ก่อนน้ำมา
บ้านครูปูอยู่ในเขตบางเขน กรุงเทพมหานคร ซึ่งเป็นหนึ่งในบริเวณที่มีความเสี่ยงต่อการถูกน้ำท่วมได้ ก็ลุ้นกันตลอดเวลาเลยค่ะ เขตลำลูกกากับสายไหมข้าง ๆ กัน ก็เอ่อไปแล้ว วันนี้ก็มีการเตรียมการเรื่องอาจจะอพยพประชาชนในเขตมีนบุรี และลาดกระบังที่อยู่ถัดไปอีก เพื่อนฝูง คนรู้จักก็พากันโทรสอบถามกันอย่างอุ่นหนาฝาคั่ง จึงขอแบ่งเวลาที่กำลังนั่งลุ้นอยู่นี่ มาร่วมตอบโจทย์พ่อครูบาจากบันทึกนี้ ดังนี้ค่ะ
ข้อสอบ ภาคเช้า
จงตอบคำถามต่อไปนี้ เวลา 3 ชั่วโมง
1 ในภาวะฉุกเฉินท่านต้องการความรู้อะไรมากที่สุด
ตอบ : ความรู้ที่ทำให้รอดค่ะ เช่น การประยุกต์นำสิ่งของรอบตัวมาใช้ให้เป็นประโยชน์ยามคับขัน เป็นต้น
2 ท่านตระหนักเรื่องน้ำท่วมครั้งนี้แค่ไหน
ตอบ : ตระหนักมากและเตรียมการล่วงหน้ามาพอสมควรแล้ว
3 ท่านติดตามข่าวเกี่ยวกับน้ำท่วมอย่างไร
ตอบ : ตลอดเวลาทั้งจากสื่อและแหล่งข่าวที่น่าเชื่อถือ
4 ท่านมีประสบการณ์เกี่ยวกับน้ำท่วมมากน้อยอย่างไร
ตอบ : พอสมควรเนื่องจากบ้านที่ ตจว.เพิ่ง โดนท่วม ไปเมื่อกลางปีนี่เอง สัมผัสสภาพการณ์แล้วจึงตระหนักได้เบื้องต้นบ้างแล้วว่าจะต้องเตรียมการเรื่องใดบ้าง
5 ท่านเตรียมตั้งรับสถานการณ์อย่างไร
ตอบ :
ที่ทำงาน
1. ติดตามข่าวสารความเคลื่อนไหวของสถานการณ์ตลอดเวลา
2. ประสานงานกับหน่วยงานต่าง ๆ ที่เป็นภาคีความร่วมมือ ในการจัดกิจกรรมต้านภัยน้ำท่วมร่วมกัน และหากเกิดวิกฤตขึ้นจริง ก็สามารถให้ความช่วยเหลือซึ่งกันและกันได้
3. นำนักศึกษาและบุคลากรออกช่วยเหลือผู้ประสบภัยน้ำท่วม ในกิจกรรมที่หน่วยงานต่าง ๆ จัดขึ้น เช่น การบริจาคสิ่งของ การช่วยแพ็คของ โดยหวังที่จะปลูกจิตสำนึกให้แก่นักศึกษาและบุคลากร รวมทั้งสร้างความตระหนักให้เขาได้สัมผัสกับข้อมูลและข่าวสาร วิธีป้องกันตนเองจากเหล่าอาสาสมัครที่ทำงานเกี่ยวกับภัยพิบัติโดยตรง
4. วางแผนการขนย้ายวัสดุอุปกรณ์ที่ใช้ไฟฟ้าขึ้นจากพื้น และอุปกรณ์ที่อาจเสียหายจากน้ำ ขึ้นที่สูง และจัดเวรกำลังเฝ้าระวังเหตุการณ์ตลอดเวลา
ที่บ้าน
1. ติดตามสถานการณ์และข่าวสารอย่างใกล้ชิด ถ้าบนลานก็ดูที่ ลานซักล้าง ทั้งบันทึกปัจจุบันและบันทึกย้อนหลังหลาย ๆ เรื่องที่ให้ความรู้เพื่อการเตรียมการค่ะ
2. กำจัดเสื้อผ้า+ข้าวของทุกอย่างที่ “ไม่จำเป็นมาก” ด้วยการนำไปบริจาคช่วยเหลือผู้ประสบภัยน้ำท่วมเพื่อลดเนื้อที่และภาระการจัด เก็บ
3. อัดกระสอบทรายหน้าบ้านและในบ้านรอมากว่าครึ่งเดือนล่วงหน้าแล้ว
