บันทึกของท่านครูบาชื่อ จดหมายถึงลูกที่ http://lanpanya.com/sutthinun/?p=542 ผมอ่านแล้วก็ มีความรู้สึกเหมือนเพื่อนๆทุกคน ที่ทั้งตื้นตันใจแทนท่านครูบาและชาวเฮฮาศาสตร์ทุกท่าน ยากที่จะมีความรู้สึกแบบนี้เกิดขึ้นโดยง่าย …ทำไมหรือ..
ตอบตัวเองอย่าง่ายๆตรงไปตรงมาก็คือ เจ้าฟ้าเจ้าแผ่นดินท่านทรงโน้มกายลงมาสัมผัสชาวเราที่รวมตัวกันแบบหลวม เพื่อแลกเปลี่ยนความรู้กัน แลกเปลี่ยนปัญญากัน ทำกิจกรรมต่างๆเท่าที่จะก่อเกิดได้ตามเงื่อนไข โอกาส แต่ทั้งหมดเป็นเรื่องที่สร้างสรรค์ ที่ค่อยๆก่อตัวจาก Cyber พัฒนาจนมาเป็นตัวเป็นตนและจะพัฒนาต่อๆไป… ทรงเห็นความสำคัญ และเสมือนท่านให้กำลังใจทำให้ก้าวหน้าต่อไป..
สิ่งที่ผมประทับใจมากที่สุดเท่าที่ท่านครูบาพยายามถ่ายทอดให้เราทราบก็คือ….“ท่านรับสั่งถามพ่อว่า อีสานนี่จะพัฒนายังไงดี ” …….
คำรับสั่งถามคำนี้แสดงถึงความห่วงใยของพระองค์ท่านต่อแผ่นดินนี้ ในฐานะที่พระองค์ท่านเสด็จมาอีสานก็ตั้งคำถามถึงอีสาน..
ผมมานั่งนึกในใจว่าหากพระองค์ท่านมาถามผม แบบทันทีทันใด ผมก็คงตื่นเต้นที่จะตอบคำถามที่ใหญ่โตเช่นนี้ แต่เรื่องนี้คล้ายๆกันกับที่ผมตั้งคำถามตัวเองเมื่อหลายสิบปีก่อนที่ย้ายฐานการทำงานจากภาคเหนือมาอีสานว่า หากมาอีสานจะมาพัฒนาอะไร….
1. มันแล้วแต่มุมมองของผู้คนที่มีประสบการณ์ที่แตกต่างกัน นักการศึกษาก็เริ่มที่ต้องแก้การศึกษา แพทย์ก็กล่าวว่าเรื่องสุขภาพชุมชน นักเกษตรก็ว่าต้องพัฒนาการเกษตร นักป่าไม้ก็ว่าต้องฟื้นฟูป่า ตำรวจก็ว่าต้องจัดการเรื่องคนผิด ฯลฯ
2. แต่ทั้งหมดนั้นมันพัวพันอีรุงตุงนังแกะกันไม่ออก เกี่ยวเนื่องมากบ้างน้อยบ้าง ยิ่งนานวันความเกี่ยวเนื่องกันก็มีมากขึ้นตามลำดับ นักบริหารก็อาจจะกล่าวว่า เอาปัญหาทั้งหมดมาจัดลำดับความสำคัญซี….
3. คนที่ผ่านการ train มาบางด้านก็บอกว่าต้องเริ่มที่ area base อีสานเหนือกับอีสานใต้ก็ไม่เหมือนกัน อีสานลุ่มน้ำกับอีสานเชิงเขาก็ไม่เหมือนกัน หรือจะกล่าวอีกนัยหนึ่งก็คือ ระบบนิเวศวัฒนธรรมเกษตรแต่ละแห่งก็ไม่เหมือนกัน
4. ราชการก็เอาระบบฐานข้อมูลกลางมาเป็นตัวตั้ง คือ กชช 2 ค. หรือ จปฐ. หรือ ฯลฯ ก็มีคำถามว่า เชื่อมั่นฐานข้อมูลนั้นแค่ไหน
5. บ้างก็ว่าเริ่มอะไรก็ถูกทั้งนั้น แต่เราก็เริ่มการพัฒนามามากกว่า 50 ปีแล้ว จนเพื่อนบ้านใกล้เคียงวิ่งรุดหน้าไปไกลแล้ว ต่างก็บอกว่าเป็นเพราะเราไม่บูรณาการกัน
6. ครั้งหนึ่งเราบอกเกษตรกรว่าต้องเพิ่มผลผลิตข้าวโดยการใช้ข้าวสายพันธุ์ใหม่ ต้องเปลี่ยนวิธีการทำนาเป็นการดำ ต้องใส่ปุ๋ย เมื่อเกิดโรคข้าวก็ใช้สารเคมี เฟื่องฟูมาจนเราส่งออกข้าวเป็นอันดับหนึ่ง แต่มาวันนี้บอกให้ลดละเลิกสารเคมี เพราะเป็นอันตรายต่อสุขภาพองค์รวม
7. เราเปิดประเทศและเน้นการส่งออกผลิตภัณฑ์การเกษตรและอื่นๆ จนภาคการเกษตรเกิดการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ แรงงานภาคเกษตรไหลเข้ามาสู่ภาคอุตสาหกรรม จนภาคเกษตรต้องไปจ้างแรงงานต่างชาติเข้ามาทำแล้ว
