“ผลึก” Conductor หล่นที่ มข.4

10 ความคิดเห็น โดย bangsai เมื่อ มกราคม 9, 2009 เวลา 14:37 ในหมวดหมู่ เรื่องของชีวิต, เฮฮาศาสตร์ #
อ่าน: 2103

สังคมเราผิดพลาดที่ตรงไหน จึงทำให้เด็กมีลักษณะ คิดเองไม่เป็นคำอธิบายคงหลากหลายแต่ส่วนใหญ่คงไปลงที่ระบบการศึกษา บางคนก็ว่าเพราะครอบครัวอบรมมาไม่ดี บางคนไปไกลถึงว่าวัฒนธรรมสังคมของไทยเรามีส่วนทำให้เกิดเช่นนั้น

ผลึกของคอนอีกสำนวนหนึ่งคือ ให้อิสระทางความคิด ดีกว่าการสั่ง ภาพคร่าวๆที่ผมทราบคือ คอนต้องบริหารพนักงานในบริษัทที่มีมากถึง 200 คนเศษ โดยปกติคนเป็นนายนั้นก็ต้องใช้คำสั่งแก่พนักงานทั้งหลายเพื่อให้ปฏิบัติภารกิจตามที่ผู้บริหารสั่งเพื่อให้การเคลื่อนตัวขององค์กรเข้าสู่เป้าหมาย..

ความเข้าใจนี้ไม่ผิด แต่เป็นแบบเก่าแล้ว การบริหารสมัยใหม่นั้น ได้หยิบข้อบกพร่องจากอดีตมาแก้ไข และพบว่า การเปิดบรรยากาศแห่งความมีอิสระทางความคิดที่จะสร้างสรรค์ภารกิจออกมานั้น จะก่อให้เกิดการทำงานที่มีประสิทธิภาพ คุณภาพมากกว่าหลายเท่าตัวนัก

ปรัชญาบนพื้นฐานความคิดที่ว่า ให้อิสระทางความคิด ดีกว่าการสั่งมาจากความเชื่อว่า คนเราแต่ละนั้นมีศักยภาพภายใน เมื่อเราเชื่อเช่นนั้น เราก็เพียงให้โจทย์เขาไปแล้วเขาไปสร้างความสำเร็จเอง ซึ่งจะพบว่ามีเรื่องทึ่งเกิดขึ้นมากมาย เพราะ ศักยภาพของพนักงานที่เป็นพลังภายในของเขาถูกปลดปล่อยออกมา…. และมักพบว่ามีคุณค่าในหลายๆด้ายเหลือเกิน เช่น

  • พนักงานผู้คิดค้นและสร้างสรรค์งานชิ้นนั้นออกมานั้นมีความภูมิใจในงานชิ้นนั้น

  • ผู้บริหารได้พบเพชรงามในองค์กรมากขึ้น

  • พบว่างานที่สร้างสรรค์นั้นดีกว่าที่ผู้บริหารคิดไว้ตั้งแต่แรกอีก

  • ส่งผลสะเทือนไปถึงเพื่อนร่วมงานอื่นๆที่ต้องหันมาใช้ความคิดมากขึ้นกว่าการเพียงรอรับคำสั่ง

  • โดยรวมเกิดบรรยากาศที่ดี ที่สร้างสรรค์ เพราะพนักงานมีความผูกพันกับองค์กร เขารู้สึกว่าเขาเป็นส่วนหนึ่งของบริษัทและมีความสำคัญ ที่เราเรียกว่าเป็นหุ้นส่วน (Partnership)

  • องค์กรใดที่มีบรรยากาศเช่นนี้ มีผลกระทบในทางที่ดีในระยะยาวต่อเนื่องไป เพราะพนักงานจะไม่หยุดคิดสร้างสรรค์เมื่องานชิ้นนั้นจบลง เขาจะคิดต่อเนื่องต่อไปอีกในอนาคต โดยที่นายไม่ต้องสั่ง เขาจะคิดต่อไปโดยอัตโนมัติว่าจะพัฒนาสิ่งนั้นสิ่งนี้ให้ดีขึ้นได้อย่างไรได้อีก ..ฯลฯ…

นี่เป็นผลของการเข้าใจความเป็นมนุษย์ ศักยภาพของคน และการรู้จักบริหารจัดการที่เหมาะสม ก็จะได้ Output, Outcome จนถึง Impact ขององค์กรที่สุดยอดได้ไม่ยาก

แน่นอนครับองค์กรของเรามิอาจมีพนักงานที่มีศักยภาพซ่อนอยู่เต็มตัวไปทุกคน บางคนก็เล็ดลอดเข้ามาจากการ Screen ที่บกพร่อง หละหลวม โดยการสอบ สัมภาษณ์ และกระบวนการอื่นๆที่คัดพนักงานเข้ามา เมื่อผู้บริหารเห็นก็ต้องค้นหากระบวนการสร้างเขาขึ้นใหม่ ให้โอกาสเขาพัฒนาขึ้นมา ซึ่งมีหนทางมากมาย ทุกท่านก็แสวงหาสิ่งนี้อยู่แล้ว น้องคนดอย.. เฮียตุ๋ย…. เข้าใจเรื่องเหล่านี้ดี

เรื่อง ให้อิสระทางความคิด ดีกว่าการสั่งและความเชื่อขั้นพื้นฐานที่ว่า ..คนเราแต่ละนั้นมีศักยภาพภายใน ผมพบความจริงนี้ตั้งแต่ชาวบ้านไปจนถึงคนในทุกระดับ เช่นที่ พ่อบัวไล หรือสหายธีระ http://gotoknow.org/blog/dongluang/86222 พ่อแสน วงษ์กะโซ่ http://gotoknow.org/blog/dongluang/174821 และที่ http://gotoknow.org/blog/dongluang/171970

ไม่เชื่อท่านลองหันกลับไปพิจารณาดูคนในองค์กรของท่านซิ

มีศักยภาพซ่อนอยู่แน่ๆเลยครับ…


“ผลึก” Conductor หล่นที่ มข.3

4 ความคิดเห็น โดย bangsai เมื่อ มกราคม 8, 2009 เวลา 23:20 ในหมวดหมู่ เรื่องของชีวิต, เฮฮาศาสตร์ #
อ่าน: 2542

มีอีกวลีหนึ่งที่คอนกล่าวในที่ประชุมนั้นและผมก็ชอบมากด้วย ที่ว่า ชีวิตไม่ใช่ข้อสอบปรนัย คำนี้บ่งบอกความหมายกว้างขวาง คอนได้ผ่านปัญหาอุปสรรคมามากทั้งหน้าที่การงาน การบริหารลูกน้อง และอื่นๆ แม้ว่าความรู้ในด้านต่างๆจะพัฒนามากมาย และมีวางขายในร้านหนังสือทั่วไป แต่เหล่านั้นเป็นเพียงหลักการ หลักคิด เงื่อนไขของปัญหาที่เกิดขึ้นต่อหน้านั้นมันแตกต่างไปจากหลักการนั้นๆ ที่พูดเพียงกว้างๆ

ผมชอบที่ เฒ่าแก่ ส่งลูกของตัวเองที่อุตสาห์เรียนหนังสือจบเมืองนอกเมืองนา ให้ไปทำหน้าที่เสมียนระดับล่างก่อน เพราะต้องการให้รู้จักงาน รู้จักคน รู้จักรายละเอียดในงานที่เป็นกำลังสำคัญส่วนหนึ่งของกิจการ แล้วค่อยยกระดับไปบริหารกิจการในท้ายที่สุดด้วยความรอบรู้แท้จริง เพราะสัมผัสมาด้วยตัวเองแล้ว

เฒ่าแก่ ก็จะมั่นใจว่า ลูกตัวเองเป็นผู้รู้จริงก็จะสามารถไว้ใจในการดำเนินกิจการต่อไปได้ แน่นอนระหว่างนั้นอาจจะผิดพลาด บกพร่องก็เป็นเรื่องมีประโยชน์ทั้งสิ้นเพราะลูกคนนั้นจะรู้ซึ้งถึงสิ่งที่ควรทำและไม่ควรทำเป็นต้น

ชีวิตไม่ใช่มีตัวเลือกให้หมดแล้ว หลายครั้งชีวิตต้องเผชิญอุปสรรค ปัญหาที่ไม่มีตัวเลือก แต่ต้องเดิน ผมยังชอบตัวแบบชีวิตที่ก้าวจากดินไปสู่ดาวของน้องรักคนหนึ่ง และผมชอบที่จะยกตัวอย่างเขาเสมอๆ เพราะชีวิตเขาเป็นอัตนัยทั้งหมด ไม่มีตัวเลือกเลย แต่การตั้งมั่นในความวิริยะอุตสาหะ และค่อยๆเดินไปนั้น เขาก็สามารถประสบผลสำเร็จได้ ยากที่คนทำงานพัฒนาตัวเล็กๆคนหนึ่งจะก้าวไปถึงจุดยืนตรงนั้นได้ ขออนุญาตฉายซ้ำ

เพื่อนนักพัฒนารุ่นน้องที่ไปคว้าสาวชาวบ้านมาเป็นคู่ชีวิต เมื่อโครงการจบก็ตกงาน ไม่มีอะไรจะทำ จึงพากันลงไปกรุงเทพฯเอาลูกน้อยลงไปด้วยไปใช้ความรู้การทำน้ำเต้าหู้ขายตามริมถนน แต่ก็โดนตำรวจเทศกิจไล่จับเพราะไปกีดขวางทางเดินเท้า ต้องหิ้วหม้อน้ำเต้าหู้ร้อนๆ อุ้มลูกด้วย หนีตำรวจ เพราะหากถูกจับจะไม่มีค่าปรับ

แต่ก็อยู่ไม่ได้เพราะเทศกิจจ้องตลอด จึงขึ้นไปบ้านเชียงใหม่ ไปเช่าเครื่องทำสำเนารับจ้างตามริมถนน สามีไปทำงานโรงแรมเก่าๆ พอมีเวลาเหลือก็ไปรับจ้างทำสวนไม้ดอกตามหมู่บ้านจัดสรร และรีสอร์ทต่างๆที่กำลังก่อสร้างมากมายในเชียงใหม่สมัยนั้น

