ปลา และ อีกา 1

โดย bangsai เมื่อ มกราคม 4, 2009 เวลา 15:22 ในหมวดหมู่ ชนบท, ธรรมชาติ และสิ่งแวดล้อม, เรื่องของชีวิต #
อ่าน: 2656

เมื่อเด็กๆสมัยอยู่ชั้นประถมเป็นวัยที่สนุก เมื่อขึ้นชั้นมัธยมเราต้องเดินไปเรียนหนังสือกันวันละ นับสิบกิโลเมตรไปกลับ แต่มีเพื่อนมากมาย การเดินระยะทางเช่นนั้นจึงไม่ใช่อุปสรรค

แม่ซึ่งมีอาชีพทำนาเลี้ยงลูกๆ 6 คนนั้นต้องตื่นแต่ตี 4 ตี 5 หุงข้าวให้ลูกเมื่อไปโรงเรียนกันแล้วก็อุ้มลูกคนเล็กไปนาจนเย็นค่ำ พ่อเป็นครูใหญ่ที่โรงเรียนวัดใกล้บ้าน พอได้ช่วยแม่บ้างยามว่าง หน้าออกพรรษาประเพณีชาวบ้านก็จะกวนกระยาสารท เตรียมกล้วยไข่บ้างกล้วยน้ำว้าบ้าง เต็มเรือนหมด คัดเอาหวีงามๆไว้ทำบุญพระที่วัด ที่เหลือก็แจกญาติ พี่น้อง บ้านเหนือบ้านใต้ พวกเราก็กินกระยาสารทกันพุงกางทุกวัน

ชีวิตช่วงนี้ชาวบ้านจะเตรียมแห เตรียมยอกัน ใครมีแหก็เอามาปะชุนส่วนที่มันขาด บ้างก็ย้อมน้ำลูกตะโกที่ตำจนละเอียดแช่น้ำ เครื่องมือจับปลาที่เตรียมไว้เพราะหลังออกพรรษานั้นเข้าสู่ฤดูน้ำลด ปลาที่อยู่ในทุ่งนาก็จะออกสู่ลำคลองแม่น้ำน้อย ตามธรรมชาติของเขา

ปลาชุกชุมมากสารพัดชนิด น้ำปลาที่ใช้ประกอบอาหารนั้นไม่ต้องไปซื้อกิน ทุกบ้านจะทำน้ำปลาจากปลาสร้อยกันเอง ชาวบ้านจะใช้แหทอด บ้างยกยอบ้าง เวลาช่วงปลาออกจริงๆมันใช้เวลาแค่สองสามวันแค่นั้นก็หมด ชาวบ้านจะนัดกันมาทอดแหโดยใช้ เรือมาดบ้าง เรือไผ่ม้า บ้าง หรือเรื่ออื่นๆที่มีอยู่ แบ่งเป็นสองกลุ่มสองฟากฝั่งแม่น้ำ 20-30 ลำก็เคยเห็น ดำเต็มแม่น้ำไปหมด…เวลาทอดแหก็จะนัดพร้อมๆกัน เป็นภาพที่ไม่มีอีกแล้ว..

ปลาสร้อยที่ได้มานั้นก็จะเอาใส่ตุ่มใหญ่บ้างเล็กบ้างหมักเกลือปิดฝาให้มิดชิดเอาตากแดดไว้กลางชานบ้านเลย หรือบางบ้านก็ทำร้านเฉพาะก็มี พ่อเล่าให้ฟังว่าสมัยพ่อหนุ่มๆนั้นปลาสร้อยในแม่น้ำน้อยมากจริงๆ ยามที่เราพายเรือไป หากไปโดนฝูงปลาสร้อยเข้ามันตกใจกระโดดเข้าเรือเราเยอะไปหมด แต่สมัยผมนั้นไม่เห็นภาพเหล่านี้อีกแล้ว แต่ก็ยังถือว่ามีปริมาณปลามากอยู่ คนที่ไม่มีแรงงาน หรือไม่มีแหไม่มียอก็จะซื้อปลาสร้อยมาทำน้ำปลาเลิศรสกัน ใช้กินตลอดทั้งปี ไม่ต้องซื้อน้ำปลาขวดที่มาจากสมุทรสาคร สมุทรสงคราม สมุทรปราการ หรือจังหวัดชายทะเล

