ชีวิตครอบครัวที่หายไป
“เสียงเด็กร้องให้ เสียงไอคนเฒ่า” เป็นประโยคธรรมดาที่บางท่านอาจจะคิดไปถึงว่า สถานที่แห่งนั้นมีเด็กอาจจะไม่สบายและมีคนเฒ่าที่อาจจะกำลังป่วย
ไม่ผิดครับ….เพราะไม่ได้อธิบายอะไรมากไปกว่าการกล่าวถึงประโยคนั้นเฉยๆ
แต่ผู้บันทึกต้องการมองอีกมุมหนึ่งคือ.. เป็นคำกล่าวที่สะท้อนถึง 3 รุ่นอายุ (Generation) คือรุ่นเด็กเล็ก(ลูก) รุ่นพ่อแม่(วัยแรงงาน)และรุ่นปู่ย่าตายายที่เป็นคนเฒ่า(วัยชรา วัยพักผ่อนและเผชิญโรคภัยไข้เจ็บ)
สภาพเช่นนี้คือสังคมไทยในสมัยก่อนแผนพัฒนาชาติ ที่สังคมยังเป็นครอบครัวใหญ่ อยู่ด้วยกันทั้งสามรุ่นหรือมากกว่าสามรุ่นด้วยซ้ำไปหากครอบครัวนั้นอายุยืนมากกว่า 80 ปีขึ้นไป ก็อาจจะมีรุ่นแหลน โหลน หลอน ด้วยซ้ำไป มันเป็นสังคมที่มีความอบอุ่นและมีความเป็นสังคมครอบครัวที่หนาแน่น สะท้อนด้วยเสียงร้องให้ของเด็กเล็กซึ่งเป็นเรื่องธรรมดา สะท้อนด้วยเสียงไอของคนเฒ่า ก็เป็นเรื่องธรรมดาอีกเช่นกัน
ครอบครัวแบบนี้มีข้อดีมากมาย
- อบอุ่น ดูจะเป็นประเด็นใหญ่เพราะมีเครือญาติมากมายอยู่อย่างใกล้ชิด มีกินด้วยกัน เล่นด้วยกัน ทำงานด้วยกัน ทุกข์ยากอย่างไรก็ช่วยเหลือกันเต็มที่
- มีการถ่ายทอดทุนทางสังคมต่างๆอย่างเป็นธรรมชาติ ที่อาจจะเรียกว่า Informal learning ไม่ต้องเข้าห้องเรียน ไม่ต้องแบ่งกลุ่มย่อยแลกเปลี่ยน ไม่ต้องมีใครมานำเสนอ ฯลฯ แต่ทำเลย ทำนา ทำไร่ จักตอก สานตะกร้า ไปวัด ไหว้พระ ผู้ใหญ่ให้เด็กทำแล้วก็สอนไปด้วย
- จุดเด่นที่สุดดูจะเป็นการถ่ายทอดทางวัฒนธรรมแห่งการอยู่ร่วมกัน ผมจำได้ว่า ที่บ้านพ่อจะทำยอดักปลาในช่วงน้ำหลาก เมื่อเราได้ปลาจำนวนมากเกินที่จะกินในครอบครัว แม่ก็จะเอาตะกร้าไปแบ่งปลามาแล้วให้ผมเอาไปให้ ป้าคนนั้น ตาคนนี้ ไม่ต้องซื้อหากัน อยากกินผักพื้นบ้านอะไรก็เดินไปริมรั้วบ้านคนนั้นแล้วตะโกนขอผักหน่อย เท่านั้นก็ได้กิน
- เด็กๆรุ่นเดียวกันก็จับกลุ่ม เล่นขายของ เล่นโป้งแปะ เล่นสารพัดจะสรรค์หาการเล่นมา แต่หากเล่นเลยเถิดไปจนทำให้เกิดความเสียหายแก่ข้าวของบ้านใคร พ่อแม่อนุญาตให้ผู้ใหญ่คนไหนก็ได้ในหมู่บ้านมีสิทธิ์ที่จะเอาเด็กคนนั้นมาดุด่าว่ากล่าว จนกระทั่งตีก้นได้เลย เป็นที่เข้าใจกัน
- วันพระทุกบ้านจะแต่งตัวสวยงามไปวัดกัน ที่วัดจะรวมคนทุกรุ่นตั้งแต่เด็กเล็กที่เดินได้ก็พ่อแม่จะจูงมือไป คนเฒ่าแก่ก็ไปแต่เช้านั่งคุยกับพระเจ้าอาวาส กินน้ำชา คุยกันสารพัดเรื่อง เป็นการ update ข้อมูลหมู่บ้าน สังคม ประเทศชาติ ฯลฯ
- ฯลฯ
ครอบครัวแบบนี้ สังคมแบบนี้มีในอดีต ที่ทุกท่านคนเห็นภาพนี้มาแล้ว แต่นับวันจะหดหายไปสิ้น ยิ่งสังคมเมือง ที่เอาคนเฒ่าไปไว้ที่บ้านคนชรา พ่อแม่เฝ้าบ้าน ลูกแยกครอบครัวออกไป กลายเป็นครอบครัวเดี่ยว….