มีโชคเข้ามา เพราะคนญี่ปุ่นคู่หนึ่งเห็นเด็กหนุ่มสาวทำงานอย่างขยันขันแข็งเช่นนี้ จึงชวนไปทำงานส่งออกดอกไม้ประเภทหัวใต้ดิน เช่น ต้นแสงตะวัน โดยไปหาที่ดินและตระเวนเก็บสะสมหัวดอกทานตะวันจากที่ต่างๆทั่วประเทศ ตลอดจนต่างประเทศใกล้เคียง มาเพาะแล้วส่งออกไปญี่ปุ่น

งานหนักเอา เบาสู้ และใช้ความคิดพัฒนากิจการไปเรื่อยโดยที่ไม่มีตำราที่ไหนสอน คลำไปกันเอง หาความรู้เอง เรียนรู้เอง ลงมือทำเอง ไปแม่โจ้ ไปคณะเกษตร มช. ไปโครงการพระราชดำริ ไปทุกที่ที่จะมีความรู้มาพัฒนากิจการนี้ ตลอดจนไปเรียนรู้การทำ Tissue culture เพื่อมาขยายพันธุ์พืชที่ตระเวนสะสมไว้ในแปลงนั้น

จากไม้หัวไปสู้ไม้ใบ จากไม้ใบไปสู่ไม้ดอก จากการส่งไปญี่ปุ่นประเทศเดียวขยายไปออสเตรเลีย ยุโรป เปิดโรงงานทำน้ำสะอาดขาย และท้ายที่สุดทำน้ำสมุนไพรคาวตองขาย จากเด็กบ้านนอกในป่าสะเมิง จบเพียง ป.4 จากเด็กที่ผมขุดขึ้นมาจากหลังบ้านมาเป็นครูพี่เลี้ยงเด็กก่อนวัยเรียน และเมื่อก้าวมาสังคมใหญ่ เธอก็สร้างตัวเธอเองจนเป็นแม่เลี้ยงที่จังหวัดลำพูนในปัจจุบันนี้

ชีวิตเธอไม่ใช่มีทางเลือกใดๆเลย ทุกก้าวคือการคลำไปกับความมุมานะ กับสมองที่มุ่งหาความรู้เติมเข้ามา มันเป็นชีวิตที่เด็กบ้านนอกประสบผลสำเร็จที่น้อยคนนักจะทำได้

นี่คือตัวอย่าง ชีวิตไม่ใช่ข้อสอบปรนัย ที่หลับตาจิ้มเอา แต่ต้องค้นคว้า เรียนรู้ อดทน มุมานะ พยายาม ก่ออิฐชีวิตไปทีละแผ่น….

จากเด็กกะโปโล บ้านนอก มาเป็นผู้บรรยายให้แก่นักศึกษาคณะเกษตรศาสตร์หลายสถาบันที่เข้ามาเรียนรู้..!!

จากเด็กครูพี่เลี้ยงเด็กก่อนวัยเรียนมาเป็นนักธุรกิจส่งออก….!!!!

จากเด็ก ป. 4 กลายมาเป็นผู้บรรยายในมหาวิทยาลัยต่างประเทศ..!!!!!!????? ทั้ง ออสเตรเลีย นิวซีแลนด์ และยุโรปบางประเทศ…!!!???

สักวันหนึ่งอยากจะพาเฮฮาศาสตร์ไปที่นั่นกัน เธอยินดีต้อนรับแม้จะไปกัน 100 คนเธอก็สู้ไหว

ผมหละแอบชื่นชมผลของการทำข้อสอบอัตนัยของเธอจริงๆ


“ผลึก” Conductor หล่นที่ มข.2

11 ความคิดเห็น โดย bangsai เมื่อ มกราคม 8, 2009 เวลา 13:30 ในหมวดหมู่ สังคม บ้านเมือง ประชาธิปไตย, เฮฮาศาสตร์ #
อ่าน: 2622

น้องอึ่ง เรียกร้องให้เพิ่มเติม ผลึกของ Conductor ที่ มข. ซึ่ง Conductor ก็รับปากว่าเมื่อเดินทางถึงกรุงเทพฯแล้วจะขยับเรื่องนี้ต่อ ผมขอถือโอกาสเก็บตกมาเผยแพร่ก่อนแล้วกัน ส่วนที่เหลือให้คอนเขาเต็มที่เลย หรือในส่วนที่ผมกล่าวต่อไปนี้หรือช่วงที่ 1 ขาดตกบกพร่องอย่างไรก็กรุณาเติมเต็มด้วยครับ

คอนพูดถึงโปรแกรม “OpenCARE” ผมไม่ทราบรายละเอียดมากนัก แต่เดาว่าเกี่ยวข้องกับกรณี Tsunami ที่ฝั่งอันดามัน ซึ่งคอนมีส่วนร่วมในกระบวนการช่วยเหลือด้วย และมีผลกระทบทางความคิดเห็นมากมาย โดยเฉพาะการหาทางสร้างเครื่องเตือน หรือชุดสำเร็จในการแก้ปัญหาหากเกิดกรณี Disaster ใหญ่ๆเช่นนั้นขึ้นมาอีกในอนาคต หากเข้าใจผิดขออภัยด้วยนะครับ แต่เกี่ยวกับสิ่งที่ คอน กล่าวถึงระบบการเตือนภัย และการสร้างความพร้อมในการแก้ปัญหา นี่คือประเด็นที่น่าสนใจมาก ผมเองก็มีบทเรียนเรื่องนี้และเตือนตัวเองบ่อยครั้งเหมือนกัน

ผมจำได้ว่านานมาแล้วที่เครื่องบินการบินไทยตกที่ภูเก็ตมีผู้โดยสารเสียชีวิตมากมาย หนึ่งในนั้นเป็นเพื่อนรักของคนข้างกายผมด้วย เมื่อเกิดกรณีร้ายแรงเช่นนั้น การบินไทยผู้รับผิดชอบโดยตรง ทำการแก้ปัญหานี้อย่างไร…..น่าสนใจมากครับ

หากถามผมผู้ไม่รู้เรื่องผมก็คงตอบไปตามประสา ว่า ผู้บริหารการบินไทยต้องประชุมด่วนและ สร้างมาตรการต่างๆออกมาเป็นระยะแล้วมอบหมายพนักงานไปรับผิดชอบตามลำดับขั้น……สั่งจ่ายงบประมาณไปใช้จ่ายในกรณีนี้ และ ฯลฯ…..

ผิดถนัดเลยครับ…..

วิสาหกิจที่มีงบประมาณหมุนเวียนนับหมื่นล้าน แสนล้าน มีพนักงานมากมาย มีการแข่งขันในสากล มีผู้เกี่ยวข้องมากมายโดยเฉพาะผู้เสียหาย …ฯลฯ.. จะมานั่งประชุมทำเช่นนั้นไม่ทันกิน..

แล้วการบินไทยทำอย่างไร…

เท่าที่ผมทราบนะครับ(ข้อมูลนี้เมื่อหลายสิบปีที่แล้ว ปัจจุบันคงพัฒนาไปไกลมากแล้ว) การบินไทย หรือการบินไหนๆก็ตามจะมาคอยให้เครื่องบินตกแล้วมาประชุมแก้ปัญหาแบบที่ผมกล่าวนั้นไม่ได้ ต้องทำล่วงหน้าครับ….

ต้องมีการสร้างสมมติฐานว่าเครื่องบินตก แล้วบริษัทการบินไทยจะทำอย่างไร

  • มาตรการแก้ปัญหาเฉพาะหน้า ระยะกลาง ระยะยาวถูกกำหนดออกมาก่อนแล้ว

  • บุคลากรที่จะต้องรับผิดชอบถูกกำหนดแล้ว

  • เครื่องไม้เครื่องมือที่ต้องใช้เตรียมพร้อมแล้ว

  • มีการฝึกอบรมทุกฝ่ายทุกคนให้พร้อมใช้มาตรการนั้นแล้ว

  • งบประมาณที่ต้องใช้เตรียมพร้อมแล้ว

  • หากมีคนเสียชีวิต ที่เป็นทั้ง พุทธ คริสต์ อิสลาม จะต้องมีขั้นตอนทำกับร่างผู้เสียชีวิตอย่างไรนั้นถูกเตรียมพร้อมหมดแล้ว…

  • ทุกอย่างพร้อมตลอด 24 ชั่วโมง ทันทีที่ทราบว่าเครื่องบินตกที่ไหน ผู้รับผิดชอบตามแผนงานถูกปฏิบัติทันทีในวินาทีนั้นโดยไม่ต้องมาประชุมรับฟังคำสั่งก่อน ทั้งนี้เพื่อรักษาชีวิตผู้โดยสารให้ทันท่วงทีและดีที่สุด

  • …..ฯลฯ…..

มี Package การปฏิบัติกรณีเครื่องบินตกออกมา นี่คือการเตรียมการเชิงรุก…จัดทำล่วงหน้า ผมหลับตาฟัง คอนบรรยายเรื่อง OpenCARE แล้วผมนึกถึงกรณีการบินไทยนี้ และโปรแกรมนี้เห็นว่ากำลังดำเนินการต่อ…

จากกรณีนี้ผมคิดเลยเถิดไปถึงเรื่องต่างๆในชีวิตประจำวัน วิถีชีวิตประจำวันทั้งผมและท่านทั้งหลาย มีกี่เรื่องที่เราคิดเตรียมการไว้ล่วงหน้าบ้าง เช่น

  • หากรถที่ขับอยู่เกิดยางแบน จะต้องทำอย่างไรบ้าง ขั้นที่หนึ่ง ขั้นที่สอง ขั้นที่สาม สี่ห้า มีการเตรียมพร้อมเรื่องนี้ไหม.

  • หากเรามีปัญหาสุขภาพและเกิดเป็นอะไรปัจจุบันทันด่วน จะต้องทำอะไรบ้าง ขั้นที่หนึ่ง ขั้นที่สอง ขั้นที่สาม สี่ห้า มีการเตรียมพร้อมเรื่องนี้ไหม.

  • หากลูกสาวเราโดนถูกรังแก ลูกสาวจะมีขั้นตอนป้องกันตัวหรือเรียกร้องความช่วยเหลืออย่างไรบ้าง ขั้นที่หนึ่ง ขั้นที่สอง ขั้นที่สาม สี่ห้า มีการเตรียมพร้อมเรื่องนี้ไหม.

  • หากเกิดไฟไหม้บ้านเรา….