นอกจากปลาสร้อยก็มีปลาตะเพียน ปลาช่อน ปลาอื่นๆทุกชนิดเมื่อได้มาเหลือกินมื้อนั้นๆก็เป็นหน้าที่เด็กๆเอามาขอดเกล็ดผ่าท้องเอาไส้ออกทิ้งไป บั้งข้างๆปลา หรือไม่ก็ผ่าซีกครึ่งตัวแผ่ออก เอาเกลือที่ตำจนละเอียดพอสมควรมาทาให้ทั่ว หมักเอาไว้หนึ่งคืน วันรุ่งขึ้นก็เอาไปล้างน้ำเอาเกลือออก แล้วก็เอาไปผึ่งแดด เพื่อทำปลาเค็ม (สมัยนี้ก็เป็นปลาแดดเดียว) หากว่ามีปลาจำนวนมากก็จะเอามาย่างถ่าน พอสุกได้ที่ก็เก็บใส่ปีบปิดให้สนิท กัน ขี้ขมวน กิน (เป็นแมลงชนิดหนึ่งที่ชอบมาชอนไชกินปลาย่าง)

ทั้งปลาเค็ม ปลาย่าง ทำไว้เพื่อเอาไปใช้ประกอบอาหารในฤดูหนาวที่ต้องทุ่มเทเวลาทั้งหมดเพื่อเตรียมเขน็ดมัดข้าว ลงมือเก็บเกี่ยวข้าวในนา หรือคุมการเกี่ยวข้าวของลูกจ้าง ขนข้าวจากที่นาเข้าลาน นวดข้าว ฝัดข้าว และเก็บเมล็ดข้าวเปลือกที่ได้ทั้งหมดเข้ายุ้งฉางซึ่งใช้เวลาเป็นเดือนๆ กว่างานทุกอย่างจะแล้วเสร็จ ซึ่งเป็นช่วงที่ยุ่งที่สุด ไม่มีเวลาไปหาของกินอื่นๆ ก็ได้ปลาเค็ม ปลาย่างที่ทำไว้นั่นเอง…

จำได้ว่าช่วงฤดูจับปลานี้ ปริมาณปลาที่มากมายในแม่น้ำน้อย และตามทุ่งนาใครมีปัญญาจับปลาด้วยวิธีใดก็ทำได้เต็มที่ ช่วงเวลาทำปลาเค็มปลาย่างนั้นศัตรูที่สำคัญคือ อีกาและเหยี่ยว แต่อีกามีจำนวนมากกว่าหลายเท่านัก มันจะมาเกาะเต็มหลังคาบ้านเวลาเช้าๆแล้วส่งเสียงร้องดังหนวกหูไปหมด ผมเคยเอาหนังสะติกมาไล่ยิงมัน แต่ไม่เคยยิงถูกเลย มันบินหลบเก่งมาก แค่มันเห็นเราเงื้อหนังสะติกมันก็บินหลบไปแล้ว

« « Prev : ชีวิตครอบครัวที่หายไป

Next : ปลา และ อีกา 2 » »


ผู้ใช้ Facebook สามารถให้ความเห็นที่นี่ได้ โดยกด Like เพื่อแสดงตัว

6 ความคิดเห็น

  • #1 sutthinun ให้ความคิดเห็นเมื่อ 4 มกราคม 2009 เวลา 16:56

    อีกาหายไปพร้อมๆกับป่าไม้ น้ำหมอกน้ำค้าง
    ต่อมาวัวควายหาย คนหาย เข้าโรงงาน
    โจทย์เปลี่ยน งานพัฒนาต้องปวดหัวอีกแล้ว
    โจทย์พลิก ทุกอย่างต้องพลิกแพลงอีกแล้ว
    โจทย์ใหม่กำลังมา โจทย์เก่าจะเอาไปไว้ที่ไหน?

