บางมุมของระบบการศึกษา

โดย bangsai เมื่อ 1 ธันวาคม 2009 เวลา 20:19 ในหมวดหมู่ ไม่ได้จัดหมวดหมู่ #
อ่าน: 743

อะตอมเล่าว่า เริ่มฝึกงานตั้งแต่เรียนอยู่ Year 11 ที่วินเชสเตอร์ คอลเลจ กับธนาคาร Standard Chartered ในประเทศไทย ตอน Year 12 ฝึกงานกับ HSBC ที่ลอนดอน ล่าสุดฝึกงานในทีมของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง กรณ์ จาติกวณิช…

เขาเล่าว่า การฝึกงานกับธนาคารในประเทศไทย และต่างประเทศนั้นให้ประสบการณ์ที่แตกต่างและหลากหลาย เพราะในเมืองไทย ไม่ค่อยมีเด็กนักเรียนมัธยมมาฝึกงานกัน หรือเรียนรู้ดูงาน และมักจะได้รับคำถามว่า ยังเป็นแค่เด็กนักเรียนที่เรียนไม่จบ จะมาฝึกงานทำไม ในขณะที่ต่างประเทศนั้น จะมีการต้อนรับอย่างเป็นระบบกว่า…

ในต่างประเทศเขาเข้าใจว่าเราไม่ได้มาเป็น In put ให้เขา เพราะเราเป็นนักเรียนแต่จะไม่มีการสั่งให้เราไปชงกาแฟ ไปถ่ายเอกสาร แต่เขาจะจัดการให้เราได้ learning ด้วยการไปดูการทำงานของทุกแผนก โดยอาจจะใช้เวลาครึ่งวันไปที่แผนก อีกครึ่งวันก็เรียนรู้จากการดูเอกสาร

บรรยากาศการทำงานก็แตกต่างกัน ในต่างประเทศเขาค่อนข้างจะ Serious มาก แต่คนไทยก็จะดูผ่อนคลายกว่า ทำให้เราเห็นวัฒนธรรมและบรรยากาศการทำงานที่หลากหลาย….

นี่คือส่วนหนึ่งของคำให้สัมภาษณ์ พศุตม์ วัชรสินธุ์ หรืออะตอม วัย 19 ปี หลานของนายกรัฐมนตรี่อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ที่ “พรายแสงดาว” ถ่ายทอดในหน้า “เยาวชนของเรา” ในสกุลไทยรายสัปดาห์ ฉบับที่ 2877 หน้า 130

ผมติดใจเรื่องการฝึกงานของนักเรียน และการให้ความร่วมมือของหน่วยงาน และกระบวนการฝึกงานของนักเรียนเหล่านี้ในต่างประเทศ

ที่ผมติดใจเพราะเมื่ออ่านบทความนี้แล้วนึกถึงเมื่อประมาณปี พ.ศ. 2542 ที่ลูกสาวผมปิดเทอมที่ NZ กลับมาบ้านที่ขอนแก่นแล้วบอกผมว่าอยากไปฝึกงาน เราแปลกใจที่ลูกสาวเสนอในสิ่งที่เด็กที่เรียนมัธยมศึกษาทั่วไปไม่ได้พูดถึงเรื่องนี้ เธอบอกว่า “เพื่อนๆเขาไปหางานทำกันทั้งนั้นช่วงปิดเทอม หนูก็อยากทำงานบ้าง” ผมแอบยิ้มแล้วก็ติดต่อโรงแรมห้าดาวแห่งหนึ่งที่ขอนแก่น ว่ามีเด็กมัธยมต้องการมาฝึกงาน โดยไม่ต้องการค่าตอบแทน ตอนนั้นผมก็ยังไม่เข้าใจเท่าไหร่ถึงกระบวนการนี้ แต่เห็นดีด้วย เพราะมิเช่นนั้นเด็กวัยรุ่นวัยนี้ก็จะเที่ยว ดูหนัง ฟังเพลง ถลุงเงิน พ่อแม่ แต่นี่เธออยากฝึกงาน จึงสนับสนุน และโรงแรมก็รับเธอเข้าทำงาน