4. สิ่งของในบ้านใช้ลังไม้หนุนสูงขึ้นไป 50 cm. ทุกชิ้น
5. ทดลองระบบตัดไฟที่แยกโซนชั้นล่างชั้นบนไว้แล้ว
6. ตุนอาหารแห้งทั้งของคนและหมา และอุปกรณ์อย่างง่ายบางอย่างที่จำเป็นต่อการดำรงชีวิต
7. นำหมาไปกร้อนขนไว้ก่อน เพื่อป้องกันกลิ่นที่อาจเกิดขึ้นเมื่อขนเปียกน้ำ
8. ฝึก กุ๊งกิ๊ง ให้เชื่อฟังคำสั่ง ไม่ดื้อ ไม่ซน ไม่ขี้หงุดหงิด หากต้ัองอยู่ในกรงเป็นเวลานาน ๆ
9. เบิกเงินสดติดตัวไว้พอสมควรแล้ว
10. ซักซ้อมการใช้ชีวิตยามขาดแคลนไฟฟ้าไว้บ้างแล้ว (กินนม 1 กล่องพออยู่ท้อง อาบน้ำสามขัน ปะแป้งตรางู แล้วนอนดูดาว อิอิ)
11. จัดเตรียมเสื้อผ้าที่โปร่ง แห้งเร็วไว้ใช้ในช่วงนี้
12. เริ่มพูดคุยกับเพื่อนบ้านเรื่องการเตรียมการบ้างแล้ว (เพราะก่อนหน้านี้มีแต่คนมาขำ ๆ ว่าที่บ้านนี้เตรียมการเสียใหญ่โตอ่ะ) เพราะหากเกิดความวุ่นวายขึ้นจริง ๆ คิดว่าตัวเองคงทนดูเพื่อนบ้านเดือดร้อนไม่ได้หรอกค่ะ คงต้องแบ่งปันความช่วยเหลือเท่าที่มีให้กันอยู่ดี เพราะฉนั้นหากเขาตระหนักได้ (เสียที) ก็น่าจะเป็นการดีกว่า
6 ท่านปรับตัวอยู่กับสถานการณ์อย่างไร
ตอบ : ซ้อมการใช้ชีวิตอยู่ชั้นบนอย่างเดียว เรียกว่าซ้อม ให้เท่ ไปงั้นเองค่ะ ทุกวันก็ทำแบบนี้อยู่แล้ว อิอิอิ ทดลองทำอาหารจากอุปกรณ์ง่าย ๆ เท่าที่จำเป็น เตรียมไฟฉาย ถ่าน ผ้าสะอาด ถุงพลาสติก น้ำดื่ม ฯลฯ กะว่าใช้ไปได้สบาย ๆ เป็นสัปดาห์
7 ท่านคิดวิธีช่วยเหลือตัวเองได้ในเรื่องไหนบ้าง
ตอบ : นำขวดน้ำมามัดเป็นชูชีพอย่างง่าย เผื่อการเดินทางในน้ำ หากจำเป็นจริง ๆ
8 เรื่องใดที่ท่านช่วยเหลือตนเองไม่ได้
ตอบ : หากเจ็บป่วยกระทันหันในช่วงนั้นอาจมีปัญหาได้ เพราะฉนั้นก็จงอย่าป่วยเลยนะ ว่าแล้วก็เริ่มออกกำลังกายเลยแล้วกัน (เพิ่งเริ่มวิ่งขึ้นลงตึก 5 ชั้น 2 รอบ ก่อนเขียนบันทึกนี่เองค่ะ ฮ่า…)
9 ท่านไปขอรับการช่วยเหลือในเรื่องใดบ้าง
ตอบ : ไม่ได้ขออะไรจากใครค่ะ
10 ท่านได้รับ/ไปขอรับความช่วยเหลือจากใคร
ตอบ : เนื่องจากไม่ได้ขอ จึงไม่ได้รับค่ะ อ้อ เรียนขอคำแนะนำจาก ป๋า ได้มาหลายเรื่องเลย ขอบพระคุณค่ะ ^^
11 เรียงลำดับความจำเป็นและต้องการเร่งด่วน 10 ข้อ
ตอบ : ไม่มีค่ะ เนื่องจากเตรียมการไว้น่าจะพร้อมแล้ว
12 เรียงลำดับเรื่องที่ท่านต้องการเสนอแนะ 10 ข้อ
ตอบ :
1. อยากให้มีการนำเสนอข้อมูลที่คัดกรองแล้วอย่างรวดเร็วทันท่วงทีจากหน่วยงานของรัฐ เพื่อการเตรียมการ