    ไม่นานหรอก เด็กๆจะรู้จักอีกาพลาสติก อีกาดินเผา
    รู้จักปลากระป๋อง มากกว่าจะรู้จักปลาเป็นๆ
    ปลาย่าง ปลาเค็มบ่กิน รู้จักแต่สะเต๊กปลาแซมมอล
    อิ
    อิ
    อิ

  • #2 sutthinun ให้ความคิดเห็นเมื่อ 4 มกราคม 2009 เวลา 17:02

    อยากให้ท่านบางทรายมาเล่าเรื่องนี้ และ..
    - เรื่องการสร้างเขื่อนในลาว
    - โครงการที่ดงหลวง
    - งานตั้งฐาน NGO.ในอีสาน
    ให้นักศึกษาโข่งพระปกเกล้าฟังที่สวน
    วันที่ 28 กุมภาพันธ์ 2552
    ได้บ่ครับ
    งานนี้นัดปะทะทุกเรื่อง ระหว่างชาวแซ่เฮ กับ ชาวสสสส1 นักเรียนโข่ง
    คนแซ่แฮอื่นๆรับปากบ้างแล้วเป็นส่วนใหญ่
    มีเจ้าจิ มาไม่ได้ ร้องไห้ขี่มูกโป่งเป็นวรรคเป็นเวร

  • #3 น้ำฟ้าและปรายดาว ให้ความคิดเห็นเมื่อ 4 มกราคม 2009 เวลา 18:16

    อีกาเป็นนกที่บอกถึงความสมดุลของธรรมชาตินะคะพี่บางทราย อย่างในกทม.จะมีอยู่ที่สวนจิตรฯ ม.เกษตร และมีแถวๆรัฐสภา อิอิอิ

    ชีวิตที่เรียบง่ายจะสอดคล้องกับธรรมชาติ จำได้ว่าเคยอ่านการวิเคราะห์ธรรมชาติหมาของอ.คึกฤทธิ์ท่านวิเคราะห์ไว้ดังนี้ค่ะ

    คำกล่าวว่าหมาเดือนสิบสอง(ตค.ต่อพย.)ของคนโบราณ มาจากเพราะหมาไทยจะถึงฤดูผสมพันธุ์ในช่วงนั้น เนื่องจากประมาณสามเดือนหลังจากนั้นจะเป็นช่วงที่เกี่ยวข้าวใหม่เสร็จ ข้าวปลาอุดมสมบูรณ์ดังกล่าวว่าข้าวใหม่ปลามัน ทุกบ้านมีอาหารเหลือเจือจานให้หมาอ้วนพี

    ธรรมชาติของการเอาชีวิตรอดจึงทำให้หมาผสมพันธุ์ในช่วงนี้ เพื่อที่จะคลอดในช่วงมค.- กพ.ซึ่งไม่หนาวเกินไปและมีข้าวปลาอาหารอุดมสมบูรณ์ แต่ต่อมามีการนำหมาพันธุ์ต่างประเทศเข้ามามากมายจึงผสมพันธุ์ข้ามไปมา จนเดี๋ยวนี้หมาไม่ได้ผสมพันธุ์เฉพาะเดือนสิบสองเหมือนแต่ก่อนแล้ว

    อ่านจบก็น่าคิดเหมือนกันนะคะพี่บางทรายว่าตอนนี้มีอะไรที่เปลี่ยนแปลงไปบ้างนอกจากหมา..และสงสัยจริงๆนะคะว่าทำไมกล้วยไข่ถึงกินกับกระยาสารท แหะแหะ