วันแรกเท่านั้นเธอก็ร้องให้กลับมาเลย อิอิ…

ทำไมล่ะลูก…. ผมถามเธอ เธอก็เล่าให้ฟังว่า เหมือนเหยื่อแรงงานที่จะมาทำงานขยะที่หัวหน้างานทิ้งขยะงานไว้ เธอถูกให้ไปเชคสต๊อคถ้วย ชาม แก้ว ฯลฯ ที่เป็นงานค้าง ตรวจเช็คใบสำคัญรับเงิน จัดระบบเข้าแฟ้ม เป็นงานที่หัวหน้างานทิ้งค้างไว้ทำไม่เสร็จก็โยนมาให้เด็กมาใหม่ทำต่อ …1 สัปดาห์ผ่านไปเธอบอกว่าไม่ได้เรียนรู้อะไรเลย นอกจากหัวหน้างานสั่งให้ไปทำโน่นทำนี่ ล้วนเป็นงานค้างที่ทำไม่เสร็จนั่นเอง….

เธอเกือบทนไม่ได้.. แต่เราก็นั่งคุยกับเธอว่า ไม่มีใครมาฝึกงานแล้วมาแต่งตัวสวยๆนั่งหน้าเคาท์เตอร์ ต้องผ่านงานพื้นฐาน งานขยะแบบนี้ก่อนทั้งนั้น (ทั้งๆที่ผมก็ไม่รู้เรื่องงานโรงแรม หรืองานระบบธุรกิจสักนิดเดียว) แต่ก็พยายามให้กำลังใจเธอ และเธอก็ทำงานแบบนั้นจนสิ้นสุดระยะเวลาที่ตกลงกันไว้คือประมาณ 1 เดือน ก่อนที่เธอจะเดินทางกลับไปเรียน ไฮสคูลต่อ เธอก็บอกว่า ก็ได้เรียนรู้มากเหมือนกัน เห็นหลังฉากของโรงแรมหรูระดับห้าดาวว่าเป็นเช่นไรบ้าง …ขออนุญาตไม่กล่าวถึงเพราะจะไปกระทบชื่อเสียงเขานะ…

ปีถัดมาเธอขอฝึกงานอีก คราวนี้ไปติดต่อบริษัทเอเยนซี่ขายตั๋วเครื่องบินที่ขอนแก่น ก็เป็นสำนักงานสาขาของบริษัทหนึ่ง เมื่อผู้บริหารเขาทราบว่า มีเด็กพูดอังกฤษได้อยากมาฝึกงานแบบฟรีๆไม่ต้องจ่ายค่าแรง ก็ยินดีรับ คราวนี้เธอได้นั่งโต๊ะและช่วยงานหน้าฟร้อนท์มากขึ้น เข้าใจระบบการจัดการเรื่องตั๋วเครื่องบิน การจอง การเปลี่ยนแปลง การนัดหมาย ..ฯลฯ และเหนือกว่านั้นคือ การเรียนรู้ระบบการบริหารจัดการธุรกิจในประเด็นต่างๆ ขณะที่เธอยังเรียนไฮสคูล แต่เด็กที่เรียนมหาวิทยาลัยในเมืองไทย ปิดเทอมก็ยังไม่มีใครมาฝึกงานแบบนี้เลย ไปสุมหัวอยู่โน่น ดิพาทเมนท์สโตร์

ประเด็น:

  • แนวความคิดเรื่องการฝึกงานในกรณีคุณอะตอม นั้น ยังไม่เกิดขึ้นในค่านิยมของเมืองไทย อาจจะมีบ้างแต่น้อยมาก
  • แนวความคิดเรื่องการฝึกงานแบบนี้ ทำไมไม่เกิดจากความคิดของนักวิชาการกระทรวงศึกษาธิการ หรือ สถาบันอื่นๆ และขอรับการสนับสนุนจากบริษัทธุรกิจให้เป็นการเข้ามาเพื่อเรียนรู้มิใช่มาใช้แรงงาน ก็เห็น ธุรกิจเมืองไทยกำลังทำ CSR กันมิใช่หรือ
  • ความหมายของการศึกษานั้นกว้างขวางมากกว่าการเรียนในห้อง การฝึกงานแบบดังกล่าวก็เป็นกระบวนการเรียนรู้อีกแบบหนึ่งที่น่าสนับสนุนยิ่งนัก ทำไมไม่เกิดขึ้นในเมืองไทย
  • การฝึกงานแบบนี้ไม่มีคะแนนมาเกี่ยวข้อง เด็กเรียนรู้เต็มๆโดยไม่ต้องกังวลเรื่องคะแนน
  • การฝึกงานแบบนี้ช่วยให้เด็กเรียนรู้ว่าตัวเองถนัดอะไร และไม่ถนัดอะไร จะช่วยให้เธอ เขา ตัดสินใจเลือกเรียนในระดับอุดมศึกษาได้ชัดเจนมากขึ้น

ผมตั้งประเด็นได้อีกเยอะ แต่ให้ท่านลองตั้งประเด็นบ้างก็ดีเหมือนกันนะ..