  • หากคุณพ่อคุณแม่เกิดป่วยปัจจุบันทันด่วน…

  • หากขโมยเข้าบ้าน…

  • หาก…..หาก…หาก…

เท่าที่สังเกตทางการแพทย์จะมีชุดการเตรียมความพร้อมต่างๆที่เกี่ยวกับปัญหาสุขภาพไว้ค่อนข้างสมบูรณ์มากว่าสาขาอื่นๆ กล่าวอีกทีทำงานเชิงรุกมากกว่าสาขาอื่นๆ

นี่เป็นการสร้างหลักประกันให้แก่ชีวิตและทรัพย์สิน

นี่คือหลักการลดความเสี่ยงในการดำรงชีวิต

นี่คือหลักความไม่ประมาทในการดำรงชีวิต ซึ่งพระพุทธองค์ตรัสมานานกว่า สองพันปีแล้ว

มนุษย์ที่อ้างว่าอยู่ในยุคที่เจริญแล้วยังไม่ตระหนักในความจริงข้อนี้เลย ปล่อยให้ชีวิตล่องลอยอยู่บนความเสี่ยง..อยู่ได้..โส น้า น่า ..อิอิ..


“ผลึก” Conductor หล่นที่ มข.1

7 ความคิดเห็น โดย bangsai เมื่อ มกราคม 7, 2009 เวลา 22:24 ในหมวดหมู่ สังคม บ้านเมือง ประชาธิปไตย, เฮฮาศาสตร์ #
อ่าน: 2607

มีโอกาสเข้าไปเป็นผู้ฟัง คอน ของเรา บรรยายที่ภาควิชา วิศวกรรมคอมพิวเตอร์ บ่ายวันนี้ ในหัวข้อเรื่อง สิ่งที่มหาวิทยาลัยไม่ได้สอน เป็นการเชิญของ Blogger ท่านหนึ่งที่เป็นอาจารย์อยู่ที่นี่(อาจารย์ ดร.กานดา ใน G2K) ผมขอคุณ คอนเข้าไปฟังด้วย เพราะผมสนใจ เพราะเรารู้กันว่า คอนเขามีประสบการณ์มากมายและเป็นประสบการณ์ที่แตกต่างไปจากผมอันเนื่องมาจากฐานความรู้ที่แตกต่างกัน

ผู้ฟังเป็นนักศึกษาในภาควิชาตั้งแต่ปี 2-4 จำนวนก็เต็มห้องเลคเชอร์ขนาดใหญ่ ผมได้อะไรมามากมายสมใจทีเดียว แม้คอนจะถ่อมตัวว่านักศึกษาอาจจะฟังไม่รู้เรื่องก็ตาม ผมว่านักศึกษารู้เรื่องเพราะตอบสนองต่อประโยคคำพูดต่างๆของคอนพอสมควรทีเดียว ส่วนผม มีฐานการผ่านงานมาแล้วจึงรับได้เต็มๆ แม้ว่าสาระที่คอนกล่าวจะเป็นเรื่องราวทางคอมพิวเตอร์ ที่ผมไม่กระดิกก็ตาม แต่ผมรับหลักการได้ และสัมผัสได้ ผมขอยกเพียงสองผลึกเท่านั้น (ทั้งที่มีผลึกตกที่ห้องนั้นมากมายครับ)

การเรียนรู้ไม่จำเป็นต้องอยู่ในห้องเรียน ค้นคว้าเอง ศึกษาเองได้ นี่คือผลึกของคอนที่กล่าวแก่นักศึกษาพร้อมยกตัวอย่างสิ่งที่เกิดขึ้นกับตัวของคอนเองเพราะมีลูกน้องในที่ทำงานเป็นศิษย์เก่า มหาวิทยาลัยขอนแก่นคนหนึ่งจบสาขาฟิสิกส์ แต่ไปทำงานกับคอนในตำแหน่งโปรแกรมเมอร์ เพราะเขาเรียนของเขาเอง จนเก่ง

เรื่องนี้ผมก็มีตัวอย่างนักศึกษามหาวิทยาลัยขอนแก่นอีกคนหนึ่งจบทางด้านพัฒนาสังคม คณะมนุษยศาสตร์ แต่ไปเป็นโปรแกรมเมอร์ให้กับบริษัทเบียร์สิงห์ที่ไปตั้งโรงงานที่ท่าพระ ขอนแก่น เขาเรียนนอกห้องเรียน เรียนเอง มุมานะจนมีความชำนาญ ทั้งนี่เพราะใจรัก เมื่อใจรักก็แปรเปลี่ยนเป็นพลังที่ทุ่มเทให้กับความรัก ความสนใจของเขา และประสบผลสำเร็จด้วย เผลอๆอาจจะมากกว่าคนที่เรียนจบมาทางสายนี้โดยตรงด้วยซ้ำไป

อีกหัวข้อหนึ่งที่คอนวางผลึกไว้ให้นักศึกษาวันนี้ คอนกล่าวว่า ตอนที่เรียนที่คณะวิศวกรรมศาสตร์ นั้นไป Take Course วิชา จิตวิทยาสังคม ที่คณะครุศาสตร์ และได้เอาสาระมาใช้มากจนปัจจุบันนี้

ผมทำงานมาหลายโครงการ และเกือบทุกโครงการที่ทำก็มักจะรบราฆ่าฟันกับฝ่ายวิศวกรรม เสมอมา เพราะความคิดเห็นที่มีต่อกิจกรรมมักจะแตกต่างกันเสมอเฉพาะในส่วนที่เกี่ยวข้องกับคนในชุมชน คนข้างกายผมก็ประสบปัญหาเช่นเดียวกัน เรามักจะมานินทาวิศวกรในโต๊ะอาหารเสมอ แม้ว่า พี่ชายคนข้างกายผมจะเป็นวิศวกรรุ่นพี่สถาบันคอนถึงสามคน เจอะหน้ากันก็ต้องเว้นเรื่องเหล่านี้ที่จะไม่แตะ เอาความเป็นพี่น้องมาคุยกันดีกว่า อิอิ…

วิศวกรจะมองเรื่องเหตุผลทางด้านเทคนิค และความคุ้มทุน แต่เหตุผลทางสังคมจะให้น้ำหนักน้อย ถึงน้อยมากๆ บางคนไม่สนใจเลยด้วยซ้ำไป มีเรื่องราวมากมายที่เล่าไม่จบเกี่ยวกับคู่ขนานวิชาชีพนี้ อิอิ.. แต่ก็มีวิศวกรหลายท่านที่คำนึงสาระเหล่านี้ และทำได้ดีมากๆด้วย

ผมเคยเข้าไปดูหลักสูตรวิศวชลประทาน ของกรมชลประทาน พบว่าเรียนเรื่องเล่านี้เพียงเป็นวิชาเลือก 3 เครดิต นอกนั้นเป็นสาระทางวิศวกรรมล้วนๆ ทั้งที่วิศวกรเหล่านี้ต้องออกไปทำงานกับคน สังคม ชุมชน ระบบของชุมชน วัฒนธรรมของชุมชน หากไม่เข้าใจเขาแล้วคุณก็อาจจะเยียบย่ำจิตใจชาวบ้าน

ผมมีตัวอย่างที่คลาสสิคต่อเรื่องนี้เพื่อมาสนับสนุนผลึกของคอนครับ ครั้งหนึ่งบริษัทส่งผมไปทำงานกับกรมทางหลวง ภายใต้ความร่วมมือกับ ADB เพื่อศึกษาและทำต้นแบบการก่อสร้างทางหลวงที่ส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและสังคม…

เรื่องนี้เกิดที่ลำปาง ทางหลวงแผ่นดินเส้นหนึ่งถูกสร้างขึ้น 4 เลน มีเกาะกลาง และมี U turn ที่ห่างออกไปจากชุมชน ทั้งนี้เป็นไปตามหลักความปลอดภัยในวิชาชีพการออกแบบถนนหลวง เมื่อสร้างเสร็จชาวบ้านส่วนใหญ่ก็ดีอกดีใจที่ได้ถนนคุณภาพดี มีสะพานลอย ถนนกว้างขวาง แต่บางส่วนก็บ่นว่า แต่ก่อนข้ามถนนตรงไหนก็ได้ ตอนนี้ต้องเดินขึ้นสะพานลอยซึ่งไกลออกไปและดูจะยุ่งยาก ไม่สะดวกเหมือนแต่ก่อน จะเลี้ยวรถทีก็ขับไปไกลโน้น… แต่เมื่ออ้างหลักความปลอดภัย ทุกคนก็กล้ำกลืนความรู้สึกต่างๆกันไป

แต่ที่ชาวบ้านไม่ยอมกล้ำกลืนและลุกฮือขึ้นมาเดินขบวนก็เมื่อเกิดมีคนตายขึ้นมาซิ… ไม่ใช่ตายเพราะอุบัติเหตุจากถนน ก็แก่ตายธรรมดานี่แหละ..

อ้าว มันไปเกี่ยวกับถนนอย่างไร…

เกี่ยวซิ เกี่ยวมากด้วย…

ก็เมื่อคนตาย ประเพณีทางเหนือก็ต้องเอาร่างไปเผาที่ป่าเฮ้ว(ป่าช้า) การเอาร่างไปก็ต้องใส่ล้อเลื่อนที่สร้างขึ้นมาเฉพาะแล้วลากไปตามถนนโดยเอาหัวออกไปก่อน และที่สำคัญห้ามเอาหัววกกลับมาทิศทางที่บ้านอยู่ ต้องเอาหัวไปทางป่าเฮ้วเท่านั้น…

แล้วกัน.. บ้านคนตายอยู่ฝั่งซ้าย ป่าเฮ้วอยู่ฝั่งขวา แล้วต้องไป U turn โน้นนนนนน….เมื่อ U turn หัวร่างผู้วายชนม์ก็ต้องหันกลับมาทางบ้านซิ….. ก็ผิดประเพณี…

เรื่องนี้ถึงกับเดินขบวนให้รื้อเกาะกลางถนนเพื่อประเพณีดังกล่าว….

ใช้เวลาต่อสู้เรื่องนี้กันนาน เพราะทางหลวงก็อ้างหลักความปลอดภัย ชาวบ้านก็ไม่ยอม พยายามหาทางออกกันหลายวิธี แม้มีนายช่างบางคนเสนอย้ายป่าเฮ้ว ก็มี…

แต่ในที่สุดทางหลวงก็ต้องรื้อจริงๆ…..