  • #4 bangsai ให้ความคิดเห็นเมื่อ 4 มกราคม 2009 เวลา 19:27

    พ่อครูบาครับ

    ด้วยความยินดีครับ

    ผมคิดว่า เรื่องดงหลวงและงานฐาน NGO ในอีสานผมพูดได้ครับ
    สำหรับงานก่อสร้างเขื่อนในลาวนั้น ให้ปาลียน(เปลี่ยน)เป็นตัวหลัก ผมเป็นผู้เสริมก็แล้วกัน เพราะ เปลี่ยนเขาคลุกคลีเรื่องนี้มากกว่าผมและเขาเป็น “คนใน” มากกว่าจะรู้เรื่องดีกว่าครับ

    ตกลงผมพูดเรื่องดงหลวง และงาน NGO ในอีสานครับ อ้อ แถมเรื่องอีกาด้วยครับ

  • #5 bangsai ให้ความคิดเห็นเมื่อ 4 มกราคม 2009 เวลา 19:29

    พาคนข้างกายไปให้หมอฟันดูฟันหน่อย ก็เธอแปรงฟันวันละ 6-7 ครั้ง จนสึกหมด เสียวฟันซิ อิอิ.. หมอบอกว่าแปรงน้องลงก็ได้ อิอิ..

  • #6 bangsai ให้ความคิดเห็นเมื่อ 4 มกราคม 2009 เวลา 20:17

    น้องเบิร์ดครับ

    พี่เป็นแควนประจำของท่านคึกฤทธิ์ ตั้งแต่ท่านเขียนบทความทุกวันในสยามรัฐ เพราะที่บ้านพ่อรับหนังสือพิมพ์ฉบับนี้ประจำ เราก็เลยได้อ่านด้วย ชอบท่าน และนิยายในวิทยุก็เอาเรื่องราวจากหนังสือท่านมาทำก็เคยฟัง เช่น หลายชีวิต สี่แผ่นดิน (ทำละคอนทีวีก็ดู) ถกเขมร ….. ชอบลีลาการเขียนของท่าน คมกริบทีเดียว เวลาท่านด่าใครก็เจ็บแสบ..

    เคยไปเยี่ยมสำนักงานสยามรัฐของท่านด้วยเพราะมีเพื่อนห่างๆไปทำงานที่นั่นและชอบไปหาหนังสือมาอ่าน

    เวลาท่านไปอภิปรายที่ไหนก็ชอบติดตามฟังด้วย พี่ว่าหาใครจะมีความรู้กว้างขวางอย่างท่านยากจัง..

    อีกาเป็น Indicator ของสิ่งแวดล้อม ความสมดุลทางธรรมชาติ การรุกรานของมนุษย์ และนี่คือผลของงานพัฒนาประเทศด้วย…

    ส่วนกระยาสารททำไมต้องกินกับกล้วยไข่ พี่เดาเอาว่า คนโบราณคงทดลองกินกระยาสารทกับกล้วยหลายชนิด แต่มันเข้ากันดีกับกล้วยไข่เท่านั้น พี่ก็ว่าอย่างนั้นนะ กินกระยาสารทกับกล้วยน้ำว้า ไม่ได้เรื่องเลย…

    แต่ก่อนสมัยพ่อยังมีชีวิตอยู่ ที่บ้านกวนกระยาสารททุกปี พี่จะเป็นคนตำเครื่อง บางทีก็ช่วยกวน และช่วยบดลงแม่พิมพ์ แล้วตัดเป็นชิ้นๆ เก็บใส่ปีบ ปิดฝาให้สนิท ไม่ได้ทำเองมาหลายสิบปีแล้ว แต่ก็ได้กินอยู่ ญาติๆเขาทำก็เผื่อแผ่เราด้วย อิอิ ปีนี้ยังได้กินเลย… ยังกินจนพุงกางเหมือนเดิม ของชอบ อิอิ..


แสดงความคิดเห็น

ท่านอยากจะเข้าระบบหรือไม่


*
To prove you're a person (not a spam script), type the security word shown in the picture. Click on the picture to hear an audio file of the word.
Click to hear an audio file of the anti-spam word


Main: 0.63953399658203 sec
Sidebar: 0.31249403953552 sec