ครอบครัวผมก็เช่นกัน เป็นสังคมเมือง ตอนลูกเล็ก แม่(ยาย)มาอยู่ด้วยเพราะอาสาจะมาเลี้ยงหลาน คนสุดท้าย (ที่เลี้ยงมาแล้ว 14 คน อิอิ) คนข้างกายเป็นข้าราชการ ก็ไปเช้ากลับเย็น ส่วนผมช่วงนั้นโชคดีที่ได้งานทำในเขตอำเภอเมือง ก็ไปเช้ากับเย็นได้ แม้ว่าบางครั้งต้องออกชนบทก็ไม่บ่อยนัก ชีวิตครอบครัวก็เป็นครอบครัวที่อบอุ่น ได้กินข้าวด้วยกันเกือบทุกวัน ฯ
เมื่อลูกโตขึ้น ส่งเขาไปเรียนไฮสคูลที่ NZ โดยไม่ได้วางแผนมาก่อน และผมเองก็ต้องย้ายที่ทำงานไปต่างจังหวัด กลับบ้านทุกวันหยุดเสาร์-อาทิตย์ ครอบครัวก็ไม่เป็นครอบครัว คุณแม่ก็เริ่มก้าวเข้าสู่ชราภาพ ความเจ็บไข้ได้ป่วยก็เข้ามาเยือน คนข้างกายแม้จะเป็นข้าราชการแต่ตำแหน่งหน้าที่การงานต้องเป็นนักวิจัย มีโครงการวิจัยมากมายล้นมือ ต้องเดินทางบ่อยไปทั่วประเทศทุกภูมิภาคทั้งในเมืองในชนบท ต่างประเทศก็ไปบ่อย ครอบครัวจึงเกือบไม่มีสภาพครอบครัว คุณแม่ต้องอยู่กับผู้ช่วยแม่บ้านที่นิสัยดีเหลือเกิน จนเราต้องจุนเจือครอบครัวเขาไปด้วยในหลายสถานะ
เมื่อลูกสาวเรียนจบไฮสคูลก็มาเข้าเรียน ABAC ที่กรุงเทพฯ ก็ไม่ได้อยู่ด้วยกันอีกแต่ยังดีที่อยู่ในเมืองไทย คนข้างกายก็ยังตระเวนทั่วประเทศเช่นเดิม ผมเองก็ตระเวนต่างจังหวัดตามเงื่อนไขของอาชีพ
แล้วคุณแม่ก็จากไป ลูกยังเรียน ผมยังอยู่ต่างจังหวัด บ้านจึงมีแต่คนข้างกายอยู่กับเด็กที่เราเอามาอยู่ด้วยเพื่อเป็นเพื่อนและส่งเสียเขาเรียนหนังสือตามกำลังเล็กน้อยที่พอจะมี
มาวันนี้ลูกสาวเรียนจบแล้วและกลับมาบ้าน ที่ไม่มีคุณแม่แล้ว การเป็นครอบครัวกลับมาอีกครั้งแต่ก็ไม่เต็มที่ แต่ก็เป็นบรรยากาศที่เรามีความสุข ที่พ่อแม่ลูกอยู่ด้วยกันมากขึ้น รอวันว่าเส้นชีวิตจะผกผันไปอย่างไรอีก แต่พยายามที่จะให้เป็นครอบครัวมากที่สุด….
