบทบาทหน้าที่มาที่คณะกรรมการบ้าน แม้จะยังมีคำถามอีกมาก แต่ด้วยประสบการณ์สนใจแนวทางนี้มากกว่า

โครงสร้างของคณะกรรมการบ้านของลาวนั้นไม่เหมือนประเทศไทย


ที่โครงสร้างนี้มีหน่วยไกล่เกลี่ยบ้าน ที่ประกอบด้วยหัวหน้าคณะกรรมการชุดต่างๆมารวมกันเป็นทีมงานที่ทำหน้าที่แก้ปัญหาความขัดแย้งในชุมชน ผมถามว่าลองยกตัวอย่างการแก้ปัญหาความขัดแย้งในชุมชนโดยหน่วยไกล่เกลี่ยบ้าน หัวหน้าหน่วยตอบว่า เวลามีวัยรุ่นกินเหล้าแล้ววิวาทกัน ก็เรียกทั้งสองฝ่ายมาพูดคุยกัน ซึ่งการไกล่เกลี่ยนี้ใช้ฐานของวัฒนธรรมชุมชนที่สืบต่อกันมาดั้งเดิม และใช้ “ระเบียบบ้าน”

เมื่อซักไซ้พบว่าบทบาทหน่วยไกล่เกลี่ยนี้ช่างเหมือน “ระบบเจ้าโคตร” ของสังคมชุมชนอีสานโบราณที่เจ้าโคตร หรือผู้ใหญ่ของตระกูล ของชุมชน ที่เป็นที่เคารพนับถือทั้งชุมชนจะทำหน้าที่เรียกลูกหลานที่เป็นคู่กรณีมาคุยกัน บนฐานของความรัก ความเอ็นดู เมตตา โน้มน้าวให้คู่กรณีลดราวาศอก เพื่ออยู่ร่วมกัน ผู้อาวุโสเหล่านั้นผ่านชีวิตมากมาย ย่อมรู้จักประวัติของพ่อแม่ ญาติพี่น้องทั้งสองฝ่าย การสาธยายอดีตที่ผูกพัน ช่วยเหลือกันมา อดอยากร่วมกัน รักใคร่สามัคคี กัน ด้วยท่าที ด้วยคำพูด สำเนียง สิ่งเหล่านี้ทำให้กรณีความขัดแย้งจบลงที่การขอขมาลาโทษ และยกโทษให้แก่กัน…หน่วยไกล่เกลี่ยทำหน้าที่เหมือนกัน

อย่างไรก็ตามทุกกรณีไม่ได้จบลงทั้งหมด อาจจะมีบางคู่ที่ไม่ยอมจบ ระเบียบบ้านก็กำหนดไว้หลายขั้นตอน จนที่สุดเมื่อ เอาไม่อยู่ ก็ส่งเข้าระบบการปกครองโดยกฎหมายรัฐ คือระบบศาล..

ส่วนตัวผมสนใจกระบวนวิธีนี้มากและสนใจที่จะศึกษารายละเอียดลงไปอีก ผมขอระเบียบบ้านจากหมู่บ้านแห่งหนึ่งในลาวมาศึกษา อาว์เปลี่ยนกรุณาอ่านและขยายความให้ฟัง ลองดูตัวอย่างนะครับ

……………..

มาตรา 4 บุคคลใด ครอบครัวใด ได้ลักเอาทรัพย์สิน สิ่งของคนอื่นมาเป็นของตนเอง ถ้าว่าการจัดตั้งสืบรู้ มีหลักฐานเพียงพอ ครั้งที่ 1 จะปรับไหม 100,000 กีบ ถึง 300000 กีบ พร้อมทั้งเขียนใบสำรวจ ศึกษา อบรม ส่วนค่าเสียหายของเจ้าของทรัพย์สิน มอบให้ผู้กระทำผิดเป็นผู้รับผิดชอบทั้งหมด ในกรณีร้ายแรง มีความเสียหายหลวงหลาย ทั้งเป็นของรวมหมู่บ้านของรัฐ แม่นประกอบคดีส่งให้ขั้นเทิงเป็นผู้พิจารณา และปฏิบัติตามกฎหมาย

มาตรา 5 บุคคลใดทิ่มระเบิด ซ๊อทปลา เบื่อปลา เบื่อสัตว์ทุกชนิด ถ้าผู้ใดละเมิด ครั้งที่ 1 ปรับไหม 500,000 กีบ ถึง 800,000 กีบ พร้อมทั้งยึดเอาอุปกรณ์ทั้งหมด ในกรณีผู้กระทำผิดถ้าบ่เข็ดหลาบ แม่นประกอบคดี ส่งให้ขั้นเทิงปฏิบัติตามกฎหมาย

มาตรา 7 บุคคลใดตัดไม้ทำลายป่าเลื่อยไม้แบบซะซายโดยบ่ได้รับอนุญาตจากการจัดตั้งขั้นบ้านจะต้องถูกปรับไหม 50,000 กีบ ถึง 100,000 กีบต่อ 1 ครั้ง หาก มีความเสียหายอย่างหลวงหลาย แม่นประกอบคดีส่งให้ขั้นเทิงปฎิบัติตามกฎหมาย