นี่คือบทเรียนที่สำคัญที่ไม่มีสอนในมหาวิทยาลัยเช่นกันครับ…..


สะเมิง: เมื่อม้งเข้าห้องเรียน

2 ความคิดเห็น โดย bangsai เมื่อ มกราคม 5, 2009 เวลา 14:19 ในหมวดหมู่ ชนบท, สังคม บ้านเมือง ประชาธิปไตย #
อ่าน: 3602

โครงการที่ผมทำที่ อ.สะเมิง จ.เชียงใหม่เมื่อ 30 ปีที่แล้วนั้น ถือได้ว่าเป็นยุคแรกๆของ องค์กรพัฒนาเอกชน ที่เรียกว่า อพช. หรือ NGO ก็ได้ ทีมงานไม่ถึง 10 คน รับผิดชอบกันคนละตำบล และมีทีมงานกลาง 2 คนที่รับผิดชอบทุกตำบลเฉพาะด้าน ผมเองรับผิดชอบงานด้านสังคม เน้นการจัดตั้งกลุ่มเครดิตยูเนี่ยน หรือกลุ่มออมทรัพย์นั่นเอง

โครงการนี้สนับสนุนโดยมูลนิธิจากประเทศเยอรมันแห่งหนึ่ง โดยการชักชวนของ ส.ศิวรักษ์ เนติบัณฑิตจากประเทศอังกฤษฝีปากกล้า พนักงานโครงการจึงถูกฝึกอบรมก่อนทำงานที่ โครงการบูรณชนบทแห่งประเทศไทย จังหวัดชัยนาท ที่มีอาจารย์ป๋วย อึ๊งภากรณ์เป็นประธาน ที่เรียกย่อๆว่า บชท. คือ Thailand Rural Reconstruction Movement (TRRM) ซึ่งจำลองหลักการมาจาก ดร. เจมส์ ซี เยน แห่งประเทศ ฟิลิปปินส์ ที่เรียกว่า PRRM หลักการของท่านเรียก Credo 10 ท่านที่สนใจเข้าไปที่กูเกิลครับ

สมัยเมื่อ 30 ปีที่แล้วหลักการพัฒนาชนบทของบ้านเรานั้นเรียกได้ว่านำเข้ามาจากต่างประเทศทั้งนั้น ไม่ว่า คิบบุช โมชารป จากอิสราเอล เซมาเอิล อุลดอง จากเกาหลีใต้ ซาโวดายา จากศรีลังกา กรามินส์แบ้งค์ จากบังกาเทศ(ที่ได้รับรางวัลโนเบล) เครดิตยูเนี่ยน ที่ท่านคุณพ่อบุญเลื่อน หมั้นทรัพย์ แห่งสภาคริสตจักรแห่งประเทศไทยนำเข้ามาจากยุโรป ในปี 2509 ซึ่งมีต้นกำเนิดที่เยอรมันสมัยสงครามโลกครั้งที่สอง

เท่าที่ผมทบทวนดูสมัยนั้นยังไม่มีคำว่า การมีส่วนร่วม การบูรณาการ ฯลฯ แต่มีคำว่า การยืนอยู่บนขาตนเอง การช่วยเหลือเขาให้เขาช่วยตัวเองได้ Top down-Bottom up และศัพท์แสงทางวิชาการก็เกิดมาภายหลังที่งานพัฒนาชนบท โดยองค์กรพัฒนาเอกชน กระจายไปทำงานทั่วประเทศ และพัฒนาประสบการณ์งานพัฒนาสังคมขึ้นมาเอง ผนวกกับกระแสงานพัฒนาสังคมทั่วโลกที่มีการแลกเปลี่ยนเรียนรู้กันมากขึ้น เพราะ คนทำงานด้านนี้ส่วนใหญ่ก้าวมาจากสถาบันการศึกษา ที่มีสำนึกทางการเมืองในยุคนั้น จึงนิยมสุมหัวคุยกัน เป็นประจำจนต่อมาก่อให้เกิด ศูนย์ประสานงานองค์กรพัฒนาสังคมเอกชนที่เรียก NGO-CORD หรือ พอช. ขึ้นทุกภูมิภาค

เดี๋ยวจะกลายเป็นเล่าพัฒนาการ NGO ในเมืองไทยไปซะ… วกเข้ามาที่ สะเมิง

เราไปจัดตั้งผู้นำชาวนาขึ้นทุกหมู่บ้าน สมัยนั้นสุ่มเสี่ยงมาก เพราะเป็นยุคที่รัฐต่อต้านแนวความคิดคอมมิวนิสต์ ชื่อผู้นำชาวนาจึงเป็นเป้ามองของสันติบาลว่า ทำอะไรกัน ทุกเดือนเราก็เอาผู้นำชาวนานี้มาเข้าหลักสูตรฝึกอบรมที่สำนักงานเกษตรภาคเหนือ(บริเวณสำนักงานที่มีร้านอาหารชื่อกาแลตั้งอยู่ในปัจจุบัน) ซึ่งมี ดร.ครุย บุญยสิงห์เป็นผู้อำนวยการสำนักงานอยู่ คนสมัยนี้ไม่รู้จักท่านแล้ว ท่านก็คือสามีของอาจารย์เต็มศิริ บุญยสิงห์ นักอภิปรายทางทีวีตัวยงในช่วง 20-30 ปีที่ผ่านมา ดร.ครุยเอง ท่านจบมาจาก มหาวิทยาลัยคอแนล ที่มีชื่อเสียงของอเมริกา และท่านเป็นทีมงานศาสตราจารย์ที่ได้รับรางวัลโนเบลในช่วงนั้นด้วย ..

ผู้นำชาวนาที่มาเข้าหลักสูตรฝึกอบรมนั้นก็จะได้รับความรู้เกี่ยวกับการทำมาหากิน การยกระดับผลผลิต การปรับปรุงพันธุ์พืช การพัฒนาการเกษตรโดยเอาพืชเศรษฐกิจใหม่ๆเข้าไป ตามยุคสมัยนั้น.. ปรากฏว่าเมื่อผู้นำชาวนากลับไปในหมู่บ้านเขา บางคนก็ไปเล่าความรู้ใหม่ๆให้ญาติพี่น้องฟัง ให้เพื่อนบ้านฟัง อันเนื่องมาจากสะเมิงเป็นเมืองค่อนข้างปิดดังกล่าว

ความรู้เหล่านี้เป็นที่สนใจของชาวบ้านที่ตื่นตัว อยากรู้มาก และหนึ่งในจำนวนนั้นก็คือ ผู้นำชาวเขาเผ่าม้งที่ตำบลยั้งเมิน ซึ่งเป็นพื้นที่ที่ไกลที่สุดของโครงการ ผู้นำม้งติดต่อโครงการขอมารับการฝึกอบรมด้วย เขาจึงได้มาเข้าร่วมเพิ่มพูนความรู้ทุกเดือน แต่เนื่องจากเขามีข้อจำกัด เพราะว่าม้งฟังภาษาไทยได้ แต่คำที่เป็นศัพท์ทางวิชาการเขาจะไม่ค่อยรู้เรื่อง และที่สำคัญเขาไม่สามารถทำการบันทึกความรู้ได้ ใช้วิธีจำใส่หัวโตๆอย่างเดียว

ต่อมาผู้นำม้งขออนุญาตโครงการเอาลูกชายที่ผ่านระบบโรงเรียนของไทยมาแล้วเอามาด้วย เพื่อวัตถุประสงค์ทำการบันทึกความรู้โดยตรง….??? นี่คือความพยายามของเขาที่จะเรียนรู้ หรือพูดในภาษานักพัฒนาก็คือ มีความตื่นตัวในการรับเทคโนโลยี่ใหม่ๆ มีความตื่นตัวในการปรับตัวเองไปตามสังคมที่เปลี่ยนแปลงไป ดีไม่ดี ให้เวลาเป็นเครื่องพิสูจน์


การอบรมครั้งหนึ่ง ที่ประชุมพูดถึงว่าพื้นที่สะเมิงนั้นล่อแหลมต่อการเป็นแหล่งผลิตฝิ่น ที่นำไปทำเป็นเฮโรอิน ซึ่งผิดกฎหมายไทย และมีผลร้ายแรงต่อคนที่เสพติด ผู้นำม้งท่านนั้นก็บอกว่า เป็นความจริงที่ ชาวเขาหลายเผ่าทำการปลูกฝิ่น โดยเฉพาะเผ่าม้ง ปลูกกันเป็นไหล่เขาเลย

แต่ผู้นำม้งกล่าวว่า เฮาปลูกฝิ่น แต่เฮาบ่กินฝิ่น คนไทยน่ะง่าว กินฝิ่นกันมากมาย…. ??? แปรความได้ว่า เราปลูกฝิ่นแต่เราไม่เสพฝิ่น คนไทยน่ะโง่ที่ไปเสพฝิ่น…???

แสบไหมล่ะพี่น้องที่ได้ยินคำนี้….โส..น้า..น่า..โค กิ ฝิ่.. อิอิ


สะเมิง: นายหวื่อ แซ่ย่าง

1 ความคิดเห็น โดย bangsai เมื่อ มกราคม 5, 2009 เวลา 1:00 ในหมวดหมู่ ชนบท, เรื่องของชีวิต #
อ่าน: 3183

ช่วงปี 18-23 ที่ผมทำงานที่สะเมิง เชียงใหม่นั้น เป็นคนสองโลก (ปัจจุบันก็ยังเป็นเช่นนั้น) คือ เวลาส่วนใหญ่อยู่ในพื้นที่สะเมิงซึ่งเป็นชนบท อาจเรียกว่าเป็นเมืองเกือบปิดก็ได้ เพราะไม่ค่อยมีการติดต่อสื่อสารกับโลกภายนอก มีรถประจำทางที่เป็นปิคอัพเก่าๆ วันละเที่ยว เท่านั้น ใครพลาดก็ต้องรอไปอีกวันหนึ่ง

การเป็นเมืองปิด หรือสังคมปิดนั้น มีความหมายมากในทางสังคมวิทยาการพัฒนาชนบท เพราะสังคมปิดนั้น ความบริสุทธิ์ผุดผ่องของสังคมยังเป็นแบบเดิมๆมาก อิทธิพลสังคมเมืองยังเข้าไปไม่ถึงมากนัก นอกจากไปทางฟ้า คือคลื่นวิทยุ และ ทีวี ซึ่งก็มีไม่กี่หลังคาเรือนที่มีทีวีเพราะ ภูเขาสูงมีส่วนสำคัญทำให้การรับคลื่นไม่ดี

ชาวบ้านสะเมิงนั้นมีทั้งคนเมืองและชาวไทยลื้อ ซึ่งมีประวัติยาวนาน ที่ผมประทับใจชาวไทยลื้อคือ เป็นคนขยันทำงานเกษตรและรักความก้าวหน้า จะพยายามส่งลูกเรียนหนังสือกันมาก และจำนวนไม่น้อยก็ได้ดิบได้ดีเป็นใหญ่เป็นโตก็มี ผมเองไปกินไปนอนบ้านชาวไทยลื้อบ่อย เพราะทำอาหารอร่อย สาวก็งามด้วย อิอิ..