2. อยากให้หน่วยงานองค์การต่าง ๆ หันมาให้ความสำคัญของการร่วมมือร่วมใจสู้ภัยพิบัติอย่างจริงจัง หากไม่มีงานเร่งด่วนของบริษัทห้างร้าน เจ้าของกิจการ/ผู้บริหารควรส่งเสริมการมีจิตสาธารณะนำพนักงานออกมาช่วยเหลือสังคมอย่างเหมาะสม หรือออกนโยบายที่เห็นใจและให้การดูแลพนักงาน เช่น อนุญาตให้พนักงานที่ได้รับผลกระทบหยุดงานเพื่อกลับไปดูแลบ้าน พ่อแม่ญาติพี่น้องโดยไม่หักเงินเดือน (ใจคอยังจะไปหักเงินเขาได้ลงคอเนาะ)
3. อยากให้สถานศึกษาฉวยวิกฤตเป็นโอกาสในการส่งเสริมให้นักศึกษาได้ออกไปช่วยเหลือสังคม ได้เรียนรู้ผ่านการปฏิบัติจริง เพื่อปลูกฝังการมีจิตสาธารณะ เข้าใจและคิดถึงการอยู่ร่วมกันที่ย่อมต้องได้รับผลกระทบเช่นเดียวกัน
4. อยากให้หน่วยงานของรัฐที่เกี่ยวข้องกับการสร้างเสริมจิตสำนึกแห่งความเป็นชาติ ได้ถอดบทเรียนเหตุการณ์นี้เพื่อนำไปวางแผนในการพัฒนาจิตสำนึกของคนในชาติ อย่างจริงจังและจริงใจอย่างเป็นรูปธรรม
ข้อสอบภาคบ่าย
: จงตอบคำถามต่อไปนี้ เวลา 3 ชั่วโมง
1 ท่านนำหลักการเศรษฐกิจพอเพียงมาใช้ในประเด็นใด
ตอบ : ประเด็นการดำรงชีวิตค่ะ เนื่องจากเป็นคนสมบัติน้อย ความคล่องตัวจึงสูงไปด้วยในยามวิกฤติแบบนี้ แถมยังเตรียมการและเตรียมใจรับความเสียหายเท่าที่เป็นได้ด้วยค่ะ คือเตรียมการว่าถ้าน้ำท่วมไม่เกิน 50 cm. ก็แทบไม่ได้รับผลกระทบใด ๆ เลย แต่ถ้าเกินกว่านั้นอาจมีข้าวของบางอย่างเสียหาย ซึ่งคิดว่า ปล่อยไปเลยค่ะ จะอะไรกันนักกันหนา ดูคนอยุธยาเขาสิ สิ้นเนื้อประดาตัว สูญหายล้มตายพลัดพรากกันตั้งเท่าไหร่ หรือต่อให้เสียหายไปเลยทั้งหลังก็โอเคค่ะ ก็แฟร์ดีออก ยังไงก็แค่สมบัตินอกกายอยู่ดีล่ะค่ะ
2 ท่านใช้จ่ายในระหว่างน้ำท่วมไปประมาณเท่าใด
ตอบ : กระสอบทราย 30 บาท+ค่าขนส่ง 5 บาท จำนวน 20 กระสอบ รวมเป็นเงิน 700 บาท ส่วนกระสอบเปล่าเพื่อเอามาเฉลี่ยเป็นจุดเล็ก ๆ อุดตามท่อน้ำทิ้งหรือห้องน้ำได้มาฟรีค่ะ ส่วนอุปกรณ์อื่น ๆ และอาหารก็มีอยู่บ้างแล้ว ไม่ถือว่าเป็นค่าใช้จ่ายเพิ่มเติมที่เพิ่มขึ้นค่ะ
3 ถ้าคะแนนเต็ม 10 ท่านให้ราคาผลงานกลุ่มรายชื่อข้างล่างนี้เท่าใด
3.1 คณะรัฐมนตรี -
3.2 นักการเมือง ฝ่ายค้าน/ฝ่ายรัฐบาล -
3.3 นักวิชาการ/นักวิจัย/อาจารย์ในมหาวิทยาลัย -
3.4 ข้าราชการระดับกระทรวง -
3.5 กองทัพไทย/ตำรวจ/ทหาร ทุกหมู่เหล่า 10
3.6 ข้าราชการระดับกรม/กอง -
3.7 ข้าราชการระดับภูมิภาค -
3.8 ข้าราชการส่วนท้องถิ่น -
3.9 อบต.กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน 8
3.10 เครือข่ายชุมชน/ญาติ/เพื่อนฝูง 6
