บางมุมของระบบการศึกษา
อ่าน: 745อะตอมเล่าว่า เริ่มฝึกงานตั้งแต่เรียนอยู่ Year 11 ที่วินเชสเตอร์ คอลเลจ กับธนาคาร Standard Chartered ในประเทศไทย ตอน Year 12 ฝึกงานกับ HSBC ที่ลอนดอน ล่าสุดฝึกงานในทีมของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง กรณ์ จาติกวณิช…
เขาเล่าว่า การฝึกงานกับธนาคารในประเทศไทย และต่างประเทศนั้นให้ประสบการณ์ที่แตกต่างและหลากหลาย เพราะในเมืองไทย ไม่ค่อยมีเด็กนักเรียนมัธยมมาฝึกงานกัน หรือเรียนรู้ดูงาน และมักจะได้รับคำถามว่า ยังเป็นแค่เด็กนักเรียนที่เรียนไม่จบ จะมาฝึกงานทำไม ในขณะที่ต่างประเทศนั้น จะมีการต้อนรับอย่างเป็นระบบกว่า…
ในต่างประเทศเขาเข้าใจว่าเราไม่ได้มาเป็น In put ให้เขา เพราะเราเป็นนักเรียนแต่จะไม่มีการสั่งให้เราไปชงกาแฟ ไปถ่ายเอกสาร แต่เขาจะจัดการให้เราได้ learning ด้วยการไปดูการทำงานของทุกแผนก โดยอาจจะใช้เวลาครึ่งวันไปที่แผนก อีกครึ่งวันก็เรียนรู้จากการดูเอกสาร
บรรยากาศการทำงานก็แตกต่างกัน ในต่างประเทศเขาค่อนข้างจะ Serious มาก แต่คนไทยก็จะดูผ่อนคลายกว่า ทำให้เราเห็นวัฒนธรรมและบรรยากาศการทำงานที่หลากหลาย….
นี่คือส่วนหนึ่งของคำให้สัมภาษณ์ พศุตม์ วัชรสินธุ์ หรืออะตอม วัย 19 ปี หลานของนายกรัฐมนตรี่อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ที่ “พรายแสงดาว” ถ่ายทอดในหน้า “เยาวชนของเรา” ในสกุลไทยรายสัปดาห์ ฉบับที่ 2877 หน้า 130
ผมติดใจเรื่องการฝึกงานของนักเรียน และการให้ความร่วมมือของหน่วยงาน และกระบวนการฝึกงานของนักเรียนเหล่านี้ในต่างประเทศ
ที่ผมติดใจเพราะเมื่ออ่านบทความนี้แล้วนึกถึงเมื่อประมาณปี พ.ศ. 2542 ที่ลูกสาวผมปิดเทอมที่ NZ กลับมาบ้านที่ขอนแก่นแล้วบอกผมว่าอยากไปฝึกงาน เราแปลกใจที่ลูกสาวเสนอในสิ่งที่เด็กที่เรียนมัธยมศึกษาทั่วไปไม่ได้พูดถึงเรื่องนี้ เธอบอกว่า “เพื่อนๆเขาไปหางานทำกันทั้งนั้นช่วงปิดเทอม หนูก็อยากทำงานบ้าง” ผมแอบยิ้มแล้วก็ติดต่อโรงแรมห้าดาวแห่งหนึ่งที่ขอนแก่น ว่ามีเด็กมัธยมต้องการมาฝึกงาน โดยไม่ต้องการค่าตอบแทน ตอนนั้นผมก็ยังไม่เข้าใจเท่าไหร่ถึงกระบวนการนี้ แต่เห็นดีด้วย เพราะมิเช่นนั้นเด็กวัยรุ่นวัยนี้ก็จะเที่ยว ดูหนัง ฟังเพลง ถลุงเงิน พ่อแม่ แต่นี่เธออยากฝึกงาน จึงสนับสนุน และโรงแรมก็รับเธอเข้าทำงาน
วันแรกเท่านั้นเธอก็ร้องให้กลับมาเลย อิอิ…
ทำไมล่ะลูก…. ผมถามเธอ เธอก็เล่าให้ฟังว่า เหมือนเหยื่อแรงงานที่จะมาทำงานขยะที่หัวหน้างานทิ้งขยะงานไว้ เธอถูกให้ไปเชคสต๊อคถ้วย ชาม แก้ว ฯลฯ ที่เป็นงานค้าง ตรวจเช็คใบสำคัญรับเงิน จัดระบบเข้าแฟ้ม เป็นงานที่หัวหน้างานทิ้งค้างไว้ทำไม่เสร็จก็โยนมาให้เด็กมาใหม่ทำต่อ …1 สัปดาห์ผ่านไปเธอบอกว่าไม่ได้เรียนรู้อะไรเลย นอกจากหัวหน้างานสั่งให้ไปทำโน่นทำนี่ ล้วนเป็นงานค้างที่ทำไม่เสร็จนั่นเอง….