« « Prev : พระจันทร์..

Next : หมาบางทราย » »


ผู้ใช้ Facebook สามารถให้ความเห็นที่นี่ได้ โดยกด Like เพื่อแสดงตัว

6 ความคิดเห็น

  • #1 อัยการชาวเกาะ ให้ความคิดเห็นเมื่อ 2 ธันวาคม 2009 เวลา 7:14

    ตอนผมอยู่ในตำแหน่งอัยการจังหวัดมีนักศึกษามาฝึกงานหลายคนแต่เป็นระดับปริญญาตรี เป็นช่วงที่ผมกำลังสั่งให้เตรียมเผาเอกสาร จึงต้องให้อัยการตรวจสอบสำนวนเก่าๆว่าขาดอายุความแล้วหรือยัง ทำบัญชี จัดการมัด ยกเอกสารเข้าออกห้องเก็บเอกสาร วัยรุ่นชายทำงานไปบ่นไปว่าทำไมต้องมาจัดเอกสารกันตอนนี้เพราะไม่เผากันมาสิบปีแล้ว ไม่มีใครสนใจแก้ปัญหาว่าห้องเก็บเอกสารเต็มจนล้นแล้วจะทำอย่างไร พอเราเข้าไปแก้ก็กลายเป็นเพิ่มงานให้ลูกน้อง ไอ้ลูกน้องก็หาแพะก็คือนักศึกษาฝึกงาน คณะวิทยาการจัดการ
    สิ่งที่ผมสอนเขาก็คือ การวางแผน การทำงานเป็นทีม การบริหารจัดการ และผมตอบแทนพวกเขาเหมือนเขาเป็นลูกน้องคนหนึ่งในองค์กร เขาได้ไปเที่ยว เขาไปร่วมงานสังสรรค์ ปีใหม่เขาได้มีสิทธิจับรางวัลเหมือนเจ้าหน้าที่คนหนึ่ง ซึ่งเขาบอกพวกเราว่าเขามีความสุขที่ได้มาฝึกงานกับเรา เพราะตอนแรกเขารู้สึกว่าเขาถูกฝึกเป็นกรรมกร แต่ต่อมาเขาได้เรียนรู้การบริหารจัดการทำอย่างไรที่ไม่มให้ตัวเองเหนื่อย ทำอย่างไรที่ไม่ให้ตัวเองสับสน ทำอย่างไรที่จะบริหารอัยการให้ทำงานตรวจเอกสารที่จะเผาตามเวลาที่กำหนด เขาบอกว่าเขาได้มากกว่าที่คิด และทราบจากน้องๆธุรการว่าบางทีนักศึกษาฝึกงานพวกนี้ยังแวะมาที่สำนักงานและมาถามเจ้าหน้าที่ว่ามีอะไรให้ช่วยไหม ผมภูมิใจตรงนี้ครับ..

  • #2 bangsai ให้ความคิดเห็นเมื่อ 2 ธันวาคม 2009 เวลา 7:53

    ผมเห็นด้วยกับอัยการครับ ผมคิดเอาเองว่าหากเมืองไทยเริ่มสนับสนุนให้เยาวชน หรือเด็กนักเรียนมาฝึกงานในช่วงปิดเทอมกันแบบหลักการดังกล่าวแล้วก็น่าจะค่อยๆพัฒนาไป แต่บริษัทธุรกิจอาจมีมุมมองว่า เป็นภาระ เป็นต้นทุน ไม่มีใครมาคอยดูแแล เพราะต่างก็ยุ่งทั้งนั้น แต่บริษัทใหญ่ๆน่าจะทำได้ และหากทำเช่นนี้อาจมีแรงกระตุ้นโดยลดการเสียภาษีให้อะไรทำนองนี้ แต่บริษัทอาจจะมีคนรับผิดชอบโดยตรงและมหาวิทยาลัยอาจจะฝึกอบรมคนนี้สักหน่อยถึงหลักการ วิธีการ กระบวนการ ก็น่าจะเกิดประโยชน์ทั้งสองฝ่าย ผมว่าเป็น CSR อย่างหนึ่งนะครับ