อาชีพหลักก็คือปลูกข้าวนาปีและข้าวไร่ เนื่องจากพื้นที่อยู่ในหุบเขา การถือครองต่อครัวเรือนจึงมีไม่มาก ข้าวจึงเป็นพืชที่สำคัญที่สุด ต้องพยายามทำให้พอกิน การดูแลเอาใจใส่นาจึงเต็มที่ มีการทำเหมืองฝาย ทั้งใหญ่เล็กมากมาย ทั้งฝายแม้ว ฝายม้ง เต็มไปหมด เนื่องจากน้ำท่าบริบูรณ์เพราะอยู่ในเขตภูเขา นอกจากนั้นหลังนาก็จะเป็นพืชเศรษฐกิจที่สำคัญคือ กระเทียม ยาสูบพันธุ์เวอร์จิเนีย ถั่วเหลือง หอมแดง ฯลฯ กระเทียมนั้นขึ้นชื่อมาก เพราะน้ำดี ดินดี ผลผลิตจึงสมบูรณ์ไม่จำเป็นต้องใส่ปุ๋ยวิทยาศาสตร์ ก็งามแล้ว

นอกจากนี้ในพื้นที่สะเมิงไกลออกไปเป็นตำบลบ่อแก้วติดเขตอำเภอปาย แม่ฮ่องสอน เป็นดอยสูง ก็จะเป็นพื้นที่ชาวไทยภูเขา ส่วนมากเป็นม้ง กะเหรี่ยง มูเซอร์ ม้งจะมีมากที่สุด และเป็นราชาคนภูเขาเลย เพราะขยันทำมาหากินมากที่สุดและปลูกฝิ่นเป็นดงใหญ่ทีเดียว ช่วงที่ผมไปอยู่สะเมิงใหม่ๆนั้นนโยบายปรายฝิ่นยังไม่แรงมากเท่าไหร่ ไร่ฝิ่นจึงมีให้เห็นเหมือนอย่างข้าวไร่เลยทีเดียว พวกเราชอบที่จะขับมอเตอร์ไซด์ขึ้นไปดูไร่ฝิ่นกัน…

เสาร์อาทิตย์พวกเราก็ออกจากชนบทมาอยู่ในเมืองเชียงใหม่ มาเช่าบ้านแถวสันติธรรม สมัยนั้นยังเป็นหมู่บ้าน ไม่มีตึกรามใหญ่โตเหมือนปัจจุบัน เจ้าของบ้านก็เป็นตำรวจกองเมืองเชียงใหม่ เราจึงสบายใจที่เช้าบ้านหลังนั้น อยู่กัน 5-6 คน ไปซื้ออาหารมาทำกินบ้าง ไปกินตามร้านรวงตามซอกมุมต่างๆที่ชอบบ้าง แล้วก็กลับมาซุกหัวนอนกัน เช้ามืดวันจันทร์ก็รีบบึ่งมอเตอร์ไซด์เข้าพื้นที่…

วันหนึ่งที่บ้านเช่าหลังนี้ในเมืองเชียงใหม่ มีชาวเขาเผ่าม้งคนหนึ่งเดินเข้ามาในบ้าน พร้อมกับถามหานายตำรวจคนหนึ่ง.. เราก็งง เราบอกว่าที่นี่ไม่มีใครเป็นตำรวจ เราเป็นนักพัฒนาที่สะเมิงมาเช่าบ้านหลังนี้ ชาวเขาคนนี้ก็ดีใจ บอกว่า เขาก็อยู่สะเมิง ที่บ่อแก้ว ชื่อนายหวื่อ แซ่ย่าง..

ท่านที่เคยคุ้นเคยชาวไทยภูเขาพูดภาษาไทยคงพอเดาสำนวนออกนะครับว่า คำที่พูดนั้นจะไม่มีตัวสะกด เราคุ้นเคยสำนวนเหล่านี้ดีจึงรู้เรื่องที่นายหวื่อสื่อสารกับเรา สรุปความว่า เขามาหานายตำรวจ ตชด.ท่านหนึ่งที่เขารู้จักดี และเคยเช่าบ้านหลังนี้ ทั้งนี้เขามาหาเพราะเดือดร้อน ว่า เมียเขาตาย และไม่มีเงินจะทำศพ ไม่มีเงินจะซื้อข้าวไปเลี้ยงแขกที่มาร่วมงาน จึงอยากมาขอเงิน ตชด.ท่านนั้นไปซื้อข้าวจัดงานศพเมีย….

ผมและเพื่อนๆที่เช่าบ้านหลังนี้ได้ฟังก็รู้เรื่อง เข้าใจความต้องการ หลังจากซักไซ้ว่าบ้านอยู่ตรงไหนของตำบลบ่อแก้ว เพราะเราก็ขึ้นไปเที่ยวแห่งนั้นหลายครั้ง แต่ไม่เคยพบนายหวื่อ แซ่ย่างคนนี้ แต่เขาก็ตอบถูกหมดว่า ผู้ใหญ่บ้านชื่ออะไร มีเจ้าหน้าที่ราชการใครบ้าง ครูชื่ออะไร ตอบถูกหมด พวกเราก็เชื่อใจ และความเป็นนักพัฒนาก็สงสารเรื่องที่เขาเดือดร้อน…


นายหวื่อตกลงขอความช่วยเหลือจากเราเป็นข้าวสารหนึ่งกระสอบ แถมยังเชิญไปงานศพเมียเขา หากขึ้นไปบ่อแก้วก็ไปหาเขาจะให้ลูกหมาน้อย ที่เราเรียกกันว่า หมาแม้วหนึ่งตัว เราตกลงกันว่าจะไปเบิกเงินที่อำเภอแม่ริมให้นายหวื่อไปซื้อข้าวหนึ่งกระสอบ เมื่อจัดการเสร็จ นายหวื่อได้เงินสดไปซื้อข้าวแล้ว เราก็ไปทำงานตามปกติ…

หนึ่งสัปดาห์ผ่านมา พวกเรานัดกันขับมอเตอร์ไซด์ไป บ่อแก้ว เที่ยวดูไร่ฝิ่น และเยี่ยมนายหวื่อ แซ่ย่างหน่อย หากโอกาสดีก็จะขอลูกหมาน้อยที่นายหวื่อออกปากให้ไว้เอาลงมาที่สะเมิงด้วย พวกเราสนุกสนานกันเมื่อได้ขับมอเตอร์ไวด์เที่ยวตามยอดดอยเช่นนั้น วิว ทิวทัศน์สวย อากาศดี หากพบไร่ฝิ่นดี เพราะดอกฝิ่นสวยมาก(แต่พิษร้ายเหลือเกิน) ส่วนมากก็แดง และขาว หรือสลับแดงขาวกัน เราถ่ายรูปกันจนหนำใจก็ไปหานายหวื่อตามที่เขาเคยบอกไว้ว่าอยู่ตรงนั้นตรงนี้..

หาเท่าไหร่ก็ไม่พบ ถามตามร้านขายของเล็กๆก็ไม่รู้จัก เราชักเอะใจ จึงตรงไปหาผู้ใหญ่บ้านซึ่งเป็นม้งเช่นกัน ถามหานายหวื่อ แซ่ย่าง ผู้ใหญ่บ้านก็คิ้วขมวดนึกเป็นนานก็ตอบว่าในหมู่บ้านนี้ไม่มีคนม้งชื่อนายหวื่อ แซ่ย่างเลย แซ่ย่างนั้นมี แต่ชื่อหวื่อนี้ไม่มี เอ้าไปถามม้งแซ่ย่างหลายต่อหลายคนก็บอกว่า ไม่มีญาติชื่อหวื่อ…….ไม่มีคนตาย ไม่มีผู้หญิงตาย ไม่มีเมียใครตายซักคน…

พวกเรามองหน้ากันแล้วก็ร้องอือ..เสร็จแล้วพวกเรา…เสร็จชาวไทยภูเขาซะแล้ว..

นักพัฒนาชนบทโดนชาวไทยภูเขาหลอกเข้าแล้ว…อิอิ…เอิ๊กกก…โส..น้า..น่า…

(ภาพเหล่านี้มีอายุมากกว่า 30 ปีแล้วครับ)


ปลา และ อีกา 2

2 ความคิดเห็น โดย bangsai เมื่อ มกราคม 4, 2009 เวลา 15:24 ในหมวดหมู่ ชนบท, ธรรมชาติ และสิ่งแวดล้อม, เรื่องของชีวิต #
อ่าน: 3489

เวลาที่ทำความรำคาญและสร้างความโกรธแค้นเจ้าอีกามากที่สุดก็ช่วง พอเราเอาปลาเค็มไปตากแดดในกระด้ง กระจาด ตะกร้า หรือแผ่นสังกะสีบ้าง เพื่อผึ่งให้แห้ง ก่อนที่จะเก็บ อีกามักจะบินลงมาเกาะที่ลูกกรงชานบ้านนับสิบๆตัว แล้วก็บินโฉบเอาปลาของเราไปกินหน้าตาเฉยเลย.. แถมถ่ายมูลรดหลังคาบ้าน ชานบ้าน ลูกกรงชานบ้านขาวไปหมด พ่อต้องเอาฝาชีมาครอบ เอาแหเก่าๆที่ขาดมาคลุม แต่ก็ไม่วายถูกแย่งอยู่เสมอๆ