3.11 บริษัท/ห้างร้าน -
3.12 มูลนิธิ/องค์กรการกุศล/อาสาสมัคร 10
3.13 ตัวท่านเอง 7
3.14 อื่นๆ
อนึ่ง คะแนนดังกล่าวเป็นเพียงความคิดเห็นส่วนตัวที่ได้รับรู้จากการบริโภคข้อมูลจากสื่อต่าง ๆ บางส่วนเท่านั้น
ในส่วนที่ละไว้เนื่องจากยังไม่มีข้อมูลมากถึงขั้นจะประเมินได้ค่ะ
ข้อสอบภาคกลางคืน
: จงตอบคำถามต่อไปนี้ เวลา 3 ชั่วโมง
1. ท่านเข้าใจว่าสาเหตุน้ำท่วมเที่ยวนี้เกิดจากอะไร
ตอบ : ธรรมชาติกึ่งหนึ่ง ความรู้ไม่เท่าทันของคนที่จะอยู่ร่วมกันกับธรรมชาติกึ่งหนึ่งค่ะ
2. ท่านมีความเห็นว่าจะแก้ไขปัญหาในระยะต้น ระยะกลาง ระยะยาวอย่างไร
ตอบ :
ระยะต้น : เร่งทำความเข้าใจและให้ข้อเท็จจริงกับประชาชนเพื่อความร่วมมือร่วมใจป้องกันปัญหาอย่างยั่งยืน เร่งฟื้นฟูทั้งสภาพเศรษฐกิจและสภาพจิตใจของผู้สูญเสีย
ระยะกลาง : ร่วมกันถอดบทเรียนจากเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในทุกด้าน เพื่อหาโอกาสในการพัฒนา
ระยะยาว : สังคยนากฎหมายและวิธีปฏิบัติที่ยังเป็นอุปสรรคต่อการแก้ไขปัญหา รื้อแผนงานที่อุ้ยอ้ายและไร้ประสิทธิภาพของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเสียที ปรับวิธีคิดของคนในสังคมที่มีต่อสภาพแวดล้อม ปรับหลักสูตรการเรียนการสอน เพื่อสร้างจิตสำนึกสาธารณะของคนในสังคม ทีนี้ล่ะค่ะ คงจะได้ยินคำว่า “มาปลูกต้นไม้กันเหอะ” ดังสนั่นไปทั่วเสียที นิ พ่อ นิ
3. ท่านจะปรับเปลี่ยนอาชีพ/หน้าที่การงานหรือไม่อย่างไร
ตอบ : คงไม่ถึงกับปรับเปลี่ยนอาชีพ แต่เริ่มวางแผนกับอนาคตได้ชัดขึ้น เพราะการทำงานประจำก็มีข้อจำกัดในการออกไปทำงานเพื่อสังคมพอสมควร ประกอบกับมองเห็นสภาพการณ์ทางสังคมที่จะนำมาเป็นโจทย์ในการจัดการเรียนการสอนเพื่อปลูกฝังนักศึกษาได้ เช่น การดูดายไม่ทุกข์ร้อนต่อปัญหาสังคม การขาดความกล้าหาญที่จะลุกขึ้นมาทำสิ่งดี ๆ เพียงลำพัง เป็นต้น
4. เรื่องใดบ้างที่เป็นวิกฤติมากที่สุดสำหรับครัวเรือนของท่าน
ตอบ : ไม่มีค่ะ
5. หลังจากน้ำท่วม ท่านจะร้องขอความช่วยเหลือในเรื่องใด มูลค่าเท่าใด
ตอบ : เป็นข้าราชการ(สังกัดหน่วยงานเอกชน) มาก็พอสมควร ยังไม่เคยเรียกร้องสิทธิที่พึงจะได้เลย ครั้งนี้คงเช่นกันค่ะ
6. นอกจากความเห็นใจแล้ว ท่านต้องการได้รับเรื่องใดเป็นพิเศษ
ตอบ : ไม่ต้องการอะไรเลยค่ะ (อ้อ นึกอยากหนีไปวิ่งเล่นที่สวนป่าซัก 3-4 วันอ่ะพ่อ )
7. ท่านวางแผนแก้ไขเรื่องภายในครอบครัวหลังน้ำท่วมอย่างไร
