นิทานร้อยบรรทัด เล่ม 6 : เรื่องที่ 1 ทุกคนรู้หน้าที่

โดย krupu เมื่อ 5 มีนาคม 2012 เวลา 23:00 ในหมวดหมู่ ภาษา, วัฒนธรรม ประวัติศาสตร์ #
อ่าน: 54650

นิทานร้อยบรรทัด เล่ม 6 เรื่อง ประชาธิปไตยที่ถาวร ชั้นประถมปีที่ 7

นิทานร้อยบรรทัด เรื่อง “ประชาธิปไตยที่ถาวร”

เข้าใจว่าคุ้นแค่เล่ม 1 เล่มเีดียวนะคะ แต่พอไล่อ่านไปแล้วหลายเล่ม ถูกใจมาก สอนได้ครอบคลุมหลายเรื่อง ทั้งความตระหนักและสำนึกในหน้าที่ของตน ต่อการเป็นสมาชิกของครอบครัว ของสังคม ความรับผิดชอบที่มาพร้อมหน้าที่นั้น ๆ  การมองเห็นคุณค่าที่แท้จริงของวัฒนธรรมและวิถีชีวิตแบบไทยแท้

เนื้อหาเป็นการสอนเด็กให้ตระหนักและลงมือทำหน้าที่ของการเป็นเด็กอย่างขมักเขม้น ทุกสิ่งที่เขา “ต้อง” ทำในวันนี้ ล้วนมีความสำคัญและจำเป็นเมื่อเขาเติบใหญ่ไปในภายหน้าทั้งสิ้น อ่านไปก็นึกถึงลูกหลานเราในปัจจุบัน อยากให้เขาได้รับสื่ออะไรที่ชัดเจนและเป็นเหตุเป็นผลแบบนี้จัง แต่ทั้งนี้ทั้งนั้น บุคคลแวดล้อมต้องเข้าใจไปในทิศทางเดียวกัน สังคมต้องเอื้อต่อการพัฒนาโดยภาพรวมด้วยเนาะคะ

แอบคิดว่าอยากให้นำนิทานร้อยบรรทัดนี้กลับมาเป็นแบบเรียนอีกรอบจัง แต่พอดูสภาพสังคมของเราขณะนี้ ก็ไม่ค่อยแน่ใจเท่าไหร่หรอกนะคะ  ว่าจะใช้กับเด็ก ๆ ได้ผลหรือเปล่า

ที่แน่ ๆ เทอมหน้านี้ คงจะต้องออกแรง psycho อาจารย์บางท่านให้แทรกเข้าไปในบางรายวิชาที่เหมาะสม ของนักศึกษา VBAC ทุกชั้นปีเลยล่ะค่ะ ^^

นิทานเรื่องที่ 1 - ทุกคนรู้หน้าที่

เด็กชายแดง ลูกดำรง อ้อยคงรัก

แน่ตระหนัก เหมือนวงศ์วาน เป็นหลานป้า

เฝ้าปรุงปั้น ไม่รามือ รื้อระอา

เพราะรู้ว่า เป็นหน้าที่ หนีไม่พ้น

เด็กของชาติ หากขาด ผู้ใหญ่ปั้น

อนาคต นับวัน จะปี้ป่น

จะเติบโต เพียงเห็น เป็นรูปคน

ส่วนจิตใจ จะมืดมน ไม่เป็นการ

อันพ่อแม่ ครูบา อาจารย์ทั่ว

รวมผู้ใหญ่ ต้องเป็นรั้ว อยู่รอบด้าน

คอยตะล่อม มิให้ ไปทางพาล

จนจวบกาล รู้ดีชั่ว ด้วยตัวเอง

หน้าที่บ้าน กับโรงเรียน เวียนเหมือนจักร

หมุนไม่พัก รักษาวง ไว้ตรงเผง

ช่วยกันขัด ช่วยกันเกลา ให้เข้าเพลง

เสมือนเร่ง ตีเหล็ก กำลังร้อน

จะเอารูป อย่างไร ได้ทั้่งนั้น

หากขยัน ไม่ย่อท้อ ระย่อหย่อน

เด็กจะต้อง ดีแท้ อย่างแน่นอน

เป็นทุนรอน สืบไป ไม่ขาดมือ

โรงเรียนปิด แดงก็ติด อยู่กับป้า

ถึงเวลา ก็ไม่คร้าน อ่านหนังสือ

ตามที่อ้อย กำหนดให้ ได้ฝึกปรือ

แดงไม่ดื้อ พูดจา ก็น่าฟัง

“คุณป้าครับ คุณครูใหญ่ ใหญ่สมชื่อ

เขาเลื่องลือ กันว่า วิชาขลัง

เป็นปู่ครู ศิษย์หา บรรดายัง

นับก็ตั้ง ร้อยพัน นั่นทีเดียว

แดงสงสัย ว่าทำไม ท่านไม่เบื่อ

สอนซ้ำซ้ำ พร่ำเพรื่อ ใช่ประเดี๋ยว

คุณป้าสอน แดงนานนิด บิดเป็นเกลียว

เฝ้าแต่เหลียว หาคนนวด ว่าปวดร้าว”