    กรณีของสำนักงานอัยการทำเช่นนั้นก็สมควรแล้ว ผมเข้าใจดีว่าแต่ละสำนักงานมีลักษณะงานที่แตกต่างกัน อาจจะจำเป็นต้องใช้แรงงานบ้าง โดยเฉพาะพวกที่กำลังเรียนปริญญาตรี หรือจบปริญญาตรีแล้วมาฝึกงาน ก็สมควร แต่ควรที่จะสอน แนะนำ ต่างๆด้วยอย่างที่อัยการทำ ก็จะเกิดประโยชน์ทั้งสองฝ่ายเช่นกันครับ ที่ผมเจอะก็คือ เหมือนมาเที่ยวมากกว่า และใช้เวลาเพียง 1 สัปดาห์เท่านั้น ไม่ได้อะไรติดตัวไปเท่าไหร่เลย….

  • #3 สาวตา ให้ความคิดเห็นเมื่อ 2 ธันวาคม 2009 เวลา 18:07

    ที่ร.พ.ก็มีเด็กปวศ./ปวช.มาฝึกงานบ่อย แล้วยังมีนักเรียนมัธยมมาฝึกงานด้วย ทั้ง 2 กลุ่มถูกส่งมาโดยสถานศึกษาด้วยเจตนาไม่เหมือนกัน กลุ่มแรกให้มาฝึกทำงานอะไรก็ได้ กลุ่มหลังให้มาเรียนรู้ว่าถ้าหากจะเลือกทำงานอย่างที่คิดเอาไว้และงานเหล่านั้นอยู่ในร.พ. งานนั้นมันเหมาะกับจริตของตัวไหม

    ในแง่ของวิชาการ เด็กที่มาฝึกงานก็ได้ประโยชน์บ้าง ไม่ได้บ้าง เพราะว่าขึ้นอยู่กับได้ลงไปคลุกอยู่ที่หน่วยไหน บางหน่วยก็ให้งานฝึกแบบเป็นลูกมือช่วยเดินหนังสือ ช่วยจัดการเรื่องเล็กๆน้อยๆที่ไม่มีน้ำหนักสำคัญมากมายแต่ก็เป็นเรื่องค้างคา บางหน่วยก็เป็นเรื่องให้ลงมือทำงานกันไปเลย ส่วนใหญ่ที่เด็กในกลุ่มแรกจะได้ฝึกทำก็จะเป็นการได้เพิ่มทักษะพิมพ์งานด้วยคอมพิวเตอร์ ส่วนเด็กในกลุ่มหลังไม่ใคร่ได้อะไรในด้านวิชา

    ที่แน่ๆเด็กทั้งสองกลุ่มที่พาตัวเข้ามาในร.พ.ได้ทักษะเชิงสังคม และติดตัวกลับไปในเรื่องของการปรับวิธีคิดและตัดสินใจอนาคตของตัวเอง

    สำหรับเด็กที่หลุดมาในมือของน้องก็มีเหมือนกัน ถ้าหากว่าได้เจอก่อน คนที่เข้ามาระดับปวศ./ปวช.ที่อยากเรียนรู้ก็จะมอบงานให้เขาไปทำสอดคล้องกับวิชา่เอกที่เรียน เพื่อให้ตัวเขาได้มองเห็นทักษะที่ต้องกลับไปเติมเต็มเมื่อได้กลับสู่สถาบันศึกษาเพื่อศักยภาพตัวเอง คนที่เข้ามาระดับมัธยมก็มีเหมือนกันก็ให้ฝึกทำในรูปช่วยงาน แบบนี้มีค่าเหนื่อยให้ตามแต่ว่าเป็นรูปแบบงานอะไร ที่ให้ก็ด้วยคิดว่าเป็นแรงจูงใจให้เขามาเรียน แล้วเราก็ได้คนช่วยทำงานเล็กๆน้อยๆที่ค้างคาอยู่ให้สิ้นสุดลง เดี๋ยวนี้เด็กๆพวกนี้ สำเร็จการศึกษากันแล้วและได้งานดีทุกคน