เสียงอีกาจะหายไปตอนพลบค่ำแล้วไปส่งเสียงดังที่ต้นไม้ใหญ่ที่วัด และเช้ามืดมันก็จะมาปลุกเราตื่นแต่เช้าตรู่อีก ช่วงเวลากลางวันเราต้องมากลับปลาที่พึ่งไว้นั้นให้อีกด้านถูกแดดด้วย หรือมาดูว่าปลาถูกแมลงวันมาหยอดไชขาง(ไข่)ทิ้งไว้ไหม หากพบก็จะเขี่ยออก บ่อยครั้งที่ปลาตะเพียนผ่าซีกของเราในกระด้งอยู่ไม่ครบตัว เพราะอีกาแอบมาเอาไปกินน่ะซี ตกเย็นหมดแดดหากไม่รีบเก็บปลาที่ตากไว้นั้น มดก็จะมาขึ้น เราก็ต้องคอยไล่มด เคาะให้มดออกจากตัวปลาแล้วก็เอาเก็บใส่ปีบ พรุ่งนี้ก็เอาตัวที่ยังไม่แห้งดีออกมาตากใหม่…

ผมไม่ชอบอีกาเอามากๆ คอยแอบยิงเสมอแต่ร้อยครั้งจะถูกสักครั้ง แต่ก็ไม่ตายหรอก ทุกปีผมจะได้กินปลาเค็มที่ทำด้วยปลาตะเพียน มันย่อง เลิศรส เค็มพอดี กับข้าวร้อนๆบ้าง ข้าวต้มตอนกลางวัน หรือไม่ก็แกงผักบุ้งใส่ปลาเค็ม ปลาช่อนเค็มผมชอบกินกับแกงมากกว่า วันไหนที่ผมต้องหาบข้าวอาหารมื้อเช้าไปส่งพ่อ แม่ที่เกี่ยวข้าวกลางนา จะเป็นอาหารที่อร่อยมากๆเพราะกินกันกลางทุ่งนา แต่ไม่ชอบเกี่ยวข้าวเพราะมันไม่สนุก เมื่อย ปวดหลัง และบางทีดินยังไม่แห้งเป็นโคลนต้องย่ำ เปื้อนน่อง เท้า ล้างมันก็ไม่ค่อยออกหมดมันก็จะแตก และหนาว

ผมชอบให้พ่อทำปี่จากปล้องต้นข้าว เป่าแก้มโป่งไปเลย เวลาค่ำเลิกงานนา เดินกลับบ้านจากทุ่งผมชอบดูแสงหิงห้อยนับล้านๆตัว บินอวดแสงที่ก้นมัน แต่ผมมักจะปิดตาแล้วเกาะมือแม่เดินตามคันนากลับบ้านด้วย เพราะกลัวผี.. กลัวงู…

นับตั้งแต่ปี 2509 ผมลงไปเรียนหนังสือที่ฝั่งธนบุรี เป็นช่วงที่เปลี่ยนชีวิตผมครั้งใหญ่ จากเด็กบ้านนอกมาอยู่ในเมืองหลวง เพื่อเรียนหนังสือมุ่งหวังเข้ามหาวิทยาลัย…. ช่วงนั้นจะกลับมาบ้านก็ช่วงปิดเทอมเท่านั้น ชีวิตส่วนใหญ่ก็เริ่มห่างไกลชนบท คลุกคลีกับสังคมเมือง บางเทอมก็ไม่ได้กลับบ้านเพราะทำงานรับจ้างหาเงินบ้าง

เมื่อผมเรียนจบมหาวิทยาลัยเดินทางกลับบ้าน แม่ทำปลาร้าทรงเครื่องให้กิน แกงผักบุ้งปลาเค็มตามคำร้องขอของผม ผมอร่อยในฝีมือแม่ กินจนพุงกาง แล้วถามว่าแม่เอาปลามาจากไหน แม่ตอบว่า ก็ซื้อมาซิลูก.. พ่อเขาไปตลาดก็เลยซื้อมา ซื้อมาหลายอย่าง น้ำปลาด้วย ปลานั่นเป็นปลาเลี้ยงตามบ่อต่างๆ เดี๋ยวนี้เขาขุดบ่อเลี้ยงปลากันแล้ว ไม่เหมือนแต่ก่อนแล้ว…

เสร็จอาหารมื้อเย็นผมปลีกตัวเงียบๆไปที่โคนต้นก้ามปูใหญ่ต้นเดิมที่สมัยเด็กๆชอบมานั่งเล่นนั้น ผมทวนคำว่าปลาซื้อมา… ผมนึก 10 ปีที่ผมไม่อยู่บ้าน เราต้องซื้อปลากินแล้ว มิน่าเล่าผมไม่ได้ยินเสียงอีกาเลย ผมไม่เคยเห็นอีกาอีกเลย

พรุ่งนี้ผมจะลาจากพ่อแม่กลับไปทำงานพัฒนาชนบทที่ภาคเหนือที่ได้งานหลังเรียนจบแล้ว….

ผมคิดถึงงานพัฒนาชนบทที่เป็นโจทย์ใหญ่สำหรับบัณฑิตหนุ่มอย่างผม????…

(เป็นบทความที่ผมเขียนไว้ตั้งแต่ 22 กันยายน 2527 ในสมุดบันทึกส่วนตัว 25 ปีที่แล้ว)


ปลา และ อีกา 1

6 ความคิดเห็น โดย bangsai เมื่อ มกราคม 4, 2009 เวลา 15:22 ในหมวดหมู่ ชนบท, ธรรมชาติ และสิ่งแวดล้อม, เรื่องของชีวิต #
อ่าน: 2770

เมื่อเด็กๆสมัยอยู่ชั้นประถมเป็นวัยที่สนุก เมื่อขึ้นชั้นมัธยมเราต้องเดินไปเรียนหนังสือกันวันละ นับสิบกิโลเมตรไปกลับ แต่มีเพื่อนมากมาย การเดินระยะทางเช่นนั้นจึงไม่ใช่อุปสรรค

แม่ซึ่งมีอาชีพทำนาเลี้ยงลูกๆ 6 คนนั้นต้องตื่นแต่ตี 4 ตี 5 หุงข้าวให้ลูกเมื่อไปโรงเรียนกันแล้วก็อุ้มลูกคนเล็กไปนาจนเย็นค่ำ พ่อเป็นครูใหญ่ที่โรงเรียนวัดใกล้บ้าน พอได้ช่วยแม่บ้างยามว่าง หน้าออกพรรษาประเพณีชาวบ้านก็จะกวนกระยาสารท เตรียมกล้วยไข่บ้างกล้วยน้ำว้าบ้าง เต็มเรือนหมด คัดเอาหวีงามๆไว้ทำบุญพระที่วัด ที่เหลือก็แจกญาติ พี่น้อง บ้านเหนือบ้านใต้ พวกเราก็กินกระยาสารทกันพุงกางทุกวัน

ชีวิตช่วงนี้ชาวบ้านจะเตรียมแห เตรียมยอกัน ใครมีแหก็เอามาปะชุนส่วนที่มันขาด บ้างก็ย้อมน้ำลูกตะโกที่ตำจนละเอียดแช่น้ำ เครื่องมือจับปลาที่เตรียมไว้เพราะหลังออกพรรษานั้นเข้าสู่ฤดูน้ำลด ปลาที่อยู่ในทุ่งนาก็จะออกสู่ลำคลองแม่น้ำน้อย ตามธรรมชาติของเขา

ปลาชุกชุมมากสารพัดชนิด น้ำปลาที่ใช้ประกอบอาหารนั้นไม่ต้องไปซื้อกิน ทุกบ้านจะทำน้ำปลาจากปลาสร้อยกันเอง ชาวบ้านจะใช้แหทอด บ้างยกยอบ้าง เวลาช่วงปลาออกจริงๆมันใช้เวลาแค่สองสามวันแค่นั้นก็หมด ชาวบ้านจะนัดกันมาทอดแหโดยใช้ เรือมาดบ้าง เรือไผ่ม้า บ้าง หรือเรื่ออื่นๆที่มีอยู่ แบ่งเป็นสองกลุ่มสองฟากฝั่งแม่น้ำ 20-30 ลำก็เคยเห็น ดำเต็มแม่น้ำไปหมด…เวลาทอดแหก็จะนัดพร้อมๆกัน เป็นภาพที่ไม่มีอีกแล้ว..

ปลาสร้อยที่ได้มานั้นก็จะเอาใส่ตุ่มใหญ่บ้างเล็กบ้างหมักเกลือปิดฝาให้มิดชิดเอาตากแดดไว้กลางชานบ้านเลย หรือบางบ้านก็ทำร้านเฉพาะก็มี พ่อเล่าให้ฟังว่าสมัยพ่อหนุ่มๆนั้นปลาสร้อยในแม่น้ำน้อยมากจริงๆ ยามที่เราพายเรือไป หากไปโดนฝูงปลาสร้อยเข้ามันตกใจกระโดดเข้าเรือเราเยอะไปหมด แต่สมัยผมนั้นไม่เห็นภาพเหล่านี้อีกแล้ว แต่ก็ยังถือว่ามีปริมาณปลามากอยู่ คนที่ไม่มีแรงงาน หรือไม่มีแหไม่มียอก็จะซื้อปลาสร้อยมาทำน้ำปลาเลิศรสกัน ใช้กินตลอดทั้งปี ไม่ต้องซื้อน้ำปลาขวดที่มาจากสมุทรสาคร สมุทรสงคราม สมุทรปราการ หรือจังหวัดชายทะเล

นอกจากปลาสร้อยก็มีปลาตะเพียน ปลาช่อน ปลาอื่นๆทุกชนิดเมื่อได้มาเหลือกินมื้อนั้นๆก็เป็นหน้าที่เด็กๆเอามาขอดเกล็ดผ่าท้องเอาไส้ออกทิ้งไป บั้งข้างๆปลา หรือไม่ก็ผ่าซีกครึ่งตัวแผ่ออก เอาเกลือที่ตำจนละเอียดพอสมควรมาทาให้ทั่ว หมักเอาไว้หนึ่งคืน วันรุ่งขึ้นก็เอาไปล้างน้ำเอาเกลือออก แล้วก็เอาไปผึ่งแดด เพื่อทำปลาเค็ม (สมัยนี้ก็เป็นปลาแดดเดียว) หากว่ามีปลาจำนวนมากก็จะเอามาย่างถ่าน พอสุกได้ที่ก็เก็บใส่ปีบปิดให้สนิท กัน ขี้ขมวน กิน (เป็นแมลงชนิดหนึ่งที่ชอบมาชอนไชกินปลาย่าง)