เธอเกือบทนไม่ได้.. แต่เราก็นั่งคุยกับเธอว่า ไม่มีใครมาฝึกงานแล้วมาแต่งตัวสวยๆนั่งหน้าเคาท์เตอร์ ต้องผ่านงานพื้นฐาน งานขยะแบบนี้ก่อนทั้งนั้น (ทั้งๆที่ผมก็ไม่รู้เรื่องงานโรงแรม หรืองานระบบธุรกิจสักนิดเดียว) แต่ก็พยายามให้กำลังใจเธอ และเธอก็ทำงานแบบนั้นจนสิ้นสุดระยะเวลาที่ตกลงกันไว้คือประมาณ 1 เดือน ก่อนที่เธอจะเดินทางกลับไปเรียน ไฮสคูลต่อ เธอก็บอกว่า ก็ได้เรียนรู้มากเหมือนกัน เห็นหลังฉากของโรงแรมหรูระดับห้าดาวว่าเป็นเช่นไรบ้าง …ขออนุญาตไม่กล่าวถึงเพราะจะไปกระทบชื่อเสียงเขานะ…
ปีถัดมาเธอขอฝึกงานอีก คราวนี้ไปติดต่อบริษัทเอเยนซี่ขายตั๋วเครื่องบินที่ขอนแก่น ก็เป็นสำนักงานสาขาของบริษัทหนึ่ง เมื่อผู้บริหารเขาทราบว่า มีเด็กพูดอังกฤษได้อยากมาฝึกงานแบบฟรีๆไม่ต้องจ่ายค่าแรง ก็ยินดีรับ คราวนี้เธอได้นั่งโต๊ะและช่วยงานหน้าฟร้อนท์มากขึ้น เข้าใจระบบการจัดการเรื่องตั๋วเครื่องบิน การจอง การเปลี่ยนแปลง การนัดหมาย ..ฯลฯ และเหนือกว่านั้นคือ การเรียนรู้ระบบการบริหารจัดการธุรกิจในประเด็นต่างๆ ขณะที่เธอยังเรียนไฮสคูล แต่เด็กที่เรียนมหาวิทยาลัยในเมืองไทย ปิดเทอมก็ยังไม่มีใครมาฝึกงานแบบนี้เลย ไปสุมหัวอยู่โน่น ดิพาทเมนท์สโตร์
ประเด็น:
-
แนวความคิดเรื่องการฝึกงานในกรณีคุณอะตอม นั้น ยังไม่เกิดขึ้นในค่านิยมของเมืองไทย อาจจะมีบ้างแต่น้อยมาก
-
แนวความคิดเรื่องการฝึกงานแบบนี้ ทำไมไม่เกิดจากความคิดของนักวิชาการกระทรวงศึกษาธิการ หรือ สถาบันอื่นๆ และขอรับการสนับสนุนจากบริษัทธุรกิจให้เป็นการเข้ามาเพื่อเรียนรู้มิใช่มาใช้แรงงาน ก็เห็น ธุรกิจเมืองไทยกำลังทำ CSR กันมิใช่หรือ
-
ความหมายของการศึกษานั้นกว้างขวางมากกว่าการเรียนในห้อง การฝึกงานแบบดังกล่าวก็เป็นกระบวนการเรียนรู้อีกแบบหนึ่งที่น่าสนับสนุนยิ่งนัก ทำไมไม่เกิดขึ้นในเมืองไทย
-
การฝึกงานแบบนี้ไม่มีคะแนนมาเกี่ยวข้อง เด็กเรียนรู้เต็มๆโดยไม่ต้องกังวลเรื่องคะแนน
-
การฝึกงานแบบนี้ช่วยให้เด็กเรียนรู้ว่าตัวเองถนัดอะไร และไม่ถนัดอะไร จะช่วยให้เธอ เขา ตัดสินใจเลือกเรียนในระดับอุดมศึกษาได้ชัดเจนมากขึ้น
ผมตั้งประเด็นได้อีกเยอะ แต่ให้ท่านลองตั้งประเด็นบ้างก็ดีเหมือนกันนะ..