    เด็กๆระดับปริญญาตรีก็เริ่มมีที่มาฝึกงานด้วย คนที่ผ่านเข้ามาแล้วพบว่า มาฝึกก็เพียงเพื่อหาเวลาพักแล้วที่มาฝึกงานเพราะเป็นภาคบังคับของสถาบันที่จะต้องก้าวเข้ามา บางคนก็พาตัวมาเพื่อเรียนรู้เพิ่มด้วยความสมัครใจ เจอเด็กประเภทอย่างแรกรู้สึกว่าต้องทำใจเหมือนกัน แล้วก็ปล่อยไป แต่ถ้าพบเด็กประเภทอย่างหลังรู้สึกดีใจไปกับเด็กด้วย

    โชคดีที่พบแบบที่มาฝึกด้วยไม่อยากจะทำอะไร แค่ใช้เวลาตามภาคบังคับ เจอไม่มากมาย

    ส่วนใหญ่ที่น้องทำคือ หาโอกาสเจอครูที่เป็นพี่เลี้ยง เพื่อแลกเปลี่ยนถามมีวัตถุประสงค์อย่างไร สถาบันแห่งไหนไม่ระบุมา พี่ก็ใช้หลักช่วยให้เด็กได้ฝึกในเรื่องที่คาดว่าจำเป็นใช้สำหรับการทำงานเมื่อเด็กจบไปค่ะ

  • #4 bangsai ให้ความคิดเห็นเมื่อ 2 ธันวาคม 2009 เวลา 19:56

    ได้อ่านของน้องหมอแล้วก็สบายใจครับ ที่เห็นโรงพยาบาลได้มีส่วนปั้นคน เชื่อว่าสถาบันก็อยากจะให้เด็กที่มาฝึกงานได้เรียนรู้ ได้ประสบการณ์ ได้แนวคิดติดตัวกลับไป แต่เด็กนั้นหลายคนอาจจะคิดว่าทำให้มันจบไป ไม่เห็นจะสำคัญอะไร อย่างที่ผมเจอะบางปี เห็นแล้วก็ส่ายหัว เออ เองมาเสียเวลาทำไม…หากไม่ตั้งใจจะเรียนรู้

    สำนักงานบ้านเรากับของต่างประเทศน่าจะแตกต่างกันเยอะอยู่ จะทำอย่างไรให้เด็กได้เรียนรู้ ได้ความคิดนั่น บางทีอาจารย์น่าที่จะมาปรึกษากับสถาบันอย่างที่ น้องหมอทำน่ะครับ ในอนาคตเราน่าที่จะพัฒนาไปให้ไกลไปกว่านี้หากมีการพัฒนาความคิดนี้ไปด้วยกันระหว่างสถาบันการศึกษากับสำนักงานที่เด็กไปฝึกงานครับ

  • #5 ตาหยู ให้ความคิดเห็นเมื่อ 4 ธันวาคม 2009 เวลา 13:53

    เป็นบันทึก เปิดโจทย์บนต่อมความคิดผมเลยครับ
    อ่านบันทึกนี้ ได้เห็นประเด็นของพี่บางทราย แล้วผมชอบครับ
    ..
    ที่ทำงานผม ได้เด็กฝึกงานมาที่ไร โดนจับไปอยู่ธุรการ เดินเอกสาร
    ผมก็พยายามจับทำงาน ให้เป็นระบบ แต่จะเจอแต่ ทำไม่ได้ ทำไม่เป็น จนเจอที่ว่า
    คนเก่ง ฝึกงานเอกชนหมดแล้ว
    ..
    ครั้งหนึง ว.การอาชีพ เค้าส่งฝึก 4เดือนเต็ม เท่ากับ1เทอมพอดี
    ให้ผมเป็นอาจารย์นิเทศฝ่ายสถานทำงาน ให้โจทย์งานได้เต็มที่ แต่ต้องประเมินผล ตามรายวิชา ที่กำหนด ประมาณ 6 วิชา
    เหมือนเอาห้องเรียน มาไว้ที่ทำงานผม แล้วให้ งาน เป็นผู้สอน
    ว.การอาชีพ ตามดูด้วย
    เด็กได้เรียนรู้งานจริง ทุกวันนี้ ไปทำงานที่อื่นก็ยังติดต่อกันอยู่เลยครับ
    ..
    จะมาทบทวน โจทย์ ไปเรื่อยๆครับ