8. แล้ววันหนึ่งพระองค์ท่านผู้เป็นที่สุดของแผ่นดินทรงตรัสว่าเราต้องพอเพียง สภาพัฒน์ฯก็บรรจุหลักการนี้เข้าไปในแผนฯชาติ แต่ประเทศกำลังผ่านวิกฤติพลังงาน ราชการส่วนหนึ่งเอกชนอีกจำนวนมากก็เห่อปลูกพืชพลังงานกัน บางหน่วยงานกลับไม่ได้เน้นเรื่องพอเพียงตรงข้ามกลับเน้นพืชพลังงานกันใหญ่โต มิใส่ใจหลักการพอเพียงอย่างจริงจัง…
9. พรรคการเมืองก็หวังดีเอาเงินไปทุ่มที่หมู่บ้านท่ามกลางกระแสบริโภคนิยมที่ไหลบ่าไปสู่ชนบทอย่างมิมีสิ่งใดฉุดรั้งหรือชะลอได้ มิใยจะมีมาตรการที่เหมาะสมในการใช้เงินก้อนนั้น ไม่ถึงสิบปีที่ Mobile phone เข้ามาเมืองไทย เครื่องมือชนิดนี้ก็ติดกายเด็กเลี้ยงควายกลางทุ่งนาเสียแล้ว
10. ฝ่ายปกครองก็บอกว่าชุมชนต้องเข้มแข็ง ตั้งโครงสร้างต่างๆขึ้นมาใหม่โดยไม่สนใจใยดีระบบชุมชนดั้งเดิมที่ function มาตลอดนับร้อยๆปี
11. ยิ่งทบทวนไปก็ยิ่งพบเห็นภาพเหล่านี้ ยิ่งแลกเปลี่ยนเรียนรู้ก็ยิ่งเห็นความผกผัน กระแสหนึ่งไหลไปแทนที่ของเดิม สิ่งใหม่และเก่ามีทั้งดีและด้อยปะปนกันไป แต่เราละทิ้งของเดิมแล้วถวิลหาแต่สิ่งใหม่ๆ
12. ผมมาอีสานก็บอกกับตัวเองว่าต้องรู้เรื่องดิน เรื่องน้ำ เรื่องป่า เรื่องชนเผ่า ประวัติศาสตร์ท้องถิ่น ฯ
13. พูดเรื่องกว้าง หากเราเป็นคนในหมู่บ้านก็ต้องเริ่มที่หมู่บ้าน วิเคราะห์ภาพของหมู่บ้าน ภายในหมู่บ้าน หมู่บ้านต่อหมู่บ้าน หมู่บ้านกับข้างนอก
14. หากเราเอา area base ผนวกกับ ความคิดเห็นของชาวบ้าน ผนวกกับภาพรวมที่กระทำต่อหมู่บ้าน ต่อยอดของเดิมที่มีดีดีอยู่แล้ว ฟื้นฟูของเดิมขึ้นมา ผนวกกับสิ่งใหม่ๆที่สอดคล้องกับวิถีชีวิต เดินไปด้วยกัน เกาะกลุ่มด้วยกัน โดยเฉพาะการผสมผสานสิ่งใหม่กับเก่าอย่างลงตัว ค่อยเป็นค่อยไป อาศัยเวลาและการปรับตัวขยับเส้นทางเดินไปตามช่วงจังหวะเวลา…ทั้งหมดนี้ผมเห็นด้วยอย่างยิ่งว่าต้องยึดหลักพอเพียงของพระองค์ท่าน…
15. สิ่งที่กล่าวมิใช่เรื่องใหม่ แต่เป็นเรื่องที่ตอกย้ำเส้นทางเดินของการพัฒนาอีสาน
สรุปทัศนะของผมคือ
· เอาพื้นที่เป็นตัวตั้ง
· เอาประชาชนเป็นตัวตั้ง
· เอาวิชาการที่เหมาะสมเข้าไปผสามผสานอย่างลงตัว
· เอาภาพรวมประเทศเข้าไปผสมผสานอย่างลงตัว
· พัฒนาคน พัฒนาจิตสำนึกเป็นเรื่องใหญ่
· ต่อยอดของเดิมที่ดี เติมสิ่งใหม่ที่เหมาะสม
· เน้นความพอเพียงเป็นฐานก่อน
· อิงโครงสร้างเก่าผสมผสานหลักการใหม่อย่างเหมาะสม
· ผสมผสาน บูรณาการจากจุดเล็กๆ แล้วขยายสู่ใหญ่
· พัฒนาทุนเดิมหมู่บ้าน ชุมชน ท้องถิ่น ดัดแปลงให้อยู่ในสภาพแวดล้อมใหม่
· ผนวก เด็ก เยาวชน สตรี พระ ผู้เฒ่า ฯลฯ ให้มีส่วนร่วมในกิจกรรมต่างๆ
· ขับเคลื่อนภาพรวมอย่างต่อเนื่อง ปรับปรุง เปลี่ยนแปลงตามสภาวะ เงื่อนไข
พูดง่ายทำยาก แต่เมื่อเริ่มสิ่งใดสิ่งหนึ่งขึ้นมาแล้ว ก็สร้างสายใยเกี่ยวเนื่องสิ่งอื่นๆตามไปอย่างบูรณาการ ใช้เวลาไม่เร่งรีบจนมีเพียงปริมาณโดยไม่มีคุณภาพ เนื้อในของชุมชนเป็นตัวขับเคลื่อนหลัก คนจากภายนอกเป็นเพียงผู้สนับสนุน
ข้าน้อยขอปลดปล่อยประสบการณ์บางส่วนออกมาบ้างเท่านั้น เพราะต้องการสนองรับสั่งของพระองค์ท่านด้วยวิสัยคนทำงานคนหนึ่ง..ที่เป็นข้ารองพระบาท…