ทั้งปลาเค็ม ปลาย่าง ทำไว้เพื่อเอาไปใช้ประกอบอาหารในฤดูหนาวที่ต้องทุ่มเทเวลาทั้งหมดเพื่อเตรียมเขน็ดมัดข้าว ลงมือเก็บเกี่ยวข้าวในนา หรือคุมการเกี่ยวข้าวของลูกจ้าง ขนข้าวจากที่นาเข้าลาน นวดข้าว ฝัดข้าว และเก็บเมล็ดข้าวเปลือกที่ได้ทั้งหมดเข้ายุ้งฉางซึ่งใช้เวลาเป็นเดือนๆ กว่างานทุกอย่างจะแล้วเสร็จ ซึ่งเป็นช่วงที่ยุ่งที่สุด ไม่มีเวลาไปหาของกินอื่นๆ ก็ได้ปลาเค็ม ปลาย่างที่ทำไว้นั่นเอง…

จำได้ว่าช่วงฤดูจับปลานี้ ปริมาณปลาที่มากมายในแม่น้ำน้อย และตามทุ่งนาใครมีปัญญาจับปลาด้วยวิธีใดก็ทำได้เต็มที่ ช่วงเวลาทำปลาเค็มปลาย่างนั้นศัตรูที่สำคัญคือ อีกาและเหยี่ยว แต่อีกามีจำนวนมากกว่าหลายเท่านัก มันจะมาเกาะเต็มหลังคาบ้านเวลาเช้าๆแล้วส่งเสียงร้องดังหนวกหูไปหมด ผมเคยเอาหนังสะติกมาไล่ยิงมัน แต่ไม่เคยยิงถูกเลย มันบินหลบเก่งมาก แค่มันเห็นเราเงื้อหนังสะติกมันก็บินหลบไปแล้ว


ชีวิตครอบครัวที่หายไป

4 ความคิดเห็น โดย bangsai เมื่อ มกราคม 3, 2009 เวลา 10:58 ในหมวดหมู่ เรื่องของชีวิต #
อ่าน: 2002

เสียงเด็กร้องให้ เสียงไอคนเฒ่า เป็นประโยคธรรมดาที่บางท่านอาจจะคิดไปถึงว่า สถานที่แห่งนั้นมีเด็กอาจจะไม่สบายและมีคนเฒ่าที่อาจจะกำลังป่วย

ไม่ผิดครับ….เพราะไม่ได้อธิบายอะไรมากไปกว่าการกล่าวถึงประโยคนั้นเฉยๆ

แต่ผู้บันทึกต้องการมองอีกมุมหนึ่งคือ.. เป็นคำกล่าวที่สะท้อนถึง 3 รุ่นอายุ (Generation) คือรุ่นเด็กเล็ก(ลูก) รุ่นพ่อแม่(วัยแรงงาน)และรุ่นปู่ย่าตายายที่เป็นคนเฒ่า(วัยชรา วัยพักผ่อนและเผชิญโรคภัยไข้เจ็บ)

สภาพเช่นนี้คือสังคมไทยในสมัยก่อนแผนพัฒนาชาติ ที่สังคมยังเป็นครอบครัวใหญ่ อยู่ด้วยกันทั้งสามรุ่นหรือมากกว่าสามรุ่นด้วยซ้ำไปหากครอบครัวนั้นอายุยืนมากกว่า 80 ปีขึ้นไป ก็อาจจะมีรุ่นแหลน โหลน หลอน ด้วยซ้ำไป มันเป็นสังคมที่มีความอบอุ่นและมีความเป็นสังคมครอบครัวที่หนาแน่น สะท้อนด้วยเสียงร้องให้ของเด็กเล็กซึ่งเป็นเรื่องธรรมดา สะท้อนด้วยเสียงไอของคนเฒ่า ก็เป็นเรื่องธรรมดาอีกเช่นกัน

ครอบครัวแบบนี้มีข้อดีมากมาย

  • อบอุ่น ดูจะเป็นประเด็นใหญ่เพราะมีเครือญาติมากมายอยู่อย่างใกล้ชิด มีกินด้วยกัน เล่นด้วยกัน ทำงานด้วยกัน ทุกข์ยากอย่างไรก็ช่วยเหลือกันเต็มที่

  • มีการถ่ายทอดทุนทางสังคมต่างๆอย่างเป็นธรรมชาติ ที่อาจจะเรียกว่า Informal learning ไม่ต้องเข้าห้องเรียน ไม่ต้องแบ่งกลุ่มย่อยแลกเปลี่ยน ไม่ต้องมีใครมานำเสนอ ฯลฯ แต่ทำเลย ทำนา ทำไร่ จักตอก สานตะกร้า ไปวัด ไหว้พระ ผู้ใหญ่ให้เด็กทำแล้วก็สอนไปด้วย

  • จุดเด่นที่สุดดูจะเป็นการถ่ายทอดทางวัฒนธรรมแห่งการอยู่ร่วมกัน ผมจำได้ว่า ที่บ้านพ่อจะทำยอดักปลาในช่วงน้ำหลาก เมื่อเราได้ปลาจำนวนมากเกินที่จะกินในครอบครัว แม่ก็จะเอาตะกร้าไปแบ่งปลามาแล้วให้ผมเอาไปให้ ป้าคนนั้น ตาคนนี้ ไม่ต้องซื้อหากัน อยากกินผักพื้นบ้านอะไรก็เดินไปริมรั้วบ้านคนนั้นแล้วตะโกนขอผักหน่อย เท่านั้นก็ได้กิน

  • เด็กๆรุ่นเดียวกันก็จับกลุ่ม เล่นขายของ เล่นโป้งแปะ เล่นสารพัดจะสรรค์หาการเล่นมา แต่หากเล่นเลยเถิดไปจนทำให้เกิดความเสียหายแก่ข้าวของบ้านใคร พ่อแม่อนุญาตให้ผู้ใหญ่คนไหนก็ได้ในหมู่บ้านมีสิทธิ์ที่จะเอาเด็กคนนั้นมาดุด่าว่ากล่าว จนกระทั่งตีก้นได้เลย เป็นที่เข้าใจกัน

  • วันพระทุกบ้านจะแต่งตัวสวยงามไปวัดกัน ที่วัดจะรวมคนทุกรุ่นตั้งแต่เด็กเล็กที่เดินได้ก็พ่อแม่จะจูงมือไป คนเฒ่าแก่ก็ไปแต่เช้านั่งคุยกับพระเจ้าอาวาส กินน้ำชา คุยกันสารพัดเรื่อง เป็นการ update ข้อมูลหมู่บ้าน สังคม ประเทศชาติ ฯลฯ

  • ฯลฯ

ครอบครัวแบบนี้ สังคมแบบนี้มีในอดีต ที่ทุกท่านคนเห็นภาพนี้มาแล้ว แต่นับวันจะหดหายไปสิ้น ยิ่งสังคมเมือง ที่เอาคนเฒ่าไปไว้ที่บ้านคนชรา พ่อแม่เฝ้าบ้าน ลูกแยกครอบครัวออกไป กลายเป็นครอบครัวเดี่ยว….

ครอบครัวผมก็เช่นกัน เป็นสังคมเมือง ตอนลูกเล็ก แม่(ยาย)มาอยู่ด้วยเพราะอาสาจะมาเลี้ยงหลาน คนสุดท้าย (ที่เลี้ยงมาแล้ว 14 คน อิอิ) คนข้างกายเป็นข้าราชการ ก็ไปเช้ากลับเย็น ส่วนผมช่วงนั้นโชคดีที่ได้งานทำในเขตอำเภอเมือง ก็ไปเช้ากับเย็นได้ แม้ว่าบางครั้งต้องออกชนบทก็ไม่บ่อยนัก ชีวิตครอบครัวก็เป็นครอบครัวที่อบอุ่น ได้กินข้าวด้วยกันเกือบทุกวัน ฯ

เมื่อลูกโตขึ้น ส่งเขาไปเรียนไฮสคูลที่ NZ โดยไม่ได้วางแผนมาก่อน และผมเองก็ต้องย้ายที่ทำงานไปต่างจังหวัด กลับบ้านทุกวันหยุดเสาร์-อาทิตย์ ครอบครัวก็ไม่เป็นครอบครัว คุณแม่ก็เริ่มก้าวเข้าสู่ชราภาพ ความเจ็บไข้ได้ป่วยก็เข้ามาเยือน คนข้างกายแม้จะเป็นข้าราชการแต่ตำแหน่งหน้าที่การงานต้องเป็นนักวิจัย มีโครงการวิจัยมากมายล้นมือ ต้องเดินทางบ่อยไปทั่วประเทศทุกภูมิภาคทั้งในเมืองในชนบท ต่างประเทศก็ไปบ่อย ครอบครัวจึงเกือบไม่มีสภาพครอบครัว คุณแม่ต้องอยู่กับผู้ช่วยแม่บ้านที่นิสัยดีเหลือเกิน จนเราต้องจุนเจือครอบครัวเขาไปด้วยในหลายสถานะ

เมื่อลูกสาวเรียนจบไฮสคูลก็มาเข้าเรียน ABAC ที่กรุงเทพฯ ก็ไม่ได้อยู่ด้วยกันอีกแต่ยังดีที่อยู่ในเมืองไทย คนข้างกายก็ยังตระเวนทั่วประเทศเช่นเดิม ผมเองก็ตระเวนต่างจังหวัดตามเงื่อนไขของอาชีพ

แล้วคุณแม่ก็จากไป ลูกยังเรียน ผมยังอยู่ต่างจังหวัด บ้านจึงมีแต่คนข้างกายอยู่กับเด็กที่เราเอามาอยู่ด้วยเพื่อเป็นเพื่อนและส่งเสียเขาเรียนหนังสือตามกำลังเล็กน้อยที่พอจะมี

มาวันนี้ลูกสาวเรียนจบแล้วและกลับมาบ้าน ที่ไม่มีคุณแม่แล้ว การเป็นครอบครัวกลับมาอีกครั้งแต่ก็ไม่เต็มที่ แต่ก็เป็นบรรยากาศที่เรามีความสุข ที่พ่อแม่ลูกอยู่ด้วยกันมากขึ้น รอวันว่าเส้นชีวิตจะผกผันไปอย่างไรอีก แต่พยายามที่จะให้เป็นครอบครัวมากที่สุด….