  • #6 bangsai ให้ความคิดเห็นเมื่อ 4 ธันวาคม 2009 เวลา 14:51

    ใช่เลยตาหยู

    นี่แหละการเรียนที่แท้จริงอยู่ตรงนี้ หรือจะกล่าวอีกทีก็คือ กระบวนการเรียนแล้วเ้กิดผลสัมฤทธิ์จริงๆอยู่ตรงฝึกงาน เอาความรู้มาใช้ในสถานการจริง อันนี้ในแง่ของเด็กที่เรียนแล้วมาฝึกงาน การเรียนหลักการนั้นจำเป็น แต่การฝึกงานจะช่วยให้เด็กเข้าถึง สัมผัส หลักการนั้นสำคัญมากกว่า เราจึงต้องช่วยสานลูกต่อจากสถาบันการศึกษานั้นๆ และเด็กก้ได้จากเรา เผลอๆมากกว่าในห้องเรียนอีกนะ เพราะการฝึกงานมันมีอะไรมากกว่าหลักการ เช่น บรรยากาศ คน สาระอื่นๆที่เกี่ยวข้อง การเชื่อมโยงกับสิ่งอื่นๆ มารยาท กาละเทศะ ตำแหน่ง การปฏิบัติตัวต่อบุคคลต่างๆ โอยสารพัด ซึ่งหลักการนั้นมันไม่ได้สัมผัสตรงนี้ และหลักการมันก็แห้งเกินไป

    สำคัญตรงที่ว่า เด็ก สนใจแค่ไหน เอาจริงจังแค่ไหน หรือ สำนักงานที่รับเด็กฝึกงานจะมีบุคลากรที่เอาใจใส่เรื่องนี้กับเด็กฝึกงานแค่ไหน หรือแค่ให้สถานที่ฝึกงาน อันนี้ก็สำคัญ

    สรนุปว่าพี่ให้น้ำหนักการฝึกงานมากกว่าห้องเรียน และสำนักงานที่รับฝึกงานควรจัดบุคลากร และประสานงานกับสถาบันการศึกษาที่ส่งเด็กมาเรียนรู้ด้วยว่าเขาต้องการอะไร มากน้อยแค่ไหน

    แต่ที่ต่างประเทศเขาก้าวไปกว่าเราคือ เด็กมัธยมก้าวไปหางานฝึกเองเลย…?
    แล้วเด็กพวกนี้จะมีฐานแน่นในการเรียนจบแล้วไปทำงานจริงๆ

    ขอเอาเรื่องส่วนตัวมาเล่าให้ฟัง
    ลูกสาว ฝึกงานตั้งแต่มัธยม ดังกล่าว แม้จะไม่มากมาย แต่ก็สร้าง Perception ให้กับเขามากทีเดียว เช่นเมื่อเขาเรียนจบแล้วก้าวออกทำงาน ความพร้อมเขามามีกกว่า และก้าวไปเร็วกว่าในเรื่องการเรียนรู้งาน และการสร้างสรรค์ผลงาน จนสถานที่ทำงานนั้นๆพอใจ ตอนที่เขาลาออกนั้น เพราะงานล้นมือเกินไป คือ ทำทุกวันจนถึงสามทุ่ม หยุดวันเดียวคือเสาร์ เขาไม่มีเวลาเป็นตัวของตัวเอง และช่วงเวลาที่จะไปเรียนต่อ จึงลาออกไปหางานใหม่ที่หยุดเสาร์อาทิตย์ด้วยและเลิกงานแค่ หกโมงเย็น ที่ทำงานเก่าดึงตัวไว้และมอบงานที่ดีกว่าให้ เธอก็ไม่เอา เพราะจะไปก้าวข้ามเพื่อนๆ จึงทำงานใหม่ดีกว่า

    เราคุยกัน พบว่า เธอ มีฐานความพร้อมในการทำงานมากกว่า ปรับตัวได้เร็วกว่า หนึ่งในองคืประกอบคือการฝึกงานมาตั้งแต่มัธยมที่เธอสมัครใจเองครับ

    แต่อย่างไรก็ตามเธอยังต้องเรียนรู้และเผชิญอุปสรรคอีกมาก เพราะอายุการทำงานยังน้อยมา แค่เริ่มต้นเท่านั้นเอง

    ขอบคูณตาหยู ขอบคุณสำนักงานตาหยูที่มีส่วนในการสร้างคนของประเทศเรา


แสดงความคิดเห็น

ท่านอยากจะเข้าระบบหรือไม่


*
To prove you're a person (not a spam script), type the security word shown in the picture. Click on the picture to hear an audio file of the word.
Click to hear an audio file of the anti-spam word


Main: 0.59227108955383 sec
Sidebar: 0.24874401092529 sec