สภาพสังคมเปลี่ยนไปนานแล้วและครอบครัวก็แตกแยกกันนานแล้วด้วยสาเหตดังกล่าว… ไม่เฉพาะครอบครัวผมหรอก ใครๆก็เป็นเช่นนี้… หากพ่อแม่ไม่เป็นหลักดีดีแล้วความเป็นครอบครัวคงรักษาไว้ให้มีความสุขได้ยาก
ไม่มีเสียงเด็กร้องไห้ ไม่มีเสียงไอคนแก่ อีกต่อไปแล้ว
ไม่มีการถ่ายทอดทุนทางสังคมแบบเดิมๆอีกต่อไป
สภาพครอบครัว สังคม เปลี่ยนอย่างสิ้นเชิง
เราจะประคับประคองสังคมของเราที่มีสิ่งดีดีให้สืบต่อได้อย่างไรหนอ…
« « Prev : สะเมิง : แข่งมอเตอร์ไซด์
4 ความคิดเห็น
ไม่ว่าจะเป็น “ชีวิตครอบครัวที่หายไป” หรือ “ประชาธิปไตยแบบมีส่วนร่วม” คนในสังคมต้องเห็นความสำคัญ และร่วมแรงร่วมใจกันสร้างและรักษามันไว้ครับ อิอิ
อยู่ดีๆสวรรค์คงไม่บันดาล หรือมันจะลอยจากฟากฟ้ามาหรอกครับ คงต้องเริ่มจากเล็กๆแล้วค่อยๆขยายตัวครับ เริ่มก้าวแรกกันเลยครับ
ว่าแต่ว่า มันจะทันมั๊ยน้อ ??????
ใช่แล้วครับเฮียตึ๋ง
เราต้องค่อยๆยกประเด็นนี้มาพูดคุยกับคนในครอบครัว เพื่อนๆ เพื่อร่วมกันสร้าง ร่วมกันทำ
แรงเกาะเกี่ยวทางสังคมนั้นเป็นสิ่งสำคัญ หากเราไม่หยิบมุมดีดีออกมาคุยกันแล้ว สังคมเมืองแม้ว่าจะเข้ามาเบียดสังคมไทยเดิมออกไปโดยการเคลื่อนตัวของสังคมใหญ่ แบบที่จะ(ต้อง)เป็นไป แต่เราต้องหาทางว่า ทางกายภาพเป็นเช่นนั้น แต่จินตภาพเราจะสืบทอดสังคมเดิมที่ดีดีเอาไว้ครับ
ทันหรือไม่ทันก็สงสัย แต่เราจะเริ่มเดี๋ยวนี้ อิอิ..นะเฮียนะ
เห็นภาพตามเลยค่ะ
หยุดปีใหม่นี้ พี่ๆ และหลานๆ พาครอบครัวกลับมาเยี่ยมอาปาและแม่ ก็คือต่างก็แยกไปมีครอบครัวเดี่ยวที่ต่างจังหวัด หลานๆ โตแล้วก็มีครอบครัวแยกออกไปอีก ต้องรอวันหยุดยาวถึงจะได้กลับมาบ้าน ตอนนี้ที่บ้านก็จะมี 4 รุ่น แต่อยู่กระจัดกระจาย เหนือ อิสาน ใต้ เลยค่ะ ..ทุกวันนี้คุยกันทางโทรศัพท์มั่ง อีเมลมั่ง ยังพอจะมีการสืบทอดสังคมเดิม แต่ก็ไม่เหมือนกับสังคมของคนอื่นๆ ที่เขาทำงานไม่ไกลบ้านค่ะ
ใช่ครับ…ปัจจุบันก็ต้องนัดพาลูกหลานไปพบกัน ยิ่งมีวันสำคัญๆก็ต้องหอบกันไปพบกัน ให้เด็กๆได้รู้จักกัน สนิทสนมกัน เรียนรู้จากผู้ใหญ่ที่มาพบปะกัน
โทรศัพท์ ก็เป็นเครื่องมือที่ใช้ประโยชน์เยอะอยู่ พี่ก็จะโทรหาแม่ตัวเองทุกเดือน โทรทีไร แม่ก็บอกชื่นใจที่ได้ยินเสียงลูกๆ แม้จะไม่เห็นหน้ากัน ก็คงใช้เครื่องมือสมัยใหม่ให้เป็นประโยชน์เท่าที่จะทำได้เน๊าะ