ความยั่งยืนของชุมชน
อ่าน: 18448คนทำงานพัฒนาชุมชนนั้นทำงานหลายหน้า สนุกดีสำหรับคนที่ชอบ เพราะมีสิ่งท้าทายตลอดเวลา คนทำงานแบบนี้ต้องตื่นตัวและเรียนรู้ตลอด หลายเรื่องไม่คิดว่าจะต้องเข้าไปเกี่ยวข้องก็จะต้องเกี่ยวข้อง
ต้องเรียนรู้ชุมชนและเข้าใจด้านลึกของชุมชน ต้องวางตัวเป็นนักมานุษยวิทยา ที่เรียกว่าทำตัวเป็น “คนใน” มิใช่ “คนนอก” เมื่อได้ข้อมูลมาก็คิดวิเคราะห์ ตีแตกความหมายว่ามันหมายความว่าอย่างไร เกี่ยวข้องกับอะไร มีความสำคัญอย่างไรต่อวิถีชุมชน ต้องเป็นนักสังเกต ต้องเป็นลูกอีช่างถาม และต้องพยายามหาคำตอบให้ได้ไม่เร็วก็ช้า ฯลฯ
ต้องเป็นนักบันทึก ผิดถูกก็ค่อยไปปรับปรุงพัฒนาไป แต่บันทึกไว้ก่อน แล้วค่อยๆใช้ช่วงเวลาที่เราคลุกคลีกับชุมชน ทำกิจกรรมกับชุมชน เยี่ยมยามชุมชนหาทางพิสูจน์เรื่องราวต่างๆที่บันทึกนั้นว่าถูกต้องมากน้อยแค่ไหนอย่างไร ที่เราเรียก Cross check หรือ double check เพราะเราไม่ใช่คนในที่แท้จริงจึงไม่อาจเข้าใจความหมายต่างๆที่เป็นคำพุดในภาษาของเขา สำนวน ท่วงทำนอง ท่าที ฯ ล้วนมีความหมายเฉพาะ และคนนอกที่ฉาบฉวยเข้าใจผิด ตีความหมายผิดมาเยอะแล้ว
ความเป็นวิชาการ ผมนั้นมองตัวเองว่ากึ่งๆความเป็นวิชาการเพราะเราเติบโตมาจาการเรียน อ่าน คลุกคลีกับนักวิชาการ แต่เราก็ทำงานใกล้ชิดชุมชน แม้ว่าจะไม่ใช่คนในอย่างสนิทแนบ แต่ก็ระบุตัวเองได้ว่าใกล้ชิดชุมชนโดยทางปฏิบัติมากกว่ารู้เรื่องชุมชนจากวิชาการ
จึงมีหลายมุมมองที่ผมเห็นแย้งกับวิชาการ หลายครั้งผมเองก็ไม่เห็นด้วยที่นักวิชาการมักจะเอากรอบคิดทางวิชาการไปครอบชุมชน แม้ว่าดีขึ้นมาหน่อยที่ให้ชุมชนมีส่วนร่วม ซึ่งหลายครั้งก็เป็นแบบทำไปเพราะมันเป็นสูตรสำเร็จมิเช่นนั้นไปอ้างไม่ได้ แต่สาระที่เกิดขึ้นจริงๆนั้น ไปคิดแทนเขาเสียมากกว่า
วันนี้โครงการตั้งประเด็นขึ้นมาว่า เอ..เราจะวัดความยั่งยืนของชุมชนได้อย่างไร เราทำงานมาหลายปี เราจะบอกได้ไหมว่าชุมชนของเรานั้นยืนอยู่จุดไหนของความยั่งยืน เราชี้ได้ไหมว่ากลุ่มนั้น ยั่งยืน ชุมชนนั้นยั่งยืน ด้วยเหตุผลอะไรบ้าง.
เป็นเรื่องหละซี.. 15 คนแต่มี 50 ความคิดเห็น อิอิ เพราะแต่ละคนมีหลายความเห็นแม้แต่ขัดแย้งกับความคิดเห็นแรกๆของตัวเอง อิอิ..
จบเอาดื้อแหละ… ไปเขียนรายงานต่อก่อนนะ..