บ้านติดวัด

616 ความคิดเห็น โดย bangsai เมื่อ 7 ธันวาคม 2009 เวลา 12:11 ในหมวดหมู่ ไม่ได้จัดหมวดหมู่ #
อ่าน: 7855

บ้านเดิมนั้นอยู่ติดกับวัด มีคลองเล็กๆคั่นอยู่ ทั้งหมู่บ้านก็มาทำบุญที่วัดนี้ หรือจะเรียกอีกอย่างคือ ชาวบ้านมีศรัทธาที่วัดนี้ แต่บ้านผมแม้จะมีบ้านติดวัดนี้ก็ไปทำบุญที่วัดกำแพง ซึ่งห่างออกไปสักสองร้อยเมตร เพราะเป็นวัดที่พ่อเป็นครูอยู่ที่นั่น คุณย่าไปจำศีลที่นั่นช่วงวันพระ อาจเรียกว่าเป็นวัดที่ตระกูลทางพ่อศรัทธา ส่วนวัดที่อยู่ติดบ้านนั้นเป็นศรัทธาของตระกูลทางแม่


แต่ก็มาทำบุญที่วัดติดบ้านเป็นครั้งคราว เมื่อหลวงตามาบิณฑบาตก็ถวายข้าวปลาอาหารเป็นประจำ ช่วงเข้าพรรษา พระที่วัดจะมีมาก จำได้ว่าประมาณ 10 กว่ารูปขึ้นไป สังคมสมัยก่อนนั้นเมื่อผู้ชายครบอายุบวชก็จะบวชไม่เว้นว่าง ทุกหลังคาเรือนจะมีคนที่บวชเรียนที่วัดข้างบ้านมาแล้วทั้งสิ้น มาสมัยที่มีการสนับสนุนการเรียนสูงๆ นี่แหละที่การบวชเรียนลดลงจนบางปีไม่มีใครบวชด้วยซ้ำไป มีแต่หลวงตาอยู่รูปเดียว.. สังคมเป็นอะไรไป..???

สมัยเด็กกับเพื่อนๆชอบไปเล่นที่วัดตูมที่ติดบ้านเพราะกว้างขวาง หลวงตาก็ใจดีไม่ดุด่าอะไร แถมบางวันก็ได้กินขนมด้วย

ที่หลังวัด จะมีส้วมพระ เขาเรียก “ถานพระ” เวลาพระท่านฉันท์เช้าแล้วสมัยนี้ก็เรียกไปเข้าห้องน้ำ สมัยก่อนเรียก “ไปถาน..” ซึ่งถานพระนั้นสร้างเป็นอาคารโบราณก่ออิฐถือปูนหลังคามุมกระเบื้อง ยกพื้นสูง แบ่งเป็นห้องๆ ใต้ถุนโล่ง ส้วมก็เป็นแบบนั่งยองๆแบบโบราณ พอเดาออกนะครับ ดังนั้นบริเวณถานนี้จึงส่งกลิ่นตลอด และมักจะมีต้นไม้มืดครึ้ม เพราะไม่มีใครมาทำอะไรแถวนี้ นอกจากมา ถานเท่านั้น เด็กๆจึงกลัวเพราะมืดครึ้ม อยากเข้าถานพระก็ได้ไม่ห้าม แต่มีแบ่งห้องเฉพาะไว้

แต่ไม่ไกลจากหลังวัดที่เป็นถานพระนั้นมีครอบครัว ตาปลั่ง ยายอ้อย มีลูกสองคน ชายคนหญิงคน ยากจน ไม่มีที่นาทำกินจึงทำมาค้าขายเล็กๆน้อยๆตามหมู่บ้าน หรือยามที่วัดมีงานต่างๆ เช่น งานศพ งานประเพณีท้องถิ่น และเวลามีฉายหนังกลางแปลง ยายอ้อยก็จะพาลูกๆมาขายข้าวเกรียบว่าวบ้าง น้ำแข็งใสบ้าง และขนมสำหรับเด็กๆ

ปกติยายอ้อยจะขายกล้วยทอด และข้าวเม่าทอด ก็พอเลี้ยงครอบครัว ตาปลั่งก็รับจ้างทั่วไป ลูกๆสองคนก็ไปช่วยตาปลั่งบ้าง ยายอ้อยบ้าง ลูกสาวยายอ้อยชื่อนกเล็ก ตัวดำปืด แต่ชอบทำตัวเป็นสาวเอาอะไรมาทาปากแดงแป๊ด พวกเราชอบแซวว่าเป็นอีกาคาบพริก..

สมัยเด็กๆผมสงสัยว่า ยายอ้อยไม่มีที่นาทำกินจะเอาข้าวมาจากที่ไหนกิน รายได้แกไม่มากอะไร วันหนึ่งผมไปหาหลวงตาบนกุฏิ แม่ให้เอาข้าวไปถวายหลวงตา เนื่องจากหลวงตาเป็นพระรูปเดียวที่วัดตูมนี่ และศรัทธาจากหมู่บ้านก็มากเกินที่หลวงตาจะฉันท์ภัตตาหารทั้งหมดได้ ผมเห็นหลวงตาแบ่งข้าวปลาอาหารให้ตาปลั่ง ยายอ้อยนั่นเอง

แม้ข้าวที่เหลือ หลวงตาก็จะเอาใส่กระด้ง ผึ่งแดด ให้แห้งดีแล้วก็เก็บไว้ แล้วเอาไปให้ ครอบครัวตาปลั่งยายอ้อยหลังวัดนั่นเอง

ข้าวสุกตากแห้งนี้เอาไปหุงกินต่อได้ แค่ต้มน้ำร้อนเอาข้าวตากแห้งนี้ใส่เข้าไป เมื่อได้ที่ เอาน้ำออก ดงให้สะเด็ดน้ำ ก็เหมือนข้าวหุง เอามากินได้ คนสมัยโบราณออกป่า ออกศึก เดินทางไกลต่างถิ่น ก็ใช้วิธีนี้..


ความเอื้ออาทรของวัดกับบ้านมีเคียงคู่มาตลอดของสังคมพุทธศาสนาของเรา

เดี๋ยวนี้วัดกับบ้าน มีความสัมพันธ์เปลี่ยนไปเยอะ เมื่อสังคมเปลี่ยนไป แต่ในชนบทยังคงมีความสัมพันธ์เดิมๆอยู่มาก

วัดเป็นองค์ประกอบที่สำคัญของทุนทางสังคมเดิมๆของไทยเรา..



Main: 0.020982980728149 sec
Sidebar: 0.04786491394043 sec