ตอบ : จะค่อย ๆ ชี้ให้น้องชายได้เห็นสัจธรรมของชีวิตด้วยการใช้ชีวิตแบบเรียบง่าย พอเพียงและเพียงพอที่เป็นเครื่องมือสำคัญทำให้เราอยู่รอดได้ในสถานการณ์คับขัน
8. ในระหว่างวิกฤตท่านได้ใช้ความรู้ในเรื่องใดมากที่สุด
ตอบ : การมีสติและพิจารณาความจำเป็นของชีวิตค่ะ
9. ท่านเชื่อไหมว่าเหตุการณ์เช่นนี้จะเกิดขึ้นอีกในอนาคต
ตอบ : ขึ้นอยู่กับว่า “พวกเราทั้งหมดนี่” ยังทำเหมือนเดิมกันอยู่หรือเปล่าะ ถ้ายังทำเหมือนเดิม ยังคิดกันแบบเดิม ผลก็คงเหมือนเดิมล่ะค่ะ (อันนี้ยืมป๋ามาใช้ ยังไม่ได้เอาไปคืนเสียทีอ่ะค่ะ แหะ แหะ)
10. ในช่วงที่เกิดวิกฤติหน้าที่ประชาคนคนไทยควรปฎิบัติตัวอย่างไร
ตอบ : ควรมีสติและไตร่ตรองหาความหมายที่แท้จริงของการมีชีวิตอยู่ เพื่อให้เกิดความคิดที่มีประสิทธิภาพเป็นประโยชน์ต่อตนเองและส่วนรวม
11 โปรดเล่าเรื่องที่ท่านประทับใจที่สุด 1 เรื่อง
ตอบ :
เจอข้อความนี้ในทวิตเตอร์ อ่านแล้วก็อึ้งไปสองวินาที
White Thailand
ชาวบ้านเฉาะมะพร้าวมาเลี้ยงเรา #ArsaDusit ผมถามหาว่าต้นมันอยู่ไหน ชาวบ้านตอบว่า “ดำน้ำลงไปเก็บมา” #ThaiFlood http://t.co/E8761ALw
จาก บันทึกนี้ ค่ะ
12 ท่านชื่นชมและอยากขอบคุณหน่วยงานใดเป็นพิเศษ
ตอบ : อาสาสมัครตัวจริงเสียงจริงที่ทำงานอย่างทุ่มเท และข้าราชการระดับปฏิบัติการทุกหน่วยงาน ตำรวจ ทหาร ที่ปิดทองหลังพระด้วยการเสียสละเข้าไปช่วยเหลือพี่น้องประชาชนที่เดือดร้อนจากภัยพิบัติทุกคน ขอให้อานิสงส์แห่งบุญในครั้งนี้จงดลบันดาลให้ท่านและครอบครัวอันเป็นที่รัก แคล้วคลาดปลอดภัย มีความสุข ความเจริญตลอดไปนะคะ
การเตรียมการที่ว่าทั้งสิ้นนี้ ทำเพื่อป้องกันให้เกิดความเสียหายน้อยที่สุด หากโชคดีไม่ได้รับผลกระทบตามคาดก็ดี
แต่ถ้าเกิดขึ้นจริง ๆ อย่างน้อยก็ไม่เสียใจว่าได้เตรียมการสุดความสามารถแ้ล้ว ขั้นตอนต่อไปคงต้องทำใจให้ยอมรับเนาะคะ ซึ่งก็ทำใจไว้แล้วด้วยล่ะค่ะ
ตลอดเวลาที่เห็นพี่น้่องต่างจังหวัดได้รับผลกระทบจากน้ำท่วมในครั้งนี้ ก็รู้แล้วล่ะค่ะว่า ตัวเองโชคดีแค่ไหนแล้ว ที่อาจจะโดนแค่นี้หรือโดนทีหลัง ก็ยังต้องถือว่าโชคดีอยู่ดี
และหากว่าท่านเป็นหนึ่งในบุคคลที่โชคดี
เคยลองคิดแบบนี้ไหมคะว่า
การที่เราโชคดีในยามที่คนอื่นเขาโชคร้าย นั่นอาจเป็นกุโศลบายที่บอกเราว่า
เราอาจเป็นคนที่ถูกเลือกไว้ ให้ยังเหลือแรงพอที่จะกลับไปช่วยเหลือกลุ่มคนโชคไม่ดีนั่น
ก็เป็นได้เนาะคะ
Next : สิ่งที่พวกผู้ใหญ่เรียนรู้ได้จากเด็ก ๆ » »
ความคิดเห็นสำหรับ "ก่อนน้ำมา"