มาตรา 11 บุคคลใดยังได้ก่ออาละวาด ตีกัน หรือทำให้ผู้อื่นบาดเจ็บแล้วจะถูกปฏิบัติดังนี้ ครั้งที่ 1 ผู้ต้นเหตุลงมือก่อน ทำให้ผู้อื่นบาดเจ็บจะถูกปรับไหม 500,000 กีบ ถึง 1,000,000 กีบ พร้อมทั้งดูแลผุ้บาดเจ็บ และทำสู่ขวัญตามฮีตคองประเพณี ในเมื่อบาดเจ็บสาหัส ร้ายแรง แม่นมอบให้เจ้าหน้าที่ดำเนินคดีตามกฎหมาย

มาตรา 12 บุคคลใดมีผัวหรือเมียเป็นครอบครัวแล้วยังมีการพัวพันแอบชู้สาวกับคู่ผัวเมียคนอื่น ทำให้ครอบครัว หรือคู่ผัวเมียแตกแยก ทำให้ผัวเมียปะร้างกัน เกิดปัญหาในครอบครัว การจัดตั้งจะต้องปรับไหม 100,000 กีบถึง 500,000 กีบในกรณีผู้กระทำผิด ถ้าหากบ่เข็ดหลาบครั้งต่อไป แม่นประกอบคดีส่งขั้นเทิงประกอบคดีตามกฎหมาย

มาตรา 14 ถ้าบุคคลใดสัญจรไปมา ยามดึกเปิดเทป ซีดี เครื่องเสียงอื่นๆเกินขอบเขต เมื่อถึง 4 ทุ่ม 30 นาที ต้องยึดเอาไว้ ถ้าครอบครัวใดจัดงาน แม่นผูกแขน งานดองหรืออื่นๆ ต้องเสนอ ปกส(ตำรวจ) บ้าน หรือนายบ้านเพื่ออนุญาตก่อน ถ้าครอบครัวใดยังละเมิดไม่ปฏิบัติ ครั้งที่ 1 จะถูกศึกษา อบรม และกล่าวเตือน เขียนใบสำรวจ ครั้งที่ 2 จะปรับไหมแต่ 50,000 กีบ ถึง 100,000 กีบ

มาตรา 15 ห้ามไม่ให้แตกแยกความสามัคคี สร้างความปั่นป่วน ผิดข้องต้องการ กันในครอบครัว และบุคคลอื่น บ่จ่มเหล้า ดูหมิ่น นินทา อนาจาร ป้อยด่าซะซายใส่การจัดตั้ง และทำให้ทุกคนในการจัดตั้งเสียหาย เสียศักดิ์ศรี จะถูกปรับไหม ครั้งที่ 1 50,000 กีบถึง 200,000 กีบ ถ้าต่อไปไม่เข็ดหลาบ แม่นประกอบคดีส่งให้ขั้นเทิงดำเนินคดีตามกฎหมาย

มาตรา 16 ทุกครอบครัว เมื่อมาประชุม ห้ามไม่ให้ผู้หญิงนุ่งทรงขาสั้นและเสื้อสายเดี่ยวมาประชุม และบ่ให้กินเหล้าเมามาประชุมบ้าน และหนีจากกองประชุมที่ประชุมบ่ทันแล้ว ถ้าผู้ใดยังละเมิด ครั้งที่ 1 ถูกกล่าวเตือน ศึกษา อบรม ครั้งที่ 2 จะปรับไหม 50,000 กีบ ถึง 100,000 กีบ

มาตรา 17 บุคคลใด เที่ยวโสเภณี ครั้งที่ 1 จะถูกปรับไหม 200,000 กีบถึง 500,000 กีบ ครั้งที่ 2 จะปรับไหม 1,000,000 กีบ ครั้งที่ 3 แม่นประกอบคดีส่งขั้นเทิงปฏิบัติตามกฎหมาย

หมู่บ้านปกครองกันเอง ออกระเบียบบ้านเอง ยอมรับเอง และถือปฏิบัติกันอย่างเคร่งครัด สังคมลาวจึงมีความสงบค่อนข้างสูง ทุกคนในระดับบ้านสนับสนุนให้เอาระเบียบกลุ่มผู้ใช้น้ำมาขึ้นเป็นระเบียบบ้าน และประกาศใช้ตามขั้นตอน คิดว่าน่าสนใจในมุมที่ชาวบ้านจัดการกันเอง

การที่รัฐให้อำนาจปกครองกันเองแก่ชุมชนขั้นพื้นฐานแบบนี้นั้น มันก็เป็นการกระจายอำนาจแบบหนึ่งที่เมืองไทยร้องหา…

เรื่องนี้มีรายละเอียดอีกมาก แต่หลักการน่าสนใจมากครับ ย้อนกลับมาที่สังคมบ้านเรา เมาประชาธิปไตย หรือบางครั้งสิทธิมนุษยชนกลายมาเป็นข้ออ้าง

แต่วัฒนธรรม ประเพณี ดีงามของเราที่เรียกทุนทางสังคมนั้นละเลยกันหมดสิ้น ไม่เห็นอ้างหรือเรียกร้องกันเลย หรือมองไม่เห็นของดีดั้งเดิมของเราเสียแล้ว…



Main: 0.040150880813599 sec
Sidebar: 0.065885066986084 sec