สภาพสังคมเปลี่ยนไปนานแล้วและครอบครัวก็แตกแยกกันนานแล้วด้วยสาเหตดังกล่าว… ไม่เฉพาะครอบครัวผมหรอก ใครๆก็เป็นเช่นนี้… หากพ่อแม่ไม่เป็นหลักดีดีแล้วความเป็นครอบครัวคงรักษาไว้ให้มีความสุขได้ยาก

ไม่มีเสียงเด็กร้องไห้ ไม่มีเสียงไอคนแก่ อีกต่อไปแล้ว

ไม่มีการถ่ายทอดทุนทางสังคมแบบเดิมๆอีกต่อไป

สภาพครอบครัว สังคม เปลี่ยนอย่างสิ้นเชิง

เราจะประคับประคองสังคมของเราที่มีสิ่งดีดีให้สืบต่อได้อย่างไรหนอ…


สะเมิง : แข่งมอเตอร์ไซด์

10 ความคิดเห็น โดย bangsai เมื่อ ธันวาคม 31, 2008 เวลา 1:46 ในหมวดหมู่ เรื่องของชีวิต #
อ่าน: 7123

เข้าไปบันทึกของเม้งที่ http://lanpanya.com/lanaree/?p=111#comment-154 เรื่อง นวัตกรรมใหม่กับแฟนท่อมคู่กาย ทำให้ผมนึกถึงสมัยทำงานที่ อ.สะเมิง จ.เชียงใหม่ ปี 2518-2522 (ค่อยย้อนแนะนำพื้นที่ในบันทึกหน้านะครับ) ผมทำงานในโครงการพัฒนาชนบทสมบูรณ์แบบ (พชบ.) แถบภูเขา ที่สูงชันและเป็นลูกรัง ซึ่งมีความยากลำบากในการเดินทางทั้งฤดูฝนและฤดูแล้ง แต่เราก็ต้องใช้เส้นทางนี้ เพราะหมู่บ้านต่างๆนั้นซ่อนอยู่ในภูเขาโน้น เราต้องเดินทางไปหาโดยมอเตอร์ไซด์นี่แหละ..


ฤดูฝนนั้นก็จะมีความลื่น และความชันก็ทำให้มอเตอร์ไซด์ล้มคว่ำโดยง่าย เรากล่าวกันว่า ใครขับมอเตอร์ไซด์ในสะเมิงไม่ล้มไม่มี ในฤดูนี้เรามีเครื่องมือพิเศษติดมอเตอร์ไซด์คือโซ่มัดล้อใช้ตะกุยช่วงถนนมีความลื่นมาก อีกอย่างคือไม้แคะดินออกจากล้อรถ  อิอิ… ยามเข้าฤดูแล้งก็เป็นฝุ่น เสื้อผ้า หน้าตา ผมเพ่า มีแต่ฝุ่นแดง จนหลายคนเป็นริษสีดวงตาเพราะฝุ่นเข้าตาเป็นประจำ


ยานพาหนะที่ใช้หัวหน้าใช้ปิคอัพมีเพียง 1 คัน ส่วนพนักงานใช้มอเตอร์ไซด์ สมัยนั้นที่นิยมมากก็คือ รุ่น เอนดูโล่ แรกๆเราใช้ ซูซูกิ 125 ซีซี สองจังหวะ แต่ก็ไม่ทนในสภาพภูเขา จึงเปลี่ยนมาใช้ ฮอนด้า สี่จังหวะ 100 ซีซี และท้ายที่สุดมาใช้ ฮอนด้า รุ่น Trial 125 ซีซี จำได้ว่าราคาแพงที่สุดประมาณ สามหมื่นกว่าบาท ผู้จัดการโครงการซึ่งเป็นเยอรมันมีนโยบายว่า รถมอเตอร์ไซด์นั้นหากใช้ 3 ปี ก็จะยกให้เลย.. สมัยนั้นก่อนที่จะมีสิทธิ์ใช้มอเตอร์ไซด์ พนักงานทุกคนจะต้องไปเข้ารับการฝึกอบรมการซ่อมบำรุงมอเตอร์ไซด์ก่อน และทุกคนจะต้องใช้หมวกกันน๊อก (Helmet) ใส่ถุงมือใส่เสื้อแขนยาวและรองเท้าที่หนา เพื่อป้องกันอันตรายที่อาจเกิดขึ้น ตามหลักความปลอดภัย

ปีหนึ่ง…ทางอำเภอสะเมิงจัดงานประจำปี และจัดแข่งรถมอเตอร์ไซด์วิบาก แล้วมาเชิญพนักงานโครงการเข้าร่วมการแข่งขันด้วย ผมสนใจจึงเข้าร่วมด้วย ในครั้งนั้นมีจำนวนคนเข้าร่วมประมาณ 10 กว่าคันโดยมีมืออาชีพเข้าร่วม 3 คน เขาใช้ยามาฮ่า 175 ซีซี แต่ผมและเพื่อนใช้ ฮอนดา 100 ซีซี เพราะเรามีอย่างนั้น เส้นทางที่ใช้ก็คือวิ่งไปตามถนนระหว่างตำบลรวมความยาวประมาณ 80 กิโลเมตร ผ่านหมู่บ้านต่างๆที่เราทำงาน เส้นทางที่ใช้ก็คือเส้นทางประจำที่ผมใช้อยู่ทุกวัน…

เส้นทางเหล่านี้เป็นไหล่เขา ที่ผมซิ่งมาประจำอยู่แล้วจึงได้เปรียบ แต่สภาพมอเตอร์ไซด์นั้นเทียบไม่ได้เลยกับมืออาชีพที่มาแข่งด้วย แต่เขาก็ไม่สามารถจะบิดได้เต็มที่เพราะเส้นทางที่เป็นไหล่เขานี่เอง หากพลาดก็ตกไปก้นเหวโน้น… และความไม่ชิดเส้นทางจึงไม่สามารถใช้ความเร็วได้เต็มที่ตามสมรรถภาพมอเตอร์ไซด์ของเขาที่มีอยู่เหลือหลาย

อย่างไรก็ตามผมเองไม่เคยแข่งมาก่อนก็แหยงๆเจ้ามืออาชีพทั้งสามคน เพราะเราเห็นฝีมือที่เขาทดลองแล้ว หนาวววว แต่ก็สู้เพราะสนามคือถิ่นของเราเอง.. มอเตอร์ไซด์ของเราก็ไม่ได้ โม.. อิอิ ภาษานักรถแข่งเขาย่อมาจาก โมดิฟายหรือการปรับแต่งรถให้วิ่งเร็ว และปลอดภัยนั่นเอง ชาวบ้านก็มาเชียร์เรา เพราะเขารู้จักเรา

ผลการแข่งขัน ผมเป็นผู้เข้าเส้นชัยด้วยเวลาน้อยที่สุดจึงเป็นผู้ชนะ ได้รับถ้วยรางวัลจากท่านนายอำเภอสะเมิง และเงินอีก 3,000 บาท หลังจากนั้นก็ฉลองร่วมกับเพื่อนๆ ชาวบ้าน ข้าราชการ ผู้นำชุมชน…. หมดเงินไป 4,000 บาท อิอิ..

ในงานประจำปีของอำเภอสะเมิงนั้น ปกติก็มีการประกวดสาวงามท้องถิ่น ปีนั้นเป็นปีแรกที่มีการแข่งมอเตอร์ไซด์กัน งานประกวดสาวงามนั้นใช้การนับคะแนนจากประชาชนที่ซื้อลูกโป่งมอบให้ ก็ง่ายๆดี

จะบอกอะไร:

  • พบว่าหลักการปลอดภัยเบื้องต้นในการใช้รถมอเตอร์ไซด์นั้นเป็นสิ่งที่ดี เหมาะสม และเกิดประโยชน์จริงๆ

  • การใช้เทคโนโลยีใหม่นั้นเราควรที่จะรู้จักการบำรุงรักษาเบื้องต้นด้วย ซึ่งพบว่าแค่การบำรุงรักษาประจำตามกำหนด ช่วยให้อายุการใช้งานของมอเตอร์ไซด์ยาวขึ้น สมรรถนะดี ในมุมที่สำคัญคือช่วยการประหยัดโดยอัตโนมัติด้วย กรณีมอเตอร์ไซด์ นั้นทุกเดือน เราจะถอดโซ่รถมาต้มอ่อนๆกับน้ำมันเบรก น้ำมันจะแทรกเข้าไปตามข้อด้านในของโซ่ ตรงซี่ล้อมอเตอร์ไซด์ที่ภาษาบ้านเรียก กรรมรถนั้น ตรงที่มันไขว้กันเป็นกากะบาดนั้นเอาลวดมารัดตรงนั้นจะช่วยให้ล้อรถแข็งแรงมากขึ้น หากมีการบรรทุกก็รับน้ำหนักได้มากขึ้น เปิดห้องลูกสูบเอามาขัดเขม่าที่เกาะให้สะอาด ช่วยให้การทำงานเต็มสมรรถภาพ และอื่นๆ..

  • นโยบายการมอบมอเตอร์ไซด์ให้พนักงานหลังการใช้งานแล้วสามปี เป็นนโยบายที่ดี เพราะพนักงานทุกคนก็ดูแลรักษามอเตอร์ไซด์อย่างกับดูแลสาวๆแน่ะ..เพราะคาดหวังว่าเมื่อครบสามปีมันจะเป็นของเรา ซึ่งยังอยู่ในสภาพดี…. ก็ทำให้การทำงานราบรื่นไม่มีปัญหาเรื่องความเสียหายของรถมอเตอร์ไซด์ในการทำงาน

  • มอเตอร์ไซด์เป็นเครื่องมือการทำงาน ช่วยให้การปฏิบัติงานตามแผนงานและความรับผิดชอบมีประสิทธิภาพ จึงจำเป็นต้องให้ความสำคัญในการใช้งานตามคู่มือที่แนะนำ

  • การฉลองชัยแบบไม่บันยะบันยัง ไม่ดี ไม่ควรเอาอย่าง

(รูปเหล่านี้อายุประมาณ 30 กว่าปีมาแล้ว คุณภาพสีแย่ลง)



Main: 0.1305410861969 sec
Sidebar: 0.094988107681274 sec