อ้อยว่า “ถูก แล้วป้า มีหน้าที่

งานแม่บ้าน มากมี มาแต่สาว

มานั่งสอน เป็นส่วนตัว แม้ชั่วคราว

ก็ทบท่าว หนักเหนื่อย ชวนเมื่อยล้า”

แดงว่า “งาน แม่บ้าน งานไม่ใหญ่

มอบเด็กเด็ก คนใช้ ทำดีกว่า

คุณป้าว่าง ก็เบา เอาเวลา

มาสอนแดง ดูท่า จะเข้าที

ไม่ต้องไป โรงเรียน เพียรตื่นเช้า

ไม่ต้องฟัง ระฆังเร้า ขวัญแทบหนี

กำลังเล่น ระฆังราน เหมือนมารมี

ที่แดงว่า อย่างนี้ ดีไหมครับ”

อ้อยร้องว่า “ไม่ได้ ! ไม่เข้าเรื่อง

พูดให้เปลือง เวลา เดี๋ยวป้าปรับ

ให้นั่งเขียน นั่งอ่าน นานไม่นับ

ให้สมกับ ค่อนระฆัง ว่าดั่งมาร

เป็นนักเรียน มีหน้าที่ หนีไม่ได้

ต้องเคร่งครัด ต่อวินัย ใช่อยู่บ้าน

เสียงระฆัง คืออาณัติ ดัดสันดาน

ให้รู้เล่น รู้งาน ไม่ปะปน

เสร็จศึกษา ออกมา เป็นพ่อบ้าน

จะกอปรกิจ การงาน ไม่สับสน

มีระเบียบ วินัย ไว้ครองตน

ให้เป็นคน รู้หน้าที่ มีสำคัญ

อันจะเกณฑ์ ให้ป้า มาเป็นครู

งานแม่บ้าน ไม่ต้องดู ปล่อยไว้นั่น

มีเด็กเด็ก คนใช้ ให้ช่วยกัน

ปล่อยอย่างนั้น ไม่กี่วัน เป็นนรก

แดงรู้ไหม ว่าทำไม ป้าตื่นเช้า

ไม่ซบเซา อยู่ในมุ้ง มัวนอนหมก

เรียกเด็กเด็ก ดูเรือนชาน บ้านที่รก

ขจัดสิ่ง สกปรก ให้หมดไป

บ้านของเรา ใครเขา จะอินัง

เด็กรับใช้ ไม่คอยสั่ง ก็ไถล

ต้องทั้งสั่ง ทั้งกำกับ จึงฉับไว

มิฉะนั้น งานได้ ไม่เรียบร้อย

พวกคนครัว หุงหา อาหารเช้า

ก็ทำให้ ใช่เขา จะท้อถอย

แต่ก็ต้อง คอยเตือนให้ ไม่ตะบอย

เดี๋ยวคนกิน ต้องคอย ก็เสียงาน

แดงได้ไป เรียนทุกวัน ทันเวลา

ท่านเรือนใหญ่ ได้ข้าวปลา พร้อมอาหาร

ตักบาตรพระ ได้ขบฉัน ทุกวันวาร

ก็เพราะป้า แม่บ้าน คอยนำพา

แดงกับเพื่อน เด็กเด็ก ทั้งเล็กใหญ่

มีที่เรียน เรียนได้ สมปรารถนา

ก็เพราะครู น้อยใหญ่ ไม่ระอา

ต่างตั้งหน้า ทำหน้าที่ ที่ผูกมัด

อันพระสงฆ์ องค์เจ้า ที่เคารพ

สุขสงบ ภาวนาธรรม นำปฏิบัติ

เสริมพระศาสน์ เป็นนิตย์ กิจวัตร

ได้โปรดเว- ไนยสัตว์ เพราะพวกเรา

ร่วมใจกัน ทำบุญ อุดหนุนท่าน

จตุปัจจัย ไทยทาน ใช่งานเปล่า

เพียรอุปถัมภ์ บำรุง ไม่ดูเบา

ศาสน์รุ่งเรือง รัฐเนา นิราภัย

ด้วยปกครอง สะดวกดาย วายวิตก

เพราะทุกฝ่าย หยิบยก เป็นข้อใหญ่

ว่ารู้จัก หน้าที่ มีจิตใจ

รักประชา-ธิปไตย นั่นสำคัญ

ทุกทุกคน ไม่ต้องให้ ใครบังคับ

ด้วยหน้าที่ คอยกำกับ เป็นคำขวัญ

“รักเป็นใหญ่ ต้องเอออวย ช่วยเหลือกัน

ใครถนัด อะไรปัน แบ่งกันทำ

ตัวจักรใหญ่ ได้งาน เพราะตัวย่อย

ทำหน้าที่ ตามมากน้อย ไม่ถลำ

ให้ผิดพลาด เสียการ งานประจำ

นั่นแหละ กรรมวิธี ที่ถาวร”

จบนิทานร้อยบรรทัด เรื่องที่ 1

———————————————————————

Post to Facebook

« « Prev : สิ่งที่พวกผู้ใหญ่เรียนรู้ได้จากเด็ก ๆ

Next : บ้านของหนูในสวนของพ่อ » »


ผู้ใช้ Facebook สามารถให้ความเห็นที่นี่ได้ โดยกด Like เพื่อแสดงตัว

6271 ความคิดเห็น